fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (35) : ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์ ตอนที่ 1

หลักประกันสุขภาพที่รัก (35) : ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์ ตอนที่ 1

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เราควรปล่อยเสรีการใช้กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยเพียงไร?

ข้อมูลการเจ็บป่วยทางจิตเวชของประชาชนควรบรรจุลงในบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดหรือไม่?

ผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปตรวจโรงพยาบาลของรัฐนอกเวลาราชการต้องจ่ายเงินหรือไม่?

ทั้งนี้ยังไม่นับปัญหาทางจริยธรรมอีกมากมายที่ปรากฏอยู่ในงานบริการประชาชนทุกวัน นำไปสู่คำถามที่ว่าจริยธรรมทางการแพทย์คืออะไร? จากคำถาม 2-3 ข้อที่ยกตัวอย่าง เราจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของการแพทย์โดยชุมชนเพื่อชุมชน (ปลูกกัญชาเพื่อบำบัดตนเอง) สู่การแพทย์แผนปัจจุบันยุคไอที (บรรจุข้อมูลการเจ็บป่วยทางจิตเวชลงในสมาร์ทการ์ด) ไม่ว่าเราจะพัฒนาอะไรเราก็ติดข้อจำกัดมากมายไปหมดจนไม่สามารถถอยได้ง่ายๆ

ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เริ่มต้นอย่างไร? เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้เราเริ่มด้วยประวัติของบิดาการแพทย์สมัยใหม่ วิลเลียม ออสเลอร์ (William Osler) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) และเป็นบุคคลสำคัญที่วางรากฐานแพทย์ศาสตร์ศึกษาสมัยใหม่ที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

“Listen to your patient, he is telling you the diagnosis.”

“ฟังผู้ป่วยของคุณ  เขากำลังบอกการวินิจฉัยโรคแก่คุณ”

นี่เป็นเพียงหนึ่งในวาทะมากมายนับร้อยของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ที่ถูกพูดถึงและพูดต่อๆ กันมากว่าหนึ่งร้อยปี

ผู้ป่วยทุกคนอยากจะพูดและอะไรที่เขาพูดมากมายนั้นที่แท้แล้วคือ ‘การวินิจฉัยโรค’ พวกเขาพยายามบอกเราซึ่งเป็นหมอว่าเขาป่วยเป็นอะไร แน่นอนว่าเขาไม่ใช่หมอและมิใช่นักศึกษาแพทย์ ดังนั้นเขาจึงมิได้พูดศัพท์แพทย์ แต่กลับใช้ภาษาชาวบ้านที่เขาถนัด

“เป็นหยังมา?” หมอที่ภาคเหนือตอนบนถามผู้ป่วย

“เม่ย กั๊ดต๊อง ไค่ฮาก” ชาวบ้านตอบ

ในประเทศไทย ชาวบ้านแต่ละภาคมีภาษาของตนเอง คำว่า ไข้, ปวดท้อง, คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ เหล่านี้คนภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ชายทะเลตะวันออก และชาติพันธุ์ต่างๆ พูดต่างกัน นักศึกษาแพทย์รวมทั้งคุณหมอในประเทศไทยประสบปัญหาถึงสองต่อ ต่อที่หนึ่งคือแน่ใจได้อย่างไรว่าที่ผู้ป่วยพูดว่า ‘เม่ย’ หมายถึง ‘ไข้’ ต่อที่สองคือแล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าตรงกับศัพท์แพทย์ที่เรียกว่า ‘fever’ เพียงเท่านี้ชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์หรือคุณหมอมือใหม่ก็ยุ่งยากมากแล้ว (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่พูดยาว พูดนอกเรื่อง ในขณะที่คุณหมอส่วนมากไม่มีเวลาที่จะฟังทั้งหมดนั้นได้เพราะภาระงานที่รัดตัว ดังนั้นคุณหมอส่วนใหญ่มักจะ ‘ขัดกระแสคำพูด’ ของผู้ป่วยกลางคันแล้วพยายามที่จะเค้นข้อมูลของผู้ป่วยประเภทที่ ‘ใช้การได้’ ออกมาให้เร็วที่สุด

ที่น่าหนักใจพอๆ กับน่าขำคือผู้ป่วยทุกคนเล่าอาการไม่สบายของตนเองไม่เป็นระบบตามที่นักศึกษาแพทย์เรียนมา ในขณะที่นักศึกษาแพทย์จำเป็นต้องเขียนรายงานความเจ็บป่วยส่งอาจารย์อย่างเป็นระบบ ดังนั้นนักศึกษาแพทย์จึงต้องเข้าขัดขวางกระแสคำพูดของผู้ป่วยกลางคันแล้วพยายามจะถามนำอย่างเป็นระบบทุกครั้งไป

จะเห็นว่าในขณะที่ผู้ป่วยพูด แพทย์กลับไม่ฟังแล้วเข้าสกัด ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเสียหายตั้งแต่ 2-3 นาทีแรก

ในทางตรงข้าม แพทย์ที่รู้จักนั่งฟังผู้ป่วยพูด พูดยาวเกินไปบ้าง พูดนอกเรื่องบ้าง กลับได้สัมพันธภาพที่ดีแต่ต้นมือ และจะพบว่าข้อมูลที่ใช้การได้มักตามมาในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก อีกทั้งการสืบค้นต่อไปก็ทำได้โดยง่ายเพราะเราได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีเอาไว้แล้วเป็นทุน

ประโยคสั้นๆ เพียงว่า “ฟังผู้ป่วยของคุณ เขากำลังบอกการวินิจฉัยโรคแก่คุณ” ของ เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ จึงเป็นประโยคที่รวมทุกอย่างของวิชาชีพแพทย์เข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ทางวิชาการของแพทย์ จริยธรรมแพทย์ และศิลปะในการตรวจรักษาผู้ป่วย อีกทั้งเป็นประโยคที่พิสูจน์ว่าเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์มีประสบการณ์มากมายเพียงใดจึงบรรลุความจริงแห่งวิชาชีพข้อนี้ได้

แต่ประโยคดีๆ นี้เองที่สร้างแบบฟอร์มจำนวนมากให้แพทย์แผนปัจจุบันทำงาน

 

 

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ (12 กรกฎาคม 1849 – 29 ธันวาคม 1919) เป็นลูกชายคนสุดท้องในจำนวนเก้าคน เกิดที่บอนด์เฮด ในบ้านพักพระ ใกล้ชายป่าบริเวณแคนาดาตอนบน

บิดาของวิลเลียม ออสเลอร์เป็นนักบวชโปรแตสแตนท์ บ้านที่ท่านและมารดาของวิลเลียมอยู่อาศัยในปีแรกๆ นั้นห่างจากที่ทำการไปรษณีย์และท่าเรือสิบสองไมล์ ห่างจากหมอที่อยู่ใกล้ที่สุดสิบห้าไมล์ ห่างจากช่างตีเหล็กหกไมล์ ถนนหนทางไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา สภาพความเป็นอยู่ยากลำบาก

“การอบรมสั่งสอนส่วนใหญ่ที่ให้แก่เด็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นบนตักของแม่” เป็นข้อความที่เล่าถึงพื้นฐานการอ่านของออสเลอร์  “แม้การอ่านหนังสือวันอาทิตย์จะถูกจดจำในฐานะที่เป็นการทรมานอย่างหนึ่ง แต่ต่อมาเกือบชั่วชีวิต เมื่อได้เห็นคนอ่านนิยายในวันสะบาโต จะทำให้เขาคิดถึงการอบรมสั่งสอนในวัยเด็กเสมอ”

ดังที่ทราบกันว่าการอ่านนั้นเป็นยาขม ไม่สนุกในครั้งแรกๆ และเด็กส่วนใหญ่มักยอมแพ้ก่อนที่จะก้าวข้ามกำแพงไปสู่ความปิติที่เกิดจากการอ่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เมื่อเทียบการอ่านกับการเล่มเกมหรืออบายมุขที่มากับเครื่องมือไอทีสมัยใหม่ จะพบว่าอย่างหลังให้ความสุขแก่เด็กๆ รวดเร็วกว่ามาก

แต่แท้จริงแล้วการอ่านไม่เพียงสร้างความปิติให้แก่นักอ่านทุกคน การอ่านเป็นพื้นฐานแข็งแกร่งให้แก่การงานและการดำรงชีวิตของคนทุกคนรวมทั้งของชีวิตออสเลอร์ในช่วงชีวิตที่เหลือตลอดไป

ถึงปี 1857 เมื่อออสเลอร์อายุได้แปดปี ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ดันแดส “สุดปลายด้านตะวันตกของทะเลสาบออนทาริโอซึ่งงดงามที่สุด” หนังสือเล่าต่อไปถึงพฤติกรรมซุกซนเกินเด็กคนอื่นของออสเลอร์ ซึ่งจบลงด้วย “เขาโบกมือจากหลังม้าให้เธอ  ตะโกนอย่างร่าเริงว่า แช็ตตี้ ฉันถูกไล่ออกแล้ว!” หมายถึงถูกไล่ออกจากโรงเรียนนั่นเอง

ความซนอาจจะมีความหมายหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือความซนเกิดขึ้นจากการที่พฤติกรรมของเด็กคนหนึ่งล้ำเกินกฎ กติกา มารยาทที่ผู้ใหญ่หรือสังคมกำหนด ที่จริงแล้วเด็กทุกคนมีหน้าที่ทดสอบและท้าทายกฎเท่าที่ความสามารถของเขาจะทำได้ เพราะนี่คือธรรมชาติของพัฒนาการเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางสติปัญญา แขน ขา หรือวาจา การที่เด็กคนหนึ่งซนจึงเป็นธรรมชาติของเด็กคนนั้นที่ ‘พร้อม’ จะทดลองและเรียนรู้

เมื่อถึงปี 1864 ออสเลอร์จึงถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่บาร์รี “แต่ไม่ว่าเขาจะเหลวไหลในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงใด ก็เป็นเด็กที่มีความรัก กล้า และใจกว้าง ไม่มีปัญหาในการเรียน ขณะเดียวกันก็เป็นเลิศด้านกีฬา เด็กเช่นนี้กลายเป็นผู้นำไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดและมีเพื่อนอย่างรวดเร็ว” รายละเอียดเหล่านี้ถูกปูพื้นเอาไว้ก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสามารถของออสเลอร์ในเวลาต่อมาว่ามีที่มาที่ไป ทั้งนี้เพราะเขาชอบทดลองทำนั่นนี่และสรุปผลการทดลองหรือการกระทำที่ทำไป ความสามารถมิได้เกิดขึ้นได้เองเพราะเป็นอัจฉริยะหรือคนเก่งดังที่สังคมไทยมักด่วนสรุปเอา

ออสเลอร์ถึงกับเป็น ‘เด็กเกเรแห่งบาร์รี’ ร่วมกับเพื่อนสนิทสองสามคน การเล่นแผลงๆ ของเขาและเพื่อนมิใช่การเล่นซนตามสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ บางครั้งพวกเขาถึงกับบุกรุกกินแตงเมลอนของคนอื่น เอาแผ่นกระดาษวางบนปล่องไฟเพื่อกุเรื่องเพลิงไหม้ หรือปลอมเป็นผู้หญิงเพื่อตบตาผู้คน การเล่นแผลงๆ ในระดับนี้หากเป็นปัจจุบันสามารถเป็นต้นเหตุให้ถูกนำส่งพบจิตแพทย์โดยง่าย

สรุปชีวิตวัยเด็กของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ เขาเกิดในดินแดนไกลโพ้นของแคนาดาแต่ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านโดยคุณแม่ นี่คือคุณสมบัติประการที่ 1

เขาได้เล่น ไม่ต้องไปโรงเรียน ได้เล่นแผลงๆ ไปจนถึงขีดสุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะเล่นได้ โดยไม่ถูกจับไปพบจิตแพทย์เสียก่อน นี่คือคุณสมบัติประการที่ 2

ลำพังการอ่านและการเล่นเพียงสองอย่าง พัฒนาการด้านการคิด (cognitive development) ของเขาก็ได้รับการวางรากฐานเอาไว้อย่างดี เสมือนต้นไม้ที่มีรากแข็งแรง หลังจากนี้พัฒนาการไปสู่ความคิดเชิงอุดมคติและจริยธรรม (moral development) ก็จะติดตามมา

(ยังมีต่อ)


เนื้อหาประวัติของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์อ้างอิงจากหนังสือ ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ 3 เล่มจบ นายแพทย์ฮาร์วีย์ คุชชิง เขียน วิภาดา กิตติโกวิท แปล สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน พ.ศ. 2558

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save