fbpx
‘ศักดิ์ดา แก้วบัวดี’ เพื่อนของผู้ลี้ภัย กับมนุษยธรรมในประเทศคนดี

‘ศักดิ์ดา แก้วบัวดี’ เพื่อนของผู้ลี้ภัย กับมนุษยธรรมในประเทศคนดี

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

สำหรับแฟนหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คงคุ้นหน้าเขาในฐานะนักแสดงคู่บุญ นับแต่เรื่อง สัตว์ประหลาด! จนถึงผลงานล่าสุด Song Of The City ภาพยนตร์สั้นในชุด Ten Years Thailand

แต่สำหรับผู้ที่ติดตามเฟซบุ๊ค โต้ง-ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ในช่วง 2 ปีมานี้ จะเห็นว่านอกจากบทบาทนักแสดงอิสระแล้ว อีกบทบาทที่เขาทุ่มเททำโดยไม่มีสิ่งตอบแทนคือ ‘เพื่อนของผู้ลี้ภัย’

การเป็นเพื่อนผู้ลี้ภัยในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเสี่ยงทางกฎหมายแล้ว ยังต้องยืนรับคำวิจารณ์แง่ลบที่มองผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม

ศักดิ์ดาเข้าออกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแทบทุกวัน เพื่อเวียนไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในสถานกักตัว สลับกับนำอาหารไปให้ครอบครัวผู้ลี้ภัยที่หลบอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมกับทำเอกสารยื่นเรื่องขอส่งตัวผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม ซึ่งสำเร็จมาแล้วหลายครอบครัว

หนึ่งในเคสที่ทำให้งานของเขาเป็นที่รับรู้ คือการช่วยเหลือครอบครัวชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติจากเวียดนามที่คนพ่อถูกขังในตม.ถึง 10 ปี การไม่มีสัญชาติทำให้ผลักดันเขากลับประเทศไม่ได้ จึงถูกขังไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำความผิดอื่นนอกจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย

10 ปีที่ลูกไม่ได้เจอหน้าพ่อ

10 ปีที่แม่หาเลี้ยงลูก 5 คนเพียงลำพังระหว่างหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ

หากไม่มีภัยคุกคามจนทำให้อยู่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ คงไม่มีใครอยากจากบ้านไปสู่แผ่นดินอื่นที่ไร้อนาคต ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย ไม่มีใครอยากเป็นส่วนเกินของสังคมอื่น แต่ชีวิตก็พัดพามนุษย์ให้ไปเจอทุกข์ซ้ำซากอย่างไม่อาจควบคุม

วิธีที่ไทยจัดการกับผู้ลี้ภัย คือการจับขังแล้วส่งกลับให้ไปเผชิญอันตรายในประเทศที่เขาหนีมา เช่นล่าสุดที่มีการส่งตัวกลับผู้ผลิตสารคดีเรื่องค้าประเวณีในกัมพูชา และการควบคุมตัวนักฟุตบอลบาห์เรนที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียแล้ว

แม้คนไทยจะชอบทำบุญทำทาน บริจาคช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่ไม่ใช่กับกรณีผู้ลี้ภัยที่คนจำนวนมากยังก้าวไม่พ้นอคติจากแนวคิดชาตินิยม ที่ทำให้มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภัยคุกคามเข้ามาแย่งทรัพยากร สิ้นเปลืองภาษี จนถึงสั่นคลอนความมั่นคงประเทศ

ต่างจากศักดิ์ดาผู้ไม่เชื่อในการทำบุญ แต่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทันทีที่เห็นความเดือดร้อน และเจอคำถามซ้ำๆ ว่า “มีคนไทยลำบากตั้งมากมาย ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน?”

หากมองด้วยมนุษยธรรม คำตอบนั้นแสนง่าย “ผมไม่ได้มองเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ผมมองเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา”

โต้ง-ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

มาเริ่มทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างไร

มีเพื่อนชาวฝรั่งเศสชื่อเอมมานูเอล พาผมไปเยี่ยมเพื่อนที่ตม.สวนพลู เป็นชาวคองโกชื่ออีริค โดนหลอกให้ขายทุกอย่างเพื่อมาไทยแล้วโดนลอยแพ ไม่มีเงินกลับบ้าน พอวีซ่าหมดจึงกลายเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง แล้วโดนจับไปขัง ครั้งแรกที่ไปเยี่ยม เขาถูกขังมาแล้ว 3 ปี พอเอมมานูเอลกลับฝรั่งเศสก็ฝากให้ผมไปเยี่ยมอีริคต่อ

ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำมายาว 2 ปี ผมได้เห็นว่าไม่ได้มีแค่อีริคเท่านั้น จึงให้อีริคช่วยขอรายชื่อนักโทษคนอื่นๆ เพราะจะเยี่ยมได้ต้องมีชื่อ สัญชาติ หมายเลขผู้โดนกัก และหมายเลขห้อง จนได้รู้ว่ามีชาวต่างชาติโดนกักกันหลากเชื้อชาตินับพันคน และส่วนใหญ่หนีมาจากประเทศตัวเองเพราะโดนรังแกถึงชีวิต

ปีแรกผมไปแทบทุกวัน แค่มีใครสักคนมาเยี่ยมเขาก็ดีใจแล้ว แต่ละครั้งเหมือนสุ่มคนไปเรื่อยๆ ถึงบางคนจะสื่อสารกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาได้ออกมาจากห้องขังบ้างและได้อาหารไปกิน เพราะหลายคนกินอาหารข้างในไม่ได้จนถึงกับนอนอดอาหารตายก็มี

ของที่นำไปให้มาจากเงินส่วนตัวหรือรับบริจาค

6 เดือนแรกใช้เงินส่วนตัวของผมกับแฟน จนเริ่มไม่ไหวเพราะใช้เงินค่อนข้างเยอะ จึงประกาศลงเฟซบุ๊กว่าขอบริจาคอาหารและช่วยกันมาเยี่ยมหน่อย มีคนติดต่อมาว่าไม่สะดวกจะไปเยี่ยมหรือส่งของมาให้ แต่สะดวกบริจาคเป็นเงิน ผมเลยเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคโดยเฉพาะ แยกกับบัญชีส่วนตัว ซึ่งเงินจะเข้ามาเฉพาะเวลาประกาศว่ามีเคสที่เดือดร้อนมาก ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ถ้าไม่ประกาศก็จะหายเงียบไป แต่ผมกับแฟนยังมีทุนพอจะช่วยเหลือเขาได้อยู่

มีชาวปากีสถานครอบครัวหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง พ่อเป็นนักการเมืองที่ดังมาก เขาช่วยเหลือชาวคริสต์ในปากีสถานให้มีสิทธิมากขึ้นในประเทศที่ประชากร 95 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิม จึงโดนโจมตี ครอบครัวโดนทำร้ายร่างกายจนต้องหนีมาไทย และได้รับอนุญาตจาก UNHCR ให้ไปแคนาดา โดยรับผิดชอบค่าเครื่องบินให้ แต่ไม่รวมค่าปรับ overstay ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคน ตอนนั้นมีคนติดต่อมา เป็นครั้งแรกที่ผมจ่ายค่า overstay หนึ่งแสนกว่าบาท หลังจากนั้นก็มีเคสอื่นๆ อีก ผมก็เริ่มลำบากเพราะต้องใช้เงินเป็นแสน แถมในไทยผู้ลี้ภัยในเมืองมีตั้ง 8 พันกว่าคน

นอกจากสิ่งของ ยังต้องการคนช่วยเยี่ยมด้วย

กรณีโดนจับทั้งครอบครัว แม่จะถูกนำไปฝ่ายกักกันหญิง พ่อถูกแยกไปฝ่ายกักกันชาย ลูกอยู่ฝั่งเยาวชน ครอบครัวจะไม่ได้เจอหน้ากันเลยนอกจากเวลามีคนไปเยี่ยม คนหนึ่งคนสามารถเยี่ยมผู้ถูกกักได้คนเดียว ถ้าอยากให้ทั้งครอบครัวได้เจอกันก็ต้องพาคนไปเยี่ยม 4 คน

มีหลายครอบครัวไม่ได้เจอหน้ากันหลายปีแล้ว สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าอาหารคือคนไปช่วยเยี่ยม หลายคนพอไปช่วยหลายๆ ครั้งก็ไม่ไปแล้ว เพราะไม่ใช่แค่การไปนั่งคุย แต่ต้องหอบของตื่นแต่เช้าไปลงชื่อ ต่อคิวยาว อากาศก็ร้อน ลำบากมาก ตอนหลังยังมีน้องที่รู้จักมาช่วยบ้าง

หนึ่งในครอบครัวที่ส่งไปประเทศที่สามสำเร็จ คือครอบครัวม้ง ที่ทำให้คนรับรู้เรื่องผู้ลี้ภัยในวงกว้าง

เขาเป็นครอบครัวชนกลุ่มน้อยไม่มีสัญชาติในเวียดนาม ทั้งครอบครัวเป็นชาวคริสต์ ตอนแรกมีลูกสาว 3 คน เขาโดนตำรวจกลั่นแกล้งว่าทำไมอยู่ในประเทศพุทธถึงไปนับถือคริสต์ ที่นั่นไม่มีกฎหมายห้ามการนับถือศาสนาของชนกลุ่มน้อย แต่เป็นการหมั่นไส้กันมากกว่า เมียเขาเล่าให้ฟังว่าสามีคือ นาย Nhia ถูกจับไปขังคุกที่สร้างกันเองในหมู่บ้าน แล้วทำร้ายร่างกายจนสลบไปหลายรอบ พอแหกคุกได้ก็รู้ว่าจะถูกเล่นงานเอาตาย จึงพาครอบครัวหนีข้ามไปลาวเมื่อ 14 ปีก่อน อยู่ลาวได้ 4 ปีมีลูกสาวอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน

พอคลอดลูกคนสุดท้องได้ 2 เดือน ตำรวจเวียดนามตามมาจับที่ลาว เขาหอบลูกเข้ามาไทยแบบผิดกฎหมายเมื่อ 10 ปีก่อนและติดต่อ UNHCR ให้ช่วยเหลือ ระหว่างนั้น Nhia โดนตำรวจ ตม. จับได้ เมียจึงต้องเลี้ยงลูก 5 คนด้วยตัวเองตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยลูกไม่ได้เจอหน้าพ่อเลย ถ้ามาเยี่ยมเด็กจะโดนจับไปด้วย

ถ้าไม่ทำอะไรเลย Nhia จะต้องติดอยู่ในตม.ตลอดชีวิต ทั้งที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรม จะผลักดันกลับประเทศก็ไม่ได้เพราะเขาไม่มีสัญชาติ ระหว่าง 10 ปีนี้เขายื่น UNHCR ไป 4 ครั้งแต่โดนปฏิเสธโดยไม่รู้เหตุผล

ผมติดต่อไปที่สถานทูตฝรั่งเศส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนมิถุนายนรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะช่วยเหลือครอบครัวทั้ง 7 คน แต่การไปโดยไม่ผ่าน UNHCR เขาไม่ออกค่าเดินทางให้ ผมเลยประกาศระดมทุนทางเฟซบุ๊ก คนไทยก็ใจดีระดมทุนได้เกือบครึ่งล้านภายในไม่กี่วัน ผมนำเงินส่วนนั้นซื้อตั๋วเครื่องบินและเดินทางไปกับพวกเขาด้วย เพราะไม่มีใครเคยขึ้นเครื่องบิน ถ้าไปหลงที่ไหนก็ตายเลย

ใน 2 ปีนี้ผมช่วยส่งให้ไปประเทศที่ 3 ได้หลายครอบครัวแล้ว ผมไปเยี่ยมคนใน ตม. และคอยตระเวนเอาอาหารไปแจกครอบครัวผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ เพราะเขาไม่สามารถทำงานที่นี่ได้

โต้ง ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

คิดว่าทำงานคล้ายมูลนิธิที่มีอยู่แล้วไหม

หลายคนถามว่าผมมาจากมูลนิธิไหน พอบอกว่าผมทำของผมเอง เขาก็ไม่เชื่อ ไม่มีมูลนิธิไหนในไทยสามารถออกตัวช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ เพราะถือว่าขัดกับหลักกฎหมายไทย บางองค์กรต้องย้ายไปที่อื่นเพราะมีปัญหากับทางรัฐบาล ผมก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตม. เรียกไปคุยว่าให้หยุดทำแบบนี้ เขาคอยติดตามความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊กอยู่ ถ้าไม่หยุดเขาจะจับด้วยข้อหาสนับสนุนคนผิดกฎหมาย

คนไปเยี่ยมคนที่ตม. 5 เปอร์เซ็นต์เป็นสามีภรรยาของผู้ถูกขัง อีก 95 เปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่งที่มีหลายกลุ่ม เช่นจากโบสถ์คริสต์ เพราะคนที่โดนจับกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาคริสต์ โบสถ์จึงส่งคนมาเยี่ยม แต่ไม่สามารถออกตัวว่าสนับสนุนผู้ลี้ภัยได้

ทางโบสถ์มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐบ้างไหม

บาทหลวงคนหนึ่งมีปัญหากับ ตม .เหมือนกัน เขาออกตัวช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเยอะมากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนโดนห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยมเด็ดขาด เขาจึงหยุดไปพักหนึ่งแล้วกลับมาใหม่ ถ้าเขายังขืนเข้ามาเยี่ยมก็อาจโดนกฎหมายเล่นงานได้ ผมกับแฟนเคยคุยกันว่าถ้าโดนขึ้นมาจะทำยังไง…ถ้าโดนก็ประกันตัว (หัวเราะ) จริงๆ ก็กลัวนะ แต่ไม่สามารถหยุดได้ เคยท้อแล้วหยุดไปหนึ่งเดือน แต่มีคนติดต่อมาว่าไม่มีอาหารเลย ลูกๆ ต้องการนม เราก็กลับมาทำโดยไม่หยุดเลยถึงปัจจุบัน

ความเป็นอยู่ในสถานกักกันเมื่อเทียบกับเรือนจำแล้วเป็นอย่างไร

ใน ตม. ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งมีคนอยู่รวมกัน 70 กว่าคน หลายคนไม่มีที่นอนถึงกับต้องยืนนอน เมื่อคนที่นอนอยู่จะลุกไปเข้าห้องน้ำ คนที่ยืนก็เข้ามานอนแทน และคุกไทยจะไม่มีเด็กอยู่ข้างใน แต่ที่ ตม. เด็กเล็กๆ ก็โดนขังด้วย บางคนก็เกิดในนั้น โตมาไม่เคยได้รับรู้ถึงโลกภายนอกเลย น่าเวทนามาก

คนไทยหลายคนไม่เข้าใจ มองผู้ลี้ภัยว่ามาสร้างความเดือดร้อน และนึกว่าอยู่สถานกักกันจะสบายเพราะไม่ใช่คุก แต่ถ้ามาเห็นด้วยตาตัวเองจะพบความจริงอีกแบบ

เวลาไปเยี่ยมแล้วเห็นสภาพแบบนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง

เศร้าทุกครั้ง ครั้งแรกแค่ตามเพื่อนไปเฉยๆ แต่พอเห็นว่ามีเด็กเล็กอยู่ข้างในเยอะมาก ผมก็สะท้อนใจ อยากนำตุ๊กตาหรือของเล่นมาให้เขา ตอนทำช่วงแรกไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ แต่ตอนหลังมองว่าเป็นหน้าที่ของเรา เป็นงานประจำที่ไม่ได้รับเงินเดือน ผมไปเยี่ยมจนมีเพื่อนเป็นคนที่โดนขังข้างในหลายคน เขาไม่รู้ว่าจะมีใครมาเยี่ยม พอเราโผล่หน้าไปเขาก็ดีใจจนถึงกับร้องไห้ก็มี

มีผู้หญิงคนหนึ่งโดนขังจนจะฆ่าตัวตาย เป็นชาวมุสลิมจากปากีสถานที่ไปรักกับชายชาวคริสต์ เลยโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านเมื่ออายุได้เพียง 20 ต้นๆ พอไปอยู่กับแฟนและแต่งงานกันเงียบๆ สังคมชาวมุสลิมไม่พอใจเมื่อคนของเขาไปแต่งงานกับชาวคริสต์ ก็ไปทำร้ายร่างกายปางตายแล้วไล่ออกจากประเทศ เธอหนีมาไทยแล้วเช่าห้องแถวอยู่ แต่ระหว่างที่สามีออกไปข้างนอก ตำรวจบุกมาจับนำตัวไปขัง ตม. 4 ปีแล้วที่เธอไม่ได้เจอหน้าสามีเลย เพราะสามีไปเยี่ยมไม่ได้

ผู้หญิงคนนี้จะโทษสามีว่า ถ้าไม่รักกับผู้ชายคนนี้ก็คงไม่ต้องโดนไล่ออกจากบ้านและมาโดนขังติดอยู่ในไทยแบบนี้ ผมทำได้แค่ปลอบใจ พอถึงวันเกิดหรือวันครบรอบ สามีเขาจะทำขนมหรือเขียนจดหมายฝากมาให้เสมอ

มีครอบครัวที่แตกแยกหลังคนในบ้านถูกจับไหม

มีครับ แต่ไม่ได้เจอเองโดยตรง คนอื่นที่ไปเยี่ยมเล่าว่าเวลาสมาชิกครอบครัวโดนขังคนหนึ่ง อีกคนมักจะหายไปเลย ไม่รู้ว่าหนีไปประเทศอื่นแล้วหรือหลบหนีอยู่ในประเทศ อันนี้น่าสงสารกว่า

โต้ง ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

นอกจากคนที่โดนขังแล้ว ยังไปเยี่ยมครอบครัวผู้ลี้ภัยข้างนอกด้วย

เวลาผมไปเยี่ยมคนใน ตม. เขาจะขอเบอร์ติดต่อผมไว้ หรือบอกว่ามีครอบครัวหลบอยู่ไหน ข้างในมีตู้โทรศัพท์สาธารณะ เขาบอกครอบครัวที่อยู่ข้างนอกว่าผมสามารถช่วยเหลือได้

คนเหล่านี้ทำงานไม่ได้ เสี่ยงโดนจับแล้วต้องเข้าคุกเลย ไม่ได้ส่งตัวมา ตม. หลายคนมีลูกเล็ก เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายกับค่าเช่าห้อง บางคนไม่มีเงินจ่ายก็โดนไล่ออกจากห้องหรือเอาตำรวจมาลากไปเลย บางทีจำเป็นผมก็ไปจ่ายให้

ตอนนี้ผมช่วยเหลือครอบครัวนักมวยชาวปากีสถานคนหนึ่ง ผมเรียกเขาว่า ‘บ็อกเซอร์’ ผมจ่ายค่าห้องให้ทุกเดือนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ภรรยาเขาโดนขังในตม.มา 4 ปีแล้ว บ็อกเซอร์ยังโชคดีที่มีวีซ่าเลยมาเยี่ยมภรรยาได้ แต่ลูก 3 คนไม่มีวีซ่าเลยไม่ได้เจอหน้าแม่มา 4 ปีแล้ว

บ็อกเซอร์เป็นนักมวยชื่อดังมาก เป็นตัวแทนปากีสถานไปแข่งโอลิมปิก ใครๆ ก็รู้จัก เขาร่ำรวยมีชื่อเสียง ส่งลูกเรียนนานาชาติทั้ง 3 คน ภรรยาเป็น ผอ.โรงเรียนชื่อดัง แต่ความผิดอย่างหนึ่งคือเขานับถือศาสนาคริสต์ ยิ่งมีชื่อเสียงจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โดนกดดันให้เปลี่ยนศาสนา แต่เขาบอกว่าเป็นคริสต์มาตั้งแต่เกิดแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงโดนทำร้าย ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดก็ยังโดนรังควาญอีก เมียโดนจับหักนิ้ว ลูกชายโดนจับตัดลิ้น เขาจึงพาลูกเมียหลบหนีมาไทย เอาเงินติดตัวมาไม่มาก กะว่ามาไทยแล้วให้ธนาคารโอนมา แต่กลับพบว่าเขาโดนยึดเงินทั้งหมด บ้าน รถ โดนเผาเรียบ เพราะคนที่นั่นโมโหที่เขาหนีออกมา จากที่รวยมาก พออยู่เมืองไทยกลายเป็นคนข้างถนนไปเลย

บ็อกเซอร์มีเงินสดก้อนหนึ่งและเห็นว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยที่อยู่มาก่อน เลยเช่าห้องเดือนละ 2 พันกว่าบาท เปิดเป็นโรงเรียนให้ภรรยาสอนเด็กฟรี เมื่อ 4 ปีก่อนระหว่างที่สอนหนังสือเด็กอยู่ ตำรวจ ตม. บุกมาจับภรรยาเขาไปขังถึงปัจจุบัน ตอนนี้ภรรยาป่วยหนักมากจนเดินไม่ไหว ผมจึงติดต่อสถานทูตแคนาดาอย่างเร่งด่วนให้ช่วยรับไป ไม่งั้นอาจตายคาห้องขังได้ ลูกๆ ก็มาขอร้อง ร้องไห้ว่าไม่อยากให้แม่เป็นอะไร ผมเจอเรื่องแบบนี้เยอะมาก เจอความหดหู่แบบนี้แทบทุกวัน

ลูกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร

ลูกเขาทั้งสามคนต้องออกจากโรงเรียนมาทั้งที่ยังเรียนไม่จบ คนโตอายุ 17 ปี เป็นคนใฝ่เรียนและพูดภาษาอังกฤษคล่องมากเพราะเรียนนานาชาติมา เขาเขียนจดหมายติดต่อไปเรียนทางไปรษณีย์กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจนจบปริญญาตรี แต่ทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธจะให้วุฒิเพราะไม่มีวีซ่าหรือพาสปอร์ต ทั้งที่เขาอยากเรียนต่อด้วยตนเอง

 

แล้วเด็กผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่หลบอยู่ได้เรียนไหม

ถ้าเป็นครอบครัวอื่นยังมีโอกาสเรียน เพราะมีองค์กรช่วยติดต่อไปตามโรงเรียนต่างๆ ใกล้กับสถานที่ซึ่งหลบอยู่ แล้วจ่ายค่าเล่าเรียนให้ แต่ตอนนี้ทางองค์กรก็มีปัญหากับกฎหมายไทย ไม่สามารถช่วยได้เต็มที่ ต้องปล่อยเด็กตามยถากรรม เหลือองค์กรเล็กๆ จัดกิจกรรมให้เด็กผู้ลี้ภัยได้มาทำร่วมกัน

บ็อกเซอร์และศักดิ์ดาที่หน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซอยสวนพลู
บ็อกเซอร์และศักดิ์ดาที่หน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซอยสวนพลู

การพบเจอและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทำให้เกิดความผูกพันบ้างไหม

มีครับ แต่พูดตรงๆ ผมไม่อยากผูกพันกับใครเลย เพราะถ้าช่วยไม่ได้จะรู้สึกแย่มาก ถ้าวันหนึ่งเขาเป็นอะไรขึ้นมามันรู้สึกเจ็บ ที่ผูกพันที่สุดคือครอบครัวบ็อกเซอร์ที่เจอกันมาปีกว่าแล้ว

อย่างครอบครัวม้งที่พาไปฝรั่งเศสก็ผูกพัน เพราะใช้เวลาเป็นปี พาไปทำวีซ่า เอาอาหารไปให้ ตอนไปส่งที่ฝรั่งเศสผมก็ใช้เวลาด้วยกันสิบกว่าวัน พอจะกลับพวกเด็กๆ ก็ร้องไห้ เหมือนผมเอาเขาไปทิ้งให้เคว้งคว้างอยู่กับใครไม่รู้ คนเดียวที่เขารู้จักก็คือผมที่ต้องกลับมาคนละซีกโลก แต่ผมบอกว่าถ้าอยู่ไทยพ่อเขาต้องถูกขัง อยู่ที่ฝรั่งเศสจะมีอนาคตกว่า ตอนนี้ยังโทรคุยกันประจำ ล่าสุดเด็กๆ ได้เข้าเรียนแล้วทั้งที่ยังพูดฝรั่งเศสไม่ได้ โรงเรียนก็พยายามหาวิธีสอนจนได้

กรณีเจ้าหน้าที่กวาดล้างชาวต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายตามตึกในกรุงเทพฯ มีคนรู้จักบ้างหรือเปล่า

ตึกที่ครอบครัวบ็อกเซอร์อยู่นี่แหละ ส่วนใหญ่ผู้พักอาศัยเป็นผู้ลี้ภัย มีการสั่งการมาโดยไม่รู้อะไรเลย เห็นว่าเป็นคนต่างชาติผิดกฎหมายก็จับหมด กระทบมาถึงผู้ลี้ภัยด้วย เหลือเพียง 4 ห้องที่ไม่โดนจับ และโชคดีว่าเป็นห้องของบ็อกเซอร์ที่ผมช่วยเหลืออยู่ มีการจับในอาทิตย์ที่ผมกลับมาจากพาครอบครัวม้งไปฝรั่งเศส เลยต้องพาย้ายไปหาที่ใหม่ ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ต้องไปเยี่ยมคนที่ ตม. แล้วไปช่วยย้ายของตอนกลางคืน

พอเจอแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไรกับนโยบายรัฐ

เกิดการตั้งคำถาม เมื่อมีคนเดือดร้อนมาจากที่หนึ่ง หนีร้อนกะจะมาพึ่งเย็นกลายเป็นร้อนกว่า คนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยมาจากประเทศที่มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัย ถือว่าเขาเป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติได้ แต่พอมาไทย ไม่ว่าคุณได้สถานะมาจากไหนก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายหมด คนที่โดนขังใน ตม. กว่าครึ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะติดกฎหมายไทย

สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ดูเหมือนทำเยอะ แต่จริงๆ แล้วเล็กน้อยเหมือนฝุ่นที่เกาะบนโต๊ะ เป็นแค่การช่วยที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องแก้ที่กฎหมาย ซึ่งคิดว่าไม่มีทางแก้ได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไม่สนใจเรื่องผู้ลี้ภัยหรอก ไปสนใจเรื่องอื่นใกล้ตัวที่สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองดีกว่า กฎหมายผู้ลี้ภัยจึงไม่น่าเป็นไปได้เลยในไทย

พอเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มองการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยที่มีอยู่เดิมอย่างไร

ก่อนนี้ผมไม่รู้เลยว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าคนที่ทำมาก่อน เขาทำเหมือนกิจวัตรประจำวัน ไปเยี่ยมคน กลับบ้าน เช้าก็ไปเยี่ยมอีก แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ใครที่ออกตัวเรื่องนี้จะโดนเล่นงานทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่ยังโดนเล่นงานจากคนไทยด้วยกันเอง ผมโดนบ่อยมากในเฟซบุ๊ก เขียนข้อความมาว่าทำไมไปช่วยคนพวกนี้ ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน คนไทยจนๆ ต้องการความช่วยเหลือมีตั้งเยอะแยะ บางทีก็เอาเบอร์โทรศัพท์ผมมาจากไหนไม่รู้

พูดตรงๆ ว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาตินิยม พอเห็นคนชาติอื่นได้รับความช่วยเหลือก็จะไม่พอใจ ยิ่งคนที่ไปช่วยเหลือเป็นคนไทยยิ่งไม่พอใจ ขนาดผมพาผู้ลี้ภัยไปโรงพยาบาล พยาบาลยังถามเลยว่าช่วยคนพวกนี้ทำไม ปล่อยเขาไป ผมบอกไม่ช่วยไม่ได้ เพราะเขาไม่มีเงิน เขาก็ถามต่อว่าผมเป็นใครมาจากองค์กรไหน ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน (หัวเราะ) เป็นคำถามยอดฮิตมาก

ช่วงแรกผมไม่ตอบ แต่ตอนหลังจะตอบว่าผมก็ช่วยคนไทยด้วย แต่ไม่ได้ประกาศทางเฟซบุ๊ค ที่ผมช่วยคนเหล่านี้เพราะผมไม่ได้มองเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ผมมองเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา เป็นคำตอบที่ง่ายมาก แต่ไม่รู้เขาจะเข้าใจหรือเปล่า

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

คนไทยส่วนใหญ่ชอบทำบุญช่วยเหลือคน แต่ไม่อยากให้ช่วยผู้ลี้ภัย มันขัดแย้งกันหรือเปล่า

ใช่ คนไทยชอบทำบุญ แต่การทำบุญของเขาหวังผล อยากได้บุญ อยากถูกหวย ถ้าช่วยคนต่างชาติหรือผู้ลี้ภัย เขามองว่าไม่ได้อะไร หรือจะได้บุญไหมเพราะคนละศาสนา ถ้าเขาชอบทำบุญก็อาจมองว่าการช่วยผู้ลี้ภัยเป็นการทำบุญได้เหมือนกัน แต่สำหรับตัวผมไม่ถือว่าการช่วยผู้ลี้ภัยเป็นการทำบุญ ผมไม่คิดว่าจะได้บุญกลับมา แค่อยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นก็พอใจแล้ว ไม่ได้คาดหวังให้เขาไปได้ดีที่ต่างประเทศแล้วต้องตอบแทนอะไร ถ้าเขาได้ดีผมก็ดีใจด้วย

คนมักพูดว่า ไทยช่วยผู้ลี้ภัยตามค่ายที่ชายแดนเยอะแล้ว แค่นี้ก็หนักแล้ว

ผู้ลี้ภัยที่เมืองไทยมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่แคมป์ตามชายแดน กับกลุ่มที่อยู่ในเมือง กลุ่มที่แคมป์ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบ อาจมีปัญหาแล้วหนีข้ามชายแดนมา ส่วนกลุ่มในเมืองมาจากประเทศที่ไม่ได้ติดชายแดนไทยอย่างปากีสถาน จะมีปัญหาหนักกว่า

เขามองว่าประเทศไทยรับมาเยอะ และต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายไปเพื่ออะไร ซึ่งคิดผิด เพราะถ้ารัฐบาลมีกฎหมายช่วยเหลือผู้ลี้ภัย จะมีองค์กรเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมาช่วยเหลือ รัฐบาลไทยจะไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ภาษีคนไทยไม่ต้องหายไปไหน UNHCR ออกค่าใช้จ่ายให้ เช่นค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดน ก็มีเงินสนับสนุนจาก UNHCR อยู่ อยากให้เข้าใจว่าเรื่องนี้ถ้าแก้กฎหมายได้จะดีกว่า และจะทำให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเอาพวกเขาไปขัง

ล่าสุดมีข่าวนักบอลชื่อดังของบาห์เรน (ถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์อาหรับสปริง) เขาต้องลี้ภัยไปออสเตรเลีย ทำงานเป็นนักบอลได้ตามปกติ มีสิทธิ์เดินทางไปต่างประเทศได้จึงมาไทย แต่ไทยได้รับการติดต่อจากรัฐบาลบาห์เรน แล้วตามไปจับขณะกำลังจะบินกลับออสเตรเลีย หมดอิสรภาพไปเลย แล้วถ้าถูกส่งกลับไปบาห์เรนก็ไม่รู้จะโดนอะไร

ผมเชื่อว่าถ้าไทยมีกฎหมายรับรอง ผู้ลี้ภัยจะอยู่ง่ายขึ้น แต่เมื่อเขาทำงานได้ จะมีคนไทยพูดว่าผู้ลี้ภัยมาแย่งงานทำ ประเด็นคือผู้ลี้ภัยไม่ได้มีเป็นล้านคน ไม่ได้ทำให้คนไทยตกงานระนาว ผมคิดว่าจะดีกับไทยด้วยซ้ำ เหมือนแรงงานพม่า ลาว เขมรที่มาทำงานในไทย

จริงๆ แล้วบางส่วนอาจไม่ได้อยากอยู่ไทย แต่อยากไปประเทศที่สามมากกว่า

หลายคนอยากไปประเทศที่สามมากกว่า แต่ในสถานการณ์ที่เขาอาจถูกฆ่าตายได้ทุกเวลา จึงรีบมาประเทศที่ไปได้ง่ายที่สุดก่อน พอมาไทยค่อยทำเรื่องต่อ แต่หารู้ไม่ว่ายากมาก ผมเคยประชุมกับ UNHCR เขาบอกว่าผู้ลี้ภัยที่ได้ไปประเทศที่สาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับน้อยกว่า 80 คน จากทั้งหมด 8,000 คน แต่ 2 ปีที่ผมทำมาโดยไม่ผ่าน UNHCR ส่งไปประเทศที่สามได้ 20 คนแล้ว โดยติดต่อสถานทูตโดยตรง บางเคสใช้เวลาเป็นปี อย่างครอบครัวบ็อกเซอร์ ผมเพิ่งยื่นเอกสารไปสถานทูตแคนาดา แต่ไม่อาจยืนยันว่าจะได้คำตอบที่ดีหรือไม่ดี

คิดไหมว่ามาทำงานนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น

ลึกๆ ก็อยากให้สังคมดีขึ้น อยากให้คนไทยยอมรับคนต่างชาติโดยเฉพาะผู้ลี้ภัย เพราะคนไทยส่วนใหญ่รังเกียจผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามถนน มาขอทาน ทำตัวสกปรก แต่ถ้าได้รู้เบื้องหลังว่าคนเหล่านี้ลำบากแค่ไหน ต้องเอาชีวิตรอดยังไง ก็อาจเห็นใจขึ้นมาได้ หวังว่าสักวันหนึ่งที่คนไทยได้รู้เรื่องนี้แล้วจะเปลี่ยนแปลงแค่สักนิดก็ยังดี

ผมก็มีปัญหากับครอบครัวเหมือนกัน พ่อบอกว่าอันตรายให้หยุดทำ ให้ปล่อยพวกเขาไป ผมให้เหตุผลไปว่าถ้าผมหยุดก็ไม่มีคนอื่นทำแล้ว ปล่อยไม่ได้…บอกไม่ได้ว่าเพราะอะไร

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

เคยแวบคิดขึ้นมาไหมว่าทำไปทำไม เมื่อไม่ใช่หน้าที่ของเรา

ผมทำแบบอัตโนมัติ แทบไม่ได้คิดอะไรมาก เหมือนมองเห็นชีวิตตัวเอง…ชีวิตผมยากลำบากมาก เป็นครอบครัวชาวไร่อ้อย พ่อและพี่ชายแค่จบ ป.6 แล้วออกไปทำไร่ พอผมจบ ป.6 พ่อก็จะไม่ให้เรียนต่อ ผมเลยหนีไปอยู่วัดเพื่อจะเรียน เสาร์อาทิตย์รับจ้างทำความสะอาดบ้านอาจารย์ จบ ม.6 อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็รู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่ไม่มีเงิน เลยเข้ามากรุงเทพฯ คนเดียว ทำงานเคเอฟซี ทำงานเซเว่นฯ เป็นแรงงานก่อสร้าง ขายพวงมาลัยข้างถนน บางทีไม่มีที่นอนก็ต้องไปนอนข้างถนนหรือป้ายรถเมล์

10 กว่าปีก่อนชีวิตผมเปลี่ยนแปลงเมื่อได้เจอพี่เจ้ย พอได้เล่นหนัง ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วเมื่อมาเจอผู้ลี้ภัย ผมรู้สึกเหมือนมองเห็นตัวเองตอนวัยรุ่น ตอนลำบากเราอยากได้คนมาช่วยเหลือมาก แต่ไม่มีใครช่วย เรารู้สึกว่าทำไมมันโหดเหลือเกิน ผมเลยช่วยพวกเขาแบบอัตโนมัติเลย

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่งผลถึงเรื่องวิธีคิดด้วย

ก่อนจะมาเล่นหนังผมอยู่ในสังคมที่ยากจน จึงค่อนข้างที่จะทำอะไรเพื่อตัวเองก่อน พอมาเล่นหนังแล้วชีวิตดีขึ้น เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกลุ่มคนที่คบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ มีแนวคิดเข้ามาในหัวทีละเล็กทีละน้อยจนเปลี่ยนไปหมดเลย ผมไม่รู้ว่าถ้าไม่ได้เล่นหนังแล้ววันหนึ่งฐานะดีขึ้นมาเอง ผมจะยังมาช่วยผู้ลี้ภัยอยู่หรือเปล่า เพราะแนวคิดอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสังคมที่เราอยู่ด้วย

 

แล้วพี่เจ้ยกับหนังของเขาส่งผลยังไงบ้าง

หนังของพี่เจ้ยจะพูดถึงคนชายขอบและชาวบ้านธรรมดาทั่วไปเยอะมาก พี่เจ้ยเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น เวลาถ่ายหนังเขาจะไม่มองว่าตัวเองเป็นผู้กำกับ ต่างกับการทำหนังของค่ายใหญ่มาก เวลาพักกองพี่เจ้ยจะเป็นคนกวาดพื้น เอาน้ำมาเสิร์ฟ…นี่ผู้กำกับเหรอ (หัวเราะ) เวลากินข้าวจะนั่งล้อมวงกินบนพื้นด้วยกัน เหมือนพี่น้องกันมากกว่า แต่ถ้าเป็นค่ายใหญ่ที่เคยเล่นด้วย ผมจะมีห้องแยกจากทีมงาน แตกต่างกันชัดเจน ตั้งแต่เล่นหนังมาทัศนคติของพี่เจ้ยเปลี่ยนผมไปเยอะเหมือนกัน

ทราบมาว่าคุณกำลังเตรียมไปอยู่ฝรั่งเศสในอีกไม่กี่ปีนี้

อีก 2 ปี ผมจะไปอยู่ฝรั่งเศสเพราะแต่งงานกับคนฝรั่งเศส เลยพยายามหาคนมารับช่วงต่อ คายตะขาบใส่ปาก (หัวเราะ) ที่ผ่านมาผมมีคอนเนคชันต่างๆ ถ้าไปเลยทุกอย่างที่สร้างมาจะหายวับไปกับตา การเริ่มต้นใหม่มันยากมาก แต่คนที่มาทำนอกจากมีเวลาแล้วก็ต้องมีเงินด้วย ผมเล่นหนังบางทีว่าง 4-5 เดือน แม้ไม่ได้มีเงินเยอะแต่ทุกอย่างเป็นเงินหมดเลย ไปเยี่ยมต้องมีค่ารถ ซื้อของไปให้ ยิ่งพาครอบครัวผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สามจะหนักมาก พาไป 4-5 คนใช้เงินเกือบล้าน

ผมโชคดีว่าในเฟซบุ๊กมีคนติดตามหลายพันคน ส่วนใหญ่รู้จักผมจากภาพยนตร์ เขาเลยเชื่อใจ และนอกจากเงินกับเวลา ที่สำคัญมากคือต้องมีใจ ซึ่งหาคนทำยากมาก

ส่วนตัวมองคำว่าคนดี อย่างไร

เอาจริงไม่มีคนไหนดี 100 เปอร์เซ็นต์ ผมก็ไม่ได้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่คนไทยทั่วไปอาจมองว่าสิ่งที่ผมทำคือการทำดี ผมว่ามันก็ดีแหละ แต่ผมก็มีมุมที่เป็นคนชั่วเหมือนกัน (หัวเราะ)

บางทีผมก็มีความอยากได้ ความมักมาก ความอิจฉาริษยา ถ้าให้จำกัดความ ‘ความดี’ สำหรับผมคิดว่าคือการทำอะไรไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน ก็น่าจะเป็นความดีแล้ว แต่คนไทยแค่ไปเข้าวัด บริจาคเงิน ทอดกฐิน ก็เป็นการทำดีแล้ว ความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่าทำแบบนั้นไม่ดี มันก็เป็นการสนับสนุนพุทธศาสนา แต่ถ้าอย่างน้อยเผื่อแผ่มองมาทางนี้หน่อยก็ดี

อาจพูดได้ไหมว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นการทำดี แต่ตัวเองอาจไม่ใช่คนดี

สิ่งที่ผมทำอยู่ ก็คิดว่าเป็นการทำความดีแหละ แต่ตัวผมไม่ใช่คนดีอะไรมากมาย ผมไม่เคยไปพูดว่า ‘ผมเป็นคนดี’ หรือ ‘ผมทำความดี’ รู้สึกละอาย เพราะชีวิตผมมีหลายด้าน ถ้าคนมาเห็นด้านอื่นอาจว่าผมชั่วก็ได้ (หัวเราะ)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save