fbpx
ทำอย่างไร เมื่อไม่มี LTF

ทำอย่างไร เมื่อไม่มี LTF

 อธิภัทร มุทิตาเจริญ เรื่อง

ประเด็นเรื่องกองทุน LTF กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากคุณไพบูลย์ นลินทรางกูร (ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย) ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ขอให้รัฐบาลต่ออายุกองทุนที่กำลังจะหมดสิ้นปี 2562 และกำลังจะเสนอรูปแบบกองทุนใหม่ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมของผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

กองทุนใหม่จะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนทบทวนประสิทธิผลของกองทุน LTF เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการออกแบบกองทุนใหม่ต่อไป

ในบทความนี้ ผมขอชวนคุย 2 ประเด็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เราตัดสินใจเรื่อง LTF หรือกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทนได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น นั่นคือ LTF มีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหนในการส่งเสริมการออมและการลงทุน และ LTF ได้สร้างแรงจูงใจที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ประสิทธิผลต่อการส่งเสริมการออมและการลงทุน

กุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจประสิทธิผลของมาตรการ LTF ต่อการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาว คือการศึกษาว่า LTF นี้ได้กระตุ้นให้คนเพิ่มการออมและการลงทุน (New saving and investment) มากน้อยแค่ไหน โดยการออมและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่ได้มาจากการโยกเงินจากการลงทุนส่วนอื่น (Portfolio allocation) เช่น ย้ายเงินจากที่จะซื้อหุ้นหรือซื้อกองทุนรวมทั่วไปอยู่แล้ว มาซื้อหน่วยลงทุน LTF เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ผมเข้าใจว่า ยังไม่มีงานศึกษาของประเทศไทยที่ตอบคำถามนี้ได้จริงๆ แต่มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พยายามตอบคำถามนี้ โดยใช้ข้อมูลผู้เสียภาษี (งานวิจัยนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Quarterly Journal of Economics ซึ่งเป็นวารสารวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ) ซึ่งชี้ว่า กุญแจสำคัญที่มีผลต่อประสิทฺธิผลนี้คือ รูปแบบของการตัดสินใจลงทุนในเครื่องมือการลดหย่อนภาษี (Tax-saving vehicles) ว่าเป็นแบบ Active นั่นคือผู้เสียภาษีต้องตัดสินใจทุกครั้งว่าจะซื้อหน่วยลงทุนเท่าไหร่ในแต่ละปี เช่น LTF และ RMF หรือแบบ Passive นั่นคือ ผู้เสียภาษีมีส่วนในการตัดสินใจเม็ดเงินการลงทุนน้อยมาก เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่โดยทั่วไปจะตัดสินใจกำหนดสัดส่วนครั้งแรกครั้งเดียว ที่เหลือเป็นการหักอัตโนมัติ (Automatic contributions)

งานศึกษาพบว่า Tax-saving vehicle ที่เป็นแบบ Active จะสร้างเม็ดเงินออมและลงทุนใหม่ได้ไม่มากนัก ผลส่วนใหญ่จะเป็นการโยกเงินจากที่จะลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มาที่การลงทุนที่ได้รับส่วนลดภาษี ในขณะที่แบบ Passive จะมีประสิทธิผลมากกว่า เนื่องจากพึ่งพาการตัดสินใจในแต่ละปีไม่มากนัก

แน่นอนว่างานศึกษาต่างประเทศนี้ อาจไม่ได้สะท้อนบริบทและพฤติกรรมของผู้เสียภาษีไทยทั้งหมด แต่องค์ความรู้นี้สามารถใช้ในการออกแบบสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อสร้างเม็ดเงินการออมและลงทุนใหม่ได้ โดยเน้นรูปแบบการทยอยลงทุนแบบอัตโนมัติมากขึ้น และลดการพึ่งพาการตัดสินใจเป็นครั้งๆ ลง

การสร้างแรงจูงใจให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการออมการลงทุน คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เรากำลังสร้างแรงจูงใจได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาว่า มาตรการดังกล่าวนี้ต้องเน้นการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มคนชั้นกลาง และกลุ่มคนรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้ในอนาคต

ที่ผ่านมา คนที่ได้ประโยชน์จาก LTF มักเป็นคนรวยมากกว่าคนชั้นกลางหรือคนรายได้น้อย เพราะกลไกการให้สิทธิ LTF ในรูปของการลดหย่อนภาษี ทำให้ราคารวมภาษี (After-tax price) สำหรับคนรวยถูกกว่าคนจน เนื่องจากคนรวยจะอยู่บนขั้นบันไดภาษีที่สูงกว่าคนรายได้ปานกลางและคนรายได้น้อย ดังนั้นคนรวยจะได้ส่วนลดภาษีสูงกว่าจากการซื้อ LTF เท่าๆ กัน เมือเทียบกับคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

ตัวอย่างเช่น นาย A อยู่ขั้นบันไดภาษี 35% ในขณะที่นาย B อยู่ขั้นบันไดภาษี 10% ทั้งคู่ซื้อ LTF 10,000 บาทเท่ากัน แต่ขั้นบันไดภาษีที่แตกต่างกันจะส่งผลให้ทั้งคู่ได้ส่วนลดภาษีไม่เท่ากัน โดยนาย A จะลดภาษีได้ 3,500 บาท ส่งผลให้ราคารวมภาษีของ LTF อยู่ที่ 6,500 บาท นั่นคือส่วนลด LTF 35% ในขณะที่ B จะได้ลดภาษีเพียง 1,000 บาท และราคารวมภาษีของ LTF จะเป็น 9,000 บาท (ได้ส่วนลด LTF เพียง 10%)

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในภาพรวม งานวิจัยของอธิภัทร และผาสุก (2560) พบว่าส่วนหนึ่งของการให้แรงจูงใจต่อคนรวยมากกว่านี้ ได้ส่งผลให้ต้นทุนของรัฐจากมาตรการ LTF กระจุกตัวค่อนข้างมากในกลุ่มคนรวย โดย 54% ของต้นทุน LTF นี้ เป็นของคนที่มีรายได้สูงสุด Top 5% ของผู้เสียภาษี (รูปที่ 1)

กว่า 50% ต้นทุนของการลดหย่อน LTF กระจุกตัวอยู่ที่กล่มคนรวย Top 5%

รูปที่ 1: กว่า 50% ต้นทุนของการลดหย่อน LTF กระจุกตัวอยู่ที่กล่มคนรวย Top 5%

ในขณะเดียวกัน มีคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จาก LTF เช่นกัน โดยถึงแม้สัดส่วนของคนรายได้น้อยและปานกลางที่ซื้อ LTF จะน้อยกว่าสิทธิประโยชน์ภาษีอื่นๆ เช่น การประกันชีวิต แต่สัดส่วนของส่วนลดภาษีจาก LTF เฉลี่ยต่อรายได้ของคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง (รูปที่ 2)

สัดส่วนของผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามและส่วนลดภาษีต่อรายได้ตามกลุ่ม Quintile รายได้

รูปที่ 2: สัดส่วนของผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามและส่วนลดภาษีต่อรายได้ตามกลุ่ม Quintile รายได้

การที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีทำให้แรงจูงใจสำหรับคนรวยสูงกว่าคนจนนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ LTF เท่านั้น การลดหย่อนอื่นๆ เช่น RMF และประกันชีวิต ก็พบความบิดเบี้ยวของแรงจูงใจนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคำถามคือ ถ้าเรายังต้องการส่งเสริมการออมและการลงทุนผ่านเครื่องมือภาษี เราจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

แนวทางหนึ่งคือ การให้สิทธิประโยชน์ในรูปของเครดิตภาษี (Tax Credit) แทนที่การลดหย่อนภาษี ตัวอย่างเช่น หากรัฐให้เครดิตภาษีคงที่ในอัตรา 20% ผู้ที่ซื้อ LTF 10,000 บาททุกคน ไม่ว่าจะอยู่ขั้นบันไดภาษีใด จะได้ส่วนลดภาษี 2,000 บาทเท่ากันหมด (ราคารวมภาษีของ LTF อยู่ที่ 8,000 บาท)

แนวทางนี้จะทำให้แรงจูงใจในการลงทุน LTF เสมอภาคกัน ไม่แบ่งแยกระหว่างคนรวยและคนจน ทั้งนี้งานวิจัยของอธิภัทร และผาสุก (2560) ยังพบด้วยว่า การกำหนดอัตราเครดิตภาษีเป็นมาตรการที่ทำได้ โดยไม่เพิ่มต้นทุนของรัฐ

สรุป

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดใหม่เรื่อง LTF โดยเราควรให้ความสำคัญกับรูปแบบของการตัดสินใจลงทุน ที่จะสร้างเม็ดเงินการออมและลงทุนใหม่ รวมถึงการออกแบบกลไกการสร้างแรงจูงใจที่ดึงดูดคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากกว่าคนรวย

ในมุมมองของผม ประเด็นพื้นฐานเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของผลกระทบต่อธุรกิจกองทุนรวมและตลาดทุน ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามภาพรวมเช่นกันว่า ในปัจจุบันเราได้ให้สิทธิประโยชน์ภาษีอะไรบ้างต่อการลงทุนในตลาดทุน และตลาดทุนนั้นมีเสถียรภาพเพียงพอแล้วหรือยัง

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่มีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ เพื่อการสร้างมาตรการที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อผู้เสียภาษี นักลงทุนและเศรษฐกิจไทยมากที่สุดครับ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save