fbpx

รัฐบาลไทยดิจิทัล ทำแล้ว-ทำอยู่-อย่าทำ(แบบเดิม)ต่อ

การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นความหวังว่าจะช่วยให้บริการของภาครัฐง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนสั่งให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปฯ และบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะดำเนินต่อไปจนจบแผนในอีก 5 ปี

ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้บางพรรคการเมืองเสนอจะพัฒนาบริการดิจิทัล อาทิ แพลตฟอร์มบริการภาครัฐเบ็ดเสร็จที่เดียว[1] และระบบราชการความเร็วสูงที่ให้บริการแก่ประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือให้ได้มากที่สุด[2] แต่ยังขาดรายละเอียดว่าจะแตกต่างจากแนวทางที่ผ่านมาอย่างไร

101 PUB ขอชวนทุกท่านมาทบทวนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ผ่านมาว่าได้ผลดีหรือไม่? อย่างไร? หรือทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง?

8 ปี ทำแล้ว-ทำอยู่ สั่งเดินหน้ารัฐบาลดิจิทัลต่อ

ในช่วง 8 ที่ปีผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยออกคำสั่งให้หน่วยงานทุกแห่งทำแอปฯ[3] สั่งห้ามเรียกสำเนาเอกสารที่ออกโดยราชการ[4] ตลอดจนสั่งให้แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการออนไลน์ เช่น การยื่น-รับเอกสารและการชำระค่าธรรมเนียมออนไลน์ โดยมีการแก้ไขไปแล้ว 62 ฉบับ และกำลังแก้ไขอีก 12 ฉบับ[5]

อีกกลไกการขับเคลื่อนหนึ่งของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คือการจัดทำ ‘แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย’ (แผนพัฒนาฯ) ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2559 โดยคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีนายกฯ เป็นประธาน แผนพัฒนาฯ มีหน้าที่กำหนดกรอบและโครงการพัฒนาบริการในภาพรวมของภาครัฐ เช่น การพัฒนาแอปฯ และเว็บศูนย์กลางบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกกฎหมายเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลด้วย อาทิ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญให้หน่วยงานรัฐจัดทำบริการออนไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลภายในภาครัฐ ตลอดจนห้ามไม่ให้เรียกเอกสารที่ราชการเป็นผู้ออกจากประชาชน[6]

ภาพที่ 1

การดำเนินงานข้างต้นทำให้เกิดบริการออนไลน์ของภาครัฐจำนวนมาก โดยในปี 2564 มีแอปฯ ของหน่วยงานรัฐแล้วถึง 299 แอปฯ ตามที่รายงานในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) และน่าจะมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกรายงาน[7] และการสำรวจของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ในปี 2565 พบว่าหน่วยงานระดับกรมมีการจัดทำบริการออนไลน์แล้วร้อยละ 73 ของบริการทั้งหมด[8]

ในการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสหประชาชาติ (E-Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยก็มีอันดับดีขึ้นด้วยจากอันดับ 77 จากทั้งหมด 196 ประเทศทั่วโลกในปี 2559 มาอยู่อันดับ 55 ในปี 2565 และมีคะแนนดัชนีย่อยด้านการให้บริการออนไลน์ (Online Service Index: OSI) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 78 ของคะแนนเต็ม[9] ซึ่งบ่งชี้ว่าภาครัฐไทยมีบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

แต่บริการออนไลน์จำนวนมากนี้ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่ง่ายและสะดวกมากขึ้นแค่ไหน? การดำเนินงานที่ผ่านมาถูกทางแล้วหรือยัง ควรทำต่อแบบเดิมหรือไม่?

แอปฯ ราชการซ้ำซ้อน-แยกส่วน-ใช้ยาก       

แอปฯ ราชการจำนวนมากไม่ได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเท่าใดนัก เพราะมีความซ้ำซ้อนกันแต่ให้บริการได้ไม่ดีนัก เช่น มีแอปฯ เช็กฝุ่นอย่างน้อย 5 แอปฯ โดยหน่วยงานรัฐ 5 แห่ง[10] แต่บางแอปฯ กลับมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ อาทิ มีผู้ใช้บางรายเห็นว่าแอปฯ Air4Thai และ AirCMI รายงานข้อมูลสภาพอากาศและระดับ PM 2.5 ไม่ตรงกับสภาพจริง[11]

การพัฒนาแอปฯ ของราชการยังมีลักษณะแยกส่วน ทำให้ผู้ใช้ต้องโหลดหลายแอปฯ และลงทะเบียนหลายครั้ง เช่น ผู้ต้องการทำใบขับขี่ต้องโหลดแอปฯ บริการจองคิว เมื่อได้ใบขับขี่แล้วก็ต้องโหลดแอปฯ ใบขับขี่ออนไลน์อีกทีหนึ่งสำหรับใช้แสดงผลโดยไม่ต้องพกใบขับขี่ และต้องโหลดอีกแอปฯ หนึ่งเพื่อจ่ายภาษีรถ ทั้งนี้ ผู้ใช้บางรายยังประสบปัญหาแอปฯ ใบขับขี่ออนไลน์ล่มบ่อย ไม่สามารถแสดงใบขับขี่ออนไลน์ต่อเจ้าหน้าที่ได้[12]

ภาพที่ 2

นอกจากนี้ แอปฯ ของราชการหลายแอปฯ ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการพัฒนาต่อ ในปี 2564 มีอย่างน้อย 62 แอปฯ ที่ไม่สามารถดาวน์โหลดได้ เช่น แอปฯ ‘โชห่วยไฮบริด’ ที่เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าของร้านธงฟ้าและสินค้าโอทอป เป็นต้น บางแอปฯ ใช้งานได้แต่ล้าสมัย อาทิ แอปฯ ‘Thai First Aid’ ที่ให้ข้อมูลปฐมพยาบาลถูกอัพเดตครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2557 และแอปฯ ‘รู้กันทันโรค’ ที่ให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขและโรคต่างๆ แต่มีการอัพเดตข้อมูลครั้งสุดท้ายในปี 2563[13]

แม้ว่า สพร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้พัฒนาแอปฯ ศูนย์กลางบริการประชาชน ที่เรียกว่า ‘ทางรัฐ’ รวบรวมบริการจากแอปฯ ของหน่วยงานรัฐไว้ทั้งสิ้น 51 รายการ[14] แต่บริการส่วนใหญ่บนแอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงการตรวจสอบสิทธิ์และข้อมูลต่างๆ หมายความว่าผู้ใช้บริการไม่สามารถทำธุรกรรมได้จบในที่เดียว เช่น ประชาชนสามารถตรวจสิทธิ์เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดบนแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ได้ แต่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ไม่ได้ ต้องใช้แอปฯ ‘เงินเด็ก’ ลงทะเบียน ด้วยเหตุนี้ จึงมีปริมาณการใช้งานไม่มาก โดยในปี 2564 มียอดดาวน์โหลดสะสม 1.5 แสนครั้ง และมีจำนวนผู้ใช้งานราว 80,000 รายเท่านั้น[15]

บริการออนไลน์ไม่ครบ-ไม่จบที่เดียว

บริการออนไลน์ของราชการบนเว็บไซต์ก็ไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประชาชนและผู้ประกอบการได้เท่าที่ควร เพราะหลายธุรกรรมไม่อาจทำได้ครบและจบในเว็บไซต์เดียว ต้องเข้าหลายเว็บไซต์ กรอกข้อมูลซ้ำไปซ้ำมา และในหลายกรณีก็ยังต้องเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานราชการเพิ่มเติม

ยกตัวอย่างเช่น ในการเปิดร้านขายเครื่องสำอางนำเข้าออนไลน์ ผู้ประกอบการบางรายจะต้องจดทะเบียน 5 ใบกับหน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงานที่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการจะต้องทำดังนี้ (ดูภาพที่ 3):

  1. จดทะเบียนนิติบุคคลที่เว็บไซต์ ‘e-register’ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  2. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยต้องเดินทางไปสำนักงานเขตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น
  3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เว็บไซต์ VAT SBT ของกรมสรรพากร
  4. จดแจ้งนำเข้าเครื่องสำอางที่เว็บไซต์ Sky NET ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ก่อนที่จะใช้ได้นั้นต้องเดินทางไปขออนุญาตเปิดระบบออนไลน์ที่สำนักงานก่อน ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ระบบมีอายุ 1 ปี
  5. จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่เว็บไซต์ OPDC Direct ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ภาพที่ 3

ดังนั้น ผู้ต้องการประกอบธุรกิจเปิดร้านขายเครื่องสำอางนำเข้าออนไลน์จะต้องเข้าไปจดทะเบียนใน 4 เว็บไซต์และต้องเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานอีก 2 แห่ง

สพร. และสำนักงาน ก.พ.ร. พยายามแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจที่เรียกว่า ‘Biz Portal’ ตั้งแต่ปี 2559 แต่ในตัวอย่างข้างต้น Biz Portal สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนแค่ 3 รายการ ได้แก่ ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ทั้งนี้ Biz Portal ให้บริการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ในภาพรวม Biz Portal ไม่อาจถูกเรียกเป็นศูนย์กลางบริการแบบเบ็ดเสร็จได้ เนื่องจาก Biz Portal มีบริการทั้งหมด 94 รายการ แต่มีบริการดิจิทัลครบทุกขั้นตอน (fully digital) แค่ 35 รายการ ส่วนที่เหลือยังมีบางขั้นตอนที่ผู้ใช้ต้องเดินทางไปติดต่อสำนักงาน และมีบริการนอกพื้นที่กรุงเทพฯ เพียง 18 รายการ[16] นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังต้องอัปโหลดเอกสารเองค่อนข้างมากด้วย เพราะ Biz Portal ไม่ค่อยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น[17] ส่งผลให้มีปริมาณการใช้งานค่อนข้างน้อยโดยมีจำนวนการใช้บริการสะสมเพียง 1,409 รายการในช่วงปี 2559-2563 (ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลเปิดเผยล่าสุด)[18]

ระบบ-ระเบียบล้าหลัง ยึดราชการเป็นศูนย์กลาง

บริการบางด้านของภาครัฐยังไม่มีช่องทางออนไลน์เพราะติดปัญหาระบบงานและข้อมูลแยกส่วนกัน อีกทั้งยังมีกฎระเบียบที่บังคับให้ผู้ขอรับบริการต้องอำนวยความสะดวกราชการ เช่น ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ชื่อ-นามสกุล จะต้องเดินทางไปสำนักงานเขตตามทะเบียนบ้านเท่านั้น และผู้ต้องการยกเลิกทะเบียนพาณิชย์ต้องเดินทางไปสำนักงานเขตหรือหน่วยงานท้องถิ่นเดิมที่จดทะเบียน ไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงที่สำนักงานอื่นที่สะดวกได้

ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือ การบังคับให้ประชาชนคิดแบบราชการ ดังจะเห็นได้จากกรณีการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีขั้นตอนยุ่งยากและเต็มไปด้วยภาษาราชการ ซึ่งผู้ที่จะขอรับเบี้ยยังชีพจะต้องลงทะเบียนเมื่อ ‘มีอายุครบ 60 ปีในปีงบประมาณถัดไป’ หากลงทะเบียนล่าช้า ก็จะได้รับเบี้ยลดลง แต่ถ้าลงทะเบียนก่อนกำหนด ก็จะถูกฟ้องร้องเรียกเงินคืน[19] ในกรณีนี้ถึงแม้จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ได้ แต่ถ้าไม่มีการปรับขั้นตอนใดๆ (เช่น การให้เบี้ยยังชีพโดยอัตโนมัติจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์) ก็จะไม่ช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับบริการที่ง่ายขึ้น

ภาพที่ 4

ปัญหาระบบข้อมูลล้าหลัง-ไม่เชื่อมโยงยังทำให้หน่วยงานรัฐหลายแห่งต้องใช้และขอเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานรัฐเองจากประชาชน ทั้งที่มีคำสั่งและกฎหมายห้ามไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2562[20] แต่ในปี 2565 การสำรวจของ สพร. พบว่าเกือบร้อยละ 40 ของสำนักงานระดับจังหวัดยังเก็บสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ซึ่งร้อยละ 14-15 ยังสั่งให้ประชาชนต้องถ่ายสำเนามาเอง ส่วนที่เหลือแก้ปัญหาด้วยการถ่ายสำเนาแทนประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น โฉนดที่ดินยังเป็นเอกสารที่ถูกเรียกขอสำเนาสูงมาก โดยมีถึงร้อยละ 39 ของสำนักงานที่ให้ประชาชนถ่ายสำเนาโฉนดที่ดินมาให้[21] (ดูภาพที่ 4)

ทำต่อแบบเดิม เจอปัญหาแบบเดิม

ปัญหาบริการออนไลน์ของราชการที่มีจำนวนมาก แต่กระจัดกระจายและไม่อำนวยความสะดวกผู้ใช้ สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างราชการที่ทำงานแยกส่วนและแข็งตัว ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ ซึ่งปัญหานี้เป็นที่รับรู้ของรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการแก้ไขที่เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมดังที่เห็นได้จากการที่อุปสรรคในแผนพัฒนาฯ ปัจจุบันแทบไม่แตกต่างจาก 8 ปีที่แล้ว (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5

แผนพัฒนาฯ พ.ศ. 2559-2561 ได้ระบุอุปสรรคไว้ว่า “แนวทางการพัฒนาภาครัฐไทยสู่รัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานต่างๆ ขาดวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกัน ระบบต่างๆ ถูกพัฒนาในลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้ขาดมาตรฐาน และไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้”[22]

ในขณะที่แผนพัฒนาฯ พ.ศ. 2566-2570 ระบุปัญหาทำนองเดิม คือ “บริการดิจิทัลส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ที่เป็น One-Stop Service เพื่อให้บริการจุดเดียวได้” และ “ยังคงประสบปัญหาต่างๆ อาทิ รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงาน การขาดแนวทางการบูรณาการที่เป็นมาตรฐานกลางที่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และการขาดการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล…”[23] ในขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐก็มี “การลงทุนในโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน”[24]

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลมอบหมายให้ สพร. และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานกลางในการปฏิรูประบบราชการและการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แต่หน่วยงานทั้งสองแห่งก็ยังไม่มีอำนาจและเครื่องมือในการกำกับติดตามให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้จริง[25] ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการที่หน่วยงานทั้งสองแห่งพยายามพัฒนาศูนย์กลางบริการภาครัฐทั้งแอปฯ ‘ทางรัฐ’ และเว็บไซต์ ‘Biz portal’ แต่หน่วยงานรัฐต่างๆ ก็ยังคงสามารถพัฒนาบริการออนไลน์ของตัวเองโดยไม่ต้องเชื่อมโยงหรืออยู่บนแอปฯ เหล่านี้

นอกจากนี้ แผนพัฒนาฯ ทั้งสองฉบับยังระบุถึงอุปสรรคอื่นๆ คล้ายกันด้วย อาทิ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ต่อเนื่องและการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน IT ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะต้องรื้อใหญ่วิธีการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรภายในระบบราชการ

เลิกทำต่อแบบเดิม เรียนรู้จากต้นแบบ ต้องรื้อระบบราชการ-ยึดผู้ใช้เป็นที่ตั้ง

เพื่อให้เกิดการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกประชาชนอย่างแท้จริง ภาครัฐไทยควรเลิกแนวทางการพัฒนาแบบที่เป็นมาและถอดบทเรียนจากต้นแบบรัฐบาลดิจิทัล กล่าวคือ การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต้องทำพร้อมกับการปรับระบบราชการโดยยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมพลังการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การสร้างแอปฯ หรือบริการออนไลน์โดยไม่ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายใน ซึ่งเป็นการสั่งการจากด้านบนโดยขาดความเข้าใจพื้นฐานในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ประเทศเดนมาร์กได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบรัฐบาลดิจิทัลและมีคะแนนดัชนีเป็นอันดับที่หนึ่งในการจัดลำดับของทั้งองค์การสหประชาชาติและ OECD [26] โดยมีการพัฒนาบริการดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ค้นหา-จำ-กรอกข้อมูลน้อยที่สุด อาทิ เว็บไซต์ ‘borger.dk’ เป็นศูนย์กลางบริการของภาครัฐเบ็ดเสร็จจบที่เดียว ประชาชนมีรหัสตัวตนดิจิทัลเดียว (digital ID) แต่สามารถเข้าถึงทุกบริการของภาครัฐได้ มีกล่องจดหมายดิจิทัลรับการแจ้งเตือนเรื่องสำคัญจากภาครัฐ และมีบัญชีธนาคารเดียวที่ลงทะเบียนไว้รับ-จ่ายเงินกับภาครัฐ[27] นอกจากนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังมีระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกันทั้งภาครัฐ ทำให้บริการออนไลน์จะมีการขอให้ประชาชนผู้ใช้งานกรอกข้อมูลแค่ครั้งเดียว[28]

ความสำเร็จข้างต้นเกิดจากความร่วมมือกันทำงานภายในภาครัฐ โดยมีหน่วยพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Agency for Digital Government) หรือที่มีชื่อในภาษาเดนมาร์กว่า ‘Digitaliseringsstyrelsen (DIGST)’ ทำหน้าที่ ‘สานการทำงานระหว่างหน่วยงาน’ (ดูภาพที่ 6) โดย DIGST จะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่การวางแผนภาพรวมของประเทศ การกำหนดแผนปฏิบัติการและโครงการระหว่างหน่วยงาน จนถึงการจัดทีมทำงานในระดับโครงการ ที่สำคัญ DIGST มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับบริการดิจิทัลของภาครัฐโดยรวม ทำให้สามารถป้องกันการพัฒนาระบบบริการและไอทีซ้ำซ้อนหรือไม่เชื่อมโยงกับภาพรวมได้[29]

อีกหน้าที่สำคัญของหน่วย DIGST คือ ‘การปรับกฎระเบียบให้ทันโลก’ ไม่ใช่แค่การจัดทำบริการดิจิทัล โดยมีการออกหลักการเขียนกฎระเบียบให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ (digital-ready legislation) อาทิ การเขียนให้มีขั้นตอนทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถนำเทคโนโลยีมาประมวลข้อมูลในระบบ จัดสรร และโอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีขั้นตอนลงทะเบียนขอรับสิทธิ์[30]

ภาพที่ 6

ต้นแบบรัฐบาลดิจิทัลอีกประเทศคือสหราชอาณาจักรซึ่งเคยประสบปัญหาระบบบริการออนไลน์และไอทีของภาครัฐแยกส่วนและซ้ำซ้อนกัน อันเป็นผลมาจากการที่หน่วยงานแต่ละแห่งต่างพัฒนาระบบตามแผนของตัวเอง คล้ายกับสถานการณ์ของประเทศไทย

ประเทศสหราชอาณาจักรแก้ปัญหานี้ด้วยการ ‘รวมศูนย์-สลายรัฐราชการแยกส่วน’ ในการพัฒนาระบบรัฐดิจิทัล โดยในปี 2554 ได้จัดตั้งหน่วยงานกลางที่เรียกว่า ‘Government Digital Service (GDS)’ มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล (ดูภาพที่ 6)

GDS ประสบผลสำเร็จในการสร้างเว็บไซต์กลางที่เรียกว่า GOV.UK และย้ายเว็บไซต์ของภาครัฐกว่า 2 พันแห่งเข้าสู่เว็บกลางนี้ได้ภายใน 2 ปี[31] ทำให้สามารถกำกับและติดตามคุณภาพบริการออนไลน์ของหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ โดย GDS จะตรวจว่าบริการออนไลน์ของหน่วยงานรัฐมีคุณภาพตามมาตรฐาน (Digital Service Standard) ที่กำหนดหรือไม่ หากมีคุณภาพตามมาตรฐานก็จะอนุญาตให้ลงเนื้อหาบน GOV.UK ได้ ต่อมา GDS ได้ช่วยพัฒนาระบบบริการกลางอื่นที่เปิดให้หน่วยงานรัฐนำไปใช้ได้ด้วย เช่น ระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ ‘GOV.Notify’[32]

GDS ยังมีอำนาจควบคุมงบด้านบริการดิจิทัลและระบบไอทีด้วย (spend control) โดยสามารถตัดงบโครงการที่ซ้ำซ้อนหรือไม่เชื่อมโยงกับระบบกลางของภาครัฐ ช่วยให้ประหยัดงบประมาณในช่วงปี 2554-2559 ได้ถึง 1.3 พันล้านปอนด์[33] และหน้าที่สำคัญอีกประการของ GDS คือการสื่อสารและส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐต่างๆ เข้าใจมุมมองของผู้ใช้และพัฒนาบริการจากมุมมองดังกล่าว เช่น ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยโครงการพัฒนาบริการออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ และแนะนำวิธีการสำรวจและเข้าใจประสบการณ์ผู้ใช้เพื่อนำไปพัฒนาบริการ[34]

แน่นอนว่าภาครัฐไทยไม่ได้ขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต้นแบบเหล่านี้ ราชการไทยมีการศึกษาดูงานอยู่ตลอดและมีการลอกเลียนแบบทั้งการจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การทำแอปฯ และเว็บศูนย์กลางบริการเบ็ดเสร็จ แต่สิ่งที่ทำแล้ว-ทำอยู่เหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นเพียงการลอก ‘รูปแบบ’ ที่ขาด ‘แก่นแกนสำคัญ’ อย่างการสานความร่วมมือในราชการ การปรับรื้อกฎระเบียบ การสลายรัฐราชการแยกส่วน และการยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ทำให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่อาจให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องคิดใหญ่ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจราชการ ไม่ใช่แค่สร้างแพลตฟอร์มหรือแอปฯ ใหม่โดยหวังว่าจะเป็นทางลัดในการปฏิรูปราชการ

References
1 พรรคเพื่อไทย. “นโยบายรัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน,”https://ptp.or.th/นโยบายหลักพรรคเพื่อไทย/technology-policy (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2566)
2 พรรคชาติพัฒนากล้า.”นโยบาย#04 Gov-Tech ราชการในมือถือ รวดเร็ว ปลอดคอร์รัปชั่น รื้อระบบราชการ” https://www.chartpattanakla.org/govtech (เข้าถึงเมื่อ 18 เมษายน 2566)
3 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. “นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการทุกส่วนราชการ หน่วยงานรัฐจัดทำแอปพลิเคชั่น-แพลตฟอร์มการให้บริการหรือข้อมูลแก่ประชาชนให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน,” https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/40654 (เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2566)
4 คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 21/2560 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 ตุลาคม 2561
5 สำนักงาน ก.พ.ร. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐภายใต้แผนแม่บทด้านการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ. 2564
6 รวมถึง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่รับรองว่าการทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐผ่านช่องทางดิจิทัลถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการขจัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบเก่าที่ไม่ได้กำหนดขั้นตอนการให้บริการออนไลน์
7 อุดมโชค อาษาวิมลกิจ. “แอปพลิเคชันภาครัฐ: คุณภาพและบริการสาธารณะในยุคดิจิทัล,วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, 2565.
8 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). ผลสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี 2565. 2565.
9 UNITED NATIONS. UN E-GOVERNMENT SURVEY. 2016, 2022
10 แอปฯ เช็กฝุ่น 5 แอปฯ มีชื่อและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้ ‘Air4Thai’ ของกรมควบคุมมลพิษ ‘เช็คฝุ่น’ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ‘Depa PM 2.5’ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ‘AirBKK’ ของกรุงเทพมหานคร และ ‘AirCMI’ ของสำนักงานสร้างความสามัคคีปรองดองและการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (ป.ย.ป.)
11 ข้อมูลจาก App Store และ Play Store (เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2566) และ ผู้จัดการออนไลน์,24 ก.พ. 2564, “คนเชียงใหม่มึน! แอปฯ AirCMI ส่อเพี้ยนเข้าใช้งานทุกวันวันละ 3 เวลา เจอค่า PM 2.5 คงที่-อากาศดีตลอดทั้งที่ฝุ่นทึบ-มลพิษพุ่งอันดับ 8 โลก,” https://mgronline.com/local/detail/9640000018404 (เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2566)
12 ข้อมูลจาก App Store และ Play Store, เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2566
13 อุดมโชค อาษาวิมลกิจ. “แอปพลิเคชันภาครัฐ: คุณภาพและบริการสาธารณะในยุคดิจิทัล,” วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, 2565.
14 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). รายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ตามกรอบการประเมินองค์การมหาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (รอบ 6 เดือน). 2565
15 สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานการพัฒนาระบบราชการประจำปี 2564. 2564
16 สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานการพัฒนาระบบราชการประจำปี 2564. 2564
17 ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ. “ความท้าทายในการอำนวยความสะดวกการให้บริการภาครัฐแก่ภาคเอกชนและประชาชนและการเปลี่ยนผ่านสู่การให้บริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบเบ็ดเสร็จ,วารสารรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1, 2565.
18 ข้อมูลสถิติจำนวนผู้ใช้บริการบนระบบ Biz Portal จากเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data), https://data.go.th/tr/dataset/gdpublish-dataset_2_017,เข้าถึงเมื่อ 31 มีนาคม 2566
19 ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์. การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล. 2565, https://www.dga.or.th/document-sharing/article/71534/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2566)
20 คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 21/2560 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 ตุลาคม 2561 และ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
21 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). ผลสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี 2565. 2565.
22 สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน). แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561) ฉบับ Presentation, 2559, หน้า 2
23 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570.  2566, หน้า 59
24 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570. 2566, หน้า 60
25 OECD. Open and Connected Government Review of Thailand. Paris: OECD Publishing. 2022
26 UNITED NATIONS. UN E-GOVERNMENT SURVEY 2022. 2022 และ OECD. The OECD Digital Government Index (DGI). Paris: OECD Publishing. 2019
27 ดูเพิ่มเติมในเว็บไซต์ https://en.digst.dk และเว็บไซต์ https://www.borger.dk/ (เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2566)
28 Ozols,G. and M. Nielsen. Connected Government Approach for Customer-centric Public Service Delivery: Comparing strategic, governance and technological aspects in Latvia, Denmark and the United Kingdom. United Nations University (UNU-EGOV). 2018
29 Nielsen, M. “Governance Lessons from Denmark’s digital transformation,” Proceedings of the 20th Annual International Conference on Digital Government Research, 2019. และ Ozols,G. and M. Nielsen. Connected Government Approach for Customer-centric Public Service Delivery: Comparing strategic, governance and technological aspects in Latvia, Denmark and the United Kingdom. United Nations University (UNU-EGOV). 2018
30 ดูเพิ่มเติมใน Digitaliseringsstyrelsen (DIGST). “Digital-ready legislation,” https://en.digst.dk/digital-governance/digital-ready-legislation/ (เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2566)
31 National Audit Office. Digital transformation in government. UK, 2017.
32 Bracken, M. and A. Greenway. How to Achieve and Sustain Government Digital Transformation. Inter-American Development Bank. 2018.
33 National Audit Office. Digital transformation in government. UK, 2017.
34 Greenway,A. and B. Terrett. Digital Transformation at Scale: Why the Strategy is Delivery. London: London Publishing Partnership, 2018.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save