fbpx

วิกฤต Silvergate Bank: เมื่อวิกฤตคริปโตฯ อาจกลายเป็นวิกฤตการเงินของโลกอนาคต

เชื่อว่าใครที่ตามข่าวคริปโตฯ หรือวงการสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่บ้าง คงพอทราบว่า ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา มีบริษัทคริปโตฯใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศประสบปัญหาสภาวะที่เรียกกันว่า ‘Crypto Winter’ ซึ่งเกิดจากการปรับลงอย่างรุนแรงและกะทันหันของราคาเหรียญคริปโตฯ ทั่วทั้งตลาด ส่งผลให้บริษัทหลายเจ้าถึงขั้นล้มละลาย หลายเจ้าต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างและชะลอการชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดวิกฤตในวงการคริปโตฯ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เคยลุกลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก หรือกระทั่งต่อเศรษฐกิจจริง จนกระทั่งเกิดวิกฤต ‘Silvergate Bank’ ซึ่งเป็นวิกฤตที่เริ่มต้นจากวงการคริปโตฯ และอาจลุกลามบานปลายไปเป็นวิกฤตการเงินของโลก

คำถามคือ ทำไมวิกฤต Silvergate Bank จึงแตกต่างจากครั้งก่อน และอะไรคือนัยสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจการเงินโลก

ทำไมวิกฤตคริปโตฯ ถึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินโลกเสียที

ปีเสืออันดุดันที่ผ่านมาได้พรากโครงการคริปโตฯ ดังระดับโลกไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Tera/Luna ของเกาหลี ซึ่งเป็นเหรียญ Stablecoin ที่ผูกมูลค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีการเก็บสะสมเงินสำรองในสกุลดอลลาร์สหรัฐ (Algorithmic Stablecoin) หรือบริษัทลงทุน Celcius Network จากนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา ที่ให้บริการกู้ยืมเงินโดยมีสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทรัพย์สินค้ำประกัน รวมทั้งการออกเหรียญคริปโท (CEL) ของตัวเอง และ Babel Finance  จากเกาะฮ่องกงที่ให้บริการทางการเงินคริปโทครบวงจร  นอกจากนั้น ทุกท่านน่าจะรู้จัก Zipmex ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนและแปซิฟิกที่ประสบปัญหาทางการเงินจากการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปลงทุน  และที่ขาดไม่ได้ เป็นข่าวดังที่สุดส่งท้ายปี 2565 ได้แก่การล่มสลายของบริษัทคริปโตฯ อันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง FTX/Alameda Research จากบาฮามาส ที่คุณแซม แบงค์แมนฟรีด หรือ SBF เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และถูกจับตัวบนเกาะบาฮามาสก่อนที่จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ศาลเขตนิวยอร์กใต้

อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกท่านลองสังเกตดูนะครับว่า ผลกระทบจากปัญหาต่างๆ เหล่านี้มักเป็นความเสียหายที่เกิดในวงจำกัดกับลูกค้าของบริษัทหรือธุรกิจที่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันโดยตรงเท่านั้น ยังถือว่าไม่กระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของโลกหรือของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจคริปโตฯ เหล่านี้ยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินที่เป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตการเงินของโลกในครั้งก่อนๆ

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพเป็นรูปธรรม เช่น ‘ทรัพย์สิน’ ของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของ FTX พบว่า น่าจะมีประมาณ 10,000 – 50,000 ล้านดอลล่ร์สหรัฐ (ประมาณ 350,000 ถึง 1.5 ล้านล้านบาท) เท่านั้น ในขณะที่ ‘ความเสียหาย’ ที่เกิดขึ้นต่อนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการเลิกกิจการของ Lehman Brothers บริษัททางการเงินขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาวิกฤตการเงินของโลกเมื่อปี 2551 คาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท)[1] ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีขนาดต่างกันมาก

แต่ที่อาจจะสำคัญไม่แพ้ขนาดและมูลค่าคือ ความเกี่ยวพันเชิงระบบ (Systemic interconnectedness) ระหว่างสถาบันการเงิน นักลงทุน บริษัท ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และภาคประชาชน ซึ่งนักวิชาการทั้งด้านการเงินและกฎหมายเห็นว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่า วิกฤตจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแค่ไหน หรือไม่ อย่างไร ดังเช่นที่ ฮานนา ฮาลาเบอร์ด้า (Hanna Halaburda) แห่ง Stern School of Business, NYU ชี้ว่า การล่มสลายของ FTX อาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลกเศรษฐกิจคริปโตฯ แต่ระบบเศรษฐกิจหลักกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ในแง่นี้ เหตุการณ์ FTX อาจจะคล้ายคลึงกับวิกฤต Enron (ในอุตสาหกรรมพลังงาน) Theranos (ในวงการเทคโนโลยีการแพทย์) หรือ Madoff (เหตุการณ์แชร์ลูกโซ่ทางการเงิน) มากกว่าจะเหมือนวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2551 ที่เริ่มต้นหรือมีสาเหตุมาจากการดำเนินธุรกิจของ Lehman Brothers ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ความล้มเหลวของสถาบันการเงินส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง

หากใช้ภาษาของสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการเงินของสหรัฐอเมริกาอาจกล่าวได้ว่า ‘ความเกี่ยวพันเชิงระบบ’ คือ การที่ Wall Street จะส่งผลกระทบต่อ Main Street นั่นเอง[2]

Silvergate Bank คืออะไร ทำไมจึงอาจจะกลายเป็นก้าวแรกของวิกฤตการเงินของโลกในอนาคตได้[3]

Silvergate Bank (SB) เป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จดทะเบียนที่เมืองลาโฮย่า (La Jolla) ทางตอนเหนือของนครซานดิเอโก มลรัฐเคลิฟอร์เนีย ก่อนหน้าที่จะมาจับเรื่องคริปโตฯ ก็เป็นธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็กธรรมดา ให้บริการรับฝากเงิน และปล่อยกู้ให้กับประชาชนและธุรกิจในเมืองลาโฮย่าและชุมชนใกล้เคียง โดยเน้นธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ (เช่น โครงการก่อสร้างหมู่บ้านและคอนโดมีเนียม) และโครงการก่อสร้างอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา SB เริ่มหันมาให้ความสนใจกับตลาดคริปโตฯ และเริ่มพัฒนาระบบโครงสร้างทางการเงินและการชำระเงินสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยเรียกโครงการดังกล่าวว่า Digital Currency Initiative (DCI) และกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดของบริษัทในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ หัวใจสำคัญของโครงการ DCI คือ การพัฒนาเครือข่ายการหักชำระหนี้ (Netting and settlement function) ระหว่างผู้ใช้บริการฝากเงินที่ประกอบธุรกิจหรือลงทุนในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Silvergate Exchange Network (SEN)

การเติบโตของโครงการ DCI ในช่วงปี 2553 ถึง 2561 ทำให้มีการปรับโครงสร้าง SB เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตลาดคริปโตฯ ของโลก โดยมีการจัดตั้งบริษัทแม่หรือ ‘ยานแม่’ ชื่อ Silvergate Capital Corporation (SCC) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายของมลรัฐเดลาแวร์ และมีการออกเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ก่อนจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ในปี 2562 หลังจากนั้นก็ยังมีการระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2564 ที่เป็นปีทองของเศรษฐกิจคริปโตฯ ของโลก มีการระดมทุนทั้งหมด 4 รอบ รวมทุนที่ได้ทั้งหมดกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท)  

หัวใจของ DCI คือ บริการหลักสองตัว ได้แก่ Silvergate Exchange Network (SEN) และ  เป็น SEN Leverage ซึ่งมีรายละเอียดการให้บริการดังนี้

  1. Silvergate Exchange Network (SEN) เป็นเครือข่ายสำหรับลูกค้าของ SB ทำหน้าที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐระหว่างกัน โดยผู้โอนทั้งสองฝ่ายต้องมีบัญชีธนาคารกับ SB และมีหลักฐานว่ามีธุรกรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ SB พัฒนาระบบ SEN โดยใช้เทคโนโลยี Cloud-based API และระบบ Online Banking ที่พัฒนาขึ้นเอง ทำให้สามารถส่งและรับเงินระหว่างกันได้ในทันที (instantaneous settlement) ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์  

การใช้บริการของ SEN เติบโตอย่างก้าวกระโดดตามการพัฒนาของตลาดคริปโตฯ โลก จากปริมาณมูลค่าการโอนรวม 32,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เป็น 787,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 คิดเป็นการเติบโต 24 เท่าภายในเวลา 3 ปี

  • SEN Leverage เป็นบริการสินเชื่อหลายรูปแบบ แบบแรก เป็นบริการสินเชื่อที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าของธนาคารกู้เงินดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารได้โดยตรง เพื่อนำเงินไปลงทุนใน Bitcoin โดยใช้ Bitcoin เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (direct lending) SB จะนำ Bitcoin ไปฝากไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และ SB จะโอนเงินดอลลาร์เข้าบัญชีเงินดอลลาร์ (fiat account) ของผู้กู้ที่เปิดไว้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงเพื่อให้ผู้กู้ใช้เป็นทุนในการซื้อขาย Bitcoin ในศูนย์ซื้อขายดังกล่าวต่อไป  

นอกจากบริการในลักษณะการปล่อยกู้โดยตรงให้แก่นักลงทุนเพื่อนำไปลงทุนแล้ว SEN Leverage ยังให้บริการกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็น Bitcoin เช่นกัน แต่เป็นการปล่อยกู้เพื่อให้บริษัทที่เป็นลูกหนี้นำเงินไปใช้เพื่อการบริหารจัดการทางการเงินของบริษัท (corporate treasury) (ในทางเทคนิคอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การปล่อยกู้ทางอ้อม’ (indirect lending) ในการให้บริการประเภทนี้ SB ใช้บริการผู้ให้บริการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเก็บรักษา Bitcoin ที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีการกำหนดอัตราส่วนเงินสำรอง (bitcoin coverage ratio) ไว้คล้ายการดำเนินงานของธนาคารปกติ กล่าวคือ เมื่ออัตราส่วนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ SB จะสามารถยึด Bitcoin บางส่วนและแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์เพื่อรักษาอัตราเงินสำรองดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ไม่เสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจของธนาคาร  ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า SB ปล่อยกู้ผ่าน SEN Leverage ไปถึง 335.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 11,760 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร เทียบกับสัดส่วนของปีก่อนหน้าที่มีเพียงไม่ถึง 5% ของสินเชื่อทั้งหมด

สัดส่วนลูกค้าผู้ฝากเงิน (depositors) ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของ SB เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสามปีที่ผ่านมา ดังนี้

ด้วยบริการและรูปแบบธุรกิจของข้างต้น ส่งผลให้ SCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ SB [และมีสถานะเป็นบริษัทแม่ของธนาคารพาณิชย์ (Bank Holding Company – BHC)] กลายเป็นสถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักสถาบันแรกที่มีลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ฝากเงิน (เจ้าหนี้ของธนาคาร) และผู้กู้ (ลูกหนี้ของธนาคาร) เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจคริปโตฯ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน ดังนั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นที่กระทบต่อลูกค้ากลุ่มนี้ หรือทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ค้ำประกัน (ส่วนใหญ่เป็น Bitcoin) ปรับลดราคาตามสภาพการณ์ในตลาดจนไม่สามารถปิดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ได้อีกต่อไป SCC และ SB จะกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผลกระทบในโลกคริปโตฯ ให้สามารถไหลข้ามเข้ามาส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มสถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจหลักได้ นี่คือหนึ่งในลักษณะของความเกี่ยวพันเชิงระบบ (Systemic interconnectedness) ที่กล่าวไว้ข้างต้น

ยิ่งหากพิจารณาการกำกับดูแลของ SCC และ SB จะยิ่งพบความเกี่ยวพันธ์อย่างชัดเจน เพราะ SCC ถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve) ในขณะที่ SB ถูกกำกับดูแลโดยองค์กรกำกับดูแลทั้งในระดับมลรัฐ (California Department of Financial Protection and Innovation, Division of Financial Institutions – DFPI) และระดับประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลาง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation – FDIC) กฎหมายกำกับดูแลให้อำนาจหน่วยงานเหล่านี้ในการตั้งเงื่อนไขและกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเพื่อปกป้องผู้ฝากเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการธนาคารของประเทศโดยรวม นอกจากนั้น SB ยังต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันการเงินหลังวิกฤติการทางการเงินเมื่อปี 2551 โดยเฉพาะ Dodd-Frank Act ซึ่งมีการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพของการปล่อยกู้ การบริหารจัดการความเสี่ยงและสภาพคล่อง การรักษาเงินทุนสำรอง และข้อกำหนดด้านความมั่นคงและปลอดภัยอื่นๆ (Prudential Regulation)

สำหรับการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (Conduct of Business Regulation) SB ต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันการก่อการร้าย และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในขั้นตอนการรับลูกค้าและการตรวจสอบการทำธุรกรรมของลูกค้า (KYC/CDD) ซึ่ง Financial Crime Enforcement Network (FinCEN) มีหน้าที่กฎเกณฑ์และกฎระเบียบเหล่านี้และให้หน่วยงานกำกับดูแลหลัก (Federal Reserve) เป็นผู้บังคับกฎและระเบียบดังกล่าว นอกจากนั้น SB ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้กับสถาบันการเงิน ดังเช่น ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Consumer Financial Protection) กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

การประกาศเลิกกิจการ Silvergate Bank : จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การเงินรูปแบบใหม่?

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 SCC ประกาศเลิกกิจการ  (Voluntary Liquidation) ใน SB และเริ่มกระบวนการคืนเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน และจัดการกับภาระหนี้สินรวมทั้งทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของบริษัท โดยก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเลิกกิจการ SB ได้ประกาศยุติการให้บริการ SEN ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม

Figure 1 โครงสร้างธุรกิจของ Silvergate Capital Corporation (เรียบเรียงโดยผู้เขียนจากข้อมูลในฟอร์ม 10-K ล่าสุดที่เปิดเผยโดย US SEC)

การประกาศยุติการให้บริการและเลิกกิจการของ SB เป็นผลพวงมาจากปัญหา ‘Crypto Winter’ ต่อเนื่องมาจากปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีลูกค้าถอนเงินฝากรวมมูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 280,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเหตุให้ SCC ตัดสินใจขอผ่อนผันการส่งเอกสารประจำปี (Form 10-K) สำหรับปี 2565 ให้กับหน่วยงานกำกับดูแล (US SEC) โดยให้เหตุผลว่า ผลประกอบการในช่วงปี 2565 แตกต่างไปจากผลประกอบการในปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มีผลขาดทุนอย่างหนัก ประมาณการว่าอาจจะมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท) และอาจส่งผลให้บริษัทแม่และธนาคาร SB ไม่สามารถรักษาเงินทุนสำรองตามกฎหมายไว้ได้

อย่างไรก็ดี การเลิกกิจการของ SB อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหลักมากนัก แม้ว่าจะมีความเกี่ยวพันเชิงระบบอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะ SB มีธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้านอกระบบเศรษฐกิจคริปโตฯ ที่ค่อนข้างจำกัด และกระจุกตัวอยู่ในบริเวณมลรัฐแคลิฟอร์เนียใต้เท่านั้น  อย่างไรก็ดี แผนธุรกิจของ SCC และ SB แสดงให้เห็นแล้วว่า การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างโลกคริปโตฯ และระบบเศรษฐกิจหลักเกิดขึ้นได้อย่างไร และหากไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เราอาจจะพบกับวิกฤตการทางการเงินของโลกครั้งใหม่ที่มี Lehman Brothers ในโลกคริปโตฯ ก็เป็นไปได้

ถึงตอนนั้น หมายความว่า เส้นแบ่งระหว่างโลกคริปโตฯ และระบบเศรษฐกิจหลักก็จะไม่มีอีกต่อไป


[1] ข้อมูลจากเอกสาร Bankruptcy Filing (Chapter 11) ของ FTX Trading Ltd. และ Lehman Brothers Holdings Inc. สืบค้นได้จาก [The FTX bankruptcy filing in full (updated) | Financial Times] และ [Lehman Brothers Holdings Inc. (Chapter 11) Bankruptcy Overview Case: 08-13555 | Epiq (epiq11.com)]

[2] Was the fall of FTX really crypto’s ‘Lehman moment?’ (cointelegraph.com)

[3] ข้อมูลเกี่ยวกับ Silvergate Bank รวบรวมและเรียบเรียงจากข้อมูลเอกสารที่ยื่นแก่ US SEC (Form 10-K) ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save