fbpx

ดีลควบรวมทรูกับดีแทค: ดีลใหญ่สะท้อนพัฒนาการกลุ่มทุนไทย

ดีลควบรวมทรูระหว่างดีแทคเป็นดีลใหญ่มากดีลหนึ่งของไทย มีการวิเคราะห์ว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบ 120 ล้านเลขหมายและกระทบถึงอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยโดยภาพรวมด้วย[1] ในขณะที่เขียนบทความนี้ ก็มีเสียงตั้งคำถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการกำกับดูแล ซึ่งมักออกมาให้เรื่องเล่าในทำนองว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลเสียและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย ทั้งที่มีรายงานออกมาเปรียบเทียบแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหน การควบรวมทรูกับดีแทคจะทำให้ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแน่นอน[2]

ในขณะที่เรารอดูการควบรวมกิจการใหญ่มากดีลหนึ่งของไทย บทความนี้ชวนให้เฝ้าดูแง่มุมของกลุ่มทุนไทยที่มีส่วนสำคัญต่อดีลนี้ เพื่อให้เข้าใจภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย แล้วยังช่วยให้มองเห็นพัฒนาการของกลุ่มทุนไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ไปจนถึงทิศทางใหม่ของกลุ่มทุนไทยนับตั้งแต่ระบอบประยุทธ์หรือหลังปี 2557 เป็นต้นมา อันเป็นก้าวย่างของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นทิศทางใหม่ของระบบทุนนิยมในโลก

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์: จุดเปลี่ยนทุนโทรคมนาคมไทย

เดิมที ทุนโทรคมนาคมไทยไม่ได้ใหญ่โตและน่าสนใจอะไร เป็นเพียงการมองเห็นโอกาสในธุรกิจโทรคมนาคมของนักธุรกิจบางตระกูลสมัยนั้น เมื่อเราย้อนกลับไปดู ทศวรรษ 2530 เราจะเห็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย และช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนโฉมหน้าของกลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มทั้งกลุ่มทุนเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มทุนหน้าใหม่โทรศัพท์มือถือ

ความจริงแล้ว อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเริ่มต้นด้วยกลุ่มผู้ประกอบการหลายตระกูลซึ่งยังมีขนาดกิจการไม่ใหญ่โตมากนัก ได้แก่ ตระกูลวิไลลักษณ์ ที่ก่อตั้งบริษัทสามารถ เริ่มธุรกิจโดยผลิตเสาอากาศโทรทัศน์ขายในต่างจังหวัด หลังจากนั้น ก็ขยายกิจการขายและประกอบจานดาวเทียมและการสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆ ก่อนจะขยายกิจการไปในกลุ่มประเทศอินโดจีน พม่า และฟิลิปปินส์

ขณะที่กลุ่มจัสมิน ของตระกูลโพธารามิค มีความชำนาญในการสร้างเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติกขนาดใหญ่ ต่อมาก็ขยายการลงทุนไปกิจการสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆ และยังขยายเข้าไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนกลุ่มยูคอม ของตระกูลเบญจรงคกุล เริ่มธุรกิจโดยขายเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมให้กับกองทัพอากาศ แล้วขายอุปกรณ์อื่นๆ ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ต่อมาเป็นตัวแทนของโมโตโรล่า (Motorola) ก่อนที่ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จะมีการขยายกิจการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ของโมโตโรล่า        

ตระกูลชินวัตรเป็นตระกูลพ่อค้าจากเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงด้านการค้าผ้าไหม ต่อมาสมาชิกของครอบครัวหลายคนหันมาเอาดีทางรับราชการ โดยใน พ.ศ. 2529-2531 สุรพันธ์ ชินวัตรเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร จบอาญาวิทยาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับไทยเข้ารับราชการกรมตำรวจใน พ.ศ. 2526 เขาได้ตั้งบริษัทขายคอมพิวเตอร์โดยอาศัยเส้นสายและเครือข่ายของครอบครัวขายคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม (IBM) และฮาร์ดแวร์ให้หน่วยงานราชการ ทั้งยังเปิดโรงภาพยนตร์ที่ราชวัตรด้วย ถัดจากขายคอมพิวเตอร์ ทักษิณก็ขยายกิจการไปลงทุนด้านเพจจิง เคเบิลทีวี และโทรศัพท์มือถือ ต่อมาในปี 2536 บริษัทชินวัตรก็ได้ส่งดาวเทียมดวงแรกของไทยเพื่อการถ่ายทอดโทรทัศน์และการสื่อสาร นอกจากนั้นยังมีการขยายกิจการไปเวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย

ด้วยการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำลังเติบโตและการได้สัญญาสัมปทานจากรัฐที่จำเป็นต้องสร้างคอนเน็กชันกับพรรคการเมืองที่ดูแลกิจการโทรคมนาคม อันได้แก่ กระทรวงคมนาคม และองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ออกใบอนุญาตสัญญาสัมปทาน ดังนั้นการเมืองของกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มทุนช่วงนั้นจึงถูกเรียกว่าจตุรยักษ์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นคณาธิปไตย (oligarchy) ที่ปกครองระบบโทรคมนาคมสมัยนั้น[3] สัญญาสัมปทานยังผลให้เกิดใบอนุญาตซ้อน ที่ทำเงินทำทองจากรายได้การให้บริการ รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างมูลค่าของบริษัทโดยเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์[4]

จุดเปลี่ยนสำคัญทั้งของการลงทุนทางธุรกิจและการเมืองของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ของตระกูลเจียรวนนท์ กระจายการลงทุนจากธุรกิจเดิมของตนอย่างการผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์ที่ทำมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เข้าสู่กิจการโทรคมนาคม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในการลงทุนโทรคมนาคมของไทย ได้แก่ การแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม การระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการสร้างพันธมิตรกับพรรคการเมือง ด้วยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในขณะนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงและเป็นธุรกิจดาวรุ่งของโลก ดังนั้นการได้สัญญาสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมายของบริษัทเทเลคอมเอเชีย ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ภายหลังคือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งในเวลาต่อมาได้ลงทุนในโทรศัพท์มือถือ จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการดำเนินธุรกิจของทั้งกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์และระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย

ขณะเดียวกัน ทักษิณ ชินวัตรก็ก้าวสู่การเมือง โดยเริ่มจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในโควตาพรรคพลังธรรม[5] ช่วงนั้นการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ต้องประสบวิกฤตใน พ.ศ. 2540 ที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นักธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย ขณะนั้นหลายคนก็ให้ความสนใจในการเมืองมากขึ้น โดยเข้าร่วมกลุ่มแนวทางชาตินิยม ต่อต้านโปรแกรมฟื้นฟูเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ แล้วนำเสนอแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยแนวชาตินิยม[6]

ต่อมาทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย ที่ประกาศตัวว่า เป็นการเมืองแนวใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ทักษิณกลับเล่นการเมืองเก่าในภาพลักษณ์ใหม่มากกว่า[7] กระทั่งต่อมา การเมืองไทยขัดแย้งรุนแรงและล้ำลึกมากขึ้นระหว่างฝ่ายต่อต้านทักษิณ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม กับฝ่ายทักษิณ เกิดเป็นการเมืองระหว่างสีเหลือง สีแดง และสีฟ้า จนในที่สุดก็เกิดรัฐประหาร 2549 โดยผู้บัญชาการทหารบกที่ทักษิณเป็นคนตั้งเองกับมือ ทำให้ทักษิณต้องลี้ภัยการเมือง แต่รัฐบาลต่อมาอีก 3 รัฐบาลก็ยังเป็นเครือข่ายการเมืองของเขา[8] ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของเขายังดำเนินต่อไป โดยมีเอไอเอสเป็นบริษัทรายใหญ่ที่สุดในแง่ผู้ใช้บริการ โดยมีบริษัททรูและดีแทคเป็นอีก 2 รายใหญ่

ที่น่าสนใจคือเมื่อทักษิณอยู่นอกประเทศไทย เขาอยู่นอกระบบการเมืองไทยและยังเผชิญฝ่ายต่อต้านมากมาย ขณะที่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ธุรกิจในไทยของฝั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็กระจายตัวสู่ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง อสังหาริมทรัพย์ รถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ฯลฯ และในไม่ช้า ธุรกิจโทรคมนาคมของพวกเขากำลังจะควบรวมกิจการกับดีแทค อันไม่ใช่แค่เรืองการต่อกรกับเอไอเอสเท่านั้น แต่บริษัททรูและดีแทคยังจะเป็นข้อต่อของกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็คือเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

 ระบอบประยุทธ์และเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่จริงแล้ว แนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เล็กน้อย โดยอยู่ในความสนใจและเป็นส่วนหนึ่งแผนธุรกิจของกลุ่มทุนไทยเองอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มเอสซีจี และกลุ่ม ปตท. รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์เอง โดยศุภกิจ เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์และตระกูลเจียรวนนท์ มีความเห็นว่า[9]

“…วิกฤตโควิด-19 เป็นดิสรัปต์ครั้งใหญ่ของโลกที่กระทบไปทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านเฮลท์แคร์ ทำให้ธุรกิจต่างๆเร่งการนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น จากเดิมอาจเกิดขึ้นภายใน 7-10 ปี เหลือภายในปีเดียว ธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพีจาก ‘ออฟไลน์สู่ออนไลน์’ มีระบบดิลิเวอรีและโซเชียลคอมเมิร์สต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษยชาติของทั่วโลก…”

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ได้รับอานิสงส์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านดิจิทัล (digitalization) ของรัฐบาลประยุทธ์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติการลงทุนของบริษัททรู จัดตั้งดิจิทัล พาร์ค (digital park) แห่งแรกในประเทศไทย มูลค่า 1,580 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เพื่อเดินหน้ารับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การลงทุนของบริษัททรูนี้เป็นไปเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจดิจิทัลบนพื้นที่กว่า 41,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องทดลองทางด้านเทคโนโลยี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรม พื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจ ศูนย์บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส และบริการพื้นที่สำหรับสถานศึกษาเพื่อการศึกษานวัตกรรม[10] 

เท่ากับว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีก มาเข้าสู่โทรคมนาคม จากเดิมที่เป็นบริษัทเทเลคอมเอเชีย เปลี่ยนมาเป็นทรู คอร์ปอเรชั่น ก่อนที่ในปี 2562 จะทำการลงทุนและก่อตั้งดิจิทัล ปาร์ค แห่งแรกของไทย เพื่อใช้สนับสนุนธุรกิจในเครือทั้งค้าปลีกและอื่นๆ รวมทั้งลงทุนรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมสนามบิน ลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ธุรกิจเหล่านี้ล้วนปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนถือได้ว่าเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์

สรุป

ดังนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจที่ผู้นำกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์เล็งเห็นความสำคัญตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว การควบรวมกิจการบริษัททรูและดีแทคจึงไม่ใช่เพียงแค่การกระจายธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่รายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจที่จะเพิ่มมูลค่า ประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง อสังหาริมทรัพย์ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และธุรกิจเฮลท์แคร์ของกลุ่ม  

เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่แค่กระแสนิยมและความบังเอิญของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กลุ่มเอสซีจี กลุ่ม ปตท. และเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังเป็นสมองและจักรกลสำคัญในฐานะกรรมการในคณะกรรมการพลังประชารัฐของระบอบประยุทธ์ และกรรมการชุดอื่นๆ ที่สำคัญอีกด้วย

ที่น่าสนใจคือเรายังคงได้เห็นอำนาจทุนและอำนาจการเมืองเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แม้ว่าช่วงหลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา แรงผลักดันของกติการะหว่างประเทศจากองค์การการค้าโลกและภาคประชาชนมีผลให้เศรษฐกิจไทยมีกติกาใหม่จากที่ภาครัฐเป็นทั้งหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ เปลี่ยนมาเป็นคณะกรรมการควบคุมและกำกับดูแล โดยในกิจการโทรคมนาคม และสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ยังมีการออกพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ที่มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กำกับดูแลการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็สามารถทะลุทะลวง เดินหน้าควบรวมกิจการขนาดใหญ่ถึง 2 ดีล ดีลแรก ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นกรณีด่างพร้อยของ กขค. ที่อนุญาตการควบรวมระหว่างเทสโก้และซีพี โดยไม่มีการสั่งให้ลดขนาดการควบรวมโดยการขยายสาขาออกไป[11] ในขณะที่ดีลกิจการค้าปลีกระดับประเทศยังไม่ทันจบสิ้น ดีลที่สอง ซึ่งก็คือดีลกิจการโทรคมนาคมที่มีมูลค่ามหาศาลและกระทบผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 120 ล้านเลขหมายก็เกิดขึ้น แล้วยังเป็นการท้าทายกับกติกาใหม่ของ กสทช. เท่ากับว่า ไม่ว่าอำนาจรัฐแปลงร่างให้บทบาทเทคโนแครตมากขึ้น เพิ่มอำนาจการกำกับดูแลมากขึ้นเพียงใด กลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ก็ยังสามารถท้าทายและทะลุทะลวงได้

เหตุที่พูดเช่นนี้เพราะมีการศึกษาแล้วพบว่า มีการกระทำที่น่าเคลือบแคลงอย่างยิ่งของ กสทช. จากการที่บอร์ดของ กสทช. เพิ่งมีมติ 3:2 ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจของตัวเองเป็นรอบที่ 2[12] ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองได้มีคำสั่งออกมาแล้วว่า กสทช. มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการพิจารณากรณีการควบรวมค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค[13]

อีกความเคลือบแคลงของ กสทช. คือการสั่งลบ ‘Infographic 5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแทค’ ที่เผยแพร่โดย กสทช.เอง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็นการรายงานผลการศึกษากรณีต่างประเทศและผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ กสทช. โดยการสั่งลบนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัททรูและดีแทคออกมาให้ข่าวว่าภาพ Infographic นี้ไม่มีความเป็นกลาง เมื่อทรูและดีแทคมีความเห็นมาอย่างนี้ ประธานบอร์ด กสทช. กลับรีบสั่งลบข้อความพร้อมภาพ และออกบันทึกข้อความชี้แจงอย่างรวดเร็วว่าการเผยแพร่ Infographic ชิ้นนี้ “บอร์ด กสทช. ไม่เคยมีมติและไม่เคยเห็นชอบให้มีการเผยแพร่ข้อมูล”[14]

เราไม่อาจไว้วางใจอำนาจรัฐในรูปลักษณ์ใหม่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร การควบรวมกิจการที่นำมาสู่การผูกขาดบอกแก่เราว่าองค์กรอิสระบ้านเราไม่อิสระจริง


[1] ฉัตร คำแสง “5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทคและบทบาทของกสทช” 101 PUB 2 พฤษภาคม 2022

[2] ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เรื่อง “บริการแพงขึ้นทั้งสิ้น” 11 สิงหาคม 2565

[3] Natthapong Thongpakdi, General Agreement on Trade in Services (GATS) and The Thai Telecommunication Industry, Bangkok, Thailand Development Research Institute, 1996, : 64.

[4] “ Thaksin and the Politics of Telecommunications” in Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand, The Thaksinization of Thailand, Copenhagen : Nordic Institute of Asian Studies, 2005, : 29.

[5] เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ 100 วัน

[6] Ukrist Pathmanand, “Globalization and Democratic Development in Thailand: the New Path of Military, Private Sector and Civil Society,” Contemporary Southeast Asia, Vol. 23, No. 1 April 2001, 30.

[7] Ukrist Pathmanand, “The Thaksin Shinawatra Group : A Study of the Relationship between Money and Politics in Thailand” The Copenhagen Journal of Asian Studies, Political Reform in Thailand Vol. 13 1998.

[8] รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

[9]ธุรกิจรุก New Game เปิดแนวรบใหม่ ก้าวข้ามโควิด” ประชาชาติธุรกิจ  4 มกราคม 2564

[10] ไทยโพสต์. (13  ธันวาคม 2561). “อุตสาหกรรมดิจิทัลมาแรง บีโอไออนุมัติ ‘ทรู’ตั้งดิจิทัล พาร์คแห่งแรกในประเทศ

[11] กนกนัย ถาวรพาณิช, “ดีลควบรวมทรูและดีแทค: กสทช. อยากถูกจดจำแบบไหนในหน้าประวัติศาสตร์?” The101.world 3 พฤษภาคม2022.

[12] นี่ไม่ใช่การยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งแรก เนื่องจากบอร์ด กสทช. ก็เคยตีความไปแล้วว่า ไม่รับคำร้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ยังดึงดันส่งเรื่องไปพิจารณาอีกรอบ พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรีให้ออกคำสั่งให้กฤษฎีกาตีความอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อ้างจาก “ภาค ปชช. ร้องค้านควบรวมทรูดีแทค-ก้าวไกล กสทช.ต้องหยุดปัดความรับผิดชอบ” 29 สิงหาคม 2565

[13] เพิ่งอ้าง

[14] เพิ่งอ้าง.,

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save