fbpx

เมื่อแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่อยากให้ดอกเบี้ยขึ้น

เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ 0.75%

น่าสังเกตว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. / แบงก์ชาติ) และ กนง. เน้นย้ำคำว่าการปรับนโยบายการเงิน “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” หลายครั้งมาก เพราะไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไปทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น SMEs และครัวเรือนรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

และที่น่าสนใจคือในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า ได้หารือกับ ธปท. ให้ไปขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ในการ ‘ตรึง’ ดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด และ ธปท. เองก็บอกว่าได้หารือธนาคารพาณิชย์แล้ว คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะพยายามไม่ส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นไปทั้งหมดหรือน่าจะทยอยส่งผ่าน เย็นวันนั้นเอง สมาคมธนาคารไทย ก็ออกแถลงข่าวว่า “พร้อมตรึงดอกเบี้ย” เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง

เรียกได้ว่าเป็นการส่งต่อกันอย่างเหมาะเจาะ

สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะที่เราเจอแรงกดดันเงินเฟ้อ (ที่ส่วนใหญ่มาจากฝั่งต้นทุน) แต่สถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวยและไม่ทั่วถึง จนทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย

ในด้านหนึ่งก็อยากจะถอนเท้าจากคันเร่ง เพราะระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 0.75% ถือว่าต่ำมาก ไม่ว่าจะเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงถึง 7% หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 3% หรือเป้าเงินเฟ้อที่ 2% จึงถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง อยู่ในระดับติดลบ และเป็นการติดลบที่เยอะด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ตอนนี้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น เงินเฟ้อสูงเกินเป้า ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหนักๆ ก็ย่อมมีน้อยลงไป

แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ได้ไปหยุดสาเหตุของเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาจากราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น แต่ในเมื่อแรงกดดันเงินเฟ้อสูง ก็ทำให้มีความจำเป็นต้องลดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดแรงส่งต่อเงินเฟ้อไม่ให้มากเกินไป

การไม่ทำอะไรเลยหรือทำช้าเกินไปอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูง จนอาจมีความเสี่ยงเกิด wage-price spiral (ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก เสมือนว่าวนลูปเป็นงูกินหาง) ซึ่งจะส่งผลให้กดเงินเฟ้อลงได้ยาก

เราจึงเห็นแบงก์ชาติ รวมไปถึงธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ค่อยๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปหาระดับที่ถือว่าเป็นระดับ ‘neutral’ ซึ่งเป็นระดับของอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ถือว่าเป็นทั้งการกระตุ้นหรือเบรกเศรษฐกิจ (เหมือนถอนเท้าออกจากคันเร่งมาสุดแล้ว) ซึ่งเราสามารถถกเถียงกันได้ว่าระดับ neutral นี้อยู่ตรงไหน และควรปรับด้วยความเร็วขนาดไหน

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความกังวลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ท่ามกลางภาวะที่ระดับหนี้ครัวเรือนยังสูงมาก รวมถึงกลุ่ม SMEs ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ตอนนี้ยังสะท้อนข้อจำกัดว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงิน ที่ ‘หยาบ’ (blunt) มาก อีกทั้งยังไม่เฉพาะเจาะจง (not precise)

ในขณะที่เรามีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นก็อาจแรงเกินไปสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างที่ว่า

ปกติแล้ว แม้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วันเท่านั้น แต่ก็ส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ โดยผ่านกระบวนการ ‘ส่งผ่าน’ (transmission mechanism) ทั้งที่ผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นในตลาดการเงิน (เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินอายุยาวกว่า 1 วันขยับขึ้น ตามการคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย) ผ่านช่องทางภาคธนาคาร (เมื่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารก็อาจจะปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น หรือลดการปล่อยสินเชื่อลง ทำให้การบริโภคและการลงทุนที่พึ่งพาการกู้เงินลดลง) ผ่านอัตราแลกเปลี่ยน (เมื่อดอกเบี้ยขึ้น อาจทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสุทธิปรับลดลง) และผ่านราคาสินทรัพย์และความมั่งคั่ง (เมื่อดอกเบี้ยขึ้น อาจทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลง และการที่ความมั่งคั่งที่ได้รับผลกระทบก็อาจทำให้การบริโภคลดลง)

เมื่อ กนง. ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีความพยายาม “ขอความร่วมมือ” ธนาคารพาณิชย์ในการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ก็เหมือนเรากำลังแบ่งตลาดออกเป็นส่วนๆ โดยให้ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่อตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นไปก่อน แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนว่าเรากำลังไปเบรกการส่งผ่านของช่องทางภาคธนาคารอยู่หรือไม่ ทั้งๆ ที่สินเชื่อและภาคธนาคารถือเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผ่านนโยบายการเงิน

แม้จะเข้าใจได้ว่านี่เป็นการให้เวลากลุ่มเปราะบางในการปรับตัว แต่เกิดคำถามเช่นกันว่ามันเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด และทำให้กระบวนการส่งผ่านของนโยบายการเงินสะดุดหรือไม่

นอกจากนี้ มันจะทำให้ระยะเวลากว่าที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ (ซึ่งปกติก็ใช้เวลานานอยู่แล้ว) จะนานขึ้นอีกหรือไม่ แล้วอาจทำให้ความเสี่ยงของเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นหรือไม่

และเรากำลังทำให้ความเป็นห่วงต่อผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (ซึ่งก็น่าเป็นห่วงจริงๆ) มาหน่วงผลของการดำเนินนโยบายการเงินและเป้าหมายในการควบคุมหรือไม่

ในโลกอุดมคติ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เราอาจควรปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและปล่อยให้กลไกส่งผ่านทำงานเต็มที่ เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเงินเฟ้อ แต่ต้องหาเครื่องมือนโยบายอื่นที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าในการระบุกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งหาวิธีลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะไม่ใช้นโยบายการเงินก็ได้

นอกจากนี้ เราอาจต้องหามาตรการและนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวของครัวเรือนและธุรกิจในระยะยาว ไม่ใช่แค่ช่วยในระยะสั้น (แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นหน้าที่ของนโยบายการเงินทั้งหมดหรือไม่)

เหมือนกับว่าตอนนี้เราพยายามบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินที่มีหลากหลาย (ทั้งเงินเฟ้อ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านการเงิน ค่าเงิน ฯลฯ) และเราก็กำลังกังวลถึงผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอีก

ต้องยอมรับว่าเราอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้พร้อมๆ กันได้ด้วยดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่าเราต้องให้น้ำหนักความสำคัญต่อเป้าหมายเหล่านี้ และต้องการเครื่องมือที่หลากหลายในการจัดการปัญหาเหล่านี้ แต่บ่อยครั้งเราก็มีเครื่องมือที่จำกัดจนเป็นภาวะท้าทายที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

ด้วยเครื่องมือที่จำกัด การห่วงหน้าพะวงหลังและการจำกัดการส่งผ่านของนโยบายการเงิน อาจทำให้ความเสี่ยงเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน ได้รับผลกระทบหรือไม่

จึงมีคนถามว่า ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วเราจะขึ้นดอกเบี้ยไปทำไม?

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save