fbpx

ญี่ปุ่นกับความท้าทาย เมื่อพระอาทิตย์กำลังขึ้นทางทิศตะวันตก

1

ท่ามกลางพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่น่าประทับใจ…

ใครหลายคนที่ผมรู้จักต่างชื่นชมและบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พิธิเปิดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ญี่ปุ่นกำลังยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมความหลากหลาย ความเป็นปัจเจกชน ฯลฯ ทว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ญี่ปุ่นเผชิญปัญหามากมายจริงๆ ไม่ใช่เรื่องโรคระบาดนะครับ แต่เป็นทักษะวัฒนธรรมที่ทำให้เบื้องหลังของโอลิมปิกครั้งนี้เข้มข้นราวกับซีรีส์จากเกาหลีใต้ก็ไม่ปาน

ปัญหาเรื่อง ‘คน’ ในโอลิมปิกเริ่มจากนายฮิโรชิ ซาซากิ หัวหน้าฝ่ายครีเอทีฟ ประกาศลาออกหลังล้อเลียนนักแสดงตลกหญิงร่างอวบ นาโอมิ วาตานาเบะว่าเหมือนเป็น ‘โอลิมพิก’ (Olympig) หรือหมูประจำโอลิมปิก ก่อนที่เขาจะออกมาขอโทษและประกาศลาออก 

ยังมีเรื่องของนายโยชิโระ โมริ อดีตประธานคณะกรรมการจัดงานก็เพิ่งโดนปลดไม่นานนักก่อนเริ่มการแข่งขันโอลิมปิก หลังจากแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อผู้หญิงว่า การประชุมที่มีผู้หญิงเข้าร่วมมักจะใช้เวลานานเกินไป “ผู้หญิงพูดมากเกินไปจนน่ารำคาญ” ทั้งๆ ที่ในคณะกรรมการโอลิมปิกระดับสูงของญี่ปุ่นมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงเพียง 5 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 25 คน

ตามมาด้วยข่าวของเคนทาโร โคบายาชิ อดีตนักแสดงตลกชื่อดังของญี่ปุ่นที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการของทีมสร้างสรรค์พิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก หลังจากสื่อมวลชนออกมาเปิดเผยว่าเขาเคยเล่นมุกเหยียดเชื้อชาติเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเมื่อ 23 ปีก่อน ณ ตอนนั้นเขากับนักแสดงอีกคนพูดว่า “มาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเถอะ”

เรื่องนี้เลยลามไปถึงนายเคอิโกะ โอยามาดะ ผู้กำกับเพลงพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกซึ่งก็ถูกเปิดโปงด้วยเช่นกันว่า ในอดีตเขาเคยรังแกและบูลลี่เด็กพิการตอนช่วงที่เขาอยู่ในวัยเรียน จนประกาศลาออกในท้ายที่สุด

ปิดท้ายด้วยข่าวที่ช็อกวงการกีฬาอีกครั้งกับข่าวของนายยาสึชิ โมริยะวัย 52 ปี เจ้าหน้าที่ด้านบัญชีระดับสูงของคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดให้รถไฟชนบนชานชาลา

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนปัญหาที่ยากจะเยียวยามากกว่าโรคระบาดที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่

การขึ้นมารับตำแหน่งของเซโกะ ฮาชิโมโตะซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นขึ้นมารับตำแหน่งประธานโอลิมปิกของญี่ปุ่น นอกเหนือจากความสามารถของเธอ ผมอดคิดไม่ได้ว่านี่เป็นการ ‘แก้เกม’ ของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อกอบกู้สถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งก็พูดไม่ได้เต็มปากนักว่า เธอได้รับการยอมรับในฐานะที่เธอเก่งทัดเทียมกับผู้ชายหรือเปล่าในประเทศที่มีสัดส่วนของผู้หญิงใน รัฐสภาไม่ถึง 10% เรียกว่าสมดุลทางเพศของสมาชิกรัฐสภา นั้นแย่กว่าปากีสถานและซาอุดีอาระเบียเสียอีก  

ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ถือเอาผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว (Mono Culture) ความหลากหลายในสังคมน้อย สัดส่วนของคนต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นนั้นเพียง 2% เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 10% เรื่องความเชื่อหรือทัศนคติทางการเมืองก็เช่นกัน ส่วนมากยึดมั่นในคุณค่าของเดิมตัวเองค่อนข้างมาก

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสังคมที่ให้ค่ากับการรวมหมู่จนไม่มีใครกล้าแตกแถว ค่านิยมเรื่องการทำงานหนัก แต่ไม่โปรดักทีฟกลับเพิ่มความเครียดความกดดันให้กับพนักงาน ฯลฯ 

ทั้งหมดนี้ น่าคิดว่าต่อจากนี้ญี่ปุ่นจะก้าวข้ามอุปสรรคของตัวเองไปได้อย่างไร ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอาทิตย์อุทัย กำลังจะกลายเป็นดินแดนของอาทิตย์อัสดงหรือไม่

50 ปีจากนี้ถือว่าท้าทายอย่างมากสำหรับญี่ปุ่น

2

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผมไปมาจนนับครั้งไม่ถ้วน ความน่าหลงใหลของญี่ปุ่นคงไม่พ้นเรื่องของความคิดสร้างสรรต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงและสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลกับวัยเด็กของเด็กไทยหลายๆ คน แต่ใจกลางของความสนุกยังมีเรื่องราวที่เป็นด้านมืดของหมู่คนทำงาน

อย่างที่หลายๆ คนน่าจะพอรู้เกี่ยวกับชีวิตการทำงานของญี่ปุ่นนะครับว่าคนญี่ปุ่นบ้างาน คนญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากที่สุดในโลกในหมู่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว มากกว่าเยอรมนี มากกว่าสหรัฐอเมริกา (ตัวเลขอย่างเป็นทางการอาจน้อยกว่าในความเป็นจริง แต่เราก็รู้กันว่าตัวเลขกับความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน) แต่การทำงานหนักไม่ได้ส่งผลดี ย้อนไปดูตัวเลขของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นทำได้ไม่ดีนักในหมู่เพื่อนๆ ที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน

ในญี่ปุ่นมีเรื่องเม้าท์บริษัทที่พวกเขาทำงานเช่นกันนะครับ ซาลารีแมนทั้งหลายมักพูดถึงบริษัทที่ทำงานของตัวเองว่าเป็น ‘สายดำ’ หรือ ‘สายขาว’ สายดำหมายถึงเป็นบริษัทสายโหด (Black kigyō) กลุ่มนี้เป็นบริษัทที่ไม่ได้ใส่ใจสวัสดิภาพการทำงานของพนักงานมากนัก มุ่งเน้นการทำงานหนักหลายชั่วโมงโดยไม่ได้เงินล่วงเวลา บริษัทเหล่านี้อยู่ในหมวดของธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ ส่วนบริษัทสายขาว (White kigyō) ก็จะตรงข้ามกับสายดำ

แต่กระนั้นเอาเข้าจริง การทำงานในทั้งบริษัทสองประเภท พนักงานยังต้องเจอแรงกดดันไม่แตกต่างกันคือค่านิยมเรื่องของระบบอาวุโส การกดขี่ทางเพศ และค่านิยมที่ฝังลึกเรื่องการทำงานให้หนักเข้าไว้ คำทักทาย “ขอบคุณสำหรับการทำงานหนัก” ยังคงตอกย้ำค่านิยมนี้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการขยายการจ้างงานให้เกษียณที่อายุ 65 ปีเมื่อประชากรวัยหนุ่มสาวน้อยลง การจ้างงานผู้สูงอายุที่ยาวนานขึ้นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงก็จะทำได้ยากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนความสามารถในการระเบิดศักยภาพของคนรุ่นใหม่

การขยายอายุของคนทำงานจาก 60 ปี มาเป็น 65 ปีเมื่อปี 2006 นั้น มาจากสัดส่วนประชากรเริ่มเปลี่ยน ข้อมูลจากสหประชาชาติปี 2017 ชี้ว่าญี่ปุ่นมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีอยู่ที่ 27.6% ของประชากรซึ่งในขณะนั้นก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลกแล้ว แต่พอมาช่วงวิกฤตโควิด สถานการณ์ด้านประชากรดูแย่ลงไปอีก ปี 2019 ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 28.4% ของประชากร นับว่าเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่เคยมีการเก็บสถิติกันมา แต่กลับกันจำนวนทารกแรกเกิดลดลงต่ำกว่า 900,000 คน และเป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากรของญี่ปุ่นหายไปมากกว่า 500,000 คนภายในปีเดียว

ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น จุนโกะ อิดะ ปัจจุบันเธอทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคาวาซากิ (Kawasaki University of Medical Welfare) เราแลกเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นว่า เธอเองก็ยังไม่เห็นทางออก เธอยกตัวอย่างประเด็นหนึ่งขึ้นมาคือเรื่องการใช้วันลา วันหยุด หรือวันที่ผ่อนคลาย เธอเล่าว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนใช้วันลาหยุดน้อยมาก โดยเฉพาะพวกผู้ชาย เหมือนกับพวกเขาเกิดเพื่อทำอยู่อย่างเดียว นั่นคืองาน

“รัฐบาลพยายามจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางสังคมนี้ เช่นมีโครงการ ‘วันศุกร์สุดหรู’ (Premium Friday) ให้พนักงานเลิกงานบ่ายสามโมง เพื่อให้มีเวลาไปทำอย่างอื่น จนมาถึงโครงการ ‘วันจันทร์อันสดใส’ (Shining Monday) ให้บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาหยุดหรือเข้างานสายกว่าปกติได้ช่วงเช้าวันจันทร์ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะบรรยากาศของสังคมไม่เอื้ออำนวย คนแก่ๆ หรือหัวหน้างานซึ่งมีอายุมากไม่เอาด้วย” 

“หรืออย่างการใช้วันลา เช่นว่าหากคุณพ่อบ้านอยากลางานเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก การทำแบบนี้ในความรู้สึกของคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่แปลกแยกจากค่านิยมของสังคม และคนที่ทำก็อาจถูกมองด้วยสายตาแห่งการไม่ยอมรับ”

จุนโกะเองเคยผ่านประสบการณ์อันยากลำบากของการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว เธอรู้ดีว่าผู้หญิงเก่งในสังคมญี่ปุ่นเช่นเธอ (มีตำแหน่งทางการบริหารในมหาวิทยาลัย เรียนจบจากต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) รู้ดีว่าเสียงของเธอเมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว ก็ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า ไม่ว่าเธอจะทำงานได้ดีกว่า หรือหาเงินได้มากกว่าผู้ชายก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายญี่ปุ่นยังรับไม่ได้ เพราะไม่ใช่วิถีของ ‘บูชิโด’

ไม่ใช่วิถีของชายชาติญี่ปุ่นที่จะแสดงด้านที่อ่อนแอออกมาให้เห็น

3

‘วิถีบูชิโด’ เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 เชื่อในเรื่องของความมัธยัสถ์ ความภักดี ความชำนาญในสิ่งที่ตัวเองทำและรักษาไว้ซึ่งเกียรติจนตาย แนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้ชายญี่ปุ่นและถูกตอกย้ำมาเรื่อยๆ ภาพของปฎิบัติการกามิกาเซ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งตอกย้ำคุณค่าของการทุ่มเท ส่วนการให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษ การไปไหว้ศาลเจ้ายาซูกูนิของผู้นำเป็นสิ่งตอกย้ำความสำคัญของวิถีบูชิโด นั่นเป็นที่มาของปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘คาโรชิ’ หรือการทำงานจนตัวตาย

อย่างที่บอกไว้ครับว่า สังคมแบบรวมกลุ่มของญี่ปุ่นนั้นเหนียวแน่นมาก หากหัวหน้าที่อาวุโสกว่าไม่ขยับ คงไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แม้ว่ามันจะเป็นสิทธิของเราก็ตาม ทั้งหมดนี้สวนทางจากความคาดหวังของรัฐในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่อยากเร่งให้เร็วขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเปิดประเทศให้คนเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้นจะได้ผลดีไหมในอนาคต หรือการพยายามสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่เพื่อลดความผ่อนคลายคววามตึงเครียดในการเข้าทำงานจะทำได้จริงไหม เพราะดูเหมือนเส้นทางนี้โรยด้วยหนามไม่ใช่กลีบของดอกกุหลาบ   

หากสังเกตให้ดีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ เราก็จะเห็นอิทธิพลของ ‘กฎหมู่’ แฝงอยู่ในรายละเอียดต่างๆ ในรูปแบบของ ‘ความร่วมมือ’ ต่างๆ เช่นว่า การรวบรวมพลาสติกของเหลือใช้จากทั่วประเทศเพื่อเอามาทำแท่นรับเหรียญ การรับบริจาคโทรศัพท์มือถือใช้แล้วเพื่อเอามาทำเหรียญรางวัล การส่งเมนูอาหารเข้าประกวดของแม่บ้านญี่ปุ่น การตัดไม้จากเขตต่างๆ มาใช้ในการก่อสร้างอาคาร พร้อมสลักชื่อเขตที่นำมา รวมถึงโครงการที่นำเอาวัตถุดิบจาก 47 จังหวัดมาทำอาหารให้กับนักกีฬา ทั้งหมดสะท้อนค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่ทำอะไรก็ตาม ไม่มีใครไม่อยากตกขบวนเพราะนั่นหมายถึง หมายถึงการไม่ได้รับการยอมรับ

ในด้านหนึ่ง มันก็เป็นข้อดีครับ มันทำให้สังคมมีระเบียบวินัย เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น แต่อีกด้านมันก็บอกเราเป็นนัยว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

จุนโกะให้ความเห็นในเรื่องนี้เช่นกันว่าหนุ่มสาวญี่ปุ่น แม้พยายามเปลี่ยนพวกเขามากแค่ไหน (หรือแม้พวกเขาอยากเปลี่ยน) ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งทั้งผลักทั้งดันให้นักศึกษากล้าแสดงออก สร้างวิถีใหม่ๆ ของการทำงาน แต่ระบบที่เป็นอยู่ยังทำให้ญี่ปุ่นเคลื่อนไปสู่จุดที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยังต้องอาศัยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวอีกมาก

ตัวอย่างหนึ่งที่จุนโกะเล่าก็คือ ข่าวที่สำนักข่าวนิเคอิเอเชียเสนอรายงานเรื่องมหาวิทยาแพทย์ในญี่ปุ่น ซึ่งมีนโยบายกีดกัดการรับนักศึกษาที่เป็นเพศหญิง เนื่องจากมองว่านักศึกษาผู้หญิงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ได้เมื่อเธอจบออกไป

“คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าผู้หญิงท้ายสุดก็ต้องแต่งงาน ต้องตั้งท้อง ดูแลสามี ดูแลบ้าน ฉะนั้นตัดปัญหาตั้งแต่แรกคือไม่รับเลยจะดีกว่า” ทำให้สัดส่วนของแพทย์ที่เป็นผู้หญิงในญี่ปุ่นมีน้อยเพียง 21% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปของโลกจะอยู่ที่ 40%-50% ทั้งๆ ที่อนาคต ญี่ปุ่นน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่พึ่งพาระบบสาธารณสุขมากที่สุดเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณครึ่งหนึ่งหมดไปกับการดูแลเรื่องสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชากรมากกว่างบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษาหรือการวิจัยซึ่งถือเป็นภาระที่น่าหนักใจญี่ปุ่นคาดว่าหากตัวเลขประชากรยังไม่เปลี่ยนใน 50 ปีจากนี้ ประชากรของญี่ปุ่นจะลดเหลือ 88 ล้านคน และอัตราการลดลงของประชากรจะลดลงเร็วขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า นั่นคือราว 2% ทุกๆ ปี

4

ซีรีส์เรื่อง A Day-Off of Kasumi Arimura (2019) ของนักแสดงหญิงยอดนิยมของญี่ปุ่นเล่าเรื่องราวของวันหยุดของเธอที่ได้มาอย่างกะทันหันว่าเธอทำอะไรบ้าง

แก่นของเรื่องนี้ส่วนหนึ่งพยายามนำเสนอวิถีชีวิตใหม่ของผู้หญิงและพลังของผู้หญิงที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนต่อการมองผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นว่า ไม่ใช่เพศที่ต้องการที่พึ่งพิงจากผู้ชาย พวกเธอเองก็มีส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ละตอนพยายามสะท้อนสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับค่านิยมเดิมของญี่ปุ่น เช่น ทางเลือกของผู้หญิงยุคใหม่ ชีวิตที่อยู่นอกกรอบได้มากขึ้น และทัศนคติเรื่องการพึ่งพาตัวเอง การใช้ชีวิตคู่ ฯลฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสะท้อนความอึดอัดพร้อมให้กำลังใจกับผู้หญิงในญี่ปุ่นเช่นกัน แต่พลังเท่านี้อาจไม่พอสำหรับการเปลี่ยนแปลง

แม้ความพยายามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกชนชั้นไม่เว้นแม้แต่สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่า เป็นราชวงศ์ที่เก่าแกที่สุดในโลก

ช่วงปี 2005 มีข่าวเรื่องการประชวรทางจิตเวชของเจ้าหญิงมาซาโกะ โอวาดะ เจ้าหญิงในมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ว่ากันว่าอาการป่วยครั้งนั้นเกิดจากการที่พระองค์ไม่สามารถให้กำเนิดพระโอรสได้ เจ้าหญิงมาซาโกะเผชิญแรงกดดันในหลายทาง ก่อนที่สถานการณ์คลี่คลายลงเมื่อเจ้าชายเจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนโนมิยะ พระอนุชาและเจ้าหญิงคิโกะได้ให้กำเนิดพระโอรส เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะในปี 2006

ไม่ต้องพูดอะไรตรงๆ ก็พอรู้ว่าแรงกดดันแบบนี้สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ผมคิดว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นทราบเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรม และพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา การประกาศสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และส่งต่อค่านิยมใหม่ให้กับคนหนุ่มสาวของญี่ปุ่นว่า ถึงเวลาของการก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง เมื่อราชวงศ์ญี่ปุ่นยังเปลี่ยนได้ ทำไมคนญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไม่ได้

สำหรับผมคิดว่าไม่มีประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่คนหนุ่มสาวต้องแบกความหวังคนในชาติมากเท่าญี่ปุ่น ท่ามกลางความสุภาพอ่อนน้อม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ภาพของการถูกกดทับของสังคมแบบเดิม การบังคับให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นต้องเผชิญโลกที่เต็มไปด้วยระบบอาวุสโสและข้อจำกัดทางวัฒนธรรมหลายต่อหลายอย่าง หลายๆ อยางใรญี่ปุ่นก็ดูไม่แตกต่างจากที่ไทยเท่าไหร่นะครับ

และน่าสนใจว่าทั้งไทยและญี่ปุ่นจะรักษาความสามารถในการแข่งขันได้มากแค่ไหนในโลกที่ เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save