fbpx

‘ตีโจทย์เศรษฐกิจ วิกฤตโควิดระลอกสาม’ กับ สมประวิณ มันประเสริฐ

ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพระลอกใหม่ ทุกคนรู้ดีว่า วิกฤตเศรษฐกิจสาหัสไม่แพ้กัน

อะไรคือโจทย์สำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดในปัจจุบัน เราควรเตรียมตัวรับมืออย่างไรกับโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังโควิด

คุยกับสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อตอบคำถามว่า เศรษฐกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรดี

YouTube video


:: เศรษฐกิจไทยจะเอายังไง? ::


ผ่านมาหนึ่งปี ไม่น่าเชื่อว่าโควิดจะยาวขนาดนี้ เราต้องลุ้นเรื่องวัคซีนที่มีแล้วแต่ยังไม่ทั่ว วันนี้แม้เราจะล้าแต่มองไปข้างหน้าจะเห็นแสง มันจบแน่ แต่จะบาดเจ็บแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยตอนนี้น่าห่วง แต่ที่ผมห่วงมากกว่าคือในระยะยาว

ทีมเรามองจีดีพีตอนนี้โตได้ 2.2% เราเพิ่งปรับลดลงมาได้ไม่นาน ก่อนการระบาดรอบที่สามเรามองว่าโตได้ 2.5% จากฉากทัศน์ของเราจะเห็นจุดสูงสุดของการติดเชื้อคือช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนพ.ค. หลังจากนี้จะลดลงเรื่อยๆ แต่คาดการณ์ว่ากว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะต่ำกว่าร้อยก็สัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนก.ค. นั่นคืออีกสองเดือนต่อจากนี้ที่เราต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำกัด ถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอ่อนแรงลงสักสองเดือน เราพบว่ามีผลลดทอนจีดีพีได้ถึงประมาณ 1.6%

ในข่าวร้ายก็พอมีข่าวดีบ้าง วันนี้มองนอกประเทศเราเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ตอนนี้ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกขึ้น และนัยของไอเอ็มเอฟ 2-3 ครั้งที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นทุกครั้ง แสดงว่าเศรษฐกิจออกมาดีกว่าที่คาด ที่สำคัญคือปกติหากปีนี้ปรับขึ้นแล้ว ปีหน้าจะปรับลงเพราะฐานสูงขึ้น แต่ปีหน้ากลับปรับขึ้นด้วย แปลว่าวัฏจักรเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นจริงๆ แม้ว่าการซื้อบริการด้านการท่องเที่ยวทำไม่ได้ แต่วันนี้เราก็เห็นการส่งออกที่ดี การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลังจากนี้จะมีข่าวดี ภาครัฐมีเงินหนึ่งล้านล้าน มีแผนใช้เงินและเงินที่ออกมามากกว่าที่เราคาด ทำให้เศรษฐกิจไม่ไหลลึกเกินไปในกรณีที่เราไม่มีการติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่

แต่ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดคือ ถ้าเราปล่อยให้กิจกรรมดำเนินไปแบบปกติ ปล่อยให้คนพบปะกันมากๆ แล้วมีคลัสเตอร์ใหม่แบบนั้นจะยาว อีก 2-3 เดือนตัวเลขก็จะไม่ลง มากกว่านั้นชีวิตคนในประเทศจะสูญเสียอีกเท่าไหร่ถ้าไม่ควบคุมอย่างเต็มที่

ผมเป็นห่วงเศรษฐกิจปีนี้ แต่มีความหวังจากเรื่องวัคซีน เราเห็นคล้ายกับทั้งโลก เช่น ที่อเมริกา เมื่อโจ ไบเดนเข้ามาพร้อมความหวังเรื่องมาตราการทางเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีน เศรษฐกิจเป็นผลสืบเนื่องจากการลดกิจกรรมที่คนมาเจอกัน พอฉีดวัคซีนได้ทั้งโลกก็ฟื้นขึ้นมา ถ้าดำเนินเรื่องวัคซีนได้เร็ว กิจกรรมนั้นก็จะกลับมาได้เร็ว

:: ไม่รู้ ไม่มี ไม่ทำ ::


สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จริงๆ แล้วมีปัญหาซ้อนกันอยู่ โลกมีกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสินค้าและบริการทแฝงอยู่แล้ว สินค้าที่เราบริโภคปีนี้ไม่เหมือนสิบปีที่แล้ว ช่องทางซื้อไม่เหมือนกัน วิธีการจ่ายเงินก็ต่างกัน รูปแบบของสินค้าและบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตอนนี้จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นจากโควิด

เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ผมกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกที่แฝงอยู่ เราอาจลืมว่านั่นเป็นสาเหตุที่แท้จริงเบื้องหลัง ทุกวันนี้เรารู้ว่ามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ แต่พอโควิดหายเราจะลืมหรือเปล่า พอเศรษฐกิจฟื้นเราก็ขายของกันฝุ่นตลบจนลืมกัน ถ้าคนมีรายได้มากขึ้นหรือเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วเราควรขายของได้มากขึ้น แต่ถ้าเรายังขายของไม่ได้ อาจไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะสินค้าเราไม่เป็นที่ต้องการ เราต้องมีนวัตกรรมหรือไม่ ถ้ามองต้นเหตุถูกเราจะแก้ปัญหาถูก

คำถามหลังจากเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือจะฟื้นช้ากว่าประเทศอื่นหรือเปล่า เพราะเราได้วัคซีนช้ากว่าคนอื่น แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือพอฟื้นแล้วเราจะแข็งแรงเท่าคนอื่นหรือเปล่า วันนี้เราจะเดินออกจากอุโมงค์ และโลกที่เราจะเจอจะไม่เหมือนเดิม

แล้วโลกหลังโควิดจะเป็นโลกแบบไหน ถ้าเราไม่เตรียมตัวเดินออกจากอุโมงค์ให้ดี ออกไปเราอาจจมน้ำก็ได้ เราอาจรอดจากโควิดแต่ไม่รอดจากโลกยุคใหม่

เมื่อมองมาตรการต่างๆ ของประเทศอื่น ที่เราทำแบบเขาไม่ได้คือ 1. ไม่รู้ 2. ไม่มีเครื่องมือ 3. ไม่ทำ มองในบริบทเศรษฐกิจไทยคงไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ เพราะมีตัวอย่างมากมายจากประเทศอื่นที่มีปัญหาเดียวกันแล้วทำได้ดี แต่สำหรับไทยอาจเป็นเรื่องไม่มีเครื่องมือและไม่ทำ เครื่องมือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเรามีไม่พอหรือเปล่า ส่วนที่เราไม่ทำนั้นอาจมีกลไกบางอย่างที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ทำนโยบายมีนโยบายออกมา

เรื่องการไม่ทำนโยบายไม่ใช่เจตนาที่ไม่ดี แต่เป็นไปได้ว่ากฎระเบียบเข้มไปหรือเปล่า ถ้าเราเอาผลลัพธ์สุดท้ายเป็นตัวตั้งจะทำให้คนไม่กล้าเสี่ยงในการทำนโยบาย การทำนโยบายต้องรัดกุมมากเพื่อกันคนโกง การเข็นนโยบายที่มีความเสี่ยงจึงไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ทำนโยบาย ความผิดจะอยู่ที่ปัญหา แต่ถ้าทำ ความผิดจะอยู่ที่นโยบาย ผู้ทำนโยบายไม่สะดวกใจทำนโยบายออกมาทั้งที่มีเจตนาดี เราต้องคิดเรื่องนี้ เราต้องทำนโยบายควบคู่กับมีเครื่องมือตรวจสอบ ไม่อย่างนั้นเวลามีวิกฤต จะทำให้นโยบายไม่สามารถผลักออกมาได้อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความเสียหายมาก

ผมไม่อยากให้เกรดเรื่องการรับมือกับสถานการณ์โควิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราต้องถอดบทเรียนให้มาก เพราะผมคิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้


:: ความหวังใน CLMV ::


ในแง่ตัวเลข เรามีสมมติฐานเชื่อว่า กว่าคนจะสามารถพบปะพูดคุยสังสรรค์กันได้เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ คงเป็นช่วงปลายไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ แต่ถ้าถามว่าเมื่อไหร่จีดีพีจะกลับไปเท่าก่อนโควิด ผมคิดว่าปลายปีหน้า ส่วนการท่องเที่ยวยังกลับมาได้ไม่ง่าย การท่องเที่ยวในประเทศยังพอได้ แต่การท่องเที่ยวในโลก กว่าคนจะฉีดวัคซีน แล้วแต่ละประเทศมั่นใจให้คนออกไปเที่ยวนอกประเทศได้ ผมคิดว่าอีกสักพักหนึ่ง และไม่ใช่ตูมเดียว แต่จะค่อยๆ มา ภาคท่องเที่ยวจึงยังต้องใช้เวลาและต้องมีมาตรการช่วยเหลือ

เรื่องภาคการท่องเที่ยวหลายคนบอกว่าต้องเน้นเรื่องคุณภาพ แต่คุณภาพไม่ได้หมายความว่าราคาสูงเสมอไป ทุกระดับราคาสามารถมีสินค้ามีคุณภาพได้ อย่างตลาดการท่องเที่ยวญี่ปุ่นสามารถรองรับรูปแบบการท่องเที่ยวได้ครอบคลุมมาก ไม่ว่าจะไปแบบแบ็กแพ็กหรืออยู่อย่างสบาย มันคือการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ รองรับทุกการแบ่งส่วนตลาด ถ้าไทยทำแบบนั้นได้แล้วจะได้รองรับนักท่องเที่ยวทุกระดับ

เศรษฐกิจไทยเป็นแบบ outside-in เราขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศ ที่กังวลคือเราถูกเชื่อมเข้าด้วยสายพานการผลิตโลก ต่างชาติมาตั้งบริษัทให้เราช่วยผลิต แต่ต้นทางเป็นของต่างประเทศ วันนี้ต้องเปลี่ยนแล้ว ต้องเกิดจาก inside-out ด้วย เราต้องคิดของเราเองด้วย ไม่ใช่ทำตามคำสั่งอย่างเดียว ถ้าทั้งอุปสงค์และอุปทานขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจนอกประเทศอย่างเดียว แสดงว่าตลาดไม่ได้อยู่ที่เรา เราเป็นแค่ผู้รับจ้าง จะเห็นว่าภาคท่องเที่ยวช่วงหลังก็มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อแล้ว

ผมยังมีความหวังเรื่องฐานการผลิตของไทยใน CLMV สินค้าอุตสาหกรรมเราค่อนข้างแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการผลิต หลายคนพูดถึงเวียดนาม แต่ถ้าลองเปลี่ยนมุมมองว่าในภูมิภาคนี้เราไม่ใช่คู่แข่งแต่เป็นเพื่อนกัน ภูมิภาคนี้สามารถดำรงอยู่เองได้เพราะมีทั้งอุปสงค์และอุปทาน มีประชากรเยอะมากและกำลังการผลิตที่สูง ความมีเสน่ห์ของภูมิภาคนี้คือระดับการพัฒนาที่ไม่ทับซ้อนกัน เรามีประเทศที่แอดวานซ์มาก มีประเทศที่เป็นฐานทรัพยากร ดังนั้นเราคงไม่แย่งกันทำงานในสายพานการผลิต

เราต้องออกแบบนโยบายต่างประเทศดีๆ ให้เราเก่งไปพร้อมกัน การผลิตบนห่วงโซ่อุปทานของสินค้าหลายประเภทในภูมิภาคนี้หนุนเสริมกันได้ดี แบ่งงานกันทำได้ ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันแต่ผลิตคนละส่วนแล้วเอามาประกอบกัน ที่น่าสนใจคือคนไทยมักอยู่ตรงกลางของซัพพลายเชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร

จากเดิมในยุคโลกาภิวัตน์บอกว่าเราแบ่งงานกันทำ ใครถนัดส่วนไหนก็ผลิตสิ่งนั้นแล้วเอามาประกอบกัน แต่พอเกิดปัญหา ขาดนอตตัวเดียวก็หยุดการประกอบรถยนต์ได้ โลกในอนาคตสนใจเรื่อง resiliency มากกว่า efficiency ในความไม่แน่นอนเช่นนี้ควรมีวงการผลิตแยกกันหลายวง วันนี้มีกระแสเรื่องอเมริกากับจีนที่พยายามแยกวงกัน กลายเป็นโอกาสถ้าเราวางตำแหน่งตัวเองได้ดี เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรในห่วงโซ่การผลิตโลก เราจะรอดไปได้


:: มาตรการช่วยผู้ประกอบการ ::


ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและความเสี่ยงสูง แต่ระบบแบงก์กิงเราเผชิญปัญหาในช่วงวิกฤตมา จึงให้ทุนคนมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงเงินทุน เราอาจต้องคิดเรื่องนี้ใหม่ เพราะต่อให้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มาก็ไม่ถูกใช้ ปัญหามันก็ลาม

มาตรการทางการเงิน เราต้องทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สิ่งที่กังวลที่สุดคือพอโควิดหายแล้วเราจะไม่ช่วยเอสเอ็มอีหรือเปล่า อย่าลืมว่าเรามีปัญหาซ้อนอยู่ข้างหลัง ถ้าโลกเปลี่ยนหลังโควิด สินค้าและบริการอาจเปลี่ยนไปจากที่เรามีอยู่ ผู้ประกอบการจะทำอย่างไร ถ้าเขาไม่มีเงินทุนก็เปลี่ยนไม่ได้

วันนี้ทุกคนเห็นปัญหา จากการพูดคุยกันในหมู่ผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ทุกคนตระหนักดีและพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องพวกนี้

เรื่องสถาบันการเงินผมไม่กังวล แบงก์มี capital buffer ที่ดีมาก ทุกคนมีประสบการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งหรือซับไพรม์ แต่ภาพกว้างของระบบสถาบันการเงินคือการจัดสรรทรัพยากร (resource allocation) แบบแรกคือโยกเงินระหว่างคนที่เงินเหลือกับคนที่ขาดเงิน แบบที่สองคือโยกเงินระหว่างเวลา เศรษฐกิจดีก็เก็บไว้ พอแย่ก็เอามาใช้ แต่พอฟังก์ชันเหล่านี้ไม่ทำงานปัญหาก็เกิด ในยามที่เศรษฐกิจดีเงินก็เข้าระบบเยอะแยะ แต่วันที่เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่กลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ สุดท้ายเศรษฐกิจก็แย่ เพราะไม่สามารถย้ายเงินทุนระหว่างเวลาได้ สิ่งที่เราเห็นนโยบายประเทศต่างๆ คือภาครัฐเข้ามาเป็นหลังพิงให้ สหรัฐอเมริกาหรือเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ธนาคารกลางเขาก็เข้าไปช่วยอย่างกว้างขวางชัดเจน

ยังมีความจำเป็นเรื่องมาตรการรอบที่สาม เราเห็นความพยายามจากภาครัฐออกมาแล้ว เห็นเรื่องมาตรการทางการคลัง อย่างคนละครึ่ง เรารักกัน แต่มาตรการช่วยผู้ประกอบการยังไม่ค่อยเห็น มีมาตรการทางการเงิน เช่น ให้คนไปกู้แบบไร้ดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ แต่วันนี้คนไม่ค่อยอยากกู้ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในรูปแบบการให้เป็นเงินโอน อาจจะช่วยเหลือเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้ผู้ประกอบการเอาเงินไปเยียวยาในระยะสั้น

วันนี้เรารู้ว่าโควิดจบแน่ในอีกไม่กี่เดือน ทุกคนปิดร้านเพื่อช่วยกัน แต่เราต้องช่วยเขาด้วย การให้เงินโอนไปอาจเป็นภาระการคลัง แต่ถ้าไม่ให้ก็ขายของไม่ได้ เก็บภาษีไม่ได้ รัฐก็ไม่ได้เงินอยู่ดี ถ้าต้องเสียเงินแสนล้านจากการปิดกิจกรรมไปแล้วเก็บภาษีไม่ได้ ก็เอาเงินนั้นมาช่วยในช่วงการปิดกิจการดีกว่า

นโยบายการเงินระยะสั้นเราทำอะไรไม่ได้มาก วันนี้ควรอัดนโยบายการคลังให้พ้นจากสองเดือนนี้ ระดมฉีดวัคซีน แล้วนโยบายการเงินค่อยเข้ามาเสริมเรื่องการฟื้นฟู การเรียงลำดับนโยบายทางเศรษฐกิจก่อนหลังนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เราต้องพูดเรื่องเยียวยา ยังไม่ต้องพูดเรื่องกระตุ้น

ภูมิคุ้มกันหมู่เราคาดว่าจะเกิดไตรมาส 3 หรือ 4 ถ้าเรียงลำดับการฉีดวัคซีนจากจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูง มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ เราจะกลับมาได้เร็ว


:: นโยบายเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิด ::


โลกหลังโควิด วันนี้เราเห็นแล้วว่าระบบตลาดเปลี่ยนแปลงไป ตลาดคือสถานที่ที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ สมัยก่อนตลาดเป็นพื้นที่ทางกายภาพ วันนี้ตลาดคือช่องทางออนไลน์ วิธีการเปลี่ยน เวลาซื้อของออฟไลน์เราจะมีความเชื่อใจผู้ขาย มีข้อมูลว่าคนนี้เป็นผู้ขายที่ดี เราก็กลับไปซื้อซ้ำ วันนี้โลกเปลี่ยน การซื้อของออนไลน์ไม่ต้องซื้อเจ้าเดิม เพราะมีคนมาช่วยรีวิวว่าคนขายน่าเชื่อถือไหม

รูปแบบตลาดเปลี่ยน กลไกและกฎระเบียบในการอยู่ในตลาดก็เปลี่ยน สมัยก่อนเราไม่รู้ว่าเราจะซื้อของได้ดีที่สุดและถูกที่สุด เพราะเราเดินไม่ทั่วตลาด แต่การซื้อของออนไลน์ ถ้าเราอยากจ่ายแพงกว่าเพื่อสินค้าเดียวกันเพราะอยากซื้อจากคนนี้ แต่เราไม่สามารถใช้ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในการจูงใจได้ เมื่อโลกแพลตฟอร์มเข้ามาระบบตลาดจะเปลี่ยนแปลงไป การออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตต้องเข้าใจเรื่องนี้

ในตลาดระบบเก่า โอกาสมีความไม่เท่าเทียมกันสามประการ หากออกแบบตลาดไม่ดี คือ 1. โอกาสในการเข้าสู่ตลาด 2. โอกาสขยายสินค้าและบริการ 3. โอกาสในการแข่งขัน เช่น แผงอยู่หน้าหรือหลังตลาด แต่การขายออนไลน์ทำลายข้อจำกัดเหล่านี้ แพลตฟอร์มทำให้คนมีโอกาสมากขึ้น เราจะทำให้คนที่ยังเข้าไม่ถึงมาใช้ตลาดนี้อย่างไร

สำหรับเศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงินที่เราต้องทำคือ 1. เรามีเครื่องมือรับมือวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยได้มากกว่านี้หรือไม่ วันนี้เรารู้แล้วว่าเครื่องมือไม่พอ โลกเปลี่ยนไป เครื่องมือเดิมไม่อยู่ไปตลอด จะมีเครื่องมืออื่นอีกไหมที่เราต้องผลิตขึ้นมาเพื่อรับมือวิกฤต นโยบายการเงินทำเพื่อให้คนมีสภาพคล่องมากขึ้น แล้วจะทำให้สภาพคล่องถึงมือคนต้องทำอะไรบ้าง ก็ต้องไปออกแบบเครื่องมือใหม่มา นั่นเป็นสิ่งสำคัญ เราคงไม่อยากคิดเครื่องมือกันตอนมีวิกฤตแล้วเพราะจะมีความเสี่ยง เราต้องทำเครื่องมือรอไว้ นอกจากนั้นเครื่องมือต้องเข้ากับบริบทของประเทศไทยด้วย การแก้ไขปัญหาการเงินแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พฤติกรรมการเงินก็ไม่เหมือนกัน

2. เรื่องการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอีหรือคนที่มีความเสี่ยง เรามักบอกว่านักลงทุนไม่ลงทุนประเทศไทย แต่ผมคิดว่านักลงทุนพยายามลงทุน แต่เขาไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ อย่าลืมว่านวัตกรรมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถให้ทุนนวัตกรรมได้ก็จะไม่เกิดนวัตกรรม เราจะออกแบบระบบการเงินอย่างไรเพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่มีความเสี่ยง นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดเรื่องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน

ภาคการคลังก็เหมือนกัน เครื่องมือแรกคือการให้ความช่วยเหลือ เราต้องสร้างความตระหนักรู้ ที่ญี่ปุ่นมีคนประท้วงให้ขึ้นภาษี  VAT ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระสังคม เราจึงควรสร้างความตระหนักรู้ว่ากลไกของรัฐคือการจัดสรรทรัพยากร ยามวิกฤตรัฐไม่ได้เสกเงินขึ้นมา แต่เอาเงินจากคุณมาจัดสรรให้ความช่วยเหลือ การคิดเรื่องรายรับรายจ่ายของรัฐในระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องคิดว่าถ้ามีวิกฤตรอบใหม่จะช่วยเหลือคนให้ถูกเป้าอย่างไร ต้องพยายามจำแนกคนให้ได้ สร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามา ทำให้เขาเห็นว่าการเผยรายได้ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือยามลำบาก

เรื่องการลงทุนยังจำเป็นอยู่ การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในนิวอีโคโนมีสำคัญมาก หลายประเทศสนับสนุนแพลตฟอร์มอีโคโนมี สร้างโครงสร้างพื้นฐานรอไว้ พยายามพัฒนาคนให้สอดคล้องกับโลกอนาคต

โควิดทำให้เห็นว่าโครงสร้างเรามีปัญหา ผมคิดว่าเป็นเรื่องการออกแบบกฎระเบียบและกลไกว่าคนในระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร และจะเป็นประเด็นต่อไปในระยะยาว หลังโควิดถ้าไม่ออกแบบกฎระเบียบกลไกการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมให้ดีจะมีปัญหา วันนี้โลกเราเปิดกว้างแล้ว เราปิดกั้นไม่ได้ เราจะยอมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกอย่างไร ให้ดูตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว บางอย่างเราต้องยอมเสียไปและพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save