fbpx
ปัญหาน่าปวดหัวของนโยบายสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ปัญหาน่าปวดหัวของนโยบายสิ่งแวดล้อมในอนาคต

หลังจากที่ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นพฤศจิกายน ทั้งโลกรับรู้ว่านโยบายต่างๆ ของสหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนจากแนวทางของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

หนึ่งในประเด็นที่จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวทางการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อต้านอย่างมาก จนถึงกับกล่าวว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และมีคำสั่งให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก ‘ข้อตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไบเดนและพรรคเดโมเเครตกลับชูนโยบายด้านการต่อสู้กับการสภาพภูมิอากาศและนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงหลัก

การต่อสู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่า ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ ได้ถูกยกระดับจาก ‘ตัวละครประกอบ’ ไปเป็น ‘ตัวละครเอก’ ในเวทีการเมืองแล้ว โดยทุกรัฐบาล พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีแผนนโยบายของตัวเอง

แม้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ถกเถียงและมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยก็จะถึงจุดนั้นเช่นกัน ในวันที่ภัยพิบัติรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติที่ประชาชนจะเริ่มมองหาถึงทางออกที่ดีที่สุดในรูปแบบของ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ และกดดันให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคหันมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่าง หลากหลาย ซับซ้อน และมีความขัดแย้งระหว่างกัน ไม่ต่างกับเหมือนกับด้านนโยบายอื่นๆ

บทความนี้อยากชวนมองนโยบายสิ่งแวดล้อมในสองมิติ ได้แก่ ‘เชิงรับ’ และ ‘เชิงรุก’ ซึ่งแม้ทั้งคู่จะมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แต่กลับมีความแตกต่างในมุมมองและวิธีการอย่างน่าสนใจ และหลายครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำนโยบาย

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ – สิ่งที่เรามีวันนี้ดีที่สุด

ภาพที่คุ้นเคยของ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ หนีไม่พ้นการปกป้องระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ดูแลชายฝั่งทะเล หรือรณรงค์ต่อต้านการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มักถูกทิ้งลงทะเลหรือถูกเผากลายเป็นมลพิษทางอากาศ แนวทางเหล่านี้อถูกจัดอยู่ภายใต้ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ ที่ต้องการที่จะคงสิ่งที่เรามีอยู่ไม่ให้สาบสูญหายไป เน้นความสำคัญไปทางด้าน ‘การอนุรักษ์’ หรือ ‘conservation’

แกนหลักของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ อยู่บนฐานคิดที่ว่า หากการทำอะไรบางอย่าง เช่น โครงการอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์ การต่อต้านไม่ให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นคือรูปแบบการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนที่สุด

บทความนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางของนโยบาย ‘เชิงรับ’ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแนวทางการทำงานของกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสูง ทำงานอย่างแข็งขัน มีพลัง และมีผลงานที่มีสำคัญต่อการงานด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา

ตัวอย่างความสำเร็จที่ไม่นานมานี้คือ การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาที่จะก่อมลพิษอากาศต่อชุมชนและพื้นที่โดยรอบ โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งที่สังคมกำลังให้ความสำคัญในวันนี้คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่ถูกตั้งคำถามว่า ทำลายธรรมชาติ รวมไปถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมและศาสนา

คู่ขนานกับกลุ่มประชาสังคม ภาครัฐก็มีบทบาทในการส่งเสริมนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางหลัก 2 แนวทาง คือ  1. การออกกฎหมาย เช่น การออกกฎหมายจำกัดการใช้ถุง 2. การเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแล เช่น การปรับปรุงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แม้ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ จะมีความสําคัญมาก แต่ต้องยอมรับว่า ยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับนโยบายเศรษฐกิจ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งบ้านเราแต่ละครั้งแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนชูนโยบายสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละพรรคประเมินว่าไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถดึงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ นอกจากนี้บางคนอาจมองว่านโยบายสิ่งแดวล้อมอาจทำให้เกิด ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ หรือ opportunity cost จากการพัฒนา กล่าวคือมองว่าการคัดค้านโครงการต่างๆ ให้ไม่เกิดขึ้นจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างงานและสร้างรายได้ เป็นต้น

 

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ – เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมคือของคู่กัน

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ เป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แนวทางนี้เชื่อว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยแค่ปกป้องระบบนิเวศน์ให้เหมือนเดิมอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ หัวใจของนโยบายสิ่งแวดล้อมควรอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือหลัก

โจทย์หลักของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดีไปพร้อมๆ กันได้แบบสองเด้ง หรือที่เรียกว่า ‘การปันผลทวีคูณ’ (double dividend hypothesis) ตัวอย่างรูปธรรมของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกคือ การลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมแผงโซลาเซลล์และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างงานสร้างรายได้แล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ยังช่วยการลดใช้พลังงานฟอสซิลที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล เป็นบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมหลายพรรคการเมืองในต่างประเทศถึงชูประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง เพราะวันนี้นโยบายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่การทำให้น้ำใส อากาศสะอาดอีกต่อไป หากแต่คือการเพิ่มเงินในกระเป๋าและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนไปพร้อมกัน

เทรนด์นโยบายสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ

 

หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อแนวนโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์โควิด (Post-Covid Stimulus Package) ของหลายๆ ประเทศ

สหภาพยุโรปมีแผนการใช้งบทั้งหมด 826,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25 ล้านล้านบาท) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเงื่อนไขว่าการใช้เงินภายใต้แผนนี้จะต้องอยู่ในกรอบของข้อตกลง ‘Green Deal’ ที่ตั้งเป้าให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของสหภาพยุโรปเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นอกจากนี้ เกาหลีใต้ก็มีแผนที่จะใช้ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.3 ล้านล้านบาท) ในโครงงานด้านสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ เช่น การลงทุนในพลังงานทดแทน การเสนอภาษีคาร์บอน หรือการถอนเงินลงทุนของหน่วยงานภาครัฐในโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ

แผนนโยบายสิ่งแวดล้อมของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 60 ล้านล้านบาท) ก็อยู่ในแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนการลงทุนติดตั้งแผงโซลาเซลล์ 500 ล้านแผ่น หรือการปรับปรุงอาคารกว่า 4 ล้านหลังให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (energy efficiency) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าให้การใช้พลังงานไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2035 ด้วย

โอกาสของความขัดแย้ง

แบบฝึกหัดทางความคิดต่อไปนี้ (ซึ่งจะมีความสุดโต่งอย่างมาก) จะช่วยให้เรามองเห็นภาพความขัดแย้งในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น

สมมุติว่าประเทศไทยสามารถโน้มน้าว อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ให้มาตั้งโรงงานที่ไทยได้ แต่ทางบริษัทมีข้อแม้ว่า บริษัทจะเข้ามาลงทุนก็ต่อเมื่อสามารถเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสากรรมจะนะเท่านั้น ในด้านหนึ่ง การตั้งโรงงานรถยนต์ Tesla จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งส่วนของห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังสร้างงานให้คนไทยจำนวนมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างโรงงานยังคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนตั้งคำถามถึงภัยต่อระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้น

แบบฝึกหัดทางความคิดเรื่อง Tesla กับจะนะข้างต้น เป็นตัวอย่างรูปธรรมของความขัดแย้งระหว่างนโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุกและนโยบายอุตสาหกรรมเชิงรับ คำถามคือสังคมไทยควรมองประเด็นนี้อย่างไร?

ปัญหาวันข้างหน้า เริ่มคิดวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตประเด็นสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญต่อประชาชนมากขึ้น รัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญและพูดถึงประเด็นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมองจากเทรนด์ในระดับโลกและโจทย์ภายในของประเทศ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ ที่ควบทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมีโอกาสที่จะเป็นแนวทางที่ถูกเลือกใช้มากกว่า โจทย์ใหญ่ของอนาคตคือ ทำอย่างไรนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกจะไม่ชนกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับมากจนเกินไป

โดยแนวทางหนึ่งที่ควรเริ่มต้นคิด การกำหนดให้มี red project (โครงการสีแดง) ที่ตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าโครงการประเภทนี้ห้ามทำอย่างแน่นอน หรือกำหนด red zone (พื้นที่สีแดง) หรือพื้นที่ห้ามสร้างไม่ว่าโครงการนั้นจะสร้างงานหรือมีผลลัพท์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหนก็ตาม

หัวใจสำคัญที่สุดของการรับมือปัญหาข้างต้นคือ กลุ่มผู้เสนอนโยบายเชิงรุกและกลุ่มที่เอียงไปในทางนโยบายเชิงรับ ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ควรจะต้องมีการพูดคุยระหว่างกัน โดยทุกนโยบายหรือโครงการควรจะต้องมีการเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพิกเฉย หรือรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แม้การขัดกันระหว่างนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับจะเป็นปัญหาที่ดี หรือเป็น “A Good problem to have” แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการความขัดแย้งแตกแยกได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save