fbpx
ปัญหาน่าปวดหัวของนโยบายสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ปัญหาน่าปวดหัวของนโยบายสิ่งแวดล้อมในอนาคต

หลังจากที่ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นพฤศจิกายน ทั้งโลกรับรู้ว่านโยบายต่างๆ ของสหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนจากแนวทางของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

หนึ่งในประเด็นที่จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวทางการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อต้านอย่างมาก จนถึงกับกล่าวว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และมีคำสั่งให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก ‘ข้อตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไบเดนและพรรคเดโมเเครตกลับชูนโยบายด้านการต่อสู้กับการสภาพภูมิอากาศและนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงหลัก

การต่อสู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่า ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ ได้ถูกยกระดับจาก ‘ตัวละครประกอบ’ ไปเป็น ‘ตัวละครเอก’ ในเวทีการเมืองแล้ว โดยทุกรัฐบาล พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีแผนนโยบายของตัวเอง

แม้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ถกเถียงและมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยก็จะถึงจุดนั้นเช่นกัน ในวันที่ภัยพิบัติรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติที่ประชาชนจะเริ่มมองหาถึงทางออกที่ดีที่สุดในรูปแบบของ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ และกดดันให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคหันมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่าง หลากหลาย ซับซ้อน และมีความขัดแย้งระหว่างกัน ไม่ต่างกับเหมือนกับด้านนโยบายอื่นๆ

บทความนี้อยากชวนมองนโยบายสิ่งแวดล้อมในสองมิติ ได้แก่ ‘เชิงรับ’ และ ‘เชิงรุก’ ซึ่งแม้ทั้งคู่จะมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แต่กลับมีความแตกต่างในมุมมองและวิธีการอย่างน่าสนใจ และหลายครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำนโยบาย

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ – สิ่งที่เรามีวันนี้ดีที่สุด

ภาพที่คุ้นเคยของ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ หนีไม่พ้นการปกป้องระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ดูแลชายฝั่งทะเล หรือรณรงค์ต่อต้านการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มักถูกทิ้งลงทะเลหรือถูกเผากลายเป็นมลพิษทางอากาศ แนวทางเหล่านี้อถูกจัดอยู่ภายใต้ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ ที่ต้องการที่จะคงสิ่งที่เรามีอยู่ไม่ให้สาบสูญหายไป เน้นความสำคัญไปทางด้าน ‘การอนุรักษ์’ หรือ ‘conservation’

แกนหลักของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ อยู่บนฐานคิดที่ว่า หากการทำอะไรบางอย่าง เช่น โครงการอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์ การต่อต้านไม่ให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นคือรูปแบบการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนที่สุด

บทความนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางของนโยบาย ‘เชิงรับ’ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแนวทางการทำงานของกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสูง ทำงานอย่างแข็งขัน มีพลัง และมีผลงานที่มีสำคัญต่อการงานด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา

ตัวอย่างความสำเร็จที่ไม่นานมานี้คือ การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาที่จะก่อมลพิษอากาศต่อชุมชนและพื้นที่โดยรอบ โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งที่สังคมกำลังให้ความสำคัญในวันนี้คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่ถูกตั้งคำถามว่า ทำลายธรรมชาติ รวมไปถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมและศาสนา

คู่ขนานกับกลุ่มประชาสังคม ภาครัฐก็มีบทบาทในการส่งเสริมนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางหลัก 2 แนวทาง คือ  1. การออกกฎหมาย เช่น การออกกฎหมายจำกัดการใช้ถุง 2. การเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแล เช่น การปรับปรุงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แม้ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับ’ จะมีความสําคัญมาก แต่ต้องยอมรับว่า ยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับนโยบายเศรษฐกิจ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งบ้านเราแต่ละครั้งแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนชูนโยบายสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละพรรคประเมินว่าไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถดึงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ นอกจากนี้บางคนอาจมองว่านโยบายสิ่งแดวล้อมอาจทำให้เกิด ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ หรือ opportunity cost จากการพัฒนา กล่าวคือมองว่าการคัดค้านโครงการต่างๆ ให้ไม่เกิดขึ้นจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างงานและสร้างรายได้ เป็นต้น

 

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ – เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมคือของคู่กัน

‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ เป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แนวทางนี้เชื่อว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยแค่ปกป้องระบบนิเวศน์ให้เหมือนเดิมอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ หัวใจของนโยบายสิ่งแวดล้อมควรอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือหลัก

โจทย์หลักของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดีไปพร้อมๆ กันได้แบบสองเด้ง หรือที่เรียกว่า ‘การปันผลทวีคูณ’ (double dividend hypothesis) ตัวอย่างรูปธรรมของนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกคือ การลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมแผงโซลาเซลล์และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างงานสร้างรายได้แล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ยังช่วยการลดใช้พลังงานฟอสซิลที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล เป็นบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมหลายพรรคการเมืองในต่างประเทศถึงชูประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง เพราะวันนี้นโยบายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่การทำให้น้ำใส อากาศสะอาดอีกต่อไป หากแต่คือการเพิ่มเงินในกระเป๋าและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนไปพร้อมกัน

เทรนด์นโยบายสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ

 

หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อแนวนโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์โควิด (Post-Covid Stimulus Package) ของหลายๆ ประเทศ

สหภาพยุโรปมีแผนการใช้งบทั้งหมด 826,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25 ล้านล้านบาท) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเงื่อนไขว่าการใช้เงินภายใต้แผนนี้จะต้องอยู่ในกรอบของข้อตกลง ‘Green Deal’ ที่ตั้งเป้าให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของสหภาพยุโรปเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นอกจากนี้ เกาหลีใต้ก็มีแผนที่จะใช้ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.3 ล้านล้านบาท) ในโครงงานด้านสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ เช่น การลงทุนในพลังงานทดแทน การเสนอภาษีคาร์บอน หรือการถอนเงินลงทุนของหน่วยงานภาครัฐในโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ

แผนนโยบายสิ่งแวดล้อมของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 60 ล้านล้านบาท) ก็อยู่ในแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนการลงทุนติดตั้งแผงโซลาเซลล์ 500 ล้านแผ่น หรือการปรับปรุงอาคารกว่า 4 ล้านหลังให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (energy efficiency) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าให้การใช้พลังงานไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2035 ด้วย

โอกาสของความขัดแย้ง

แบบฝึกหัดทางความคิดต่อไปนี้ (ซึ่งจะมีความสุดโต่งอย่างมาก) จะช่วยให้เรามองเห็นภาพความขัดแย้งในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น

สมมุติว่าประเทศไทยสามารถโน้มน้าว อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ให้มาตั้งโรงงานที่ไทยได้ แต่ทางบริษัทมีข้อแม้ว่า บริษัทจะเข้ามาลงทุนก็ต่อเมื่อสามารถเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสากรรมจะนะเท่านั้น ในด้านหนึ่ง การตั้งโรงงานรถยนต์ Tesla จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งส่วนของห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังสร้างงานให้คนไทยจำนวนมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างโรงงานยังคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนตั้งคำถามถึงภัยต่อระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้น

แบบฝึกหัดทางความคิดเรื่อง Tesla กับจะนะข้างต้น เป็นตัวอย่างรูปธรรมของความขัดแย้งระหว่างนโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุกและนโยบายอุตสาหกรรมเชิงรับ คำถามคือสังคมไทยควรมองประเด็นนี้อย่างไร?

ปัญหาวันข้างหน้า เริ่มคิดวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตประเด็นสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญต่อประชาชนมากขึ้น รัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญและพูดถึงประเด็นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมองจากเทรนด์ในระดับโลกและโจทย์ภายในของประเทศ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ ที่ควบทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมีโอกาสที่จะเป็นแนวทางที่ถูกเลือกใช้มากกว่า โจทย์ใหญ่ของอนาคตคือ ทำอย่างไรนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกจะไม่ชนกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับมากจนเกินไป

โดยแนวทางหนึ่งที่ควรเริ่มต้นคิด การกำหนดให้มี red project (โครงการสีแดง) ที่ตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าโครงการประเภทนี้ห้ามทำอย่างแน่นอน หรือกำหนด red zone (พื้นที่สีแดง) หรือพื้นที่ห้ามสร้างไม่ว่าโครงการนั้นจะสร้างงานหรือมีผลลัพท์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหนก็ตาม

หัวใจสำคัญที่สุดของการรับมือปัญหาข้างต้นคือ กลุ่มผู้เสนอนโยบายเชิงรุกและกลุ่มที่เอียงไปในทางนโยบายเชิงรับ ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ควรจะต้องมีการพูดคุยระหว่างกัน โดยทุกนโยบายหรือโครงการควรจะต้องมีการเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพิกเฉย หรือรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แม้การขัดกันระหว่างนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุกกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรับจะเป็นปัญหาที่ดี หรือเป็น “A Good problem to have” แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการความขัดแย้งแตกแยกได้

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save