fbpx
ประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วยคำถามและไม่ต้องรีบเชื่อ ในห้องเรียนของ ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์

ประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วยคำถามและไม่ต้องรีบเชื่อ ในห้องเรียนของ ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

YouTube video

 

ประวัติศาสตร์ไม่สนุกเมื่ออยู่ในโรงเรียน หลายคนอาจบอกเป็นเสียงเดียวกัน มีหลักฐานยืนยันคือการคืนเนื้อหาให้คุณครูทันทีหลังสอบเสร็จ ความทรงจำมีเพียงการท่องจำเรื่องที่วันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเราแล้ว

ส่วนประวัติศาสตร์ที่สร้างการตื่นรู้ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับชีวิต เห็นเรื่องราวของผู้คนธรรมดา หลายครั้งเกิดจากการแสวงหาข้อมูลนอกห้องเรียน ในหนังสือ อินเทอร์เน็ต การแลกเปลี่ยนกับคนอื่น หรือเมื่อเราตบเท้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่ซึ่งความรู้เดินทางอย่างเสรี มีอิสระในการถกเถียงเพิ่มขึ้น

วิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนหลายแห่งยังจำกัดการตั้งคำถาม จนเนื้อหาประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องเล่ามุมเดียว เป็นคำตอบเดียว ที่คนท่องจำต่อกันมาหลายสิบปี – แต่ไม่ใช่กับวิชาประวัติศาสตร์โดยการสอนของ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง

ในโรงเรียนที่เน้นการเรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนี้ ภาคินออกแบบการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ต่างไป การตั้งคำถาม การถกเถียง เป็นของสำคัญในห้องเรียนของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ จุดหมายการสอนประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้นักเรียนตอบคำถามในห้องสอบได้ง่ายๆ แต่เพื่อให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ที่มีบริบทมากมายเกี่ยวข้องคือเรื่องยากและควรจะยาก แต่เป็นเรื่องยากที่เชื่อมโยงกับเรา และจะทำให้เราไม่ตัดสินผู้อื่นง่ายๆ

 

สัมภาษณ์ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน

 

ความรู้สึกและท่าทีของนักเรียนเวลาต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นยังไง คิดว่าห้องเรียน วิธีสอน หรือเนื้อหาแบบไหนที่นักเรียนเจอแล้วทำให้รู้สึกว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่น่าสนใจ

พอพูดว่าผมจะสอนประวัติศาสตร์ เขาก็จะมีภาพจำว่า ถ้าครูไม่โหด ก็ต้องเป็นครูที่น่าเบื่อ ถ้าวิชาไม่น่าเบื่อ ก็ต้องเป็นวิชาที่ไม่ต้องเรียนก็ได้ ผมลองถามนักเรียนทุกรุ่นว่าไปได้ความรู้สึกนี้มาจากไหน เขาก็โยนกลับไปตั้งแต่ประถม หรือ ม.ต้น

ถ้าฟังจากเด็กๆ  มันคือคลาสที่เวลานั่งเรียนในห้อง เด็กแทบจะไม่ต้องตั้งใจเรียนก็ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูพูดก็เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในหนังสือ สุดท้ายก็เป็นการเรียนเพื่อใช้สอบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่เขารู้ว่าในตำราเขียนว่าอะไร จำได้ ท่องได้ เขาก็เอาไปเขียนในข้อสอบได้ ห้องเรียนแบบนี้แหละที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ยึดโยงกับคน เด็กไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไม เนื้อหาพวกนี้เกี่ยวข้องกับเขายังไง

มีนักเรียนน้อยคนมากที่จะได้เรียนประวัติศาสตร์ในความหมายที่สร้างสรรค์ มีบ้างสองสามคนที่บอกผมว่าชอบประวัติศาสตร์มาก แต่ชอบเพราะอ่านเอง หรือไม่ก็ชอบเพราะบังเอิญมีครูที่สอนประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจ ซึ่งพอถามลึกๆ ว่าเขาเรียนโรงเรียนอะไรมาก่อน ก็จะได้คำตอบเช่น โรงเรียนสาธิต หรือโรงเรียนนานาชาติบางแห่ง เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กทั่วๆ ไปที่เรียนโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงครูที่มีคุณภาพหรือทรัพยากรความรู้ที่หลากหลาย ภาพจำของเขาก็เหมือนๆ กันคือ วิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อ

 

เวลาเจอคำถามว่า ‘เราเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม’ คุณตอบนักเรียนอย่างไรในฐานะครู

จริงๆ ผมก็ถามตัวเองอยู่บ่อยๆ เพราะรู้สึกว่านี่เป็นโจทย์ที่คนสอนจำเป็นต้องตอบตัวเองให้ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าวิชาที่สอนมีไปเพื่ออะไร ประโยชน์คืออะไร พอเข้าไปสอนในห้อง เราก็จะไม่สามารถทำให้นักเรียนเห็นว่าทำไมเขาต้องสนใจเรียน

คำตอบว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไมที่ผมได้มีแค่สองอย่าง หนึ่ง เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้รู้ว่าอดีตมันยาก เอาแค่เมื่อวานนี้เกิดอะไรขึ้น คนในโรงเรียนก็อาจจะอธิบายเหตุการณ์เมื่อวานไม่เหมือนกัน เหตุการณ์การชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ให้รัฐมนตรีอธิบายคำตอบก็เป็นแบบหนึ่ง ให้เด็กอธิบายก็แบบหนึ่ง นักข่าวก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กี่วันมานี้คนยังอธิบายไม่ตรงกัน นับประสาอะไรกับร้อยหรือพันปีที่แล้ว หรือถ้าเรื่องแฟนเลิกกัน ต่างฝ่ายต่างก็อธิบายไม่เหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องสังคมการเมือง เช่น ใครขึ้นมามีอำนาจเพราะอะไร รัฐประหารเพราะอะไร ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สิ่งที่ผมพยายามทำให้เด็กเห็นคือ ถ้าคุณงงว่าประวัติศาสตร์เกิดอะไรขึ้น ตกลงใครทำอะไร เพราะอะไร ไม่เข้าใจเหตุผลเลย ผมรู้สึกว่านั่นแหละมาถูกทางแล้ว เพราะถ้าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องง่ายเมื่อไหร่ แปลว่าคุณกำลังฟังคนเพียงไม่กี่คน ทันทีที่คุณรู้ว่าอดีตมันยาก คุณก็จะตัดสินคนอื่นน้อยลง ถ้าคุณอยากจะรู้แล้วตัดสินให้ได้ ก็ต้องฟังให้มากขึ้น และพอฟังถึงจุดนึงจะรู้ว่า โอ้โห ยากจังเลยในการบอกว่าคนนี้ถูกหรือผิด มีบางเรื่องนะที่ย้อนมองกลับไปก็พูดได้ว่ามันผิด แต่อาจจะตอบไม่เต็มปากเท่าไหร่ว่าทำไมถึงผิดขนาดนั้น การฆ่าคนที่ดูเหมือนผิดแน่ๆ พอไปศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ ก็พอมีคำอธิบายว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เราตัดสินว่ามันไม่ดี ไม่ควรทำในอนาคต แต่อย่างน้อยก็เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเวลานั้น

สอง ผมคิดว่าหัวใจของวิชาประวัติศาสตร์คือการทำให้เห็นว่า คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด มีความรู้ที่สุดหรือมีความรู้น้อยที่สุด ล้วนจะเหมือนกันคือเรามีอคติในใจ ยิ่งโรงเรียนที่ผมสอนเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เด็กส่วนใหญ่เข้ามาพร้อมกับความคิดว่าอคติเป็นสิ่งไม่ดี วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ดีเพราะไม่มีอคติ แต่สิ่งที่ผมชวนนักเรียนคิดคือ เอาเข้าจริงแล้ว คุณไม่มีอคติได้แค่ไหน เป็นไปได้ไหมว่าแม้กระทั่งในเวลาที่คุณพยายามจะไม่มีความเห็นที่สุด คุณก็มีอคติ

ผมให้นักเรียนเล่นเกม จับสลากคำแล้วเขียนเล่าเรื่อง เช่น คำว่า ครอบครัว สิ่งที่ฉันรัก ประสบการณ์ในอดีต พอเขาเล่าเรื่องเสร็จก็จะชวนให้เขาให้คะแนนตัวเองดังนี้ หนึ่ง คุณคิดว่าเรื่องที่คุณเล่าเป็นความจริงกี่เปอร์เซ็นต์ สอง คุณคิดว่าเรื่องที่คุณเล่าอธิบายชีวิตคุณได้กี่เปอร์เซ็นต์ สาม คุณคิดว่ามีเรื่องอะไรอีกที่คุณยังไม่ได้เล่า สี่ เรื่องที่คุณไม่ได้เล่าอธิบายชีวิตคุณได้กี่เปอร์เซ็นต์ ผลก็คือเรื่องที่ไม่ได้เล่ากลับอธิบายชีวิตเราได้มากกว่า ส่วนเรื่องที่เล่า แม้เป็นเรื่องของนักเรียนเอง เปอร์เซ็นต์ความจริงกลับไม่ถึงร้อย ส่วนใหญ่ให้เจ็ดสิบบ้าง หกสิบบ้าง เพราะรู้ว่ามีสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้เล่าออกมา คำถามก็คือการที่คุณเลือกเล่าบางอย่าง ไม่เล่าบางอย่าง เขียนออกมาไม่หมด เป็นอคติไหม คำตอบง่ายๆ คือ ใช่ ถ้าสิ่งนี้เป็นอคติก็แปลว่าประวัติศาสตร์ทุกอย่างต่อให้ซื่อสัตย์ต่อหลักฐาน แต่เมื่อถูกเล่าออกมาก็เป็นอคติ

พอรู้ว่าเรามีอคติ เราก็จะเริ่มตัดสินคนอื่นน้อยลง เพราะคนอื่นก็มีอคติเหมือนเรา สิ่งที่ต้องระวังไม่ใช่อคติของคนอื่นอันตราย แต่เป็นอคติของเราต่างหาก นี่คือหัวใจสองข้อซึ่งอยากให้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยเน้นเรื่องนี้มากขึ้น

 

การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หนังสือเรียน

 

ในการเรียนตามหลักสูตร กางหนังสือมาก็เป็นประวัติศาสตร์ชาติตามยุคต่างๆ ที่เราต้องท่องจำชื่อยาวๆ มากมาย การจะทำให้นักเรียนเข้าใจหัวใจสองข้อที่คุณกล่าวถึงมีวิธีอย่างไร ทำอย่างไรให้นักเรียนเห็นความสำคัญและเชื่อมโยงอดีตพันปีเข้ากับตัวเขาเอง

ที่โรงเรียนผม นักเรียนจะได้เรียนประวัติศาสตร์ประมาณ 4 เทอม สิ่งที่ผมทำในเทอมแรกคือชวนเขาคิดว่า เวลาพูดคำว่าประวัติศาสตร์ มันอยู่ตรงไหนบ้าง ผมจะให้เขาทำประวัติศาสตร์ของครอบครัวตัวเอง คุณเรียนมาตลอดว่าประวัติศาสตร์คืออดีต อดีตคือความทรงจำ ความทรงจำบิดเบือนได้ เวลาเล่ามักมีอคติ ถ้าอยากรู้ความจริงต้องหาหลักฐาน แต่หลักฐานก็อาจจะมีอคติ แล้วถ้าถึงเวลาที่คุณต้องเล่ามันออกมาเอง คุณจะเล่ายังไง สิ่งที่เด็กเรียนรู้ได้ง่ายที่สุด ใกล้ตัวเขาที่สุด คือย้อนกลับไปศึกษาครอบครัวตัวเอง ลองไปคุยกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลองถามเขาว่าครอบครัวของคุณมีที่มาอย่างไร จังหวะนี้เองเป็นจุดที่เด็กได้เริ่มเรียนรู้ว่า ปู่ย่าตายายจะเล่าถึงอดีตโดยการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ ถ้าเขาเป็นคนจีน ก็จะเชื่อมโยงกับการที่เขาเดินทางมาในช่วงบริบทต่างๆ แล้วเล่าว่าประวัติศาสตร์เกิดอะไรขึ้นบ้างตอนนั้น บางคนเดินทางมา พ.ศ. 2470 บางคนมาก่อนหน้านั้น บางคนย้อนอดีตครอบครัวกลับไปได้ถึงสมัย ร.3 นี่เป็นจุดหนึ่งที่เขาจะได้เห็นว่าตัวเขามีที่ทางอยู่ในความหลากหลายและความซับซ้อนของอดีต

ถ้าถามว่าประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา มันเชื่อมโยงกับเขายังไง ผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมโยงอาจไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นลูกหลานโดยตรงของบรรพบุรุษที่เกิดในสมัยนั้น แต่ทำไมกันนะ หลักสูตรหรือหนังสือเรียนถึงอยากให้เขารู้เรื่องนี้ ผมพยายามชวนเขาคิดว่า เพื่อจะเป็นคนไทยที่ดี เรารู้เรื่องอื่นได้มั้ย ถ้าไม่ได้ ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ เพราะฉะนั้นในวิชาประวัติศาสตร์เทอม 2 ผมจะชวนเขาคิดเรื่องความเป็นคนไทย เริ่มจากลองตั้งคำถามง่ายๆ ว่าคนไทยคืออะไร คำว่าไทยจริงๆ สะกดได้สองแบบคือ ‘ไทย’ มี ย.ยักษ์ กับ ‘ไท’ ไม่มี ย.ยักษ์ แล้วในช่วงเวลาต่างๆ ความหมายของคนไทยเหมือนหรือต่างกัน ทำไมในช่วงเวลาหนึ่งเราพูดถึงคนไทยในความหมายของเชื้อชาติ อีกช่วงเวลาหนึ่งเราพูดถึงมันในฐานะที่เป็นประเทศ ในขณะที่ช่วงเวลาหนึ่งเราพูดถึงผู้คน

ผมเปิดเพลงคนไทดำ เปิดคลิปยูทูบที่เขาไปสัมภาษณ์คนไทลื้อ ภาษาถิ่นล้านนา ชวนเขาคิดว่ารู้จักภาษาเหล่านี้ไหม ฟังออกไหม ก็พบว่านักเรียนบางคนฟังออก เขาก็จะเกิดความสับสนว่าทำไมถึงฟังภาษาที่ไม่รู้จักออกอยู่บ้างเป็นบางคำ แล้วมันก็ค่อยๆ คลี่คลายไปว่า ก็เพราะภาษาเหล่านั้นมีรากเดียวกันกับภาษาที่เราใช้ ต่อให้อยู่ในประเทศเราหรือไม่ได้อยู่ในประเทศเรา นั่นแปลว่าคนไทยหรือภาษาไทยในความหมายกว้างอาจจะไม่ใช่ของคนไทยอย่างเดียว อาจจะเป็นของผู้คนที่อยู่นอกเหนือประเทศไทยไปอีก เขาก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วแบบนี้ในประเทศไทยมีแต่คนไทยไหม

พอค่อยๆ สาวจากตรงนี้ไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า เพื่อที่จะเป็นคนไทยที่มีย.ยักษ์ เป็นคนไทยที่ดีในความหมายปัจจุบัน คนที่ออกแบบหลักสูตรมีเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องให้เรารู้ว่าสุโขทัยสำคัญยังไง พอเป็นแบบนี้เด็กจะมีคำถามในใจที่อยากรู้ เช่น เราเติบโตมาในโลกแบบไหน ทำไมเขาถึงสอนเราแบบนี้มาตลอดหลายสิบปี ผมว่าอันนี้คือจุดตั้งต้นที่ทำให้ประวัติศาสตร์ชาติเชื่อมโยงกับเขา มันได้ใช้ ได้เห็น ได้เกิดคำถาม

 

สัมภาษณ์ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ภาพถ่ายภาคิน

 

ถ้านักเรียนอยู่กับการสอนประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ มาตลอดหลายปี คุณทำอย่างไรให้เขาออกจากความเคยชินเดิมๆ ที่ระบบอยากให้เขาเป็น คุณจะใช้เวลา 4 เทอม สู้กับการเรียนประวัติศาสตร์ในอดีตที่ทำให้เขาไม่ตั้งคำถามได้ยังไง

ผมคิดว่าเด็กโตมาด้วยชุดความคิดแบบหนึ่งเป็นสิบปี เราจะไปกะเทาะเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำได้ในหนึ่งเทอม ผมก็ยับยั้งชั่งใจว่า ไม่เป็นไร ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว ค่อยๆ รอเขา พอเรียนรู้มากขึ้น เขาไปมีประสบการณ์ของตัวเอง เดี๋ยวก็จะเห็นผล

ในเทอมแรก เด็กที่ชอบประวัติศาสตร์บางคนจะมาพร้อมกับไอเดียว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยยิ่งใหญ่มาก เพราะบรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ เวลาพูดว่ารู้จักประวัติศาสตร์อะไรบ้าง ก็มักจะเป็นเรื่องสมเด็จพระนเรศวรกู้กรุง ซึ่งกว่าที่เราจะไปบอกเขาว่าสิ่งนี้มันซับซ้อนกว่านั้นนะ หรือทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อ เหมือนเราต้องไปสู้กับตัวตนของนักเรียน และไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ กลายเป็นว่าเด็กที่มีชุดความรู้เดิมนั่นแหละเป็นความท้าทายว่าเขาจะตั้งคำถามกับความรู้ของตัวเองไหม

วิธีคิดที่ง่ายสุดคือ ครูต้องกล้าที่จะถูกตั้งคำถาม ถ้าเราสอนโดยบอกว่าไม่ต้องเชื่อผมนะ เอาหลักฐานมาให้ดู ชวนให้เขาคิด ต่อให้เขาคิดไม่เหมือนเรา เราก็ไม่ด่าเขา ไม่บอกว่าเขาผิด ทำให้เห็นว่าการตั้งคำถามเป็นเรื่องปกติ ทำให้เห็นว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนเริ่มต้นด้วยคำถาม ไปต่อด้วยคำถาม และจบด้วยคำถาม พอเอาสิ่งนี้ไปอยู่ในบรรยากาศของคลาสเรียน เด็กก็จะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์หรือเรื่องใดก็ตามเป็นเรื่องของการสงสัยก่อนที่จะได้คำตอบ

 

หนึ่งแนวคิดสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของยุคนี้คือ active learning ในวิชาประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาต้องบรรยายเยอะ จะทำยังไงให้คลาสเลกเชอร์กลายเป็น active learning ได้ด้วย

ปัจจุบันคนจะคิดว่าคลาสเรียนที่ดีต้อง active learning ผมก็พยายามถกเถียงว่าคลาสเลกเชอร์เป็นคลาสสำคัญ active learning จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่า คุณ active ไปทำอะไร การให้เด็กลุกขึ้นมาเล่นเกมหรือเต้นรำไม่มีประโยชน์หรอกตราบใดที่คุณไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์ของมันคืออะไร ขณะเดียวกันคลาสเลกเชอร์ก็เป็นคลาสที่ดีได้ถ้าคุณรู้ว่าทำไปทำไม

ผมพยายามทำคลาสเลกเชอร์ให้เป็นคลาสของการชวนคิด คล้ายๆ คลาสที่เราเสนอข้อมูลบางอย่าง เสนอหลักฐานบางอย่าง แล้วชวนคิดว่าเขาจะสรุปเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองว่าอะไร โดยที่เราไม่พูดออกมาว่ามันจริงหรือไม่ ใช่หรือไม่ใช่ เช่น คลาสหนึ่งที่เด็กน่าจะถกเถียงกันสนุกคือคลาสเรื่องศิลาจารึก ผมก็ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันอ่านดีเบตของหลายๆ คน เช่น ดีเบตของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร, อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ และอีกหลายๆ คน บ้างบอกว่าศิลาจารึกอันนี้ของจริงแน่นอน บ้างบอกไม่จริงแน่นอน อีกคนบอกว่าจริงเฉพาะ 18 บรรทัดแรก บางคนบอกว่าไม่ได้ถูกสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ทำในสมัยพระยาลิไท เป็นต้น คือทำให้เด็กเห็นข้อมูลว่าเขาถกเถียงอะไรกัน แล้วนำมาสู่การสรุปในคลาสเรียน ข้อสรุปที่ได้ไม่ใช่การบอกว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่เป็นการถามว่าคุณคิดอย่างไรและเอาหลักฐานอะไรมายืนยันความเชื่อของคุณ รู้ไหมว่าแต่ละคนที่ถกเถียงกันเขาไปศึกษาหลักฐานอะไรถึงบอกว่ามันจริง ศึกษาตรงไหนถึงบอกว่าไม่จริง เด็กก็ต้องทำแบบเดียวกันคืออธิบายได้ว่าความเชื่อของเขาเองมาจากหลักฐานอะไร

ถ้าเราไม่รีบไปบอกว่าจงเชื่อเถอะว่ามันจริง จะทำให้เด็กรู้สึกว่าการตั้งคำถามและความสงสัยเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเรารีบบอกให้เขาเชื่อจะกลายเป็นว่า จงตอบคำถามเถอะ แล้วก็ตอบให้เหมือนฉัน

 

สัมภาษณ์ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ภาพภาคิน ที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์

 

คุณสอนวิชา Game of Thrones ด้วย มันคือวิชาอะไร ซีรีส์ฝรั่งเกี่ยวข้องกับการเรียนได้ยังไง

พี่สุรไกร นันทบุรมย์ ซึ่งเป็นครูวิชาสังคมเหมือนกัน เขาเสนอให้เราลองสอนวิชาแปลกๆ ดู เขากับผมชอบดูหนัง เราเลยคุยกันว่ามีอะไรที่พอจะทำร่วมกันได้บ้าง เขาก็ไปเห็นว่าตอนนี้มีการสอนวิชา Game of Thrones ในต่างประเทศ เราก็เลยลองดูว่าถ้าเราสอนในบริบท ม.ปลาย จะเป็นไปได้แค่ไหน สิ่งที่ทำในคลาสก็คือพยายามจะโยงหนัง ซีรีส์ หรือหนังสือ เข้ากับประเด็นทางสังคมหลายอย่าง เช่น พี่สุรไกรจะสอนเรื่องภูมิศาสตร์ว่าแต่ละอาณาจักรในซีรีส์ เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์อย่างไร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้บ้านเป็นบ้านบนเรือ หรือทำให้คนอยู่เกาะมีวิธีคิดแบบไหน หรือพูดเรื่องศาสนาความเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ใน Game of Thrones ถอดมาจากความเชื่อจริงๆ ในสังคมในปัจจุบันไหม เผ่า Dothraki คล้ายกับความเชื่ออะไรในโลกเราหรือเปล่า

พาร์ทที่ผมสอนผมก็พยายามจะโยงให้เห็นว่า Game of Thrones อาจจะไม่ใช่แค่นิยายที่ไร้สาระ แต่ช่วยให้เราคิดในทางประวัติศาสตร์ หรือในทางการเมืองได้ด้วย เช่น ในคาบหนึ่งผมชวนนักเรียนคิดว่า ตกลงแล้วผู้นำที่ดีเป็นยังไง ในซีรีส์มีตัวละครที่นักเรียนแต่ละคนกรี๊ด Jon Snow, Arya Stark, Cersei, แม่มังกร ผมก็ชวนคุยว่าความชอบเกิดจากอะไร แล้วถ้าต้องมีใครสักคนเป็นผู้นำในชีวิต เป็นผู้นำประเทศ เป็นกรรมการนักเรียน หรือเป็นคนในครอบครัวคุณ คุณจะเลือกใคร

ถึงจุดหนึ่งนักเรียนก็รู้สึกว่า เออเนอะ ตัวละครบางคนก็เป็นตัวละครนั่นแหละดีแล้ว อย่ามาอยู่ในครอบครัวเราเลย หรือบางคนบอกว่าตัวละครอย่าง Ramsey Bolton ที่โหดๆ อาจจะเป็นผู้นำที่ดีได้นะเวลาเกิดสงคราม แต่มีคนแย้งว่า ไม่ คนแบบนี้ในยามสงครามน่ะจำเป็น แต่ในเวลาปกติไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเพราะผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็จะเห็นว่าความเป็นผู้นำขึ้นอยู่กับบริบท คุณเอาผู้นำไปนำอะไร นำประเทศก็แบบหนึ่ง นำประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็แบบหนึ่ง นำประเทศที่เข้าสู่สงครามก็แบบหนึ่ง นำประเทศซึ่งเป็นเผด็จการก็แบบหนึ่ง

 

การตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์

 

มีประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่โรงเรียนไม่ได้สอน ไปแตะไม่ได้ หรือถูกอธิบายไว้เพียงสั้นๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองไทย ขณะที่นักเรียนก็ตั้งคำถามและต้องการคำอธิบายต่อเรื่องต่างๆ มากขึ้น คนเป็นครูควรทำอย่างไรดี

มีประวัติศาสตร์ที่คุณไม่อยากสอนหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องสอน แต่เด็กไม่ได้อยู่กับคุณทั้งชีวิต ผมเจอเด็กแค่หนึ่งคาบต่อสัปดาห์ ถ้าคิดชั่วโมงทั้งหมดเป็นเปอร์เซ็นต์ ผมเจอเขาแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของเวลาชีวิตทั้งหมดของเขา สิ่งที่เด็กไปเจอและใช้ชีวิตจริงๆ คือโลกข้างนอกโดยเฉพาะโลกออนไลน์ ซึ่งประวัติศาสตร์พวกนั้นไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ผมเลยคิดว่าถ้าคุณคือครูที่อยากสอน คุณโชคดี เพราะโลกข้างนอกโรงเรียนมีเครื่องมือมากมายในการเรียนรู้ คลิปวิดีโอ เว็บไซต์ หนังสือ บทความ เป็นความรู้ที่เด็กใกล้ชิด

แต่ถ้าครูไม่อยากสอนและรู้สึกว่าเรื่องราวแบบนั้นไม่ควรให้นักเรียนรู้ คุณโชคร้าย เพราะนักเรียนมีชีวิตของเขา คุณไม่สามารถจับเขาใส่กรงขัง สุดท้ายเขาก็จะไปรู้อะไรบางอย่างซึ่งต่อให้คุณพยายามแค่ไหนก็ปิดเขาไม่ได้ จริงไม่จริง ถูกไม่ถูกเป็นอีกเรื่อง แต่ปัญหาคือพอเขาไปรู้แล้วคุณไม่อยากสอนหรือไปด่าเขา เขาก็จะเชื่อสิ่งนั้นมากขึ้นและรู้สึกว่าคุณเป็นศัตรู โดยไม่ได้แก้ปัญหาว่าตกลงสิ่งที่เขารู้จริงหรือไม่จริง แต่ถ้าคุณฟังเขาว่าเขาไปรู้อะไรมา พูดคุยและรับฟังเหตุผลจากเขา อาจจะเอาหลักฐานไปโต้แย้งโดยย้ำกับเขาว่าไม่ต้องเชื่อครูแต่ลองไปคิดดูนะ จะทำให้เขาทบทวนความรู้ที่ได้จากโลกออนไลน์ว่ามีอะไรบ้างที่ถูกหรือไม่ถูก จริงหรือไม่จริง

นักเรียนของผมคนหนึ่งที่เรียนจบไปแล้วทักผมมาในทวิตเตอร์ บอกว่าเขาไปอ่าน thread ที่แฉประวัติศาสตร์ไทยมา เขามาถามผมว่าจะรู้ได้ยังไงว่าจริงมั้ย ผมคุ้นๆ ว่าเคยเรียนกับครู พอมาพูดคุยกันเขาก็ได้เห็นว่า thread นั้นก็ไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะบอกว่าผิดเลยก็ไม่ใช่ เพียงแต่มันด่วนสรุปไปมากเลยในหลายๆ ข้อความ เขาก็จะเริ่มเห็นว่าการใจเย็นๆ ก่อนเชื่อในข้อมูลมันสำคัญนะ แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดแน่ถ้าผมเป็นครูที่บอกว่า เชื่อครูสิว่าโกหก ไม่จริงแน่นอน จะไม่มีเด็กมาถามผมหรอกว่าครูคิดว่ามันจริงหรือไม่จริง มีข้อมูลอะไรบ้าง ผมอยากรู้ ส่งหนังสือให้ผมหน่อย ผมว่าจุดนี้มันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคุณฟังเขาเยอะๆ อย่าเพิ่งไปตัดสิน

สักวันตำราเรียนก็จะหายไป อาจจะไปอยู่ในโลกออนไลน์ อาจจะมีคนทำตำราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็น virtual reality แต่มันก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งจากโลกทั้งหมดของนักเรียน ผมเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเล่าประวัติศาสตร์ บอกความรู้ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่โรงเรียนพยายามจะบอก ความรู้แบบเดิมซึ่งควบคุมผ่านตำราและทีวีจะค่อยๆ เสื่อม แทนที่ด้วยความรู้ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ต ถ้าครูมัวแต่ไปกังวลว่าเขาจะไปเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต สุดท้ายครูจะตามไม่ทัน แทนที่ครูจะช่วยให้เขากรองความรู้ที่มีอยู่เยอะมาก ครูก็จะไปปิดกั้นสิ่งที่ครูไม่อาจปิดกั้นได้ ประโยชน์ก็ไม่เกิดกับใครเลยนอกจากความสบายใจของเรา

การเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นความจริงในทันทีคือปัญหาใหญ่ที่สุดเลย แม้แต่เชื่อนักวิชาการ บางทีอ่านงานอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) แล้วปลื้มปริ่ม อ่านการตีความของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) แล้วรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ธนบุรีต้องเป็นแบบที่เขาบอกนั่นแหละ คุณจะรู้สึกว่าความรู้คุณถูกแน่นอน คนอื่นมาเถียงต้องไม่จริง เพราะข้อมูลนี้มาจากนักวิชาการที่เป็นด็อกเตอร์นะเว้ย นี่สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาก่อนคนอื่นนะเว้ย ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่ครูควรจะแคร์หรือควรจะระวังไม่ใช่ว่าเด็กจะไปรู้อะไรในโลกออนไลน์ แต่เป็นสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียน ครูระวังไหมว่าเรื่องที่สอนอาจจะไม่จริงก็ได้ สักวันหนึ่งความรู้คุณอาจจะผิด ผมคิดว่าเรื่องนี้อันตรายกว่าโลกออนไลน์เยอะแยะ

 

การเรียนประวัติศาสตร์ โลกออนไลน์ ความรู้ในอินเทอร์เน็ต

 

ถามในมุมนักเรียนบ้าง สมมติมีนักเรียนคนหนึ่งไปถามคุณครูเรื่องประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนไม่สอน แต่คุณครูคนนี้มีจุดยืน มีความเชื่อของตัวเอง จนไม่ต้องการพูดคุยกับนักเรียนที่เห็นต่าง แล้วนักเรียนควรจะทำยังไง

ถ้าเป็นแบบนี้ผมมองโลกในแง่ร้าย ผมให้กำลังใจนักเรียนนะ มุ่งหน้าไปหาอินเทอร์เน็ตเถอะ (หัวเราะ) ถ้าเรารู้ว่าครูคนนั้นไม่พร้อมจะตอบ และไม่พร้อมจะถูกตั้งคำถามจากเรา ก็อย่าไปเสียเวลา

ผมเชื่อว่าโลกไม่ได้เป็นของเขา มันโลกของพวกคุณทั้งนั้น คุณจะมีอนาคตอีกหลายสิบปี มีโอกาสในการสร้างความเป็นไปได้อีกมาก ยิ่งคุณเป็นนักเรียน ยิ่งมีโลกข้างนอกรออยู่ ยังมีความเป็นไปได้มากมายในชีวิตที่คุณจะเป็นอย่างอื่น รู้อะไรจากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ครูที่ไม่พร้อมจะตอบคำถามของคุณ ผมเชื่อว่ามีมนุษย์อีกมากมายพร้อมจะตอบคำถาม เรื่องสำคัญคือต้องระวัง ไม่ว่ามนุษย์ที่ตอบคำถามเราจะเป็นมนุษย์ที่ใจดี น่ารัก หรือน่ากลัวก็ตามที ทุกคนมีอคติ ฟังแล้วคิดด้วยตัวเราเอง สร้างคำตอบของตัวเองให้ได้ แล้วก็เชื่อว่าโลกนี้เป็นของเรา

 

การต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรเป็นการจำกัดอิสระของครูหรือเปล่า

พูดอย่างนี้แล้วกัน หลักสูตรถ้าเขียนดีๆ มัน empower ครู แต่ถ้าเขียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็กลายเป็นกรอบ ในวิชาประวัติศาสตร์ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าหลักสูตรไม่ได้จำกัดเราขนาดนั้นหรือเปล่า ซึ่งผมก็เห็นด้วยในความหมายหนึ่ง ผมเองต้องสอนอิงกับสิ่งที่มีอยู่ในหลักสูตร เพียงแต่ผมเอาไอ้ข้อความเหล่านั้นมาตีความของผม เช่น เขาเขียนว่าต้องทำให้เห็นความสำคัญของสิ่งนี้ เวลาพูดคำว่าความสำคัญ แปลว่าต้องพูดในแง่ดีอย่างเดียวไหม หรือตั้งคำถามกับมันได้ ทั้งนี้ถ้าครูไม่ได้รู้สึกว่าต้องตั้งคำถาม เขาก็จะเดินตามหลักสูตรอย่างตรงไปตรงมา

ถ้าเราอยากให้ระบบการศึกษาเปลี่ยน อยากให้วิธีคิดเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์เปลี่ยน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญที่ต้องเปลี่ยนคือหลักสูตร เช่น ประวัติศาสตร์เรื่องชาติซึ่งดูเหมือนเด็กจะไม่อิน ไม่ต้องตัดออกก็ได้ เก็บมันไว้ แต่ลองเพิ่มความเป็นท้องถิ่นเข้าไปมั้ย ทำให้แต่ละที่เรียนเรื่องราวของผู้คนของเขาเอง ลองใส่คำถามเข้าไปในหลักสูตรมากขึ้น แทนที่หลักสูตรจะเขียนว่าเรียนเพื่อให้เห็นความสำคัญของสิ่งนี้ เปลี่ยนเป็นเรียนเพื่อให้ตั้งคำถามดังต่อไปนี้ คงหลักสูตรแบบเดิมก็ได้ แต่เวลาเขียนตัวชี้วัดเขียนเพิ่มอีกสักเซ็ตหนึ่งว่าต้องตั้งคำถามอะไรบ้าง น่าจะช่วยให้ครูเห็นความเป็นไปได้ของการเรียนการสอน

ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่อาจจะไม่อยากเปลี่ยน แต่สักวันหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็จะไม่ใช่คนนี้ ถ้าผู้ใหญ่กังวล ลองจินตนาการว่าอีกยี่สิบปีตอนที่ลูกคุณเรียนจบแล้วเขาอินเรื่องพวกนี้มาก คุณคิดว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจะมาจากไหน ผมเชื่อว่าจะไม่ใช่คนกลุ่มเดิม มันมาถึงแน่ๆ วันที่คนเริ่มคิดว่านอกจากผลสัมฤทธิ์และตัวชี้วัด ต้องใส่คำถามชวนคิดเข้าไป แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นอาจจะไม่ใช่ในช่วงชีวิตที่ผมและพวกเรายังแข็งแรงอยู่ (หัวเราะ) ผมก็ภาวนาให้ผมทันเห็นนะ ผมคิดว่ามีคนมากขึ้นที่เห็นประเด็นนี้ มีคนต่อสู้อยู่ทั้งในที่ลับและที่แจ้งเพื่อพยายามทำให้มันเปลี่ยน

 

วิชาประวัติศาสตร์ในฝันที่จะให้อิสระครูและสร้างนักเรียนที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกันควรเป็นอย่างไร อะไรบ้างในสิ่งแวดล้อมการศึกษาที่จะต้องปรับเปลี่ยน

เราต้องยอมรับว่าไอ้ประวัติศาสตร์แบบที่เราเรียนกันอยู่ไม่ตอบโจทย์แม้กระทั่งสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี ปัจจุบันทุกคนพูดเหมือนกันว่าเด็กต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะให้เป็น เด็กต้องสงสัย ตั้งคำถาม ช่างสังเกต ทุกคนเห็นตรงกันว่าการเรียนการสอนไม่ควรจะท่องจำ แล้วก็ไปดูว่าหลักสูตรเขียนว่าอะไร พอเด็กคิดวิเคราะห์ คุณก็บอกว่าคิดวิเคราะห์แบบนี้ไม่ได้เพราะคำตอบไม่ตรงกัน สรุปคุณก็ไม่ได้อยากให้เด็กคิดวิเคราะห์ แต่อยากให้เด็กได้คำตอบตรงกันใช่ไหม

ถ้าหลักสูตรการศึกษาอยากจะทำให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็ต้องมีความกล้าก่อนว่า เป็นไปได้นะที่เด็กจะไม่ได้คำตอบตรงกับที่เราอยากให้เป็น ข้อสอบจะออกอะไร โอเน็ตออกอะไร ก็ต้องคิดเยอะหน่อย แต่ถึงจุดนั้นอาจจะต้องออกสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเหตุเป็นผล แทนที่จะออกว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่อย่างไร หรือพอคุณลดการเน้นคำตอบลงแล้วเพิ่มคำถามมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้เด็กเห็นว่า เออว่ะ ไอ้วิชาที่เราเรียนอยู่ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะเพื่อไปสอบ

คณะที่ผลิตครูก็เป็นเรื่องใหญ่ พูดเรื่องหลักสูตรอย่างเดียวก็ไม่พอ สิ่งที่ต้องพูดไปพร้อมกับหลักสูตรคือ คนที่เรียนในคณะที่ผลิตครูและคนที่สอนครูถูกถามได้มั้ย ถ้าครูและคนที่สอนครูยังเชื่ออยู่เลยว่าตัวเองเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักเรียนต้องมากราบไหว้ ยังเชื่ออยู่เลยว่าความรู้ของตัวเองอัปเดตที่สุดแล้วแม้ว่าจะหยุดไปตั้งแต่สงครามเย็น ยังเชื่ออยู่เลยว่าทุกคำถามที่เด็กถามแต่ได้คำตอบไม่ตรงกับเขาเป็นสิ่งที่ผิด เปลี่ยนหลักสูตรให้ตายยังไงก็เท่านั้น เพราะสุดท้ายคนที่ออกไปสอนก็จะถูกเทรนในแบบเดียวกัน ถูกกรอบด้วยวิธีคิดแบบนี้

หัวใจที่ต้องกล้าเปลี่ยนและต้องเปลี่ยนเร็วกว่าชาวบ้านคือคณะที่สอนครู เราพูดกันถึงสิ่งนี้น้อยมาก เราโทษหลักสูตร เราโทษตัวครูเอง เราโทษรัฐบาล โทษรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แต่พูดแฟร์ๆ ที่สุด ครูที่สอนในโรงเรียนมาจากแหล่งเดียวกันทั้งนั้นคือมหาวิทยาลัยหรือคณะที่สอนครู ถ้าคุณบอกว่าครูไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ชวนเด็กตั้งคำถามไม่ได้ คำถามคือแล้วใครสอนเขามา ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้รับภาระผิดชอบน้อยไปหน่อย สังคมตั้งคำถามและเรียกร้องจากเขาน้อยไปหน่อย

บรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นคนผลิตครูขึ้นมา แน่นอน มีคนที่ดี มีคนที่พยายาม แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่คนในสังคมพยักหน้าพร้อมกันว่า เราอยากได้ครูที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ โทษเป็นคนๆ ไปได้มั้ย ก็อาจจะได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่าเขาจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าเรายังเห็นว่ามีครูที่พร้อมจะใช้กำลังและความรุนแรงกับเด็ก คิดว่าฉันตีเธอได้และฉันไม่ผิดกฎหมายด้วย คำถามคือคณะที่สอนครูทำอะไรกันอยู่ เขาได้รับผิดชอบตรงนั้นรึเปล่า

นี่คือสิ่งที่เพื่อนผมที่เรียนจบคณะครูมาพูดกับผม ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดเองด้วยซ้ำ เพื่อนที่จบคณะครุศาสตร์หลายคนบอกว่าสิ่งที่ช่วยให้เขาเรียนรู้และกลายเป็นครูที่ดีในปัจจุบันมาจากวิชาของคณะอื่น ไม่ใช่คณะครุศาสตร์ เขาเรียนวิชารัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เขาถึงได้ทักษะเหล่านี้มา ถ้าคนที่เรียนคณะครุศาสตร์พูดออกมาเอง แล้วอาจารย์ที่สอนคณะครุศาสตร์ทำอะไร เรื่องหลักสูตรมีคนกล้าพูดแล้ว เรื่องนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีคนกล้าพูดหรือพร้อมจะเปลี่ยนแค่ไหน

 

สัมภาษณ์ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน คุณครูภาคิน

 

ปรากฏการณ์ที่นักเรียนออกมาชุมนุม สร้างประวัติศาสตร์ในยุคของเขา ปัจจุบันก็มีทั้งครูที่ต่อต้านและสนับสนุน แต่จริงๆ แล้วคนเป็นครูควรจะทำอย่างไร ควรวางตัวเองลงตรงไหนในประวัติศาสตร์ของนักเรียน

ครูอาจจะต้องถามตัวเองว่าบทบาทของเราคืออะไร บทบาทในฐานะประชาชนก็เป็นแบบหนึ่ง บทบาทในฐานะครูก็เป็นอีกแบบ และต้องถามตัวเองว่าคุณเป็นครูไปทำไม ถ้าคุณตอบว่าเป็นครูเพื่อทำให้เด็กรักชาติ วิธีการที่คุณตบตีเขา มันทำให้เขารักชาติรึเปล่า บางทีคุณอาจจะตั้งคำถามกับสิ่งที่คุณทำน้อยไปหน่อยและเชื่อมากไปหน่อยว่าสิ่งที่คุณทำมันถูก

สิ่งที่เด็กกำลังทำคือพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ของเขาเอง ครูทำได้หลายอย่าง ทั้งสังเกตเขา เอาสิ่งนั้นมาช่วยสอน ถ้าครูเห็นว่าไม่ถูกก็เอามาพูดคุย ลองเสนอแนวทางที่คุณคิดว่าถูก คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับการประท้วง งั้นลองเสนอสิว่าถ้าอยากให้สังคมดีขึ้นทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นสิ่งที่ครูทำได้โดยตอบจุดประสงค์ว่าอยากให้นักเรียนได้ดี

แต่ถ้าคุณเชื่อว่าหน้าที่ครูเป็นอย่างอื่น ผมว่าก็ลองดูครับ ลองทำในสิ่งที่คุณเชื่อแล้วมาวัดกันว่าโลกนี้จะเป็นไปในทางที่คุณเชื่ออีกไหม ส่วนตัวผม ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยน เด็กอาจจะอาบน้ำร้อนมาทีหลังเรา แต่เขาอาจจะอาบน้ำร้อนจนอาบน้ำเย็นแล้ว ส่วนเรายังวนอยู่ในน้ำร้อนอ่างเดิมแล้วก็คิดว่ามันอุ่น

ถ้าหน้าที่ของครูคือการพัฒนาคน เมื่อคุณเห็นเขาเดินไปทางนั้นคุณก็ต้องตามไปดูว่าเขาทำอะไร ถ้าคิดว่าไม่ถูกก็เสนอแนะ แต่ถ้าคุณจะไปห้ามปรามด้วยวิธีรุนแรง ลงไม้ลงมือ ด่าทอเสียๆ หายๆ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ผิดจรรยาบรรณของครูเท่านั้น ถ้าประเทศชาติมีความหวังว่าอยากให้ทุกคนรักชาติ การที่คุณตีเขา ด่าเขาว่าโง่ บอกว่าเขาโดนหลอก คุณกำลังทำให้ประเทศชาติผิดหวังครับ หรือจริงๆ แล้วคุณไม่ได้เป็นครูหรอก คุณเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเด็ก ถ้าเป็นแบบนั้นก็ลดความเป็นครูลงมา บอกเขาว่าคุณคุยกับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พอไปถึงจุดนั้น เด็กจะเห็นว่าถ้าคุณเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็มีความเห็นได้หลากหลาย หรือตั้งคำถามว่าถ้ามนุษย์ทำร้ายเขา เขาฟ้องได้ไหม

ผมยังเชื่อว่าครูจำนวนมากในประเทศอยากเห็นลูกศิษย์ได้ดิบได้ดี แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ความได้ดิบได้ดีในชีวิตของเขาก็มีนิยามเปลี่ยนไป นักเรียนบางคนไม่คิดว่าการได้ดิบได้ดีคือการมีชีวิตบนกองเงินกองทอง บนความเดือดร้อนของคนทั่วไป

 

สัมภาษณ์ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูและนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save