fbpx
รัฐวิเคราะห์ในการศึกษานโยบายต่างประเทศ

รัฐวิเคราะห์ในการศึกษานโยบายต่างประเทศ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

เมื่อต้องปรับมาสอนออนไลน์เพราะถูกสถานการณ์โรคระบาดบังคับ การเรียนของเราเลยจำเป็นต้องมีเอกสารคำสอนเพิ่มเติม เพราะคนสอนคิดแบบเอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่า ในยามที่มีเหตุให้ต้องพะวักพะวนหลายด้านแบบนี้ สมาธิของตัวเองในการนิ่งฟังอะไรนานๆ จะลดลง ถ้าเป็นแบบนี้ การเกณฑ์ให้คนเรียนมาฟังคำบรรยายทีละนานๆ ผ่านจอ ไม่แน่ใจว่าจะดึงความสนใจของคนเรียนได้เพียงไร เพราะขนาดในชั้นเรียนจริงๆ จะทำสำเร็จได้ ก็นับว่ายากแล้ว

ได้ยินเพื่อนอาจารย์ที่ต้องเปลี่ยนมาบรรยายออนไลน์หลายคนเล่าให้ฟังว่า กว่าจะดึงความสนใจของนิสิตไว้ได้ ก็ต้องใช้พลังงานมหาศาลกว่าในชั้นเรียนปกติมาก เลยคิดว่าถ้าเขียนบทเรียนขึ้นมาเป็นเอกสารคำบรรยายไว้ด้วย น่าจะช่วยให้คนเรียนเลือกอ่านในเวลาที่เหมาะ หรือจะไล่อ่านแบบเร็วๆ แล้วย้อนกลับมาหาเวลาอ่านต่ออีกทีก็ทำได้

ในแง่หนึ่ง คนที่ได้ประโยชน์มากเป็นพิเศษจากเอกสารคำสอนแบบนี้กลับเป็นคนสอน/คนเขียนนี่ล่ะครับ เพราะเป็นโอกาสให้ได้เรียบเรียงเนื้อหาที่เคยถ่ายทอดผ่านการอภิปรายและปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนกับคนเรียนออกมาเป็นงานเขียน อะไรที่เคยใช้การถาม-การตอบในชั้นมาเปิดประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อโยงไปหาข้อสรุปต่างๆ  พอเปลี่ยนมาเป็นการเขียนและเรียบเรียงแล้ว ก็ต้องใช้การถ่ายทอดเนื้อหาที่แตกต่างออกไป ช่องโหว่ช่องว่างตรงไหนที่ไม่เคยตระหนักจากการถ่ายทอดแบบบรรยายในชั้น ก็ได้มาเห็นมาตระหนักจากการเขียนการเรียบเรียงนี่เอง

เขียนออกตัวมาแบบนี้ ก็เพื่อจะเรียนท่านผู้อ่านว่า รูปแบบบทความคราวนี้ต้องขอปรากฏในรูปของเอกสารคำบรรยายนะครับ ออกจะผิดที่ผิดทางอยู่บ้าง ต้องขออภัยด้วย

เมื่อได้โอกาสเขียนเอกสารให้นิสิตอ่านประกอบการเรียนทางไกลแทนการฟังบรรยายในห้องเรียน ผมเลยถือโอกาสนี้ รวบรวมความคิดความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับทฤษฎีรัฐวิเคราะห์ของนักวิชาการปัญญาชนฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า ทั้งไทยและเทศ ที่ผมแอบเรียนมาแบบครูพักลักจำ ความจริงอยากเอ่ยนามท่านเหล่านั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะท่านที่เป็นนักวิชาการปัญญาชนชาวไทย แต่เกรงว่าส่วนที่ตัดมานำเสนอนี้จะยังเป็นฉบับย่อ และมีที่ยังผิดและยังพลาดอยู่ไม่น้อย คนเขียนเองก็ยังเห็นช่องโหว่อยู่อีกหลายแห่งที่จะต้องเติมเข้าไปเมื่อมีโอกาสปรับปรุง เลยขอนึกถึงผู้เป็นครูโดยอ้อมเหล่านั้นในใจ ไม่ให้ท่านต้องมารับผิดชอบกับข้อผิดพลาดในเอกสารนี้

แต่ในส่วนที่ถูกหรือเป็นประโยชน์ ก็ไม่ใช่ความดีที่คนเขียนจะรับไว้อีกเช่นกัน เพราะตัวเองไม่ใช่ฝ่ายซ้ายนั้นข้อหนึ่ง และอีกข้อหนึ่ง เมื่อไม่ได้เป็น ในส่วนที่ผมเข้าใจถูกและท่านผู้อ่านเห็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์รัฐ ก็ต้องยกย่องนักคิดฝ่ายซ้ายที่ได้ร่วมกันสร้างอุปกรณ์ชั้นดีจำนวนมากสะสมไว้ในคลังเครื่องมือสำหรับการสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์ ให้คนเรียนในสาขาวิชาอย่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) และนโยบายต่างประเทศศึกษา ได้หยิบยืมมาใช้ในการวิเคราะห์

อนึ่ง เพื่อไม่ให้การเรียบเรียงโดยคนที่ไม่ชำนาญความคิดสายนี้ออกนอกลู่นอกทาง ผมเลือกใช้งาน State, Power, Socialism ของ Nicos Poulantzas (1978) เป็นหลัก และได้อาศัยงานของอรรถกถาจารย์คนสำคัญคือ Bob Jessop ที่ว่าด้วยทฤษฎีรัฐ (1990) เป็นที่พึ่งขยายความเข้าใจ ร่วมกับงานวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองของประเทศในลาตินอเมริกาที่ประยุกต์กรอบความคิดรัฐวิเคราะห์ของฝ่ายซ้ายสายนี้ไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของ Christain Anglade และ Carlos Fortin (1985) ที่ว่าด้วยรัฐกับกระบวนการสะสมทุนในบราซิล และชิลี

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้องขอฉายภาพของนโยบายต่างประเทศศึกษาขึงเป็นฉากหลังเสียก่อนนะครับ เพราะเอกสารนี้เขียนขึ้นมาเพื่อนิสิตที่เรียนวิชากระบวนการนโยบายต่างประเทศ

 

2

 

การศึกษานโยบายต่างประเทศในแวดวง IR แบบดั้งเดิมมีจุดเน้นอยู่ที่การอธิบายการตัดสินใจกำหนดยุทธศาสตร์หรือนโยบายของรัฐเพื่อตอบสนองต่อปัญหาในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ และผลที่ตามมาจากการดำเนินปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐเป็นสำคัญ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายต่างประเทศศึกษามิได้มีทฤษฎีรัฐที่เป็นของตัวเองแต่อย่างใด ถ้าหากการวิเคราะห์จะไม่ใช้ rational actor model หรือ bounded rationality โดยถือว่ารัฐเป็นตัวแสดงหรือหน่วยเอกภาพที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (state as unitary actor) ก็จะเน้นที่ตัวผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจ และข้อจำกัดหลายรูปแบบในทางจิตวิทยาต่อการตัดสินใจแบบใช้เหตุผล หรือมิเช่นนั้น ก็เป็นข้อจำกัดที่มีอยู่ในการทำงานของระบบราชการ ดังปรากฏตัวอย่างในงานคลาสสิกด้านนโยบายต่างประเทศศึกษาของ Graham Allison เรื่อง The Essence of Decision (1971) เป็นต้น

ข้อดีของแนวทางการศึกษาแบบดั้งเดิมคือเปิดโอกาสให้ผู้วิเคราะห์พิจารณาลักษณะปัญหาในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่รัฐนั้นเผชิญอยู่ได้อย่างเต็มที่ และจากการวิเคราะห์นั้น สามารถเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย ตลอดจนแนวทางและเครื่องมือดำเนินนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการตอบสนองโอกาสและข้อจำกัดต่างๆ ที่ปัญหาเหล่านั้นพามากระทบต่อการบรรลุเป้าหมายและการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ออกมาพิจารณาเปรียบเทียบว่า ทางเลือกใด แนวทางแบบไหน จะเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร โดยแนวทางการศึกษานโยบายต่างประเทศแบบดั้งเดิมถือว่า ทุกรัฐต่างก็มีผลประโยชน์ที่ต้องการรักษา ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และคุณค่าความเชื่อที่สังคมนั้นยึดถือ และไม่ว่าจะเป็นรัฐใดสังคมใด ก็ล้วนต้องการสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่เป็นมิตรต่อการรักษาและขยายผลประโยชน์ของรัฐทุกด้านเหล่านั้นเสมอ

แนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศแบบดั้งเดิมได้รับการวิจารณ์ในข้อจำกัดหลายเรื่อง ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติไม่ว่าจะเป็นในด้านใด จำเป็นต้องเปิดออกมาวิเคราะห์ความขัดแย้งและความเป็นการเมืองของมัน มากกว่าที่จะถือไว้อย่างตายตัวว่าทุกรัฐจะคำนึงถึงเรื่องนี้เหมือนๆ กัน และมีความเห็นพ้องกันภายในรัฐเมื่อต้องเผชิญและต้องตอบสนองต่อปัญหาและผลกระทบที่มาจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ

และเมื่อจะต้องเปิดให้เห็นธรรมชาติความเป็นการเมืองที่มีอยู่ในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ การตั้งฐานคติของการวิเคราะห์ที่ถือว่ารัฐเป็นหน่วยหรือเป็นตัวแสดงที่มีเอกภาพก็ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป เพราะการจะมองเห็นความเป็นการเมืองในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ ต้องมองเข้าไปที่ความหลากหลายของการรวมกลุ่ม ของพลังทางสังคม ของการจัดตั้งผลประโยชน์ และขบวนการเคลื่อนไหวที่มีอยู่แตกต่างกัน ตามรูปแบบลักษณะรัฐและตามลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม

ทั้งหมดนี้ในแนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศแบบดั้งเดิมเรียกกันอย่างคลุมๆ ว่า ปัจจัยภายใน ซึ่งถ้าหากไม่มีทฤษฎีสำหรับจับความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของรัฐส่วนต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมของประเทศที่ศึกษาว่ามีรูปแบบและลักษณะอย่างไรแล้ว การศึกษานโยบายต่างประเทศจากมิติภายในก็จะทำได้เพียงระบุรายการของปัจจัยภายในที่ผู้ศึกษาให้ความสำคัญ เช่น การขาดแคลนหรือความมั่งคั่งของทรัพยากร ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์  กำลังทหารและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขีดความสามารถของระบบราชการ กฎเกณฑ์ในกระบวนการตัดสินใจ ความขัดแย้งระหว่างผู้นำ กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเคลื่อนไหวหรือขบวนการทางสังคม สื่อและมติมหาชน ฯลฯ ตามแต่ที่ผู้ศึกษาจะเห็นว่าควรผสมปัจจัยไหนกับปัจจัยไหนออกมาอธิบายนโยบายต่างประเทศที่กำลังศึกษา

แต่เมื่อขาดทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ก็เท่ากับว่าผู้ศึกษา ‘ปัจจัยภายใน’ สำหรับอธิบายนโยบายต่างประเทศขาดกรอบการวิเคราะห์สำหรับพิจารณาและทำความเข้าใจลักษณะความเป็นการเมืองที่มีอยู่ในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ และเมื่อมองอย่างปลอดจากความเป็นการเมืองแล้ว ผลประโยชน์แห่งชาติจึงกลายเป็นของที่เหมือนว่าดำรงอยู่แล้วอย่างถาวร ทุกฝ่ายรู้ได้มองออกอย่างชัดเจนเพราะมีความเห็นและความเข้าใจตรงกัน ว่าอะไรเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ โดยไม่มีคำถามหรือความขัดแย้ง เหลือส่วนที่จะเป็นปัญหาให้ขัดแย้งก็เพียงแนวทางการจัดการหรือดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามผลประโยชน์แห่งชาติที่ถือว่ามีความชัดเจนอยู่แล้วนั้นมากกว่า

แต่ดังที่ประจักษ์กัน ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลักอ้างอิงสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการวิเคราะห์ทางเลือกสำหรับนโยบายต่างประเทศก็จริง แต่มันเป็นหลักที่มีข้อโต้แย้งภายในตัวมันเองอยู่มาก ว่าอะไรเป็น หรือไม่เป็น ผลประโยชน์แห่งชาติ อำนาจหรือสมรรถนะขีดความสามารถแบบไหนและการดำเนินนโยบายเพื่อเป้าหมายอะไรที่จะนับว่าสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้อง กับการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ  ใครเป็นคนที่มากำหนดและใช้กระบวนการอะไรมาพิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติและกำหนดเป้าหมายของนโยบายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ เมื่อข้อถกเถียงภายในมีอยู่มากเช่นนี้ มันจึงเป็นเป็นหลักที่ในตัวของมันเองมีความเป็นการเมืองอยู่สูง

และควรกล่าวด้วยว่า การทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติปลอดจากการเมืองเพื่อปิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และใช้ผลประโยชน์แห่งชาติที่ปลอดความเป็นการเมืองและความขัดแย้งมาเป็นเหตุผลที่จะดึงความเป็นการเมืองออกจากการพิจารณานโยบายต่างประเทศและความมั่นคง เพื่อที่จะแทนที่ด้วยหลัก ‘เหตุผลแห่งรัฐ’ ก็ยิ่งทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติเลี่ยงความเป็นการเมืองไปไม่พ้น

การจะเข้าใจธรรมชาติความเป็นการเมืองในผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ที่ให้กรอบการวิเคราะห์อย่างน้อยในเรื่อง 1. การจัดอำนาจรัฐ 2. รูปการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการจัดและใช้อำนาจรัฐดังกล่าว และ 3. แนวทางที่รัฐนั้นใช้จัดการความขัดแย้ง และจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ท่ามกลางการต่อสู้ ต่อรอง แตกแยก สมัครสมาน ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ที่พัฒนามาในประวัติศาสตร์ของการสกัดและจัดสรรทรัพยากร การป้องกันรักษาชีวิตและทรัพย์สิน การสถาปนาระเบียบและกฎหมาย การผลิตและสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งดำเนินควบคู่มากับ -และได้รับอิทธิพลจาก- ความสัมพันธ์ที่ประเทศนั้นมีกับภายนอกในแต่ละระยะ

ทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐที่จะเปิดความเป็นการเมืองของผลประโยชน์แห่งชาติในการกำหนดนโยบายต่างประเทศออกมาพิจารณา ในทางรัฐศาสตร์ก็มีให้เลือกได้มั่งคั่งพอใช้  ที่ผ่านมา การศึกษานโยบายต่างประเทศเข้ามาวิเคราะห์ ‘ปัจจัยภายใน’ โดยอิงกับทฤษฎีรัฐแบบชนชั้นนำนิยม และกับทฤษฎีรัฐแบบพหุนิยมค่อนข้างมาก ฝ่ายที่อิงกับทฤษฎีรัฐในแบบชนชั้นนำนิยมส่วนใหญ่ ได้แก่ พวกที่วิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางสัจนิยม (realism) ในขณะที่ฝ่ายที่อิงกับทฤษฎีรัฐในแบบพหุนิยมจะได้แก่พวกที่วิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางเสรีนิยมฉบับต่างๆ (liberalism)

ทฤษฎีชนชั้นนำนิยมกับทฤษฎีรัฐแบบพหุนิยมเสนอความเข้าใจความเป็นการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองไม่เหมือนกัน แต่ทั้งสองทฤษฎีและแนวทางที่เป็นคู่หูของมันในการศึกษานโยบายต่างประเทศ ต่างก็ได้รับคำสรรเสริญสดุดีจากทฤษฎีฝ่ายกระแสวิพากษ์เป็นอย่างมาก ว่าทฤษฎีทั้ง 2 ช่วยอำพรางธรรมชาติที่แท้จริงของความขัดแย้งทางการเมืองไว้ใต้ปัญหาความขัดแย้งที่ถูกเสนอออกมาได้ดีมาก

การศึกษานโยบายต่างประเทศจากทฤษฎีรัฐ 2 ฐานนี้จำกัดมุมมองเกี่ยวกับความขัดแย้งไว้ที่ความแตกต่างและการต่อสู้เชิงนโยบายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่รัฐนั้นเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความผันผวนของตลาดโลก แต่จะไม่ได้เปิดให้เห็นความขัดแย้งอันเกิดจากอำนาจครอบงำ และการต่อสู้เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลง ไม่เฉพาะแต่นโยบาย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ตีกรอบครอบงำทางความคิดค่านิยมอุดมการณ์ และตีกรอบจำกัดวงทั้งตัวกระบวนการและความสัมพันธ์เชิงสถาบันในการกำหนดนโยบาย และอำนาจที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนด สกัดยับยั้ง หรือเปลี่ยนนโยบาย

เมื่อเห็นแบบนี้ คนศึกษานโยบายต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ที่ไม่นึกย่อท้อต่อความยากลำบากจากการใช้กรอบการวิเคราะห์รัฐที่ซับซ้อน และต้องการพิจารณาความเป็นการเมืองในผลประโยชน์แห่งชาติที่ไปไกลกว่าที่ทฤษฎีรัฐแบบชนชั้นนำนิยมหรือพหุนิยมจะสามารถไขออกมาให้เห็นได้ จึงได้หันไปพึ่งทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐของนักวิชาการปัญญาชนสายมาร์กซิสต์

เอกสารนี้ขอเสนอตัวอย่างหนึ่งของกรอบรัฐวิเคราะห์จากงานของนักคิดปัญญาชนฝ่ายซ้าย

 

3

 

รัฐวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์

วิเคราะห์คือการจำแนกแยกแยะออกมาพิจารณาเป็นส่วนๆ ตามที่ผมเข้าใจรัฐวิเคราะห์ในงานฝ่ายซ้าย ในจุดตั้งต้นของการวิเคราะห์รัฐ พวกเขาแยกพิจารณาระหว่าง อำนาจรัฐ (state power) กับ กลไกของอำนาจรัฐ (state apparatuses)

ส่วนแรกเป็นการพิจารณาการถืออำนาจปกครองของรัฐว่าอยู่ในการยึดกุมครอบครองของฝ่ายใด หรือส่วนใดของชนชั้นใดในสังคม  และฝ่ายต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวกันเข้ายึดครอบครองอำนาจการปกครองรัฐนี้มีฐานทางสังคมรองรับและยึดโยงกันกว้างขวางเพียงใด เมื่อเทียบกับฝ่ายที่ไม่ได้ครอบครองและอยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง

ดังนั้น การแบ่งที่ซ่อนอยู่ในอำนาจรัฐอีกที คือการแบ่งระหว่างฝ่ายที่ถืออำนาจปกครอง กับฝ่ายที่อยู่ภายใต้อำนาจปกครอง โดยเราต้องตามพิจารณาต่อว่า แล้ว 2 ฝ่ายนี้จัดสัมพันธ์กันอย่างไร

ในส่วนที่สอง อำนาจปกครองรัฐจะเกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยการจัดตั้งองค์กรในเชิงสถาบันและบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในองค์กรเหล่านี้ องค์กรเชิงสถาบันและบุคลากรที่ทำงานในสถาบันของรัฐจึงเป็นส่วนเครื่องมือ หรือเป็นกลไกของการใช้อำนาจการปกครอง และเป็นช่องทางที่อำนาจรัฐจะแสดงออกมาได้ ซึ่งหลักๆ ก็จะได้แก่ ผู้ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

ในรัฐบางประเภท คนกลุ่มที่ยึดกุมและครอบครองอำนาจปกครองรัฐไว้ได้อาจเข้ามาทำงานในภาครัฐในส่วนที่เป็นกลไกหรือเครื่องมือการใช้อำนาจโดยตรง แต่ในรัฐอีกหลายประเภทคนที่ถืออำนาจปกครองไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในกลไกอำนาจรัฐก็ได้

ดังนั้นการพิจารณารัฐในส่วนนี้จึงเป็นการพิจารณาการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ครองอำนาจปกครองของรัฐกับส่วนที่เป็นกลไกและทำงานเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจรัฐ

ในการจำแนกองคาพยพแต่ละส่วนของรัฐออกมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ งานว่าด้วยรัฐของนักวิชาการในสายมาร์กซิสต์อย่าง Nicos Poulantzas (1978) ให้แนววิเคราะห์ที่เป็นระบบและละเอียดยิ่งขึ้น เขาใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ในการพิจารณาจำแนกรูปแบบรัฐในส่วนที่เป็นอำนาจปกครอง และส่วนที่เป็นกลไกอำนาจรัฐ

1. การพิจารณา power bloc

ในกลุ่มอำนาจ (power bloc) ที่ยึดกุมครอบครองอำนาจปกครองของรัฐไว้ได้ ประกอบด้วยใครกลุ่มไหน ฝ่ายใด?  (Poulantzas ให้ดูว่าเป็นชนชั้นไหน หรือเป็นส่วนย่อยในชนชั้นใด แต่ผมขอเลี่ยงไปใช้คำที่กลางๆ กว่านั้น คือกลุ่มหรือฝ่ายแทน แต่ทั้งนี้ก็ต้องใส่ดอกจันเตือนตัวเองเสมอว่า จะต้องไม่ลืมพิจารณาต่อไปถึงลักษณะทางชนชั้นและลักษณะทางสังคมอื่นๆ ของกลุ่มที่รวมตัวอยู่ในกลุ่มอำนาจ)

และดังที่กล่าวมาแล้ว องค์ประกอบฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ใน power bloc นี้ ไม่จำเป็นว่าทุกฝ่ายจะต้องเข้าไปอยู่ใน state apparatuses เป็นคนจัดการหรือทำงานในส่วนที่เป็นกลไกอำนาจรัฐด้วยเสมอไป แต่การทำงานของกลไกการใช้อำนาจของรัฐจะทำเพื่อปกป้องรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอำนาจ

Poulantzas เสนอให้พิจารณากลุ่มอำนาจ หรือ power bloc จาก

ก. ด้านที่เป็นองค์ประกอบภายใน power bloc โดยดูที่กลุ่ม/ฝ่ายต่างๆ ที่รวมตัวอยู่ใน power bloc ที่จะร่วมมือกันหรือขัดแย้งต่อสู้กันอยู่ภายในนั้น และภายในกลุ่มนี้ใครเป็นฝ่ายนำ?

การยอมรับอำนาจการนำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดภายใน power bloc ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้ power bloc มีกลไกจัดการความขัดแย้งภายในและดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาเงื่อนไขให้เป็นอย่างนั้นได้ตลอดไป การรับกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาใน power bloc ต้องการการจัดสรรอำนาจ การไกล่เกลี่ยความสัมพันธ์และผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มใน power bloc กันใหม่ ซึ่งอาจสร้างความตึงเครียดภายในขึ้นมา หรือความตึงเครียดอาจเกิดขึ้นจากฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่ายใน power bloc เห็นว่าฝ่ายที่ครองอำนาจนำอยู่นั้นไม่ได้ช่วยรักษาผลประโยชน์โดยรวมของ power bloc ไว้ได้ หรือหมดพลังในเชิงอุดมการณ์ที่จะสร้างความชอบธรรมของ power bloc โดยรวมต่อไป

การหาทางแทนที่อำนาจการนำเดิมอาจสร้างความแตกแยกขึ้นมาได้ในรัฐส่วนที่เป็นหัวใจของการถืออำนาจปกครอง เป้าหมายอย่างหนึ่งของการปฏิวัติ จึงคือการหาทางทำลายหรือรอเวลาที่เอกภาพในกล่องดวงใจของรัฐนี้จะแตกทลายลงจากความขัดแย้งตึงเครียดภายใน power bloc หน้าต่างแห่งโอกาสของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นเช่นนั้นขึ้นมา แต่หน้าต่างแห่งโอกาสที่ว่านี้ไม่ได้ให้หลักประกันว่าผลลัพธ์ของการปฏิวัติจะลงเอยได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรในทางไหนโดยแน่ชัด ผลลัพธ์ของการปฏิวัติอังกฤษ การปฏิวัติอเมริกา ต่างจากผลลัพธ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย และการปฏิวัติจีน และเช่นเดียวกัน  ความล้มเหลวของขบวนการปฏิวัติในจังหวะที่หน้าต่างแห่งโอกาสเปิดให้ ดังที่เกิดขึ้นในหลายๆ แห่ง ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ข. คนที่อยู่ภายใต้หรืออยู่ในอำนาจปกครองให้การยอมรับอำนาจการนำ (hegemony) ของกลุ่มอำนาจที่เป็น power bloc เพียงใด?

ดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญคือผลประโยชน์ของ power bloc ที่รัฐในส่วนที่เป็น state apparatuses จะต้องรักษาและหาทางประมวลออกมาให้เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกันนั้น เป็นที่ยอมรับหรือครองความคิดจิตใจของคนที่อยู่ภายใต้การปกครองได้อย่างกลมกลืนกันสนิทมากเพียงใด การครองสถานะ hegemony ของ power bloc ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและข้อตกลงหรือมติการตัดสินใจที่เกิดตามมาไม่เป็นผลทำให้กลุ่มอำนาจใน power bloc สูญเสียสิทธิอำนาจและการได้ความยอมรับจากคนนอก power bloc ที่อยู่ใต้การปกครอง

ฐานสำหรับการสร้างอำนาจการนำของ power bloc เพื่อให้คนนอกที่อยู่ภายใต้การปกครองยอมรับ ที่สำคัญ มีอยู่ด้วยกัน 3 ฐาน

ฐานแรกที่เป็นพื้นฐานที่ต้องมีและรัฐต้องผูกขาดการใช้และความชอบธรรมที่จะใช้ แต่ไม่ควรแสดงชัดและยิ่งไม่ควรใช้บังคับออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ก็คือ กำลังความรุนแรง นั่นเอง

ฐานที่ 2 ที่ power blocใช้สร้างอำนาจการนำคือค่านิยมอุดมการณ์ที่ให้ความหมายแก่การทำความเข้าใจข่าวสารและความเป็นจริงรอบตัว ถ้ากำลังความรุนแรงในฐานแรกเป็นเรื่องรัฐควรจะผูกขาดไว้ให้ได้ตามนิยามรัฐแบบ Weber ค่านิยมอุดมการณ์และในฐานที่สองที่ power bloc จะใช้สร้างอำนาจการนำไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะสามารถผูกขาดไว้ได้แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่ารัฐจะมีกลไกในมือสำหรับทำงานส่งเสริมค่านิยมอุดมการณ์ที่รัฐสนับสนุน แต่ฝ่ายอื่นในสังคมเสรีหรือภายนอกรัฐนั้นออกไปก็อาจผลิตค่านิยมอุดมการณ์อื่นมาแข่งขัน หรือตั้งคำถามท้าทายค่านิยมอุดมการณ์ของรัฐได้

ฐานที่ 3 ได้แก่การจัดสรรหรือการกระจายผลประโยชน์ทางวัตถุ เกียรติยศ หรือคุณประโยชน์ด้านที่เป็นสวัสดิการหรือสังคมสงเคราะห์รูปแบบต่างๆ ให้แก่คนที่อยู่วงนอกกลุ่มอำนาจที่เป็น power bloc

กลไกรัฐในการทำงานทั้งสามฐานนี้อาจแยกกัน หรือบางกลไก เช่นกองทัพไทย ก็ทำงานทั้ง 3 ฐานไปพร้อมกันเพื่อส่งเสริมการรักษาอำนาจการนำของ power bloc แต่สัมฤทธิผลของการจะรักษาอำนาจการนำไว้ได้หรือไม่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อีก

ค. รูปแบบการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมเป็นอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐกับเศรษฐกิจ และกลไกในเชิงสถาบันในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และ รัฐกับพลเมือง ที่ลากเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สาธารณะที่อธิปไตยปวงชนเป็นใหญ่ กับพื้นที่ส่วนตัวที่อัตตาณัติของปัจเจกบุคคลเป็นใหญ่

ตัวแบบของรัฐทุนนิยมที่ฝ่ายซ้ายนิยมใช้จำแนกรูปแบบรัฐจะมาจากลักษณะในส่วนนี้ที่พิจารณาที่การจัดสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาสังคมและพื้นที่ส่วนตัว และในบางกรณี เช่น ของ Poulantzas เขาจะดูพัฒนาการทุนนิยมเป็นขั้นๆ (stages of capitalist mode of production) แล้วจำแนกรูปแบบรัฐไปตามนั้น แต่ในกรณีของไทยการจะใช้ขั้นตอนการพัฒนาของระบบทุนนิยมมาจำแนกรูปแบบรัฐเพื่อทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของสถาบันหลักทางการเมือง เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ พรรคการเมือง ว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร น่าจะมีข้อจำกัดและต้องเสริมด้วยพลังผลักดันด้านอื่นนอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ เพราะพลวัตดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดจาก capitalist mode of production ทั้งหมดเสียทีเดียว

หรือจะกล่าวอีกแบบหนึ่ง คือ พัฒนาการของทุนนิยมไทยเกิดขึ้นในอุปถัมภ์ของรัฐในรูปแบบต่างๆ มากกว่า กลุ่มทุนจึงมิได้ก่อตัวเป็นพลังทางชนชั้นอย่างเป็นอิสระที่จะเข้ามาเป็นคู่ความขัดแย้งหลักและฝ่ายกำหนดพลวัตความขัดแย้งและผลลัพธ์ทางการเมือง แม้ว่าในที่สุด ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนโดยรวมจะได้รับการดูแลโดยนโยบายของรัฐไทยเพื่อการขยายตัวและปรับตัวของทุนมาโดยตลอดก็ตาม

อย่างไรก็ดี รูปแบบการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมอาจก่อให้เกิดวิกฤตความชอบธรรมต่อ power bloc ขึ้นมาได้จากกระบวนการก่อรูปทางสังคม ที่สร้างชนชั้นใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ๆ ภูมิทัศน์ความคิด และปัญหาความขัดแย้งใหม่ๆ ไปในทางที่ปลุกจิตสำนึกหรือเปลี่ยนความคิดจิตใจของคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่นอกวงของ power bloc ให้หันเหออกจากค่านิยมอุดมการณ์หลักของสังคมที่ช่วยรักษา hegemony ของ power bloc มา และเห็นว่าโครงสร้างสถาบันและอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ของ power bloc ไม่เป็นไปในทางเกื้อกูลสอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ฝ่ายอื่นๆ พึงได้รับอย่างเป็นธรรม

นี่เป็นวิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาล ที่รัฐในส่วนที่เป็น state apparatuses ต้องเข้ามาจัดการ ถ้ากระบวนการในกลไกเชิงสถาบันที่มีอยู่ทำงานไม่เหมาะสมไม่เพียงพอหรือไม่มีอยู่เลย วิกฤตนี้อาจขยายกลายเป็นวิกฤตอำนาจรัฐที่ท้าทาย power bloc โดยตรง

เราจึงต้องพิจารณากลไกการใช้อำนาจรัฐด้วยเสมอไปว่ามีองค์ประกอบ มีการจัดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันระหว่างกันอยู่อย่างไร นั่นคือเราต้องพิจารณารัฐในเชิงระบอบพร้อมกันไปกับการพิจารณารัฐที่เป็น power bloc

2. องค์ประกอบและองคาพยพในส่วนที่เป็น state apparatuses

รัฐสมัยใหม่อ้างอิงอำนาจการปกครองจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ในขณะเดียวกันรัฐสมัยใหม่ก็ต้องการกลไกที่ทำงานรองรับการใช้อำนาจรัฐที่มีเหตุผล มีลำดับการบังคัญชา มีการแบ่งบทบาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ อำนาจและความสัมพันธ์เชิงองค์กรที่กำกับด้วยกฎหมาย ไม่กระทำตามอำเภอใจหรือตัดสินใจด้วยการปะปนผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม

ในกระบวนการเปลี่ยนไปสู่รัฐสมัยใหม่จึงต้องพัฒนารัฐในส่วนที่เป็น state apparatuses ขึ้นมา และใช้ตัวแบบของการจัดระบอบการปกครองเป็นตัวออกแบบและกำหนดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันและสิทธิอำนาจระหว่าง 1) ส่วนต่างๆ ภายใน state apparatuses  2) ระหว่าง state apparatusesกับประชาชน และ 3) ความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจใน power bloc

ระบอบการปกครองของรัฐจึงคือการพิจารณารัฐที่การจัดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันและสิทธิอำนาจระหว่างฝ่ายที่ถืออำนาจปกครองไว้ในครอบครอง กับฝ่ายที่ทำงานในกลไกการใช้อำนาจปกครอง และฝ่ายที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ ตลอดจนการจัดความสัมพันธ์เชิงสถาบันและการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจหน้าที่ และการถ่วงดุลกำกับระหว่างกลไกการใช้อำนาจปกครองของรัฐส่วนต่างๆ

เพื่อความเข้าใจและติดตามพัฒนาการและการทำงานของรัฐ ในส่วนที่เป็น state apparatuses เราจึงพิจารณาจากองค์ประกอบและองคาพยพของรัฐในระบอบการปกครองดังนี้

ก. องค์ประกอบของรัฐจากรูปแบบของระบอบการปกครอง ดูได้จาก

– ขนาดและประเภทของตัวแสดงที่ระบอบเปิดให้เข้าสู่การใช้กลไกอำนาจรัฐ

– ช่องทางและวิธีการเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ

– หลักการแบ่งแยกอำนาจและคานอำนาจระหว่างกลไกใช้อำนาจรัฐหลักๆ

– กฎทางการที่ใช้กระบวนการตัดสินใจทางการเมืองกับการมีส่วนร่วม

– กฎเกี่ยวกับภาระรับผิดชอบและการตรวจสอบเอาผิด

– เสรีภาพและข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ข. อัตตาณัติของกลไกอำนาจรัฐในเชิงสัมพัทธ์ (relative autonomy)

การทำงานขององคาพยพส่วนต่างๆ ของ state apparatuses ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในเชิงทฤษฎี และมีประเด็นข้อโต้แย้งตามมาอีกมาก คือ ปัจจัยเรื่อง อัตตาณัติเชิงสัมพัทธ์ ซึ่งสรุปออกมาเป็นสูตรได้ว่า

กลไกอำนาจรัฐที่มีอิสระและมีขีดสมรรถนะเพียงพอที่จะคัดค้านแย้งยันข้อเรียกร้องต้องการเฉพาะกลุ่มของบางกลุ่มบางฝ่ายใน power bloc ได้ เพื่อเลือกทางเลือกที่เหมาะสมกว่าสำหรับแก้ไขปัญหาความชอบธรรมและวิกฤตที่ปัญหาในระบบผลิตขึ้นมา จึงจะพาให้อำนาจของ power bloc ดำรงอยู่ต่อไปได้

แต่ความเป็นอิสระของ state apparatuses มีอย่างสัมพัทธ์ในแง่ที่ว่า การทำงานของมันจะต้องเป็นไปในทางเกื้อกูลต่อการรักษาอำนาจรัฐทั้งในแง่ระบอบ power bloc และวิถีการผลิตทุนนิยม ไม่แปรหรือเสื่อมคลายลงไปในทางที่ทำเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

ปัญหาอัตตาณัติเชิงสัมพัทธ์ของรัฐในงานรัฐวิเคราะห์ของฝ่ายซ้ายจะเข้าใจได้มากขึ้นถ้าอาศัยเครื่องมือจากเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันอย่าง principal-agents มาพิจารณาประกอบด้วย

ปัญหาความชอบธรรมและวิกฤตอำนาจรัฐอาจเกิดขึ้นได้จาก

– กลไกภายในระบอบจำกัดวงในเชิงการจัดสรรคุณค่า และกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากเกินไป หรือยังเป็นสถาบันที่ยังไม่ตั้งมั่นเข้มแข็งพอ ทำให้ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการและข้อเรียกร้อง ตลอดจนปัญหาในสังคมการเมืองและประชาสังคมได้

– กลไกอำนาจรัฐไม่มีอิสระอย่างเพียงพอในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อาจขัดข้อเรียกร้องและความต้องการของ the powers that be ใน power bloc ที่ทำให้กระทบผลประโยชน์ในการรักษาอำนาจปกครองรัฐและความชอบธรรมโดยรวมของรัฐได้

ค. เครื่องมือในการทำงานของกลไกอำนาจรัฐ

ในส่วนที่เป็นกลไกของรัฐในการใช้อำนาจปกครอง รัฐมีและใช้เครื่องมือหลายประเภทในการทำงาน ที่สำคัญ คือ บุคลากร การจัดองค์กรและการแบ่งบทบาทอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรและบุคลากรในเชิงสถาบัน รายได้และงบประมาณรายจ่ายรองรับการดำเนินนโยบาย กฎหมาย ค่านิยม อุดมการณ์ ประเพณี ข้อมูลข่าวสารและความรู้ โครงสร้างพื้นฐานรองรับการสอดส่อง ติดตาม ตรวจสอบดูแล และสื่อสารคมนาคม และที่สำคัญไม่แพ้ด้านอื่นๆ คือ กำลังความรุนแรง

เครื่องมือเหล่านี้บางอย่าง เช่น อำนาจภาษีอันเป็นที่มาของรายได้ และกำลังความรุนแรง รัฐพึงผูกขาดอย่างชอบธรรมไว้ในอำนาจรัฐ หรือต้องเป็นผู้จัดทำจัดสร้างขึ้นมาให้แก่สาธารณะเพราะเป็นสิ่งที่เข้าข่าย public goods ไม่มีใครมีแรงจูงใจจะทำ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในภาครัฐ

เครื่องมือบางอย่างอยู่นอกรัฐหรือพัฒนามาและเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐแต่เพียงลำพัง เช่น ค่านิยม อุดมการณ์ ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ปริมาณของรายได้จากภาษี เป็นต้น

รัฐสมัยใหม่ใช้เครื่องมือที่มีและพัฒนาขึ้นมาเหล่านี้ในสนามทำงานที่อาจแยกได้เป็น 2 ปริมณฑลใหญ่  ตามลักษณะของรัฐสมัยใหม่ คือ สังคมการเมือง (political society) กับประชาสังคม (civil society) เพื่อสกัดและระดมทรัพยากรสำหรับการทำงานของรัฐ เพื่อสร้างระเบียบและเสถียรภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกที่ก่อตัวมาในกระบวนการพัฒนาการเมืองของรัฐ (state formation) และการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการผลิต (social formation)

การก่อรูปของรัฐและการก่อรูปของสังคมที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขจำเพาะของพัฒนาการแต่ละแห่งจะสร้างแนวแยกที่จะเป็นตัวแบ่งฝักฝ่าย การจัดสรรและต่อสู้ในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ขึ้นมาในสังคมนั้น ทฤษฎีฝ่ายซ้ายที่ศึกษารัฐทุนนิยมจะเน้นความสำคัญของการก่อรูปทางสังคมหรือ social formation ว่าเป็นตัวกำหนด major cleavages และ contradictions ภายในสังคมโดยมีแกนอยู่ที่การแบ่งทางชนชั้นและการตระหนักในผลประโยชน์ที่แตกต่างกันทางชนชั้นอันเกิดจากวิถีการผลิต

การทำงานของรัฐตามทฤษฎีของฝ่ายนี้จึงเน้นไปที่การให้หลักประกันและเสถียรภาพสำหรับกระบวนการสะสมทุน และการจัดการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดจากการแบ่งแยกขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงานในประชาสังคม การแก้ไขวิกฤตในกระบวนการสะสมทุนที่ทุนนิยมผลิตขึ้นมา เพื่อรักษาความชอบธรรม ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นที่เป็นผู้ปกครอง และสืบระบบทุนนิยมให้ดำรงอยู่ต่อไป

แต่ในหลายกรณี พัฒนาการในการก่อรูปของรัฐหรือ state formation ต่างหากที่เป็นด้านหลักในการกำหนดภูมิทัศน์ของ major cleavages และ contradictions ในสังคมการเมือง และในปริมณฑลของประชาสังคม เช่น ความขัดแย้งที่ไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางทางชนชั้น หรือไม่ใช่ลักษณะทางชนชั้นมีความโดดเด่นเป็นหลักเหนือกว่าการแบ่งแยกแบบอื่น แต่มีการแบ่งแยกและความขัดแย้งซ้อนกันอยู่หลายลักษณะนอกเหนือจากชนชั้น ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธ์ุ ศาสนา ภาษา พื้นถิ่น เมือง/ชนบท สีผิว อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะ/เพศวิถี  สิ่งแวดล้อม อุดมการณ์และความคิดทางการเมืองในการจัดอำนาจรัฐและระบอบการเมือง

และเมื่อการแบ่งแยกและความขัดแย้งหลักในสังคมมีที่มาจากพลวัตที่เกิดขึ้นในกระบวนการก่อรูปของรัฐ รัฐก็จะเป็นทั้งคู่กรณี เงื่อนไขในความขัดแย้ง เป้าหมายของการต่อสู้ และเป็นกลไกจัดการความขัดแย้งพร้อมๆ กันไป

 

ผมควรบอกในความลงท้ายนี้ด้วยว่า นอกจากเหตุผลด้านวิชาการของนโยบายต่างประเทศศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผมเห็นว่าการเข้าใจลวดลายในกรอบรัฐวิเคราะห์ของนักคิดปัญญาชนฝ่ายซ้ายยังมีประโยชน์สำหรับติดตามการเมืองภายในของไทย ที่พลังของฝ่ายอนุรักษนิยมยังครองอยู่อย่างหนาแน่นจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็เพื่อเข้าใจว่าจากกรอบการวิเคราะห์รัฐแบบนี้ นักคิดปัญญาชนฝ่ายซ้ายจะมองเห็นในจุดไหนอะไรบ้าง ที่ทำให้พวกเขามีความหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่เฉพาะแต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่อย่างที่นักโหราศาสตร์กำลังติดตามจากอิทธิพลดาวมฤตยูจรที่เข้ามากุมลัคนาของดวงเมืองกรุงเทพฯ ที่ราศีเมษในขณะนี้

อย่าถือสาผมนะครับ ผมกำลังจะบอกว่านอกเหนือจากปัจจัยเชิงโครงสร้างแล้ว เทพีแห่งโชคชะตาก็มีความสำคัญไม่แพ้กันว่าเธอจะเลือกอยู่ข้างใคร ถ้าท่านอยากทราบ ก็ลองถามมาเคียเวลเลียนที่ใกล้ตัวท่านเถิด

 


เอกสารแนะนำเพิ่มเติม 

– The Poulantzas Reader: Marxism, Law and the State

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save