fbpx

“เศร้าแล้วเปลี่ยน” ยากันซึม : คู่มือการดูแลผู้สูงอายุสูตรคลายซึมเศร้า

ทำไมคนใกล้ชิดอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนไป?

พ่อที่เคยเฮฮา ก็ไม่ร่าเริงเหมือนก่อน
แม่ที่ช่างพูด ก็ดูเงียบลงกว่าเก่า
คุณปู่ที่เคยยิ้มแย้มก็บ่นน้อยใจลูกหลาน ไม่อยากอยู่อีกต่อไป

เมื่อเห็นคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้

เรามักนึกถึง ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นโรคอันดับแรก

หลายคนคิดว่าภาวะนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ที่มีความเครียดจากการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมที่กดดัน

แต่ในความจริงแล้ว มี ‘ผู้สูงวัย’เป็นจำนวนมากต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า ซึ่งมักถูกละเลย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการปกติทั่วไปของผู้สูงอายุ

อย่ามองข้ามคนใกล้ตัว พวกเขาอาจจะไม่ได้มีความสุขอย่างที่คุณคิด กลับมาสนใจ สังเกต แล้วช่วยกันเปลี่ยน ด้วย ‘ยากันซึม : คู่มือการดูแลผู้สูงอายุสูตรคลายซึมเศร้า’

บ่อยครั้งที่เราปล่อยน้ำตาแห่งความเศร้าของคนใกล้ตัว ซึมเข้าไปในจิตใจของพวกเขาจนท่วมเกินกว่าจะแก้ไข

จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราได้รู้อาการ วิธีเตรียมตัว และคำแนะนำที่ถูกวิธีในการดูแลคนที่ใกล้ชิดที่เรารัก เพื่อเป็นยาแนวป้องกันซึมตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้…

ความเศร้าก็เช่นกัน

ลองสังเกตดูว่าผู้สูงวัยใกล้ตัวคุณมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ อาการต่อไปนี้เป็นคำบอกใบ้ของภาวะซึมเศร้าในเบื้องต้นได้ ตามไปดูกัน

อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวังและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า

เราสามารถแยก ‘ความเศร้าปกติ’ กับ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ได้เบื้องต้นจากการดู ระยะเวลาของอาการ ความถี่ ความรุนแรง อาการที่คนรอบข้างสังเกตเห็น และความรู้สึกของผู้สูงอายุเองถึงความผิดปกติ

มาเข้าใจภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุให้มากขึ้น และหาคำตอบวิธีการคลายเศร้าไปพร้อมๆ กัน

ว่าแต่…ภาวะ ‘ซึมเศร้า’ ในผู้สูงอายุคืออะไร

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ คือ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ลักษณะหนึ่ง มีอาการหลักๆ คือผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเศร้า หรือ มีอาการทั้งสองอย่าง โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกิน การนอน เรี่ยวแรง สมาธิ รวมถึงความรู้สึกที่มีต่อตัวเองร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และพฤติกรรมเช่นนี้ ถ้าเป็นไม่มากนัก อาจเข้าข่าย ‘ภาวะซึมเศร้า’ แต่หากมีอาการมากและกินระยะเวลานาน อาจพัฒนากลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ เกิดความรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่ดีเหมือนเดิม และบางรายที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดหวัง อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

แม้ว่าในปัจจุบัน ทางการแพทย์จะสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มีผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงการรักษา ในบางประเทศอัตราการเข้าถึงการรักษาต่ำกว่าร้อยละ 10

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา ได้แก่ การขาดแคลนงบประมาณ และบุคลากร รวมถึงตราบาปหรืออคติทางสังคมต่อผู้ป่วยทาง จิตเวช เป็นต้น

ที่มา : Depression : Let’s Talk (โรคซึมเศร้า) จาก WHO และกรมควบคุมโรค

ความสำคัญที่ควรตระหนักถึงโรคซึมเศร้านั้นก่อให้เกิดการสูญเสียด้านสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า มีประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 4 ของประชากรโลก

ที่มา : Depression : Let’s Talk (โรคซึมเศร้า) จาก WHO และกรมควบคุมโรค

จำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้นเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 18 ในช่วงปี 2548 ถึงปี 2558 โดยเป็นผลจากจำนวนประชากรโลก และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบโรคซึมเศร้าได้มากในประชากรกลุ่มนี้

ที่มา : Depression : Let’s Talk (โรคซึมเศร้า) จาก WHO และกรมควบคุมโรค

ร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความผิดปกติทางจิตและระบบประสาท (mental or neurological disorder) และในจำนวนนั้น กว่าร้อยละ 7 เป็นโรคซึมเศร้า (depression)

ที่มา : Mental health of older adults จาก WHO

ผู้สูงอายุไทยมีภาวะซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน

จากการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน ในปี 2556 พบว่ามีผู้สูงอายุที่เข้าข่ายมี ‘ภาวะซึมเศร้า’ ถึงร้อยละ 33 แต่ผู้สูงอายุที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ จริงๆ มีประมาณร้อยละ 6

รายงานของ ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะ (2559) พบว่ามีผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนร้อยละ 23 ของผู้สูงอายุที่รับการรักษาในโรงพยาบาล 4 แห่ง ซึ่งมีแผนกจิตเวช

และพบว่ามีผู้สูงอายุไทยในบ้านพักคนชราที่เป็นโรคซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 23 (ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะ (2556))

ที่มา : คู่มือการดูแลผู้สูงอายุสูตรคลายซึมเศร้า จาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

หากท่านพบว่าผู้สูงอายุมีสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ควรพาไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยารักษา หรือบางรายอาจรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งบางครั้งอาจทำได้ยากลำบาก เพราะผู้สูงอายุมักมีอุปสรรคในการเดินทาง

นอกจากการรักษาโดยแพทย์แล้ว ‘ผู้ใกล้ชิด’ หรือ ‘ผู้ดูแล’ จึงมีส่วนสำคัญในการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุให้หลุดพ้นจากภาวะนี้

แต่ก่อนอื่นผู้ดูแลควรสำรวจตัวเองและเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ ดังต่อไปนี้

1. เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดสรรเวลาดูแลผู้สูงอายุ

ผู้ดูแลควรใส่ใจกับการจัดสรรช่วงเวลาดูแลผู้สูงอายุ หากมีภารกิจมาก ควรแบ่งเวลาที่ใช้พูดคุยหรือดูแลผู้สูงอายุออกเป็นหลายช่วง ไม่ควรคิดว่าจะทำให้เสร็จในคราวเดียว หรือใช้เวลามากๆ เพียงครั้งหรือสองครั้ง หรือนานๆ ครั้ง โดยหวังว่าจะได้ผลระยะยาว

ผู้ดูแลควรมีทัศนคติว่า “ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับ จะค่อยๆ ดีขึ้น” เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย มักมีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง และมีหลายฝ่ายคอยช่วยเหลือ

2. ผู้ดูแลสำรวจความพร้อมด้านจิตใจของตนเอง

ผู้ดูแลควรประเมินภาวะจิตใจและอารมณ์ของตนเอง ผู้ดูแลควรมีจิตใจสงบ มีความเมตตากรุณา และอดทนมากเพียงพอ สามารถพูดคุยและปฏิบัติต่อผู้สูงอายุด้วยท่าทีอ่อนโยน ผู้ดูแลควรหาเวลาพักผ่อนทั้งกายและใจ ปลีกเวลาไปหาความสงบให้ตนเองหรือไปพักผ่อนบ้าง เพื่อให้สภาวะจิตใจกลับสู่สมดุล

หากโดยพื้นฐานผู้ดูแลไม่ใช่คนอ่อนโยน หรือไม่อยู่ในภาวะที่ควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้ หรือรู้สึกว่าทำได้แต่ไม่ดีนัก ผู้ดูแลอาจปรับโดยหาที่ปรึกษา หรือฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญ บ่อยครั้งผู้ดูแลอาจมีภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน จึงควรสำรวจตัวเองและรับการรักษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากสงสัยว่าตนเองตกอยู่ในภาวะดังกล่าว

3. ฝึกคิดหาหนทางช่วยเหลือผู้สูงอายุไว้อย่างน้อย 3 ทาง

ลองตั้งคำถามกับตนเองว่า การที่ผู้สูงอายุเศร้าซึม หงุดหงิด หรือเสียใจ เกิดจากอะไร ผู้ดูแลส่วนมากจะทราบคำตอบ เพราะอยู่ด้วยกันมานาน รู้จิตรู้ใจผู้สูงอายุดี

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ อาจเกิดจากตัวผู้ดูแลเองที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ และมักไม่อาจหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลอาจยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ต้องการให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าทำได้ยาก เช่น บอกให้เข้าวัด เตือนให้ผู้สูงอายุเลิกคิดหรือเลิกกังวล ทำให้ผู้สูงอายุไม่คล้อยตามและรู้สึกซ้ำซากจำเจ

ผู้ดูแลจึงควรคิดวางแผนคร่าวๆ ในใจตนเองหลายๆ แนวทางเพื่อเป็นทางเลือก ก่อนที่จะพูดคุยกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้อาจขอคำปรึกษาจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น พี่น้อง ลูกหลาน ญาติ หรือเจ้าหน้าที่ในชุมชน เพื่อเพิ่มทางเลือกที่โดนใจผู้สูงอายุมากขึ้น

4. สำรวจตนเองว่า “เรามีส่วนสร้างปัญหา หรือช่วยแก้ปัญหา”

คนเราย่อมไม่มีผู้ใดดีพร้อม แม้ว่าผู้ดูแลจะเป็นผู้ช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ผู้สูงอายุ แต่บางครั้งผู้ดูแลก็อาจเผลอสร้างปัญหาโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลผู้สูงอายุโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น ผ่านบุคคลที่นับถือ หรือผ่านบุคลากรทางด้านสุขภาพ ย่อมช่วยให้ผู้ดูแลรู้และเข้าใจแนวทางการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

เมื่อเตรียมกายเตรียมใจพร้อมแล้ว มาลองดู “คำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าตามอาการต่างๆ” ที่ถอดบทเรียนจากความรู้แลประสบการณ์ของผู้ดูแล รวมทั้งบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักบำบัด นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ชุมชน และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอื่นๆ กันเลย

(ถอดบทเรียนโดย ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะ รวบรวมใน คู่มือการดูแลผู้สูงอายุสูตรคลายซึมเศร้า จาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.), 2559)

1. ผู้สูงอายุกินอาหารได้น้อยมาก หรือแทบไม่กินเลย น้ำหนักลดลง

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล: 

ผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยลงหรือน้ำหนักลดลง มีโอกาสที่จะขาดสารอาหาร ควรดูแลให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ให้กินอาหารอ่อนโดยเฉพาะกลุ่มแป้งและน้ำตาลเพื่อเพิ่มพลังงาน กินอาหารย่อยง่าย และไม่กระทบต่อโรคประจำตัว

ถ้าผู้สูงอายุเบื่ออาหารควรกระตุ้นให้กินมากขึ้น เช่น กระตุ้นให้กินทีละคำ แต่บ่อยขึ้น

2. ผู้สูงอายุมีอาการเบื่อหน่ายมาก

อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ หรือไม่สนใจที่ดูแลตัวเอง ทั้งที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัว

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล:

พยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำความสะอาดช่องปาก กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย และหากผู้สูงอายุมีปัญหาทางการได้ยิน ควรพบแพทย์เพื่อใส่เครื่องช่วยฟัง หรือหากมีปัญหาด้านการมองเห็น ควรตรวจสายตาและรับการรักษา

หากผู้สูงอายุพูดคุยน้อย ผู้ดูแลควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน โดยใช้คำพูดง่ายๆ เช่น วันนี้หน้าตาคุณแม่ไม่ค่อยสดชื่นเลย มีอะไรอยากจะบอกกับลูกมั้ย เพื่อให้ผู้สูงอายุกล้าที่จะพูดคุย หรือชวนคุยถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข เช่น บอกว่าหากไม่ได้มาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ คงไม่มีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ และคงไม่มีครอบครัวดีๆ อย่างนี้ เพื่อแสดงว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนสำคัญ คำพูดเหล่านี้เป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้คุณพ่อคุณแม่มีกำลังใจมากขึ้น

3. ผู้สูงอายุเมื่อถูกชวนไปไหน ก็ไม่ค่อยอยากไป

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล:

กรณีผู้สูงอายุปลีกตัวจากผู้อื่น ใครชวนไปไหนก็ไม่อยากไป ถ้าปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปลีกตัวมากขึ้น อารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง ควรหากิจกรรมทำ โดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว และค้นหาสิ่งช่วยชูใจ

ในแต่ละวันควรมองหาปัจจัยทางบวก หรือสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุรื่นเริงบันเทิงใจ พิจารณาว่าสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจของผู้สูงอายุมีปัจจัยทางบวกอะไร ทางลบอะไร และควรส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเท่าที่จะเป็นไปได้ในวัยของผู้สูงอายุ โดยอาจสอบถามความสำเร็จที่ผ่านมา ความสามารถ ความชอบ ความสนใจ เช่น บางท่านชอบฟังเพลงเก่าๆ สอบถามความต้องการ เช่น บางท่านอยากไปเยี่ยมญาติ ลูกหลาน อยากพูดคุยสื่อสารกับญาติพี่น้อง หรืออยากฟังธรรมะ

4. ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล:

ควรห้ามผู้สูงอายุนอนกลางวัน แต่ถ้าง่วงมากให้นอนได้ระหว่าง 12.00-14.00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมีปัญหาการนอน และหากตอนกลางคืนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ หากนอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วันขึ้นไป ควรพบแพทย์

5. มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล:

ไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง เพราะจะเกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสัมพันธ์ ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน จากนั้นลดสาเหตุที่ทำให้หงุดหงิด เบนความสนใจ ไปยังเรื่องที่มีความสุข หรืออาจจัดให้พักผ่อนในสถานที่สงบ รับฟังอย่างตั้งใจ อาจจะจับมือและนวดเบาๆ ที่หลังมือของผู้สูงอายุระหว่างคุย จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวได้ และสิ่งที่ควรคำนึงถึงคืออุปสรรคทางสุขภาพของผู้สูงอายุ ทั้งด้านความเจ็บปวดและการรับรู้ เช่น ตาไม่ดี ได้ยินไม่ชัด เนื่องจากปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ดูแลรู้สึกรำคาญใจ เครียด หงุดหงิด และมุ่งมั่นน้อยลง

และหากผู้สูงอายุบ่นว่าไม่สบาย (ทั้งที่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ) ผู้ดูแลไม่ควรพูดตอกย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นอะไร ในทางตรงกันข้ามผู้ดูแลควรสื่อสารด้วยความห่วงใยและให้ความรัก เช่น สอบถามอาการ และเสนอความช่วยเหลือเช่นการบีบนวด เพราะการจับมือหรือบีบมือเปรียบเหมือนการสัมผัสทางใจ การคอยดูแลด้วยความใส่ใจเช่นนี้ เปรียบเหมือนการทดแทนหรือเติมเต็มสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้รับ

6. บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน

เบื่อตัวเองมาก รู้สึกว่าตนไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล:

ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุคิดอยากทำร้ายตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้ดูแลต้องใส่ใจป้องกัน และลองค้นหาสิ่งที่บั่นทอนจิตใจของผู้สูงอายุ ผู้ดูแลควรมองหาว่าผู้สูงอายุมีสิ่งใดที่รบกวนจิตใจ หรือมีเรื่องใดที่ยังค้างคาใจ เช่น มรดก ความทุกข์ทรมานจากสุขภาพ ความรู้สึกกลัว โดยเฉพาะกลัวความตาย กลัวการอยู่ห่างลูกหลาน

ไม่ควรตัดบทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่ แต่ควรมีทัศนคติว่าทุกอย่างย่อมมีหนทางแก้ไขหรือบรรเทาได้เสมอ มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ดีที่สุด โดยบางครั้งอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เสมือนกับการขยายเครือข่ายผู้ดูแลให้กว้างขึ้น จะได้รู้สึกวางใจและมั่นใจมากขึ้น

ถ้ารู้อาการและรู้จักการดูแลผู้สูงอายุที่ซึมเศร้าอย่างถูกวิธี

ความเศร้า..

ก็อาจสามารถเปลี่ยน

เป็นความสุขได้

ที่มา :

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save