fbpx

อรุณยังรุ่งฟ้าอยู่เสมอ : 6 เรื่องของนักการทูตที่ไม่ธรรมดา ‘อรุณ ภาณุพงศ์’

“อรุณ ภาณุพงศ์” อาจเป็นชื่อที่รู้จักกันเพียงในวงการกฎหมายและการต่างประเทศเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ถ้าจะมีแต่คนในวงการทั้งสองที่ตระหนักได้ถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลผู้นี้ตายจากไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

บุรุษผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งอนุญาโตตุลาการประจำศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก, ศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 (กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ), รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เอกอัครราชทูต, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อรุณ ภาณุพงศ์ ได้แสดงให้ปรากฏแก่ตาโลกแล้วว่า เขาใช้เพียงสมองและสองแขนเป็นแกนหลักในชีวิต จนประสบความสำเร็จได้เกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิดได้  ที่สำคัญคือเวลาอันยาวนานในชีวิตของเขาได้ทำงานสนองคุณชาติมาอย่างมากมาย

นี่คือ 6 เรื่องที่จะทำให้คุณรู้จัก “อรุณ ภาณุพงศ์” ผู้ล่วงลับ นักการทูตผู้มีชีวิตที่ไม่ธรรมดา โลดโผนเหลือเชื่อ


อรุณ ภาณุพงศ์
อรุณ ภาณุพงศ์
(15 มีนาคม 2467 – 28 ตุลาคม 2564)
(ภาพจาก ประวัติศาสตร์บอกเล่าฯ)


1. ถ้าเจอเสือ ก็ต้องสู้ดูสักหน

อรุณเกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2467 ที่จังหวัดพัทลุง แล้วย้ายตามบิดาซึ่งรับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มาเรียนที่นี่ และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธในจังหวัดนั้น

บิดาของเขาเป็นนักอ่าน จึงมีหนังสือในบ้านหลายเล่ม อรุณได้อ่านหนังสือของบิดาเหล่านั้นด้วย เช่น เรื่องแฝดอิน-จัน ที่เดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกา หรือเรื่องของ Richthofen นักบินชาวเยอรมัน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการผจญภัยให้เขาได้เป็นอย่างดี และสร้างคำถามขึ้นในใจถึงการได้ไปเมืองนอกบ้าง

เขาค่อนข้างสนิทกับบิดา ด้วยความที่ครอบครัวยากจน หลายครั้งจึงต้องเดินทางด้วยการ ‘เดิน’ ตามรางรถไฟ คราวหนึ่งบิดาปรารภว่า “ลูกต้องไปกรุงเทพฯ เดินตามแสงไต้ไปที่นั่น” โดยให้อรรถาธิบายว่ากรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีแสงสว่างของการศึกษา ของการงาน ดังที่ตัวท่านเองเคยได้ทุนมาเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว

เราเป็นคนจนนะลูก หนังสืออย่างเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ ที่จะพาเราขึ้นไปที่สูงกว่านี้ และแสงสว่างที่นำทางไปสู่ที่สูงนั้นอยู่ที่กรุงเทพฯ” บิดาของเขาขยายความ “วิชาความรู้ที่ได้จากการเรียนหนังสือ ไฟไหม้ก็ไม่หมด โจรมาปล้นก็ไม่ได้

อีกคราวหนึ่งของการเดินตามทางรถไฟนั้น อรุณเล่าว่าด้วยความที่บรรยากาศข้างทางเป็นป่า จึงได้ถามบิดาว่า “ถ้าเสือออกมาเราจะทำอย่างไรครับพ่อ”  คำตอบของบิดา คือ “ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ถ้าจำเป็น ถึงพบเสือก็ต้องสู้สักหน ไม่ว่าจะเป็นหรือตายอย่างไรก็ตาม

นี่เองเป็นคติสำคัญที่มีอิทธิพลมากต่อชีวิตของอรุณ ทั้งข้อคิดสำหรับการศึกษา และการสู้ชีวิต


2. ของฝากจากอินโดนีเซีย

แต่ก่อนที่เขาจะขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพฯ นั้น อรุณเคยออกไปผจญภัยในต่างแดนมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะแผ่มาถึงประเทศไทย มีคนเรือ (เป็นเรือมาซื้อข้าว) จากปัตตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย ที่มาจอดเรือปากทะเลสาบสงขลา ได้ชวนให้เขาขึ้นเรือไปทำงานด้วยกัน ซึ่งได้ค่าตอบแทนสัปดาห์ละ 4 บาท และเขาก็ตอบรับออกไปตามความฝันที่จะได้ไปต่างประเทศ โดยใช้เวลาราว 3 เดือนจึงจะกลับคืนสู่มาตุภูมิ

ทั้งนี้ เขามิได้บอกทางบ้านเลย เพราะกลัวท่านจะไม่อนุญาต แต่เมื่อกลับมาแล้วท่านก็มิได้ว่าขานประการใด ที่น่าสนใจคือ ของฝากจากอินโดนีเซียที่เขาใช้เงินซื้อกลับมาด้วย เพราะมีเวลา 2-3 สัปดาห์ในสุราบายา สุดท้ายเขาตัดสินใจใช้เงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงนั้น ซื้อลิงแสมกลับมา 1 ตัว!

ขากลับบ้าน ด้วยความที่ยังเด็กอายุราว 13 ปี ก็ไม่รู้จะซื้ออะไร ก็ซื้อลิงตัวหนึ่ง ไอลิงตัวนั้นมันก็แปลก ผมเห็นมันฉลาดดี มันเป็นลิงแสม แต่แทนที่หัวมันจะแหลม หัวมันกลับกลมๆ ขนสั้นเลี่ยนคล้ายๆ กับหวีแสก ผมเห็นก็ชอบมัน ก็ซื้อมาเลี้ยง


3. เรียนหนังสือเพราะอยากไปเมืองนอก

อรุณเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนบพิตรพิมุข โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรู้จักของมารดาฝากให้อยู่วัดจักรวรรดิซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนอาชีวะของเขา ที่สอนทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น

เขาเลือกเรียนภาษาเยอรมันด้วยเหตุผลว่า คนที่ได้ที่ 1 ของที่นี่ในแต่ละปีจะได้รับทุนการศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี และอรุณก็เรียนได้ที่ 1 มาตลอด แต่พอถึงเทอมที่ 3 ปรากฏว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถเดินทางไปเยอรมนีได้ ดังตัวอย่างนักเรียนทุกรุ่นพี่ของเขาอย่าง ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ที่เดินทางไปติดอยู่ที่แมนจูเรีย แล้วต้องย้ายไปญี่ปุ่นแทน

ความฝันที่จะได้ไปเรียนเมืองนอกจึงยังต้องรอต่อไป อรุณจึงเบนเข็มมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (รุ่น 4) เมื่อ พ.ศ. 2485  ด้วยความที่ฐานะยากจน หลายครั้งทำให้ไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าวกลางวัน ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า

ราคามันไม่เท่าไหร่หรอก แต่เรามันไม่มี เวลาพักเที่ยงคนอื่นเขาออกมาซื้ออะไรๆ กินกัน เราก็มานั่งในห้อง เมื่อเราไม่รู้จะทำอะไร ก็เอาหนังสือมาพลิกๆ ดูๆ เพื่อนมันก็เห็นว่าผมขยัน  ทีนี้พลิกไปพลิกมา ความจริงสมาธิไม่ค่อยมี เพราะหิว แต่นานๆ เข้ามันก็เคย…ความสำเร็จในการเรียนมันก็ได้มาบ้างจากสิ่งเหล่านี้…มันเริ่มจากความขาดแคลนของเรา

เมื่อสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี 2489 แล้ว อรุณสอบเข้ารับราชการได้ที่กระทรวงการต่างประเทศ และโอกาสก็มาถึงเมื่อ พ.ศ. 2491 สำนักงานข้าราชการพลเรือนเปิดสอบชิงทุน และเขาก็สอบได้ คราวนี้เลือกไปเรียนประเทศฝรั่งเศส เพราะตอนที่เรียนธรรมศาสตร์ อาจารย์หนุ่มที่มาสอนมาดเท่ แต่งกายสมาร์ต ความรู้สูง ล้วนจบจากฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น ดร.ถนัด คอมันตร์  ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล  ดร.ขุน ศรียาภัย  และอาจารย์บุณย์ เจริญไชย

เมื่อได้เรียนตามความฝัน เขาก็ศึกษาอย่างเต็มที่ ได้รับปริญญาการศึกษาชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยปารีส ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ พ.ศ. 2495 และด้านเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2497 และได้รับปริญญาเอกด้านกฎหมาย ในปี 2496 หลังจากนั้น อรุณกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ จนก้าวหน้าตามลำดับ


อรุณ ภาณุพงศ์
ธรรมศาสตร์บัณฑิต ม.ธ.ก. พ.ศ. 2489
(ภาพจาก อาจาริยบูชาฯ)


อรุณ ภาณุพงศ์
ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส พ.ศ. 2496
(ภาพจาก อาจาริยบูชาฯ)


อรุณ ภาณุพงศ์
เมื่อเริ่มชีวิตการทำงาน พ.ศ. 2497
(ภาพจาก อาจาริยบูชาฯ)


4. หน้าห้องจอมพล สฤษดิ์

ในสมัยปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้น ไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นทั้งเจ้านายเก่าที่กรมโฆษณาการ และอดีตอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ของอรุณ แนะนำงานให้เขาจนได้ไปนั่งทำงานหน้าห้องให้จอมพล สฤษดิ์

ทั้งนี้เพราะอรุณเก่งวิชาชวเลขที่ได้ติดตัวมาจากธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นเสมียนในกรมโฆษณาการที่มีไพโรจน์เป็นอธิบดี ไพโรจน์เคยบอกหนังสือให้เขาจดตามจนออกมาเป็นตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ และเคยทำงานสำนักเลขาธิการพฤฒสภาที่มีไพโรจน์เป็นเลขาฯ มาแล้ว

อรุณเคยเล่าความทรงจำถึงการทำงานช่วงหลังกึ่งพุทธกาลว่า คราวหนึ่ง จอมพล สฤษดิ์ต้อนรับ Kenneth T. Young ทูตอเมริกัน โดยใช้นักเรียนเวสปอยต์มาแปลให้ และมีอรุณเป็นคนจดบันทึกการสนทนา เพราะตอนนั้น ไทยต้องการเอาทองซึ่งฝากไว้ที่ญี่ปุ่นคืนมาเป็นทุนสำรอง ด้วยเหตุที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกายึดทองคำเหล่านั้นไว้ เจรจาระดับทูตก็แล้ว รัฐมนตรีก็แล้ว อเมริกาก็ยังไม่ยอมคืนให้เสียที จอมพล สฤษดิ์จึงขอเจรจาด้วยตนเอง

แม้อรุณจะไม่ได้เล่าถึงผลของการเจรจา แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่วิธีการเจรจาของจอมพลผู้นั้น คือเมื่อเจรจาไปถึงจุดหนึ่ง สฤษดิ์บอกว่า “นายยังเอ๋ย” นักเรียนเวสปอยต์แปลว่า “มิสเตอร์ยัง” สฤษดิ์หันขวับไปถามว่า “เอ๋ย ทำไมมึงไม่แปล”  และพอนายยังกลับไปแล้ว สฤษดิ์บอกกับนักเรียนคนนั้นว่า “ไอ้ที่กูบอกว่า เอ๋ย เนี่ย กูเตือนมัน นี่มึงเรียกมันอย่างเคารพว่า คุณยัง มิสเตอร์ยัง มึงจบมาได้ยังไงวะ


5. รู้หลายภาษา แต่เก่งภาษาเดียว

อรุณเป็นคนมีอารมณ์ขัน เขาเคยเล่าว่าตอนสอบสัมภาษณ์ชิงทุน ก.พ. หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ถามเขาว่า “คุณรู้ภาษาฝรั่งเศสดีหรือที่เลือกไปเรียนฝรั่งเศส” เขาตอบไปตามจริงว่า “ผมรู้พอๆ กับภาษาอังกฤษครับ” เคราะห์ดีที่คุณหลวงไม่ได้ถามต่อ และคงจะพอใจในคำตอบ เขาจึงได้ไปเรียนฝรั่งเศสจนสำเร็จผลดังกล่าวข้างต้น

เพราะอรุณบอกว่า ที่ตอบไปว่ารู้ภาษาฝรั่งเศสพอๆ กับภาษาอังกฤษนั้น หมายความว่า “ผมไม่ได้เรื่องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส”

อรุณเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ ได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำอินโดนีเซีย (2515-2516) ประจำสหภาพโซเวียตและมองโกเลีย (2517-2520) ประจำสหรัฐอเมริกา (2520) ประจำฝรั่งเศส ยูเนสโก อัลจีเรีย (2526-2529) อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (2515-2516) อธิบดีกรมการเมือง (2516-2517)  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (2520-2522)  รวมไปถึงผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (2536-2544)

ด้วยเหตุที่เรียนจบจากฝรั่งเศส และต้องทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ จึงเคยมีผู้สอบถามอรุณว่าเขาถนัดภาษาอะไรเป็นพิเศษ เขาตอบว่า “เก่งภาษาเดียวที่แปลได้ทันทีเหมือนล่ามสหประชาชาติเลย … ภาษาปักษ์ใต้ แปลจากภาษากลางเป็นภาษาปักษ์ใต้


อรุณ ภาณุพงศ์
การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย”
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561
(ภาพจาก สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ)


6. ตำแหน่งที่ภูมิใจที่สุด คือ การเป็นทูต

นอกจากราชการประจำในกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ในทางการเมือง อรุณเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2516-2517, 2521-2522) สมาชิกวุฒิสภา (2522-2527, 2529-2534, 2539-2543) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (2522-2523, 2523-2526 และ 2529) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2530)

คติในการทำงานของอรุณ คือ “ผมจะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด” ส่วนตำแหน่งที่เขาภูมิใจที่สุดนั้น คือ “ดีใจที่สุดที่ได้เป็นทูต ตอนเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ดีใจเท่านี้ เพราะรู้สึกว่า การเป็นรัฐมนตรีเป็นได้ง่ายๆ แต่ตอนเป็นทูตต้องใช้เวลาหลายสิบปีจึงจะได้เป็น เพราะฉะนั้น ผมภูมิใจในวิชาชีพมาก

 อรุณเคยกล่าวไว้ว่า ตนเองมีจุดหมายในชีวิตไม่สูงนัก โดยอุปมากับเครื่องบินที่ว่า “ถ้าเราขึ้นบิน แม้จะบินได้ไม่สูงมาก โลดโผนไม่มาก แต่นำผู้โดยสารและนำเครื่องบินจอดลงได้เรียบร้อย ก็คงจะเป็นนักบินที่พอจะใช้ได้  แต่ถ้านักบินบินสูงอย่างไรก็ตาม โลดโผนอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเครื่องบินเอาหัวลงดิ่งพสุธาลงมา จะถือว่าเป็นนักบินชั้นเยี่ยมก็คงลำบาก


ห้องอรุณ ภาณุพงศ์
อรุณในวันเปิด “ห้อง อรุณ ภาณุพงศ์”
ชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
(ภาพจาก ณรงค์ ใจหาญ)


ทางลัดของชีวิต

ถึงแม้อรุณจะตายจากไปแล้ว แต่ “อรุณยังรุ่งฟ้าอยู่เสมอ” ใครอยากรู้จักเขา เพียงอ่านหนังสือ การทูตและการระหว่างประเทศ ซึ่งศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) เพิ่งจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้  นอกจากจะได้รับหลักวิชาและประสบการณ์การทำงานของเขาแล้ว ‘ระหว่างบรรทัด’ ยังแสดงถึงนิสัยใจคอ วิธีการมองโลก และการใช้ชีวิตของบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

อรุณเองก็เคยกล่าวไว้ทำนองนี้ว่า “การอ่านเป็นวิธีสั้นที่สุดที่คนรุ่นนี้จะรับเอาประสบการณ์ของรุ่นเก่าหรือคนอื่นเขาถ่ายทอดมาให้เรา  มันเป็นทางลัดที่สุด ดีที่สุด แม่นยำที่สุด  หนังสือที่ผมชอบ คือ หนังสือที่เกี่ยวกับสังคมและศาสตร์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับสังคม


การทูตและการระหว่างประเทศ อรุณ ภาณุพงศ์

อ่านหนังสือ การทูตและการระหว่างประเทศ ได้ฟรี ที่นี


บรรณานุกรม


อรุณ ภาณุพงศ์
อรุณ ภาณุพงศ์ (ซ้าย) ประชุม โฉมฉาย (ขวา) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557
(ภาพจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save