fbpx

101 Visual Journal 2021 : Photojournalism

ย้อนกลับไปตอนสิ้นปี 2020 เราต่างพูดกันว่า “ผ่านปีนี้มาได้ เรารอดแล้ว” แต่หารู้ไม่ปี 2021 นั้นโหดร้ายและท้าทายกว่าปี 2020 เสียอีก

เราเริ่มต้นปี 2021 ด้วยเหตุการณ์รัฐประหารที่พม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีการปะทะกันระหว่างประชาชนและทหาร ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สายน้ำสาละวินมีเสียงระเบิดมาปะปนในช่วงที่ชายแดนตึงเครียดสูง มีผู้อพยพหลบหนีลี้ภัยมาพึ่งพาฝั่งไทย แต่กลับถูกปฏิเสธ

ตามมาด้วยการระบาดของโควิด-19 ในไทยที่ค่อยๆ แผลงฤทธิ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมาระบาดหนักในระลอกสามช่วงปลายเดือนมีนาคม ผสานกับการบริหารของรัฐบาลที่เกิดความผิดพลาดหลายครั้ง ทำให้โรคระบาดนี้เติบโตอย่างยากจะควบคุม วิกฤตนี้หนักหน่วงถึงขั้นที่หลายชีวิตต้องจบลงเพราะความช่วยเหลือเข้าไปไม่ทันการณ์ มาถึงตอนนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโควิดในไทยแล้วราวสองหมื่นกว่าคน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2021)

แต่ในภาวะย่ำแย่ก็มีแสงสว่างเล็กๆ ส่องมา ทว่าเป็นแสงจากประชาชนที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง เช่น กลุ่มเส้นด้าย ที่เป็นเหมือนถังออกซิเจนต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยในยามที่พึ่งพารัฐไม่ได้

ความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดของรัฐ ย่อมส่งผลให้การประท้วงของประชาชนมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การชุมนุมเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ขาดช่วง มากกว่านั้นคือกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ กลุ่มผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นใหม่จากการถูกกดทับจากระบบนี้มานาน จนปะทุขึ้นในช่วงวิกฤตนี้

พวกเขาเรียกรูปแบบการต่อสู้ของตัวเองว่า ‘สันติวิธีเชิงตอบโต้’ การชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สเกิดขึ้นแบบออร์แกนิก ไม่มีแกนนำ แต่อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่แยกดินแดงของกลุ่มทะลุแก๊สก็ถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างหนักหน่วงเช่นกัน มีการใช้แก๊สน้ำตา รถน้ำแรงดันสูง รวมไปถึงกระสุนยาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ดินแดงโดยทั่ว

ในขณะที่ช่วงปีนี้ แกนนำของกลุ่ม ‘ราษฎร’ ผู้นำการประท้วงช่วงปี 2020 ก็อยู่ในเรือนจำมากกว่าอยู่ข้างนอก ทำให้สังคมตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมไทยมากขึ้น จากการตัดสินที่ประชาชนจำนวนมากมองว่าไม่เป็นธรรม จนทำให้ ‘แม่’ ต้องออกมาโกนหัวเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว ‘ลูกชาย’ ที่เพียงแค่พูดในสิ่งที่เขาเชื่อ

ไม่เพียงแค่การเรียกร้องในภาพใหญ่เท่านั้น แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ยังดำเนินไป ชาวบ้านจะนะต้องเดินทางขึ้นมาทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เรื่องนิคมอุตสาหกรรม แต่กลับถูกสลายการชุมนุม สถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่รับใช้ประชาชนมา 105 ปีก็มีข่าวว่าจะต้องปิดตัวลง แม้ภายหลังจะมีการออกมาแก้ข่าวว่าเป็นเพียงการลดบทบาท แต่สังคมก็ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงมาจากโควิด ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน


101 รวบรวม 40 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2021 ปีแห่งวิกฤตชีวิตของผู้คนกับโรคระบาด การเมือง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ป้าเป้า-วรวรรณ แซ่อั้ง เปลื้องผ้าเพื่อประท้วงรัฐบาล ในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าบริเวณแยกนางเลิ้ง ในชื่อกิจกรรม ‘หยุดราชวงศ์ประยุทธ์’ (28 กันยายน 2021)
เจ้าหน้าที่อาสากลุ่มเส้นด้ายกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อนำส่งต่อโรงพยาบาลบุษราคัม หลังจากที่ผู้ป่วยในภาพได้สูญเสียสามีจากการติดเชื้อโควิด-19 (29 กรกฎาคม 2021)
2 กุมภาพันธ์ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ทำการรัฐประหารในพม่า ทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนชาวพม่าอย่างมาก ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้นัดรวมตัวทำกิจกรรมบริเวณหน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย (2 กุมภาพันธ์ 2021)
ผู้ชุมนุมกำลังเผารถบริเวณใต้ทางด่วนบริเวณแยกดินแดง (11 สิงหาคม 2021)
น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านบริเวณชุมชนมัสยิดท่าอิฐ (30 กันยายน 2021)
หลังมีข่าวว่าจะมีการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีหัวลำโพง ทำให้ผู้คนเข้าไปถ่ายรูปที่สถานีเป็นที่ระลึก แม้ภายหลังจะมีการประกาศว่าจะไม่ยุบหัวลำโพงแล้ว โดยจะลดบทบาทสถานีลง แต่คำถามของประชาชนยังคงค้างคาว่า ปลายทางของการลดบทบาทคืออะไร (4 ธันวาคม 2021)
‘ตัวฤทธิ์’ เด็กหนุ่มวัย 14 ปีกำลังมองไปยังค่ายทหารพม่าที่ริมแม่น้ำสาละวิน ในช่วงสถานการณ์ตึงเครียดหลังเกิดรัฐประหารในพม่า เกิดการต่อสู้ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลัง KNU ซึ่งต่อมาค่ายทหารพม่าบริเวณนี้ถูกโจมตีโดยกลุ่ม KNU (7 เมษายน 2021)
ผู้ชุมนุมกำลังเล่นเซิร์ฟสเก็ตในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘กีฬาสีประชาชน vs ทรราช’ (22 สิงหาคม 2021)
เจ้าหน้าที่กำลัง SWAB เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดที่บริเวณชุมชนคลองเตย หลังจากเกิด ‘คลัสเตอร์คลองเตย’ (27 เมษายน 2021)
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้ตลาดนัดรถไฟรัชดาต้องปิดตัวลงชั่วคราว (6 สิงหาคม 2021)
บรรยากาศถนนข้าวสารหลังจากมีคำประกาศล็อกดาวน์ โดยไม่สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้ และไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก (13 กรกฎาคม 2021)
เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้ผู้อาศัยในชุมชนคลองเตยหลังจากเกิด ‘คลัสเตอร์คลองเตย’ (4 พฤษภาคม 2021)
เจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูชุดปฏิบัติการพิเศษโควิด-19 กำลังเคลื่อนย้ายร่างของชายวัย 80 ปี กับน้องชายวัย 70 ปี ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ออกมาจากบ้านพักในซอยประชาสงเคราะห์ 6 ทั้งคู่เสียชีวิตในบ้านพักมาเป็นเวลา 5 วัน โดยมีหญิงสูงอายุนอนเฝ้าศพสองพี่น้องอยู่ (29 กรกฎาคม 2021)
กลุ่มทะลุฟ้าปักธงขอความช่วยเหลือบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมป้ายข้อความ ‘รัฐล้มเหลวประชาชนล้มตาย’ สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการวิกฤตโควิด-19 (18 สิงหาคม 2021)
มีการจัดชุมนุม ‘ครบรอบ 1 ปีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์’ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ โดยม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในพื้นที่การชุมนุมตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (3 สิงหาคม 2021)
ผู้ชุมนุมรวมตัวบริเวณแยกอโศก ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘กินข้าวเย็นไล่เผด็จการ’ ซึ่งจัดโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อยกระดับการชุมนุมขับไล่นายกฯ (2 กันยายน 2021)
ฟ้า-พรหมศร วีระธรรม เผาเกลือขณะที่ไฟกำลังลุกท่วมหุ่นรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการชุมนุมครบรอบ 1 ปี เยาวชนปลดแอก (18 กรกฎาคม 2021)
ตู้คอนเทนเนอร์ถูกวางเพื่อสกัดการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่จะเดินขบวนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ไปยังสวนลุมพินี (4 กันยายน 2021)
ผู้ชุมนุมกำลังนำกระป๋องแก๊สน้ำตาใส่ในขวดน้ำในการชุมนุมของกลุ่ม Free YOUTH ซึ่งมีหมุดหมายจะไปทำกิจกรรมที่หน้าบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ที่แยกดินแดง ซึ่งต่อมาทำให้เกิดกลุ่มทะลุแก๊สและการชุมนุมที่ดินแดงอย่างต่อเนื่อง (7 สิงหาคม 2021)
กลุ่มทะลุแก๊สใช้โล่กำบังเพื่อเข้าประชิดแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (11 สิงหาคม 2021)
ผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวขณะเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิร์ลในม็อบ 17 สิงหา ไล่ล่าทรราช (17 สิงหาคม 2021)
สะเก็ดไฟจากปลายกระบอกปืนกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่นัดหมายชุมนุมกันบริเวณสนามหลวง (20 มีนาคม 2021)
ผู้ชุมนุมถูกยิงโดยกระสุนไม่ทราบชนิดในม็อบ 14 พฤศจิกายน โดยเป็นการเดินไปยังสถานทูตเยอรมันนีเพื่อยื่นต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (14 พฤศจิกายน 2021)
ผู้ชุมนุมกำลังนำผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ในการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง (10 สิงหาคม 2021)
กลุ่มทะลุแก๊สยิงพลุโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน หลังจากการเข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. (8 กันยายน 2021)
เจ้าหน้าที่กำลังมองหาผู้ชุมนุมหลังจากเกิดการปะทะบริเวณถนนประชาสงเคราะห์ ในกิจกรรมอาลัย ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สน.ดินแดง (29 ตุลาคม 2021)
ผู้ชุมนุมชูสามนิ้วแสดงจุดยืนตามข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ในม็อบ 12 ธันวา รณรงค์ยกเลิก 112 (12 ธันวาคม 2021)
มีมี่ กลุ่มเด็กปากแจ๋วประกาศว่าจะโกนผมจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในม็อบขบวนกี V.4 ‘เปลือย’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (9 ตุลาคม 2021)
ธงสีรุ้งผืนใหญ่ถูกเคลื่อนไปพร้อมๆ กับขบวนกี v.4 ‘เปลือย’ (9 ตุลาคม 2021)
ผู้ชุมนุมจำลองการลากศพ ในกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา (6 ตุลาคม 2021)
กลุ่ม #นักเรียนเลว รวมตัวจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู ที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงเรียกร้องให้ปรับทัศนคติของบุคลากรทางการศึกษาที่มีพฤติกรรมเหยียดเพศ (18 มิถุนายน 2021)
ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (11 พฤษภาคม 2021)
ชาวบ้านจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเครือข่ายรวมตัวกันที่หน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อมุ่งหน้าไปปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำประเมิน SEA นิคมอุตสาหกรรมจะนะ (13 ธันวาคม 2021)
‘ราษฎรทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น’ ป้ายข้อความถูกแขวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันครบรอบ ‘89 ปี อภิวัฒน์สยาม’ (24 มิถุนายน 2021)
รอยสักบนแขนของผู้ร่วมกิจกรรมของกลุ่มไทยรักษา โดยเป็นกิจกรรมล่ารายชื่อผู้คัดค้านการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 (7 พฤศจิกายน 2021)
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรีดแขนตัวเองด้วยใบมีดเป็นเลข 112 และมีเครื่องหมายขีดฆ่า เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายมาตรา 112 ในม็อบ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 (31 ตุลาคม 2021)
ผู้ชุมนุมชูเสื้อที่เขียนข้อความ ‘ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่ซาบซึ้ง’ ในม็อบ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 (31 ตุลาคม 2021)
คณะราษมัม-แม่ของแกนนำราษฎรร่วมกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ 112 นาที เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรจากคดีทางการเมือง (13 เมษายน 2021)
แม่และน้องสาวของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพนกวินและแกนนำคนอื่นๆ ที่หน้าศาลอาญารัชดา (29 เมษายน 2021)
แท่งเทียนเขียนข้อความ ‘ยกเลิก 112’ ถูกจุดขึ้นหน้าศาลอาญารัชดาหลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก (9 มีนาคม 2021)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save