ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร รัฐบาลตอบโจทย์เศรษฐกิจถูกเรื่องหรือไม่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหาใหญ่อะไรบ้าง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งผลต่อสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างไร Digital Transformation ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านแรงงานแค่ไหน และทำไมนักเศรษฐศาสตร์ชอบทำงานให้รัฐบาลเผด็จการ
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของคำถามท้าทายเศรษฐกิจไทย ที่ 101 ชวน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ผ่านประสบการณ์ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรระหว่างประเทศ กองทุนข้ามชาติ และแวดวงวิชาการ คอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจของ 101 มาช่วยคิด ช่วยตอบ ช่วย ‘อ่านเศรษฐกิจไทย’
นี่คือมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อันดับต้นของประเทศที่เราไม่อยากให้คุณพลาด
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร หลายหน่วยงานปรับตัวเลข GDP ขึ้น แต่ทำไมคนทั่วไปถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น
ถ้าดูตั้งแต่ต้นปี จะเห็นว่าทุกหน่วยงานปรับตัวเลข GDP ขึ้นหมดเลย ตอนต้นปีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเติบโต 3% ต้นๆ ล่าสุดไตรมาส 2 ก็บวกถึง 3.7% ซึ่งดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ถ้าดูในรายละเอียด จะพบว่าตัวเลขที่ดีขึ้น มาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นหลายเดือนติดต่อกัน ช่วงนี้เป็นช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์ในเกือบทุกประเทศดีขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้มูลค่าการค้าโลกปรับตัวดีขึ้นหมดเลย และส่งผลให้การส่งออกไทยดีขึ้นด้วย
แต่ถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้สึก โดยเฉพาะคนทำธุรกิจ ขายของ ขายอาหาร จะรู้สึกว่ายอดขายของตัวเองยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องอธิบายว่าแม้ฐานตัวเลขที่ว่ามาจะปรับดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการบริโภคหรือยอดขายของทุกร้านค้า จะต้องโตตาม GDP
ผมเคยเขียนอธิบายสถานการณ์นี้ในบทความด้วยคำ 3 คำ คือ ‘แข็งนอก-อ่อนใน’ ‘แข็งบน-อ่อนล่าง’ และ ‘วันนี้แข็ง-แต่วันก่อนเคยแข็งกว่านี้’
ประเด็นแรก แข็งนอก-อ่อนใน เราจะพบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เห็น มาจากความต้องการนอกประเทศทั้งนั้นเลย ก็คือการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ารถยนต์ สินค้าเกษตร ดีขึ้นหมดเลย รวมถึงอีกส่วนหนึ่งที่ดีมากคือการท่องเที่ยว
จากตัวเลขการบริโภคของสภาพัฒน์ ซี่งแยกเป็นการบริโภคของคนไทยที่ซื้อสินค้าไทย กับคนต่างประเทศที่ซื้อสินค้าไทย พบว่าการบริโภคจากต่างประเทศโตกว่า 10% แต่การบริโภคของคนไทยโตอยู่ 2% นิดๆ เท่านั้น ขณะที่การลงทุนก็ค่อนข้างแย่ เราเป็นประเทศที่ขาดการลงทุนมาเป็นสิบปีแล้ว
ถ้าถามว่า เมื่อตัวเลขโดยรวมดีขึ้น ทำไมถึงไม่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจภายในประเทศ คำตอบก็คือภาวะนี้มันเพิ่งเกิดขึ้น จึงยังไม่ส่งผลถึงภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้มันค่อนข้างแย่ อย่างการส่งออกก็ติดลบมาหลายไตรมาสติดกัน พอเริ่มกลับมาดี ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงงานจะรีบไปจ้างคนเพิ่ม หรือเร่งจ่ายโอทีให้คนงานทันทีเพื่อเร่งการผลิต เรายังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (overcapacity) อยู่มาก
อีกประเด็นคือผลจากเศรษฐกิจภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น มันค่อนข้างกระจุกตัวในบางพื้นที่ จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีอยู่ไม่เกิน 10 จังหวัด แปลว่าอีก 60 กว่าจังหวัดที่เหลือ ก็อาจไม่ได้ประโยชน์ไปกับเขาด้วย
ที่บอกว่าภาวะนี้เพิ่งเกิดขึ้น การส่งผ่านเลยยังมาไม่ถึง คำถามคือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยตอนนี้ สามารถการันตีได้ไหมว่าวันหนึ่งมันจะส่งผ่านมาถึง หรือมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของเวลา
เรื่องนี้ต้องกลับไปดูด้วยว่าทำไมเศรษฐกิจภายในประเทศถึงไม่โต สาเหตุก็มาจากสามปัจจัย ปัจจัยแรกคือการลงทุน ซึ่งผมว่าเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งกัน ค่าแรงที่แพงขึ้น และคำถามสำคัญที่ว่าเรายังเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ ถ้านักธุรกิจเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น จะให้เขาไปลงทุนก็คงคิดหนักหน่อย หรือในแง่ความเชื่อมั่นทางการเมือง เดี๋ยวมีนโยบายต่างๆ โผล่มา เดี๋ยวใช้มาตรา 44 คนก็ต้องตั้งคำถามว่าสมควรลงทุนช่วงนี้ หรือควรรอไปก่อนดี
ปัจจัยที่สองคือการบริโภค ซึ่งน่าเป็นห่วงเหมือนกัน หลายคนตั้งคำถามว่าเราอยู่ในช่วงที่การบริโภคชะลอเกินไปหรือเปล่า ตอนนี้ภาวะเงินเฟ้อของเราอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คือ 0.4% ซึ่งไม่เคยต่ำขนาดนี้มาก่อน หลายคนเลยเริ่มจุดประเด็นว่าเงินเฟ้อต่ำเป็นต้นเหตุให้การบริโภคช้าลงหรือไม่ เช่น ถ้าผมอยากจะซื้อทีวี ผมก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะซื้อตอนนี้ดีหรือเปล่า หรือจะรออีกสักสองเดือน เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ถูกลง
ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งขึ้นอยู่งบประมาณในแต่ละช่วง จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐโตค่อนข้างเร็ว เพราะเราทะลวงท่อที่มันตันเอาไว้ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งมันโตเร็วกว่านั้นไม่ได้แล้ว ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มชะงัก จากทั้งรายได้ของภาครัฐเอง หรือจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
ฉะนั้นเราอาจสรุปได้ว่า เศรษฐกิจในประเทศก็มีปัญหาของมันเองด้วย ทำให้ไม่สามารถการันตีได้ว่าเศรษฐกิจภายนอกจะสามารถทำให้เศรษฐกิจภายใน jump start ได้ในทันที
แล้วประเด็นถัดมา ที่บอกว่า ‘แข็งบน-อ่อนล่าง’ คืออะไร
ประเด็นนี้เป็นเรื่องการกระจายรายได้และโอกาส มีจุดที่น่าสนใจหลายอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง เช่น ร้านอาหารจะบ่นกันมากว่าขายไม่ค่อยดี แต่ถ้าเราไปดูร้านอาหารแพงๆ ก็ยังมีคนรอคิวกันเป็นเดือนๆ หรือยอดขายรถยนต์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยุโรปไม่ค่อยตกเท่าไร ในขณะที่ยอดขายรถญี่ปุ่นลดลง สะท้อนว่าคนชั้นกลางที่ต้องพึ่งพิง ‘รายได้’ เป็นหลัก จะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนไหวไปสภาวะเศรษฐกิจด้วย ขณะที่คนชั้นบนจะมีโอกาสค่อนข้างดีกว่า เพราะการใช้จ่ายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับ ‘ความมั่งคั่ง’ ไม่ถูกกระทบเท่ากับคนที่พึ่งพารายได้ ตอนนี้เราจึงเห็นความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
พูดง่ายๆ ว่าการใช้จ่ายของคนระดับล่างจะขึ้นอยู่กับรายได้ เงินเดือน ส่วนคนระดับสูงจะขึ้นอยู่กับทรัพย์สมบัติที่ตนเองมี
ใช่ครับ แล้วการที่ดอกเบี้ยยิ่งต่ำ ยิ่งทำให้ความมั่งคั่งสูง เราเห็นราคาที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐีใหม่ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา ยอดขายของสินค้าราคาแพงก็ยังโตได้อยู่ ในขณะที่ฐานล่างยังมีปัญหาอยู่เยอะพอสมควร แล้วมุมมองนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคล ถ้าเรามองไปที่บริษัทต่างๆ ก็จะเห็นปัญหาเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ยังมีเงินเหลือ มีสภาพคล่องเหลือ ธนาคารแย่งกันปล่อยกู้ให้ ขณะที่บริษัทเล็กๆ มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หลายบริษัทเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้มีแค่ด้านเดียว แต่มีสองด้านคือในแง่ผู้บริโภค และในแง่บริษัท
ถ้าเราย้อนไปดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตขึ้นค่อนข้างเยอะ แต่ค่าจ้างแรงงานแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย การกระจายรายได้ยิ่งมีปัญหามากขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังโต คนจะไม่ค่อยห่วงเรื่องการกระจายรายได้เท่าไหร่ เพราะในขณะที่ขนาดของพายทั้งชิ้นโตเร็วมาก แม้สัดส่วนที่เราได้จะน้อยลง แต่เราก็อาจได้พายชิ้นใหญ่ขึ้นอยู่ดี แต่ถ้าวันไหนพายหยุดโต สัดส่วนที่แต่ละคนได้จะมีความสำคัญมากเมื่อเทียบกับคนอื่น เพราะคนมีโอกาสที่ดีกว่าอาจมาแย่งส่วนแบ่งของเราได้ตลอดเวลา นี่คือปัญหาเรื่องการกระจายรายได้
แล้วประเด็นสุดท้าย ที่บอกว่า ‘วันนี้แข็ง-แต่วันก่อนเคยแข็งกว่านี้’ หมายถึงอะไร
มันอาจเป็นความรู้สึกของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในภาคเกษตร ถ้าเราย้อนไปช่วงปี 2011-2012 ตอนที่เศรษฐกิจดีๆ ราคาสินค้าเกษตรยังรุ่งๆ คนต่างจังหวัดนี่ออกปิ๊กอัพกันเป็นว่าเล่น เศรษฐกิจต่างจังหวัดรุ่งเรืองมากในช่วงนั้น เรียกว่าเป็นยุคทองของภาคเกษตร ราคายาง ราคาข้าว พุ่งสูงมาก ซึ่งภาวะแบบนั้นก็ผ่านไปแล้ว
อย่างราคายาง ช่วงพีคๆ นี่อยู่ที่ร้อยกว่าบาทต่อกิโลกรัมนะครับ แต่ช่วงต่ำสุดนี่เหลือยี่สิบกว่าบาทต่อกิโลกรัม วันนี้ราคายางอยู่ที่ประมาณสามสิบกว่าบาท ซึ่งโตกว่าปีที่แล้วประมาณ 30% แปลว่าถ้านั่งดูปีต่อปี เราก็จะพบว่ามันโตขึ้นตั้ง 20-30% แต่อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งมันเคยขายอยู่ที่ร้อยกว่าบาท หมายความว่าวันนี้ดีขึ้นจริง แต่ยังแย่กว่าเมื่อก่อนอยู่ดี คนเลยไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว
โจทย์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ ถือว่ามาถูกทางไหม ถ้ายังไม่ถูก โจทย์ที่ถูกควรเป็นอย่างไร อะไรคือปัญหาสำคัญและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย
คำตอบนี้ต้องแยกเป็นระยะสั้นกับระยะยาว ระยะยาวเราก็จะเห็นรัฐบาลพูดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ใช่ไหมครับ ถ้ามองในแง่ของโจทย์ ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ถูกต้อง แต่ในแง่ของกระบวนการว่าจะทำยังไง เดี๋ยวผมจะคุยให้ฟังทีหลัง
ส่วนประเด็นระยะสั้น ผมคิดว่าหลายเรื่องก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ถามว่าเศรษฐกิจวันนี้ฟื้นหรือยัง ถ้าดูภาพเศรษฐกิจโดยรวมมันก็ฟื้น แต่พอไปคุยกับหลายๆ คน ทำไมเขาถึงบอกว่าไม่ฟื้น อย่างตัวเลขยอดขายของห้างใหญ่ๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนๆ ยอดขายของปีก่อน ติดลบแทบทุกห้าง ไม่เว้นกระทั่ง 7-11 พูดง่ายๆ ว่ามันชะลอลงเกือบหมด คำถามก็คือตอนนี้รัฐบาลเห็นภาพตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ พอเห็นตัวเลขว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น รัฐบาลก็เลิกสนใจ แต่ไม่ได้กลับไปทบทวนในรายละเอียดว่ามันฟื้นจริงๆ หรือยัง
สมมติว่ารัฐบาลเห็นภาพตรงกับประชาชนแล้ว ทิศทางของนโยบายที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไร
สังเกตว่านโยบายที่รัฐบาลพยายามใช้ มักจะเป็นนโยบายการคลัง ซึ่งภาคการคลังถือเป็นภาคที่เล็กมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ ฉะนั้นคำถามก็คือ นโยบายเหล่านี้ยิงเข้าไปถูกจุดหรือยัง เพราะสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ก็คือ เวลารัฐบาลอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เขาต้องคิดก็คือเราจะใช้จ่ายกับโปรเจ็กต์ไหนดี แต่วิธีที่รัฐบาลใช้ก็คือดึงเอาอำนาจปกครองส่วนท้องถิ่นกลับมาส่วนกลาง แล้วอัดฉีดเงินจากส่วนกลางกลับไปท้องถิ่นใหม่ แต่ปัญหาคือโปรเจ็กต์ที่ยิงลงไปมันไม่ถูกฝาถูกตัว เพราะไม่ได้เกิดจากความต้องการของคนในท้องที่ ทำให้การใช้จ่ายในบางครั้งยิ่งช้าลงไปอีก
นี่เป็นปัญหาของนโยบายด้านการคลัง ในการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น ซึ่งอาจไม่ตรงจุดเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาวะนี้ได้ชัดคือเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ฉะนั้นความท้าทายของการดำเนินนโยบายแบบนี้ จึงอยู่ที่การยิงลงไปให้ถูกจุด
ถ้าเช่นนั้น รัฐบาลลงมือทำอะไรและอย่างไร
ผมคิดว่าควรจะให้มีการกระจายอำนาจการคลังกลับไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น แทนที่จะดึงกลับขึ้นมาสู่ส่วนกลาง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงินที่ใช้ไปมันตอบโจทย์ หลายคนก็บอกว่าต่างจังหวัดโกงกันจะตาย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของการตรวจสอบ วิธีแก้คือเราก็ต้องไปเข้มงวดกับการตรวจสอบมากขึ้น
แล้วเรื่องนโยบายการเงินเป็นอย่างไร
นโยบายการเงินเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการจัดการความเสี่ยง อย่างตอนนี้เงินเฟ้อเริ่มชะลอ เศรษฐกิจชะลอ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อต่ำ คนไม่อยากใช้จ่าย เพราะถ้าเงินเฟ้อต่ำคนก็จะไม่มีความตั้งใจที่จะนำเงินไปใช้ในวันนี้ ภาคธุรกิจก็อาจไม่กล้าซื้อของมาสต็อกเอาไว้ เพราะรู้ว่าราคาไม่ขยับไปไหนแน่ ฉะนั้นภาคเศรษฐกิจในวันนี้ที่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่ำ อาจเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามว่านโยบายด้านการเงินตอนนี้เหมาะสมหรือยัง
ถ้าคุณได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อะไรคือเรื่องแรกที่จะขอให้ท่านนายกฯใช้ ม.44 สั่งการ (อธิคม ถาม)
จะใช้ ม.44 ยกเลิก ม.44 ก่อนเลยครับ (หัวเราะ) คือ ม.44 ที่เขาใช้กันอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องของการพยายามทำอะไรต่างๆ ให้รวดเร็ว พออยากทำให้รวดเร็ว มันก็ขาดการคานอำนาจ แล้วพอใช้บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่อาจกระทบกับนักลงทุน การมี ม.44 ค้ำคออยู่ ทำให้นักลงทุนไม่รู้เลยว่าครั้งต่อไปรัฐบาลจะใช้ ม.44 กับเรื่องอะไร ทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา
ในทางกลับกัน ถ้าเราทำตามกระบวนการปกติ หลายประเด็นมันอาจจะช้าหน่อย แต่อย่างน้อยมันก็ถูกตรวจสอบได้ คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมีกระบวนการที่ชัดเจน สุดท้ายก็นำไปสู่ความมั่นใจในการตัดสินใจที่เพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร เกี่ยวข้องกับการลงทุนของต่างชาติที่ลดลงแค่ไหน อย่างไร
บอกไม่ได้ว่ากระทบแค่ไหน แต่มีผลแน่นอน เพราะรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษอยู่ในมือแล้วสามารถฉีกสัญญาอะไรก็ตามที่รัฐทำกับเอกชนได้ ถือเป็นความเสี่ยงมากสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเขาก็ต้องแน่ใจก่อนว่ามันไม่มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะดึงมูลค่าการลงทุนของเขากลับไป ผมว่าการมีอยู่ของกฎหมายแบบนี้ (ม.44) ทำให้นักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างกังวล
นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ, ประชารัฐ, Start Up, Thailand 4.0 จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ รัฐบาลควรและไม่ควรทำอะไร (วิโรจน์ อาลี ถาม)
สิ่งที่รัฐต้องทำแน่นอน คือการเก็บภาษีจากคนในประเทศแล้วเอากลับมากระจายใหม่ ฉะนั้นการที่รัฐมีสิทธิ์เอาเงินภาษีของประชาชนมาใช้ รัฐก็ต้องแน่ใจด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองใช้ไปนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่า
แล้วหน้าที่ของรัฐคืออะไร ผมว่ามีอยู่ 4-5 ข้อ รัฐมีหน้าที่จัดหาสินค้าสาธารณะ เช่น ถนน การดูแลป้องกันประเทศ หรืออะไรก็ตามที่เอกชนไม่ได้ทำและทำไม่ได้ รัฐมีหน้าที่ในการดูแลเมื่อตลาดล้มเหลว คอยดูว่าอะไรที่จะทำให้ตลาดทำงานไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปแก้ไข รัฐมีหน้าที่ดูแลเรื่องกฎระเบียบต่างๆ รัฐมีหน้าที่ดูแลเรื่องการกระจายรายได้ ดูแลคนที่ขาดโอกาสทางสังคม ฉะนั้นอะไรที่มันไม่ได้อยู่ใน 4-5 เรื่องที่เป็นหน้าที่ที่ชัดเจนของรัฐ ผมว่ารัฐควรจะถอยออกมา แล้วก็อย่าไปยุ่งกับเอกชน สำหรับผมรัฐควรทำตัวให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายและลงทุนของเอกชนให้น้อยที่สุด
แล้วนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ละครับ
ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องคำนิยาม แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน คำถามคือรัฐจะทำอย่างไรให้แน่ใจได้ว่าเอกชนทุกคนจะได้รับโอกาสเดียวกัน ประชารัฐจึงต้องกลับมาทบทวนว่าให้โอกาสเอกชนบางรายมากกว่ารายอื่นหรือไม่ แล้วเอกชนที่ไม่มีโอกาสอยู่ในประชารัฐจะได้รับโอกาสเดียวกันหรือไม่
นักธุรกิจหรือประชาชนทั่วไป ควรวางแผนธุรกิจและวางแผนชีวิตอย่างไรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (อังศุมาลิน บุรุษ ถาม)
เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสามประเด็น ประเด็นแรก ถ้ารู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยมั่นคง ก็ต้องดำรงตนด้วยความไม่ประมาท ต้องรู้จักประมาณตน รู้จักบริหารความเสี่ยงของตัวเอง ถ้าอะไรไม่ชัวร์ก็ต้องคิดพิจารณาหาข้อมูลให้ชัวร์ก่อน ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คิดอะไรไม่ออกก็ลงทุนใช้จ่ายได้ทันที ตอนนี้อาจต้องคิดหนักหน่อย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไป มันมีประโยชน์
ประเด็นที่สอง ถ้าเป็นภาคธุรกิจ คำว่า ‘ผลิตภาพ’ กับ ‘ประสิทธิภาพ’ มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้นแน่นอน หมายความว่าทุกคนต้องเก่งขึ้น ต้องคิดว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด ใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เราผลิตของเท่าเดิมด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด เพื่อให้กำไรกลับมาหาเราเยอะสุด ประเด็นคือนักธุรกิจทุกวันนี้ แทนที่จะไปโฟกัสว่าการเติบโตควรอยู่ตรงไหน ควรมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก แล้วเราพยายามไปขยาย สุดท้ายก็กลายเป็นความเสี่ยงของตัวเอง
ประเด็นสุดท้าย ผมว่าเราอาจต้องใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ด้วยเหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้คืออัตราดอกเบี้ยถูก ค่าเงินแข็ง ถ้าเป็นนักธุรกิจบางคน อาจวางแผนไว้อยู่แล้วว่าอยากจะลงทุน แต่คุณต้องดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทอีกเช่นกัน ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไปมันจะมีประโยชน์กลับคืนมา
GDP เพิ่มขึ้น ส่งออกเพิ่ม แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม เศรษฐกิจข้างล่างซบ ช่างหัวมันได้ไหม ไม่ต้องสนใจ อยู่กันไปเองไม่ได้หรือ / อยากมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ดี ต้องไปหาเงินมาจากไหน จัดการงบประมาณอย่างไร ประเทศไทยจนเกินกว่าจะมีระบบสวัสดิการหรือเปล่า ถึงมีปัญญาแค่แจกเงินแจกบัตร (กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ถาม)
เรื่องความเหลื่อมล้ำ ผมก็พูดไปนิดหน่อยแล้วว่าเราทิ้งไม่ได้ เพราะสุดท้ายระบบเศรษฐกิจมันเกี่ยวพันกันหมด ยิ่งมีคนอยู่ในฐานล่างมากเท่าไหร่ ยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจมาก ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อก็หาย คำถามคือถ้าภาคธุรกิจต้องพึ่งพาตลาดใหญ่ทั้งตลาด แต่กำลังซื้อมันหายไป ภาคธุรกิจเองก็คงเหนื่อยเหมือนกัน
ส่วนเรื่องสวัสดิการ ผมว่าประเด็นนี้สำคัญสุดเลย ถามว่าประเทศจนไปมั้ย ท่านคึกฤทธิ์ก็เคยบอกไว้ว่าถ้าการคอร์รัปชันไม่มี ถนนเมืองไทยก็อาจลาดด้วยทอง แต่ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกครับ ขอแค่ลาดยางที่มีคุณภาพก็เป็นบุญแล้ว (หัวเราะ) ผมว่าประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้เงินนี่สำคัญมาก ต้องยอมรับว่าในระบบราชการไทยมันมีความเทอะทะอยู่เยอะ ถ้าสามารถบริหารจัดการ ลดคอร์รัปชัน แล้วก็ใช้เงินให้คุ้มค่าคุ้มทุน ผมว่าเราเอาเงินกลับมาทำอะไรได้อีกเยอะเลย
ถามว่าระบบสวัสดิการที่ดี มันเป็นไปได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ แต่เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้เงินภาครัฐ ต้องทำให้ข้าราชการรู้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์คือเงินของประชาชน ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเอาไปใช้ก็ต้องเลือกการลงทุนที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ไม่ใช่ไปสร้างอะไรที่รู้อยู่แล้วว่าขาดทุนชัวร์ๆ แล้วก็ไม่สามารถดูแลรักษาให้มันอยู่ในสภาพดีได้ แบบนั้นก็เป็นการเอาเงินไปทิ้งขว้างเปล่าๆ เราสามารถใช้เงินพวกนี้มาดูแลเรื่องสวัสดิการให้ดีขึ้น โดยที่ยังไม่ต้องขึ้นภาษีด้วยซ้ำ
ผมให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาครัฐมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้ภาครัฐเล็กลง ใช้เงินน้อยลง แต่ทำประโยชน์ได้เท่าเดิมหรือดีขึ้น แล้วเอาเงินที่เหลือมาสร้างระบบสวัสดิการที่ดี
ในยุค คสช. รูปแบบของการกระจายรายได้และความมั่งคั่งของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะอะไร ใครได้ใครเสีย (จักรชัย โฉมทองดี ถาม)
อันนี้ผมก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนนะครับ แต่ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือเปล่า นับตั้งแต่ คสช. ขึ้นมา ราคาสินค้าเกษตรร่วงกันเกือบทุกตัวเลย ที่บอกแบบนี้ไม่ได้จะโทษ คสช. เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกร่วงลงพร้อมๆ กับราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อคนในภาคเกษตรโดยตรง
แต่ถ้าไปดูในเรื่องของความมั่งคั่ง ไม่รู้ว่าบังเอิญอีกหรือเปล่านะครับ ก็คืออัตราดอกเบี้ยร่วงลงมาตลอด ส่งผลให้ราคาที่ดิน ราคาทรัพย์สินต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ผมจึงมองว่าคนที่รวยอยู่แล้ว น่าจะรวยขึ้น ส่วนคนที่เป็นเกษตรกรจะแย่ลง ทั้งนี้ผมไม่ได้โทษว่าเป็นเพราะ คสช. นะครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือแบบนี้ ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเสริมด้วย
เศรษฐกิจไทยในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร (ชินาคม ถาม)
ผมคิดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะช้าลงจากในอดีต เศรษฐกิจไทยในอดีต ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เรียกว่าเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล เกือบจะเป็นเสือตัวที่ห้า โตเฉลี่ยปีละ 7% เรียกว่าสบายๆ แต่ตอนนี้เราโตอยู่ที่ 3% และน่าจะคาดหวังให้โตได้มากกว่านี้เล็กน้อย คือระหว่าง 3-4% ไม่ใช่โต 5% หรือ 7% อย่างในอดีต ซึ่งปัจจัยสำคัญอีกอย่างก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย
ชะตากรรมของเศรษฐกิจไทยภายใต้โครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จะมีหน้าตาอย่างไร (ตฤณ ไอยะรา ถาม) และ “ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะรวยก่อนแก่” (ทีปกร ถาม)
ถ้าเรามองในแง่โครงสร้างประชากร ประเทศของเรามีอายุค่ากลางของประชากรอยู่ที่ 38 ปี ประเทศที่จะมีปัญหาแก่ก่อนรวยก็คือจีนกับไทย ที่มีอายุค่ากลางของประชากรเกิน 35 ปี แล้วยังไม่ได้เข้าไปสู่สถานะของประเทศพัฒนาแล้ว
สมมติเรามองว่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศเป็นเครื่องจักร นักเศรษฐศาสตร์ก็จะบอกว่าเราเป็นเครื่องจักรที่มีปัจจัยการผลิตเป็นวัยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าดูจากโครงสร้างประชากร จะเห็นชัดว่าจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่วนวัยทำงานจะลดลง วิธีเดียวที่จะทำให้เครื่องจักรเครื่องนี้ผลิตของได้เยอะขึ้น คือต้องเพิ่มผลิตภาพหรือไม่ก็ต้องเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตที่ใส่เข้าไป
แต่ปัญหาที่เราเจอตอนนี้ คือนอกจากประชากรโดยรวมจะแก่ขึ้นแล้ว คุณภาพของแรงงานที่ใส่เข้าไปก็ยังมีปัญหาอีก ถ้าเราวัดจากการสอบหรืออะไรก็ตาม จะเห็นว่าการศึกษาไทยไม่ได้ทำให้แรงงานมีคุณภาพเท่าที่เราอยากให้เป็น เรื่องนี้เป็นประเด็นค่อนข้างเร่งด่วน ว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานของเรามีคุณภาพ ทำให้เครื่องจักรโตขึ้นมาได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเร็ว อาจทำให้ประชากรลดลงในอนาคต หลายคนอาจจะบอกว่าประชากรน้อยลงก็ดีแล้ว แต่ขอให้รายได้ต่อหัวโตขึ้นก็แล้วกัน อันนั้นก็ไม่ผิด แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ โครงสร้างประชากรที่ผู้สูงอายุเริ่มมีจำนวนมากกว่ากลุ่มวัยทำงาน แปลว่าเราจะมีคนทำงานเพื่อหาทรัพยากรไปดูแลคนสูงอายุน้อยลง นี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ถ้าตอนนี้เราคุยกันว่างบประมาณด้านสุขภาพมีปัญหา นโยบาย 30 บาทมีปัญหา ประกันสังคมมีปัญหา รอดูอีกสัก10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ทีนี้ทางแก้ก็คือ เราต้องกลับมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนวัยทำงานสามารถสร้างรายได้ มีพลังที่จะจ่ายภาษี แล้วเอาไปดูแลผู้สูงวัยได้ เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีระบบที่ให้ประชากรทุกคนเก็บเงินเอาไว้ดูแลตัวเองยามแก่ชรา แต่เราใช้ระบบที่คนไหนทำงาน คนนั้นก็ถูกเก็บภาษี แล้วภาษีนั้นก็เอาไปดูแลคนที่ไม่อยู่ในภาคการทำงาน ฉะนั้นคำถามที่สำคัญก็คือ ในแง่ของโครงสร้างประชากรแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้คนวัยทำงานอยู่ได้ แล้วยังมีทรัพยากรไปดูแลคนสูงวัยอีก นี่คือภาวะ ‘แก่ก่อนรวย’ คือภาวะที่เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการดูแลคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุ
ถ้าคนที่อยู่ในวัยทำงานของไทยมีจำนวนน้อยลง แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาช่วยได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเราย้อนไปดูประเทศอื่นๆ เราไม่ได้เป็นประเทศแรกที่แก่นะครับ ประเทศที่เราเห็นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง พวกนี้ผ่านประสบการณ์การแก่มาแล้วทั้งสิ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียของเขา เพราะประเทศเหล่านั้นเป็นเกาะ ไม่สามารถนำแรงงานไร้ฝีมือเข้าประเทศได้ง่ายนัก แปลว่าเขาไม่มีทางเลือก นอกจากต้องอัพเกรดตัวเอง ต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อให้ค่าแรงงานของคนทั้งประเทศปรับขึ้น
แต่เมืองไทย เมื่อเจอภาวะเดียวกันนี้ แทนที่เราจะอัพเกรดตัวเอง เราก็หาวิธีที่ง่ายหน่อย คือนำเข้าแรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้านเข้ามา เป็นวิธีแบบไทยๆ คือเอาง่ายๆ ไว้ก่อน สุดท้ายค่าแรงก็เลยไม่เพิ่ม กลายเป็นว่าแรงงานไทยที่ควรจะถูกอัพเกรดเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น กลับถูกดึงให้ต่ำลงไปเพราะมีแรงงานจากข้างนอกไหลเข้ามาเพิ่ม ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นความแตกต่างที่มากขึ้น ระหว่างแรงงานไทยมีฝีมือที่คุณภาพดีมากและไม่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาแทรกแซง กับแรงงานไร้ฝีมือที่ถูกกดและโดนแย่งชิงงานจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้ช่องว่างระหว่างแรงงานรายได้สูงกับแรงงานรายได้ต่ำก็ยิ่งฉีกขึ้นไปอีก ถ้าเรายังแก้ปัญหาง่ายๆ แบบนี้ เรื่องนี้ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาระยะยาว
แล้วถามว่าทางออกที่ยากแต่ยั่งยืนคืออะไร ก็คือการที่เราต้องอัพเกรดตัวเอง ใช้เงินลงทุนมากขึ้น อัพเกรดเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสายเกินไปหรือเปล่า แต่เป็นวิธีเดียวที่เราจะหลีกหนีจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ ก็คือการยกระดับรายได้ประชากรที่แท้จริง ซึ่งถูกกำหนดโดยผลิตภาพ ขึ้นอยู่กับว่าแรงงานหนึ่งคนในประเทศนั้นผลิตของได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศอื่น ฉะนั้นเราจึงต้องเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น ไม่ใช่กดให้ต่ำลง
เศรษฐกิจไทยและองค์กรธุรกิจไทยยังต้องการพื้นฐานของความแข็งแกร่งในจุดใดบ้าง จึงพอจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่า Black (หรือ Grey) Swan จะเกิดในรูปแบบไหนก็ตาม เราจะรับมือและปรับตัวกับมันได้ดี (ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ถาม)
ในอนาคต ภาพที่เราจะเจอคือเรื่องเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น รวมถึงรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปและมองออกยากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องเทคโนโลยี ผมว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา หลายคนคงได้ยินคำว่า Disruptive Technology ซึ่งทุกวันนี้มันเกิดขึ้นเร็วมาก อันหนึ่งโผล่ขึ้นมาไม่ทันไร ก็โดนอันที่ใหม่กว่า disrupt อย่างรวดเร็ว
ถ้าถามว่ารับมือกับมันได้ดีแค่ไหน ก็ต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นผลิตภาพเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือทำอย่างไรให้แรงงานมีคุณภาพ ก็ต้องกลับดูระบบการศึกษาของประเทศ แล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกัน ในแง่ของความสามารถที่จะเข้าใจสถานการณ์และความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้แข่งขันกับคนอื่นได้ สิ่งนี้ผมว่าเป็นพื้นฐานของความแข็งแกร่งที่จำเป็นมาก
ทำไมผลิตภาพในไทยถึงต่ำ ทำอย่างไรถึงจะยกระดับผลิตภาพได้ ทางออกอยู่ตรงไหน
ถ้าเราเชื่อในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็ต้องตอบว่าสุดท้ายแล้วการแข่งขันจะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น ถ้าต้องการให้คนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ ก็ต้องปล่อยให้เขาไปเผชิญกับการแข่งขัน สุดท้ายมันจะบีบให้เขาต้องสู้ ถ้าสู้ไม่ได้ก็จะแพ้ แรงกดดันจากการแข่งขันคือสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐก็คือ ทำอย่างไรถึงจะสนับสนุนให้เอกชนสามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพของเขา ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องทรัพยากรต่างๆ ให้ดี พัฒนาแรงงานให้ดี ต้องคิดอย่างจริงจังว่าระบบการศึกษาต้องปฏิรูปอย่างไร
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยก็มีการพัฒนาหลายยุคหลายนโยบาย ทั้งล้มเหลว ทั้งสำเร็จ และเกิดวิกฤต อยากรู้ว่าในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ คุณประทับใจต่อความสำเร็จ ล้มเหลว วิกฤต จากนโยบายหรือยุคการพัฒนาช่วงไหนบ้าง และประสบการณ์ที่ผ่านมาเหล่านั้นเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยอย่างไร (พัฒนกิจ ถาม)
โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็มีทั้งขึ้นและลง เราได้เจอประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เราก็เสียเวลา เสียโอกาสไปในหลายๆ เรื่อง ผมว่ายุคที่เราเห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเร็ว ก็คือยุคโชติช่วงชัชวาล (ก่อนวิกฤตปี 2540) ยุคสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในยุคแรกๆ ที่เราเข้ามาสร้างพวกอีสเทิร์นซีบอร์ด ผมว่าเป็นยุคที่น่าสนใจ ตอนนั้นเราใช้การลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวนำ สามารถดึงเศรษฐกิจให้กลับมาพัฒนาได้ แล้วสุดท้ายเอกชนก็ตามมา
ส่วนยุคที่เราเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ถือเป็นเคสที่คลาสสิคมากๆ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็ยอมรับว่านี่คือบทเรียนใหม่ๆ ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤต จนถึงช่วงฟื้นฟูที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ขณะเดียวกันเราก็สร้างปัญหาไว้เต็มไปหมดเลย กระทั่งเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในตอนนี้ เรายังไม่มีความพร้อมเลย เรื่องเหล่านี้ผมว่าเป็นประสบการณ์ที่เศรษฐกิจไทยได้เรียนรู้ค่อนข้างมาก
เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ ไหม หรือเมื่อเวลาผ่านไปเรายิ่งห่วยลง
เราเก่งขึ้นแน่นอน เราอายุเยอะขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น มีความพร้อมที่จะนำบทเรียนมาแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง แต่ก็มีหลายเรื่องที่เราแทบไม่เคยเรียนรู้เลย เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ้าเราไม่คุ้มครองสิทธิของนักลงทุน ไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชน เราจะการันตีได้อย่างไรว่าเขาจะกล้าลงทุนหรือกล้าบริโภคอย่างมั่นใจ
ส่วนภาคธุรกิจ ผมคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ แต่ในหลายๆ ภาคส่วนกลับถูกปกป้องไว้โดยไม่จำเป็น ผมเชื่อในศักยภาพว่าคนไทยเก่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวันนี้เรากำลังอยู่สบายกันเกินไปหรือเปล่าในหลายภาค เช่น ภาคบริการที่มีกฎหมายมาคุ้มครองเอาไว้ว่าห้ามชาวต่างชาติมาทำ
คำถามก็คือพวกกฎระเบียบที่ห้ามคนต่างชาติมาประกอบธุรกิจมีเป้าหมายเพื่ออะไร คุ้มครองทุนไทยหรือว่าคุ้มครองคนไทย เพราะเราก็รู้ว่าในหลายบริการ ถ้าให้ทุนต่างประเทศเข้ามาทำ จะสามารถให้บริการดีกว่าและถูกกว่า ประชาชนโดยรวมก็น่าจะได้ประโยชน์ การที่เราตั้งใจคุ้มครองทุนไทยบางกลุ่ม ปิดกั้นว่าต้องเป็นคนไทยเท่านั้นที่จะทำอาชีพนี้ได้ เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านบริการ ไม่ได้เจอกับการแข่งขันที่เหมาะสม เป็นเรื่องของการผูกขาดทางธุรกิจ
แล้วภาครัฐไทยละครับ เก่งขึ้นไหม
ผมว่าเก่งขึ้นนะ แต่เก่งขึ้นในแนวของรัฐไทย แนวที่จะพยายามรวบอำนาจ ดึงรั้งหลายๆ อย่างเอาไว้ สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเสียดายโอกาสพอสมควร ก็คือคำว่าการปฏิรูปภาครัฐ เราไม่ค่อยได้ยินคำนี้เท่าไหร่ แทนที่เราจะมองว่าเป็นโอกาสในการปฏิรูป เป็นโอกาสที่จะลดขนาดของรัฐ ทำให้รัฐแข็งแกร่งมากขึ้น โดยใช้คนให้น้อยลง เพี่อให้แต่ละคนมีเงินเดือนแพงขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น แต่เรากลับขยายขนาดของรัฐอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจก็กำลังเจอปัญหานี้เหมือนกัน
แนวนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจให้พ้นจากปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ควรเป็นอย่างไร ถ้าให้ยกตัวอย่างประสบการณ์หรือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของต่างประเทศ มีประเทศใดน่าสนใจบ้าง (พัฒนกิจ ถาม)
ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภาพสูงขึ้น ถ้าโมเดลเศรษฐกิจ ก็ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ ในระยะแรกๆ ก็ยอมรับว่ารัฐมีความสำคัญในการเลือกธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ แต่พอเอกชนสามารถที่จะแข่งในเวทีโลกได้ ก็ต้องปล่อยให้เขาแข่งกับคนอื่นเลย ไม่ใช่มาดูแลป้องกันผลประโยชน์กันต่อ และต้องไม่ปกป้องคุ้มครองให้เก่งเฉพาะในประเทศ
การลงทุนของไทยในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนอะไร
ผมว่าตอนนี้เอกชนของไทยเก่งกว่าและใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยแล้ว หมายความว่าเขาไม่สามารถอยู่ในประเทศได้อย่างเดียวแล้ว ก็เลยต้องออกไปต่างประเทศ ถ้าเราดูในบางกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นว่าเราทำได้ดีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หลายๆ กลุ่มที่ทำเรื่องอาหาร ออกไปซื้อแบรนด์ที่เป็นระดับโลกเลย หรืออย่างภาคบริการบางภาค เราก็เก่งจริงๆ วันนี้เราเห็นเอกชนไทยที่สามารถไปแข่งในระดับโลกได้เยอะขึ้น คำถามคือเราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เอกชนไทยที่เก่งๆ แบบนี้ได้ออกไปแข่งขันกับต่างประเทศเยอะขึ้น
เศรษฐกิจการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 (วิโรจน์ อาลี ถาม)
สิ่งหนึ่งที่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือพรรคการเมืองจะชูนโยบายหาเสียงได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้มีพรรคใหญ่ 2 พรรคแบบเดิมที่เราเคยเห็นในอดีต พรรคขนาดกลางขนาดเล็กน่าจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติอาจทำให้พรรคการเมืองชูนโยบายทางเศรษฐกิจมาหาเสียงกับประชาชนได้ยากขึ้น เพราะนโยบายของรัฐบาลห้ามขัดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติแต่เราก็ยังไม่รู้ว่ามีหน้าตาของแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างไร หรือมีข้อผูกมัดแบบไหน อาจทำให้หาเสียงได้ยากขึ้น เราอาจไม่เห็นนโยบายอะไรที่มีความสร้างสรรค์หรือหวือหวาแบบสมัยก่อน
ฉะนั้นรูปแบบการเมืองที่ออกมาอาจเป็นลักษณะที่เลือกตั้งไปก็ไม่ได้มีผลต่อประชาชนเท่าไหร่นัก ในแง่ที่ว่าสุดท้ายก็ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์อยู่ดี
การแข่งขันเชิงนโยบายที่หายไปจากการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร
ในแง่ของทางเลือก ถ้าประชาชนอยากจะเลือกนโยบายที่เขาเห็นด้วย ก็อาจทำได้ยากขึ้น เพราะถูกเซ็ตเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังพอสมควร
ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำชอบทำงานกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ยอมวิจารณ์รัฐบาลทหารเหมือนวิจารณ์รัฐบาลเลือกตั้ง (นักการเงินคนหนึ่ง ถาม)
ผมว่าคำถามนี้ก็ต้องแปลดีๆ เหมือนกันนะครับ ข้อแรกเลยคือคำว่า “ชั้นนำ” นี่แปลว่าอะไร เอาเป็นว่าเราตัดคำว่าชั้นนำทิ้งไปก่อนละกัน ประเด็นถัดมาก็ต้องไปดูว่าข้อสังเกตที่บอกมานั้น มันจริงหรือเปล่า เพราะว่าทุกๆ รัฐบาลก็มีนักเศรษฐศาสตร์เข้าไปทำงานด้วยอยู่แล้ว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ก็เป็นคนปกติเหมือนชาวบ้านทุกคนแหละครับ ที่อาจมีความชอบความนิยมในเรื่องการเมืองที่ต่างกันออกไป แต่บังเอิญว่าเกือบครึ่งหนึ่งของ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คนก็เลยบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ชอบไปทำงานกับรัฐบาลที่ไม่ได้เลือกมา
ส่วนที่ถามว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงไม่ยอมวิจารณ์รัฐบาลทหารเหมือนที่วิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมก็จะบอกว่านักเศรษฐศาสตร์มีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ‘Cost-Benefit Analysis’ คือการวิเคราะห์ต้นทุนกับประโยชน์ ถ้าประโยชน์ไม่มีแต่ต้นทุนมันเยอะ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็จะบอกว่าลูกยังเล็ก ถ้าวิจารณ์ทหารมากเกินไป ต้นทุนที่ตกกับครอบครัวจะสูงไปหน่อย (หัวเราะ)
แก่นของคำถามคงอยู่ที่ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงเทคนิค นักเทคนิคหรือผู้(ที่คิดว่าตัวเอง)รู้ เลยคิดว่าเขาสามารถออกแบบนโยบายได้โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน วิ่งไปหาคนที่มีอำนาจมากที่สุด เอาหลักวิชาและความตั้งใจดีที่อยากทำ ไปทำงานกับผู้มีอำนาจเสียเลย หลายคนคิดว่ายิ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการยิ่งมีโอกาสผลักดันนโยบายได้ง่ายขึ้น
ผมว่าหลายคนก็คิดอย่างนี้จริงๆ นะครับ ว่าถ้าตั้งใจดีแล้วไปทำงานในภาวะพิเศษจะสามารถผลักดันอะไรได้รวดเร็วและไม่ถูกคานเอาไว้โดยระบบที่มีการคานอำนาจต่างๆ น่าจะทำให้สิ่งที่ตัวเองเชื่อถูกผลักดันไปได้ง่ายขึ้น ปัญหาก็คือเราอาจสร้างปัญหาจากการที่เรามีความตั้งใจดีแบบนั้น เพราะระบบปกติหลายๆ อย่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีการคานอำนาจ มีการดูแลรักษา ปกป้องสิทธิและเสรีภาพ มีการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่สุดท้ายเมื่อคนรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพไป มันอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลยก็ได้
เมื่อวันก่อนคุณแชร์บทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ The New Tyranny แล้วก็เขียนโคว้ทไว้ว่า “The Tyranny of Experts เมื่อผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นทรราชเพราะความตั้งใจดี” บทความนี้ตั้งใจจะอธิบายอะไร อยากให้เล่าให้ฟังหน่อย
บทความนี้มาจากหนังสือ The Tyranny of Experts เขาเล่าให้ฟังบอกว่ามีโครงการหนึ่งที่สนับสนุนโดย World Bank ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปจากโลก ทีนี้ความตั้งใจดีของเขา ก็คือเลือกว่าจะทำโครงการไหนดีที่จะทำให้คนหายจากความยากจน แล้ว World Bank ก็ไปสนับสนุนโครงการปลูกป่าในอูกันดา ปัญหาคือพอสนับสนุนให้ทำปุ๊บ ปรากฏว่าทหารก็ไปไล่คนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะปลูกป่าออกไป ก็เลยเกิดคำถามว่า ในเมื่อ World Bank ต้องการหยุดปัญหาความยากจน แต่กลับไปไล่คนยากจนในพื้นที่ออกไปเสียเอง ยิ่งทำให้เขาจนขึ้น
มีความเห็นอย่างไรกับการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงศักยภาพของบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งเข้าไปทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหาร ข้าราชการ และนายทุน (วิโรจน์ อาลี ถาม)
ผมมองว่าการมีแผนก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร เหมือนเวลาจะเดินไปไหน เราก็ต้องรู้เส้นทาง แต่คำถามคือว่าแผนนั้นมันจำกัดหรือบังคับเส้นทางของเราจนเกินไปหรือเปล่า เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปแค่ 5 ปีที่แล้ว หลายคนก็ไม่ได้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีหน้าตาแบบนี้ แล้วถ้าเป็นแผน 20 ปีที่เคร่งครัดหรือปรับเปลี่ยนยาก เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเวิร์ค
ยุทธศาสตร์ชาตินี่เรายังไม่เห็นตัวจริง แต่ถ้าไปดูสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายลูก เราเห็นโทษแล้วว่าถ้าใครไม่ทำตามแผนจะเกิดอะไรขึ้น งบประมาณต้องใช้ตามนั้น แล้วถ้าใครไม่ทำตามแผนนั้นอาจมีบทลงโทษถึงกับยุบรัฐบาลเลยก็ได้
หลายคนชอบพูดถึงมาเลเซีย เขาใช้คำว่า Vision 2020 ทำตั้งแต่ช่วงปี 1996 แต่ประเด็นคือมันเป็น Vision เป็นการมองไปข้างหน้าว่าปี 2020 เขาอยากไปถึงจุดไหน และจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร ไม่ใช่แผนที่กำหนดตายตัวไว้ 20 กว่าปี ฉะนั้นการที่เราไปตั้งแผนระยะยาวโดยผูกตัวเองไว้กับเงื่อนไขบางอย่าง สุดท้ายมันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เอาไว้โจมตีฝั่งตรงข้าม มากกว่าเป็นแผนที่นำทางให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายจริงๆ
ตอนนี้คุณเองก็อยู่ในภาคเอกชน อยากรู้ว่าปกติเขามีการวางแผนล่วงหน้ากันอย่างไร
อย่างมากก็ 3-5 ปี และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ด้วยภาวะการแข่งขัน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมต่างๆ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วมาก จึงคาดเดาได้ยากมาก อย่างเช่นการเกิดขึ้นของ A.I. ในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันไปมหาศาลเลย ผมจึงมองว่าการวางแผน ควรเป็นลักษณะของการกำหนด Vision มากกว่า ว่าต้องการไปถึงจุดไหน อย่างไร และพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้อยู่เสมอ
“ไทยและประเทศเอเชียอีกหลายประเทศต่างกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว และพยายามปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็น digital economy ที่ผ่านมาไทยทำได้ดีแค่ไหน และมีข้อแนะนำอย่างไรเพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” (อรอุมา ถาม) / “นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเพิ่มหรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าจะออกแบบนโยบายให้มีผลลดความเหลื่อมล้ำต้องทำอย่างไร” (พัฒนกิจ ถาม)
เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ผมว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่ถูกแล้ว เพราะเราหนีไม่พ้น สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือคน ทำอย่างไรให้เราพัฒนาคุณภาพของคนที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เพราะมันจะส่งผลถึงเรื่องของการแข่งขันด้วย เราเห็นแล้วว่าการซื้อขายออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ จะทำให้เส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศมันเบลอขึ้นเรื่อยๆ การออกมาตรการที่ห้ามโน่นห้ามนี่จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจเองก็ต้องคิดว่าจะตามทันเทคโนโลยีอย่างไร และใช้มันได้อย่างเหมาะสม ภาคแรงงานเองก็ต้องตามให้ทันเช่นกัน ส่วนภาครัฐก็ต้องบาลานซ์ระหว่างการสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ สามารถพัฒนาได้ดี ควบคู่ไปกับการช่วยดูแลความเสี่ยงต่างๆ
Digital Transformation เช่นการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน ภายใต้ความสัมพันธ์การผลิตแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการต่อรองแรงงาน โครงสร้างภาษี ระบบค่าจ้างแรงงาน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไร ควรมีแนวทางจัดการเรื่องนี้อย่างไร (เทวฤทธิ์ มณีฉาย ถาม)
อันดับแรกคือต้องเสริมทักษะให้แรงงาน ให้แน่ใจได้ว่าแรงงานเรามีทักษะในการใช้เทคโนโลยี เพื่อจะได้สร้างผลิตภาพได้มากขึ้น แต่ในแง่ที่ประชากรในวัยแรงงานจะลดลง วัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล เรื่องสวัสดิการน่าจะเป็นประเด็นที่ต้องคิดหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้ามันเกิด digital transformation ขึ้นมาจริงๆ แน่นอนว่าในระยะหนึ่ง มันคงมีคนที่หลุดออกจากภาคแรงงาน เพราะไม่มีทักษะ แต่ขณะเดียวกัน เราอาจเห็นภาพของผลิตภาพของคนที่อยู่ในภาคแรงงานที่สูงขึ้นมหาศาล เพราะเราจะใช้คนน้อยลง แต่ผลิตของได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ฉะนั้นคนที่ยังอยู่ได้ ก็น่าจะมีค่าจ้างแรงงานที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่จะกระจายรายได้เหล่านั้นกลับไปหาคนที่ต้องหลุดไปเพราะไม่มีทักษะ
ในอีกสิบปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนไปจากยุคเสรีนิยมใหม่หรือไม่ อย่างไร องค์กรโลกบาลอย่างไอเอ็มเอฟ มีความคิดทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปบ้างไหม หลังจากผ่านยุควิกฤตซับไพรม์ (ธร ปีติดล ถาม)
จริงๆ ต้องบอกว่าหลายสถาบันมีการเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างไอเอ็มเอฟ ช่วงที่ไทยเกิดวิกฤตปี 40 เขาก็เรียนรู้อะไรไปเยอะ ก่อนหน้านั้นวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดจากภาครัฐเท่านั้น รัฐเป็นคนเดียวที่ก่อให้เกิดวิกฤต แต่พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราก็รู้แล้วว่ามันเกิดขึ้นกับภาคเอกชนก็ได้ ส่วนวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 ก็สร้างองค์ความรู้ให้กับไอเอ็มเอฟรวมถึงสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างมหาศาล ก่อนวิกฤตปี 2008 ทุกคนบอกว่าการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) ต้องเล็งที่ไปที่อัตราเงินเฟ้อเท่านั้น เสถียรภาพทางการเงิน (financial stability) ไม่ต้องยุ่งเท่าไร แต่หลังจากปี 2008 ทุกคนก็หันมาให้น้ำหนักกับเสถียรภาพทางการเงินเยอะขึ้น องค์กรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องเรียนรู้ไปกับวิกฤตที่มันเกิดขึ้นเหมือนกัน
หลังปรากฎการณ์ Brexit กับชัยชนะของ Trump โลกเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจใหม่หรือยัง อะไรคือความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร (สมคิด ถาม)
ในภาพใหญ่อาจไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น แต่เราจะเห็นน้ำหนักหรือบทบาทของคนแต่ละกลุ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราอาจมองว่าอะไรที่มันเป็น establishment เช่น EU ถึงวันหนึ่งคนจำนวนมากก็เห็นว่ามันไม่ควรมี เพราะเป็นการข้ามอธิปไตยของคนอื่น โดยเฉพาะประเด็นที่กระทบความรู้สึกของประชาชน เช่น เรื่องผู้อพยพ
เราก็เลยเห็นการตีกลับของกระแสชาตินิยม (nationalism) มากขึ้น เบี่ยงขวาหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นคลื่นที่สวิงไปมาตามยุคสมัย แต่กระบวนการของแนวคิดทางการเมืองใหญ่ๆ อาจไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้น อยู่ที่การให้น้ำหนักของแต่ละคนกับแต่ละประเด็นมากกว่า
แนวทางการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร สมควรปรับปรุงอะไร (ธีธัช ถาม)
ต้องยอมรับว่าผมไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ในไทยมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ประเด็นหนึ่งที่เห็นชัดๆ เลย ก็คือเรื่องความสำคัญของการทำวิจัย ความสำคัญของการเกาะติดประเด็นปัญหาต่างๆ
ส่วนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของต่างประเทศมีประโยชน์ และได้เปรียบคนไทย คือการที่อาจารย์ทำวิจัยแล้วก็เกาะติดในประเด็นปัญหาต่างๆ มีการทำให้มันอัพเดตอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราเรียนจากตำราหรือหนังสืออย่างเดียว ผ่านไป 5 หรือ 10 ปี องค์ความรู้นั้นก็อาจเก่าไปแล้ว แล้วบางสถานการณ์ เช่น วิกฤตซับไพรม์ มันไม่ได้อยู่ในตำราเรียนที่เราเอามาใช้ในปัจจุบันเลยก็ได้ ฉะนั้นผมว่าถ้าเมืองไทยอยากจะพัฒนา ก็ต้องมีการแข่งขันมากขึ้นในการทำวิจัย
สกุลเงินดิจิทัลสำคัญต่อระบบการเงินยุคใหม่ขนาดไหน (ผู้ชมคนนึงถาม)
มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ถ้าไปดูมูลค่าตลาดของ Bitcoin วันนี้ มีมูลค่า 75,000 ล้านเหรียญแล้วนะครับ ทิ้งไม่ได้นะครับ 1 Bitcoin นี่ประมาณ 4,000 กว่าเหรียญสหรัฐ หรือแสนกว่าบาท ต่างจากสมัยก่อนที่ 100 Bitcoin ซื้อพิซซ่าได้ถาดเดียว เรื่องนี้น่าสนใจครับ ผมว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนบทบาทของธนาคารกลางได้เลยทีเดียว
อยากทราบหนังสือเล่มโปรด และหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ รวมทั้งอยากให้แนะนำหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจสำหรับคนไม่มีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ (มนัญยา ถาม)
ถ้าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ผมชอบหนังสืออาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัยเรื่อง “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” ซึ่งให้ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยว่าเป็นมาอย่างไร สำหรับคนที่ไม่มีแบ็คกราวน์ในเรื่องเศรษฐกิจมาก น่าจะเห็นพัฒนาการที่ค่อนข้างดี
ถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ สำหรับคนที่อาจยังไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็เป็นพวกหนังสือแนว Popular Economics หรือเศรษฐศาสตร์อ่านง่าย อย่าง “Undercover Economist” หรือหนังสือที่อาจต้องมีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์นิดหน่อยก็คือ “เศรษฐศาสตร์[ฉบับทางเลือก]” ที่สำนักพิมพ์ openworlds เอามาแปล เป็นการสำรวจโลกของเศรษฐศาสตร์ ช่วยอธิบายว่าสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักอธิบายเศรษฐกิจต่างกันอย่างไร
หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “อ่านเศรษฐกิจไทย” ฉบับเต็ม โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ทาง The101.world