fbpx

“ภาพยนตร์ยังต้องหาทางรอดต่อไปในระบบทุน” สี่ทศวรรษในฐานะคนทำหนังของ จางอี้โหมว

ในวัย 73 ปี จางอี้โหมว ปรากฏตัวตรงหน้าด้วยท่าทีคล่องแคล่ว อบอุ่นและเป็นมิตรอย่างยิ่ง และสำหรับผู้เขียนที่โตมากับหนังของเขาอย่าง Red Sorghum (1988), Hero (2002) และ House of Flying Daggers (2004) การได้เจอเขาในระยะใกล้เช่นนี้จึงนับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 นี้ อี้โหมวได้รับรางวัลเกียรติยศ (Lifetime Achievement Award) จากทางเทศกาล และเข้าร่วมสนทนาในรายการมาสเตอร์คลาสเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำหนังร่วมสามทศวรรษของเขา “เวลาล่วงผ่านไปเร็วเหลือเกินนะพอมองย้อนกลับไป ผมเริ่มทำหนังเรื่องแรกปี 1988 ก็จาก Red Sorghum น่ะ แสดงเองด้วยอีกต่างหาก แต่รู้ไหม เรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมเลยคือเรื่องที่ว่า ผมได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังโตเกียวสมัยไปเล่นเรื่อง The Old Well (1987) ที่ผมกำกับเองด้วยน่ะ” เขาหัวเราะ โดยตัวหนังเล่าถึงคนงานหนุ่ม (อี้โหมว) ผู้ใช้ชีวิตในหมู่บ้านแร้นแค้น เขาจึงช่วยอดีตคนรักที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันขุดบ่อน้ำมาแจกจ่ายคนอื่นๆ ทว่า เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขุดบ่อน้ำจนทำให้ทั้งคู่ติดอยู่ด้านใน

“จำได้ว่าเราถ่ายหนังเรื่องนี้กันทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วสมัยนั้นเรายังไม่มีโทรศัพท์มือถือ กว่าที่โปรดิวเซอร์จะติดต่อผมได้ก็ยากมาก เขาบอกแค่ว่า ‘คุณได้รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมแน่ะ’ ซึ่งผมประหลาดใจมาก และบอกเลยว่าผมเคยได้รับรางวัลนี้ก็จากเทศกาลหนังโตเกียวเท่านั้นแหละครับ ไม่มีเทศกาลหรือเวทีไหนให้รางวัลนี้กับผมอีกแล้ว” เขาหัวเราะ

เช่นเดียวกับคนทำหนังหน้าใหม่คนอื่นๆ แม้จางอี้โหมวจะประสบความสำเร็จตั้งแต่กำกับหนังเรื่องแรก ทว่า เขาก็เล่าว่ามันแลกมาด้วยการ ‘สอนมวย’ คนหนุ่มอย่างเขา โดยก่อนหน้านั้น อี้โหมวประเดิมงานในแวดวงภาพยนตร์ด้วย Yellow Earth (1984) หนังดราม่าของ เฉิน ไค่เก๋อ ว่าด้วยทหารคอมมิวนิสต์ที่ไล่ตามหาบทเพลงเพื่อมาใช้ประกอบโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล อี้โหมวซึ่งทำหน้าที่กำกับภาพให้หนังเฝ้ามองไค่เก๋อทำงานด้วยความพิศวง “ผมไม่รู้เลยจนกระทั่งได้มากำกับหนังเรื่องแรกของตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วงานกำกับเป็นงานที่ต้องสื่อสารกับคนอื่นเยอะมาก”

“ก่อนหน้าที่จะมากำกับหนัง ผมเป็นคนเงียบๆ ไม่รู้วิธีสื่อสารกับคนอื่นเลย แต่ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันนะ พอได้มากำกับหนังเรื่องแรก ผมก็กลายเป็นคนที่ช่างสื่อสารกับคนอื่นมากๆ มันเป็นงานที่ต้องสื่อสารกับทุกคน เราต้องบอกคนอื่นให้ชัดว่าเราต้องการอะไร แม้ว่าบางครั้ง ผมจะรู้ดีว่าผมพูดเยอะไปมาก ย้ำเยอะไปมากก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่องานทั้งสิ้น”

อี้โหมวย้ำว่า ประสบการณ์สอนให้เขาเข้าใจดีว่าหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำภาพยนตร์คือบท และเขามักหาทางทำทุกทางให้บทที่อยู่ในมือนั้นออกมาดีกว่าที่เป็นอยู่เสมอ บทจึงกลายเป็นสิ่งที่เขาทุ่มเทเวลาด้วยมากที่สุด กระทั่งเมื่อเปิดกล้องและต้องถ่ายทำจริง หากมีเวลาว่าง อี้โหมวก็มักพบว่าตัวเองหยิบบทมาตรวจทานหรือแก้ไขซ้ำไปซ้ำมาเสมอ “ผมมักอ่านบทหนังตัวเองแล้วก็สงสัยอยู่เสมอว่า มันออกมาดีกว่านี้ได้อีกไหมนะ มีตรงไหนที่เราต้องเกลามันอีก แต่โชคไม่ดีที่ความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้มีเวลามากพอจะแก้ไขบทไปได้เรื่อยๆ หลายครั้งเราก็ต้องเดินหน้าถ่ายหนังทั้งที่อยากมีเวลาเกลาบทให้มันดีกว่านี้ แต่กระนั้น หากคุณมีทีมเขียนบทที่เก่งๆ คุณก็อาจจบโปรเจกต์หนังของคุณในเวลาเพียงปีเดียวได้”

การเปลี่ยนจากคนเงียบๆ ที่สื่อสารกับตัวเองเพียงลำพังไปสู่การเป็นคนที่ต้องสื่อสารกับทีมงานจำนวนมาก ชวนให้อี้โหมวนึกถึงการร่วมงานกับ เคน ทาคาคุระ นักแสดงชาวญี่ปุ่นใน Riding Alone for Thousands of Miles (2005) หรือชื่อไทยใน ‘เส้นทางรักพันลี้’ หนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (จีน-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง) ว่าด้วยความสัมพันธ์สองพ่อลูกชาวญี่ปุ่น โกอิจิ (ทาคาคุระ) ชายชาวประมงเพิ่งรู้ว่า เคนอิจิ (คิอิชิ นาคาอิ) ลูกชายผู้ห่างเหินของตัวเองเป็นมะเร็งกำลังจะตาย สิ่งที่เคนอิจิทำค้างไว้และต้องการสานต่อให้สำเร็จคือการถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับการแสดงงิ้วในประเทศจีน โกอิจิจึงออกเดินทางไปยังมณฑลยูนนาน เพื่อทำให้ความฝันของลูกชายผู้กำลังแตกดับเป็นจริง

“คุณทาคาคุระเป็นคนไม่ค่อยพูดและทำผมเกลียดตัวเองที่ช่างพูดไปเลยล่ะ” อี้โหมวบอกพลางหัวเราะ ผู้ฟังหัวเราะกันครืนใหญ่เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า ทาคาคุระเป็นนักแสดงผู้เงียบขรึมและเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่แปลกแต่อย่างใดที่อี้โหมวจะนึกโยงถึงความ ‘ช่างพูด’ ของตัวเองในฐานะผู้กำกับกับความเงียบของเขา “ผมพิศวงมากเพราะดูเหมือนเขาจะเข้ากับใครในกองถ่ายไม่ได้เลย ปกติแล้ว นักแสดงมักอยู่ในกองถ่ายด้วยกัน แต่สำหรับทาคาคุระ เมื่อเขาถ่ายแต่ละฉากของตัวเองเสร็จแล้ว เขาก็มักไปนั่งในรถหรือไม่ก็ห้องส่วนตัวของเขา ไม่ยอมอยู่ในกองถ่ายเลย”

“เรื่องนี้ทำผมกังวลใจมาก คิดว่าตัวเองเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้เรื่อง และต้องไปถามล่ามว่าทำไมเขาจึงปฏิบัติตัวเช่นนั้น ปรากฏล่ามบอกผมว่า คุณทาคาคุระเป็นคนจริงจังกับงานและเคารพทุกคนมาก กระนั้น ก็เป็นธรรมชาติของเขาเองที่เขาไม่ค่อยพูด แค่นั้นเองครับ”

สำหรับอี้โหมว เขาออกตัวว่าก่อนหน้าเปิดกล้องถ่ายทำหนัง เขาจะจ้ำจี้จ้ำไชและคุยกับทีมงานทุกภาคส่วนอย่างละเอียดจนกว่าทุกคนจะ ‘เห็นภาพ’ ตรงกัน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า นาทีที่เริ่มเดินหน้าถ่ายทำจริง เขาจะไม่ต้องหันไปสนทนากับทีมงานอื่นใดของกองถ่ายและทุ่มเทเวลาที่มีทุกวินาทีให้แก่การกำกับ “เมื่อเราเข้าใจตรงกันแล้ว ผมจะบอกทุกคน -ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร ทั้งทีมโปรดักชัน ทีมเสื้อผ้า และอะไรต่อมิอะไร- ว่าเราต่างคนต่างทำงานได้เลย ไม่ต้องยุ่งกัน เพราะเราจะไม่เสียเวลาทุ่มเถียงกันเด็ดขาด ผมจะไม่ให้เกิดการโต้เถียงกันในกองถ่ายเพราะมันเปล่าประโยชน์ เพื่อที่เราจะได้ทุ่มเทเรี่ยวแรงไปกับการทำหนังให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การพูดคุยให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่ก่อนเปิดกล้องจึงสำคัญมากเพราะมันทำให้เราเดินหน้าไปในทางเดียวกัน” เขาว่า “และช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมคุยกับนักแสดงเยอะที่สุด เพราะมีบางครั้งที่ผมแก้บทแล้วต้องสนทนากับพวกเขา นอกเหนือจากนี้ การรับฟังนักแสดงก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของผู้กำกับด้วย ผมทำสิ่งนี้จนเป็นนิสัยแล้ว”

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชมอี้โหมวเสมอมาคือการเป็นคนทำหนังที่ผลิตผลงานออกมาสม่ำเสมอ โดยตัวอาชีพเอง การเป็นผู้กำกับนั้นเป็นงานกินแรงและต้องใช้ทั้งพลังกายพลังใจเยอะ ในวัย 73 ปี อี้โหมวผลิตหนังใหม่ออกมาสองเรื่องคือ Full River Red (2023) และ Under the Light (2023) ที่เรื่องหลังนับเป็นอีกความท้าทายของเขา เมื่อมีฉากที่ตัวละครมากหน้าหลายตาเผชิญหน้ากันในห้องเล็กแคบ อี้โหมวอยากถ่ายทำฉากนี้ให้โดยการแสดงเพียงครั้งเดียว “เราซ้อมกันเลือดตาแทบกระเด็น นักแสดงเข้าฉากเยอะและทุกอย่างต้องเกิดขึ้นภายในการแสดงหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยเราใช้กล้องหลายตัวถ่ายทำเพื่อจับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในฉาก บอกเลยนะว่ามันชวนสับสนมากๆ” เขาหัวเราะ “ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วเหลือเกิน ผมจำได้ว่าเมื่อถ่ายทำฉากนั้นเสร็จ มีนักแสดงมาหาผมที่เต็นท์ผู้กำกับและตกตะลึงมากที่เห็นผมนั่งจ้องหน้าจอมอนิเตอร์สิบตัว เธอถามผมว่า นี่คุณมองจอพวกนี้สิบจอพร้อมๆ กันทีเดียวเลยรึ ผมตอบเธอว่า ใช่สิ บอกเลยนะว่าผมค่อนข้างมั่นใจทีเดียวว่าในบรรดาผู้กำกับหนังชาวจีน ผมน่าจะเป็นผู้กำกับที่มองจอมอนิเตอร์เยอะที่สุดแล้วล่ะ”

กล่าวสำหรับการกำกับหนังในวัยนี้ อี้โหมวตอบอย่างเรียบง่ายว่า อายุไม่เคยเป็นอุปสรรคสำหรับเขา “เพราะผมรักการทำภาพยนตร์มาก รักมากเหลือเกิน การทำหนังไม่เคยทำให้ผมเหนื่อย ผมอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เกือบสี่ทศวรรษแล้ว แต่ความหลงใหลยังคงเปี่ยมล้นอยู่ในเนื้อตัว อย่างเดียวที่ผมจะแนะนำให้คนอื่นได้คือ จงดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ดื่ม ไม่สูบ คุณแค่ต้องเป็นคนที่แข็งแรงเสมอเพื่อที่จะมีชีวิตไปทำหนังได้เรื่อยๆ”

อี้โหมวยังย้ำถึงประเด็นสำคัญอย่างการทำหนังและการหาทุน อันเป็นเสมือนด้ายเส้นเล็กๆ ที่คนทำหนังหลายคนก้าวไม่ผ่าน หลายคนลงเอยด้วยการทำหนังตามที่นายทุนร้องขอ และอีกหลายคนก็อาจเลือกลงเอยด้วยการไม่รับทุน และแทบไม่มีหนังออกมาเลย “เมื่อคุณทำหนัง จะมีคนเข้ามาหาคุณเพื่อคุยเรื่องเงินกับคุณมากมาย และแม้เมื่อคุณรับทุนนั้นมาแล้ว คุณก็ต้องหาทางบอกเล่างานศิลปะของตัวเองออกมาให้ได้อยู่ สิ่งที่ผมอยากย้ำคือ ถึงที่สุด ศิลปะภาพยนตร์ก็ต้องหาทางรอดต่อไปในระบบทุนที่ว่านี้ แต่คุณก็ต้องคิดเรื่องนี้ให้หนัก คิดเรื่องนี้ให้มาก คิดให้รอบคอบ คุณต้องอ่านให้ออกว่านายทุนคนไหนที่สนใจงานคุณจริงๆ มันเป็นความรับผิดชอบของคุณในฐานะผู้กำกับที่จะไม่ให้พวกเขาเข้ามาในบทบาทในงานของคุณมากเกินไป ดังนั้นแล้ว ในฐานะคนทำหนัง คุณต้องระมัดระวังเรื่องเงินให้มากๆ แม้มันจะยากเหลือเกินก็ตาม

“สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ ผมว่าในวันที่โลกมีอินเทอร์เน็ตแล้วเช่นนี้ ก็เสมือนว่าโลกเปิดโอกาสให้คุณมากขึ้น มันมีช่องทางมากมายเหลือเกินที่จะให้คุณได้แสดงศิลปะแบบที่คุณอยากเล่า และที่ผมจะย้ำคือ… คุณคงไม่ประสบความสำเร็จไปเสียทุกครั้ง แต่นั่นไม่เป็นอะไรหรอกครับ” เขากล่าวปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save