fbpx
ปฏิบัติการทวงคืน ‘อนาคต’ ของคนรุ่นใหม่: จากโลกถึงไทย

ปฏิบัติการทวงคืน ‘อนาคต’ ของคนรุ่นใหม่: จากโลกถึงไทย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

บ่ายวันศุกร์ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าเดินสำรวจย่านเมืองเก่าของเมือง Leipzig อันเป็นเมืองใหญ่อันดับ 10 ของประเทศเยอรมนี ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการอ่านประวัติศาสตร์การลุกฮือของประชาชนในปี 1989 อันนำมาสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ข้าพเจ้าได้ยินเสียงกลองจังหวะมาร์ช เสียงผู้คนตะโกนเชื้อชวนให้คนที่ผ่านไปมาร่วมเดินประท้วง

“หยุดขโมยอนาคต เอาอนาคตของเราคืนมา!”

การเดินขบวน ณ เมือง Leipzig เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ (Fridays for Future) ซึ่งจัดขึ้นใน 125 ประเทศทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมรวมกันกว่า 1.6 ล้านคน โดยนักเรียนนักศึกษาร่วมหยุดเรียนทุกวันศุกร์และเดินขบวนเรียกร้องให้บรรดานักการเมือง ซึ่งขณะนั้นกำลังรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม) ดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก

แคมเปญนี้ริเริ่มโดย Greta Thunberg นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัย 16 ปี ซึ่งจัดกิจกรรมประท้วงในสวีเดนที่ชื่อว่า ‘หยุดเรียนเพื่อหยุดทำลายโลก’ (School strikes for climate change) หลังจากที่เกิดเหตุไฟใหม้ป่าครั้งใหญ่ในประเทศตนเมื่อปี 2561 Thunberg ต้องการผลักดันให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจตัดสินเชิงนโยบาย เร่งลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลักดันมาตรการระดับโลกเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างจริงจัง

มิใช่เพียงแต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุโรปเท่านั้นที่รณรงค์เรื่องนี้ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ก็ร่วมต่อสู้ด้วย เช่นฟิลิปปินส์ ซึ่งเผชิญพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในปี 2556 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 10,000 ราย รวมถึงอินเดีย ซึ่งเผชิญอุณหภูมิสูงขึ้นและวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเยาวชนในแอฟริกาใต้ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้ถ่านหิน อันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม

การชุมนุม ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ สะท้อนการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือแคมเปญดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจกิจกรรม ‘เดินขบวนเพื่อชีวิต’ (March for Life) ในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังปฏิบัติการอุกอาจยิงถล่มโรงเรียนมัธยมในเมือง Parkland รัฐ Florida เมื่อต้นปีที่แล้ว

นักเรียนเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะของตนจากเหยื่อเหตุสะเทือนขวัญเป็นนักต่อสู้เพื่อสังคมที่ปราศจากความรุนแรง โดยนำปฏิบัติการ ‘เดินออกจากห้องเรียน’ (school walkout) เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อก่อความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กิจกรรมครั้งใหญ่ของนักเรียนเมือง Parkland ได้แก่การรวมตัวประท้วงในนครหลวง Washington DC ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราว 500,000 คน ข้อเรียกร้องหลักของผู้ประท้วงคือให้รัฐบาลคุมเข้มกฎหมายที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน รวมถึงเช็คประวัติผู้ครอบครองอาวุธอย่างถี่ถ้วน

ต่อมาเยาวชนกลุ่มนี้ได้ตั้งเครือข่าย ‘Never Again MSD’ ซึ่งสร้างกระแสแฮชแท็ค #NeverAgain และ #EnoughIsEnough ทั่วโลกโซเชียล ที่สำคัญคือกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลังต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง National Rifle Association (NRA) เครือข่ายล็อบบี้อาวุธปืนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐฯ นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเช่น David Hogg มุ่งรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ออกมาใช้เสียงเลือกตั้งมากขึ้น เพื่ออาศัยกลไกรัฐสภาผลักดันกฎหมายเพื่อต้านอำนาจมืดของ NRA โดย Hogg วางเป้าหมายไว้ว่าภายในปีหน้า (ซึ่งจะเกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ) จะรณรงค์ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิเสียงมากกว่าร้อยละ 70

กลับมาใกล้บ้านเรา เยาวชนเรือนหมื่นนำการประท้วงต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและยังดำเนินอยู่ ณ เวลาที่เขียนบทความชิ้นนี้ การรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดสามารถดึงผู้คนในเกาะฮ่องกงให้เข้าร่วมได้มากถึงสองล้านคน

การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นภาคต่อจาก ‘การปฏิวัติร่ม’ (Umbrella Revolution) เมื่อปี 2557 ซึ่งโต้กลับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ขยับคุมการกระบวนการเลือกสรรผู้นำฮ่องกงมากขึ้น ผู้ประท้วงครั้งล่าสุดนี้เห็นว่ากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นอีกย่างก้าวที่รัฐบาลจีนพยายามควบคุมและบ่อนทำลายรากเหง้าประชาธิปไตยที่เหลืออยู่ในฮ่องกง คนเหล่านี้เห็นว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยปล่อยให้รัฐบาลอำนาจนิยมจีน ‘ขโมย’ เสรีภาพของตนไปเรื่อยๆ

สภาพการปิดกั้นทางการเมืองกอปรกับความเหลื่อมล้ำและภาวะว่างงานที่ย่ำแย่ลงทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มหมดหวังกับสังคมตน แม้คนจำนวนหนึ่งมีทางเลือกที่จะย้ายไปอยู่ประเทศอื่น เยาวชนอีกจำนวนมากเห็นว่าตนไม่มีทางเลือกอื่น ที่ต้องสู้เพราะต้องการปกป้องบ้านเกิดตน รวมทั้งปกป้องอนาคตตนของคนรุ่นต่อไป

การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในสามประเทศ สามทวีปข้างต้นมีนัยสำคัญต่อคนรุ่นใหม่ในสังคมการเมืองไทยสามประการ

ประการแรก ในสังคมที่ให้ค่ากับความอาวุโสอย่างสังคมไทย ผู้ใหญ่มักเห็นว่าการรณรงค์ประท้วงของ ‘เด็ก’ เท่ากับ ‘ความก้าวร้าว’ ขาดความนบนอบ ดื้อดึงต่อคำแนะนำของผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน การเห็นว่า ‘เด็ก’ ควรเชื่อฟังผู้ใหญ่ผูกติดกับความเห็นว่าผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า จึงคิดได้ดีกว่า ส่วน ‘เด็ก’ ไร้ประสบการณ์ ฉะนั้นจึงคิดอะไรเองได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เมื่อเยาวชนแสดงความเห็นทางการเมืองในทางที่แย้งกับผู้ใหญ่ ‘เด็ก’ มักถูกตราหน้าว่าแกนนำกลุ่มการเมืองทั้งหลายชักจูงอยู่เบื้องหลัง ราวกับว่าเยาวชนเหล่านี้คิดเองไม่เป็น การลุกฮือของรุ่นใหม่ในสามประเทศที่กล่าวไปนั้นแย้งกับความเข้าใจเช่นนี้ เพราะเยาวชนเหล่านี้กำลังเตือนสติผู้ใหญ่ให้หยุดยั้งการทำลายอนาคตของพวกเขา วันหนึ่งผู้ใหญ่เหล่านี้จะลาโลกไป พวกเขาต่างหากที่ต้องอยู่รับผลกรรมจากการกระทำของพวกผู้ใหญ่

ประการที่สอง ผู้ใหญ่จำนวนมากมักปรามาสการประท้วงของ ‘เด็ก’ ว่าไม่จริงจัง ตามกระแส เดี๋ยวก็หายไปเพราะวัยรุ่นเบื่อง่ายและไม่ชอบลำบากไปประท้วงบนท้องถนน แคมเปญ วันศุกร์เพื่ออนาคต, การเดินขบวนเพื่อชีวิต และการชุมนุมในฮ่องกง ล้วนแต่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ทั้งยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดง่ายๆ กลุ่มเยาวชนซึ่งออกแบบกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมแพ้เมื่อเจอกระแสโจมตีจากผู้ใหญ่ฝั่งอนุรักษนิยม หรือเมื่อถูกตำรวจปราบปราม อีกทั้งยังยอมสละเวลา กำลังกายและทรัพย์ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีอนาคตเป็นเดิมพัน

ประการสุดท้าย ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าโลก การลุกฮือของคนรุ่นใหม่เป็นดั่งบ่อน้ำแห่งความหวัง คนวัยกลางคนอย่างข้าพเจ้ามักคิดว่าปัญหาหลายเรื่องแก้ได้ยากหรืออาจแก้ไม่ได้เลย เพราะรากฝังลึกและตัวละครผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งพร้อมต้านการเปลี่ยนแปลงได้ขยายอำนาจจนยากจะหยุดยั้ง เมื่อคิดเช่นนี้ ความหวังที่เปลี่ยนแปลงประเทศและโลกก็ริบหรี่ ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเยาวชนเหล่านี้เขลาจนไม่รู้ว่าปัญหาแก้ยาก แต่พวกเขายังยืนหยัดต่อสู้เพราะมีหวังว่าสักวันสิ่งที่ตนทำจะมีคุณูปการสรรค์สร้างความเปลี่ยนแปลงและกรุยทางให้อนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นต่อๆ ไป

ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าตัดสินใจเลิกเดินชมเมืองเก่าแห่ง Leipzig และเข้าร่วมเดินรณรงค์กับคนรุ่นใหม่ โดยตะโกนไปพร้อมๆ พวกเขาว่า “เอาอนาคตของเราคืนมา”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save