fbpx

สีจิ้นผิงกับคำสาปสามชั่วคน

จีนมีภาษิตบทหนึ่งว่า “ความร่ำรวยอยู่ไม่เกินสามชั่วคน” ความหมายคือ การส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองมักไปได้ไม่เกินสามรุ่น ประวัติศาสตร์มักสะท้อนความจริงนี้ ไม่ว่าจะในธุรกิจครอบครัวหรือความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ของจีน

ผมยังจำได้เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีหูจินเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่ๆ ใครๆ ก็คิดว่าน่าจะใกล้จุดจบของความเจริญรุ่งเรืองของจีน เพราะความรุ่งเรืองมักไปไม่เกินสามรุ่น แต่ที่ไหนได้ สิบปีในยุคของหู จีนก็ยังไปต่อได้ดี รวยวันรวยคืน

จึงมีมุกตลกในจีนว่า สงสัยนับผิด ต้องไม่นับประธานเหมาเจ๋อตงเป็นความร่ำรวยรุ่นที่ 1 เพราะตอนนั้นยังยากจนกว่าแอฟริกา เพิ่งมาเริ่มรวยรุ่นแรกเอาตอนเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำซึ่งเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจจีนต่างหาก

หากนับอย่างนี้ สีจิ้นผิงก็จะเป็นรุ่นที่ 4 หลังการเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจ ตอนที่สีจิ้นผิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งครั้งแรกเมื่อ 10 ปี ก่อน จึงมีเสียงซุบซิบนินทาอีกครั้งว่า ใกล้จะถึงคราวที่จีนจะปิดฉากยุคสมัยของความเจริญรุ่งเรือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนใกล้จะล่มสลายได้หรือยัง

ทริกเด็ดของสีจิ้นผิงก็คือ เขาไม่นิยามว่าตัวเองว่าเป็นผู้นำรุ่นสี่ที่รับช่วงสืบมาจากเติ้งเสี่ยวผิง แต่เขาขอเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ โดยอธิบายประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียใหม่ว่าแบ่งออกได้เป็นสามช่วงแยกจากกัน

ช่วงแรกคือ ประธานเหมาที่ก่อตั้งประเทศ ปกครอง 30 ปี ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นปึกแผ่นและ ‘ลุกขึ้นมา’

ช่วงที่สองคือ เติ้งเสี่ยวผิง ที่จีน ‘รวยขึ้นมา’ พร้อมกับผู้นำลูกหม้อของเติ้งเสี่ยวผิงอีก 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งคนละ 10 ปี โดยสืบทอดเจตนารมณ์การเปิดและปฏิรูปประเทศมาจากเติ้งเสี่ยวผิง

แต่ตัวเขาไม่ใช่ลูกหม้อที่สืบทอดเจตนารมณ์ของเติ้งเสี่ยวผิง แต่เป็นผู้นำระดับยิ่งใหญ่ที่จะเริ่มนับ 1 ใหม่ สีจิ้นผิงเรียกว่าเป็น ‘ยุคใหม่’ ที่จีนจะ ‘แข็งแกร่งขึ้นมา’ ขีดเส้นแบ่งชัดเจนจากยุคเปิดและปฏิรูปก่อนหน้านี้

ตามคำอธิบายของเขา ยุคใหม่นี้จีนจะเปลี่ยนจาก ‘การเติบโตเชิงปริมาณ’ มาเป็น ‘การเติบโตเชิงคุณภาพ’ เช่น เน้นการเติบโตที่ภาคบริโภคและภาคบริการ แทนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบในอดีต เน้นการกระจายรายได้สู่ชนชั้นล่าง เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด เน้นการยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ใช่ผลิตแต่ของถูกแบบแต่ก่อน

นักวิจารณ์บอกว่าก็แน่สิ จีนหมดหวังโตสูง เพราะจีนกินบุญเก่าต่อไปไม่ได้แล้ว จะยังหวังโตปีละ 10% เหมือนยุคก่อน ก็มีแต่จะก่อหนี้และฟองสบู่เป็นความเสี่ยงไประเบิดจนพังพินาศกันในอนาคต บัดนี้จีนหมดยุคแรงงานราคาถูก กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ภายนอกก็มีปัญหาสงครามการค้า ภายในหากจะยังคงอาศัยการเติบโตจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมาก็ได้สร้างถนน สะพาน รถไฟความเร็วสูงครบหมดแล้ว ขืนเดินหน้าลงทุนอีกก็มีแต่จะเป็นโครงการก่อสร้างที่ไม่คุ้มค่า มีแต่จะก่อปัญหาหนี้เน่าพอกพูน

ความฉลาดของสีจิ้นผิงจึงอยู่ตรงนี้ เขายอมรับข้อเท็จจริงว่า ความชอบธรรมของเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถจะอยู่ที่พรรคจะนำการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนเป็นสัญญาประชาคมฉบับใหม่ว่า มีแต่พรรคเท่านั้นที่ให้เสถียรภาพได้ และมีแต่เสถียรภาพเท่านั้นที่จะพาให้จีนเดินต่อไปแบบไม่สะดุดเพื่อบรรลุ ‘การรื้อฟื้นความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีน’ ได้

จากเดิมที่เคยผูกความชอบธรรมของอำนาจเข้ากับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่อไปนี้ความชอบธรรมมาอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความแข็งแกร่งของประเทศแทน

จากในยุคก่อนที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นกลาง เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับชนชั้นล่าง จากเดิมที่แต่ละมณฑลต่างแข่งกันรายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตอนนี้มาแข่งกันรายงานจำนวนคนยากจนที่พ้นเส้นขีดความยากจน

เติ้งเสี่ยวผิงเคยมีวาทะเด็ดว่า “ต้องยอมให้คนกลุ่มหนึ่งและพื้นที่หนึ่งรวยขึ้นมาก่อน เพื่อขับเคลื่อนค่อยๆ ยกให้ทุกคนรวยร่วมกัน” หลายคนคิดว่านี่เป็นข้ออ้างของเติ้งเสี่ยวผิงในการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ การใช้ระบบตลาด (Market Economy) และการยอมให้มีภาคเอกชนในประเทศคอมมิวนิสต์ ผลก็คือจีนมีชนชั้นกลางใหม่ พร้อมกับที่พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งติดชายฝั่งทะเลก็รวยขึ้นมาก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก เติ้งเสี่ยวผิงเดินหน้าเต็มสูบกับท่อนแรก ไม่มีใครในสมัยนั้นคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะกลับมาจริงจังกับท่อนหลัง

แต่มาวันนี้สีจิ้นผิงประกาศว่ายุคของท่อนแรกจบลงแล้ว เขาขอเป็นผู้นำรุ่นแรกที่จะพาจีนเข้าสู่ยุคของท่อนหลังเอง

นอกจากสโลแกน ‘ร่ำรวยร่วมกัน’ (Common Prosperity) แล้ว จีนยุคใหม่ของสีจิ้นผิงยังเป็นจีนชาตินิยมด้วยสโลแกน ‘การรื้อฟื้นความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีน’ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ง่ายๆ ก็คือครั้งหนึ่งจีนเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในโลก ก่อนที่จะกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียไป 100 ปี ตั้งแต่สงครามฝิ่นนในตอนปลายของราชวงศ์ชิง บัดนี้จีนกำลังจะกลับมาทวงคืนตำแหน่งแห่งหนของตนในโลก

ความแข็งแกร่งของชาติ ได้แก่ การทุ่มสุดตัวกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ ในปีที่ผ่านมา มีกระแสว่าจีนเริ่มเปลี่ยนจุดเน้นจากภาค Soft Tech เช่น อีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์ มาเป็นภาค Hard Tech เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ไบโอเทค รถยนต์อีวี แบตเตอรียุคใหม่ โดยมีคำอธิบายว่าอุตสาหกรรมแบบหลังตอบโจทย์ความแข็งแกร่งของประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมแบบแรกเป็นเรื่องแพลตฟอร์มผูกขาดที่ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มรวย แต่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอะไรให้กับประเทศ

การขีดเส้น ‘ยุคใหม่’ เช่นนี้ มีผลมหาศาลต่อการเมืองจีน เพราะเป็นการสร้างเหตุผลและความชอบธรรมให้สีจิ้นผิงไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์วาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยกำหนดไว้ และได้ใช้มากับผู้นำลูกหม้อสองรุ่นถัดจากเติ้งเสี่ยวผิง ก็ในเมื่อสีจิ้นผิงไม่ใช่ลูกหม้อสืบทอดเจตนารมย์ของเติ้งเสี่ยวผิง แต่เป็นผู้นำรุ่นแรกเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่เทียบชั้นประธานเหมาและมังกรเติ้ง เขาก็ย่อมสามารถครองตำแหน่งผู้นำได้มากกว่า 10 ปี     

นี่ยังเป็นเหตุผลที่สีจิ้นผิงใช้ในการรวบอำนาจทางการเมือง โดยอ้างถึงความจำเป็นในการผลักดันการปฏิรูป ซึ่งต้องท้าทายกระแสผลประโยชน์เดิม ในการเขียนประวัติศาสตร์ของพรรคใหม่เมื่อปีที่แล้ว เขาเล่าความสำเร็จในการบริหาร 10 ปี ที่ผ่านมาว่า “ได้แก้ไขปัญหาที่ควรแก้ไขมานาน แต่ไม่ได้แก้ไข ทำสิ่งที่ควรทำมานาน แต่ไม่ได้ทำ” (เช่น ปราบคอร์รัปชัน ระเบิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปราบการผูกขาดของทุนใหญ่ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คนเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในการเมืองจีนทั้งสิ้น)

และที่เขาต้องขอดำรงตำแหน่งต่อไป ก็เพราะภารกิจของยุคใหม่ของเขาเพิ่งเริ่มต้น ที่ทุกคนต้องให้อำนาจเขาต่อ เพราะเขาแข็งพอจะสู้กับภัยคุกคามจากภายนอก และปัญหาหมักหมมจากภายใน

หากเปรียบเทียบแล้ว สีจิ้นผิงทำทุกอย่างตรงข้ามกับกอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟผ่อนคลายการนำของพรรคคอมมิวนิสต์และคลายการควบคุมเศรษฐกิจ จนสุดท้ายนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่สีจิ้นผิงมาแนวนักควบคุม พร้อมคุมเข้มทุกอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพ ด้วยหวังว่าจะหยุดคำสาปการสิ้นสุดของความรุ่งเรืองของจีน ซึ่งย่อมนำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

น่าติดตามไหมครับว่า ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสีจิ้นผิงจะเป็นรุ่นแรกที่นับหนึ่งให้จีนใหม่ได้จริง หรือจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่ยิ่งเร่งเข็มนาฬิกาจุดจบของพรรคคอมมิวนิสต์ให้เร็วขึ้น เพราะการที่เขาลงจากหลังเสือไม่เป็น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save