fbpx

รักพยาบาท Wuthering Heights

Wuthering Heights ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1847 ถัดมาอีกหนึ่งปี เอมิลี บรองเต้ ผู้เขียนก็ล้มป่วยเสียชีวิตด้วยวัยเพียงแค่ 30 ปี

Wuthering Heights กลายเป็นนิยายเรื่องเดียวในชีวิตของเอมิลี บรองเต้ และเป็นนิยายคลาสสิกในโลกวรรณกรรม

ผมรู้จักนิยายเรื่องนี้และเอมิลี บรองเต้มาช้านาน แต่เป็นการรู้จักผิวเผินฉาบฉวยเอามากๆ  บวกรวมกับเคยอ่านงานเขียนอื่นๆ กล่าวอ้างพาดพิงถึงตัวละครชื่อฮีธคลิฟฟ์ผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง และการรับรู้ข้อมูลกว้างๆ เกี่ยวกับหนังหลายๆ เวอร์ชันที่ดัดแปลงมาจากนิยาย (โดยวิถีการทำงานที่ต้องข้องแวะกับการดูหนังแล้ว ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าผมคลาดแคล้วไม่เคยดู Wuthering Heights ทุกฉบับไปได้ยังไงก็ไม่ทราบ)

เหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคย แต่เอาเข้าจริง ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้เลยนะครับ

นั่นทำให้ผมสร้างอุปาทานอย่างหนึ่งเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา คิดเชื่อเป็นตุเป็นตะเข้าใจไปเองว่าเป็นเรื่องรักโศกสลดรันทดซึ้งตรึงใจ ถึงขั้นเผลอคิดเค้าโครงเรื่องเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว แต่ไม่เล่าหรอกนะครับว่าพล็อตเป็นอย่างไร อายน่ะครับ

เมื่อรวมกับความเก่านานของกาลเวลาที่งานชิ้นนี้ได้เขียนขึ้น ผมจึงตั้งแง่ไปผิดๆ ว่าน่าจะมีลีลาโบร่ำโบราณคร่ำครึ และเป็นนิยายประโลมโลกย์ที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ฟูมฟาย ด่วนสรุปตัดสินไปว่าคงจะเชย จนไม่นึกอยากอ่าน ทั้งๆ ที่มีหนังสือฉบับแปลเมื่อ พ.ศ. 2511 โดยพิมพา จันทพิมพะ อยู่ในครอบครองมาเนิ่นนาน (ในการเขียนถึง Wuthering Heights ผมอ่านจากฉบับแปลใหม่โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ สำนวนแปลของปทุมจิต อธิคมกมลาศัยนะครับ)

อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อได้อ่าน Wuthering Heights เข้าจริงๆ ผมจึงเกิดอาการตกใจและช็อกอยู่เป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกับรำพึงรำพันในใจด้วยความเสียดายและรู้สึกผิดว่า หากรู้อย่างนี้คงอ่านไปนานแล้ว

พูดง่ายๆ คือ Wuthering Heights เป็นงานเขียนที่ผมรู้สึกว่ามีความล้ำและมาก่อนกาล เต็มไปด้วยความสดใหม่เฉพาะตัว น่าทึ่งและชวนอัศจรรย์ใจมาก

บทหนึ่งในหนังสือ A Little History of Literature โดยจอห์น ซูเธอร์แลนด์ ได้เล่าถึงสามสาวพี่น้องตระกูลบรองเต้คือ ชาร์ล็อต, เอมิลี และแอน ในแง่ของชีวิตจริงที่เปี่ยมด้วยสีสันราวกับนิยายของทั้งสาม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าพวกเธอใช้ชีวิตจำกัดบริเวณอยู่แค่ในละแวกบ้านเกิด แทบไม่เคยออกไปสัมผัสโลกกว้าง และเห็นโลกเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ

ซูเธอร์แลนด์ยกตัวอย่างหลายช่วงตอนสำคัญใน Wuthering Heights ซึ่งมีการละเว้นรายละเอียดและบอกเล่าเพียงคร่าวๆ (ตอนที่มิสเตอร์เอิร์นชอว์เดินทางไปลิเวอร์พูล พบเจอและนำตัวฮีธคลิฟฟ์กลับมาเลี้ยงดูที่วุธเธอริง ไฮตส์) บางจุดก็ทิ้งให้เป็นปริศนาคลุมเครือชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร (ช่วง 3 ปีที่ฮีธคลิฟฟ์หายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย และกลับมาในสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน)

ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ เล่าไว้ในนิยายเป็นคำบอกเล่าผ่านๆ ไม่ลงรายละเอียด และมีเงื่อนงำชวนสงสัยอยู่หลายประการ

ซูเธอร์แลนด์สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่าเอมิลีไม่เคยไปลิเวอร์พูล ไม่รู้จักลิเวอร์พูล และไม่ต้องการให้เรื่องเล่าของเธอดำเนินไปบนฉากหลังที่เธอไม่คุ้นเคย จึงถ่ายทอดออกมาคร่าวๆ อย่างหลบเลี่ยง

ข้อสังเกตข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผมสนใจนึกอยากอ่าน Wuthering Heights ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า เพราะเหตุไรนิยายที่มี ‘ช่องโหว่ในโครงเรื่อง’ (ตามคำเรียกขานของจอห์น ซูเธอร์แลนด์) อย่างเด่นชัดขนาดนั้น จึงกลายมาเป็นงานเขียนที่นักอ่านยกย่องชื่นชม

นั่นเป็นตอนที่ยังไม่ได้อ่านนะครับ ผมถึงเข้าใจคำว่า ‘ช่องว่างในโครงเรื่อง’ ว่ามีความหมายเดียวกับจุดอ่อนข้อบกพร่อง หรือการ ‘หลุด’ แต่เมื่อได้อ่านจริงๆ ‘ช่องว่างในโครงเรื่อง’ ไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่เป็นการละเว้นและเลือกเล่าแบบไม่เน้นรายละเอียดเสียมากกว่า

ในช่วงแรกเริ่มที่นิยายเรื่องนี้เพิ่งปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน คำวิจารณ์ไม่เป็นเอกฉันท์ ค่อนข้างไปทางติดลบเสียด้วยซ้ำ จุดสำคัญที่โดนตำหนิก็คือความงงงันที่มีต่อเนื้อเรื่อง รวมถึงพฤติกรรมร้ายกาจและขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของหลายๆ ตัวละคร แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานชิ้นนี้ก็ผ่านการพิสูจน์ ได้รับการประเมินคุณค่าในทางบวกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน ก็สิ้นข้อสงสัย นี่คือนิยายเรื่องเยี่ยมของนักเขียนที่ทั้งชีวิตมีผลงานนิยายตีพิมพ์ออกมาแค่เรื่องเดียว

สิ่งแรกที่ Wuthering Heights ตรึงใจผมมากก็คือเนื้อเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าการไม่ทราบอะไรเลยก่อนอ่านน่าจะมีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้ผมติดตามเรื่องราวด้วยความประหลาดใจและกระหายใคร่รู้ตั้งแต่ต้นจนจบ

เป็นนิยายที่ผมไม่แน่ใจว่าสนุกหรือเปล่า แต่วัดจากความรู้สึกขณะอ่าน ผมสรุปได้ว่าชวนติดตามและเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่คาดหมายอยู่เนืองๆ หลายแห่งที่คาดเดาล่วงหน้าก็ไม่เป็นไปตามนั้น ยังความแปลกใจประหลาดใจได้ตลอดเวลา

ด้วยความรู้สึกข้างต้น ผมจึงตัดสินใจว่าจะเขียนแนะนำเชิญชวนถึง Wuthering Heights ด้วยการละเว้นไม่แตะต้องเนื้อเรื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนที่พอจะสามารถเล่าเปิดเผยได้โดยไม่บั่นทอนทำลายอรรถรสคือช่วงเปิดฉากเริ่มต้นในไม่กี่บทแรกๆ ซึ่งบอกเล่าผ่านมุมมองของชายหนุ่มชื่อล็อกวูด ผู้เบื่อหน่ายการเข้าสังคมและชีวิตอึกทึกพลุกพล่านในเมืองใหญ่ จึงปลีกวิเวกมาเช่าบ้านธรัชครอส เกรนจ์ในละแวกชนบท ซึ่งมีฮีธคลิฟฟ์เป็นเจ้าของ

เมื่อล็อกวูดแวะไปเยี่ยมเยียนทำความรู้จักและแนะนำตัวกับฮีธคลิฟฟ์ที่วุธเธอริง ไฮตส์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ไมล์ ชายหนุ่มก็ได้พบเจอหลายสิ่งไม่ปกติ เช่น ท่าทีไม่เป็นมิตรปิดกั้นตัวเองของฮีธคลิฟฟ์ (ซึ่งไม่พยายามจะปกปิดเก็บงำหรือรักษามารยาท), ชายชราคนรับใช้มรรยาททรามชื่อโจเซฟ, หญิงสาวสวยชื่อแคทเธอรีน (ลูกสะใภ้ของฮีธคลิฟฟ์) ผู้เกรี้ยวกราดและอมทุกข์ตลอดเวลา และชายหนุ่มท่าทางกักขฬะชื่อแฮร์ตัน

ในเบื้องต้น เงื่อนปมชวนสงสัยก็คือ แต่ละคนที่ล็อกวูดพบเจอในบ้านวุธเธอริง ไฮตส์ เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ถัดมาคือ เพราะเหตุใดแต่ละคนจึงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในแบบที่พร้อมห้ำหั่นกันตลอดเวลา แบบไม่มีใครเป็นพวกใคร ต่างเกลียดชังกันโดยทั่วหน้า และแสดงความรู้สึกดังกล่าวซึ่งๆ หน้า

นี่ยังไม่นับรวมข้อสงสัยอีกประการคือใครเป็นสามีของแคทเธอรีน

ความแปลกพิลึกที่พบเจอ ดึงดูดใจให้ล็อกวูดหาเหตุแวะไปเยี่ยมเจ้าของบ้านซ้ำอีกครั้งในสภาพอากาศหนาวเหน็บหิมะตกหนัก จนต้องค้างคืนที่วุธเธอริง ไฮตส์ ในห้องนอนล็อกวูดพบหนังสือหลายเล่ม มีลายมือเขียนแทรกเต็มไปหมดในลักษะเป็นข้อความกึ่งบันทึกประจำวัน บอกเล่าเรื่องราวไม่ปะติดปะต่อ จนชายหนุ่มเก็บไปฝันร้าย (ออกไปทางโดนผีหลอก)

วันรุ่งขึ้นเมื่อเดินทางกลับบ้าน ล็อกวูดหลงทางท่ามกลางอากาศหนาวจัด ท้ายที่สุดก็ถึงบ้านและป่วยหนักนอนซมอยู่เป็นเวลานาน ระหว่างนั้นก็ได้รับการดูแลพยาบาลโดยแม่บ้านชื่อเอลเลน ดีน

แรกเริ่มล็อกวูดก็ไต่ถามเอลเลนเกี่ยวกับครอบครัวเจ้าของบ้านเช่า แต่คำตอบที่ได้รับในแต่ละคำถามกลับยิ่งทำให้พิศวงสงสัยเพิ่มขึ้น จึงออกปากขอร้องให้เธอช่วยเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียด

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นของ Wuthering Heights เป็นคำบอกเล่าจากปากคำและมุมมองของเอลเลน

ดังได้กล่าวแล้วนะครับว่า สิ่งที่น่าทึ่งลำดับแรกของ Wuthering Heights คือเนื้อเรื่อง ซึ่งผมจำแนกแยกย่อยจุดเด่นออกได้เป็น 2 ส่วน อย่างแรกคือการเริ่มเรื่องโดยทิ้งปมชวนสงสัยเอาไว้มากมาย จากนั้นก็เป็นการตอบคำถาม เปิดเผยความลับต่างๆ (จนทำให้นิยายเรื่องนี้เข้าลักษณะของ gothic novel) อย่างต่อมาคือความเข้มข้นทางอารมณ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ผมรู้สึกผิดคาดเมื่อได้อ่าน

พูดอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ Wuthering Heights เป็นเรื่องรักระดับ ‘โคตรรักเอ็งเลย’ แต่ไม่ได้หวานชื่นโรแมนติกหรือเศร้าซึ้งตรึงใจ แต่เป็นความรักหนักหน่วงรุนแรง กระเดียดไปทางลุ่มหลงจนสุดโต่งของตัวละคร จนนำไปสู่ผลพวงมากมายติดตามมา ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยคำภาษาอังกฤษว่า dark สุดๆ

ความมืดหม่นนั้นปรากฏไปทั่ว ตั้งแต่บุคลิกของตัวละคร พฤติกรรมการกระทำ คำพูดคำจา และชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละคน

ความตระหนกตกใจและรู้สึกช็อกระหว่างการอ่านของผม ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรื่องราวทั้งหมดผิดความคาดหมาย (ว่าจะเป็นนิยายรักรันทดหวานเศร้า) โดยสิ้นเชิง แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งส่งผลมากกว่าก็คือความมืดหม่นและความโหดร้ายของเรื่องราว ซึ่งหากคำนึงถึงช่วงเวลาที่นิยายเรื่องนี้เขียนขึ้น ถือได้ว่า ‘ล้ำ’ และ ‘มาก่อนกาล’ เป็นอย่างยิ่ง

ข้างต้นเหล่านี้ได้รับการหนุนเสริมอย่างวิเศษโดยการเขียนพรรณนารายละเอียดของฉากหลังห้อมล้อม สภาพภูมิประเทศ และความเปลี่ยนแปลงผันผวนของดินฟ้าอากาศ

ตรงนี้สอดคล้องตรงกันกับที่จอห์น ซูเธอร์แลนด์ กล่าวไว้ว่า พี่น้องบรองเต้นั้นเห็นโลกแค่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ และเอมิลี บรองเต้ก็เขียนถึงเศษเสี้ยวเล็กๆ นั้นใน Wuthering Heights อย่างผู้รู้จริงถึงขั้นลึกซึ้งและแตกฉาน สร้างโลกเฉพาะที่หลากอารมณ์ความรู้สึกทั้งงดงาม โหดร้าย เปล่าเปลี่ยวเวิ้งว้าง ได้อย่างเปี่ยมด้วยเสน่ห์ตรึงใจ

ถัดจากการผูกเรื่องคิดพล็อตแล้ว ผมคิดว่าจุดเด่นต่อมาคือการดำเนินเรื่องและวิธีเล่าเรื่อง Wuthering Heights เป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องได้กระชับฉับไว มีความลื่นไหลคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา แม่นยำในการเลือกใช้มุมมองของตัวละครผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องได้อย่างน่าเชื่อถือและสมจริง และที่สำคัญคือ ‘ช่องโหว่ในโครงเรื่อง’ ดังคำกล่าวของจอห์น ซูเธอร์แลนด์นั้น เมื่อประกอบรวมกับส่วนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด กลายเป็นความชาญฉลาดของผู้เขียนในการละเว้นไม่พูดถึงสิ่งที่ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้คำตอบ ทิ้งไว้ให้เป็นความลึกลับคลุมเครือ ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ตัวละครอื่นๆ ในเรื่องคาดเดาอ้อมๆ กันไปต่างๆ นานา โดยไม่สรุปฟันธง

ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า หาก ‘ช่องโหว่ในโครงเรื่อง’ เกิดจากการเลี่ยงไม่เขียนถึงสิ่งที่ไม่รู้จัก ก็ถือได้ว่าเอมิลี บรองเต้ มีวิธีหลบที่ฉลาดมาก สามารถเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นชั้นเชิงที่ดีได้อย่างแยบยล

ในความเก่านานอายุ 170 กว่าปี Wuthering Heights มีร่องรอยของงานเขียนยุคเก่าปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าหลายชั้น (ในเรื่องที่เล่าผ่านปากคำของเอลเลน ยังมีคำบอกเล่าอีกทอดจากตัวละครอื่นที่เธอพบปะ ตรงนี้ผมนึกไปถึง Don Quixote ซึ่งใช้วิธีเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่าบ่อยมาก), บทสนทนาและสำนวนภาษา และที่สำคัญคือความเข้มข้นทางอารมณ์แบบจะแจ้งและจัดจ้าน (รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวละครที่บางครั้งก็โศกเศร้าแบบตีอกชกหัว)

อย่างไรก็ตาม การเร้าอารมณ์จัดๆ ใน Wuthering Heights ก็เป็นไปอย่างเหมาะเจาะกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง ไม่ได้ฟุ่มเฟือยฟูมฟายจนเกินทน

พูดแบบคนใจร้ายปากจัดนิสัยไม่น่าคบ ผมรับและคล้อยตามการนำเสนออารมณ์เข้มข้นสารพัดสารพันใน Wuthering Heights ได้มากกว่านิยายรักโรแมนติกของนิโคลัส สปากส์นะครับ

จุดเด่นต่อมาและเป็นส่วนที่ผมประทับใจอยู่ตลอดการอ่านก็คือความลึกของตัวละคร ซึ่งน่าทึ่งมากสำหรับนิยายที่เน้นความเข้มข้นทางอารมณ์

อารมณ์โดยรวมของ Wuthering Heights เป็น หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงเมโลดรามา (ตัวเนื้อเรื่องเองก็มีลักษณะ ‘จินตนิยาย’) แต่ตัวละครหลักเกือบทั้งหมดกลับหลุดพ้นจากลักษณะขาวจัดดำจัด มีความสลับซับซ้อน มีปมขัดแย้งในจิตใจ มีความลึก และเป็นปุถุชน หลากหลายด้านปะปนกัน โดยเฉพาะฮีธคลิฟฟ์ ซึ่งเป็นตัวละครที่โดดเด่นสุด ด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้อ่านรังเกียจชิงชังในฐานะผู้ร้ายเกือบจะตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฮีธคลิฟฟ์ก็เป็นตัวละครที่ไร้สุข ทุกข์ทรมานหนักสาหัสยิ่งกว่าใครอื่นทั้งหมดในเรื่อง และเป็นตัวละครที่น่าสงสารสุด

เรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมดของ Wuthering Heights ขับเคลื่อนด้วยความรักอันหนักแน่นรุนแรงและไม่สมหวังของฮีธคลิฟฟ์ จนเปลี่ยนเป็นความอาฆาตแค้นและการทำลายล้าง ในความคิดผม นี่คือแก่นเรื่องหลักของนิยาย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่เสนอประเด็นความรักและความแค้นอย่างลุ่มหลง Wuthering Heights ก็ร้อยโยงไปสู่แง่มุมทางเนื้อหาอื่นๆ จนสามารถตีความและวิเคราะห์กันได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านขัดแย้งตรงข้ามระหว่างความดิบเถื่อนไร้อารยะของชนบทกับความศิวิไลซ์ทันสมัยของเมืองใหญ่, เพศหญิงกับเพศชาย (แง่มุมนี้น่าสนใจตรงที่ไม่ได้นำเสนอว่าผู้หญิงอ่อนแอเปราะบาง ผู้ชายเข้มแข็ง แต่เป็นการนำเสนอว่า ทุกคนล้วนมีด้านที่เป็นหญิงและชาย ตัวอย่างเช่น แคทเธอรีน เอิร์นชอว์มีความเป็นชาย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า masculine เด่นชัดมาก ขณะที่ตัวละครฝ่ายชายอย่างเอ็ดการ์ ลินตันหรือลินตัน ฮีธคลิฟฟ์กลับเปราะบางเป็นหญิงมากกว่า), ความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น รวมไปถึงแง่มุมเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรม

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผมแค่พอจะมองเห็นกว้างๆ นะครับ ยังไม่มีเวลาอ่านซ้ำเพื่อจับสังเกตโดยละเอียดและคิดไตร่ตรองเพิ่มเติม แต่เล่าไว้พอสังเขปเผื่อท่านที่สนใจใช้เป็นเบาะแสในการตีความ รวมถึงบรรดาสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้านวุธเธอริง ไฮตส์และธรัชครอส เกรนจ์, สภาพอากาศ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save