fbpx
วิกฤตอู่ฮั่นเป็นคันฉ่องส่องสังคมจีน

วิกฤตอู่ฮั่นเป็นคันฉ่องส่องสังคมจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

01/23 ในความทรงจำของสังคมจีน เป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนประเทศจีนอย่างไม่มีวันหวนกลับ หลายคนเปรียบเทียบว่าเหมือนกับ 9/11 ในความทรงจำของคนสหรัฐฯ หรือวินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ณ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก

สำหรับชาวจีน 01/23 คือ 23 มกราคม ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น เมืองขนาดใหญ่ของจีนที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อโควิดที่เริ่มควบคุมไม่ได้ เราเห็นภาพข่าวชาวอู่ฮั่นเจ็บป่วยแน่นขนัดเต็มโรงพยาบาล สถิติผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดทวีคูณอย่างน่าสะพรึงกลัว นับเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลเมืองอู่ฮั่นที่ควรจะจำกัดการระบาดให้อยู่หมัดตั้งแต่แรกสุด

มีเสียงวิจารณ์ว่า ในช่วงเริ่มต้น รัฐบาลเมืองอู่ฮั่นปกปิดข้อมูลหรือไม่ได้รายงานข้อมูลทางการแพทย์ล่าสุดอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าโควิดสามารถติดต่อจากคนสู่คน ในช่วงแรก รัฐบาลยังยืนยันในข่าวทางการว่า ไม่มีหลักฐานว่าโรคนี้แพร่จากคนสู่คน และตั้งข้อสันนิษฐานว่าการแพร่เชื้อน่าจะเป็นการแพร่จากสัตว์ (เช่น ค้างคาว) สู่คนมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการระบาดในตลาดค้าส่งอาหารสด

ต่อมา เมื่อทางการแพทย์สืบทราบได้ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน รัฐบาลเมืองอู่ฮั่นก็อ้างกฎหมายด้านสาธารณสุขของจีนว่า นี่เป็นข้อมูลละเอียดอ่อนและอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องรอให้ทางรัฐบาลกลางอนุมัติให้เปิดเผยข้อมูลนี้เสียก่อน จึงจะออกคำเตือนสู่ประชาชนได้ กระบวนการล่าช้าอยู่เป็นหลักหลายวัน โดยที่การระบาดนั้น ไม่กี่วันก็สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างทวีคูณ

รู้ตัวอีกที อู่ฮั่นก็กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดหนักแห่งแรกของจีนและโลก

นี่เป็นบาดแผลความผิดพลาดที่ต่อมาจีนถูกตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุดหย่อน มีการศึกษาจากนักวิชาการด้านระบาดวิทยาที่ระบุว่า หากจีนใช้มาตรการเคร่งครัดในการตรวจค้นและแยกผู้ป่วยอย่างจริงจังเร็วขึ้นกว่าเดิม 3 สัปดาห์ ก็จะดับไฟแต่ต้นลมได้ อย่างไรก็ตาม ทางการจีนให้เหตุผลว่า ช่วงแรกความเข้าใจเกี่ยวกับโรคยังน้อย และไม่มีใครทราบว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการน้อยจำนวนมากที่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ การจะใช้มาตรการยาแรงตั้งแต่แรกนั้น เป็นใครก็ต้องเห็นว่าไม่เหมาะสม

ต่อมา เรายังได้ทราบเรื่องราวของนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยง จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลอู่ฮั่น ซึ่งออกมาโพสต์ในโซเชียลมีเดียเตือนเรื่องการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ปริศนาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2019 โดยระบุว่า ในโรงพยาบาลอู่ฮั่นมีคนติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ 7 รายแล้ว ขอให้สาธารณชนระวังสุขภาพของตน แต่นายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวมาตักเตือนให้เลิกเผยแพร่ข้อความที่อาจสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน ต่อมานายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงเองก็ติดเชื้อไวรัสโควิดเองด้วยเมื่อมีการระบาดในโรงพยาบาล เขามีอาการเข้าขั้นวิกฤตและเสียชีวิตในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020

จุดเปลี่ยนสำคัญในทิศทางการรับมือไวรัสของจีน เริ่มต้นจากช่วงกลางเดือนมกราคม ปรากฎเค้าชัดเจนว่าอู่ฮั่นมีแนวโน้มจะระบาดหนัก และวิกฤตโควิดกำลังจะกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลจีน ซ้ำรอยสถานการณ์โรค SARS เมื่อปี ค.ศ. 2003 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลปักกิ่งเองก็ปกปิดข้อมูลในช่วงแรก (แต่ตอนนั้นปกปิดเป็นหลักหลายเดือน) จนโรคลุกลามกลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขระดับภูมิภาค

01/23 คือวันที่รัฐบาลกลางกลับลำแนวทางการสื่อสารกับประชาชนชนิด 360 องศา จากที่รัฐบาลอู่ฮั่นคอยบอกประชาชนว่าโรคยังควบคุมได้ ไม่ร้ายแรง และยังไม่มีหลักฐานว่าแพร่จากคนสู่คน กลายเป็นรัฐบาลกลางสั่งการด่วนให้ปิดเมือง และสั่งการด่วนให้สร้างโรงพยาบาลสนามข้ามคืนข้ามวัน กำหนดให้ทุกคนในอู่ฮั่นล็อกดาวน์อยู่ที่บ้านอย่างเคร่งครัด ยกระดับสงครามไวรัสเป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการตรวจเชื้ออย่างกว้างขวาง สืบหาผู้ป่วย และแยกผู้ป่วยอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งระดมสรรพกำลังแพทย์อาสาทั่วประเทศเข้าไปช่วยที่เมืองอู่ฮั่น

มาถึงจุดนี้ นายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงกลายเป็นฮีโร่ ไม่ใช่แต่เฉพาะในหมู่พลเมืองเน็ตชาวจีน แต่ยังได้รับการยกย่องจากรัฐบาลกลางว่าเป็นบุคคลต้นแบบที่น่ายกย่องอีกด้วย

ยาแรงของรัฐบาลจีน ส่งผลให้จีนสามารถควบคุมการระบาดได้ในต้นเดือนมีนาคม และได้ฉายาว่าเป็นประเทศ FIFO (First In First Out) คือเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่การระบาดและเป็นประเทศแรกที่พ้นจากการระบาดได้สำเร็จ

จากที่ล้มเหลวในการหยุดยั้งการระบาดในช่วงเริ่มต้น มาสู่ความสำเร็จในการควบคุมการระบาด สะท้อนลักษณะเด่นของสังคมจีนยุคปัจจุบัน 4 ประการ

ข้อแรกคือ ความเข้มแข็งและอำนาจมหาศาลของรัฐบาลกลาง ซึ่งจริงๆ ก็มีทั้งส่วนที่เป็นคุณและโทษ ส่วนที่เป็นโทษก็คือ ความหวาดกลัวจะถูกรัฐบาลกลางเล่นงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่แรก และต้องทำเรื่องขอคำแนะนำแนวทางจากรัฐบาลส่วนกลางก่อน จนช้าเกินการ

ส่วนที่เป็นคุณคือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเด็ดขาด รัฐบาลกลางสามารถสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นยาแรงที่ยากที่ประเทศอื่นๆ จะทำได้ (หากประเทศนั้นเป็นแห่งแรกที่มีการระบาด และยังไม่เคยเห็นตัวอย่างจากจีนมาก่อน) รัฐบาลกลางสามารถระดมสรรพกำลังและทรัพยากรทางการแพทย์ที่จำเป็นทั้งหมดเข้าช่วยอู่ฮั่นในทันที และยังควบคุมการสื่อสารแนวทางกับประชาชนที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พลิกกระแสวิกฤตศรัทธากลายมาเป็นพลังศรัทธาได้อย่างรวดเร็ว

สังคมจีนกับสหรัฐฯ นั้นมีลักษณะตรงกันข้าม คนจีนเกลียดรัฐบาลท้องถิ่น มักคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นขี้โกงและไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ศรัทธารัฐบาลกลาง เพราะรัฐบาลกลางคอยมาตามแก้ไขปัญหาที่เริ่มจะกลายเป็นวิกฤต และรัฐบาลกลางควบคุมสื่อ จึงไม่มีข่าวร้ายเกี่ยวกับผู้นำส่วนกลางให้ชาวบ้านนินทา รัฐบาลท้องถิ่นในจีนจึงกลายเป็นแพะรับบาปเสมอ ขณะที่ในสหรัฐฯ คนสหรัฐฯ เกลียดรัฐบาลกลาง แต่ชอบรัฐบาลท้องถิ่น เพราะรัฐบาลท้องถิ่นได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยตรง และต้องตอบสนองเขา ขณะที่รัฐบาลกลาง แม้คนในรัฐนี้อาจไม่ได้เลือกทรัมป์ แต่เมื่อทรัมป์ชนะ คนทุกรัฐก็ได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีด้วย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า รัฐบาลกลางในจีนเข้มแข็ง ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในจีนอ่อนแอ ส่วนในสหรัฐฯ นั้นตรงข้ามกัน

ศาสตราจารย์จางไท่ซู ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการเมืองจีน มหาวิทยาลัยดุกส์ ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทั้งสองโมเดลล้วนมีข้อเสีย โมเดลจีนเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในช่วงแรก เพราะรัฐบาลท้องถิ่นไม่กล้าตัดสินใจอะไร ต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลกลางอย่างเดียว ส่วนโมเดลของสหรัฐฯ ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ระบาดหนัก เพราะรัฐบาลกลางอ่อนแอเกินไป ไม่สามารถระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์มาช่วยในพื้นที่ที่มีการระบาดได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังไม่สามารถออกแนวทางให้ทุกรัฐดำเนินการให้ตรงกันเพื่อควบคุมการระบาด กลายเป็นต่างรัฐต่างคนต่างมีมาตรการหนักเบาไม่เท่ากัน จนยากที่จะควบคุมการระบาดในภาพใหญ่

ศาสตราจารย์จางสรุปอย่างน่าคิดอีกขั้นว่า ที่ตลกก็คือ ภายหลังวิกฤตโควิด สิ่งที่จะเกิดขึ้นในจีนคือ ความนิยมชมชอบรัฐบาลกลางและความไม่พอใจรัฐบาลท้องถิ่นจะสูงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลกลางจะรวบอำนาจเข้าสู่ตนมากขึ้น ทั้งๆ ที่อำนาจรัฐบาลกลางที่มากเกินไปเป็นสาเหตุของความล้มเหลวในช่วงแรก ขณะที่ในสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกัน ความนิยมรัฐบาลกลางจะยิ่งตกต่ำลง ความศรัทธารัฐบาลท้องถิ่นจะยิ่งมากขึ้น ผลคือรัฐบาลกลางในสหรัฐฯ จะมีอำนาจและบทบาทน้อยลงในยามวิกฤต ทั้งที่สาเหตุของความล้มเหลวของสหรัฐฯ เป็นเพราะรัฐบาลกลางมีอำนาจและบทบาทน้อยเกินไป

ข้อสังเกตข้อที่สอง คือ วิกฤตโควิดครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทของสังคมจีนที่แตกต่างจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤต SARS เมื่อปี ค.ศ. 2003 ตรงที่บัดนี้จีนได้กลายมาเป็นสังคม 5.0 ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Big Data เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ดังนั้น ความสำเร็จของจีนส่วนหนึ่งจึงเป็นความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด เราจะเห็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเมือง การมีแอปพลิเคชันในการเก็บข้อมูลการเดินทางและข้อมูลสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่และเพื่อตามหาผู้เสี่ยงติดเชื้อ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยวิเคราะห์ผล CT Scan จนถึงการเป็นสังคมไร้เงินสดและสังคมไร้สัมผัสสมบูรณ์แบบที่ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส

ข้อสังเกตต่อมา คือ จีนดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นการนำโดยเทคโนแครตอย่างสมบูรณ์ ศาสตราจารย์จงหนานชาน แพทย์ระดับตำนานของจีนซึ่งเคยเป็นผู้นำทางสาธารณสุขเมื่อครั้งต่อสู้กับโรค SARS ได้กลายเป็นคนที่เสียงดังและทรงอิทธิพลที่สุดทั้งต่อรัฐบาลจีนและสังคมจีน โดยในวันที่ตัดสินใจปิดเมืองอู่ฮั่น คงมีการทำโมเดลวิเคราะห์แล้วว่าถ้าไม่ใช้มาตรการเด็ดขาดปิดเมือง สุดท้ายจะหายนะทั้งประเทศอย่างไร ขณะที่ในตำราโรคระบาดมักเขียนว่า ในทางทฤษฎี สิ่งที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดคือปิดเมือง แต่เมื่อการปิดเมืองเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ต้องใช้มาตรการอื่น เช่น รักษาระยะห่างทางสังคม ลดการเดินทาง ฯลฯ แต่ในที่ประชุมในรัฐบาลกลางของจีนนั้น การปิดเมืองไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ในตอนที่จีนปิดเมือง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจอู่ฮั่นและเสรีภาพของประชาชน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า หากจีนเป็นสังคมประชาธิปไตย อาจมีทางออกที่พอเหมาะพอควรและสมเหตุสมผลมากกว่านี้ เสียงวิจารณ์ชี้ว่า การปิดเมืองกลับจะทำให้คนยิ่งหวาดวิตก และไม่กล้าเข้าตรวจหรือรายงานอาการ มีการเปรียบเทียบว่าหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับเสรีภาพก็สามารถควบคุมการระบาดได้ โดยใช้มาตรการทางเลือกอื่น เช่น การตรวจเชื้ออย่างปูพรมและเข้มข้นในเกาหลีใต้ การส่งเสริมการส่งเสริมการรักษาระยะห่างทางสังคมและการใช้หน้ากากอนามัยในญี่ปุ่น การติดตามหาผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ (tracing) ของสิงคโปร์และไต้หวัน เป็นต้น

ข้อสังเกตสุดท้าย คือ จีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงมาก่อนเศรษฐกิจ หากย้อนดูวิกฤตการเมืองของจีนในยุคสมัยใหม่ ที่หนักที่สุดคือเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989 แต่ที่หนักเป็นอันดับสองก็คือวิกฤตโรค SARS เมื่อปี ค.ศ. 2003 เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับวิกฤตศรัทธาและความชอบธรรมของรัฐบาลโดยตรง หากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน ย่อมจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่รัฐบาลกลางทุ่มสุดตัวเพื่อควบคุมการระบาด ก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตน และสำหรับความชอบธรรมทางการเมืองในบริบทของจีน เสถียรภาพในสังคมสำคัญกว่าปากท้อง

ผมเพิ่งฟังสัมภาษณ์ศาสตราจารย์เหยาหยาง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีน ซึ่งได้แสดงความงุนงงเกี่ยวกับความล้มเหลวในการควบคุมการระบาดของสหรัฐฯ โดยท่านบอกว่า ถ้าสถานการณ์ในจีนลุกลามแบบในสหรัฐฯ รัฐบาลจีนคงอยู่ไม่ได้ และประชาชนจีนคงไม่สามารถยอมรับรัฐบาลได้อีกต่อไป ในขณะที่ในสหรัฐฯ ขอเพียงรัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำตามมาตรฐานขั้นต่ำ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ดูเหมือนพ้นวิสัยของรัฐบาลและยอมรับได้ ในขณะที่ในเมืองจีน ประสิทธิผลสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด นี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจีนเลือกใช้ยาแรง

จากวันนี้เมื่อมองย้อนหลังกลับไปในด้านการควบคุมการระบาด คงต้องยอมรับว่า ยาแรงของรัฐบาลจีนได้ผลชัดเจน แต่คำถามที่ตามมาคือเรื่องผลข้างเคียงจากยาแรงเหล่านี้ ทั้งผลลบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน รัฐบาลจีนคลายปมหนึ่งสำเร็จ แต่ก็เพิ่มเงื่อนปมใหม่ให้ต้องเร่งตามแก้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save