fbpx

กลับมาทำงาน 5 วันกันหรือยัง? ว่าด้วยการงัดข้อกันของนายจ้าง vs. ลูกจ้าง

1. ปลายปีที่แล้วมีรายงานที่น่าสนใจจากบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) บอกว่าคนหันมาใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ทีม (MS Team) กันมากขึ้น และไมโครซอฟท์ก็ได้ข้อมูลใหม่ๆ จากผู้ใช้งาน มีข้อมูลบางอย่างที่สะกิดให้เราต้องตั้งข้อสังเกตกันต่อ

2. ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดใหญ่ ไมโครซอฟท์พบว่ามีจำนวนการประชุมต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 153% ในเวลาทำงาน พนักงานทำงานหลายอย่างระหว่างการประชุมด้วยมากถึง 42% ซึ่งแม้ว่าหัวหน้างานของพวกเขาไม่เห็น แต่ก็รับรู้ได้ว่าประสิทธิภาพการทำงานอาจลดลง เพราะจากการสำรวจของไมโครซอฟท์ พบว่า 85% ของหัวหน้าไม่มั่นใจว่าลูกน้องกำลังทำงานเต็มที่หรือเปล่า

3. ข้อมูลนี้เริ่มสั่นคลอนความเชื่อเรื่องการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from anywhere) ของเรา – หรือถึงเวลาพนักงานจำต้องย้ายกลับเข้าออฟฟิศเหมือนเดิมแล้วหรือเปล่า

4. ตัวผมเองเผชิญหน้ากับการทำงานทั้งสองอย่าง ทั้งในรูปแบบ ‘ต้อง’ ไปทำงานที่บริษัทและไม่ต้องไปก็ได้ พบว่าทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสีย มีข้อที่ทำได้และทำไม่ได้ ตัวอย่างเช่น งานในโรงงานที่มีสายพานการผลิต แน่นอนส่วนนี้ได้รับผลกระทบเต็มๆ การหาทางที่ให้พนักงานมาทำงานโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุดเป็นเรื่องยากและท้าทาย เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายของบริษัท ขณะเดียวกันงานบางส่วนทำงานที่บ้านดีกว่า เช่น กราฟฟิกดีไซน์หรือฝ่ายการตลาดกลับทำงานได้ดีขึ้น และบริษัทสามารถลดการเช่าที่จอดรถลง การได้ทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนจัดการชีวิตของตัวเองได้ดี ถือเป็นโบนัสของพนักงาน ฉะนั้นรูปแบบการเข้างานของบริษัทจำนวนไม่น้อย ณ เวลานี้ เลือกการทำงานแบบแบบไฮบริด คือผสมผสานกันไป

5. เท่าที่ผมรู้มา บริษัทข้ามชาติที่เช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ประกาศเปลี่ยนนโยบายการเข้ามาทำงานสำหรับพนักงานบางแผนก โดยไม่ต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศหากไม่จำเป็นจริงๆ ลดการเช่าพื้นที่สำนักงานลง แนวโน้มนี้เป็นทั่วโลก

6. รายงานของ JPMorgan Chase บอกว่าอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน กำลังเปลี่ยนระบบการเช่าใหม่ กล่าวคือสัญญาเช่าถูกปรับระยะเวลาให้สั้นลง จัดพื้นที่สำนักงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น บริษัทกำลังลดพื้นที่เช่าแต่ขยับไปมองหาพื้นที่เช่าที่ดีขึ้น (เช่น ใหม่ขึ้น เดินทางสะดวกขึ้นหรือใกล้ย่านที่อยู่อาศัยมากขึ้น) ส่งผลให้ตึกอาคารสำนักงานเก่าๆ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ

7. ข้อมูลอีกอย่างที่น่าสนใจ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก พบว่าในช่วงฤดูร้อนของปี 2022 ยอดการเดินทางในย่านธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ชี้ว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศเริ่มเดินทางกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น แต่ยอดการเดินทางก็ยังน้อย คือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ การใช้งานรถไฟใต้ดินในวันหยุดสุดสัปดาห์ พบว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่และมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้งานในวันธรรมดา ส่วนข้อมูลการใช้งานรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอนพบว่าเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด

8. ในกรุงเทพฯ BTS ก็มีการเก็บข้อมูลเช่นกัน รายงานของ BTS บอกเพียงว่าจำนวนของผู้โดยสารช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลับมาเกือบเท่าก่อนการเกิดการระบาด คือประมาณเกือบ 7 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับช่วงที่มีการระบาดหนักช่วงต้นปี 2022 ผู้โดยสารหายไป 20% แต่หากสังเกตจากปัญหาเรื่องฝุ่นควันและปริมาณรถบนถนนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ากลับมาติดเหมือนเดิม เหมือนกับช่วงก่อนระบาด ระยะเวลาการเดินทางไปกลับที่ทำงานของผมเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 15-20 นาที หากดูจากข้อมูลการเดินทางก็น่าจะพอเดาได้ว่าในกรุงเทพฯ คนออกมาทำงานแบบ 5 วันเต็มมากขึ้นมาก

9. ไม่ใช่แค่บริษัทที่ปรับ พนักงานบริษัทหลายแห่งก็ปรับตัว มีแรงงานจำนวนมากย้ายออกจากเมืองใหญ่ มาทำงานในเมืองที่มีค่าครองชีพที่ถูกลง หรือออกมาเช่าที่อยู่ที่ไกลจากสำนักงานมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย (เพราะไม่ต้องไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน) จนถึงตอนนี้ดูเหมือนวัฒนธรรมการทำงานของหลายที่เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่จะสอบถามนายจ้างว่า มีนโยบายในการทำงานแบบ work from anywhere ให้พนักงานหรือไม่ โดยเฉพาะพนักงาน Gen Y และ Gen Z

10. แต่ดูเหมือนทัศนคติของนายจ้างบางส่วนก็ยังไม่ได้เปลี่ยนตาม หัวหน้างานส่วนมากยังยึดติดกับการทำงานแบบเดิมมากกว่า ยิ่งมีการคาดการณ์กันว่าภาวะเศรษฐกิจที่ส่อแววถดถอยในปี 2023 อาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทอยากให้พนักงานกลับมาตอกบัตรเข้าสำนักงานกันมากขึ้นหรือเปล่า? ซึ่งแนวโน้มนี้ก็เริ่มมีให้เห็นในสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้วเรื่องรูปแบบการทำงาน แม้ว่าบริษัทอาจจะประหยัดค่าพื้นที่สำนักงาน แต่การทำงานแบบผสมระหว่างออฟฟิศและที่บ้านอาจมาพร้อมต้นทุนแฝงอื่นโดยเฉพาะต้นทุนทางวัฒนธรรมซึ่งบางองค์กรอาจยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เช่น ธุรกิจอย่างธุรกิจด้านการเงินที่ต้องถูกควบคุมตามข้อกำหนดต่างๆ การทำงานนอกสำนักงานอาจส่งผลเชิงลบได้

11. แล้วการทำงานแบบไฮบริดที่คนรุ่นใหม่ใฝ่หา อยากได้ความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต จะหายไปและกลับมาทำงานแบบ 9 to 5 เหมือนเดิมหรือเปล่า

12. เรื่องนี้เหมือนหนังภาคต่อ… 

13. ผมคิดว่าปีนี้ 2023 จะเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาว่า รูปแบบการทำงานจะดำเนินไปในทิศทางเพราะ

  • a. การเริ่มฟื้นตัวของธุรกิจอาจมาพร้อมกับแรงงานที่ขาดแคลน ส่งผลให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่…
  • b. อาจถูกลดทอนความสำคัญจากภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอยด้วยเช่นกัน ฉะนั้นตอนนี้เป็นเรื่องของการต่อรองของทั้งสองฝั่ง คนลาออกจากงานไม่ได้ง่ายๆ เพราะหางานยาก การที่ต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์อาจถูกต่อต้านน้อยลง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้น รายงานของ EPHA (Europe’s Leading NGO Alliance Advocating for Better Health) ของสหภาพยุโรปรายงานว่าโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนเข้าสู่การทำงานยุคดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าการเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อกำลังเป็นตัวผลักดันให้คนเปลี่ยนการทำงานอีกครั้ง เพราะนายจ้างหลายคนเริ่มเป็นกังวลกับประสิทธิภาพของการทำงานที่บ้านหรือข้างนอก ซึ่งพวกเขาไม่สามารถรู้ได้จริงๆ ว่าทำงานได้ผลแค่ไหน
  • c. อีกด้านหนึ่งก็น่าสนใจ มีการสำรวจของ IDG บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายดิจิทัล สำรวจความคิดเห็นของหัวหน้าแผนก IT กว่า 2,000 บริษัททั่วโลก ทุกภูมิภาค คนกลุ่มนี้ก็มีความคิดเห็นกับการทำงานแนวใหม่ เนื่องจากพวกเขานี่แหละที่ถูกร้องเรียกหามากที่สุดยามที่บริษัทกำลังจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ digital transformation ซึ่งพวกเขาพบว่า การทำงานที่ไหนก็ได้ส่วนหนึ่งก็เพิ่มความยากลำบากให้แผนก IT เพราะไม่ใช่ทุกบริษัทจะเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้ไว้ดีพอ ปัญหาที่พบก็คือ การโจมตีจากมัลแวร์เพิ่มมากขึ้น ระบบที่รองรับการทำงานแบบ remote working ยังไม่ดีพอ อินเตอร์เน็ตช้า และคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน แต่ส่วนดีอีกอย่างก็คือ มันทำให้ข้อมูลเข้าไปอยู่ในระบบมากขึ้นกว่าก่อนเกิดการระบาด หลายบริษัทตัดสินใจ ณ เวลานั้นเลยที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเข้าสู่โลกดิจิทัล

14. ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเราโผล่พ้นน้ำมาจากกลั้นหายใจพักใหญ่ คงต้องรอสักพัก

15. แต่กระนั้น การปลดพนักงานออกอย่างมากมายของหลายๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งกูเกิล อะเมซอน และล่าสุดไมโครซอฟท์ เป็นเรื่องที่เรายังเดาทางไม่ถูกเหมือนกันว่า การปลดพนักงานนี้หมายถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาแทนที่คนอย่างจริงจัง (เราเริ่มพูดถึงเรื่อง Industry 4.0 การทำงานรูปแบบใหม่ที่ถูกทำให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบและ Digital Twins ที่ใช้ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ในการออกแบบสินค้าเพื่อให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพื่อลดเวลาการทำงานและการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนการวางจำหน่าย) หรือเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อต่อรองกับพนักงานว่าทางเลือกในโลกอนาคต มีไม่มากนัก 

16. 2023 จึงเป็นปีแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อของวัฒนธรรมใหม่ของการทำงานจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save