fbpx
‘กร่าง’ เชิงโครงสร้าง

‘กร่าง’ เชิงโครงสร้าง

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

รายงานข่าวของเวิร์คพอยท์ออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 อ้างถึงผลการสำรวจของซูเปอร์โพลเรื่อง “เสียงสะท้อนของคนในโซเชียลต่อพฤติกรรม ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐกับตำรวจภูเก็ต” จากกลุ่มตัวอย่าง 10,401 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับคลิปการสนทนาระหว่าง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายสิระ เจนจาคะ และรองผู้กำกับการ สภ.กะรน จังหวัดภูเก็ต พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ ในหัวข้อที่ว่าด้วยการอารักขา ส.ส. ระหว่างการเดินทางมาทำงานที่ภูเก็ต

ความน่าสนใจของผลการสำรวจนี้คือทัศนคติของผู้ที่ถูกสำรวจเกือบทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมองว่า ส.ส. ท่านนี้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง กล่าวคือ

  • 98.5% เห็นว่า ส.ส.ท่านนี้มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และ 1.5% เห็นว่าไม่มีปัญหา
  • 50.27% เห็นว่า ส.ส.ควรขอโทษตำรวจ 48.53% เห็นว่าควรลาออก และ 1.2% เห็นว่าไม่ต้องรับผิดชอบ
  • 95.74% เห็นว่าผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐควรขอโทษประชาชนและสังคม และ 4.26% เห็นว่า ไม่ควร

ผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีเกณฑ์การประเมินคุณค่าที่คล้ายคลึงกันจนเกือบจะเป็นเอกฉันท์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางวาจาและท่าทางแบบที่เราเรียกกันในภาษาปากว่าการ ‘ทำกร่าง’ คือสามารถตัดสินได้ในทันทีว่าพฤติกรรมและเสียงพูดที่ได้เห็นและได้ยินนั้นคืออาการกร่าง พร้อมทั้งประเมินคุณค่าได้อย่างตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ผมเองได้ดูและฟังคลิปตัวเต็มของการปะทะสังสรรค์ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านนั้นและรองผู้กำกับ สภ.กะรน เพื่อพิจารณาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ระหว่างการสนทนา ถึงทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ดราม่าได้ในช่วงเวลาอันสั้น และลักษณะใดที่ปรากฏในคลิปการสนทนานี้ ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้สนทนาฝ่ายหนึ่งกำลังพูดหรือทำตัวกร่าง

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า ‘กร่าง’ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 ให้นิยามว่าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง “อาการที่ทำหรือพูดจาวางโต” ในขณะที่คำว่า ‘วางโต’ เป็นคำกริยาหมายถึง “ทำท่าใหญ่โต, ทำท่าเป็นนักเลงโต, วางก้าม ก็ว่า”

แล้วแบบไหนล่ะที่เรียกว่าทำท่าหรือพูดจาเป็นนักเลงโต? มันคือการใช้เสียงดัง? การตะคอก? การใช้คำหยาบคาย? การพูดแทรกโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาตอบโต้?

หรือเอาเข้าจริงแล้ว การทำกร่างอาจไม่ได้ถูกนิยามจากลักษณะการพูดและท่าทางประกอบเท่านั้น แต่อาจรวมถึงสถานะทางสังคมของคู่สนทนาและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสองฝ่ายด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลักษณะของการใช้ภาษาและอวัจนภาษาชุดเดียวกัน อาจถูกประเมินค่าแตกต่างกันได้ หากสถานะและความสัมพันธ์ของผู้ร่วมสนทนาแตกต่างออกไป

เพื่อให้ขอบเขตของการพิจารณา ‘คลิปภูเก็ต’ นี้มีความชัดเจนเพียงพอแก่การวิเคราะห์ ผมจะกำหนดประเด็นการพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็น คือ ส่วนที่เกี่ยวกับเสียง-ถ้อยคำ-หัวข้อของการสนทนาในคลิป และส่วนที่เกี่ยวกับสถานะและความสัมพันธ์ของคู่สนทนา

ทั้งนี้ หากพิจารณาเนื้อหาในคลิปดังกล่าว จะพบว่าประกอบด้วยหัวข้อการสนทนา 3 หัวข้อดังนี้

หัวข้อแรก เกี่ยวกับการจัดการปัญหาเรื่องการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในเขตตำบลกะรน ประเด็นของการสนทนาก็คือ ส.ส.สิระ ระบุว่าตำรวจควรที่จะเข้าไปดำเนินการ ในขณะที่รองผู้กำกับโต้แย้งว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้เป็นเรื่องการสั่งระงับการก่อสร้างและการปรับ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง (ความยาวของการสนทนาช่วงนี้ประมาณ 2.40 นาที)

หัวข้อที่สอง เป็นเรื่องที่ ส.ส.สิระ พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่ารองผู้กำกับบริหารงานบกพร่อง เนื่องจากไม่จัดกำลังตำรวจมาอารักขาคณะทำงานของ ส.ส.สิระ ในขณะที่รองผู้กำกับพยายามโต้แย้งว่าทางตำรวจได้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง และยินดีที่จะให้การดูแลคณะทำงานของ ส.ส. หากได้รับการร้องขอ ข้อขัดแย้งในการสนทนาเกิดขึ้นเมื่อ ส.ส. บอกว่าจะให้โอกาสรองผู้กำกับแก้ตัวใหม่ ซึ่งรองผู้กำกับตีความว่า เป็นการระบุว่าเขาเป็นฝ่ายผิด จึงพยายามที่จะปฏิเสธ ในขณะที่ ส.ส.สิระ พยายามจี้ให้รองผู้กำกับยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดจริง (ความยาวของการสนทนาช่วงนี้ประมาณ 2.20 นาที)

หัวข้อที่สาม เป็นเรื่องที่ ส.ส.สิระ ตำหนิรองผู้กำกับว่าพูดขึ้นเสียง โดยเนื้อหาสาระของการสนทนาบางส่วนกลับไปซ้ำกับหัวข้อที่สอง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องข้อกล่าวหาที่ว่ารองผู้กำกับพูดจาขึ้นเสียงกับผู้หลักผู้ใหญ่ โดยรองผู้กำกับพยายามชี้แจงว่าตนเองไม่ได้ขึ้นเสียง แต่กำลังให้ข้อมูลว่าไปทำงานที่อื่นมา จึงไม่ได้มาดูแลคณะของ ส.ส.สิระ ในที่สุดรองผู้กำกับต้องกล่าวขอโทษ ส.ส.สิระ และทั้งสองคนแยกกันไปคุยเป็นการส่วนตัว โดยไม่มีการบันทึกวิดีโอการสนทนาแต่อย่างใด (ความยาวของการสนทนาช่วงนี้ประมาณ 3 นาที)

ถ้าฟังเนื้อหาของการสนทนาต่อเนื่องกันทั้งสามหัวข้อ จะพบว่ามีการเผชิญหน้าระหว่างคู่สนทนาตั้งแต่หัวข้อแรกแล้ว โดยฝั่ง ส.ส.สิระ พยายามชี้ให้เห็นว่าตำรวจมีหน้าที่โดยตรงที่จะเข้าไปจับกุมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ในขณะที่ฝั่งตำรวจพยายามโต้แย้งว่าฝั่ง ส.ส.สิระ มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และเมื่อการยกข้อกฎหมายไม่เป็นผล ทางฝั่ง ส.ส.สิระ ก็ยกเรื่องผลประโยชน์ของชาติและความเป็นคนไทยขึ้นมาอ้างให้ตำรวจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าฝั่งตำรวจอ้างเฉพาะความชอบธรรมทางกฎหมายเป็นฐานสนับสนุนข้อโต้แย้ง ขณะที่ฝั่งนักการเมืองใช้ข้ออ้างที่หลากหลายกว่าในการสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล

ผมขอคัดบทสนทนาบางช่วงในการสนทนาหัวข้อแรก มาแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างคู่สนทนาตามที่กล่าวถึงข้างต้น (มีการละบางส่วนเพื่อความกระชับ)

 

ตัวอย่างที่ 1

สิระ: ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เห็นผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ใช้คำว่าซึ่งหน้านะ เพราะว่ามีคำสั่งทางปกครองแล้วเนี่ย ต้องดำเนินคดีจับกุม 

ประเทือง: น่าจะไม่ใช่มั้งครับ (ส.ส.สิระพูดแทรก: นี่มันซึ่งหน้าแล้วนี่) คืออย่างงี้ฮะท่าน ส.ส. ผมขออธิบายกฎหมายนี้ ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ศึกษามาชัดเจน แต่ว่าเท่าที่ทราบเบื้องต้น … คือเวลาที่ทางฝ่ายเทศบาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้าง และหากยังฝ่าฝืนอยู่ เทศบาลจะมีคำสั่งปรับเป็นรายวันหรืออะไรต่างๆ ก็ว่าไป แต่ไม่ใช่เป็นกรณีที่พอละเมิดปุ๊บแล้วก็ต้องมาจับกุมกัน ไม่ใช่ อันนี้ตามกฎหมายที่ผมศึกษามา ([ผู้พูด 1 แทรก] อย่างน้อยที่สุดก็ต้องดำเนินคดี) … พอสั่งระงับปุ๊บ ก็ระงับภายในกี่วัน แต่หากละเมิดนับจากวันนั้น จะมีค่าปรับเท่าไหร่ ประมาณนี้ ไม่ใช่พอสั่งระงับปุ๊บ พอเห็นก่อสร้างก็เข้าไปจับเลย เท่าที่ผมศึกษามานะ แต่ก็ไม่ฟันธง

สิระ: ในเมื่อมันมีการทำให้เกิดความเสียหายนะ ถ้าเราเป็นคนไทยอยู่นะ นะครับ เรามาช่วยกันมั้ย ผมถือว่าพวกเราเนี่ยเป็นคนไทย รุกป่าขนาดนี้ นส.3 ก็โดนเพิกถอนแล้ว เรามาช่วยกันมั้ย ผมจากกรุงเทพ ท่าน ส.ส.มาจากสงขลา เพื่อมาปกป้องประโยชน์ของชาติเนี่ย ไปบอกเค้าว่ามันผิด

หลังจากผ่านการสนทนาหัวข้อแรก ซึ่งเป็นเพียงการเกริ่นเข้าสู่เนื้อหาจริงของการสนทนาในหัวข้อที่สอง ซึ่งได้แก่การเสนอข้อร้องเรียนจากฝั่งส.ส.สิระ ว่าไม่มีตำรวจมาดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่คณะของตน โดยที่ฝั่งตำรวจชี้แจงว่ามีการเตรียมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แล้ว เพียงแต่เป็นการเตรียมพร้อมในที่ตั้ง ไม่ได้ออกไปอำนวยความสะดวกในทันที

ความน่าสนใจของการสนทนาตั้งแต่เริ่มต้นในหัวข้อที่สองเป็นต้นไปก็คือ ส.ส.สิระ เริ่มใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘พี่’ ปนกับ ‘ผม’ และแทน พ.ต.ท.ประเทืองว่า ‘น้อง’ และ ‘คุณ’ ในขณะที่ พ.ต.ท.ประเทืองยังเรียกตนเองว่า ‘ผม’ แต่หันไปเรียก ส.ส.สิระว่า ‘พี่’ โดยทั้งสองฝ่ายได้ใช้คำเครือญาติแทนสรรพนาม ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมแบบสนิทสนมแต่ไม่เท่าเทียม แสดงให้เห็นว่าฝั่ง ส.ส.สิระ พยายามที่จะพาตัวเองขึ้นไปอยู่บนพื้นที่สูงทางสังคมเพื่อยึดกุมสถานะที่เหนือกว่าฝั่งตำรวจให้ได้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากข้ออ้างเรื่องความอาวุโสทางด้านวัยและหน้าที่ กับข้ออ้างด้านการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ฝั่ง ส.ส.สิระไม่สามารถยกเหตุผลที่หนักแน่นเกี่ยวกับระเบียบหรือข้อปฏิบัติทางราชการ ที่กำหนดให้ตำรวจต้องจัดกำลังไปอารักขาหรืออำนวยความสะดวกแต่อย่างใด

อำนาจกึ่งทางการที่ ส.ส.ใช้อ้างเพื่อร้องขอการสนับสนุนจากตำรวจนี้เอง เป็นปัจจัยผลักดันการสนทนาระหว่างสองฝ่ายไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีระเบียบปฏิบัติที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าฝั่งตำรวจบกพร่องต่อหน้าที่ที่ไม่ได้มาดูแล ส.ส. ขณะเดียวกันฝั่งตำรวจก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าตัวเองไม่ได้มีหน้าที่ตามระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ ให้ต้องจัดกำลังมาดูแล ส.ส. การใช้อำนาจกึ่งทางการเป็นฐานของการพูดข่มขู่ตำรวจนี้เอ งที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าพฤติกรรมของ ส.ส.สิระ มีลักษณะเป็นการทำกร่าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

ตัวอย่างที่ 2

สิระ: ผมไม่ได้ขู่นะ ที่อื่นเขาดูแล เพราะว่ามาทำงาน ส.ส.มาทำงาน ให้เกียรติ ส.ส. ผมไม่ได้ใหญ่มาจากไหน แต่ควรจะทำไหม วันนี้เรามาทำเพื่อบ้านเมือง ผมไม่ได้มาเที่ยวถูกไหม

ประเทือง: คือผมยินดีที่จะรับการประสานทุกอย่าง…

สิระ: วันนี้ผมเห็นว่าเรายังไม่รู้จักกัน พรุ่งนี้ผมจะออกจากโรงแรมประมาณ 11 โมงนะ รองทราบแล้วนะ ทราบจากผมนะ แล้วควรจะทำยังไง ผมจะให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง

ประเทือง: ยังไงนะฮะ เดี๋ยวๆ (สิระพูดแทรก: พรุ่งนี้ผมจะออกจากโรงแรม…) คือพี่ครับ ใจเย็นๆ นะครับ พี่ใช้คำว่าว่าให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง หมายความว่าวันนี้ผมผิดไปแล้วเหรอครับ

สิระ: ไม่ผิดได้ยังไง ก็ผมลงมาปฏิบัติหน้าที่ ก็รู้อยู่ แล้วคุณอยู่ไหน…

 

หลังจากช่วงนี้เป็นต้นไป การสนทนาระหว่าง ส.ส.สิระ กับ พ.ต.ท.ประเทือง ก็เริ่มกลายเป็นความอัปลักษณ์ เพราะ ส.ส.สิระจับผิด พ.ต.ท.ประเทืองว่า ที่บอกว่าติดงานนั้น ทำไมจึงมีเวลาว่างมานั่งดื่มกาแฟที่โรงแรม ทำให้ฝั่งตำรวจอารมณ์ขึ้นและมีน้ำเสียงตึงเครียด พร้อมทั้งพูดด้วยเสียงที่ดังขึ้นจนนำไปสู่คำกล่าวหาที่ว่า ตำรวจขึ้นเสียงกับ ส.ส. แม้ว่า พ.ต.ท.ประเทืองจะอ้างว่าตนเองไม่ได้ขึ้นเสียง แต่พยายามชี้แจงข้อมูลให้ฟัง ก็ไม่เป็นผล เพราะดูเหมือนว่า ส.ส.สิระ ปักใจแล้วว่าหัวข้อ ‘ขึ้นเสียง’ ทำให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือคู่สนทนา เขาจึงตะเบ็งเสียงอย่างไม่ลดราวาศอก จนกระทั่ง พ.ต.ท.ประเทืองต้องเป็นฝ่ายกล่าวขอโทษ และยินดีที่จะออกไปคุยกับ ส.ส.สิระ สองต่อสองเพื่อปรับความเข้าใจกันต่อไป

 

ตัวอย่างที่ 3

สิระ: ผมเป็น<ฟังไม่ออก>ผู้ใหญ่แล้วมาขึ้นเสียงกับผมได้ยังไง ไอ้น้อง ผมมาทำงานเพื่อบ้านเมือง 

ประเทือง: เมื่อสักครู่เนี่ยผมเพิ่งได้…

สิระ: แล้วขึ้นเสียงอะไรเมื่อกี้นี้

ประเทือง: ผมไม่ได้ขึ้นเสียง

สิระ: ก็เห็นอยู่ ขึ้นมั้ย เกรงใจ ส.ส.มั้ย สี่คนเนี่ย เดี๋ยวเจอกัน

ประเทือง: คือถ้าผมได้ขึ้นเสียง ผมก็ขอประทานอภัย…

 

จากส่วนหนึ่งของบทสนทนาในตัวอย่างที่ 2 และ 3 จะเห็นได้ว่าสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ส.ส.สิระ ต้องพูดกร่าง ก็คือเขาไม่มีอำนาจที่เหนือกว่าพ.ต.ท.ประเทืองโดยตรงหรืออย่างเป็นทางการ แต่เขาอาศัยฐานะความเป็นส.ส. และความชอบธรรมในการทำงาน “เพื่อบ้านเมือง” การปราศจากอำนาจเหนือตำรวจอย่างเป็นทางการทำให้เขาจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ ในการโน้มน้าวตำรวจ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้ตำรวจยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของเขา แม้ว่าจะต้องใช้นำเสียงและถ้อยคำที่ก้าวร้าวและไม่สุภาพก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ฝั่งตำรวจยอมทำตามความต้องการของเขา

ดังนั้นการพูดหรือทำกร่างจึงเป็นการสถาปนาอำนาจที่ไม่เป็นทางการและมีความคลุมเครือ ให้ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม หรือฝ่ายผู้รับสาร มีความเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับ ‘ขนาด’ ของอำนาจที่ใหญ่โตของผู้ที่พูดหรือทำกร่าง

โดยทั่วไปการวางก้ามหรือการทำตัวนักเลงโต ย่อมดูอัปลักษณ์ในสายตาของบุคคลที่สามหรือผู้ที่ไม่ใช่เป้าหมายของการทำกร่าง (ให้ดู) เพราะการพูดและท่าทางที่ดูใหญ่โตผิดปกติ เปรียบเหมือนการพองขนของหมาหรือแมว หรือการพองตัวของอึ่งอ่าง เพื่อประกาศความพร้อมทางด้านพละกำลังและจิตใจที่จะวิวาทกับฝ่ายตรงกันข้าม

ในระดับจุลภาค การพูดเสียงดัง (ส.ส.สิระใช้เสียงเบาในช่วงแรก ดังขึ้นในช่วงที่สอง และดังมากในช่วงที่สาม) การใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว (ไอ้น้อง! เดี๋ยวเจอกัน!) การพูดแทรกบ่อยๆ เพื่อตัดบทคู่สนทนา (ส.ส.สิระใช้การพูดแทรกเพื่อช่วงชิงจังหวะในการสนทนามากกว่า) การข่มขู่ให้กลัว (ไม่ได้ขู่นะ) ฯลฯ เป็นกลวิธีที่ผู้ทำกร่างนำมาใช้อย่างจงใจ เพื่อโน้มน้าวใจให้คู่สนทนาสยบยอมต่ออำนาจของตน และอาจทวีระดับความรุนแรงขึ้นอีก หากอีกฝ่ายหนึ่งยังลังเลที่จะทำตาม

ในระดับมหภาค การพูดหรือทำกร่างอาจเป็นพฤติกรรมที่ถูกสังคมตำหนิติเตียนว่าไร้มารยาท และสะท้อนความไม่มีสกุลรุนชาติ แต่ระดับของการยอมรับความกร่างของคนทั่วไป ก็ขึ้นอยู่กับสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำกร่าง กับผู้ที่เป็นเป้าหมายของการทำกร่างด้วย รวมทั้งการประเมินของผู้ที่เป็นเป้าหมายว่าจะเชื่อว่าผู้ทำกร่างมีอำนาจเหนือตนมากน้อยเพียงไร

หากพิจารณาอย่างรอบด้าน เราจะพบว่าการพูดหรือทำกร่างมักจะต้องมีการอ้างอำนาจที่ปราศจากสิทธิธรรมมาครอบงำ เพื่อให้ผู้ที่โดนทำกร่างใส่ต้องทำตามความประสงค์ของผู้ทำกร่าง เพราะฉะนั้นการทำกร่างจึงเป็นการใช้ความรุนแรงประเภทหนึ่ง รูปแบบของการพูดหรือทำกร่างจึงมักจะมีระดับของความรุนแรงที่ผิดไปจากปกติด้วย

ผู้ทำกร่างอาจอ้างความเหนือกว่าทางด้านวัยวุฒิ (ผมอายุ…แล้วนะครับน้อง) หรือความอาวุโสทางสังคม (ผมเป็นผู้ใหญ่นะครับ) หรือแม้แต่คุณประโยชน์ในการทำหน้าที่ของตน (ผมทำประโยชน์ให้บ้านเมือง) มาโน้มน้าวให้เป้าหมายของการทำกร่างยอมรับว่าสถานะของตนเองด้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม การทำกร่างไม่ใช่การบังคับแบบตรงไปตรงมา แต่มีลักษณะคล้ายการข่มขู่มากกว่า เพราะผลลัพธ์ของการทำกร่างและการข่มขู่คล้ายกัน คือความกลัวของผู้โดนทำกร่างใส่หรือผู้ที่ถูกข่มขู่ โดยที่ความกลัวนั้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้ทำกร่างหรือผู้ข่มขู่ แต่เป็นภาวะที่เอื้อให้ผู้ที่กลัวนั้นกระทำตามความประสงค์ของผู้ทำกร่างหรือผู้ข่มขู่

ในกรณี ‘คลิปภูเก็ต’ การทำกร่างของ ส.ส.สิระ ถูกตำหนิติเตียนจากสาธารณชนและสื่อมวลชนอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์ เพราะผู้ทำกร่างอ้างอำนาจและอิทธิพลที่อาจมีไม่มากพอในตนเอง แต่สำหรับการทำกร่างของคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตกว่านั้น การทำกร่างเป็นสิ่งที่ทำแล้วมักจะได้ผลเสมอ

การพูดหรือทำกร่างโดยตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะโกรธเคืองหรือเศร้าโศกเสียใจกับมันมากมายนัก แต่เรื่องที่ผมคิดว่าน่าหดหู่ใจมากกว่า ก็คือการพูดหรือทำกร่างมักจะมีประสิทธิผล เพราะคนส่วนมากที่โดนทำกร่างใส่มักจะยอมรับในความต่ำต้อยด้อยอำนาจของตัวเองโดยแทบไม่ได้ขัดขืนอะไรเท่าไหร่

“อย่ามาขึ้นเสียงกับผม!” จึงเป็นถ้อยคำที่มักจะใช้ได้ผลในการพูดกร่างอยู่เสมอ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save