fbpx

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกทวิตเตอร์มีประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจ เมื่อใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า “มีใครที่เกิดช่วงปี 1990-1999 แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่โตบ้างไหม” และในฐานะคนที่เกิดปี 1990 พอดิบพอดีก็ช่วยไม่ได้เลยที่จะพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วยกับทวิตที่ว่า พร้อมกันกับความรู้สึกหดหู่ที่ตีตื้นขึ้นมาเพราะรู้สึกแย่ที่เรา ‘ไม่ยอมโต’ สักที

นึกย้อนไปสมัยที่ผู้เขียนยังเด็กมากๆ เวลาเห็นคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไปมักให้ความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่ หรือการแบกรับภาระหน้าที่บางอย่าง (ทั้งในเชิงการงานและการใช้ชีวิต) ได้อย่างดีเยี่ยมและน่ายกย่อง ยิ่งถ้าเขยิบไปมองคนอายุ 30 ปีมักให้ความรู้สึกของคนที่ลงหลักปักฐานในชีวิตเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ในอุดมคติตามที่สังคมนิยามไว้

จนกลายเป็นภาพจำของผู้เขียนที่รู้สึกว่า ถ้าวันไหนเราโตไปก็คงจะมีภาพแบบนั้นกับเขาเหมือนกัน

ตัดภาพมาที่ชีวิตจริง สิ่งเดียวที่มีพัฒนาการต่างไปจากตอนเด็กคืออาการติดกาแฟกับปวดหลัง ส่วนที่เหลือก็ยังใช้ชีวิต ‘ชุ่ย’ เหมือนเดิม ตั้งแต่ตื่นมาตอนเช้าก็ดันขี้เกียจดริปกาแฟ เลยชงกาแฟซองแทน แล้วใช้ซองที่รอทิ้งคนกาแฟแทนช้อนดีๆ สักคัน (จนมิตรสหายถามด้วยความเศร้าใจว่า มึงไม่กลัวซองพลาสติกละลายในน้ำร้อนเหรอ) หรือสภาวะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคง ด้านสภาวะทางอารมณ์ยิ่งแล้วใหญ่ ระดับที่ถ้าผู้เขียนในวัยเด็กรู้ล่วงหน้าว่าอนาคตจะกลายมาเป็นคน ‘กระโปก’ แบบนี้ คงกัดลิ้นตาย ไม่ยอมปล่อยให้อยู่รอดมาจนถึงตอนโตด้วยความผิดหวังต่อตัวเอง

แต่เอาเข้าจริงๆ นี่นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในต่างประเทศเองก็มีการศึกษาวิจัยว่ากลไกอะไรที่ทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ หรือกลุ่มคนที่เกิดในกลางยุค 1980s จนถึงช่วงยุค 1990s นั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่โต หรือถ้าโต ก็ไม่ใช่ภาพลักษณ์แบบที่ตัวเองเคยคิดไว้เมื่อสมัยยังเด็ก

เบลค ซันไชน์ บล็อกเกอร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในคนรุ่นมิลเลนเนียลส์เขียนใส่บล็อกของเธอตอนหนึ่งว่า “เรายังอยากเป็นนักบินอวกาศอยู่ (แต่ใช่ว่าเราจะอยากเป็นนักบินอวกาศกันจริงๆ หรอกนะ เราแค่ยังอยากเชื่อว่าเราจะทำอะไรที่อยากทำต่อไปได้เท่านั้นเอง) คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ไม่ได้อยากลงหลักปักฐาน และถ้าเราไม่ต้องโต เราก็ไม่จำเป็นต้องลงหลักปักฐาน นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ถึงได้ดูไม่ค่อยโต รวมทั้งยังพยายามหาคำตอบด้วยว่าจริงๆ แล้วพวกเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่”

นอกจากนี้ บีเกิล สตรีต บริษัทประกันภัยเจ้าดังในสหราชอาณาจักร ได้ทำการสำรวจคนหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปว่าสำหรับพวกเขาอะไรคือสัญญาณของการเป็นผู้ใหญ่ 68% ตอบว่าคือการเลือกซื้อบ้าน, 63% คือการเป็นพ่อแม่คน (หรือมีความตั้งใจจะเป็นพ่อแม่คน) และมีถึง 52% ทีเดียวที่บอกว่าการแต่งงานคือสัญญาณของการเป็นผู้ใหญ่ ส่วนความเห็นอื่นๆ ก็มีทั้งการซื้อประกันชีวิต การจัดงานปาร์ตี้มื้อค่ำ ไปจนถึงการทำอุปกรณ์ DIY ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

และในทางกลับกัน สำหรับสัญญาณของการยังไม่โตนั้น มีคนหนุ่มสาวถึง 42% ตอบว่าคือการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับพ่อแม่ เล่นเกมคอมพิวเตอร์อีก 31% ดูแอนิเมชันสำหรับเด็กอย่าง Inside Out หรือ Frozen อีก 30% หรือหวาดกลัวการต้องรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตอีก 28%

“การสำรวจนี้บอกว่า จริงๆ แล้วผู้คนรับรู้และมองการเติบโตต่อตัวเองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งที่สุดแล้วส่งผลต่อภาพจำเก่าๆ ของการเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมกำหนดไว้ด้วยว่าจริงๆ อายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น และการสำรวจนี้ยังบอกอีกด้วยว่า คนกลุ่มนี้ถือหมุดหมายในชีวิตแบบไหนเป็นสัญญาณของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และหากพวกเขายังไม่มีหมุดหมายเหล่านั้นในชีวิต พวกเขาก็ยังรู้สึกตัวเองเป็นเด็กโดยที่เรื่องตัวเลขของอายุไม่เข้ามาข้องเกี่ยวด้วยเลย” บีเกิล สตรีตกล่าว

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ปรากฏการณ์ที่หนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลส์ในสหราชอาณาจักรยังพร้อมใจกัน ‘ไม่อยากโต’ นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีเงินและถือครองทรัพย์สิน ไม่ว่าจะบ้านหรือรถยนต์น้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ หรือก็คือคนรุ่นบูมเมอร์ (กลุ่มคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง) ด้วยราคาที่ดินตลอดจนค่าภาษีในสหราชอาณาจักรแพงหูฉี่ การจะมีบ้านสักหลังหนึ่งจึงหมายถึงการต้องแบกรับภาระการเงินต่างๆ เหล่านี้จนหลังแอ่น

งานวิจัยจากมูลนิธิเรโซลูชั่น (Resolution Foundation) ชี้ว่า กลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ในสหราชอาณาจักรเป็นคนรุ่นที่ยากจนที่สุดในรอบ 60 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจเนอเรชันแห่งความยากจน’ โดยกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1981 ถึงปี 2000 มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนราว 22% และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับพ่อแม่เนื่องจากไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะออกไปอยู่เอง เพราะแบกรับค่าบ้านและค่าภาษีที่ตามมาหลังจากนั้นไม่ไหว

ปัญหาเรื่องรายได้และที่พักอาศัยก็ปรากฏตัวอยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน เพราะเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือคนรุ่นมิลเลนเนียลส์เป็นกลุ่มคนที่เกิดและโตในยุคที่สหรัฐฯ เต็มไปด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตการณ์กู้ซื้อบ้านที่ทำให้ตลาดสินเชื่อในสหรัฐฯ ล่มสลาย จากเดิมที่การกู้ซื้อบ้านเป็นเรื่องง่ายเหมือนเดินไปซื้อขนมหน้าปากซอย ก็กลายเป็นว่าผู้กู้ซื้อต้องเผชิญดอกเบี้ยมหาโหด ด้วยเหตุนี้กลุ่มมิลเลนเนียลส์จึงต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ต่อไป เพราะไม่มีกำลังซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ท่ามกลางค่านิยมที่บอกว่า หากคุณหาเงินเองได้ ก็จงออกไปผ่อนบ้านผ่อนรถใช้ชีวิตของตัวเองเสีย

อาจจะพูดแบบรวมๆ ได้ว่าคนกลุ่มมิลเลนเนียลส์เหล่านี้อยู่ในยุคที่ ‘เติบโต’ ตามขนบของสังคมได้ยากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่การแข่งขันและการดิ้นรนยังไม่สูงเท่า หรือแม้แต่การจะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังในวัย 30 ปีต้นๆ ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าต้องลำบากเลือดตาแทบกระเด็น เพราะธนาคารใจดีมากพอจะปล่อยกู้ให้ได้ พวกเขาจึงมีสิ่งที่สังคมเรียกว่า ‘สร้างเนื้อสร้างตัว’ ได้เร็วและมั่นคง ตามมาด้วยการสร้างครอบครัว ก่อนจะขยับขยายแผนที่ชีวิตอย่างการแต่งงานและมีลูก

ขณะที่มิลเลนเนียลส์นั้นกลับถูกสังคมเรียกร้องสูงกว่า ทั้งหน้าที่การงานที่บีบให้พวกเขาต้องเก่งหรือทำเป็นมากกว่าหนึ่งอย่าง เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 (ที่มักมาพร้อมคำขู่ว่า ไม่อย่างนั้นคุณจะถูกคนรุ่นหลังแซงหน้า หรือไม่ก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์) บทความชี้ทางประสบความสำเร็จที่บอกให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างมีวินัย ตื่นมาออกกำลังกาย อ่านหนังสือให้ได้วันละสามบท ศึกษาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมทุกเดือน ฯลฯ ชาวมิลเลนเนียลส์จึงมักต้องตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเองเพื่อจะพบว่ามันยากเย็นเสียเหลือเกิน

การแบกรับแรงกดดันทั้งจากสังคม ครอบครัว และจากตัวเองทำให้พวกเขา (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) มองหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการผ่อนคลายในชีวิตประจำวันได้โดยไม่แห้งเหี่ยวตายไปเสียก่อน งานสำรวจจากสำนักวิจัยพิว หน่วยงานวิจัยในสหรัฐฯ ชี้ว่า สิ่งเหล่านี้เองคือเหตุผลว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงยังหลงใหลกับของที่พวกเขาคุ้นเคยในวัยเด็ก อย่างการอ่านการ์ตูน (ที่อาจจะเปลี่ยนเรื่อง) การเล่นเกม (ที่ก็อาจจะเปลี่ยนเกมอีกเช่นกัน) หรือทำในสิ่งที่หากวัดจากสายตาพ่อแม่หรือสังคมแล้วดูเป็นการกระทำที่ไม่เป็นผู้ใหญ่เอาเสียเลย อย่างความไร้วินัยบางอย่างเช่น การไม่ยอมจัดที่นอนหลังตื่นนอน หรือการกินอาหารลวกๆ ไม่ดีต่อสุขภาพเพราะขี้เกียจทำอาหารเอง เป็นต้น เนื่องจากการกระทำทั้งหมดนี้ช่วยให้เกิดความรู้สึกของการได้ปลดแอกตัวเองออกจากภาระทางหน้าที่การงานและความกดดันที่สังคมบีบเข้ามา

ตัวเราเองก็อาจไม่ต่างกัน มิหนำซ้ำยังต้องใช้ชีวิตในยุคที่สังคมกำหนดว่าต้อง ‘สร้างเนื้อสร้างตัว’ ในยุครัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ท่ามกลางความคาดหวังจากครอบครัวบวกรวมกับความรู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง แต่ยังต้องพยายามต่อไปเพราะชีวิตคือการดิ้นรนในรูปแบบนั้น

การใช้ชีวิตอย่างชุ่ยๆ เช่นกินก๋วยเตี๋ยวในถุงเพื่อจะได้ไม่ต้องล้างจาน เล่นเกมโต้รุ่งจนกว่าจะผ่านด่านเพื่อให้ได้กำซาบความรู้สึกของชัยชนะบางอย่าง หรือการอ่านมังงะเรื่องเดิมๆ ที่พรุนแล้วพรุนอีกแต่ก็ดีต่อหัวใจเหลือเกิน

การกระทำความ ‘กระโปก’ กับชีวิตบ้าง ก็ดูเป็นหนทางผ่อนคลายไม่กี่อย่างในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022