fbpx
Why Leaders Lie? ทำไมผู้นำจึงโกหก

Why Leaders Lie? ทำไมผู้นำจึงโกหก

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ถ้าใครเป็นแฟนซีรีส์ Game of Thrones คงจำซีนคลาสสิกในตอนสุดท้ายของซีซั่นล่าสุดกันได้นะครับ

จอน สโนว์ กษัตริย์แห่งแดนเหนือตัดสินใจทำสิ่งที่หลายคนก่นด่าว่าโง่เง่า เขาเลือกปฏิเสธข้อเสนอของเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ กษัตริย์จากแดนศัตรู ซึ่งขอให้จอนวางตัวเป็นกลางในสงครามระหว่างตระกูลต่างๆ แลกกับการที่แลนนิสเตอร์จะยอมสงบศึกครั้งนี้ลงชั่วคราวและส่งกำลังไปช่วยจอนและสหายรบกับพวกผีดิบอย่างไวท์วอล์คเกอร์ จอนบอกปัดเซอร์ซีไปโดยให้เหตุผลว่าตัวเขาได้สวามิภักดิ์ต่อราชินีแดเนริส ทาร์แกเรียนไปแล้ว จึงไม่สามารถยอมรับข้อเสนอนี้ได้

ท่ามกลางความผิดหวังของทุกคน จอนถูกสหายต่อว่าว่าควรเรียนรู้ที่จะโกหกเสียบ้าง แต่เขาตอบกลับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ตนเองจะไม่สัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเมื่อทุกคนเอาแต่พูดว่าจะทำตามสัญญา แต่กลับไม่เคยทำจริง คำพูดก็ไร้ความหมาย ผลสุดท้ายก็เหลือเพียงคำโกหกต่อๆ กันไปไม่สิ้นสุด

ผมคิดว่าจอน สโนว์เป็นทั้งตัวอย่างและกรณีศึกษาที่ดีมากเมื่อเราคิดถึงคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่พึงปรารถนา เราส่วนใหญ่คงหวังจะได้ผู้นำที่ดี มีวุฒิภาวะ ใช้เหตุใช้ผล และที่สำคัญคือพูดจริงทำจริง แต่กลับกัน ดูเหมือนหลายคนก็เชื่อจริงๆ ว่าผู้นำแบบนี้หาได้ยากเย็นแสนเข็ญ บางคนเชื่อว่าการโกหกกันดูเป็นเรื่องปกติในเวทีการเมือง ยิ่งเมื่อคิดถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ชาติต่างๆ ต้องฉกฉวยผลประโยชน์กันเท่าที่จะทำได้ การโกหกก็น่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำและเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ด้วย ไม่ว่าผู้โกหกจะเป็นนักการทูตหรือผู้นำประเทศ

แต่เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน?

จอห์น เจ. มีร์ไชเมอร์ (John J. Mearsheimer) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน โต้แย้งความเชื่อข้างต้นไว้ในหนังสือ Why Leaders Lie: The Truth about Lying in International Politics (2011) เขาเสนอว่า จริงๆ แล้ว ผู้นำทางการเมืองไม่ได้โกหกกันบ่อยขนาดนั้น และเราก็พอจะทำความเข้าใจได้ด้วยว่าเหตุใดผู้นำเหล่านั้นจึงเลือกโกหกแทนที่จะพูดความจริง

Why Leaders Lie: The Truth about Lying in International Politics

ในหนังสือเล่มนี้ มีร์ไชเมอร์ชวนเราพิจารณาการโกหกของผู้นำทางการเมืองที่ทำไปเพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือที่เขาเรียกว่า ‘การโกหกเชิงยุทธศาสตร์’ โดยดูว่าการโกหกเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไรและเราจะเข้าใจมันได้อย่างไรบ้าง

ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้มีอยู่หลายอย่าง แต่ผมคิดว่าที่สำคัญมีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง การโกหกเชิงยุทธศาสตร์อาจแยกได้เป็นหลายประเภท และการแยกประเภทจะช่วยให้เราเข้าใจยุทธศาสตร์ของการโกหกเหล่านี้ได้ดีขึ้น สอง ผู้นำมักไม่ค่อยโกหกผู้นำด้วยกันเองอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งเมื่อเทียบกับการโกหกประชาชนของตัวเองแล้ว แบบหลังเกิดขึ้นบ่อยกว่า เหตุผลเนื่องมาจากการเมืองระหว่างประเทศกับการเมืองภายในประเทศมีธรรมชาติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

มีร์ไชเมอร์เริ่มต้นด้วยการนิยามว่า การโกหกหมายถึงการพูดในสิ่งที่ผู้พูดรู้อยู่แล้วว่าไม่จริงโดยหวังให้ผู้ฟังคิดว่าเป็นความจริง และเมื่อเชื่อว่าจริง การตัดสินใจหรือการกระทำบางอย่างของผู้ที่เชื่อก็ย่อมเปลี่ยนไป

แน่นอนครับว่าไม่มีใครสอนกันว่าการหลอกลวงคนอื่นเป็นเรื่องดี แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ว่าผู้นำประเทศทั้งเล็กใหญ่ต่างพูดโกหกในเรื่องที่กระทบต่อชีวิตของผู้คนมากมาย คำถามคือ เพราะอะไร?

มีร์ไชเมอร์เสนอว่า เป็นเพราะการโกหกนั้นมีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์และในทางการเมือง

เขาแยกประเภทของการโกหกเชิงยุทธศาสตร์นี้ออกเป็น 5 แบบใหญ่ๆ แบบแรกซึ่งเขาอ้างว่าเกิดขึ้นน้อยกว่าที่เราคิดมากก็คือ การโกหกระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยกันเอง (inter-state lies)

จากการค้นคว้าหลักฐานต่างๆ เขาพบว่า การเจรจาทางการทูตอาจปะปนไปด้วยการหลอกลวงกันรูปแบบอื่นๆ เช่น พูดความจริงครึ่งเดียวบ้าง บอกเฉพาะเรื่องที่อยากบอกโดยเว้นไม่พูดถึงเรื่องบางเรื่องอย่างจงใจบ้าง แต่ถ้าเรายึดนิยามการโกหกในความหมายข้างต้น ก็ดูเหมือนว่าผู้นำ รวมถึงนักการทูตของแต่ละประเทศ จะไม่ได้โกหกเป็นกิจวัตรอย่างที่เราเชื่อกัน เหมือนเดิมครับ คำถามคือ เพราะอะไร?

มีร์ไชเมอร์อธิบายว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากการเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย พูดง่ายๆ คือไม่มีประเทศไหนที่มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองและตัดสินชีวิตของประเทศอื่นๆ

ลองนึกถึงตัวอย่างภาพยนตร์ซอมบี้สักเรื่องก็ได้ครับ เมื่อโลกล่มสลาย ผู้คนกลายเป็นซอมบี้ คนส่วนน้อยต้องหนีหัวซุกหัวซุน บางคนเริ่มจับกลุ่มกับคนอื่นๆ แต่สุดท้าย กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังต่อสู้ฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งอาหารและที่อยู่อาศัย โลกแบบนี้ไม่มีใครเป็นผู้นำปกครองคนอื่นเด็ดขาด สิ่งที่ขาดหายไปด้วยก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และเมื่อไม่มีใครเชื่อใจใคร ก็ไม่มีใครถูกหลอก

ถูกแล้วครับ หัวใจของการหลอกลวงอยู่ตรงนี้เอง

นิคโคโล มาเคียเวลลี นักปราชญ์ชาวฟลอเรนซ์กล่าวไว้ว่า “คนหลอกลวงย่อมหาคนที่จะยอมให้ลวงหลอกพบเสมอ” หมายความว่า เราไม่สามารถหลอกคนที่ไม่ยอมให้หลอก เราหลอกได้ก็แต่คนที่ไว้ใจเรา เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราเอาใจไปไว้ที่คำพูดของใคร ทุกครั้งที่เราเชื่อไปแล้วว่าเขาน่าจะพูดความจริง เราเองกำลังเปิดโอกาสให้ตัวเองถูกหลอกอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเวทีระหว่างประเทศไม่มีประเทศใดที่ไว้ใจกันจริงๆ การโกหกจึงเกิดขึ้นยาก เพราะสุดท้ายมักไม่มีประเทศใดยอมเชื่ออีกประเทศง่ายๆ ขณะเดียวกัน การโกหกอีกฝ่ายพร่ำเพรื่อก็ยิ่งส่งผลเสีย เพราะเมื่อไม่มีใครคิดว่าเราน่าเชื่อถือ เราก็ไม่สามารถจะไปโกหกใครต่อได้ การโกหกระหว่างรัฐจึงต้อง “เลือกทำและทำด้วยความระมัดระวัง” (30)

กระนั้นก็ยังพอมีตัวอย่างที่พบได้ เช่น การโกหกเกี่ยวกับแสนยานุภาพทางอาวุธและการทหารในช่วงสงครามซึ่งมักเป็นการโกหกที่คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายเพราะอาจช่วยให้ช่วงชิงความได้เปรียบหรือป้องปรามการคุกคามจากศัตรู นอกจากนี้ การโกหกแบบนี้ยังทำงานได้ดีด้วย เพราะการเชื่อไว้ก่อนว่าจริง เช่น เชื่อว่าอีกฝ่ายมีขีปนาวุธจริงและมีจำนวนมากเสียด้วย ดูจะสมเหตุสมผลยิ่งในช่วงสงคราม

แม้ว่าเราอาจพอนึกตัวอย่างอื่นๆ ของการโกหกระหว่างรัฐออกอยู่บ้าง แต่มีร์ไชเมอร์บอกครับว่า การโกหกเหล่านั้นเทียบไม่ได้กับการที่ผู้นำประเทศโกหกประชาชนในประเทศของตัวเอง การโกหกประเภทหลังนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่า มีตัวอย่างเยอะกว่า แถมยังมีเป้าหมายแตกต่างกันไปด้วย

การโกหกแบบต่อมาที่มีร์ไชเมอร์พูดถึงคือการปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนหวาดกลัว (fearmongering) การโกหกแบบนี้เป็นไปเพื่อทำให้ประชาชนเห็นภัยคุกคามบางอย่างชัดเจนขึ้น

มีร์ไชเมอร์มองว่าการโกหกในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในการเมืองอเมริกันตลอดศตวรรษที่ผ่านมา และจริงๆ ผมคิดว่าเกิดขึ้นบ่อยมากในการเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ซึ่งรัฐบาลเผด็จการ กึ่งเผด็จการ หรือประชาธิปไตยในนานาประเทศจำเป็นต้องปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปมองเห็น ‘ผี’ คอมมิวนิสต์ชัดเจนและอาจสยดสยองกว่าที่มันเป็นจริง

การปลุกปั่นให้หวาดกลัวนี้ทำงานดีมากเมื่อรัฐบาลหรือชนชั้นนำสามารถทำให้ประชาชนเห็นได้ว่า ‘ภัยคุกคาม’ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเพียงคุกคามความมั่นคงของรัฐบาลหรือชนชั้นนำ กลายเป็นภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคม

การปลุกปั่นนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อดึงให้คนที่มีการศึกษาและชนชั้นนำหันมาเห็นความจำเป็นของการทำสงครามหรือกวาดล้างศัตรูของรัฐ ตัวอย่างชัดๆ เช่น การโน้มน้าวสาธารณชนอเมริกันให้สนับสนุนการทำสงครามในตะวันออกกลางหลังเหตุการณ์ 9/11

การโกหกประเภทต่อมาคือการปิดบังเชิงยุทธศาสตร์ (strategic cover-ups) การโกหกแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อปิดบังความล้มเหลวหรือประเด็นที่อาจก่อให้เกิดการต่อต้านในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหนึ่งๆ ตัวอย่างใกล้ตัวหน่อยอาจเป็นการที่ผู้นำบางประเทศออกมาอธิบายว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม GT200 ยังคงใช้งานได้ดี แต่มี ‘จุดอ่อน’ เพราะยังต้อง ‘อาศัยกระแสไฟฟ้าในตัวคนที่ใช้’ แทนที่จะยอมรับตรงๆ ว่าเครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะการยอมรับว่าดำเนินนโยบายผิดพลาดอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความนิยมของผู้นำและชนชั้นปกครองด้วยกันเอง

มีร์ไชเมอร์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การโกหกแบบนี้มักเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยบ่อยกว่าสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เพราะผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นคนซื่อสัตย์กว่านะครับ

เหตุผลจริงๆ คือ เพราะผู้นำแบบประชาธิปไตยมาจากการเลือกของประชาชน เสียงและความคิดเห็นของประชาชนจึงมีความหมายมากต่ออำนาจของพวกเขา การทำให้ประชาชนไม่พอใจจึงไม่ใช่เรื่องดีนัก บางคนจึงยอมโกหกโดยหวังว่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย

อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่ประชาชนมีพลังมากพอจะตรวจสอบและถอดถอนผู้นำทางการเมือง การโกหกแต่ละครั้งจึงต้องคิดหน้าคิดหลังให้มาก เพราะหากพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจกระทบต่อตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของตนในระยะยาว

ผิดกับสังคมที่ผู้นำประเทศได้อำนาจมาจากการแต่งตั้งกันเองโดยคนส่วนน้อย การโกหกอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย เพราะถึงที่สุด ต่อให้นโยบายเหล่านั้นผิดพลาดหรือก่อให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่สาธารณชนมากเพียงใด ผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ เพราะประชาชนไม่มีความหมายอยู่แล้วต่อความอยู่รอดของรัฐบาล

การโกหกแบบที่สี่เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยดี คือการโกหกเพื่อสร้างชาติ (national myths) มีร์ไชเมอร์มองว่า แทบทุกประเทศในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยสำนึกชาตินิยมล้วนแต่ต้องการเรื่องโกหกเกี่ยวกับชาติมาปลุกเร้าให้ผู้คนซึ่งแต่เดิมไม่ได้รู้จักมักจี่กัน ไม่ได้มีบรรพบุรุษมาจากคนกลุ่มเดียวกัน ให้รักกันปานคลอดออกมาจากท้องแม่เดียวกัน เป็นลูกหลานของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์คนเดียวกัน และที่ร้ายที่สุด คือมีศัตรูร่วมคนเดียวกัน แบบที่ครูบาอาจารย์มักสอนเราเกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างไทย-พม่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า คนสมัยนั้นเคยคิดว่าตัวเองเป็น ‘คนไทย’ แบบเราทุกวันนี้หรือไม่

การสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ สร้างตัวตนร่วมกันของเราชาวไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อเมริกัน เยอรมัน อิตาลี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยเรื่องโกหก อาศัยประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งเติมขึ้นมาภายหลัง และฉับพลันที่เราเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นเป็นจริง ก็บู้ม! เรากลายเป็นคนชาตินั้นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาเรื่อง ‘ชาติคืออะไร’ ว่า หัวใจของความเป็นชาติไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์ เพราะผู้คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชาติเดียวกันอาจมีเชื้อชาติหลากหลาย พูดภาษาต่างกัน นับถือศาสนาคนละอย่าง และอาศัยในต่างถิ่นต่างแดนกันก็ได้

สิ่งที่สร้างความเป็นชาติจริงๆ คือ ความทรงจำร่วมของผู้คนที่เลือกจำบางอย่างและเลือกลืมหลายๆ อย่าง และความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตร่วมกับคนที่มีความทรงจำ (และทรงลืม) แบบเดียวกับเราต่างหาก

การโกหกแบบสุดท้าย คือการหลอกให้เชื่อว่ารัฐยังคงยึดมั่นในหลักการแบบเสรีนิยมและเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (liberal lies) ชื่ออาจฟังดูยาวและยากนะครับ แต่ลองนึกถึงตัวอย่างคลาสสิก เช่น การฆ่าผู้บริสุทธิ์ในสงคราม

หลายคนคงพอทราบกันว่า ในทางรัฐศาสตร์ สงครามหนึ่งๆ จะเป็นสงครามที่ยุติธรรม (just war) ได้ก็ต่อเมื่อรัฐคู่สงครามเคารพกฎกติกาบางอย่าง ซึ่งหนึ่งในหลักการสำคัญคือแต่ละรัฐจะต้องไม่สังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แต่หลายครั้งพลเรือนกลับเป็นเป้าหมายหนึ่งของการโจมตี โดยเฉพาะเมื่อสงครามครั้งนั้นยืดเยื้อและฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการยุติสงครามด้วยชัยชนะให้เร็วที่สุด

นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณกันว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากปฏิบัติการทางทหารโดยตรงกว่า 30 ล้านคน และจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตในช่วงท้ายๆ ของสงคราม มีหลักฐานระบุว่าสหรัฐฯ สังหารพลเรือนญี่ปุ่นกว่า 900,000 คนในช่วง 5 เดือนสุดท้ายก่อนสงครามโลกยุติลง (78)

สถานการณ์ทำนองนี้แหละครับที่ทำให้ชนชั้นนำเลือกจะโกหกประชาชนว่าปฏิบัติการทางทหารนั้นไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่พลเรือน หรือไม่ก็โกหกเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยกว่าที่เป็นจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อลดแรงกดดันจากประชาชน แต่ยังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเองว่าสอดคล้องกับหลักการสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ ลดแรงกดดันจากต่างชาติ ที่สำคัญคือเพื่อทำให้ประชาชนที่จริงๆ แล้วอาจสนับสนุนการกระทำที่ผิดหลักการนี้ สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น

แม้ว่าการโกหกจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและเข้าใจได้มากในทางยุทธศาสตร์ แต่มีร์ไชเมอร์เตือนว่า เขาไม่เคยพูดว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางศีลธรรมแต่อย่างใด

การโกหกทางยุทธศาสตร์ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ มากน้อยอาจขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้โกหก และผลลัพธ์ที่มีต่อผู้คนในสังคม

หลายครั้งผลของการโกหกจึงลงเอยไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าเรื่องโกหกนั้นจะถูกเปิดโปงขึ้นช้าหรือเร็ว มีการโกหกหลายครั้งที่ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์อย่างที่ผู้โกหกหวังไว้ เช่นกรณีของนีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียต ที่โกหกเกี่ยวกับแสนยานุภาพของขีปนาวุธของฝ่ายตน โดยหวังว่าจะเป็นการป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามายุ่มย่ามในผลประโยชน์ของโซเวียต แต่ใครจะคิดล่ะครับว่าการโกหกของครุชชอฟครั้งนั้นจะกลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญอย่างหนึ่งให้สหรัฐฯ ลงทุนวิจัยและพัฒนาขีปนาวุธอย่างเร่งด่วน จนโลกเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันกันสะสมอาวุธระหว่างสองขั้วอำนาจในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น การที่ผู้นำสักแต่โกหกเมื่อมีโอกาส ท้ายที่สุดยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมของความฉ้อฉล (culture of dishonesty) เข้าอีหรอบเดิมแบบที่จอน สโนว์ว่าไว้ คือโกหกกันเสียจนคำพูดหมดความหมาย สุดท้ายก็ต้องปั้นเรื่องโกหกกันต่อไปไม่สิ้นสุด

การโกหกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่อนทำลายวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อผู้นำทางการเมืองจากการเลือกตั้งและอาจเอนเอียงไปหาระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมได้ง่ายขึ้นแล้ว การโกหกประชาชนยังขัดกับหลักการพื้นฐานที่เชื่อว่า ประชาชนจะสามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส และตรวจสอบได้

ครับ เราจะรู้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือโกหกก็จำเป็นต้องตรวจสอบมัน เช่นเดียวกัน เราจะรู้ว่าผู้นำคนไหนดีไม่ดีก็ต้องตรวจสอบดูเสียก่อน เพราะถ้าตรวจสอบก็ยากแสนยาก แถมคอยแต่เรียกร้องให้ประชาชนไว้ใจและศรัทธา สุดท้ายเราทั้งหลายก็ยิ่งเสี่ยงจะถูกผู้นำแบบนี้หลอกเอา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save