fbpx
ทำไมไมโครซอฟต์ถึงเจาะตลาดสมาร์ตโฟนไม่สำเร็จ? : บทเรียนราคาแพงของยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี

ทำไมไมโครซอฟต์ถึงเจาะตลาดสมาร์ตโฟนไม่สำเร็จ? : บทเรียนราคาแพงของยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ขณะที่สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) อดีตซีอีโอของไมโครซอฟต์ให้สัมภาษณ์กับ USA Today ในปี 2007 เกี่ยวกับไอโฟน เขาหัวเราะออกมาแล้วบอกว่า

“เป็นไปไม่ได้เลยที่ไอโฟนจะสร้างส่วนแบ่งในตลาดได้อย่างจริงจัง ไม่มีทางเลย พวกเขาอาจจะทำเงินได้เยอะ แต่ว่าถ้าดูจำนวนโทรศัพท์ที่ขายกันกว่า 1,300 ล้านเครื่อง ผมอยากให้ซอฟต์แวร์ของเราเป็น 60% หรือ 70% หรือ 80% ในนั้น มากกว่าที่จะเป็นแค่ 2% หรือ 3% ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่แอปเปิลอาจจะได้”

ถึงตอนนี้คงบอกได้อย่างเต็มปากเลยว่าเขาคิดผิดไปอย่างมาก เขาน่าจะเริ่มเห็นความผิดพลาดครั้งนั้นของตัวเองเมื่อ Google Android เข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนกันยายนปี 2008 เพราะตอนนั้นเองที่เขาเริ่มดันให้โปรแกรมเมอร์ของเขาพัฒนา Windows Phone แล้วในที่สุดก็เข้าสู่ตลาดตามคนอื่นๆ ได้ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2010 แต่นั่นก็ทำให้เขามาช้ากว่าเพื่อนไปกว่าสามปีเลยทีเดียว

การรวมกันระหว่างความล่าช้าและการวางตำแหน่งของตลาดเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจว่าทำไมไมโครซอฟต์ถึงได้พ่ายแพ้การแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งถ้าเกิดมีบางอย่างที่เปลี่ยนไปเพียงเดียว โลกของสมาร์ตโฟนในตอนนี้อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่เลยในเวลานี้

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 1984 ตอนนั้นแอปเปิลเปิดตัวแมคอินทอชที่เป็น ‘personal computer’ ที่พลิกวงการ มีทั้ง gui (graphic user interface) และการสั่งงานด้วยเมาส์ พูดอีกอย่างหนึ่งคือนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ แอปเปิลทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม เพียงแต่ไม่ใช่ว่าใครอยากซื้อก็ซื้อได้ ด้วยราคาตอนนั้นกว่า $2,495 ต่อหนึ่งเครื่อง (ประมาณ $6,000 ในราคาปัจจุบัน หรือราวๆ 180,000 บาท)​ นับว่าราคาสูงมากเกินเอื้อมสำหรับหลายคนและหลายบริษัท

บิล เกตส์ในตอนนั้นเห็นว่านี่คือจังหวะที่ดีและเป็นช่องว่าง แอปเปิลไม่สามารถกินรวบทั้งตลาดได้ ก็เลยใช้โอกาสนี้ปล่อย ‘Microsoft Windows’ ในปีถัดมา (พฤศจิกายน 1985) โดยเขาใช้วินโดวส์คู่กับฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องประกอบราคาไม่แพง เรียกกันว่า ‘IBM Clone’ ทำได้คล้ายกับแมคเกือบทุกอย่างด้วยราคาเพียงแค่ครึ่งเดียว

ไม่นานนักเราก็เห็นว่าวินโดวส์เริ่มกินส่วนแบ่งในตลาดของ Personal & Business Computing มากขึ้นเรื่อยๆ มากชนิดที่ว่ามีช่วงหนึ่งของยุค 90’s ที่พวกเขาบีบแอปเปิลจนเกือบจะต้องพับเสื่อกลับบ้านล้มละลายอยู่แล้ว แต่ก็เหมือนเป็นชะตากรรมเล่นตลกอีกนั่นแหละที่ไมโครซอฟต์ยื่นมือไปช่วยแอปเปิล โดยที่บิล เกตส์ และบริษัทของเขาได้ลงทุนในแอปเปิลเป็นเงินกว่า 150 ล้านเหรียญ

โดยหน้าปกนิตยสาร Time เดือนนั้นมีภาพของสตีฟ จ็อบส์ ถือโทรศัพท์คุยกับบิล เกตส์ เขียนว่า “Bill, thank you. The world’s a better place” ซึ่งในตอนนั้นถ้าบิล เกตส์ จะปล่อยให้แอปเปิลหายไปจากระบบก็ไม่ยาก แค่อยู่เฉยๆ แต่บิล เกตส์ เห็นว่าการเข้าไปช่วยครั้งนั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งผู้ใช้งานเองและตัวบริษัทของเขาด้วย (ในดีลนี้แอปเปิลต้องยกฟ้องคดีที่กล่าวหาว่าไมโครซอฟต์ลอกเลียนแบบระบบปฏิบัติการของพวกเขาด้วย)

แล้วลมก็เริ่มเปลี่ยนทิศ

ในปี 2001 สินค้าตัวใหม่ของแอปเปิลเข้าสู่ตลาด นั่นก็คือไอพอด ซึ่งเป็นนวัตกรรมพลิกโฉมหน้าธุรกิจวงการดนตรีเลยก็ว่าได้ ผลิตภัณฑ์ตัวนั้นยังคงวางตำแหน่งของตัวเองเป็นสินค้าพรีเมียม แม้ว่าตอนนั้นในตลาดจะมีเครื่องเล่น MP3 อยู่บ้างแล้ว แต่ไอพอดทำออกมาได้ตรงใจลูกค้า ทั้งดีไซน์ ฟังก์ชัน และประสบการณ์การใช้งาน และมันก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2007

ไมโครซอฟต์ยังเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดอยู่ตอนนี้ แม้ว่าจะเจอปัญหามากมายใน Windows Vista (ใครยังจำได้บ้าง?) ทางด้านประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย พวกเขาก็ยุ่งกับสินค้าของตัวเองที่มีอยู่ในมือ ต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันจนมองข้ามการมาของไอโฟนไปเลยในตอนนั้น

อย่างที่ สตีฟ บอลเมอร์ บอกนั่นแหละครับว่า เขาไม่คิดว่าไอโฟนจะกลายเป็นอะไรได้ เป็นเพียงของเล่นราคาแพง ‘สมาร์ตโฟน’ ไม่ใช่ตลาดที่อยู่ในลิสต์ของพวกเขาด้วยซ้ำ (ตอนนั้นทางไมโครซอฟต์เองก็เริ่มวิ่งไล่ตามแล้ว เพราะว่าหลังจากที่แอปเปิลปล่อยไอพอดสู้ตลาดแล้วได้รับความนิยมอย่างมาก ไมโครซอฟต์ก็สร้างเครื่องเล่น MP3 ของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า Zune แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก)

ประวัติศาสตร์เกือบซ้ำรอยอีกรอบ เพราะหลังจากที่ไอโฟนถูกปล่อยออกมา ด้วยความที่ราคาค่อนข้างแพง จึงยังไม่ค่อยมีผู้ใช้งานสักเท่าไหร่ ถ้าเรื่องนี้คุ้นๆ เหมือนเคยเกิดขึ้นแล้ว ให้นึกถึงเครื่องแมคอินทอช  ตอนที่เปิดตัวแล้วไมโครซอฟต์ก็ออกตัวที่ถูกกว่ามาครองตลาด 90% ข้างล่างแทน แต่ปัญหาก็คือว่ารอบนี้ไมโครซอฟต์ไม่ได้ทำ (หรือทำไม่ทัน)​ แต่เป็นกูเกิลที่เข้ามากวาดทุกอย่างด้านล่างไปเลยด้วย Google Android

หลังจากที่แอปเปิลพิสูจน์ในตลาดแล้วว่ามีโอกาสเป็นไปได้ กูเกิลก็ปล่อยแอนดรอยด์ที่ใช้งานได้ฟรีกันเลยทีเดียว ถึงตอนนี้ไมโครซอฟต์เริ่มหันซ้ายหันขวา ไปแพงก็ไม่ได้ ไปถูกก็ไม่รู้จะแข่งยังไง พอ Windows Phone เข้าสู่ตลาดหลังจากนั้น เหล่าโปรแกรมเมอร์ก็กำลังยุ่งกับการขยายตัวของแอปสโตร์และโอกาสมากมายที่อยู่ตรงหน้า ทั้ง iOS และ Android จะให้พวกเขามาเพิ่มอีกอันก็ยากเกินไป โรงงานผลิตก็หายาก และการดึงผู้ใช้งานเข้ามาก็หินสุดๆ

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่ใช่กับไมโครซอฟต์ แต่เป็นกูเกิลเข้ามากวาดทางด้านล่างๆ ไป เมื่อ Window Phone ไม่มีแอปฯ ที่ดึงดูด ไม่มีผู้ใช้งาน ไม่มีการชวนกันมาใช้ พวกเขาก็เหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีช่องว่างให้แทรกตัวเข้าไปในตลาดได้เลย สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้และหยุดพัฒนาไปในปี 2017

การที่จ็อบส์เอาฟังก์ชันของไอพอดมารวมกับโทรศัพท์ พร้อมใส่ฟีเจอร์อย่างการใช้อินเทอร์เน็ตบนเครื่องเดียวกันเป็นสิ่งที่ตลาดกำลังรอคอย เพราะตอนนั้นโทรศัพท์ที่ขายดีสุดๆ อย่าง Motorola Razr รุ่นฝาพับ ขายกันอยู่ที่ราวๆ $449 ต่อเครื่อง ส่วนไอโฟนตั้งราคาเริ่มต้นที่ $499 ต่อเครื่อง เพิ่มเงินเพียงเล็กน้อยแต่สามารถทำได้มากกว่าหลายอย่างเลยทีเดียว

ส่วนกูเกิลเอง เหตุผลที่พวกเขาเข้ามาตลาดสมาร์ตโฟนก็เพราะพยายามปิดช่องโหว่ของบริษัทที่ต้องพึ่งพาระบบของคนอื่นทุกอย่าง ตั้งแต่เบราว์เซอร์ไปจนกระทั่งระบบปฏิบัติการ การที่พวกเขาปล่อยตัว Chrome Browser และ Android ช่วงปลายปี 2008 ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมช่องทางการหารายได้ได้ง่ายกว่า

ไมโครซอฟต์มาช้าไป เพราะทั้งกำลังยุ่งอยู่กับระบบ Windows Vista และบอลเมอร์เองก็มองว่าไอโฟนโฟกัสไปที่การใช้มีเดียมากกว่า จึงเป็นตลาดที่ ‘เฉพาะ’ มากและมองข้ามไป แต่สิ่งที่บอลเมอร์พลาดกลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพลาด เพราะตัวเลขของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนที่มีฟังก์ชันเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในตอนนั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดไม่ได้ ‘เฉพาะ’ อย่างที่เขาคิด

นี่คือบทเรียนของไมโครซอฟต์ ที่ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่ว่าบริษัทคุณใหญ่โตแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะผิดพลาดไม่ได้และจะสำเร็จตลอดไป แน่นอนอย่างที่เรารู้กันว่าหลังจากที่ไมโครซอฟต์พ่ายแพ้ไปในสงครามสมาร์ตโฟน พวกเขาก็กลับไปทบทวนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น โชคดีที่ยังหาตัวเองเจออีกครั้งก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

 

อ้างอิง

Android (operating system)

Apple’s original Mac can fetch $1,598 on eBay

Why Didn’t Microsoft Dominate the Smartphone Market?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save