fbpx
ทุกอย่างมีเวลาของมัน, เมื่อ Jony Ive ตัดสินใจแยกทางกับ Apple

ทุกอย่างมีเวลาของมัน, เมื่อ Jony Ive ตัดสินใจแยกทางกับ Apple

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“ผมอยากจะซื้อของจากบางคนที่คลั่งไคล้ [กับสินค้า] ไม่ใช่แค่แตกต่าง คุณรู้ว่าพวกเขาจะใส่ใจอย่างมากในเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ”

(จากบทสัมภาษณ์ของ Jony Ive กับ Steve Jobs ในปี 2000)

Jony Ive ชายผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์ของสินค้ามากมายจากบริษัท Apple Inc. หลังจากผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษ เขาตัดสินใจลาออกเพื่อมาก่อตั้งบริษัทดีไซน์ของตัวเองกับ Mark Newson ชื่อว่า ‘LoveFrom’ ที่จะยังมีโปรเจ็กต์กับ Apple อยู่ ต่างกันตรงที่เขาไม่มีบัตรพนักงานของ Apple อีกต่อไป และมีอิสระในการทำสิ่งที่ตนเองต้องการมากยิ่งขึ้น

สำหรับ Jony Ive แล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียด ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่ก็ตาม ถ้าเรามองผลิตภัณฑ์อย่าง iMac, iPod, iPad หรือ iPhone (และอีกหลายอย่างที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วย i) จะเห็นว่ามันถูกออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตำแหน่งการวางน็อต (ที่บางทีเราก็ไม่เคยเห็น) ส่วนเว้าส่วนโค้งต่างๆ นานา (ที่เราสัมผัสได้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีเหตุผลที่เขาวางไว้แบบนั้น) วัสดุที่เลือกใช้เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดระหว่างใช้งาน ส่ิงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือรายละเอียดที่ชายผู้นี้เลือกใช้เวลาและคลั่งไคล้ไปกับมัน จนกลายเป็นความงดงามของผลิตภัณฑ์ Apple ในที่สุด

Steve Jobs มักได้รับเครดิตจากความสำเร็จมากมายจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของ Apple โดยที่เรามักลืมไปว่าเครดิตอีกส่วนใหญ่ควรตกเป็นของ Jony Ive ที่อยู่เบื้องหลังด้วย ซึ่งตอนนี้เมื่อเขาตัดสินใจจะลาออก อิทธิพล แนวคิด ปรัชญาและความเชื่อของเขาที่มีต่อนวัตกรรมของ Apple ก็จะหายไปด้วยเช่นเดียวกัน

Jony Ive กับ Steve Jobs เป็นเหมือน soulmate ที่มีเป้าหมายเหมือนกันสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Apple ออกมาให้ดีที่สุด เป็นคู่หูอัจฉริยะเหมือนซึบาสะกับมิซากิ เหมือนไมเคิล จอร์แดนกับสกอตตี้ พิพเพ่น ที่ทำงานรู้ใจกันไปหมด ถ้าใครลองอ่านประวัติของ iMac จะรู้ว่า Ive เป็นคนที่แนะนำว่าควรจะดีไซน์มันออกมาใหม่ ไม่ให้เหมือน PC แต่ทำให้มันเหมือน ‘ดอกทานตะวัน’ แทน และอีกอย่างที่ทำชื่อเสียงให้เขาอย่างมากคือการออกแบบ iPod Nano ตัวที่บางๆ ด้านหน้าสีขาว ด้านหลังเป็นสีเงินเงา ตอนนั้นคือที่สุดแล้ว แต่ต่อมาก็เขาคนนี้แหละที่เป็นคนออกแบบ iPhone ที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของผู้ใช้งานหลายล้านคนในเวลานี้

ข่าวที่ออกมาแม้จะเป็นเรื่องน่าใจหาย แต่กลับไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะถึงแม้ฝั่ง PR ของบริษัท Apple จะพูดว่าบริษัทของ Ive นั้นจะมีพวกเขาเป็นลูกค้าหลัก แต่ก็ดูเหมือนไม่มีใครเชื่อสักเท่าไหร่ หลังจากใช้เวลานานหลายปีในการออกแบบ headquarters ใหม่ให้กับบริษัท Ive ก็เลือกที่จะเดินคนละเส้นทางกับ Tim Cook ที่ถือตำแหน่ง CEO ของ Apple ในทันที แม้ว่าทั้งคู่จะออกมาจับมือกันว่ายังจะทำงานร่วมกันอยู่ แต่ความจริงก็คือ Jony Ive นั้นน่าจะรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะเดินออกจากที่นี่

จะโทษว่า Ive ทิ้งบริษัทก็คงไม่ถูก เพราะในเมื่อคนที่ทำงานเคียงข้างเขาเป็น Tim Cook ที่ค่อนข้างแตกต่างกับคู่หูคนเดิมของเขาพอสมควร Tim Cook เป็น CEO ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง แต่ความสามารถของเขาคือผลิตสินค้าที่มีกำไรสูงสู่มือของลูกค้าหลายล้านคน ไม่ใช่การสร้างนวัตกรรมเหมือน Steve Jobs แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นนั้นชอบ Tim Cook เพราะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตและมูลค่าของบริษัทก็ขึ้นไปแตะ 1 ล้านล้านเหรียญได้สำเร็จ แต่สำหรับเหล่าแฟนๆ ของ Apple ก็จะรู้แหละว่าเขาไม่ใช่อีกครึ่งหนึ่งที่หายไปของ Apple ที่เราคาดหวัง

เป็นเรื่องจริงที่น่าเสียใจสำหรับเหล่าแฟนๆ ของ Apple ที่ตั้งแต่ Tim Cook เข้ามาเป็น CEO ความเป็น Apple ที่เราคุ้นเคยกันก็ค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ แม้จะมี Mac Pro (ที่เป็นรูปทรงกลวย) หรือ Apple Watch ที่ออกมาระหว่างทาง แต่มันก็เป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเขาจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Apple ก็จะหนักไปทาง ‘ปรับปรุง’ (optimization) มากกว่าการ ‘สร้างสรรค์’ (innovation) สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เรามักจะเห็นแคมเปญการตลาดที่บอกว่าทำงานได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้น เพิ่มฮาร์ดแวร์ให้ดัดแปลงไฟล์วีดีโอความคมชัดสูงได้เร็วขึ้น ฯลฯ ซึ่ง Steve Jobs ที่อยู่บนสวรรค์คงกำลังตบไทลินอลเข้าปากอย่างแน่นอน

แน่นอนว่าหลังจากที่ Jobs จากไปนั้น Ive มีงานหนักและความคาดหวังที่ต้องแบกรับไว้สูงมาก (อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ) เขาต้องรับหน้าที่ดูแลการออกแบบและพัฒนา Apple Watch ที่ตอนแรกไปเน้นเรื่องความสวยงามและแฟชั่น (มีรุ่นที่ราคาพรีเมียมจัดหนักเลยหลักหมื่นเหรียญเลย) อาจจะดูไม่ค่อยได้รับเสียงตอบรับที่ดีสักเท่าไหร่ แต่พอปรับโฟกัสมาทางสุขภาพและการออกกำลังกายก็เริ่มได้รับความนิยมและกลายเป็นสินค้าขายดีอีกตัวหนึ่งของบริษัท และก็เป็นอีกครั้งที่ดีไซน์ของ Ive นั้นประสบความสำเร็จ จนมาถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ล่าสุดที่เพิ่งจบไป headquarters ใหม่ (Apple Park) ถือว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญสำหรับตัวของ Ive เอง เขาให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า

“มีโปรเจ็กต์ใหญ่หลายอันที่ผมรู้สึกว่าได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Apple Park ที่เป็นโปรเจ็กต์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2004… เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเราเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นโปรเจ็กต์ที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่เหมือนกับอย่างอื่นเพราะมันเป็นของพวกเราเอง”

แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่า LoveForm จะร่วมงานกับ Apple มากขนาดไหน Tim Cook กล่าวในอีเมลตอบโต้บทความของ Wall Street Journal เกี่ยวกับการไม่ลงรอยกันระหว่างเขากับการลาออกของ Ive ว่าเป็นเรื่องที่ “ไร้สาระ” และทีมดีไซน์ของบริษัทนั้น “แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา” และยังจะทำงานกับ Jony อยู่ ซึ่งเราก็ไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีความจริงมากขนาดไหน เพียงแต่ถ้าผมยืนอยู่ในตำแหน่งของเขา สิ่งที่ผมจะพูดก็คงไม่ต่างกันมากนัก

สำหรับคู่แข่งในตลาด ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของ Apple ที่ชะลอลงทำให้เกิดช่องว่างในตลาดและมีคู่แข่งเบียดแย่งเอาผลกำไรไปอย่างช่วยไม่ได้ iPhone ตอนนี้แทบจะไม่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ กลายเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกนับร้อยที่ราคาแพงกว่าคนอื่นเพราะแบรนด์และชื่อเสียงที่เคยทำมาเท่านั้น ไม่ใช่นวัตกรรมเหมือนแต่ก่อน

ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะ Jony Ive ถือเป็นอาวุธลับของ Jobs ที่ไม่ใช่แค่ปรับโฉมหน้าของโลกเทคโนโลยี แต่รวมไปถึงความรู้สึกที่เรามีต่อมันและวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิมเพราะสิ่งเหล่านี้ด้วย แม้หลังจากข่าวนี้ออกมา หุ้นของบริษัท Apple จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่านี่คือตอนจบของยุค Apple ที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าเราอยากจะให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม

อ้างอิง

https://www.theverge.com/2019/6/27/18761736/jony-ive-apple-leave-iphone-chief-design-officer-lovefrom-company-quit

https://www.youtube.com/watch?v=spKN5aj6h78

https://www.theverge.com/2019/7/1/20677950/apple-ceo-tim-cook-tensions-jony-ive-absurd-rebuttal-design

https://medium.com/bloomberg/inside-apples-long-goodbye-to-design-chief-jony-ive-63f968dc2a4c

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save