fbpx
อะไรคือสาธารณรัฐ

อะไรคือสาธารณรัฐ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลายคนดูจะมองคำว่า ‘สาธารณรัฐ’ หรือ republic ไปในแง่ลบอย่างเดียว แต่ถ้าดูภาพต่อไปนี้ อาจทำให้เห็นอะไรบางอย่าง

 

เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
ภาพจาก wikipedia

 

ภาพนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศยุโรปทั้งหมดว่าเปลี่ยนจากประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข (monarchy) กลายมาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐอย่างไร

ถ้าดูภาพนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ในศตวรรษที่ 19 ยุโรปแทบทั้งหมดมีการปกครองแบบ monarchy จะมีจุดสีน้ำเงินเล็กๆ อยู่แห่งเดียวคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปกครองแบบ Federal republic หลังหลุดออกมาจากการปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรุงโรม) ในศตวรรษที่ 17

แม้ในต้นศตวรรษที่ 20 ราชวงศ์และการปกครองแบบ monarchy ก็ยังครอบคลุมยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ ในปี 1914 มีฝรั่งเศสและโปรตุเกสเพิ่มมาอีกสองประเทศเท่านั้นที่เป็นสาธารณรัฐ อื่นๆ ยังคงเดิม แต่นับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปกลายเป็นสาธารณรัฐแทบทั้งหมด เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศที่ยังเป็น monarchy อยู่ เช่น เดนมาร์ก โมนาโค ลักเซมเบิร์ก สเปน เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน เป็นต้น

คำถามก็คือ แล้วอะไรคือสาธารณรัฐ

ที่จริงแล้ว การบัญญัติศัพท์ว่า ‘สาธารณรัฐ’ นั้น น่าจะเป็นหนึ่งในคำไทยที่งดงามและตรงกับความหมายเดิมของคำว่า republic มากที่สุด เพราะคำว่า republic แปลว่า public affairs หรือกิจการสาธารณะต่างๆ มาจากคำละตินว่า res publica ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นใน ‘รัฐ’ หนึ่งๆ นั้น เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแบบ ‘สาธารณะ’ ทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ ‘กิจกรรมส่วนตัว’ ของผู้ปกครองใดๆ เหมือนการปกครองในแบบ monarchy ที่ทุกอย่างในรัฐล้วนเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและเจตนาส่วนตัวของ ‘บุคคล’ บางคนเท่านั้น

แน่นอน ความต้องการ ‘ส่วนตัว’ ที่ว่านี้ อาจก่อให้เกิด ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ขึ้นมาก็ได้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่า ‘ฐานคิด’ ของความเป็นรัฐ จะอยู่ที่คำว่า ‘สาธารณะ’ มาตั้งแต่ต้น

รัฐแบบ monarchy นั้น วางตัวอยู่บนการสืบทอดอำนาจตามสายตระกูล (dynastic succession) ซึ่งลูกของคนในราชวงศ์หนึ่งๆ จะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์และอำนาจต่างๆ มาอีกทีหนึ่ง ในยุโรป การสืบเชื้อสายของราชวงศ์ต่างๆ เป็นไปอย่างซับซ้อน มีการแต่งงานข้ามตระกูลไปมา ด้านหนึ่งเพื่อรักษาความมั่นคงของตระกูลตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อกลืนหรือเพื่อเอาชนะตระกูลอื่นๆ ด้วย

ตามที่ปฏิบัติกันมาในยุโรป ราชวงศ์เหล่านี้มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและคอยชี้นำ ‘ข้าแผ่นดิน’ หรือ subjects ของตัวเองให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ แต่กระนั้น ก็เคยเกิดความขัดแย้งเนื่องจากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหลายครั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและพูดได้ว่าก่อให้เกิดประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่งขึ้นมาในกลางทศวรรษ 1770 ชาวอาณานิคมอเมริกันจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า พระเจ้าจอร์จที่สาม กษัตริย์แห่งเกรตบริเทน ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เหล่าคนที่ ‘รักชาติ’ (patriots) เชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นมากมาย ทำให้พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้กลายเป็นทรราชย์ที่ไม่สนใจบริหารงานบ้านเมืองเลย

ประเด็นน่าสนใจก็คือ ในอาณานิคมอเมริกัน (ซึ่งคืออาณานิคมของอังกฤษ) ยุคนั้น ผู้คนมีเหตุผลมากพอที่จะแยกสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ออกจากสถาบันกษัตริย์ นั่นทำให้กลุ่มคนที่ ‘รักชาติ’ แยกแยะกษัตริย์ออกจากชาติ จนเห็นว่าควรต่อสู้เพื่ออะไรและไม่ควรต่อสู้เพื่ออะไร ต่อมาก็สามารถปลดแอกอเมริกาออกมาจากอังกฤษได้ ก่อให้เกิดการปฏิวัติอเมริกัน และกลายมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นสาธารณรัฐในภายหลัง

แต่สาธารณรัฐไม่จำเป็นต้องมีต้นกำเนิดแบบที่ว่าเสมอไป สาธารณรัฐอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือสาธารณรัฐแบบที่เรียกว่า mercantile republic หรือแปลง่ายๆ ได้ว่า ‘สาธารณรัฐพ่อ (แม่) ค้า’ ซึ่งเกิดขึ้นในปลายๆ ยุคกลางของยุโรป

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ยุโรปยุคกลางปกครองด้วยระบอบฟิวดัล (feudal system) จำลองแบบมาจาก monarchy อีกทีหนึ่ง โดยจำลองแบบกันมาเป็นชั้นๆ จากกษัตริย์มาเป็นขุนนางและอัศวิน แล้วขุนนางกับอัศวินต่างก็มีที่ดินของตัวเองที่ต้องบริหารปกครองเป็นลำดับชั้นลงไปอีก พวกไพร่ทาสติดที่ดินก็มีลำดับชั้นไล่ลงไปเรื่อยๆ ระบอบแบบนี้เรียกว่าระบอบฟิวดัล ซึ่งใช้ที่ดินเป็นเครื่องมือในการบริหารปกครอง

แต่ในบางรัฐ โดยเฉพาะในอิตาลีที่ตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศ ทว่ามีลักษณะเป็น ‘รัฐเล็กๆ’ หรือ ‘นครรัฐ’ (city state) มีการค้าขายที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก ถึงขนาดที่ต้องพยายามสร้าง ‘ภาษากลาง’ ขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างพ่อค้าด้วยกันโดยเฉพาะ นอกจากอิตาลีแล้ว ยังมี ‘สันนิบาตฮันเซอ’ (Hanseatic League) ในแถบยุโรปทางเหนือ คือตั้งแต่เยอรมันและขยายไปถึงทะเลบอลติกและทะเลเหนือ อันนี้ก็มีระบบกฎหมายและระบบความมั่นคงเป็นของตัวเองเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า นอกจากการปกครองในแบบ monarchy ที่มีกษัตริย์และขุนนางปกครองแล้ว ยุโรปในยุคกลางก็ยังมี ‘รัฐซ้อนรัฐ’ อีกแบบหนึ่งที่มีวิธีคิดละม้ายไปในทาง ‘สาธารณรัฐ’ มากกว่า monarchy ด้วย เพราะกลุ่มสันนิบาตหรือนครรัฐค้าขายเหล่านี้ ไม่ได้สนใจว่าจะต้องรวบอำนาจเข้ามาอยู่ในตระกูลของตัวเอง แล้วสืบสายถ่ายทอดอำนาจผ่านการแต่งงานผสมกันไปมา แต่สนใจกิจการที่เป็นเรื่องการค้าขายมากกว่า

คนุด ฮาคอนเซน (Knud Haakonssen) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ เคยบอกว่า เมื่อถึงยุคเรอเนสซองส์แล้ว ยุโรปเองก็ได้แบ่งลักษณะการปกครองออกเป็นสองแบบอย่างชัดเจน แบบหนึ่งก็คือปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆ ผ่านการถือครองที่ดินและรบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงอาณาเขต (เรียกว่า landed elite) ซึ่งมีลักษณะการสืบทอดอำนาจแบบ monarchy กับอีกแบบหนึ่งคือถือครองอำนาจผ่านการค้า (เรียกว่า commercial elite) แต่การถ่ายโอนอำนาจทางการค้านี้ จะมีลักษณะเป็น republic หรือสาธารณรัฐมากกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐแบบ monarchy นั้น สนใจ ‘ประโยชน์ส่วนตัว’ (private matter) ของผู้ปกครองมากกว่ารัฐแบบ republic ที่สนใจ ‘ประโยชน์สาธารณะ’ (public matter) มากกว่า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่รัฐแบบ mercantile republic จะสนใจประโยชน์สาธารณะ เพราะทุกคนต้องค้าขายระหว่างกัน ก่อให้เกิดการเจรจาต่อรองบนฐานของความ ‘เท่าเทียม’ ดังนั้น แม้พ่อค้าจะส่งต่อกิจการให้ลูกคล้ายๆ monarchy แต่สุดท้ายแล้ว วิถีพ่อค้าจะก่อให้เกิดวิธีคิดแบบเสมอภาคในภาพรวมมากกว่า

มีผู้วิเคราะห์ต่อด้วยว่า เมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าบางเมือง อย่างอัมสเตอร์ดัม แม้จะมีกษัตริย์ปกครอง แต่กลับเป็นเมืองที่มี ‘เสรีภาพ’ มาก ทั้งนี้ก็เพราะวิธีคิดแบบค้าขาย ทำให้คนค้าขายในเมืองใหญ่อย่างอัมสเตอร์ดัมพยายามจะ ‘แหวกกฎ’ ที่ตั้งขึ้นโดยผู้ปกครองที่ไม่ใช่คนค้าขาย ดังนั้น เสรีภาพในแบบอัมสเตอร์ดัมจึงเป็นเสรีภาพที่เกิดขึ้นจากด้านล่างส่งต่อขึ้นไปด้านบน (ถ้ามองโครงสร้างรัฐแบบ monarchy) แตกต่างไปจากเสรีภาพในแบบอเมริกัน ที่เป็นการ ‘บังคับ’ (enforce) ให้คนต้องมีเสรีภาพผ่านการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (เพราะรัฐอย่างอเมริกาเกิดขึ้นจากการแยกตัวจากอังกฤษ)

นักปรัชญาที่สนับสนุนการปกครองแบบสาธารณรัฐมีหลายคน แต่คนแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้ก็คือ ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ และมองเตสกิเออร์ โดยทั้งคู่ยกย่องนครรัฐแบบกรีกโบราณว่าเป็นวิธีปกครองที่ควรจะเป็น แต่ปัญหาที่ทั้งคู่ตระหนักก็คือ สาธารณรัฐแบบนั้นอาจจะเหมาะกับรัฐที่มีขนาดเล็ก (คือเป็นนครรัฐ) แต่ถ้าเป็นประเทศที่มีคนมากๆ เช่น ฝรั่งเศสที่มี 20 ล้านคน (ในเวลานั้น) อาจจะเป็นเรื่องยาก มองเตสกิเออร์เสนอว่า ถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าเป็นประเทศใหญ่ๆ ก็อาจต้องเป็นการปกครองแบบ monarchy โดยมีการจำกัดอำนาจของราชวงศ์ แต่เราก็จะเห็นการปกครองแบบอื่นๆ ต่อมาอีกมาก เช่น สมาพันธรัฐ (confederation) หรือสหพันธรัฐ (federation) ที่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันออกไป แต่โดยรวมๆ ก็คือเป็น ‘รัฐย่อย’ ที่มารวมตัวกันเป็นรัฐใหญ่อีกทีหนึ่ง

แต่ที่ย้อนแย้งหน่อยก็คือคำว่า ‘สาธารณรัฐประชาชน’ หรือ People’s republic ซึ่งควรจะแปลว่าเป็นสาธารณรัฐที่ปกครองโดยประชาชน แต่คำนี้กลับถูกประเทศที่เคยเป็นหรือยังเป็นคอมมิวนิสม์อยู่ใช้เสียมาก โดยเฉพาะประเทศจีน (ในนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน) และเกาหลีเหนือ (ในนามของ Democratic People’s Republic of Korea) ที่เราคงเห็นอยู่ว่าทั้งสองประเทศมีความเป็น ‘สาธารณะ’ มากน้อยแค่ไหน

ในทางปรัชญาการเมือง คำว่า republic มีความหมายลึกซึ้งลงไปอีกมาก เบนจามิน แฟรงคลิน เสนอว่า คนที่จะเป็นประชาชนแห่งสาธารณรัฐนั้น ควรจะมี ‘คุณธรรม’ (virtues) ถึง 13 ข้อ เพราะเขาเชื่อตามปรัชญาการเมืองที่บอกว่า สาธารณรัฐที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีประชาชนที่มีพฤติกรรมที่มีคุณธรรม (คือมี virtuous behavior) แต่ถ้าประชาชนในสาธารณรัฐนั้นๆ เป็นพวกฉ้อฉล สาธารณรัฐนั้นๆ ก็จะล้มเหลว

ดังนั้น การให้การศึกษาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างกว้าง เพื่อให้ผู้คนมีความเสมอภาคเท่าเทียม มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสิทธิอำนาจในการเลือกและปกครองตัวเอง (ซึ่งก็คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย) จึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของสาธารณรัฐ บางแนวคิดของสาธารณรัฐไปไกลถึงขั้นบอกว่า คนรวยกว่า (เช่นคนที่ถือครองที่ดินมากกว่า) ควรมีสิทธิในการออกเสียงต่างๆ น้อยกว่าด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น คำว่า ‘สาธารณรัฐ’ จึงเป็นคำที่มีความเป็นมาและความหมายซับซ้อนมาก แต่โดยรวมๆ ก็คือ ‘รัฐ’ ที่มุ่งหมายในทาง ‘สาธารณะ’ ไม่ใช่รัฐที่รับใช้ความต้องการ ‘ส่วนตัว’ ของใครนั่นเอง

คำถามก็คือ ความหมายของ ‘สาธารณรัฐ’ ที่หมายถึงรัฐซึ่งให้ความสำคัญกับ ‘สาธารณะ’ ก่อนความเป็นส่วนตัวของใคร มันจะทำให้คำนี้มีความหมายในแง่ลบไปได้อย่างไรกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save