fbpx
ถนนสู่ทำเนียบขาว (3) : Nevada

ถนนสู่ทำเนียบขาว (3) : Nevada

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

“เรากำลังสร้างแนวร่วมข้ามรุ่น ข้ามเชื้อชาติ ไม่ใช่แค่คว้าชัยในเนวาดาเท่านั้น แต่จะกวาดชัยชนะไปทั่วอเมริกา”

เบอร์นี แซนเดอร์ส ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นของรัฐเนวาดา เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  รอบนี้ลุงเบอร์นีกวาดคะแนนเสียง 46% ตามมาด้วย โจ ไบเดน 20% พีท บูติจัจ 15% อลิซาเบธ วอร์เรน 10% และเอมี โคลบูชาร์ 5% ส่วนไมเคิล บลูมเบิร์ก ซึ่งตัดสินใจลงสนามช้ากว่าใครเพื่อนไปหลายเดือน ไม่มีชื่อลงแข่งที่นี่

เนวาดาเป็นสนามเลือกตั้งขั้นต้นแห่งที่สาม นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้ชนะแบบทิ้งห่างขาดลอย ไม่สูสีเหมือนสองสนามแรกที่ไอโอวาและนิวแฮมป์เชียร์ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้สถานะตัวเต็งอันดับหนึ่งของแซนเดอร์สยิ่งมั่นคงแข็งแกร่งขึ้น เพราะเป็นผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในแต่ละสนามทั้งสามครั้ง

‘ชัยชนะ’ มีความสำคัญมากในการเลือกตั้งขั้นต้นสนามแรกๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้สมัครที่มิใช่ชนชั้นนำของพรรคและมิใช่อภิมหาเศรษฐี เพราะนอกจากจะช่วยดึงดูดเงินบริจาคและความสนใจจากสื่อมวลชนแล้ว ยังสร้างความรู้สึกมั่นใจในหมู่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งว่า ผู้สมัครมีปัญญาเอาชนะเลือกตั้งได้ (electable) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของว่าที่ประธานาธิบดี  เมื่อเห็นผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งบ่อยๆ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจหรือเคยมีผู้สมัครในใจอยู่แล้ว ก็หวั่นไหวเปลี่ยนใจกันได้ไม่ยาก

อย่าลืมว่าชัยชนะของบารัค โอบามา เหนือฮิลลารี คลินตัน ที่ไอโอวา ในปี 2008 คือจุดพลิกตั้งต้นของประวัติศาสตร์ทุกอย่าง เพราะโอบามาทำให้เห็นว่า Yes, we can !

 

นักวิเคราะห์การเมืองสนใจจับตาการเลือกตั้งขั้นต้นในเนวาดา เพราะเป็นสนามแรกที่สะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติ ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผิวขาวมีประมาณ 66% เท่านั้น ส่วนอีก 1 ใน 3 เป็นคนฮิสแปนิก คนผิวดำ และคนเอเชียเป็นหลัก ต่างจากสองสนามแรกที่เป็นรัฐสีขาว มีผู้ใช้สิทธิ์ผิวขาวมากกว่า 90%

ว่ากันว่า เนวาดาคือสหรัฐอเมริกาใหม่ เพราะโครงสร้างประชากรของเนวาดาสะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของสังคมอเมริกัน มีคนทำนายว่า สหรัฐอเมริกาในปี 2045 จะมีลักษณะคล้ายกับเนวาดาในปี 2020 นั่นคือ ในปี 2045 คนผิวขาวจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อย ขณะที่สัดส่วนของคนฮิสแปนิกจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% และคนผิวดำเป็น 13% ซึ่งเนวาดาในวันนี้คล้ายจะเป็นเช่นนั้นแล้ว โดยมีสัดส่วนประชากรฮิสแปนิก 30% คนผิวดำ 10% คนเอเชีย 9% อเมริกันอินเดียน 2% ส่วนคนผิวขาวที่ไม่ใช่ฮิสแปนิกหรือลาตินมีประมาณ 49% เรียกว่าต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

เนวาดาจึงเป็นความท้าทายของแซนเดอร์สว่าเขาพร้อมจะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกทั่วประเทศที่ต้องเอาชนะใจประชาชนหลากกลุ่มหลายเชื้อชาติแล้วหรือยัง!

เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน สมัยที่แซนเดอร์สแข่งกับฮิลลารี คลินตัน แย่งชิงการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างเข้มข้น จุดอ่อนของลุงเบอร์นีคือฐานเสียงที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนผิวขาว แถมยังเป็นคนขาวเสรีนิยม (liberal whites) เป็นหลัก ขณะที่คลินตันได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มคนผิวดำและฮิสแปนิกมากกว่าหลายเท่า ทั้งสองกลุ่มถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต

โจทย์สำคัญที่แซนเดอร์สต้องแก้มือในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ จะขยายฐานเสียงตัวเองให้กว้างขึ้นอย่างไร สมรภูมิเนวาดาจึงเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญยิ่งต่อแคมเปญของเขาว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ และแล้วผลการเลือกตั้งในเนวาดาก็ส่งสัญญาณด้านบวกว่าตัวเขาผ่านบททดสอบสำคัญบทแรก ไม่สอบตกเหมือนรอบที่แล้ว

หากไล่ดูรายละเอียดของผลเลือกตั้งพบข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ แซนเดอร์สทำคะแนนได้ดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งแทบทุกกลุ่ม โดยเอาชนะได้ทั้งกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง กลุ่มแรงงานทั้งที่สังกัดสหภาพและไม่สังกัด และกลุ่มคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและต่ำกว่า

ในกลุ่มประชากรฮิสแปนิก ลุงเบอร์นี่ได้คะแนนเสียงถึง 53% ส่วนในกลุ่มคนผิวดำ เขาเข้าป้ายเป็นอันดับสองรองจากไบเดน โดยไบเดนได้ 36% และแซนเดอร์สได้ 27%  นอกจากนั้น ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี แซนเดอร์สได้คะแนนเสียง 66% และได้คะแนนนิยมนำหน้าในกลุ่มคนที่เพิ่งออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งขั้นต้นครั้งแรก  ที่น่าตลก(ร้าย) ก็คือ นักการเมืองวัย 78 ปีอย่างเขา กลับไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป (อายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ คนแก่อย่างลุงกลับกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นยุคใหม่)

นอกจากแซนเดอร์สชนะในกลุ่มเสรีนิยมขาดลอยแล้ว รอบนี้เขายังชนะในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์สายกลางหรืออนุรักษนิยมได้เป็นครั้งแรก โดยแซนเดอร์สได้ 25% ขณะที่ไบเดนได้ 23%

ถึงตอนนี้ ฐานเสียงหลักของกลุ่มแนวร่วมสนับสนุนแซนเดอร์สเป็นประธานาธิบดีคือ กลุ่มคนผิวขาวเสรีนิยม กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มคนผิวดำรุ่นใหม่ กลุ่มผู้อพยพ และกลุ่มฮิสแปนิก โดยเฉพาะกลุ่มแม่ๆ ฮิสแปนิก ความท้าทายของเขาคือการขยายฐานเสียงคนผิวดำและฮิสแปนิกให้กว้างขวางขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งมีช่องว่างที่เป็นไปได้

 

จากเนวาดา สนามเลือกตั้งขั้นต้นแห่งต่อไปคือเซาท์แคโรไลนา (29 กุมภาพันธ์) สนามประลองกำลังแย่งชิงฐานเสียงคนผิวดำ ปัจจุบันไบเดนยังมีคะแนนนำในโพลอยู่ แต่เบอร์นีตีตื้นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต้องจับตาว่าฐานเสียงคนผิวดำจะช่วยยืดชีวิตการเมืองให้ไบเดนได้มากน้อยแค่ไหน และเบอร์นีจะแสดงศักยภาพแย่งชิงฐานเสียงกลุ่มนี้ได้เพียงใด

หลังจากนั้นคือ ศึกใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นศึกสุดท้ายของผู้สมัครหลายคนก่อนจะถอนตัวไป นั่นคือ วันมหาอังคาร หรือ Super Tuesday ซึ่งมีจำนวน delegates จาก 14 รัฐ และสนามต่างประเทศ ให้ช่วงชิงกันถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด (1,357 เสียง)

สองสนามใหญ่ที่ทุกคนจับตามองมากที่สุด คือ แคลิฟอร์เนีย (415 เสียง) และเท็กซัส (228 เสียง) สองรัฐที่มีจำนวน delegates มากเป็นอันดับ 1 และ 3 ใน 50 รัฐ (อันดับ 2 คือนิวยอร์ก 274 เสียง เลือกตั้ง 28 เมษายน) เรียกว่า ในเชิงตัวเลข จำนวน delegates ที่ผู้สมัครแต่ละคนสะสมจากศึกที่ผ่านมานับว่าเล็กน้อยมาก — ไอโอวา 40 เสียง นิวแฮมป์เชียร์ 24 เสียง เนวาดา 36 เสียง และเซาท์แคโรไลนา 54 เสียง เท่านั้นเอง

ทั้งแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสยังเป็นรัฐที่มีลักษณะหลากหลายทางเชื้อชาติ เช่นเดียวกับเนวาดา สองรัฐนี้คือบททดสอบ “ของจริง” ของแซนเดอร์ส (อีกสนามหนึ่งใน Super Tuesday ที่มีลักษณะหลากหลายทางเชื้อชาติคล้ายกันนี้คือโคโลราโด – 67 เสียง)  เมื่อปี 2016 แซนเดอร์สพ่ายแพ้ต่อคลินตันในรัฐใหญ่ทั้งหมด ทั้งแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก เท็กซัส ฟลอริดา เพนซิลเวเนีย อิลลินอยส์ และโอไฮโอ รัฐใหญ่สุดที่แซนเดอร์สชนะได้คือมิชิแกน

ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของแซนเดอร์สในเวลานี้คือ เอาชนะในแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสให้ได้ หรือถ้าแพ้ก็ขอให้สูสี กวาดคะแนนมาให้เยอะที่สุด เพราะจำนวน delegates ถูกจัดสรรตามสัดส่วนคะแนนเสียง

ไม่แปลกใจที่ เมื่อวันเสาร์ เวทีประกาศชัยชนะของแซนเดอร์สในศึกเนวาดากลับไม่ได้อยู่ที่เนวาดา แต่เจ้าตัวเลือกประกาศชัยชนะบนเวทีหาเสียงที่เท็กซัส — สนามเลือกตั้งที่มีลักษณะคล้ายเนวาดาแต่สำคัญกว่าหลายเท่า — พร้อมประดิษฐ์วาทกรรมส่งสารประกาศความสำเร็จเรื่องการสร้างแนวร่วมข้ามรุ่น ข้ามเชื้อชาติ ให้ดังก้องจากเท็กซัสถึงแคลิฟอร์เนีย

นักการเมืองอเมริกันเขาคิดเรื่องยุทธศาสตร์การเมืองกันละเอียดทุกเม็ด.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save