fbpx

WEST SIDE STORY คีตลำนำแห่งโศกนาฏกรรมรักฝั่งประจิม ฉบับปี 2021

*Spoiler Alert : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ West Side Story*

นิสัยไม่ดีอยู่อย่างทุกครั้งที่เหล่านักวิจารณ์ต้องเขียนถึงงาน remade คือการหยิบงานใหม่จับมาเทียบกับงานอมตะฉบับเก่าส่องเงาทาบทับหันหมุนประกบดูว่าจะเปรียบคู่สูสีกับ ‘ความขลัง’ ของงานต้นแบบได้หรือไม่ ในขณะที่เคยมีคำถามยอกใจนักวิจารณ์อยู่บ่อยๆ ว่าเราสามารถวิจารณ์หนังเรื่องหนึ่งเรื่องใดในลักษณะ ‘เอกเทศ’ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับงานชิ้นอื่นๆ เลยได้ไหม จะดีจะเลวส่วนไหนอย่างไรก็ว่ากันไป ไม่เห็นจำเป็นจะต้องอ้างอิงถึงผลงานของคนอื่น  ประเด็นนี้เคยเป็นที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนาน ซึ่งผลสรุปก็คือ ต่อให้เป็นการวิจารณ์ผลงานเรื่องใดเรื่องเดียวโดยไม่ต้องดัดจริต reference อ้างอิงไปถึงเรื่องอื่น ๆ การจะตัดสินว่าส่วนไหนดีส่วนไหนเลว ล้วนจำเป็นต้องใช้มาตรฐานกรอบเกณฑ์ที่อิงโยงกับผลงานเคยสร้างชื่อเรื่องอื่นๆ มาแล้วทั้งนั้น เราคงไม่มีวันอ้างดีอ้างเลวใดๆ หากจะจำกัดจดจ่อต่อการรับรู้หนังเพียงเรื่องเดียว เพราะสุดท้ายแล้วรากฐานของการวิจารณ์คือกิจกรรมการ ‘เปรียบเทียบ’ ตั้งแต่แรกโดยธรรมชาติ ด้วยมาตรฐานองค์รวมที่เกิดขึ้นจากการไล่ดูหนังหลากหลายแนวทางมานับพันเรื่อง การวิจารณ์ที่มองแต่หนังเรื่องใดเรื่องเดียวจึงไม่มีอยู่จริง อย่างดีก็ทำได้เพียงการวิเคราะห์แยกแยะส่วนเนื้อหาที่ไม่นำพาต่อการประเมินคุณค่าเท่านั้น

ดังนั้นในการกล่าวถึงหนังเพลง remade เรื่อง West Side Story ของ Steven Spielberg ฉบับปี ค.ศ.2021 นี้  ‘กัลปพฤกษ์’ จึงขอถือวิสาสะโดยดุษณีที่จะจับมาเปรียบเทียบกับ West Side Story ฉบับปี ค.ศ.1961 ของ Jerome Robbins กับ Robert Wise ให้เห็น ๆ ความต่างกันไปเลย  อนิจจา! บุญพาวาสนาข้าพเจ้าช่างด้อยนัก ไม่ยักจะเคยได้ดู West Side Story ฉบับละคร Broadway มาก่อนอย่างใครเขา จึงจะไม่ขอเอาฉบับละครเพลงมาเคียงเทียบด้วยในคราวนี้ และขอเน้นเฉพาะจุดเปลี่ยนที่ผิดแผกไปใน West Side Story ฉบับปี 2021 จากปี 1961 อันจะทำให้ความประทับใจในเรื่องราวพุ่งขึ้นไม่เท่ากัน

อยู่ในวงการนี้มามากกว่า 50 ปีมีชื่อติดอันดับต้นๆ จนผู้คนพร้อมใจกันขนานนามให้เป็น ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด’  Steven Spielberg กลับไม่เคยกำกับ ‘หนังเพลง’ มาก่อนเลยแม้แต่เรื่องเดียว! West Side Story ฉบับนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่จะพิสูจน์เลยว่า Spielberg จะ ‘ไหวไหม’ กับการกำกับหนังแนวที่ได้ชื่อว่า ‘โหดหิน’ มากที่สุดอย่างงาน ‘หนังเพลง’

เอาในภาพรวมก่อนสำหรับ West Side Story ฉบับปี 2021 ของ Steven Spielberg ถือได้ว่าเป็นงานหนังเพลง remade ชั้นดีที่ฝีไม้ลายมืออะไรต่างๆ ไม่ได้ด้อยไปกว่าฉบับของ Jerome Robbins และ Robert Wise เลย  ยิ่งอยู่ในสมัย digital filmmaking ที่ผู้กำกับสามารถเนรมิตฉากยิ่งใหญ่อะไรอย่างไรก็ได้ (ยุคที่ CG ก็ทำให้ใครๆ กลายเป็นพ่อมดได้ ไม่เหมือนยุคฟิล์มโลก analogue ช่วงที่เขายังหนุ่มๆ) Spielberg จึงอาศัยข้อได้เปรียบนี้ในการสร้างงาน production ที่สวยแจ่มตระการตาน่ามองไปเสียทุกๆ ฉากตอน  คือด้านงานสร้าง เทคนิค แสง สี เสียง ดนตรี craftsmanship ในการทำหนังอะไรต่างๆ นี่ต้องให้คะแนนเต็ม ที่สำคัญคือแม้ว่าทุกอย่างจะยังคง by the book แต่มันก็เป็นการ ‘ตามตำรา’ ที่มีชีวิตชีวา ไม่ได้ตามสูตรสำเร็จแบบตะพึดตะพือจนทุกอย่างดูแห้งแล้งไร้จินตนาการ งานหนังเพลงเรื่องแรกของ Steven Spielberg ในครั้งนี้จึงยิ่งกว่า ‘สอบผ่าน’ เมื่อเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หนังเพลงที่โหมกันจังว่าทำให้ออกมาดีได้ยาก Spielberg กลับหันมาตั้งคำถามกลับว่า ‘ยากตรงไหน?’ คือต้องเปิดหมวกซูฮกฝีไม้ลายมืออันเข้าฝักอยู่มือของ Spielberg ที่ประจักษ์ชัดในความเป็น number one ของเขาจริงๆ สิ่งนี้คือไม่สามารถว่าอะไรได้เลย

เอาล่ะ คราวนี้ลองมาจับเทียบหนังฉบับปี 1961 ซึ่งถ้าไม่จู้จี้อะไรมาก ก็คงพอจะบอกได้ว่าคู่คี่สูสีพอฟัดพอเหวี่ยงกัน มีดีกันคนละแบบ เห็นได้ชัดว่า Spielberg และผู้เขียนบท Tony Kushner ได้ปรับแปลงรายละเอียดหลายๆ จุดไม่ให้หนังลง block ตามแบบฉบับเดิมมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นฉากและเงื่อนงำสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไป ลำดับของบทเพลงดัง การใช้ภาษาพูดและภาษาสเปนมากขึ้นโดยไม่มีคำบรรยายขึ้นให้ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการปรับเปลี่ยนตัวละครคุณลุง Doc เจ้าของร้านในฉบับ 1961 มาเป็นคุณป้า Valentina เพื่อเทียบเชิญให้ Rita Moreno นักแสดงหญิงที่เคยรับบทบาทเป็น Anita ในหนังฉบับเก่า มาร่วมปรากฏตัวในบทสำคัญในหนังฉบับนี้ด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับเรียกได้ว่าเป็นการ ‘พัฒนา’ การเล่าให้หนักแน่นเข้มแข็งมากขึ้น ดูแล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงให้หลายๆ รายละเอียดที่อาจเก่าเชยไปแล้วตามยุคสมัย สามารถสื่อสารกับผู้ชมรุ่นใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยกเสียมากกว่า

หากทว่าส่วนที่อาจทำให้ West Side Story ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 ไม่สามารถเป็นหนังเพลงชั้นดีที่ ‘ขลัง’ ได้เท่าฉบับเก่า ค.ศ. 1961 สักเท่าไหร่ จะเป็นส่วนที่เกิดจากการตัดสินใจในฐานะผู้กำกับของ Spielberg เองเสียมากกว่า ซึ่งแม้ว่าจุดต่างๆ เหล่านี้ อาจจะไม่ถึงกับเป็นแผลใหญ่อะไร แต่มันก็เป็นจุดที่อาจทำให้ใครหลายๆ คนยังอยากเทใจให้กับงานฉบับเก่ามากกว่าอยู่ดี โดยจะขอไล่ให้เห็นกันหลักๆ สัก 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1. ขยับเต้นสู้ตาย สุดท้ายพ่ายคนตัดต่อ

ปัญหาใหญ่ของหนังเพลงร่วมสมัยซึ่งเห็นมามากมายหลายต่อหลายเรื่องแล้วก็คือ ฉากโชว์การเต้นอันตระการตาที่ผู้ออกแบบท่า choreographer อุตส่าห์ระดมคิด design movement ของนักเต้นแต่ละรายออกมาหัวแทบระเบิดตาย กว่าจะได้ sequence เต้นรำสวยเด่นเห็นลีลาพร้อมเพรียง หากกลับโดนมลพิษอัตราความถี่ที่ไม่รู้ว่าจะรีบจ้ำอ้าวพุ่งทะยานไปวัดไปโบสถ์มัสยิดไหนของการตัดต่อร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่งสมาพันธ์นักตัดต่อทั้งหลายต่างมีอุดมการณ์ทำงานแบบคุ้มค่าจ้าง ตัดถี่ตัดยิบ เหลือ shot นึงไม่ถึง 5 วินาที คือนักแสดงสมทบบางคนตื่นตีห้าเดินทางมาแต่งหน้าแต่งตาอีก 2 ชั่วโมง ไหนกว่าจะซ้อมกว่าจะได้เข้าฉาก ปรากฏถูกตัดหั่นเหลือโผล่หน้าให้เห็นไม่ถึงครึ่งวินาที แล้วอย่างนี้ฉากการเต้นรำที่โดยธรรมเนียมแล้วเราควรจะได้นั่งกวาดตาดูทั่วเต็มเวทีแบบไม่มีใครมาคอยตัด มันจะเหลือหรือ? คืออัตราการตัดต่อใน West Side Story ของ Spielberg ถือว่าไวกว่าต้นฉบับมาก เพื่อให้ถูกจริตถูกใจนิสัยการดูหนังของคนสมัยใหม่แสนใจร้อนนี้ มันเลยกลายเป็นว่าท่าทางการเต้นต่างๆ ที่คนดูควรสัมผัสได้อย่างเต็มอิ่ม กลับถูกตัดสลับเปลี่ยนเวียนมุมเวียนองศาไปในขณะที่นักเต้นเขายังวาดลวดลายไม่จบท่าดีด้วยซ้ำ ขนาดภาพยนตร์คอนเสิร์ตนักร้องดังที่ขายงานเต้นหลายๆ งานก็ยังเจอปัญหานี้ จนมีความเป็นประเด็นวาระแห่งชาติ และอยากประกาศ manifesto อนุญาตให้แช่กล้องนิ่งๆ ในฉากเต้นรำได้นานถึง 5 นาทีโดยไม่ต้องตัดเลยเหมือนบรรดาหนังเพลงในยุคสมัยเก่าก่อน คือฝีมือการตัดต่อเขาไม่ได้นับกันที่จำนวน shot ย่อย แต่เขาดูว่าคุณมีเหตุผลอันเหมาะสมหรือเปล่าในการเลือกตัดแต่ละครั้ง เพราะฉะนั้นนักเต้นยังออกท่าไม่จบก็ยังไม่ควรตัด เพราะเห็นแล้วมันจะอึดอัดเสียอารมณ์!

2. Michael Jackson is ‘Bad’, Steven Spielberg is ‘Lame’!

ถึงจะตัดไว แต่ก็พยายามเอามาประกอบใหม่ในหัวว่าท่าเต้นต่างๆ ใน West Side Story ฉบับปี 2021 นี้มีลีลาที่น่าสนใจเฉพาะตัวตรงไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะเห็นชัดว่าท่าเต้นต่างๆ ได้พยายามสร้างสรรค์ให้แตกต่างออกไปจากฉบับเดิม และถ้าเอาจริงๆ ก็ต้องถือว่าทำออกมาได้กำลังพอดีไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร แต่บังเอิ๊ญบังเอิญคุณ Michael Jackson ผู้ล่วงลับ เขาก็เป็นแฟนเดนตายของ West Side Story ฉบับปี 1961 อีกคนหนึ่งเหมือนกัน และได้แสดงความคารวะหนังเพลงในดวงใจเรื่องนี้ของเขาในผลงาน music video ถึงสองเพลงด้วยกัน นั่นคือ Beat It (1982) และ Bad (1987) ซึ่งต่างก็เป็น music video ที่เล่าถึงการตีกันของแก๊งวัยรุ่นเหมือนกัน แต่หันมาใช้ลีลา dance เป็นอาวุธ โดยอ้างอิงจากฉากเต้นในเพลง Cool เป็นส่วนใหญ่ และถ้าใครที่เคยได้ดูก็คงจะเห็นว่า Michael Jackson อาศัยแรงบันดาลใจโดยไม่ได้ก็อปปี้ท่าทางการเต้นจาก choreography ต้นฉบับมาแบบเป๊ะๆ คือลีลากลิ่นอายนั้นน่ะใช่ แต่เส้นสายลวดลายการ move ได้มีการพัฒนาแต่งเติมให้มี groove ในแบบ Michael Jackson เองอยู่ด้วยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างทุกครั้งในการดัดแปลงงานของใครๆ 

ทว่าใน West Side Story ฉบับ Spielberg กลับมีแต่ท่าเต้นที่ ‘ดีงามตามมาตรฐาน’ ไม่ได้มีการสร้างสรรค์สไตล์หรือลีลาแปลกใหม่ที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำทางใคร ในขณะที่ท่าทางต่างๆ ใน West Side Story ฉบับแรกกลับมีความ original มีการแบ่ง line เต้นที่ต่างกลุ่มต่างพวกกันได้อย่างกลมกลืน แตกต่างจากขนบหนังเพลงในยุคก่อนหน้านั้น และเหมือนจะเบิกทางไปสู่ลีลาที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นในผลงานของ Bob Fosse ในเวลาต่อไป  West Side Story ฉบับปี 2021 จึงน่าจะสร้างลีลาการเต้น หรือมี ‘ท่าจำ’ ร่วมสมัยในแบบใหม่ ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ได้ แต่กลับไม่ปรากฏพบใน sequence ใดๆ เลยอย่างน่าเสียดาย

3. มั่นคงทรงสติ Gee, Officer Krupke

ฉากเดียวเลยที่ต้องบอกว่าชวนให้ถึงกับผิดหวังเล็กๆ ใน West Side Story ฉบับใหม่นี้ก็คือฉากป่วนดวลเพลง Gee, Officer Krupke เผยที่มาของความเกกมะเหรกป่วยไข้ไม่เอาไหนในฐานะเหยื่อจากความฟอนเฟะในสังคมของเหล่าพลพรรค Jets แต่ที่ผิดหวังไม่ใช่เพราะหนังเปลี่ยนทั้งลำดับของเพลง และสถานที่จากริมถนนทางเดินมาเป็นโรงพักตำรวจ ตรงนั้นคือไม่ได้กระไร แต่ส่วนที่ไม่ชอบเลยคือ attitude ในการนำเสนอของนักแสดงทั้งหลายในเพลงนี้

ต้องเกริ่นเล่าก่อนว่า เพลง Gee, Officer Krupke ถือเป็นเพลงเด่นที่สะท้อนภาพความเป็น West Side Story ขนานแท้และดั้งเดิมได้มากที่สุดเพลงหนึ่ง เนื่องจากเนื้อหาเรื่องราวเป็นการหยิบเอา plot เรื่องจากบทละคร Romeo and Juliet (1597) ของ William Shakespeare มาดัดแปลงให้เข้ากับบริบทชุมชนสลัมในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก กลางยุค 1950s แล้วเปลี่ยนจากตระกูลคู่แค้น Montague-Capulet เป็นกลุ่มแก๊ง The Jets-The Sharks ระหว่างอเมริกันผิวขาวกับเหล่าวัยรุ่นจากเปอร์โตริโก ตอนที่ Leonard Bernstein และ Stephen Sondheim ร่วมกันทำเพลงให้กับ musical เรื่องนี้ พวกเขาจึงตั้งใจที่จะให้นักแสดงเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-16 ปี ตามวัยจริงๆ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักร้องมืออาชีพ เพราะพวกเขาอยากได้เสียงร้องที่เป็นธรรมชาติเหมือนเป็นตัวละครจากสลัมจริงๆ และ เพลง Gee, Officer Krupke นี่แหละ ที่บ่งบอกเจตนานี้ได้อย่างดี เพราะเป็นเพลงที่จะร้องให้เพราะ ให้แม่น ให้ตรงคีย์ครบเป๊ะไม่ได้เลย แต่ต้องใช้เสียงที่แสดงความวายป่วง เพี้ยนบ้าง หลุดบ้าง หลงบ้าง เสียงไม่ถึงบ้าง สลับกับการพ่นคำเหมือนบ่นพูด

West Side Story เวอร์ชั่น 1961

ตอนที่ Leonard Bernstein มีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงชุดนี้เมื่อปี ค.ศ. 1984 โดยมีเขาเป็นวาทยากรเอง เขายังได้กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้เห็นว่านักแสดงดั้งเดิมของละครเรื่องนี้เป็นนักแสดงมือสมัครเล่นที่มีอายุตามตัวละครจริง แต่ในการอัดบันทึกเสียงที่เขาจะต้องทำงานกับนักร้องระดับมืออาชีพ เขาถึงกับต้องฝึกซ้อมและตีความร่วมกับนักร้องเหล่านี้ใหม่อย่างหนัก เพื่อให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดเพลง Gee, Officer Krupke ออกมาได้ เหมือนอย่างคนที่ร้องเพลงไม่เป็น! เคราะห์ดีเหลือเกินที่ Jerome Robbins กับ Robert Wise เข้าใจในหัวใจสำคัญของบทเพลงนี้ และกำกับนักแสดงในฉบับหนังปี 1961 ออกมาได้เซอะซะเซ่อซ่าบ้าบอคอแตกเสียงป่วนแหบโหนร้องแบบถึงบ้างไม่ถึงบ้างจนกลายเป็นภาพที่น่าเวทนาและตลกโปกฮาไปได้พร้อมๆ กัน 

หันมาดูฉบับหนังล่าสุดของ Spielberg ในฉากเดียวกันนี้ ที่ดูแล้วถึงกับต้องร้อง “ฮึ? ใช่หรือ?” เพราะ Gee, Officer Krupke ของ Spielberg เป็นฉากที่เจิดจรัสไปด้วยความวิจิตรแพรวพราว นักร้องนักแสดงทุกๆ คน ถึงบางช่วงจะ off-key แต่ก็ยังมีความแม่นเป๊ะ ลีลาการจัดวางท่าทางอะไรต่างๆ ก็ละเอียดประณีตพิถีพิถันทุกการเคลื่อนไหวบอกเล่าเรื่องราวได้หลากหลาย ดูแล้วต้องชวนให้รู้สึกว่านักแสดงหนุ่มๆ กลุ่มนี้ พวกเขาเก่งและมีพลังกันจังเลย ที่สามารถสามัคคีถ่ายทอดการประสานรวมของบทเพลงนี้ได้อย่างไร้ที่ติ แต่เพราะมันทำให้คิดแบบนี้สิที่ผิด! คือแทนที่จะได้เห็นถึงความทโมนไพร เซอะซะทะเล่อทะล่าบ้าบอเหลือขอเดนสังคม มันกลับกลายเป็นฉากเรียกคำชมให้นักแสดงไปแทน เข้าใจดีว่าแนวทางตลกรั่วเฟอะฟะเอะอะมะเทิ่งเริงร่าบ้าบิ่นอะไรแบบนี้ ไม่ใช่ ‘ทาง’ ของ Spielberg เลยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่หากรู้ตัวว่า ‘รั่ว’ ไม่ไหว เขาก็ยังมีวิธีอื่นอีกมากมายในการนำเสนอเพลงนี้ตามทางของตัวเอง เช่น อาจทำให้มันหม่นมืดน่ากลัวไปเลย ก็อาจจะดูไม่ขัดหูขัดตาขนาดนี้ เพราะเมื่อเห็นเหล่านักแสดงสติยังดี เราเลยกลับรู้สึกว่า “อ้าว! ก็มีประสบการณ์ศึกษาฝึกฝนอะไรกันมาไม่น้อยนี่นา” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง Leonard Bernstein และ Stephen Sondheim ไม่ได้ต้องการเลยในฉากสำคัญนี้

4. รักแท้หรือแค่คลั่งหลง

มาถึงประเด็นสุดท้าย ซึ่งจะว่าไปก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นก่อนหน้า ก็คือบุคลิกและบทบาทของตัวละครคู่พระคู่นาง Tony และ Maria ซึ่งในฉบับหนังปี 1961 ได้ Richard Beymer และ Natalie Wood มารับบท ส่วนฉบับปี 2021 ก็กลายเป็นหน้าที่ของ Ansel Elgort และ Rachel Zegler แทน สำหรับบท Maria ทั้ง Natalie Wood และ Rachel Zegler ก็ได้สร้างบุคลิกของตัวละครที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Maria ของ Natalie Wood จะดูอ่อนหวาน ช่างฝัน และเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ในขณะที่ Maria ของ Rachel Zegler จะดูมั่นอกมั่นใจและขับเน้นความเป็นคนเปอร์โตริกันได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งคู่ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นสาวน้อยอ่อนใสดรุณวัยผู้น่าหลงใหลได้อย่างน่าเชื่อ สอดคล้องเหมาะสมกับตัวบทที่ได้รับกันคนละแนวทาง ซึ่งก็นับว่าไม่ได้สร้างปัญหาอะไร 

ในขณะที่ฝ่ายชายนักแสดงทั้งสองก็สร้างบทบาทที่ต่างกันเช่นกัน โดย Tony ของ Richard Beymer มีมาดของเด็กหนุ่มผู้ใฝ่ดี และที่สำคัญคือความคลั่งรักที่เขามีต่อ Maria ที่แสดงถึงแรงผลักดันทางเพศตามธรรมชาติของวัยเจริญพันธุ์ แต่ Tony ของ Ansel Elgort จะดูนิ่งขรึมและเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก เราแทบไม่ได้เห็นเขาในบทสนุกลั้ลลา แม้กระทั่งความรักที่มีต่อ Maria ก็ดูสุขุมมีสติแบบผู้ใหญ่ให้คุณค่าของการเป็นรักแท้ ไม่ได้เป็นความคลั่งไคล้ในตัวแม่ยอดรักดังที่ถ่ายทอดไว้ในงานต้นฉบับ ซึ่งก็นับเป็นความแตกต่างที่ทำให้การสรุปจบเรื่องราวเปลี่ยนความหมายไปได้ไม่น้อยเลยเหมือนกัน

สำหรับ West Side Story ฉบับปี 1961 นั้น เราจะเห็นทรรศนะท่าทีที่น่าสนใจของ Jerome Robbins กับ Robert Wise ในการวางบทบาทของ Tony ให้เป็นทั้ง ‘พระเอก’ จิตใจดีที่ควรค่าแก่การเทใจ แต่ก็ยังอยู่ในก๊วนเดียวกันกับกลุ่มอันธพาล The Jets ที่สังคมภายนอกก็ยังมองว่าเป็นพวกเดนสังคมอยู่ ฉากจบ (ที่น่าจะ spoil ได้แล้วนะ ละครเพลงก็เล่นกันมาไม่รู้ว่าจะกี่ทศวรรษแล้ว) ที่เขาถูกยิงตาย จึงเป็นการสรุปจบแบบใจร้ายที่สุดท้าย ‘พระเอกมาดเท่’ ของพวกเราก็ต้องตายอย่างไร้ค่าแบบ ‘สุนัขข้างถนน’ ของผู้คนละแวกนั้น ผสมผสานความเป็น antihero อันย้อนแย้งให้ตัวละคร จนกลายเป็นฉากจบที่ทั้งสะเทือนใจและสะท้อนใจได้ไม่น้อย 

แต่พอมาเป็น Tony ของ Ansel Elgort ผ่านการกำกับของ Spielberg ดูยังไงๆ เขาก็มีความหล่อเท่สูงชะลูดตูดปอดโดดเด่นดูดีตั้งแต่หัวจรดเท้า แถมยังไร้เงาแห่งการเป็น loser ไม่ว่าจะเป็นมุมใด ภาพย้อนแย้งของการเป็น ‘พระเอกกากเดนสังคม’ แบบ Tony ในปี 1961 จึงไม่ปรากฏให้เห็นเลยในหนังฉบับนี้ หากเป็นความตายที่น่าสดุดีของวีรบุรุษผู้ยึดมั่นในความรักตามธรรมเนียมการหักจบของเรื่องราว drama ทำนองนี้โดยทั่วไป กลายเป็นบทสรุปที่ออกจะ by the book ตามตำราที่เคยว่าเอาไว้ ไม่ชวนให้ซาบซึ้งอิ่มเอมกับความรู้สึกที่ผสมปนเปจนยากจะอธิบายอะไรได้ในผลงานหนังฉบับเก่า

เอาเถิดที่ร่ายยาวมาทั้ง 4 ประเด็น ก็เป็นเพียงเสียงบ่นเล็กๆ ตามประสานักวิจารณ์ที่หากจะหลับตาหนึ่งข้างมองแบบผ่านๆ ก็คงจะไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญใจอะไรขนาดนั้น เพราะหนังเพลงเขาทำออกมาให้ดูเพื่อความเพลิดเพลินไม่ใช่ให้มาติส่วนขาดส่วนเกินอย่างพวกคอยจ้องจับผิด ซึ่ง West Side Story ของ Steven Spielberg แห่งปี 2021 ก็ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสำเร็จโดยงดงามแล้ว ซึ่งก็คงต้องติดตามต่อไปว่าหนังเรื่องนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนในช่วงฤดูกาลประกาศรางวัล จะเป็นหนัง remade ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลเดียวกันได้อีกคำรบหรือไม่ ดูจะเป็นเดิมพันที่เป็นไปได้ไม่น้อยเลยเหมือนกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save