fbpx
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังอาศัยอยู่ใน ‘ดิสโทเปีย’ หรือเปล่า

จะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังอาศัยอยู่ใน ‘ดิสโทเปีย’ หรือเปล่า

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เรารู้ว่า ‘ดิสโทเปีย’ (Dystopia) คือโลกที่ไม่พึงปรารถนา คำนี้แปลตรงๆ ได้ว่า bad place หรือที่ที่เลวร้าย มันคือคำตรงข้ามกับยูโทเปีย (Utopia) หรือดินแดนในอุดมคติ อันเป็นคำที่เซอร์โธมัส มอร์ (Thomas More) คิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

ถ้ายูโทเปียคือดินแดนดีงาม ดิสโทเปียก็ต้องเป็นดินแดนชั่วร้าย เช่น เป็นสังคมที่กดขี่มนุษย์ด้วยกัน มีการปกครองโดยทรราช อำนาจนิยม หรือมีหายนะในด้านสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ อย่างเช่น ไม่มีน้ำใช้ หรือตัวละครบางอย่างถูกกดขี่ เช่น กดขี่ผู้หญิงหรือลดรูปจนเหลือเพียงฟังก์ชันบางอย่างที่มีความเป็นมนุษย์น้อยลง

ดังนั้น เวลาพูดถึงดิสโทเปีย เราหลายคนอาจคิดว่า เราต้องรู้ตัวแน่ๆ สิ ว่านี่คือดิสโทเปีย เพราะเราต้องทุกข์ทรมาน เราต้องไม่อยากมีโลกแบบดิสโทเปีย

แต่ข่าวร้ายก็คือ ดิสโทเปียไม่ได้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นฉับพลัน และไม่ได้เป็นภาวะแบบ 0 กับ 1 หรือขาวดำขนาดนั้น  ส่วนใหญ่สังคมจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภาวะดิสโทเปียทีละน้อยๆ พร้อมกับสร้างความคุ้นชินจนบ่อยครั้งเราก็ไม่อาจรู้ตัว ว่ากำลังเคลื่อนเข้าสู่ดิสโทเปีย คล้ายเราอยู่ในเดอะเมทริกซ์ เราจึงไม่เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น

ดิสโทเปียส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้ก็เพราะเราคิดว่าตัวเรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมยูโทเปีย แต่เมื่อเราพยายามทาบทับแบบและเบ้าของยูโทเปียหรือสังคมในอุดมคติของเราลงไปบนผู้คนทั้งหมดของสังคม ก็อาจก่อให้เกิดดิสโทเปียขึ้นมาได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

หนังสือว่าด้วยดิสโทเปียเล่มหนึ่งเสนอว่า โดยทั่วไป ดิสโทเปียเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนเกิดอาการแบบที่เรียกว่า Anti-Collectivism หรือต่อต้านวิธีคิดแบบ ‘รวมหมู่’ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเห็นว่า ยูโทเปียที่ ‘ฝูง’ ต้องการจะไปให้ถึงนั้น ไม่ใช่ดินแดนในอุดมคติของตัวเอง ก็เลยต่อต้าน แต่กลับถูก ‘กด’ ความรู้สึกต่อต้านนั้นเอาไว้จนไม่มีที่ระบายออก ดังนั้น สำหรับคนอื่นๆ สังคมนั้นอาจเป็นยูโทเปีย แต่สำหรับ Anti-Collectivist นั่นคือดิสโทเปีย

ด้วยเหตุนี้ ดิสโทเปียจึงมักเป็นสภาวะคล้ายๆ นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ คือถ้าเราอยู่ในโลก สังคม หรือประเทศที่่มีลักษณะเชื่อถือ ‘อุดมการณ์สัตว์ฝูง’ (คำของนิทเช่) แบบเต็มตัว เราอาจไม่ค่อยรู้ตัวเท่าไหร่ว่าเรากำลังทาบทับอุดมการณ์หนักอึ้งลงไปบนบ่าของคนที่ไม่ได้อยากได้มันหรือเปล่า

คำถามก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าโลกที่เราอยู่นั้นเป็นดิสโทเปียมากน้อยแค่ไหน

มีหลายต่อหลายบทความ ที่พูดถึง ‘สัญญาณ’ ว่าเราอาศัยอยู่ในดินแดนดิสโทเปีย (แต่มักไม่รู้ตัว) ลองมาดูกันว่าเราพบพานกับสัญญาณเหล่านั้นบ้างแล้วหรือยัง

 

สัญญาณที่ 1 : คนที่มีอำนาจกำลังตัดสินใจเรื่องต่างๆ แทนเราทุกเรื่องโดยตรวจสอบไม่ได้

หลายคนอาจไม่คิดว่านี่เป็นปัญหา เพราะเรา ‘มอบอำนาจ’ ให้นักการเมืองไปเป็นตัวแทนเพื่อ ‘ใช้อำนาจ’ ต่างๆ แทนเราอยู่แล้ว แต่การใช้อำนาจท่ีว่า ต้องอยู่ในขอบเขตของการ ‘ตรวจสอบ’ ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่อำนาจใหญ่ๆ ในสังคม ไปตกอยู่ในมือของใครบางคน (หรือบางกลุ่ม) แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็แปลว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีแนวโน้มจะเป็นดิสโทเปีย

แจ็ค ลอนดอน เคยเขียนนิยายดิสโทเปียเอาไว้แบบฉูดฉาดกระจ่างชัด ชื่อเรื่องว่า The Iron Heel ซึ่งก็แปลว่าสังคมถูกกดอยู่ใต้ส้นเท้าเหล็กของผู้มีอำนาจ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในปัจจุบัน การใช้อำนาจจะมีความซับซ้อนขึ้นมาก ทั้งการใช้อำนาจเชิงนโยบายที่แลดูถูกต้องตามกฎหมาย หรือการใช้อำนาจผ่านตัวแทนเป็นชั้นๆ ซ้อนลงมา การใช้อำนาจรัฐผ่านอำนาจทุนอีกต่อหนึ่ง วิธีการที่ซับซ้อน (และบ่อยครั้งค่อยเป็นค่อยไปแบบโยนหินถามทางก่อน ได้คืบแล้วค่อยเอาศอก) เหล่านี้มักทำให้คนจำนวนมากยังคงตกอยู่ในมนต์เสน่ห์อำนาจ จนมองไม่เห็นถึงภาวะดิสโทเปียที่กำลังคืบคลานเข้ามา

ดังนั้น การตรวจสอบอำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สังคมที่กลไกการตรวจสอบพิกลพิการไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร จึงมีแนวโน้มจะเป็นดิสโทเปียอย่างมาก

 

สัญญาณที่ 2 : ความจนเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปสนใจ

สังคมดิสโทเปียมีแนวโน้มจะมอบอำนาจให้ปัจเจกหรือคนบางกลุ่มอยู่เหนือกว่าคนอื่นๆ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็ละเลยเพิกเฉยคนอีกบางกลุ่มที่อยู่ใต้สุด สังคมแบบนี้มักจะมีระบบชนชั้นที่ชัดเจนมาก และพร้อมจะ ‘ตัดทิ้ง’ คนกลุ่มที่สังคมดิสโทเปียไม่เห็นหัวออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนจน

สังคมที่เป็นดิสโทเปีย มักไม่สนใจรัฐสวัสดิการในอันที่จะโอบอุ้มทุกคนให้อยู่เหนือขีดมาตรฐานแห่งความเป็นมนุษย์ หรือร้ายกว่านั้นก็คือไม่สนใจสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยมองว่ามีคุณค่าบางอย่างอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ของคนอื่น สังคมแบบนี้สร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้กับคนบางคนหรือบางกลุ่ม แต่กีดกัน เบียดขับ และบางครั้งก็ถึงขั้นผลักไสคนบางกลุ่มให้ตกขอบสังคมออกไป

ถ้าเป็นนิยาย เราจะพบเรื่องทำนองนี้ได้แบบฉูดฉาด (เช่นนิยายของเวโรนิก้า รอธ เรื่อง Divergent ที่มีการผลักไสคนบางกลุ่มออกไปจากสังคมอย่างจริงจัง) แต่ในโลกจริง เราจะมองไม่ค่อยเห็นภาวะไม่สนใจความจนเชิงโครงสร้าง โดยมักโยนภาวะ ‘โง่ จน เจ็บ’ ให้เป็นภาระของปัจเจก คือจนเพราะขี้เกียจ ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่จะต้องจนและถูกเบียดขับอยู่ร่ำไป แต่มองไม่เห็นความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อคนบางกลุ่ม

ดิสโทเปียจึงเกิดขึ้นเพราะการ ‘ไม่เห็นหัวคนอื่น’ นี่เอง

 

สัญญาณที่ 3 : มีการ ‘เขียนประวัติศาสตร์ใหม่’ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ผู้อยู่ในอำนาจ

ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ถูก ‘เขียนใหม่’ อยู่ตลอดเวลา คนเล็กคนน้อยเองก็เขียน ‘เรื่องเล่า’ ชีวิตของตัวเองเสมอ เพื่อให้ตัวเองดูดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาและการรับรู้ของตัวเอง

ถ้าเป็นคนทั่วไป จะปั้นแต่งเรื่องของตัวเองพิสดารเลิศเลออย่างไรก็มักไม่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (เว้นเสียแต่จะใช้เรื่องเล่านั้นไปหลอกลวงมวลมหาประชาชน) แต่ผู้มีอำนาจก็มักทำแบบนั้นเช่นกัน แต่จะส่งผลกว้างกว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ตกแต่งเรื่องเล่าของตัวเอง ทว่ามักอยาก ‘เขียนประวัติศาสตร์ใหม่’ เพื่อ ‘ล้างสมอง’ คนทั้งสังคมให้เชื่อถือในความเป็นมาอีกแบบหนึ่ง

วิธีง่ายๆ อย่างหนึ่งในการดูสัญญาณดิสโทเปีย คือการสังเกตว่า มีการเรียกร้อง เหนี่ยวนำ บังคับ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ (หรือ ‘อัดฉีด’ การเรียนประวัติศาสตร์เข้าไปในหลักสูตรต่างๆ อย่างเป็นทางการ) โดยฝีมือของผู้มีอำนาจหรือเปล่า เราจะเห็นตัวอย่างนี้ได้ในฮ่องกง ที่จีนแผ่นดินใหญ่พยายามให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบ ‘โปรจีน’ ทำให้ครูจำนวนมากไม่พอใจจนต้องลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง

การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ไม่เหมือนการ ‘ชำระ’ ประวัติศาสตร์ เพราะการเขียนใหม่มักเกิดจากกลุ่มอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากการ ‘ชำระ’ ประวัติศาสตร์ร่วมกันของคนหลายๆ กลุ่ม เพื่อหาข้อตกลงในการสร้าง ‘เรื่องเล่า’ ให้ตัวเองโดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

 

สัญญาณที่ 4 : เราสูญเสียความเห็นอกเห็นใจในชีวิตและชะตากรรมของผู้อื่น

นอกจากคนจนหรือคนที่ถูกมองว่า ‘ด้อยค่า’ ที่สุดในสังคมในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ภาวะดิสโทเปียอีกอย่างหนึ่งก็คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่ ‘คิดต่าง’ ไปจากเรา

ในสังคมดิสโทเปีย เราจะเห็นภาวะ ‘ล้นเกิน’ ในการให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่ม เช่น คนดัง ดารา หรือผู้นำที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกับเรา พร้อมกับการกดเหยียดและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มอื่นๆ ด้วยการคิดสร้างศัพท์มาเรียกกันและกันเพื่อบ่งชี้ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้เท่ากลุ่มเรา โดยมากมักเป็นคำที่นำไปเปรียบเทียบกับสัตว์ เพราะมนุษย์มีแนวโน้มคิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ที่สูงส่งกว่าสัตว์ทั่วไป การเหยียดคนอื่นให้เท่ากับสัตว์บางชนิด จึงเป็นการเปรียบที่ได้ผลดีในความรู้สึก

และเพื่อให้บรรลุถึงการเหยียดขั้นสูงสุด ดิสโทเปียเช่นน้ีจึงจำเป็นต้องมองไม่เห็นหรือมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชน และมักมีการสร้างวาทกรรมเพื่อทำลายสิทธิมนุษยชนลงด้วย

 

สัญญาณที่ 5 : เราถูกจับตามอง

สังคมดิจิทัลและออนไลน์ทุกวันนี้ ทำให้เรา ‘ถูกจับตามอง’ ได้ง่ายขึ้น ยุคแห่งเทคโนโลยีทำให้เรามอบข้อมูลต่างๆ ให้ผู้มีอำนาจ

ที่น่าสนใจก็คือ จำนวนมากเป็นการมอบข้อมูลส่วนตัวของเราให้ผู้มีอำนาจอย่างเต็มใจเสียด้วย เช่น ยอมมอบข้อมูลให้กับบริษัทใหญ่ๆ เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้แก่เรา หรือยอมแยกความเป็นส่วนตัวเพื่อให้อำนาจรัฐได้สร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตให้เรา (โดยไม่ได้คำนึงว่า ความมั่นคงปลอดภัยที่ว่าควรต้องเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐอยู่แล้ว)

เรายอมถูกจับตามองด้วยหลายเหตุผล อย่างหนึ่งคือความสะดวกสบาย อีกอย่างหนึ่งคือความหวาดกลัว ซึ่งก็จะย้อนกลับไปหาความเป็นฝูงและความเป็นอื่นอีกที ถ้าเรารู้สึกดีกับดิสโทเปียหรือ ‘คอนฟอร์ม’ กับฝูง เราจะรู้สึกว่าการถูกจับตามองทำให้เรารู้สึก ‘สบายดี’ (เช่นคำพูดที่ว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว”) แต่ถ้าเราไม่ได้รู้สึกดีกับดิสโทเปียนี้ เราก็จะถูกบังคับให้ต้องยอมศิโรราบด้วยความหวาดกลัว

 

สัญญาณที่ 6 : เราชิงชังความก้าวหน้า

มนุษย์อาจเป็นอนุรักษนิยมโดยพื้นฐานก็ได้ เพราะถ้าชีวิตของเราดีอยู่แล้ว เราย่อมไม่ค่อยอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ขึ้นกับชีวิตของเรา ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีชีวิตที่ดีมักเป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในมือ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงมักอยากรักษา status quo ของตัวเองเอาไว้ ไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่ในสังคมทั่วไป โลกจะผลัดเปลี่ยนผู้คนเสมอ ความคิดใหม่ๆ การแก้ปัญหาใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น เราเรียกมันว่าความก้าวหน้า ซึ่งามารถย้อนกลับไปทำลายหรือขัดขวางการทำงานบางส่วนของโครงสร้างเดิมได้

สังคมที่ดีจึงคือสังคมที่มีสมดุลระหว่างอนุรักษนิยมและก้าวหน้า คือโอบรับความเปลี่ยนแปลงพร้อมกับค่อยๆ นำความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาปรับใช้กับโครงสร้างเดิม หรือไม่ก็ค่อยๆ ลดทอนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น

แต่สังคมดิสโทเปียมีแนวโน้มเป็นอีกแบบ คือแข็งตัวอยู่กับโครงสร้างเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า นั่นก่อให้เกิดแรงเค้นขนาดใหญ่ในสังคม เพราะมีแรงต้านและการบีบอัด ซึ่งในที่สุดก็จะระเบิดออกมาจนอาจพังพินาศไปทั้งหมด ถ้าโชคดี ก็อาจมีโอกาสกลับมากอบเก็บซากเพื่อสร้างใหม่ แ่ต่ถ้าโชคร้าย ก็อาจสูญสลายตายสิ้นไปทั้งสังคม

 

สัญญาณที่ 7 : น้ำแล้ง น้ำท่วม และการจัดการกับสิ่งแวดล้อม

ฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับกับดิสโทเปีย แต่ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Mad Max : The Fury Road (หรือแม้แต่ Interstellar) เราจะเห็นเลยว่า ภัยธรรมชาติซึ่งทำให้มนุษย์ขาดแคลนปัจจัยจำเป็นพื้นฐาน (อย่างเช่นน้ำ) ทำให้สังคมกลายเป็นดิสโทเปียขึ้นมาได้อย่างไร

การดูแล รับมือ และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือสัญญาณสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของดิสโทเปีย สังคมดิสโทเปียมักเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มเท่านั้นเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้ ยิ่งในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทรัพยากรต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่หายากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดการจำกัดการเข้าถึง (ซึ่งก็คือการจำกัด ‘โอกาส’) ในคนบางกลุ่มขึ้นมา อย่างที่เราพบเห็นได้ในหลากหลายตัวอย่าง

 

จะเห็นว่า การรับรู้ว่าตัวเราอยู่ในสังคมดิสโทเปียหรือไม่, ไม่ใช่เรื่องง่าย มีแต่การสังเกตอย่างละเอียด ดึงตัวเองออกมาจากโลกและสถานการณ์ เพื่อมองย้อนกลับเข้าไปให้เห็นโครงสร้างใหญ่เท่านั้น ที่จะทำให้เราพอบอกได้ว่า ที่ที่เราอยู่ มันคือดิสโทเปียไหม

ถ้าใช่ และตระหนักรู้ร่วมกันว่าใช่ ก็อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องพยายามไปให้พ้นจากสภาวะดิสโทเปียนี้ร่วมกัน

 

 

อ่านเพิ่มเติม

https://vocal.media/futurism/9-signs-were-already-living-in-a-dystopian-universe

5 Signs We’re Already Living In A Dystopia

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save