fbpx

เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’

คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่าฉันใด คนรุ่นใหม่ก็นำพาความเปลี่ยนแปลงใหม่มาสู่สังคมฉันนั้น – วงการสื่อมวลชนเป็นอีกสังคมที่เกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากนักข่าวรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ต่างพากันตื่นตัวเรื่องการเมืองและออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างชัดเจน

เมื่อคนเหล่านี้มาอยู่ในวงการสื่อแล้ว จะนำพาอะไรใหม่ๆ หรือจะเห็นอะไรที่สื่อไทยควรเปลี่ยนใหม่บ้าง 101 ชวน พลอย – วศินี พบูประภาพ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ผันตัวมาสู่เส้นทางนักข่าวสังกัด workpointTODAY เล่าเรื่องราวที่เธอพบจากการทำงาน ภาพของสื่อที่เธอมองเห็น และอีกหลากหลายประเด็นที่เธออยากส่งเสียงให้สังคมรับฟัง


:: แรงบันดาลใจจากนักประพันธ์ ::


พลอยสัมผัสงานสื่อมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีคนในครอบครัวเป็นนักข่าว เราจึงมีโอกาสแวะเวียนไปสำนักงาน ไปดูบรรยากาศห้องข่าว ดูสคริปต์ข่าวที่ใช้จัดรายการ เห็นการกำกับรายการ เรียกว่าได้เห็นกระบวนการทำข่าวตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนในฐานะผู้รับสื่อ เราก็ได้รับข่าว โดยเฉพาะข่าวการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ที่บ้านพลอยทุกเช้า บนโต๊ะต้องมีหนังสือพิมพ์เต็มไปหมด ทั้งหนังสือพิมพ์สำนักใหญ่อย่างไทยรัฐ มติชน ไปจนถึงสำนักพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเสียงภูพาน เพราะบ้านพลอยเป็นคนกาฬสินธุ์ เราก็ชอบไปไล่เปิดดู ซึ่งหน้าแรกๆ ของหนังสือพิมพ์ ยกตัวอย่างเช่นไทยรัฐหน้าสองเป็นข่าวต่างประเทศ หน้าสามเป็นข่าวการเมือง พออ่านจบจากหน้าแรกๆ ก็เริ่มเบื่อล่ะ หน้าอื่นก็เปิดผ่านๆ พลอยคิดว่าประสบการณ์จากวัยเด็กหลายส่วนทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

จุดที่ทำให้เราอยากเป็นนักข่าวจริงๆ คือตอนเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลอยเรียนวรรณกรรมฝรั่งเศส จึงได้เรียนเรื่องเล่า งานประพันธ์ และประวัติศาสตร์หลายๆ อย่าง นักประพันธ์หลายคน เช่น อัลแบร์ต กามูส์ เอมิล โซลา เป็นทั้งนักเขียนและนักข่าวที่เท่มากๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนถูกวิจารณ์ว่าเป็นนักข่าวขาไม่ติดพื้น ไม่ยึดโยงกับสังคม

ในยุคแสวงหาของเราเลยพยายามหาอะไรบางอย่างที่เราสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ คือส่งผ่านเรื่องเล่าโดยยังยึดโยงกับสังคมทางใดทางหนึ่ง จึงมาเป็นนักข่าว


:: อดีตนักเคลื่อนไหวกลายมาเป็นสื่อ ::


ตอนที่เรายังเป็นนักกิจกรรม สนามต่อสู้ของเราคือถนน พื้นที่สาธารณะต่างๆ และมีความเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐค่อนข้างชัดเจน เมื่อมาเป็นนักข่าวจึงต้องจูนใหม่พอสมควร เพราะหลักวิชาชีพสื่อไม่ได้อยู่กับเราเฉพาะตอนทำหน้าที่ แต่อยู่กับเราตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่เกิดขึ้นกับพลอยคือเราไม่สามารถวางตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐได้อีกแล้ว เวลาตรวจสอบการทำงานของรัฐก็ต้องไม่ตรวจสอบในฐานะคู่ขัดแย้ง แต่ทำในฐานะของสื่อ เราพยายามทำทุกทางให้แฟร์สำหรับทุกคน สมมติเมื่อเกิดปัญหา มีคนโจมตีการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ต้องไปถามคนที่ตกเป็นข่าว เราก็จะไม่ถามว่าทำไมคุณถึงทำแบบนั้น แต่ต้องถามว่า ชาวบ้านคิดว่ามีปัญหา คุณล่ะมีความเห็นว่ายังไง ในสายตาคุณมีปัญหาไหม ฯลฯ แง่หนึ่งเพราะนอกจากการทำงานของเราจะถูกจับจ้องโดยผู้ชมแล้ว แหล่งข่าวบางคนที่เราไปขอสัมภาษณ์ก็เช็คด้วยเหมือนกันว่าเราเป็นนักข่าวจริงไหม ดังนั้นเราต้องปฏิบัติตามหน้าที่และจรรยาบรรณสื่ออย่างแข็งขันด้วย

ความเปลี่ยนแปลงต่อมาคือตอนที่พลอยทำงานเป็นนักเคลื่อนไหว มีฐานะเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐ มุมมองต่างๆ ก็อาจจะมองจากฐานะคู่ขัดแย้ง ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น เราคิดว่าตัวเองอาจจะตั้งแง่ต่อรัฐพอสมควร ทำให้ฝั่งตรงข้ามเวลาจะโน้มน้าวหรืออธิบายเหตุผลก็ต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อทำให้เราเปิดรับข้อมูล แต่พอเป็นนักข่าว ทุกครั้งที่ลงสนาม ไปสัมภาษณ์ เราจะตั้งสติว่าโอเค เราจะเปิดใจให้กว้าง รับฟังทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดีที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ทุกคนพูดจริงๆ ว่าเขาคิดอย่างไร มีฐานคิดแบบไหน เพื่อให้เวลาสื่อสารออกไปเป็นเสียงที่เขาต้องการสื่อจริงๆ ต้องมีความเป็นมืออาชีพระดับหนึ่ง

สุดท้าย เราคิดว่างานของนักเคลื่อนไหวและงานของนักข่าวมีอะไรคล้ายๆ กัน คือเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมและพยายามสื่อมันออกมาเพื่อให้เกิดการผลิดอกออกผลบนแผ่นดินนี้ สิ่งที่ต่างกันคือภาษา ภาษาที่เราต้องใช้ทุกวันนี้เป็นภาษาที่ยึดกับหลักวิชาชีพ รากฐานของการทำงานข่าวยึดโยงกับความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่การที่เราลากลำโพงไปตามท้องถนนแล้วตะโกนไปเรื่อยๆ นักข่าวมีเครื่องมือต่างๆ เวลารายงานต้องอาศัยชุดข้อมูล ข้อเท็จจริง ต้องเรียบเรียงเพื่อนำเสนอ ถูกตรวจสอบ ถูกบาลานซ์ให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่แบ่งเราออกจากชีวิตเก่า


:: มรดกจากรัฐประหารในวงการสื่อมวลชน ::


เราเข้ามาสู่วงการสื่อได้ 4-5 ปีแล้ว พอมองย้อนกลับไป ช่วง 2-3 ปีแรกเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรารู้สึกได้ชัดเจนว่าบรรยากาศต่างกันมาก ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ อย่าพูดถึงสื่อเลย การจะวิพากษ์วิจารณ์คสช. ตามร้านค้าร้านตลาดเป็นเหมือนเรื่องต้องห้ามของสังคม สื่อถูกควบคุมด้วยกลไกต่างๆ อย่างเข้มงวด

ในบรรยากาศที่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเมือง ก็ไม่มีใครคาดหวังให้สื่อพูดถึงการเมืองไปด้วย ในแง่หนึ่งเราคิดว่าถ้าสื่อมองว่าตัวเองเป็นผู้นำสังคม สื่อก็ควรออกมาพูด ออกมาตรวจสอบรัฐบาลมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่คนที่ออกมา speak out ในวงการสื่อ ภาพรวมก็ตามน้ำไปโดยหวังว่าสักวันบ้านเมืองจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยเพื่อจะได้กลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม เราเพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆ ไม่มีใครโชว์ให้เราเห็นเลยว่าถ้าเราเริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำประเด็นที่แหลมคมแล้วจะมีเกราะป้องกันตัวเองอย่างไรบ้าง ทำให้ขยับตัวลำบากเมื่อเป็นเด็กใหม่ไม่มีแรงหนุน

กว่าเราจะมีการเลือกตั้ง มีบรรยากาศที่ทุกคนสามารถพูดถึงเรื่องการเมือง ตื่นรู้ทางการเมือง สื่อก็ถูกกล่อมเกลาไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว อย่างพลอยเอง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น บางครั้งเราก็คิดไปก่อนเหมือนกันว่าเรื่องนี้นำเสนอได้หรือเปล่านะ คงไม่ได้หรอก เพราะแหล่งข่าวคงไม่ยอมให้ข้อมูล สุดท้ายข่าวก็ตัน เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นดีกว่า นี่เป็นผลจากบรรยากาศหลังรัฐประหาร เราทำงานอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยความสงสัยและหวาดกลัว ดังนั้นต่อให้ไม่มีใครมาดึงเรา เราก็เผลอดึงตัวเองไว้อยู่ดี ตอนที่ทำเราไม่รู้ตัวหรอก มารู้ตอนที่มองย้อนกลับไปว่าทำไมตอนนั้นเราถึงไม่ทำเรื่องนี้ล่ะ

การเซนเซอร์ตนเองแบบไม่รู้ตัวจากบรรยากาศช่วงหลังรัฐประหารนี่อันตรายมากนะ เพราะถ้าเราไม่รู้ตัว บางครั้งมันอาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดประเด็นข่าวได้ นักข่าวต้องยิ่งทบทวนให้หนัก ในช่วงหลังบรรยากาศทางการเมืองในสังคมอาจพอช่วยนักข่าวทลายกำแพงออกมาได้บ้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังต้องเคาะสนิมกันหน่อย อย่าลืมว่าก่อนรัฐประหารเราเคยตรวจสอบรัฐบาลเข้มข้นแค่ไหน ทำหน้าที่อย่างไรในสังคมปกติ


:: จริตคนรุ่นใหม่ในสนามทวิตเตอร์ ::


ทวิตเตอร์เป็นสนามที่ท้าทายมาก อย่างแรกคือมันเป็นแพลตฟอร์มที่เร็ว นักข่าวทุกคนสามารถอัปเดตข่าวได้เร็ว แต่ความเร็วก็ท้าทายความถูกต้องเช่นกันว่าเราจะเร็วกว่าคนอื่นโดยที่ข้อมูลถูกต้องได้ยังไงบ้าง สารภาพว่าพลอยเองก็หน้าแหกไปหลายรอบนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเราผิด มีคนทักท้วง ต่อให้ทวีตถูกรีทวีตไปแล้วพันกว่าครั้งก็ลบได้ ขอโทษได้ เราพยายามเช็คอย่างดีที่สุดแล้ว

อย่างที่สอง มันเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ต้องอาศัยทักษะการสื่อสารที่ดีมากๆ เพื่อสื่อสารผ่านตัวอักษรที่จำกัด ถึงเราจะสามารถต่อเธรด (Thread) อธิบายข้อมูลเพิ่มเติม แต่คนส่วนใหญ่มักจะรีทวีตแยกกัน ทำให้อาจรับสารไม่ครบจนเข้าใจผิด เราจึงต้องคิดคำนวณละเอียดมากว่าแต่ละทวีตควรมีข้อมูลอะไรบ้าง

อีกเรื่องเป็นปัญหาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการติดแฮชแท็ก มีครั้งหนึ่งเกิดแฮชแท็ก #กราดยิงสายบุรี ขึ้นมา ซึ่งเราเช็คข้อมูลพบว่าไม่ใช่การกราดยิง เป็นการวิสามัญฆาตกรรมผู้ถูกกล่าวหาที่มีคดีหมายจับ แต่แฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์คือ ‘กราดยิง’ ทำให้ตัดสินใจยากมากว่าเราควรติดแฮชแท็กอะไรให้คนเห็นข่าว ถ้าติดแฮชแท็กใหม่อย่าง ‘ปะทะสายบุรี’ ก็อาจไม่มีคนเห็น แต่ถ้าติดแฮชแท็ก ‘กราดยิง’ ก็เหมือนเราเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ อยู่ในที ซึ่งการจะอธิบายภายหลังว่าทำไมใช้แฮชแท็กนี้เพื่อให้คนเห็น ก็ติดปัญหาว่าพื้นที่มีจำกัด คนไม่อาจรับรู้ได้ทั่วถึงกันอีก การทวีตข่าวแต่ละครั้งจึงอาศัยการคิดคำนวณเต็มไปหมดเลย

ในเคสนั้นเราตัดสินใจใช้แฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ แต่พยายามเล่าผ่านข่าวให้ชัดเจนว่าไม่ใช่การกราดยิงอย่างที่ปรากฏในชื่อแฮชแท็ก

นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์ที่มีคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ต้องบอกว่าคนรุ่นใหม่สนใจและคาดหวังกับสื่อสูงมากนะคะ ไม่ได้คาดหวังแค่เชิงประเด็น แต่คาดหวังเรื่องการนำเสนอด้วย วัฒนธรรมของพวกเขาให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ความเปราะบาง ความอ่อนไหวมาก รวมถึงการประเมินตัวเองของผู้ชม ทำให้ระยะหลังเราเริ่มติด Trigger Warning สำหรับเนื้อหาบางอย่างในทวีต ทั้งที่ตอนที่เราโตมา ไม่เคยมีสิ่งนี้ในสื่อเลย

สาเหตุเริ่มมาจากเราเคยทวีตข่าวแล้วมีคนรีทวีตต่อโดยแปะ TW ไว้ เราเห็นจึงคิดว่าไม่เสียหายถ้าจะทำ เพราะลองคิดดูว่าตอนเราเล่นมือถือ เลื่อนเจอภาพผี ภาพสยองขวัญโดยไม่ทันตั้งตัว เรายังกลัวเลย คนที่มีภาวะทางจิตใจบางอย่างยิ่งไม่สมควรมาทริกเกอร์เพราะข่าวของเรา

อย่างไรก็ตาม มันก็มีบางมุมที่เรายังตามไม่ทัน เป็นเรื่องที่ต้องปรับจูนกันไป อยากให้คนอย่าเพิ่งว่ากล่าวแรงๆ กัน


:: กำแพงเสรีภาพสื่อ ::


หากพูดถึงสิ่งที่เหนี่ยวรั้งเสรีภาพสื่อไว้ อย่างแรกคือตัวรัฐบาล จริงอยู่ที่แม้จะเป็นรัฐบาลพลเรือนก็อาจพยายามเข้ามาควบคุมสื่อ เซนเซอร์สื่อผ่านกลไกต่างๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกเหล่านั้นแข็งแรงขึ้นในรัฐบาลทหาร วงการนักข่าวที่พลอยรู้จักช่วงรัฐบาล คสช. และหลัง คสช.แตกต่างกันมาก ถ้าพูดอย่างเจาะจงคือนักข่าวไม่สามารถซักไซ้ไล่เลียงผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหารได้เลย เรามักตั้งคำถามว่าทำไมนักข่าวทำเนียบไม่ถามอะไรแหลมคม แต่พลอยพบว่าที่ผ่านมานักข่าวพยายามถามแล้ว เป็นฝ่ายนายกฯ ต่างหากไม่พอใจ ไม่ตอบ หรือใช้สาเหตุแปลกๆ เช่น นั่งไขว่ห้างต่อหน้านายกฯ กันนักข่าวคนที่ถามมากๆ ไม่ให้เข้าทำเนียบอีก

สิ่งที่กีดขวางเสรีภาพสื่อคือสิ่งนี้ คือความรู้สึกที่ผู้นำคิดว่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนักข่าว และเราก็ไม่มีอำนาจไปกดดันเขา ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือน เราคิดว่าสิ่งนี้ไม่น่าเกิดขึ้นได้ง่ายๆ นี่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคลหรือตัวผู้นำเอง

ปัญหาในระดับโครงสร้าง สำหรับโครงสร้างที่เป็นทางการคือการที่ กสทช.ใช้อำนาจลงดาบสื่อ ปิดสถานี จอดำ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ไม่ใช่เพราะสื่อนั้นทำผิดจริยธรรม เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าความมั่นคงถูกตีความกว้างมากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ไม่เป็นทางการคือเราเห็นความพยายามสร้างคอนเน็กชันระหว่างสื่อกับรัฐ มีหลักสูตรพิเศษมากมายให้คนในกองทัพระดับสูง ข้าราชการระดับสูงมีโอกาสเข้ามาทำความรู้จักมักจี่กับนักธุรกิจสื่อ หรือแม้กระทั่งตัวนักข่าวเอง

สายสัมพันธ์ตรงนี้อาจทำให้นักข่าวไม่สามารถนำเสนอทุกอย่างได้ตามต้องการ แม้แต่ละคนอาจมีวิธีทำงานข่าวแตกต่างกัน บางคนใช้สายสัมพันธ์นี้เพื่อเข้าหาแหล่งข่าวก็มี แต่เราคิดว่านักข่าวที่มีคอนเน็กชันเหล่านี้ก็ควรชี้แจงได้ว่ามีประโยชน์ร่วมอะไรไหม หรือสามารถพิสูจน์ตัวเองต่อสาธารณชนในฐานะนักวิชาชีพสื่อได้ว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.21 : เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save