fbpx

ชุมนุม-ชุมชน : มองชีวิตในพื้นที่สาธารณะผ่านงานศิลปะของ ‘วุธ ลีโน’

วุธ ลีโน

ภาพพิมพ์ต้นไม้ใบไม้สีเขียวสดเกินความเป็นจริง เรียงติดกันจนกลายเป็นผืนป่าทอดยาวไปตามแนวกำแพง บางครั้งกระแสอากาศจากพัดลมจะพัดผ่านแผ่นกระดาษ พลิ้วเผยอให้เห็นภาพวาดเส้นดินสอ ซึ่งประกอบร่างเป็นเรื่องราวของผู้คนในสวนสาธารณะแห่งต่างๆ ของโลก

นี่คือผลงานศิลปะ ‘The Vibrating Park Forest’ ของ วุธ ลีโน ศิลปินชาวกัมพูชา ที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘How Many Worlds Are We?’ ณ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (The Jim Thompson Art Center) ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 29 ตุลาคม 2566

ท่ามกลางผลงานจากศิลปินหลากหลายเชื้อชาติซึ่งสะท้อนภาพการมอง ‘โลก’ ในแง่มุมต่างๆ ‘โลก’ ที่ลีโนสนใจอาจฟังดูเล็กจ้อยกว่าใครอื่น เพราะเขาเพ่งพินิจไปยังเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นใน ‘สวนสาธารณะ’ ดังจะเห็นได้ว่าผลงานของเขาคือการจำลองพื้นที่สีเขียว ให้ผู้ชมเข้ามาสัมผัสบรรยากาศและค้นหานัยแฝงหลังภาพพิมพ์รูปป่าไม้ด้วยตนเอง

โดยส่วนตัวแล้ว วุธ ลีโน เป็นศิลปินที่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับจุลภาค เล่าเรื่องชุมชน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ของคนในสังคม ผ่านการสร้างพื้นที่หรืองานประเภทสถาปัตยกรรม ซึ่งได้รับคำชื่นชมและถูกเชื้อเชิญไปจัดแสดงผลงานในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และเทศกาลศิลปะที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก ในครั้งนี้ เมื่อเขาเลือกนำเสนอเรื่องราวของ ‘สวนสาธารณะ’ และ ‘พื้นที่สาธารณะ’ จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าภายในพื้นที่สีเขียวของเมืองใหญ่จากที่เขาได้ประสบพบเจอและค้นคว้ามา มีประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และสะท้อนถึงวัฒนธรรมของแต่ละสังคมอย่างไรบ้าง

โลกที่ผิวเผินอาจถูกมองเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ลึกลงไปอาจเป็นพื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างรัฐและคนชายขอบสังคมอันเข้มข้น

101 ชวน วุธ ลีโน เปิดเผยเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นล่าสุดของเขา ทั้งแรงบันดาลใจ การตีความและสอดแทรกนัยยะ ประวัติศาสตร์และความสำคัญของพื้นที่สาธารณะในโลกยุคทุนนิยม การต่อสู้ของประชาชนผ่านพื้นที่ที่ควรให้คนทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตบท้ายด้วยการฉายภาพวงการศิลปะในกัมพูชา ที่กำลังประสบปัญหาไม่ต่างจากไทย


วุธ ลีโน (Vuth Lyno) ภาพจาก The Jim Thompson Art Center


แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ‘The Vibrating Park Forest’ เริ่มต้นมาจากไหน

The Vibrating Park Forest เริ่มต้นมาจากความสนใจของผมเกี่ยวกับสวนสาธารณะ Bois de Vincennes ในปารีส ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการบรรดาสิ่งของ ผลงานศิลปะ สถาปัตยกรรม อันเป็นภาพแทนของสังคมวัฒนธรรมชาติอาณานิคมต่างๆ ใต้ฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่นกัมพูชาและโคชินไชนา มาตั้งแต่ปี 1931 จนถึงปัจจุบัน เมื่อผมมีโอกาสไปพักอาศัยที่ฝรั่งเศสจึงสนใจว่าตอนนี้สวน Bois de Vincennes เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ถูกใช้ประโยชน์รูปแบบไหน จนได้เดินทางไปชมผ่านความช่วยเหลือจากองค์กร NTU Centre for Contemporary Art Singapore และพาร์ตเนอร์ในเมืองนีซ

ผมพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากมาย พื้นที่สวนแปรเปลี่ยนความหมาย เปลี่ยนถ่ายอำนาจ ไปสู่การใช้งานโดยผู้คนหลากหลายกลุ่ม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ชาวกัมพูชา ผู้อาศัยและผู้อพยพในปารีส ใช้ที่นี่เป็นจุดรวมตัวกันตามเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่กัมพูชา ด้านมรดกจากนิทรรศการอาณานิคม ปี 1931 อาคาร Cameroon Pavilion กลับกลายเป็นวัด รู้จักกันในนาม La Grande Pagode ให้พุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชาและไทยเข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งผู้คนยังใช้พื้นที่โดยรอบของวัดมานั่งปิกนิก พักผ่อนหย่อนใจ พบปะชาวกัมพูชาด้วยกัน

สวน Bois de Vincennes จึงกลายเป็นพื้นที่ทางสังคม เป็นพื้นที่ทางศาสนา เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ให้ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน การเฉลิมฉลอง การแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ว่าเราคือชาวกัมพูชา นี่คือวัฒนธรรมของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากสำหรับผม เพราะเราไม่ได้ทำไปเพื่อแสดงให้ชาติตะวันตกรับชม เราแค่เป็นตัวของตัวเอง อำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อยเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ ความหมายเดิมของพื้นที่ และแต่งแต้มสีสันให้แก่สวนแห่งนี้

ถ้าเรามองภาพกว้างขึ้นไปอีก ผมพบว่าไม่ใช่แค่ชาวกัมพูชา แต่ผู้อพยพชาติอื่นๆ คนชายขอบของสังคม เช่น ผู้ค้าบริการทางเพศ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) คนไร้บ้าน หรือแม้แต่คนที่ถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่าแปลกแยก ฯลฯ ยังมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนด้วย สำหรับผม สถานที่นี้จึงมีคุณค่าในแง่ที่สามารถหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายของคนชายขอบสังคม และทำให้พวกเขาเกิดพลังขึ้นมา

หลังจากศึกษาเรื่องของสวน Bois de Vincennes ในฝรั่งเศส ผมได้หันไปศึกษาประวัติศาสตร์ของสวนสาธารณะประเทศอื่นๆ ด้วย ได้แก่ Hong Lim Park ที่สิงคโปร์ Democracy Park ที่พนมเปญ ล่าสุด ผมก็สนใจประเด็นทางสังคมและการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่สวนของกรุงเทพฯ ประเทศไทยเช่นกัน


ผลงานของคุณสะท้อนถึงประเด็นการเมืองในพื้นที่สาธารณะ การปะทะช่วงชิงอำนาจระหว่างรัฐและคนตัวเล็กตัวน้อยผ่านการใช้งานสวนของเมืองใหญ่ ประเด็นนี้มีความสำคัญในสายตาคุณอย่างไร 

สำคัญมาก โดยเฉพาะในบริบทประเทศกัมพูชาและไทย ช่วงที่ผ่านมาเราถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มงวด ดังนั้นพื้นที่สาธารณะอย่างสวนในเมืองจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในฐานะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมารวมตัวกันส่งเสียง แสดงความเห็นของตนเอง สามารถถกเถียงและตั้งคำถาม รวมถึงทำให้รัฐมองเห็นตัวตน ข้อเรียกร้องของพวกเขาชัดเจนขึ้นผ่านการรวมกลุ่มกัน สำหรับกัมพูชาและไทย ผมคิดว่าไม่ใช่แค่สวนสาธารณะเท่านั้น อนุสาวรีย์ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ จะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา


ใจความสำคัญที่คุณต้องการสื่อสารแก่ผู้ชมผ่าน ‘The Vibrating Park Forest’ คืออะไร

เรียกว่าเป็นสิ่งที่ผมหวังดีกว่า ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุด ผู้ชมจะเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ บรรยากาศระหว่างการเดินผ่านทางเดินซึ่งรายล้อมด้วยภาพป่าไม้สีเขียวขยับนิดกระพือหน่อยไปตามลม สัมผัสได้ถึงความเย็นสบาย ชวนให้นึกถึงป่า นึกถึงสวนสาธารณะ นึกถึงพื้นที่สีเขียว ถ้าลงลึกไปอีกระดับ คุณจะสังเกตเห็นว่าใต้ภาพของป่าเป็นภาพวาดเส้นดินสอ แสดงกิจกรรมต่างๆ ที่คนมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ ทั้งกิจกรรมทางการเมือง ทางสังคม และมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งผมคิดว่าสะท้อนถึงความสำคัญของการมีพื้นที่สาธารณะในสังคมและการเข้าถึงพื้นที่ของคนหลากหลากหลายกลุ่ม โดยผู้ชมสามารถนำทั้งหมดนี้ไปตีความหมายเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง


อยากให้คุณเล่าถึงเบื้องหลังของการเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเมืองในพื้นที่สาธารณะ มาสู่การออกแบบงานศิลปะที่จับต้องได้สักนิดว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง

อันที่จริง มันผ่านการคิดมาหลายแบบหลายขั้นนะครับ โจทย์แรกสุดคือผมอยากสร้าง ‘พื้นที่’ โดยวิธีการทำงานศิลป์ของผมจะเน้นด้านการสร้างบรรยากาศ จำลองสถานการณ์ต่างๆ แก่ผู้ชมผ่านผลงานหรือฉากที่สร้างขึ้น กรณีนี้ผมอยากสร้างบรรยากาศของป่า ทำให้คนรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในป่าขณะอยู่ในพื้นที่ของผมแต่ต้องไม่รู้สึกหนักอึ้ง รกครึ้มจนเกินไป ผมเลยเลือกวิธีการสร้างผลงานด้วยการใช้กระดาษ ซึ่งให้ความรู้สึกมองแล้วเบาสบาย เรียบง่าย เข้าถึงได้ และต้นทุนต่ำ เป็นกระดาษเอสี่ง่ายๆ ที่พิมพ์ภาพป่าไม้ ใบไม้สีเขียว นำมาต่อกันจนกลายเป็นฉากขนาดใหญ่

ผมทดลองทำหลายครั้งตอนที่ยังพักอยู่ในฝรั่งเศส คิดคำนวณทั้งเรื่องคอนเซปต์การนำเสนอและต้นทุนการจัดสร้าง ทำไปทำมาผมคิดว่าการใช้กระดาษสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวเลือกที่ดีนะ เพราะในแง่หนึ่งมันให้ความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างความเป็นธรรมชาติและการปรุงแต่ง เหมือนกับสวนในเมืองใหญ่ที่มองเผินๆ เป็นพื้นที่สีเขียวร่มรื่น เป็นธรรมชาติ แต่แน่นอนว่ามันคือสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ตกแต่งให้ดูเหมือน ‘ธรรมชาติ’ มากที่สุด ดังนั้นการใช้กระดาษที่พิมพ์ภาพป่า แต่คนยังมองออกว่าไม่ใช่ของจริงจึงสะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างดี

หลังจากเลือกรูปแบบและวัสดุแล้ว ผมคิดถึงเรื่องการแสดงให้ผู้ชมเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่คนมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนหรือป่าจำลองในเมือง โจทย์คือทำยังไงให้สื่อสารเรื่องนี้ได้โดยยังคงสุนทรียะของงานศิลปะอยู่ แล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่าสวนหลายแห่ง อย่างที่ยกตัวอย่างไปต่างมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์แอบแฝงอยู่ข้างหลัง ทั้งสวน Bois de Vincennes ของปารีสที่จัดนิทรรศการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาติอาณานิคมฝรั่งเศส ก่อนกลายมาเป็นพื้นที่ให้คนชายขอบสังคมออกมาแสดงตัวตน ทั้งสวนประชาธิปไตยเก่าในพนมเปญ ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองหลายเหตุการณ์นับตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราช

ประวัติศาสตร์ที่ ‘ซ้อนกันหลายชั้น’ เบื้องหลังฉากสีเขียวของสวน นำมาสู่การออกแบบวิธีจัดแสดงงานศิลปะที่เมื่อเรามองทะลุภาพของป่าชั้นแรก จะเห็นภาพประวัติศาสตร์มากมาย กิจกรรมและการปฏิสัมพันธ์อันหลากหลายของผู้คนแอบซ่อนอยู่ในพื้นที่ เป็นภาพที่วาดด้วยเส้นดินสอติดที่ผนังด้านหลังภาพของป่า โดยทั้งหมดมีพัดลมตั้งอยู่ใกล้ๆ ช่วยพัดโบกภาพป่าชั้นแรกให้ปลิวไสวเป็นระยะ เผยภาพกิจกรรมให้ผู้ชมมองเห็นได้ง่ายขึ้น ผมคิดว่าบางคนก็คงอยากให้ผมซ่อนเจ้าพัดลมให้แนบเนียนกว่านี้นะ (ยิ้ม) แต่ผมไม่ค่อยอยากซ่อนมันเท่าไหร่ เพราะผมอยากให้รู้ว่ามันเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เรื่องราวในงานศิลปะทั้งหมดเปิดเผยต่อผู้คน ทำให้งานศิลปะมีความหมายได้โดยสมบูรณ์


The Vibrating Park Forest โดย วุธ ลีโน ภาพจาก The Jim Thompson Art Center


การเลือกแสดงกิจกรรมของผู้คนภายในสวนด้วยภาพวาดเส้นดินสอมีนัยสำคัญอะไรไหม ในตอนแรกเราตีความว่าเส้นดินสอที่แลดูเรียบง่าย บ่งบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ว่าใครก็เขียนได้

มีครับ ค่อนข้างตรงตัวทีเดียว ในตอนแรกผมคิดแค่อยากให้ตัวงานมีความแตกต่างกันระหว่างภาพถ่ายรูปป่า ที่ใช้เทคโนโลยีพิมพ์ลงบนกระดาษ กับอะไรสักอย่างที่เรียบง่าย การวาดด้วยดินสอคือตัวเลือกของผม เพราะผมชอบไอเดียของการวาดด้วยมือศิลปินลงไปตรงๆ บนกำแพง เหมือนการจารึกเรื่องราวลงในสถานที่จริงแทนการพิมพ์ภาพแล้วแปะ ถึงแม้ว่าสุดท้ายทั้งคู่จะเป็นงานศิลปะแบบชั่วคราวก็เถอะ

ต่อมา เพื่อนศิลปินของผมที่ทำงานร่วมกันมองเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างของการวาดภาพเหตุการณ์ด้วยเส้นดินสอนี้ ย้อนกลับไปที่สวน Bois de Vincennes นิดหนึ่งนะครับ ตอนผมไปเยี่ยมชมสวนนั้น ผมชอบถ่านก้อนหนึ่งในสวนมากๆ มันเป็นถ่านก้อนใหญ่ที่ถูกนำมาจากอินโดจีนในยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส ต้นทศวรรษ 1900 แล้วถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการชาติอาณานิคมที่สวนนี่ล่ะ

ผมพยายามค้นหาข้อมูล ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเจ้าก้อนถ่าน แต่ก็ไม่เจออะไรมากนัก รู้แค่เพียงว่ามันอยู่ที่สวนมานานแล้ว ตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่มีป้ายระบุเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น แค่ตั้งอยู่ตรงนั้นแบบไม่สลักสำคัญอะไร แล้วผมก็จินตนาการว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในสวน ถ่านก้อนนี้จะเห็นอะไรบ้างนะ มันได้เป็นสักขีพยานของเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เห็นกิจกรรมที่มนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเลยใช่ไหม พอเพื่อนศิลปินของผมบอกว่าดินสอนี่ก็ทำมาจากถ่านเนอะ ผมก็นึกเชื่อมโยงถึงถ่านก้อนนี้เลย  


The Vibrating Park Forest โดย วุธ ลีโน ภาพจาก The Jim Thompson Art Center


ระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหญ่ขนาดนี้ คุณเจออุปสรรคอะไรบ้างไหม

มีบ้างครับ อาจจะไม่ใช่เรื่องต้นทุนการผลิตเท่าไหร่ เพราะผมใช้วัสดุง่ายๆ ในการทำ ความท้าทายคือการติดตั้งเพื่อจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ต่างหาก ทุกครั้งผมต้องใช้เวลาในการวัดขนาดพื้นที่จัดแสดง ออกแบบและคำนวณขนาดและจำนวนภาพแต่ละชิ้นซึ่งแตกต่างออกไปตามแต่ละสถานที่ ต้องใช้ทั้งความแม่นยำในการคำนวณและการติดตั้งภาพในสถานที่จริงให้ถูกต้อง รวมถึงใช้เวลารอให้ผลงานเซ็ตตัวสมบูรณ์ ฯลฯ

สำหรับการจัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ซึ่งเป็นการจัดแสดง The Vibrating Park Forest ครั้งที่สองของผม ผมรู้สึกขอบคุณผู้ช่วยศิลปินทั้งสองคนจากไทยมากเลยครับ (ณรงค์ชัย สร้างเสริมความดี และนิติ ไชยเจริญ) พวกเขาช่วยผมวาดภาพลงกำแพงและทำงานได้อย่างรวดเร็วมากๆ (หัวเราะ) ก่อนหน้ามาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ผมยังนึกกังวลอยู่เลยว่าจะทำทันไหมนะ มีเวลาแค่ 3 วันเอง แต่สุดท้ายผลงานออกมาสมบูรณ์แบบมาก ลืมไปเลยว่าเคยเครียด

ผมชอบเวลาที่ได้ทำงานกับผู้ช่วยศิลปินจากประเทศต่างๆ ทั้งตอนไปจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์และตอนมาไทย ผู้ช่วยศิลปินเหล่านี้ช่วยผมออกแบบรายละเอียดของผลงานให้เข้ากับบริบทในประเทศนั้น ทำให้ผู้ชมสามารถรับอรรถรสได้เต็มที่ ผมสนุกมากกับการได้เห็นเพื่อนศิลปินด้วยกันตีความโจทย์ที่ผมให้ออกมาเป็นภาพ เปลี่ยนไปตามแต่ละสถานที่ ใช้จินตนาการและความสามารถของพวกเขาเติมเต็มผลงานของผม


เพิ่งทราบว่าผลงานของคุณมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศด้วย เมื่อมาจัดแสดงที่ไทย คุณสังเกตเห็นไหมว่าศิลปินไทยเลือกวาดเหตุการณ์ กิจกรรม เรื่องราวแบบไหน ลงไปในพื้นที่สวนของคุณ

อันที่จริง ผมจะมีคลังภาพจำนวนหนึ่งให้ศิลปินเลือกนำไปวาดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการจัดแสดงที่ไทย คงเป็นเพราะผมมีคลังภาพเหตุการณ์สำคัญเฉพาะของกรุงเทพและไทยที่ผมค้นหามา ผู้ช่วยของผมเลยได้วาดภาพพวกนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเราเห็นความคล้ายคลึงกันของบริบททางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่ปรากฏผ่านสวนสาธารณะระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาอยู่บ้างนะ ผมคิดว่าเหตุการณ์หลายเรื่องสะท้อนว่าในช่วงหนึ่งชาวไทยก็ประสบภาวะถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นเหมือนกัน


ก่อนลงมือทำงานศิลปะชิ้นนี้ คุณได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของสวนสาธารณะในมิติด้านสังคมวัฒนธรรมมาหลายแห่ง ทั้ง Bois de Vincennes ของฝรั่งเศส, Hong Lim Park ที่สิงคโปร์ และ Democracy Park ของกัมพูชา คุณเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสวนสาธารณะในแต่ละประเทศอย่างไรบ้าง

การศึกษาของผมอาจไม่ได้รู้ครบถ้วนทุกส่วนนะครับ ยังมีด้านอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องสวนในเมืองที่ต้องศึกษาต่อ แต่ผมมองว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากของสวนสาธารณะคือการเป็นพื้นที่จัดตั้งรวมกลุ่มกันของผู้คน เป็นพื้นที่สำหรับการเปล่งเสียงเรียกร้อง ความเห็นของประชาชนสู่ผู้มีอำนาจ ช่วยให้คนที่คิดเห็นเหมือนกันมารวมตัวกัน กลายเป็นชุมชนหรือองค์กรตัวแทนได้

ขณะเดียวกัน ผมพบว่าที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะในหลายๆ แห่งไม่ง่าย สวนไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ควรจะเป็น มันไม่ได้ฟรี ไม่ได้เปิดให้ใช้งานตลอดแบบที่ควรจะเป็น เพราะมันถูกกำกับ จัดการ ควบคุมโดยรัฐ ดังนั้น เมื่อประชาชนเกิดความขัดแย้งกับรัฐ บรรดาผู้มีอำนาจจะออกระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายปิดกั้นประชาชนเข้าถึงสถานที่สาธารณะ ควบคุมวิธีการใช้ประโยชน์ของสถานที่เหล่านี้ นำมาสู่ข้อถกเถียงว่าตกลงแล้ว อะไรที่อนุญาตให้ทำได้บ้างในสถานที่ดังกล่าว อะไรที่ทำไม่ได้ แล้วสุดท้าย ประชาชนจะต่อสู้เรียกร้องภายใต้ข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ได้อย่างไรบ้าง


คุณมองว่าสวนสาธารณะช่วยคนในสังคมรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ แต่ในวันที่เรามีพื้นที่รวมกลุ่มอื่นอย่างโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า พื้นที่ทางกายภาพยังคงมีความสำคัญในแง่นี้แค่ไหน

คำถามนี้ยากอยู่นะครับ ผมยังคงเชื่อมั่นว่าพื้นที่ทางกายภาพยังมีพลัง เชื่อมต่อคนในสังคม และเป็นที่ต้องการของผู้คนเสมอ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ สภาพสังคม เทคโนโลยี จะพัฒนาไปอย่างไร โลกออนไลน์จะเข้าถึงคนมากแค่ไหนก็ตาม เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องการประสบการณ์จากผัสสะของตนเอง สิ่งนี้ฝังลึกอยู่ในสมองและพฤติกรรมของเรา เราเป็นสัตว์สังคมที่อยากจะเห็น อยากสัมผัส อยากได้ยิน อยากลิ้มรส อยากรู้สึก ทั้งหมดนี้ทำให้พื้นที่ออนไลน์มาแทนที่พื้นที่ทางกายภาพไม่ได้ โลกออนไลน์อาจเป็นทางเลือกให้คนได้ติดต่อกัน แสดงความเห็น รวมตัวกันก็จริง แต่มันคงทดแทนความรู้สึกเมื่อคุณอยู่ในสถานที่จริงๆ ไม่ได้ เมื่อคุณได้เจอคนอื่นๆ ในสวน ได้พูดคุย ใกล้ชิดกัน มันต่างจากความรู้สึกตอนเชื่อมต่อกันผ่าน zoom มากจริงๆ


คำตอบของคุณทำให้เรานึกถึงประโยคที่ว่า ‘ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศหนึ่ง ขึ้นอยู่กับโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะทางกายภาพของประชาชน’ (The democracy in one country depends on the availability of the physical public space) คุณคิดเห็นอย่างไร

เห็นด้วยครับ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีใครเข้าถึงได้ นั่นจะยังเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่อีกเหรอ (หัวเราะ) ใช่ไหมครับ ถ้าเข้าถึงไม่ได้ก็ไม่ใช่ที่สาธารณะแล้ว ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของพื้นที่สาธารณะ คือการเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คน โดยเฉพาะคนตัวเล็กคนน้อยกลายเป็นสาธารณชน มีตัวตน มีกลุ่มก้อน ถูกมองเห็น และมีพลังอำนาจมากขึ้น ในแบบที่ถ้าอยู่ตัวคนเดียวคงทำไม่ได้  


The Vibrating Park Forest โดย วุธ ลีโน ภาพจาก The Jim Thompson Art Center


สมมติว่าประเทศแห่งหนึ่งไม่มีพื้นที่สาธารณะเลย ประเทศนั้นจะเป็นอย่างไร

ตายล่ะ ผมว่าคนในประเทศคงหดหู่กันหมด จะออกจากบ้านไปไหนได้บ้าง จะใช้เวลาพักผ่อนที่ไหนดี จะให้ชีวิตเรามีแค่ที่ทำงาน บ้าน ร้านกาแฟ ไม่ก็ห้างสรรพสินค้าเท่านั้นเหรอ (หัวเราะ) โลกทุกวันนี้มีแนวโน้มใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ คนซื้อที่ดินกันเพื่อนำมาลงทุนทำธุรกิจ เราไม่ได้มีพื้นที่ว่างให้ใช้สอยกันฟรีๆ มากเท่าแต่ก่อนแล้วนะ บางครั้งสังคมทุนนิยมก็ทำให้เราลืมไปว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้มนุษย์ได้พบปะกัน หอบหิ้วชาและขนมมานั่งดื่มกินพูดคุยกันได้โดยอิสระบ้าง


อันที่จริงกรุงเทพฯ กำลังเป็นเมืองแบบที่คุณพูดเลย เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะให้นึกถึงมากเท่าไหร่ เมืองใหญ่ในกัมพูชาเป็นแบบเดียวกันไหม

เหมือนกันครับ ถึงขนาดเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเล็กกว่าไทย และในเมืองมีพื้นที่เชิงพาณิชย์น้อยกว่า แต่เรียกได้ว่าเมืองกำลังเติบโตไปในแนวทางเดียวกัน มีศูนย์การค้ามากขึ้น พื้นที่สาธารณะหรืออาคารสาธารณะเริ่มกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล กลายเป็นห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียมและอีกมากมาย ผมคิดว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงนะ เพราะสถานที่สาธาณะสำคัญอย่างสนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก พนมเปญ (National Olympic Stadium) ศูนย์กีฬาแห่งชาติ (National Sports Complex) ก็กำลังจะถูกแนวคิดเหล่านี้กลืนกิน เรากำลังลืมความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ ลืมไปว่าพื้นที่เช่นนี้ล่ะที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็นเมืองที่ดี ผมไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว การหายไปของพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเมืองพัฒนามากขึ้นจริงไหม แต่สำหรับผม ผมแค่คิดว่ามันสำคัญ จำเป็นต้องดำรงอยู่ และผมต้องการจะสร้างความตระหนักในเรื่องนี้แก่ผู้คนผ่านงานศิลปะ ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง


พื้นที่สาธารณะในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร

โอ้ เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลย ดังนั้นขอจินตนาการจากพื้นที่สาธารณะในเมืองของผมเป็นหลักก็แล้วกัน ผมอยากให้มันเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ และรู้สึกผ่อนคลาย เป็นอิสระ เป็นสถานที่ที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกัน คนในสังคมมาพบเจอกัน เป็นพื้นที่สีเขียว ที่ผู้คนสามารถเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และเป็นสถานที่ซึ่งปราศจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ ทำให้คนสามารถเป็นตัวของตัวเอง แสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ แต่นอกจากการออกแบบพื้นที่สาธารณะแล้ว ทางหนึ่งเราต้องทำให้คนในสังคมรู้คุณค่าของตนเอง กล้าแสดงออก รวมถึงเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกันด้วย


การที่คุณเป็นศิลปินจากประเทศกัมพูชา ซึ่งรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ส่งผลอย่างไรต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของคุณบ้าง

ผมได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในประเทศกัมพูชา วัฒนธรรมเขมรมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา รวมถึงประดิษฐกรรมทางด้านศิลปะมากมายที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ในฐานะศิลปิน ผมย่อมสนใจเรียนรู้เส้นทางที่พวกเขาเคยบุกเบิก เทคนิควิธีการ แขนงวิชา เพื่อนำมาสังเคราะห์ว่าตัวผมสามารถใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะเหล่านั้นมาประยุกต์ในการสร้างผลงานที่เข้ากับบริบทปัจจุบัน ทั้งยุคสมัยและสภาพสังคมได้อย่างไรบ้าง โดยผมหวังว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะสามารถสร้างงานศิลป์ที่เป็นมรดกแก่ศิลปินรุ่นอื่นๆ ได้เช่นกัน


วงการศิลปินไทยมักประสบปัญหาเรื่องการสนับสนุนจากรัฐ ทำให้เติบโตได้ยากและหลายครั้งต้องมุ่งหาที่ทางยังต่างประเทศแทนภายในประเทศ แวดวงศิลปินกัมพูชาประสบปัญหาทำนองเดียวกันไหม อย่างไร

ใช่ครับ เจอเหมือนกัน โชคร้ายที่ทางรัฐไม่ค่อยให้การสนับสนุนศิลปะร่วมสมัย (contemporary arts) ทำให้ศิลปินหลายคนต้องทำงาน บริหารจัดการเรื่องต่างๆ และยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง พวกโปรเจกต์หรืองานจัดแสดงระดับนานาชาติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ใครหลายคนยังไปต่อได้ รวมถึงผมด้วย อย่างที่คุณเห็น ผลงานหลายชิ้นของผมจัดแสดงในต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ในกัมพูชา ซึ่งน่าเสียดายมาก แต่ก็เข้าใจว่าในประเทศของเราอาจไม่มีทรัพยากรหรือพื้นที่เพียงพอแก่ศิลปินร่วมสมัย

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรายังพอมีหนทางอื่นๆ ในการทำงานศิลปะได้อยู่นะ ใช่ว่าจะต้องสร้างผลงานแล้วจัดนิทรรศการเท่านั้น เราอาจจัดเวิร์กชอปแลกเปลี่ยนทักษะ เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว หรืออะไรก็ตามที่ใช้มุมมอง ทักษะ ความรู้ของศิลปินเข้าไปประยุกต์ได้ มีหลากหลายแนวทางจากการที่ผมได้ไปพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลไทยมีแนวโน้มให้การสนับสนุนศิลปินไทยมากขึ้นนะครับ อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับกัมพูชา ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่


มีคนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมักสนับสนุนศิลปินที่ทำงานศิลปะดั้งเดิมแบบชาตินิยม มากกว่าศิลปินสายศิลปะร่วมสมัย คุณคิดเห็นอย่างไร

ศิลปะแบบดั้งเดิมมักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปกติอยู่แล้วครับ อันที่จริงผมเห็นด้วยนะ เพราะงานศิลปะเหล่านี้สะท้อนถึงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ตัวตนและจิตวิญญาณของผู้คนภายในประเทศ มันจึงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะให้ความสำคัญและรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ แต่ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าเราก็ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าศิลปวัฒนธรรมมีวิวัฒนาการผ่านยุคสมัยไปหลายรูปแบบ เราควรให้ความสำคัญกับศิลปะแบบอื่นๆ นอกเหนือไปจากศิลปะแบบดั้งเดิมด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนบริบททางสังคมในห้วงเวลาปัจจุบัน ตรงจุดนี้คงต้องพึ่งการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คนเปิดตาและเปิดใจรับสิ่งใหม่ ขณะที่ยังร่วมรักษารากเหง้าเดิมไปพร้อมๆ กัน


การเมืองส่งผลต่อชีวิตผู้คนเสมอ แม้กระทั่งในแวดวงศิลปะเอง การที่กัมพูชาอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของฮุน เซน มาอย่างยาวนาน ส่งผลอย่างไรต่อเหล่าศิลปินบ้าง เคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการแสดงออกความเห็นทางการเมืองผ่านงานศิลปะบ้างไหม

มีผลแน่นอนครับ บรรยากาศทางการเมืองสร้างข้อจำกัดบางอย่างให้ศิลปินอาจไม่สามารถสื่อสารทุกเรื่องได้ผ่านงานศิลปะ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือข้อจำกัดทางการแสดงออกเหล่านี้กลายมาเป็นโอกาส เป็นความท้าทายต่อตัวศิลปินว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ กลยุทธ์ และเทคนิคอย่างไรให้สามารถสื่อความคิดของพวกเขาผ่านผลงานได้อย่างแนบเนียน แยบยลยิ่งขึ้น ศิลปินถูกท้าทายให้ต้องทำงานอย่างชาญฉลาดและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร งานศิลปะใหม่ๆ เพื่อทลายข้อจำกัดจากการเมืองตลอดเวลา นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปะร่วมสมัยเป็นแขนงวิชาที่น่าสนใจ เชื่อมโยงอยู่กับสถานการณ์และบริบทการเมืองปัจจุบัน


คุณพอจะเห็นภาพรวมไหมว่าเหล่าศิลปินในกัมพูชาคิดเห็นอย่างไรต่อการเมืองปัจจุบัน

ผมไม่แน่ใจนะว่าสามารถพูดแทนศิลปินในกัมพูชาได้ทั้งหมด แต่เท่าที่ผมสังเกต ศิลปินหลายคนที่นี่ตระหนักถึงบรรยากาศทางการเมืองว่าที่ไหนคือพื้นที่ที่เขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรคือสิ่งที่เขาสามารถพูดได้ และนั่นก็เป็นอย่างที่ผมเล่า ศิลปินบางคนยังคงเลือกจะสื่อสารเรื่องการเมืองผ่านงานของเขาอย่างสม่ำเสมอ แต่แยบยลมาก งานชิ้นหนึ่งสามารถตีความได้หลายเรื่อง แต่ก็มีบางคนเลือกที่จะไม่พูดถึงเรื่องการเมือง แล้วหันไปหยิบจับประเด็นอื่นมาสื่อสารก็มี


สุดท้ายนี้ คุณอยากเห็นการสนับสนุนวงการศิลปะในกัมพูชาอย่างไร วาดฝันว่าเติบโตไปเป็นแบบไหน

ผมอยากให้เกิดระบบนิเวศที่มีทรัพยากรส่งเสริมเพียงพอสำหรับศิลปินภายในประเทศ เวลาเราพูดคำว่าระบบนิเวศ หมายความว่าเราต้องพัฒนาทั้งสังคมและกลไกการสนับสนุนต่างๆ แบบองค์รวม ร่วมมือกันทั้งรัฐบาล ประชาชน ตัวศิลปินด้วยกันเอง และบางทียังหมายรวมถึงตลาดภายในประเทศด้วย ผมมองว่าที่ผ่านมาตลาดแรงงานเองก็ต้องการศิลปินอยู่เสมอ แต่ทำยังไงให้ตลาดในประเทศมีพื้นที่รองรับคนทำงานศิลปะได้อย่างยั่งยืนยิ่งกว่านี้ แน่นอนว่าตลาดต่างประเทศล้วนมีโอกาส มีทรัพยากร และต้องการเราเหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากเราต้องการความยั่งยืนในเส้นทางอาชีพ ก็คงหนีไม่พ้นต้องส่งเสริมที่ทางในตลาดแรงงานของประเทศต้นทางอยู่ดี

ถ้าถามว่าทำยังไงให้ไปถึงจุดนั้น เราก็คงคงต้องช่วยกันตั้งแต่ด้านการศึกษา การมอบทรัพยากรช่วยเหลือคนทำงานศิลปะในหลายๆ ทาง พื้นที่ โอกาส ฯลฯ คงมีเรื่องอีกมากที่ต้องช่วยกันครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save