fbpx
Violent Event˟  : การแสดงสุดดิบจากเยอรมันที่เปลี่ยนเวทีให้กลายเป็นสนามทารุณกรรม

Violent Event˟  : การแสดงสุดดิบจากเยอรมันที่เปลี่ยนเวทีให้กลายเป็นสนามทารุณกรรม

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

เราเคยผ่านตาแคมเปญรณรงค์ยุติความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มามากมาย เราต่างพยักหน้าเห็นด้วยว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใคร แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับความรุนแรง จะมีสักกี่คนที่สามารถจินตนาการได้ว่าความรุนแรงที่ว่านั้นรุนแรงขนาดไหน และมากไปกว่าความเจ็บปวดและเสียหายทางร่างกาย ความรุนแรง ทำงานกับจิตใจของเราอย่างไร ?

Violent Event˟ คือการแสดงระดับมาสเตอร์พีซจาก Verena Billinger และ Sebastian Schulz หรือ Billinger & Schulz ที่เชื้อเชิญผู้ชมเข้าไปสำรวจและมีประสบการณ์ร่วมกับความรุนแรงแบบตาต่อตา จัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2015 และในปีนี้ การประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok International Performing Arts Meeting) หรือ BIPAM ได้ยกการแสดงชิ้นนี้มาให้เราชาวกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสเป็นสักขีพยานของความรุนแรงกันเป็นจำนวน 3 รอบ เมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคมที่ผ่านมา โรงละคร HOST BKK

Violent Event˟ คือการแสดงที่เราเรียกว่าการแสดงได้ไม่เต็มปาก เพราะสิ่งที่นักแสดงทั้งสี่ ผู้รับบทเป็น Sheena , Frank , Patricia และ Challenge ทำกันบนเวที ดูเหมือนเป็นกิจกรรมทดสอบความเจ็บปวดมากกว่า และแน่นอน ทั้งหมดเล่นจริง เจ็บจริง !

โชว์เริ่มต้นและดำเนินไปด้วยการที่นักแสดงผลัดกันทำร้ายอีกฝ่าย ด้วยกิจกรรมที่เริ่มต้นอย่างซอฟต์ๆ เช่น ปล่อยลูกบาสใส่หลังและหน้าท้อง เดาะลูกบาสกับหน้าผากอีกฝ่าย แล้วค่อยๆ ไต่ระดับไปจนถึงการผลัดกันตบหน้า สลับกันชกท้อง หรือผลักให้ล้ม 

 

 

ในขณะที่นักแสดงท้าทายว่าจะทนกับความเจ็บปวดไปได้ถึงตรงไหน เราในฝั่งคนดู การได้นั่งมองความรุนแรง แม้จะเป็นความรุนแรง แม้ในระดับเบๆอย่างการตบหน้าหรือตุ๊ยท้อง ก็ทำให้เรารู้สึกจนหลายครั้งแอบเกร็งหน้าและเกร็งท้องตาม พูดง่ายๆ คือ เจ็บแทน เพราะชีวิตจริงของเราอาจไม่เคยนั่งมองการทำร้ายกันแบบต่อหน้า และยากที่จะหันหนีแบบนี้มาก่อน

กิจกรรมทดสอบความเจ็บปวด เป็นเพียงด่านแรกให้คนดูอย่างเราสำรวจความรุนแรงที่ทำงานกับระดับกายภาพ  ด้วยการให้เราจินตนาการถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับนักแสดง ก่อนที่การแสดงจะขยับไปสู่ ความเป็นเกมที่เล่นกับจิตใจ

นักแสดงผู้หญิงถูกจับมัดมือเท้า และครอบหัวด้วยถุงพลาสติกใส จากสีหน้าก็พอจินตนาการได้ว่าเธอหายใจลำบาก ไม่พอแค่นั้น เธอถูกปล่อยทิ้งไว้กลางเวที ในขณะที่เธอนอนพะงาบ นักแสดงผู้ชายจับคู่กัน บอกให้อีกฝ่ายนอนลง นำผ้าขนหนูวางลงบนหน้า เริ่มเทน้ำใส่ และเทไปจนกว่าอีกฝ่ายจะไม่ไหวและยกมือร้องขอชีวิต แต่เดี๋ยวนะ ก่อนพี่จะยกมือ เราเกือบตะโกนไปว่า พอ ! ไม่อยากเห็นคนตายกลางเวทีโว้ย !

 

 

นักแสดงหญิงหยิบไม้เบสบอลและสั่งให้นักแสดงชายเอาหมอนใส่ในเสื้อ ส่วนนักแสดงที่เหลือนำลูกบาสมาเดาะกับพื้นสร้างเสียงประกอบฉากเพิ่มความลุ้น ก่อนเธอจะหวดไม้ลงบนลำตัวเพื่อนนักแสดงแบบสุดแรง แม้จะมีหมอนรับไว้ แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่าจะไม่เจ็บ

เกมความรุนแรงไม่เพียงทำให้คนดูหัวใจเกือบหยุดเต้นเพราะลุ้นตาม แต่บางขณะเราพบว่าตัวเองก็แอบเอ็นจอยกับบรรยากาศตื่นเต้นของเกมไปด้วย จากการสำรวจความรุนแรงในระดับของกายภาพในพาร์ทแรก ในพาร์ทนี้ การแสดงได้พาเราลงไปสำรวจว่าความรุนแรงเล่นกับจิตใจของเราในรูปแบบไหนบ้าง

Violent Event˟ นอกจากจะพาเราไปสำรวจจิตใจตัวเองผ่านประสบการณ์ร่วมกับความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ตรงหน้า ยังพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจมากๆ อีกอย่าง นั่นคือการนำเสนอความรุนแรงผ่านสื่อ

จอทีวีที่ตั้งใจวางไว้กลางเวที ตัดภาพผู้คนยิ้มแย้มโบกมือทักทายขึ้นมาเป็นระยะ ราวกับชวนให้เราคิดถึงความรุนแรงบางอย่างที่ไม่ได้อยู่กับเราแค่ตรงหน้า แต่คือรูปแบบความรุนแรงที่แฝงตัวอยู่ในนั้นจอทีวี , หนังสือพิมพ์ , คอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนในมือของเรา

หลายครั้งระหว่างนั่งชมการแสดงชิ้นนี้ ชวนให้คิดถึง Funny Games ภาพยนตร์ในปี 1997 โดย Michael Haneke ที่พูดถึงประเด็นความรุนแรง ที่สื่ออย่างทีวีนำมาเสิร์ฟให้ครอบครัวของคุณถึงบ้านทุกเช้า

 

 

เทคนิคที่โดดเด่นภายใต้การออกแบบฉากที่ดูเรียบๆ ของ Violent Event˟ คือม่านพลาสติกสีข่าวขุ่นที่จงใจเลื่อนลงมาในบางครั้ง บังสายตาของเราจากความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นบนเวที ภาพที่เห็นเมื่อมองผ่านฉากขุ่น คล้ายภาพความรุนแรงที่ถูกเซ็นเซอร์ในทีวี อีกเทคนิคที่ชอบมาก คือตอนที่นักแสดงนำแผ่นสะท้อนแสงสีทองมาคลุมตัวและดิ้นไปมาราวจะขาดใจ ภาพและเสียงเมื่อมองผ่านม่านเซ็นเซอร์ ดูคล้ายกำลังถูกไฟลุกท่วมตัวอยู่จริงๆ

 

 

Violent Event˟ เริ่มจากพาเราสำรวจความรุนแรงในชีวิตประจำวันที่สร้างความเสียหายทางร่างกาย ไต่ระดับสู่ความรุนแรงที่เล่นเกมกับจิตใจ ไปถึงความรุนแรงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ และในช่วงสุดท้าย นักแสดงที่ยืนกลางเวที อ่านบทกวีที่ชวนคนดูอย่างเราคิดไปถึง สงคราม , การก่อการร้าย , สังหารหมู่ , การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งฉากความรุนแรงและการสังเวยชีวิตในพระคัมภีร์ของศาสนา

นี่คือรูปแบบของความรุนแรงที่สร้างผลกระทบมหาศาล ที่เราเองอาจไม่เคยฉุกคิดถึงความรุนแรงที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างและเผยแพร่ความกลัวให้คน

ในหนังสือแห่งยุคอย่าง 21 Lessons for the 21st Century เขียนโดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี พูดถึงการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ว่ามันคือเครื่องมือในการควบคุมจิตใจมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดเราอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยสื่อหลากหลาย เราส่งสารหากันได้ในเวลาเสี้ยววินาทีผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต  การฆ่าคนเพียงหยิบมือสามารถสร้างความตื่นกลัวให้กับผู้คนเป็นพันล้านได้ในเวลาไม่ทันพ้นวัน

ในหนึ่งปีมีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในยุโรปประมาณ 50 คน (เทียบกับผู้เสียชีวิตจากกอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีถึง 80,000 คน) แต่สามารถสร้างมวลพลังงานแห่งความกลัวปกคลุมทั้งโลกได้

ความรุนแรงของการก่อการร้าย จึงเปรียบเสมือนการแสดงที่มุ่งหวังให้ผู้ชมอย่างเราเกิดความกลัว และผลประโยชน์ที่เกิดจากความกลัว คือเป้าหมายของความรุนแรงรูปแบบนี้

นักแสดงผิวสีอาบด้วยโคลนและเลือดปลอมถูกลากมาที่กลางเวที ม่านหมอกเซ็นเซอร์เลื่อนลง นักแสดงอีกคนเล็งปืนเพนท์บอลไปที่เขา มีภาพพร่ามัวตรงหน้า บวกเสียงรัวของปืนสี เสียงเพลง Dance the Mussolini ดังขึ้น ม่านถูกเปิดออก มีเพียงรอยกระสุนสีส้มบนผนังขาว นักแสดงสี่คนออกมาเต้นในท่าทางของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ , มุสโสลินี และพระเยซูถูกตรึงกางเขน ตามคำร้องในเนื้อเพลง

นาทีสุดท้ายของการแสดง คือท่าเต้นสนุกสุดเหวี่ยงปนกับท่าทางของความรุนแรง เสียงเพลงชวนโยก ขัดแย้งกับพื้นเวทีที่เลอะไปด้วยโคลนและเลือด

 

 

ความรุนแรง กำลังเล่นกับเราในแบบไหน

มันทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เห็นอกเห็นใจผู้ถูกกระทำ

หรือมันทำให้เราสนุกสนานเพลิดเพลิน

หรือมันกำลังทำให้เราตกอยู่ในความกลัวจนไม่กล้าทำอะไร

เราอาจลองใช้คำถามนี้ ถามตัวเองในขณะมองความรุนแรงที่เกิดรอบตัวในวันนี้ดู 

ภาพhttps://billingerundschulz.de

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022