ในการศึกษาปัญหาความรุนแรงของประเทศโคลอมเบีย จุดสำคัญอยู่ที่การศึกษากลุ่มติดอาวุธต่างๆ อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในสังคมยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องทำการพิจารณาและไม่อาจแบ่งแยกออกจากปัญหาความรุนแรงของประเทศได้[1] การทำความเข้าใจความรุนแรงในสังคมมีความสำคัญอย่างมากต่อการเข้าใจปัญหาความรุนแรงทางการเมือง และเป็นตัวแปรสำคัญที่กุมความสำเร็จและข้อจำกัดของการจัดระเบียบเมืองเมะเดยีน
ความรุนแรงในสังคมอยู่ในกรอบแนวความคิดชายเป็นใหญ่ (masculinity) และอำนาจคือสิ่งที่ได้รับจากการทำสงคราม[2] เพศชายเป็นเพศที่มีบทบาทมากที่สุดในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของโคลอมเบียมาตั้งแต่อดีต แม้ในบางกรณีผู้นำเพศหญิงจะมีบทบาทมาก เช่น กริเซลดา บลังโก ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งวงการโคเคนของเมืองไมอามีช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เธอขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรงและความโหดเหี้ยม อีกทั้งยังลือกันว่าเธอเป็น ‘ครู’ ของปาโบล เอสโกบาร์อีกด้วย[3] ส่วนในขบวนการกองกำลังฝ่ายซ้าย ผู้หญิงก็มีบทบาทในกลุ่มด้วยเช่นกัน[4]
อย่างไรก็ตาม บทบาทของเพศหญิงตามกรณีข้างต้นเป็นข้อยกเว้นเพียงไม่กี่กรณีของสังคมโคลอมเบียที่ชายเป็นใหญ่อย่างมาก ดังนั้นโครงสร้างบทบาทของผู้นำแต่ละเพศมีอิทธิพลและส่งผลต่อพฤติกรรม ความหวัง ความคาดหมาย และการตัดสินของผู้คน ความเป็นใหญ่ของเพศชายในบริบทประเทศโคลอมเบียจึงผสานเข้ากับปัญหาความขัดแย้งอันเรื้อรังอย่างใกล้ชิด Jenny Pearce กล่าวไว้ว่า ภายใต้บริบทนี้ ปืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นชายและเกือบกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย วัฒนธรรมการล้างแค้น (vendetta culture) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความรุนแรงของประเทศและปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด รวมถึงการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างแก๊งต่างๆ ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดชายเป็นใหญ่ การเคารพ และการมีอำนาจเหนือผู้หญิง[5]
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อในโคลอมเบียและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับความรุนแรงทางเพศสภาพในระดับสูง ใน ค.ศ. 2008 ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียยอมรับว่า ผู้กระทำผิดในคดีความรุนแรงทางเพศส่วนใหญ่มักเป็นสมาชิกของกลุ่มกองกำลังผิดกฎหมายต่างๆ หรือในบางคดีก็เป็นคนในกองทัพเอง ทั้งยังมีการได้รับยกเว้นการลงโทษอีกด้วย ศาลรัฐธรรมนูญตระหนักว่า “ปัญหาความรุนแรงต่อเพศหญิงกลายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เป็นระบบอย่างกว้างขวาง และเห็นได้ชัดภายในบริบทความขัดแย้งของประเทศโคลอมเบีย” ดังถ้อยแถลงของศาลที่ว่า:
“การกระทำที่เหี้ยมโหดกว่าร้อยคดี … ถือเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงภายใต้กฎหมายแห่งโคลอมเบียและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และ … ซึ่งทั้งหมดนี้ ศาลได้พิจารณาแล้วว่าเป็นความรุนแรงและความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ถูกมองข้าม ปิดบัง และมีการให้อภัยโทษทั้งในระดับปกติและมากกว่าปกติ” (Corte Constitucional de Colombia, Auto 092/08)[6]
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) รายงานว่ากลุ่มติดอาวุธใช้วิธีการข่มขู่และความรุนแรงทางเพศในการควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิงทั้งที่เป็นพลเรือนทั่วไปและนักรบ มีทั้งการข่มขืน การบังคับทำหมัน การบังคับให้ตั้งท้อง และการบังคับทำแท้ง[7] อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดทางด้านสถิติในการหาตัวเลขที่แท้จริงของผู้ตกเป็นเหยื่อ ข้อมูลที่พอจะหาได้มากที่สุดคือจากการแพทย์ แต่มีการประเมินว่าตัวเลขที่มีอาจต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก[8] ในปี 2010 อัตราความรุนแรงทางเพศพุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปี กล่าวคือจะมีผู้ประสบกับปัญหาดังกล่าว 49 คน จากทุก 100,000 คน[9] ผู้หญิงพลัดถิ่นเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือระบบสาธารณสุขได้[10] ในโคลอมเบียไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับความรุนแรงโดยแบ่งแยกเพศ แต่รายงานของกลุ่มสิทธิสตรีบ่งชี้ว่ามีอัตราความรุนแรงสูงในเขตสลัม
ความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเพศสภาพและความเป็นผู้นำได้รับอิทธิพลจากภาพลักษณ์และค่านิยมที่ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในโคลอมเบีย นายกเทศมนตรีเมืองเมะเดยีนได้เคยกล่าวไว้ว่า:
“นี่คือวัฒนธรรม ‘ตุมเบา’ (Tumbao) ซึ่งหมายความว่าเราได้โค่นล้มคุณแล้ว เราชนะ เราเป็นคนที่สำคัญที่สุด และยิ่งคุณไม่รู้ว่าใครทำยิ่งจะดีเข้าไปใหญ่ … ปาโบลเป็นคนเด็ดขาด เขาเป็นแบบนั้น เขาได้ในสิ่งที่มีเพราะเขาตั้งใจจะเอาชนะทุกคน นี่คือลูกผู้ชาย นี่คือปาโบล เอสโกบาร์”
วัฒนธรรมความเป็นผู้นำในหมู่ผู้นำทางการเมืองและธุรกิจก็มีแนวทางแบบ ‘ตุมเบา’ เช่นกัน คำนี้มีที่มาจากวัฒนธรรมการเต้นแบบแคริบเบียน ซึ่งสื่อถึงท่าทางการเดินอย่างมั่นใจ แต่ในทางกลับกันก็สื่อไปในทางลบด้วย เช่น การปล้น และยังมีรากมาจากคำกริยาภาษาสเปน ‘tumbar’ ที่แปลว่าเอาชนะหรือล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้ นอกจากนี้ คำนี้ยังเกี่ยวข้องกับค่านิยมความเป็นผู้นำแบบ ‘vivo’ คือมีนัยถึงความฉลาด ความมีเล่ห์เหลี่ยม การเอาเปรียบผู้อื่นโดยที่พวกเขาไม่ทันรู้ตัว มุมมองนี้เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนมักเน้นย้ำและใช้อธิบายความรุนแรง รวมถึงอัตลักษณ์และอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงทั้งในชีวิตประจำวันและในระดับการเมือง
ขณะเดียวกันชนชั้นนำในโคลอมเบียต่างมีความเห็นว่า ปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการทลายลงของค่านิยมดั้งเดิมโดยเฉพาะในครอบครัวที่ผู้หญิงไปทำงานนอกบ้าน ดังคำกล่าวที่ว่า:
“เราได้มาถึงจุดที่เด็กๆ เติบโตอยู่ท่ามกลางวิกฤตครอบครัว เดิมทีแม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูกๆ แต่ในปัจจุบันครอบครัวไม่ได้เป็นหน่วยของสังคมที่สนับสนุนและส่งเสริมค่านิยมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกต่อไป และทุกวันนี้เด็กๆ ถูกเลี้ยงโดยสื่อและสถาบันต่างๆ ไม่ก็ด้วยพี่เลี้ยงหรือญาติๆ … ผู้หญิงได้เปลี่ยนบทบาทของตนและไม่ได้เป็นแม่ที่มีหน้าที่เลี้ยงดูและอบรมลูกๆ ดังเช่นในอดีตแล้ว … ฉันคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะครอบครัวเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการที่ค่านิยมและอัตลักษณ์ของเราได้เปลี่ยนไป”
นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายที่ว่าขบวนการค้ายาเสพติดเกิดขึ้นในจังหวัดแอนทิโอเกีย (ซึ่งมีเมืองหลวงคือเมะดะยีน) เพราะค่านิยมท้องถิ่นแบบดั้งเดิม เช่น ค่านิยมความเป็น ‘vivo’ ความภาคภูมิใจที่ตนเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการมากที่สุดของโคลอมเบีย หัวหน้าขององค์กรทางธุรกิจชั้นนำของแอนทิโอเกียคนหนึ่งได้เคยกล่าวว่า “คนของเราเป็นสินค้าส่งออกที่ดีที่สุด มีชาวแอนทิโอเกียอยู่ทุกหนแห่ง เรายังมีชาวแอนทิโอเกียที่ให้บริการเช่าอูฐอยู่ในทะเลทรายอีกด้วย” นอกจากนี้ยังคำสอนที่มักนำมาพูดกันซ้ำๆ “จงหาเงินเสียเถิด แต่จงหาด้วยวิธีที่มีเกียรติ และหากหาเงินไม่ได้อย่างมีเกียรติ ก็จงหาต่อไปอย่างไรก็ได้” ซึ่งคำสอนนี้สามารถใช้อธิบายถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยมและสาเหตุที่ผู้คนรับข้อเสนอต่างๆ ที่ขบวนการค้ายาเสพติดยื่นให้และปล้นสะดมคนรวยโดยที่ไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรม ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมของชนชั้นสูงและวัฒนธรรมของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดจึงถือเป็นวัฒนธรรมของจังหวัดแอนทิโอเกีย
[1] Caroline O. Moser, “Urban violence and insecurity: An introductory roadmap,”.
[2] Cynthia Cockburn, “Gender relations as causal in militarization and war: A feminist standpoint,”
[3] Jennie Erin Smith, Cocaine cowgirl: The outrageous life and mysterious death of Griselda Blanco (San Francisca, CA: Byliner Inc., 2014).
[4] Natalia Herrera and Douglas Porch, “Like going to a fiesta: The role of female fighters in Colombia’s FARC_EP,” Small Wars & Insurgencies 19, no. 4 (2008): 609-634.
[5]Jenny Pearce, “Bringing violence ‘back home’: Gender socialisation and the transmission of violence through time and space,”: 50.
[6] Corte Constitucional de Colombia, Auto 092/08
[7] Amnesty International, Colombia: Hidden from justice impunity for conflict-related sexual violence (New York: Amnesty International, 2011): 15, accessed May 31, 2022.
[8] Amnesty International, Colombia: Hidden from justice impunity for conflict-related sexual violence.
[9] Ibid., 25.
[10] Ibid.