fbpx
พลโลก พลเมืองไทยในยุควินเทจ 4.0

พลโลก พลเมืองไทยในยุควินเทจ 4.0

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

พอการเมืองเข้มข้น ก็เริ่มมีน้องๆ ถามความเห็นผมว่า เด็กสมัยนี้สนใจการเมืองไทยบ้างรึเปล่า? สมัยเด็กๆ เราก็เจอคำถามแบบนี้เหมือนกัน เพราะไม่ว่ายุคสมัยไหน ผู้ใหญ่ก็มักคิดเอาเองว่าเด็กไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาวกับเรื่องบ้านเมือง วันๆ เอาแต่เล่นเกม เล่นมือถือ ผมคิดว่าก็ต้องแฟร์กับเด็กบ้างนะครับ ต้องถามกลับว่าที่ว่าเด็กไม่สนใจน่ะ เด็กกลุ่มไหน คำว่าเด็กไทยกว้างมาก อายุเท่าไหร่ก็ยังไม่บอกเลย

แต่ถ้าจะต้องตอบจริงๆ ผมก็จะบอกว่า เมื่อเทียบกับสมัยที่เราเป็นเด็ก เด็กสมัยนี้มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง (จริงๆ ก็ทุกด้านแหละ) เยอะมากกกก คราวนี้ก็คงอยู่ที่ประเด็นทางการเมืองนั้นๆ แล้วละว่าจะกระทบกับชีวิตของเขามากน้อยแค่ไหน อย่างช่วงที่เลือกตั้งไปชนกับการสอบ GAT/PAT ดูในทวิตเตอร์ก็มีเด็กๆ ให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะพอสมควร

“การเมืองที่ดีคือการเมืองที่มีเด็กนั่งอยู่ในใจของผู้ใหญ่เสมอ” คือคำพูดของนักการเมืองไต้หวันสักคนพูดไว้นานแล้ว ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ถามว่าระบบการเมืองได้สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับเด็กๆ บ้าง นอกจากเปิดตึกไทยคู่ฟ้าให้เด็กนั่งเก้าอี้นายกฯ ในวันเด็ก หนำซ้ำที่ผ่านมาเรามักได้ยินเสมอว่า ‘การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ ฉะนั้นบทบาทของ ‘ไอ้พวกเด็กๆ’ จึงไม่เคยได้รับความสำคัญ ออกแนวกีดกันด้วยซ้ำ การเมืองในโรงเรียน มหา’ลัย หรือที่ทำงานจึงดูเป็นเรื่องทำแบบขอไปทีมากกว่า ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมืองไม่สำคัญเท่าความรู้ที่ใช้สอบหรือวัดผล เพราะทุกคนคิดว่าไม่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ

แต่คงลืมไปว่าหลายประเทศในโลกนี้ก็สร้างเนื้อสร้างตัวจากการปลูกจิตสำนักพลเมืองนี่แหละ และต่อยอดออกมาเป็น Soft Power ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

การที่ประเทศเรามีพลเมืองที่ไม่รู้จักหน้าที่พลเมืองของตัวเอง เป็นเรื่องน่ากังวลนะครับ เหมือนเราเลี้ยงลูกแต่ไม่สอนให้เขารู้จักการเข้าสังคม พอพลเมืองคนหนึ่งไม่เข้มแข็งก็ส่งผลกระทบออกไปเป็นลูกโซ่ได้ไม่รู้จบ ลองนึกภาพคนที่เมาแล้วขับสิครับ ความมักง่ายของคนๆ เดียวสร้างความเสียหายได้มากมายอย่างนึกไม่ถึง

ไม่จบเท่านั้น ความไม่เข้าใจเรื่องหน้าที่พลเมืองยังส่งผลไปถึงเรื่องการสร้างบุคลิกภาพของคนด้วย เมื่อเราไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง เราจะไม่มั่นใจในสิ่งที่เราทำ ไม่รู้ว่ากาลเทศะที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ไม่รู้ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราไม่ได้ส่งเสริมให้คนตระหนักถึงความเป็นปัจเจกชนที่มาพร้อมสิทธิและหน้าที่อย่างแท้จริง เมื่อเราไม่รู้แจ้ง ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่เข้าใจฐานรากของสังคม และไม่แปลกที่เมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนจึงยังขาดทักษะทางสังคมเหล่านี้ สังเกตว่าประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง จะเกี่ยวเนื่องไปถึงบุคลิกภาพและทัศนคติของคนในเมืองนั้นๆ ด้วย

อย่าไปตำหนิเด็กอย่างเดียวนะครับเวลาที่เขาบอกว่า ‘กลัว’ หรือ ‘ไม่กล้า’ ต้องลองกลับไปดูว่าเบื้องหลังความกลัวนั้น ระบบการศึกษาไทยส่งเสริมความกล้าหรือความกลัวกันแน่

ถ้าไปดูพัฒนาการเรื่องพลเมืองศึกษาในระบบโรงเรียน นักวิชาการไทยจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน โดยใช้ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาเป็นเกณฑ์ ตั้งแต่ยุคก่อนทันสมัย (ก่อน พ.ศ. 2413) ยุคเริ่มความทันสมัย (พ.ศ. 2475-2513) ยุคของการเข้าสู่ระบบ (พ.ศ. 2513-2520) และยุคแห่งการพัฒนาการศึกษา (พ.ศ. 2521-ปัจจุบัน) หากดูเฉพาะยุคแห่งการพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมา 40 ปี ผมไม่แน่ใจว่าเราพัฒนาคุณภาพของพลเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

การทดสอบของของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลการศึกษา (International Association for the Evaluation of Educational Achievement: IEA) เมื่อปี 2010 พบว่าผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้เรื่องพลเมืองศึกษาและพลโลกศึกษาของเด็กไทยในชั้น ม.2 มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 452 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญคือ 500 คะแนน และยังพบว่านักเรียนไทยร้อยละ 63 มีความรู้ระดับ 1 หรือต่ำกว่า ไม่เพียงพอต่อการเป็นพลเมืองดีและพลโลกที่ดีในอนาคต (เกณฑ์ที่ใช้ได้ต้องอยู่ระดับ 2) และในการทดสอบ มีเพียง 4 ประเทศจาก 38 ประเทศที่เข้าทดสอบที่ได้คะแนนต่ำกว่าไทย พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กไทยสอบตกในการเป็นพลเมืองที่ดี  

แล้วเราให้ลูกหลานเรียนอะไร? ทำไมผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาของไทยล้มเหลวไปหมด วิชาการก็ไม่ได้ ทักษะทางสังคมก็ไม่มี ยิ่งหากสถาบันครอบครัวไม่แข็งแรงด้วยแล้ว ผมคิดว่าปัญหาคุณภาพของประชากรเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะในระยะยาว เราจะไม่มีพลเมืองคุณภาพไปสู้กับเขาได้เลย พลเมืองที่ดีคือนักรบสมัยใหม่ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์

ระบอบการเมือง คือเส้นเลือดสำคัญในการกำหนดทิศทางของคุณภาพของประชากร หากระบอบการเมืองที่เห็นเด็กๆ นั่งอยู่ในนั้นด้วย บ้านเมืองก็จะมีทางรอด แต่หากไม่ใช่อย่างนั้นก็อย่ามัวแต่มาถามกันเลยครับว่าเด็กๆ จะสนใจการเมืองไหม ผมว่าก็คงสนแหละ แต่จะสนใจในรูปแบบไหนก็อีกเรื่อง ทุกวันนี้อาชีพนักการเมืองไม่เคยติดอันดับอาชีพในฝันของเด็กๆ ยกเว้นก็แต่เด็กคนนั้นมีพ่อแม่เป็นนักการเมือง ผมคิดว่าบ้านเราสร้างอคติต่อนักการเมืองมากกว่าสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชน  

หากมองระบอบการเมืองไทยเป็นแบรนด์ หรือเป็นหน่วยงานบริการ ในฐานะของคนที่ทำงานเรื่องแบรนด์มาตลอด ผมว่าลมหายใจของแบรนด์ ‘ระบอบการเมืองไทย’ นี้ดูแผ่วเบาเต็มที ไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ วนเวียนผลิตซ้ำแต่สินค้าเดิมๆ ไม่เซ็กซี่ ไม่เข้ากับยุคสมัย ขาดการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีบริการหลังการขายหรือ Loyalty Program ไม่ต้องพูดถึงภาพลักษณ์เพราะไม่เคยคิดว่าจำเป็น ความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ข้ามชาติอยู่ในระดับต่ำ ที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเป็นบริการแบบผูกขาด จริงๆ แบรนด์น่าจะหาบริษัทที่ปรึกษา (เอาหลายๆ ด้านหน่อย) มาช่วยน่าจะดี…แต่คิดอีกทีก็คงยากเพราะ CEO คงไม่ได้มีวิสัยทัศน์ขนาดนั้น คงเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และสรุปว่าเรื่องแบรนด์เป็นเรื่องของคนที่สนใจแต่เปลือกนอก แต่เอาเถอะ ถ้า ขสมก. กับการรถไฟยังอยู่มาได้…

ถ้าเด็กสมัยนี้จะมองการเมืองเป็นเหมือนละครหลังข่าว ก็อย่าว่าเขานะครับ หรือหากมีใครมองว่านี่คือปัญหาระดับประเทศที่ต้องการแก้ไขก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าส่งเสริมและให้กำลังใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องเข้าใจว่าโลกใกล้กันมากขึ้น ชนชั้นกลางยุคใหม่ถูกผลักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกานุวัตรอย่างเต็มตัวแล้ว 5G กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลกนี้ นาโนชิปขนาดเล็กกำลังจะกลายเป็นของราคาถูก คนยุคใหม่อาจเป็นห่วงว่ากูเกิ้ลจะล่มมากกว่าการเกิดรัฐประหารเสียอีก อย่าไปบอกใครเขานะครับว่าเราเป็นดิจิทัล ในขณะที่เรานั่งอยู่ท่ามกลางระบอบทุกอย่างที่สุดแสนจะวินเทจ  

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save