fbpx
ทนายอู๊ด วิบูลย์

ศาลที่น่าศรัทธา ต้องมีผู้พิพากษาที่กล้าและเป็นอิสระ – วิบูลย์ บุญภัทรรักษา

วันที่เราได้คุยกับ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ ทนายอู๊ด พ่อของไผ่ ดาวดิน คือหนึ่งวันหลังเกิด #ม็อบ2พฤษภา ที่กลุ่ม REDEM เคลื่อนขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าสู่ศาลอาญา รัชดา เพื่อประท้วงคำตัดสินไม่ให้ประกันตัวแกนนำราษฎร

นั่นอาจนับว่าเป็นการประท้วงต่อศาลที่ครึกโครมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และสะท้อนว่าประชาชนส่วนหนึ่งกำลังเคลือบแคลง ผิดหวัง หรือกระทั่งสิ้นศรัทธาต่อผู้พิพากษา ลามเลยถึงองคาพยพต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นกระบวนการยุติธรรมไทย จึงประจวบเหมาะพอดีกับการต่อสายโทรศัพท์ถึงทนายอู๊ด เพื่อสนทนาเกี่ยวกับมุมมองของเขาต่อพฤติการณ์ของศาลขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อลูกชายของเขา ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดี 112 และเพิ่งได้รับอนุญาตให้การประกันตัวเมื่อ 23 เมษายน ที่ผ่านมา

ท่ามกลางบรรยากาศร้อนแรงของการวิพากษ์วิจารณ์ศาล ทนายอู๊ดกำลังพักผ่อนอยู่กับภรรยาที่บ้านจังหวัดชัยภูมิ เขาเปิดเผยมานานแล้วว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง ดังนั้นแม้ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเขาออกหน้าต่อสู้ ไปร่วมชุมนุมพร้อมกับลูกชายอยู่บ้าง แต่เมื่อสุขภาพเริ่มไม่เอื้ออำนวย เดินเหินไม่สะดวกนัก จึงขอพักมาทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ‘ยืน หยุด ขัง 112 นาที’ ที่หน้าบ้าน และเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียของตนเองแทน

แน่นอนว่าเขาติดตามความคืบหน้าคดีของแกนนำราษฎรและแนวร่วมประชาธิปไตยคนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด รู้ดีว่าการพิจารณาคดีการเมืองของศาลตอนนี้ ‘ผิดปกติ’ อย่างไร จากที่เข้าไปสัมผัสในฐานะทนายความของไผ่ กระนั้น วิบูลย์ก็ไม่เห็นด้วยถ้าคนจะเหมารวมว่ากระบวนการยุติธรรมไทยย่ำแย่ไปเสียทั้งหมด

ตลอดการสนทนา เขาย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าตนยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเสมอ ไม่ใช่แค่เพราะเขาเป็นทนายหาเลี้ยงชีพอยู่ในสายงานด้านกฎหมาย แต่เพราะผู้พิพากษาคือมนุษย์ – เพราะจิตวิญญาณของมนุษย์ย่อมรักอิสระและยึดมั่นความเป็นธรรม หากไม่ถูกกดทับด้วยโครงสร้างศาลที่ล้าสมัยหรือเกิดการแทรกแซงอื่นๆ

เราต้องมองไปไกลกว่าตัวผู้พิพากษา เพื่อเห็นปัญหาที่แท้จริงของศาล ของกฎหมาย ของกระบวนการยุติธรรมภาพรวม

และนี่คือสิ่งที่วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ต้องการสื่อถึงสังคมผ่านบทสนทนากับ 101


วิบูลย์ บุญภัทรรักษา


หลังจากไผ่ได้รับการประกันตัวออกมา คุณติดต่อกับไผ่บ้างไหม สถานการณ์ช่วงนี้เป็นอย่างไร

ติดต่อกันแต่ไม่บ่อย เพราะช่วงนี้ไผ่ติดเรื่องกักตัวโควิด-19 อยู่ ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวออกมาว่าจัสตินติดโควิด ไผ่ก็ไปตรวจมา สรุปว่าไม่ติดเชื้อ แต่ก็ต้องกักตัวอยู่กรุงเทพฯ อยู่ดูแลรักษาตัวเฉยๆ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมอะไร


เงื่อนไขการประกันตัวของไผ่คือห้ามกล่าวพาดพิงหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย คุณมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

ถ้าถามหลักคิดที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือการให้สิทธิประกันตัว ศาลไม่ควรตั้งเงื่อนไขที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือฝืนต่อความเป็นมนุษย์ ตอนแรกก่อนรับเงื่อนไข ไผ่ก็บอกว่าถ้าให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข เขาจะไม่ยอมรับเลย แต่ผมกับทนายกฤษฎางค์ (กฤษฎางค์ นุตจรัส) ได้คุยกับไผ่ในห้องพิจารณาคดีว่า ถ้าเรารับเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ได้ทำให้เราเสียสิทธิ หรืออย่างน้อยก็ยังสามารถขยับตัวอะไรทีหลังได้จะดีกว่าไหม ตัวเราจะได้ออกมาเคลื่อนไหว หรือช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ทำในสิ่งที่ไผ่เคยทำมาและอยากทำต่อ เพราะอยู่ข้างในมันทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเงื่อนไขของหมอลำแบงค์ กับเงื่อนไขของไผ่และคุณสมยศ หมอลำแบงค์ที่รับเงื่อนไขทุกประการแปลว่าขยับอะไรไม่ได้เลย สูญสิ้นสิทธิเสรีภาพแทบทั้งหมด แต่ของไผ่ไม่ใช่ เพียงแค่ไผ่อย่าไปเอ่ยชื่อหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนการขึ้นเวทีปราศรัย การเคลื่อนไหวแก้มาตรา 112 วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการยังทำได้ ศาลไม่ได้ห้าม เราทำอะไรได้อีกเยอะ ไผ่ฟังเราพูดแล้วก็ยอมรับเงื่อนไขนี้


คุณมองว่าอย่างน้อยก็คุ้มค่าที่ได้ออกมา

ใช่ครับ ผมมองว่าการห้ามไผ่พูดถึงบางคนไม่ได้แย่อะไรมาก ถ้าแลกกับสิทธิเสรีภาพที่เราสามารถขยับตัวข้างนอกได้ก็ดีกว่า ใครจะบอกว่ารับเงื่อนไขแบบนี้เท่ากับทรยศหักหลังเพื่อนฝูงในการต่อสู้ก็แล้วแต่จะคิดเถอะครับ ผมน่ะอยากให้เด็กๆ ออกมาทั้งหมดเลยแม้ว่าจะติดเงื่อนไขแบบนี้ บางทีเราก็ต้องชั่งน้ำหนักกันว่าคุ้มไม่คุ้มกับการเอาอานนท์ เพนกวิน รุ้ง ออกมาแลกกับการไม่พูดถึงชื่อหนึ่ง แต่พูดเรื่องอื่นได้ ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เงื่อนไขแบบนี้ก็เป็นทางออกที่ดีที่ไม่ต้องเสียหายอะไรไปมากกว่านี้


สมมติว่าไผ่ต้องรับเงื่อนไขเหมือนหมอลำแบงค์ คุณจะเลือกบอกให้ไผ่ยอมรับเพื่อออกมาไหม

ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ต้องคิดหรอกครับ เพราะยังไงลูกผมก็ไม่รับอยู่แล้ว ขณะที่เราคุยกัน กว่าจะมาลงตรงนี้ เหลือเฉพาะเงื่อนไขเดียวเขาถึงยอมนะครับ ถ้าโดนแบบหมอลำแบงค์ คนอย่างไผ่ไม่มีทางยอมรับหรอก เราเป็นทนาย เป็นพ่อ เราทำได้เพียงคุยแลกเปลี่ยนกับเขา อธิบายให้เขาฟัง แต่สุดท้ายไผ่เป็นคนตัดสินใจทุกอย่างเอง


กว่าจะได้ประกันตัวไผ่ต้องยื่นขอถึง 5 ครั้ง ในกระบวนการขอประกันตัวเหล่านั้น คุณพบอุปสรรคติดขัดตรงไหน

เราต้องเข้าใจก่อนว่าตามกฎหมายไทย การขอประกันตัวขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นอำนาจอิสระของศาล ย้ำว่าอิสระนะครับ เป็นอำนาจที่ไม่ควรมีใครไปแทรกแซง ซึ่งคำว่าดุลพินิจนี้ คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับความคิดของผู้พิพากษาอย่างเดียว ไม่ใช่นะครับ เวลาศาลต้องตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยดุลพินิจ ดุลพินิจนั้นต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กรอบของวิธีพิจารณาความอาญา กรอบของหลายๆ เรื่องอย่างกติกา ICCPR และหลักของความเป็นมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องของดุลพินิจของศาลที่ไม่ให้เราประกัน เป็นเหตุผลของเขา มุมมองของศาลและประชาชนคงต่างกัน ซึ่งเราก็พยายามใช้เหตุผลของเราตามหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญไปสู้ ยื่นไป 4-5 ครั้ง ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราจะยื่นต่อไปเรื่อยๆ อีกสิบอีกร้อยครั้ง ซึ่งเราเคยยื่นขอประกันตัวมาเป็นสิบครั้งแล้วตอนที่ไผ่โดนคดีแชร์ข่าวบีบีซี


การใช้ดุลพินิจของศาลคราวนี้ดูจะผิดแปลกไปจากปกติหรือเปล่า

ผมมองว่าการใช้ดุลพินิจของศาลในคดีทั่วๆ ไป ศาลไทยยังทำหน้าที่ได้ดี น่าเชื่อถือ และเป็นที่เคารพของประชาชน แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง คดี 112 คดี 116 ศาลจะสลัดความมีเหตุผลออก ใช้ดุลพินิจที่ต่างออกไปจากดุลพินิจดีๆ งามๆ ตามปกติ ซึ่งนี่ไม่ได้เพิ่งเกิดในคดีของไผ่หรือคดีแกนนำราษฎร มันเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ไม่ใช่เฉพาะคดี 112 หรือ 116 แต่รวมถึงคดีเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ฉะนั้น เวลาจะวิพากษ์วิจารณ์ศาลในเรื่องการใช้ดุลพินิจ เราอาจต้องแยกว่าไม่ใช่เรื่องไม่ดีทั้งหมด มันมีเฉพาะเรื่องราวเหล่านี้ที่ลงเอยคล้ายๆ กัน  


ทำไมพอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เราถึงเห็นศาลใช้ดุลพินิจหรือหลักเหตุผลที่แปลกไปจากปกติ

ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ผมก็รู้จักศาลเยอะอยู่ บางทีผู้พิพากษาไม่ได้อยากทำแบบนั้น แต่ต้องทำ ต้องตัดสินแบบนี้ ไม่ให้ประกันแบบนี้ ต้องออกหมายจับแกนนำ ทำให้กติกาไม่ใช่กติกา

ลองย้อนไปดูคดีไผ่เรื่องแชร์ข่าวบีบีซี ผู้พิพากษาคนแรกได้ใช้ดุลพินิจอย่างดี ให้ประกันเลยทันที สุดท้ายมีคนแก้เกมด้วยการให้ตำรวจมาบอกว่าไผ่ไปเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน ให้ถอนประกัน แล้วเลือกผู้พิพากษาคนใหม่มา จากนั้นก็ไม่ได้ประกันง่ายๆ อีก ต้องยื่นขอเป็นสิบๆ ครั้ง ตรงนี้จะตอบว่าอะไร  

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทั้งเรื่องไม่ให้สิทธิในการประกันตัวแก่ประชาชน หรือการกระทำแปลกๆ ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องราวตามธรรมชาติของศาล ไม่ใช่เรื่องราวของกฎหมาย ของมนุษย์ที่จะกระทำต่อกัน ทำให้เราคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะปัจจัยอื่น ผู้พิพากษาคนไหนที่ต้องรับผิดชอบคดีเหล่านี้อาจต้องเจออะไรสักอย่างที่หนักหน่วง มองในแง่หนึ่งเราอาจต้องเห็นใจศาลเหมือนกันว่าเขาปฏิเสธไม่ได้ อาจจะรู้ว่าต้องเจอแบบนี้ รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง คนที่สั่งก็อาจไม่ได้เข้าใจบริบทเรื่องกฎหมายหรือไม่สนใจ เพราะงั้นบางทีเราต้องแยกตัวตนนิสัยของผู้พิพากษากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นออกจากกันบ้าง

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายในภาพรวมไหม กระทบแน่นอน เพราะมันผิดธรรมชาติตามหลักนิติธรรมที่เราเคารพนับถือกันมา


คุณไม่คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มีที่มาจากตัวผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีการเมือง คดีความมั่นคงเอง

ทุกวันนี้ผมยังเชื่อมั่นในศาล ในตัวผู้พิพากษาทุกคนนะ ผมเชื่อว่าเขาได้ร่ำเรียนมา มีประสบการณ์มาก ฉะนั้นความแม่นยำในเรื่องกฎหมาย มุมมอง การทำหน้าที่โดยปราศจากอคติที่ถูกสั่งสอนมาว่าควรเป็นยังไง ไม่ควรทำอะไร เขาก็รู้อยู่ แต่เมื่อเจอสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ จำเป็นต้องทำ มันเลยออกมาอย่างที่เห็น และอย่างที่คุณว่า ต่อจากนี้อะไรที่ไม่เคยเกิด ไม่ควรเกิด เราจะได้เห็นมันเกิดขึ้นตลอดเพราะความกลัว ผมไม่คิดว่าผู้พิพากษาไม่มีจิตสำนึก ไม่ใช่อย่างแน่นอน ความกลัวต่างหากที่ทำให้เขาสำนึกไม่ได้ หรือกระทั่งอยากจะสำนึกก็ยังทำไม่ได้

ผมคิดว่าผู้พิพากษาอีกหลายคนคงไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ตัดสินไปแบบไม่เป็นธรรม ชนิดว่าถ้ามีผู้พิพากษาร้อยคน น่าจะมีสักเก้าสิบห้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งเลวร้ายที่ทำให้ศาลเสื่อมเสีย แต่ปัญหาของประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไทยตอนนี้คือเก้าสิบห้าคนนั้นไม่กล้าแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับห้าคนที่เหลือ รู้อยู่ว่าไม่ถูกต้องแต่ไม่กล้าบอกว่าไม่เห็นด้วยกับผู้พิพากษาที่ไม่ให้สิทธิประกันตัว สังคมเลยมองว่าผู้พิพากษาทั้งหมดร้อยคนเห็นพ้องต้องกันไปหมด เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด

การนิ่งเฉย ปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำที่เสื่อมเสียต่อวิชาชีพหรือองค์กร หรือบางส่วนก็ไปสนับสนุนโดยอ้อมทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยพัฒนายาก ลองใหม่สิครับ ถ้าไม่เห็นด้วยกับคนนั้นคนนี้ก็ออกมาแสดงออก ลงชื่อ ประท้วง ทำแบบนี้ไม่ว่าจะโดนสั่งมาจากระดับไหน คำสั่งแบบใดก็ไปไม่รอด



ในฐานะที่คุณรับบทบาททนายของไผ่ด้วยช่วงหนึ่ง เล่าให้ฟังได้ไหมว่าเจอปัญหาอะไรอีกในกระบวนการพิจารณาคดี

โอย การคุมตัวจำเลยนี่ใช้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สองต่อหนึ่งบ้าง สามต่อหนึ่งบ้าง ประกบติดแน่น นั่งซ้ายขวาแถมยังยืนคุมอีกต่างหาก ทนายจะไปคุยกับจำเลยต้องขออนุญาตเขาก่อน ถ้าเขาอนุญาตถึงจะคุยได้ จะให้เซ็นเอกสารอะไร เขียนอะไรต้องให้เขาอ่านก่อน ถ้าเขาอนุญาตถึงทำได้ เป็นแบบนี้ตลอดจนเราไม่พอใจ ไปบอกศาลเลยว่าปล่อยให้เขาทำได้ยังไง ศาลตอบว่ามันเป็นระเบียบราชทัณฑ์ เราก็โต้ว่านี่ในศาลนะไม่ใช่เรือนจำ ศาลต้องให้สิทธิ์เรา ต่อหน้าศาลเขาทำแบบนี้ไม่ได้ ศาลก็ทำเป็นไม่รู้เรื่องตลอด  

ตอนผมกับทนายกฤษฎางค์จะเข้าไปคุยกับไผ่เรื่องเงื่อนไขการประกันตัว ผมขอให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปล่อยไผ่ลุกขึ้นจากเก้าอี้เพื่อคุยกันเป็นการส่วนตัว เขาไม่ยอมขยับ ไผ่ที่นั่งอยู่ตรงกลางเลยดันเจ้าหน้าที่ออกกระเด็นไปนอกเก้าอี้ เขาก็ไปฟ้องหัวหน้า บอกว่าต้องให้หัวหน้าอนุญาต ผมก็ว่าให้ไปเรียกหัวหน้ามาคุยด้วย ทีนี้มากันเป็นฝูง บอกว่าไม่ได้ ต้องให้ศาลอนุญาต ผมก็ต้องเดินไปหาศาลหน้าบัลลังก์ให้ช่วยสั่งหน่อย เจ้าหน้าที่พวกนี้ไม่ยอมให้ผมคุยส่วนตัว พอศาลสั่งเขาถึงยอม บรรยากาศมันแย่มาก มีที่ไหนเขาทำกับแบบนี้ ยิ่งในห้องพิจารณาคดียิ่งทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือใคร เพราะนี่เป็นสิทธิ์ของจำเลย เป็นหน้าที่ของทนายที่จะคุยกัน ถามไถ่กัน ศาลเองยังไม่มีอำนาจมาบอกว่าขอฟังหน่อย คุณคุยอะไรกัน นี่มันวิปริตเกินไป 


ราชทัณฑ์คุมเข้มแบบนี้ แล้วตอนที่คุณไปพบไผ่ในเรือนจำล่ะ

ผมไม่ได้ไป มีแต่แม่เขาที่ไปหาครั้งสองครั้ง ส่วนใหญ่ผมจะไปเจอเขาในห้องพิจารณาคดีเลย ซึ่งเขาห้ามแม่พบไม่ได้หรอก เพราะเราไปในสองบทบาท เป็นพ่อแม่ด้วย เป็นทนายด้วย ถ้าไม่ให้คุยเรื่องอื่นก็คุยเรื่องทนายกัน นี่ก็เป็นทางออกของเรา

ปัญหาในเรือนจำของไผ่มีเป็นบางช่วง เช่นที่ออกข่าวว่าถูกเรียกมาตรวจโควิดกลางดึก กับปัญหาใช้คำพูดหรือความรุนแรงบ้างนิดหน่อย แต่ไผ่ก็ชินนะ เรื่องพวกนี้เราอดทนเอา แม้ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาคุมไผ่หลังช่วงหลังจะดูห้าวๆ แข็งๆ แต่ก็คุยกับไผ่ กับพ่อแม่ดี บรรยากาศโดยรวมระหว่างราชทัณฑ์กับไผ่ไม่ได้มีอะไรน่ากังวลนักหรอก ไผ่เขารับมือเรื่องพวกนี้เก่งอยู่แล้ว นั่งคุยกับเจ้าหน้าที่ไปเรื่อยจนสนิท รู้นิสัยกันดี  



นอกเหนือไปจากการคุมตัวอย่างเข้มงวดเกินปกติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในห้องพิจารณาคดี ฝั่งศาลมีการกระทำอะไรที่คุณเห็นว่าผิดปกติบ้างไหม

มีเยอะครับ เช่นเวลาจำเลยอย่างทนายอานนท์ เพนกวิน รุ้งขอขึ้นชี้แจงต่อศาล หรือทนายของแต่ละคนขออธิบาย ศาลจะไม่ฟังเลย บอกว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังคุย ดังนั้นเรื่องที่จะพูดไว้ว่ากันทีหลัง ตรงนี้มันผิดปกตินะ กระทั่งครั้งสุดท้าย ผมพยายามจะบอกว่าเราต้องการถอนทนาย ก็ลุกขึ้นมาขอคุยกับศาล ตั้งใจจะบอกว่าประเด็นที่จะพิจารณาต่อจากนี้ไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ ฟังผมแป๊บนึง เดี๋ยวจบเลย ศาลก็ไม่ฟังครับ จนผมต้องพูดขึ้นมาเลยว่า ผมกำลังจะบอกคุณว่าผมถอนทนาย หลายคนจะถอนทนาย เพราะงั้นศาลไม่ต้องทำเอกสารอะไร จดอะไรให้ครบก็ได้ เพราะไม่มีทนายแล้ว เราต้องพูดกันขนาดนี้ ซึ่งศาลเองก็ไม่แม้แต่จะปรามให้เราใจเย็น ทั้งที่ปกติศาลมักบอกให้คิดกันอีกทีด้วยซ้ำ

ถ้าที่ผ่านมาศาลฟังเราสักหน่อยก็คงไม่ตัดสินใจถอนทนาย แต่นี่ไม่เลย เราถูกข้าม ถูกละเลย แม่เขาอยากจะเข้ามาขอคุยกับไผ่ ศาลก็ไม่ฟัง พอบวกกับหลายเรื่องมากเข้าจึงเกิดวิกฤตที่เราตั้งใจจะถอนทนายกันจำนวนมาก ไม่ใช่ว่าเรานึกจู่ๆ อยากถอน หรือจำเลยไม่พอใจก็เลยถอน มันมีรายละเอียดเยอะมาก ซึ่งคุณเอ๋ (เยาวลักษ์ อนุพันธุ์) หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้เขียนรายละเอียดต่างๆ ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีศาลอาญา เพื่อรายงานเรื่องนี้ให้รู้ เราก็ได้ชี้แจงเรื่องทนายออกสื่อไปครบถ้วนหมดแล้ว 


จากเหตุการณ์ต่างๆ จนถึงวันที่ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นทนายของไผ่ ทำให้คุณรู้สึกหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมบ้างหรือเปล่า

คงต้องแยกกันระหว่างกระบวนการยุติธรรมและตัวผู้พิพากษา ทุกวันนี้ผมยังเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม เพราะผมเป็นทนายความ แม่เขาก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในศาล ไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย ไม่เคารพในกระบวนการยุติธรรม ก็คงทำมาหากินไม่ได้

แต่เราไม่เชื่อมั่นในตัวผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้ ไม่เคารพดุลพินิจของศาลที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของแกนนำราษฎรและคดีที่ลูกผมเป็นจำเลย

เราถอนทนายเพราะเกิดสิ่งที่ไม่ควรเกิดในกระบวนการพิจารณา การตัดสินใจของศาล และการดูแลผู้คุมขังในห้องพิจารณาต่างๆ มันแย่มาก ไม่ได้มาตรฐานอย่างที่เราเคยเห็นในฐานะทนายความ กองทัพราชทัณฑ์เต็มไปหมด กันเราทุกอย่าง สิทธิต่างๆ ของจำเลย สิทธิของทนายที่จะได้คุยกับจำเลยหรือโต้แย้งกับผู้พิพากษาถูกตัดทิ้งหมดเลย เราไม่เคยเจอแบบนี้ ทนายคนอื่นก็งงกันว่ากลายเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง

เพราะงั้นเราถึงคุยกับไผ่ว่ามันเหมือนมัดมือชก เขาทำแบบนี้เหมือนไม่เปิดโอกาสให้คนสู้ จนไม่รู้ว่าจะมีทนายไปทำไม หลายคน ทั้งแม่สุรีย์รัตน์ (แม่เพนกวิน) หรือแม่ไมค์ ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำแบบนี้สู้ตัดสินคดีไปเลยดีกว่า เรื่องต่อสู้คดีที่มันยากน่ะเราไม่กลัว เรากลัวแค่ว่าคนตัดสินตั้งธงให้เราแพ้ก่อนแล้วหรือเปล่า จะเหมือนผมยิงประตูชนะคุณ 5-0 แต่สุดท้ายกลับถูกตัดสินให้แพ้ไหม แบบนี้เราก็ไม่รู้จะว่ายังไง

ในเมื่อการมีทนายความไม่มีประโยชน์ในกระบวนการพิจารณา เราเลยถอนทนาย ทุกคนมองที่ประเด็นนี้ ไม่ใช่ประเด็นอื่น


อันที่จริงก่อนจะมาเป็นทนายให้ไผ่ในคดีล่าสุด ได้ยินมาว่าคุณเคยตั้งใจจะไม่เป็นทนายว่าความให้ลูกชาย เหตุผลคืออะไร

ผมเป็นทนาย แม่เขาก็เป็นทนาย ถึงไม่ใช้ทนายจากศูนย์ทนายสิทธิฯ เราก็มีความสามารถในการว่าความให้ลูกได้อยู่แล้ว แต่เหตุผลที่เราไม่เข้าไปว่าความให้กับลูกทุกคดี เพราะมองว่าความผูกพันในฐานะคนเป็นพ่อแม่บวกกับความเป็นทนายจะสร้างความกดดันให้เราปนกันไปหมด ดังนั้นถ้าให้คนอื่นที่รู้จักกันเป็นทนายว่าความให้ ให้คนนอกมองเข้ามาน่าจะคลี่คลายปัญหาทางกฎหมายได้ดีกว่า รอบคอบมากกว่า ไม่ใช่ว่าไม่เป็นทนายเพราะโกรธลูกที่ไปทำผิด

แต่คดีล่าสุดที่ศาลอาญา ทั้งพ่อและแม่ตัดสินใจเป็นทนายให้ไผ่ เพราะเป็นคดีใหญ่ และเราอยากเข้าไปช่วยสกัดกั้นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเข้าไปหาลูก


คุณตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเกิดคดีเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างมาตรา 112 มาตรา 116 ศาลจะตัดสินด้วยดุลพินิจที่ผิดปกติมานาน แล้วถ้าเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รูปแบบการออกหมายจับ ดำเนินคดี รวมถึงต่อสู้ในชั้นศาลมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นไหม

ผมว่าไม่ต่างกัน บรรยากาศความรู้สึกหรือลีลาอาจจะต่างกันบ้าง แต่เนื้อหาโดยรวมเหมือนกัน ตั้งแต่กระบวนการแรกเริ่มที่มีตำรวจรับแจ้งความ กล่าวหา ทำสำนวนส่งฟ้อง หาพยานหลักฐานต่างๆ จนถึงการส่งให้อัยการรับลูก ต่อไปให้ศาลออกหมายจับหมายค้น ทั้งหมดเป็นขบวนการที่ผมไม่เห็นว่าจะต่างไปจากเดิม  บางทีมีแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมอ่านกฎหมายดูสำนวนแล้วว่าสู้ไปก็ยกฟ้อง ศาลก็ยังออกหมายจับเฉย อย่างมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเนี่ย เด็กตัวเล็กๆ มันเก่งขนาดนั้นเชียว คุณคิดว่าเขาจะปฏิวัติประเทศไทยเลยเหรอ ถ้าดูกันตามเหตุผล ศาลไม่ควรจะรับลูกด้วยซ้ำ แต่ศาลรับหมดเลย ออกหมายจับกันระเนระนาด เวลาคนโดนคดีพวกนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ตามรังควานถึงพ่อแม่ ถึงโรงเรียน ตรงนี้ไม่ได้ต่างไปจากอดีต

ในส่วนการต่อสู้คดีผมก็ไม่ได้มองว่ามันยากขึ้นนะ คดีพวกนี้ถ้าเป็นทนายทั่วๆ ไป มีกึ๋นมีฝีมือหน่อย ใครๆ ก็รู้ว่าคดีที่ดูใหญ่โตมากๆ โอกาสยกฟ้องยิ่งสูงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าศาลพิจารณาโดยอิสระ ถ้าไม่ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่ตัดโอกาสสิทธิของจำเลย สิทธิของทนายล่ะก็ เราไม่เคยห่วงเรื่องการต่อสู้หักล้าง เอาพยานหลักฐานมาคลี่กันดูว่าถูกหรือผิดยังไง


วิบูลย์ บุญภัทรรักษา


ในศาลมีปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรที่อาจส่งผลให้การตัดสินของผู้พิพากษาผิดเพี้ยนไปจากหลักกฎหมาย หรือทำให้ผู้พิพากษาไม่กล้าแสดงความเห็นแย้ง

ผมอ่านจดหมายที่ท่านคณากร (คณากร เพียรชนะ) เขียน เขาเขียนได้ละเอียดมาก ทำให้เรารู้เรื่องภายในที่ไม่คิดว่าจะมีจริง ถ้าให้สรุปโดยย่อคือตามหลักกฎหมาย ต่อให้เป็นผู้พิพากษาตัวเล็กๆ ก็มีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระที่จะตัดสินคดีความ สามารถทำตามดุลพินิจที่ร่ำเรียนกฎหมายมาและประสบการณ์ของตนเองได้เลย ห้ามมีการแทรกแซงจากอะไรก็ตามแต่ ซึ่งนั่นเป็นภาพอุดมคติที่สวยงามมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นจริง เวลาผู้พิพากษาจะพิจารณาคดีอะไร จะต้องทำคำพิพากษาคดีอะไร ก็ต้องให้หัวหน้าศาลพิจารณาก่อนว่าใช่หรือไม่ใช่ ต้องแก้ไขอะไร นั่นแปลว่าถูกแทรกแซงแล้วจริงไหม

ยิ่งถ้าเป็นคดีใหญ่ เช่น 112 หรืออะไรทำนองนี้ ก็ต้องให้คนระดับสูงขึ้นไปอย่างอธิบดีดูว่าการพิจารณาคดี ขั้นตอนคำสั่ง การให้หรือไม่ให้ประกัน จะจัดเป็นการพิจารณาคดีลับหรือไม่ สรุปคือผู้พิพากษาจะต้องทำอะไร คนข้างบนเป็นคนสั่งนะครับ นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมผู้พิพากษาตัวเล็กตัวน้อยถึงกลัว เพราะมันเป็นการทำงานแบบมีลำดับขั้น ไม่มีทางที่เขาจะกล้าไปต่อกรกับอธิบดี บางทีแค่หัวหน้าศาลก็ไม่กล้าแล้ว

ทั้งหมดนี้แปลว่าผู้พิพากษาไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์ ดำเนินการตัดสินได้อย่างมีสิทธิเสรีภาพตามที่ใฝ่ฝันหรือตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ได้เลย คุณจะถูกครอบด้วยคำสั่งมาตั้งแต่หัวม้วน ไม่ทำไม่ได้ นี่เป็นระบบโครงสร้างของศาลไทยที่ยังแก้กันไม่ได้และเป็นปัญหาถึงทุกวันนี้ ศาลไม่ต่างไปจากหน่วยงานราชการอื่นๆ แค่ดูดีกว่ากันนิดหน่อย ซึ่งในอนาคตจะยิ่งแย่เข้าไปกันใหญ่


ถ้าศาลมีโครงสร้างการทำงานเป็นลำดับขั้น เช่นนั้นอาจต้องเริ่มแก้ความอยุติธรรมที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

ถูกต้องครับ มันต้องแก้ที่หัว และบางทีปล่อยให้หัวคิดได้เองไม่ได้ด้วย ต้องให้ประชาชนช่วยเหมือนสิ่งที่เด็กๆ พยายามทำ เขาอาจจะทำไม่ถูกทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือเขากำลังจะสอนศาลว่าควรแก้ไขอะไรบ้างตั้งแต่หัวไปถึงหาง ถ้าศาลทำแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลว ประเทศชาติจะเกิดหายนะ เราต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะเอาไงดี ศาลต้องปรับอะไร ควรปล่อยให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระไหม ไม่มีใครเข้าไปยุ่ง ต่อให้เป็นคดี 112 ก็ทำตามกระบวนการ ผิดถูกอย่างไรก็ว่ากันไป ไม่ต้องมีใครมาสั่ง

ถ้าเขาคิดได้ก็จะทำให้กระบวนการยุติธรรมกลับเข้าสู่ความดีงามเหมือนคดีอื่นๆ ที่ศาลก็ทำได้ ผมไม่อยากใช้คำว่าศาลจะมีความยุติธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่ผมเชื่อว่าเราคงหวังได้สักเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ถูกควบคุมกันเอง แต่ควบคุมโดยกติกากลไกที่สังคมไทยและสากลยอมรับ


แล้วเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในศาลดังเดิม

อย่างที่พูดมาแล้ว คงต้องเริ่มจากตัวศาล ผู้พิพากษาก่อน ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหน่อยคือเรื่องที่มีคนไปประท้วงปาไข่หน้าศาล อธิบดีศาลอาญาก็ไม่ควรออกมาตอบโต้ว่าเกิดมาไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้กับศาล ต่อว่าว่าก้าวร้าว จะสั่งดำเนินคดีให้หมด เพราะเกิดมาผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันว่ามีประชาชนไปปาไข่ ไปม็อบตะโกนด่าศาล ในเมื่อต่างคนต่างไม่เคยเห็น ปัญหาคือมันเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ เขาจะมาได้ยังไง แสดงว่าประชาชนเกิดมาไม่เคยเห็นศาลอาญาทำแบบนี้ อ้างเหตุผลไม่ให้ประกันตัวไปเรื่อยใช่ไหมถึงต้องมาประท้วง

ถ้าจะแก้ไขให้มีความน่าเชื่อถือกลับคืนมา ศาลก็ต้องคิดใหม่ว่าเดี๋ยวนะ อย่างนี้ต้องมีปัญหาแน่ล่ะ เพราะถ้าศาลเป็นกลางจริงคงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ เอาความเป็นกลางมาคลี่กันใหม่ดีไหม ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร จะแก้ยังไงให้ประชาชนกลับมาเลื่อมใสเหมือนเดิม มันต้องเริ่มด้วยการย้อนกลับมามองตัวเอง คนถึงจะมีความหวังหน่อยว่ากระบวนการยุติธรรมและศาลจะกลับมามีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ไปด่าประชาชน ไปโทษประชาชนแบบที่ราชกิจจานุเบกษาเขียนว่าโควิดระบาดเพราะประชาชนการ์ดตก


กระบวนการยุติธรรมในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน

กระบวนการยุติธรรมในอุดมคติของผมน่าจะคล้ายกับนักกฎหมายทุกคน รวมถึงพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ คือไม่กินสินบาทคาดสินบน ไม่มีอคติในการทำหน้าที่ ดำเนินการทุกอย่างโดยเป็นธรรม เป็นหลักการที่ดี มีไม่กี่ข้อ ไม่ต้องท่องจำให้ยากมากมาย


คุณมีความเห็นอย่างไรต่อมาตรา 112 ที่ไผ่และแกนนำราษฎรถูกดำเนินคดี

ผมว่าควรยกเลิก แต่ถ้ายกเลิกไม่ไหวก็น่าจะปรับเปลี่ยน ซึ่งการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น อย่างแรกต้องยอมรับก่อนว่า 112 ไม่ได้เรื่องจริงๆ นะ ทั้งเนื้อหาและรายละเอียดทั้งหมด ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันโดยง่าย ถ้าเราเข้าใจแล้วต้องมาดูว่าปัญหาที่มีอยู่จะเริ่มแก้ยังไง เช่น แก้ไม่ให้กล่าวหากันง่ายๆ ไม่ใช่ว่าใครก็ไปฟ้องได้ นำเรื่องต่างๆ ไปโยงว่าล้มเจ้า แล้วตำรวจก็รับลูกต่อไปถึงศาล จนศาลไม่ให้ประกัน มันต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน การกล่าวหาด้วยหลักฐานที่ชัดเจน มีคณะกรรมการมากลั่นกรอง ถ้าใครกล่าวหาคนอื่นทำนองนี้มั่วๆ ต้องมีกฎหมายลงโทษไม่ด้อยไปกว่ากัน ถ้าตำรวจรับเรื่องไปโดยไม่กลั่นกรองให้ดี ก็ต้องโดนลงโทษไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมถึงอัยการ ศาล ถ้าไม่ให้ประกันต้องมีกฎหมายควบคุม มีเหตุผลรองรับมากกว่านี้ นี่คือตัวอย่างการแก้ไขมาตรา 112  


เทียบกันแล้ว มาตรา 112 มีปัญหาที่ตัวบทหรือการบังคับใช้มากกว่ากัน

ทั้งคู่เลยครับ และถ้าย้อนดูการเรียนนิติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญามี 300 กว่ามาตรา มีมาตรา 112 มาตราเดียวที่ไม่สอน ไม่มีอาจารย์หยิบยกขึ้นมาพูดคุยถึงรายละเอียด องค์ประกอบของมาตรา ไม่มีการถกเถียงกันว่าใครคิดเห็นยังไง ไม่มีการออกข้อสอบถึงมาตรานี้มาตั้งแต่ผมเรียน เมียผมเรียน จนลูกสาวผมเรียนก็ไม่มี ทั้งที่มันควรนำมาถกกันว่าใครเห็นไม่เห็นด้วย คำว่าหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หมิ่นแปลว่าอะไร อาฆาตมาดร้ายหมายถึงอะไร บทลงโทษมากเกินไปหรือไม่ เหมือนกับคดีฆ่าคนตายที่นักศึกษากฎหมายต้องมานั่งดูว่าฆ่าคืออะไร ตายไม่ตายรับโทษต่างกันอย่างไร

เราไม่เรียนเรื่องมาตรา 112 แต่ทุกวันนี้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนศาลเองยังตีความให้ชัดเจนไม่ได้ และคำตัดสินของศาลในตอนนี้ก็อาจกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ผู้พิพากษาในอนาคต นี่เป็นปัญหาทั้งตัวบท การบังคับใช้ ยันการศึกษาที่ไม่มีการถกเถียง


หลังจากที่ไผ่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ตอนแชร์ข่าวบีบีซี คุณเคยคุยกับไผ่เรื่องพาดพิงสถาบันฯ บ้างไหม

ตั้งแต่ไผ่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมมา เขาก็ไม่เคยยุ่งวุ่นวายอะไรกับสถาบันฯ ไม่เคยแตะเลย ไปดูประวัติได้ เขามักไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน ไปสู้กับรัฐบาลมากกว่า ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องไปตักเตือนเขาเรื่องนี้ เพราะไผ่รู้อยู่แล้วว่าเขาไม่ได้จะแตะ ที่เจอครั้งแรกก็ตอนแชร์ข่าวจากบีบีซีแค่นั้นเอง

หลังจากเกิดคดีแชร์ข่าวบีบีซี เราก็มีคุยกันบ้าง ผมบอกว่าขนาดเราไม่ได้ทำอะไรยังโดน ตอนนี้ทุกคนมีความเสี่ยง ผมโพสต์เฟซบุ๊กทุกวันยังเสี่ยง มันเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งและการเชื่อมโยงให้ผิด ฉะนั้นระวังอย่าให้ถูกเชื่อมโยงได้ ซึ่งไผ่ก็รู้ตัว พยายามไม่ไปแตะเพราะเขามีบทเรียนแล้ว แต่การที่เขาไปขึ้นเวที พูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ พูดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่การไปรบกับสถาบันฯ คนไปโยงกันเองว่าเขาจะล้มเจ้า นั่นผมก็ไม่รู้จะช่วยยังไงได้ ได้แต่บอกว่าเจตนาของเขา เจตนาของเด็กๆ ไม่ใช่แบบนั้นแน่นอน  


ถ้ามีคนบอกว่าไผ่และแกนนำราษฎรไปก้าวล่วงสถาบันฯ ทำผิดกฎหมายจึงถูกจับ คุณจะตอบคนเหล่านั้นว่าอย่างไร 

คนพูดต้องบอกให้ชัดเจนก่อนว่าก้าวล่วงใคร ยังไง คำว่าก้าวล่วงคืออะไรกันแน่ ถ้าผมชื่นชมอย่างเดียวถือว่าก้าวล่วงไหม การชมมากเกินเหตุก็อาจถือว่าเป็นการหมิ่นนะครับ สมมติผมกินเหล้าสูบบุหรี่ มีคนเดินมาชมผมว่าคุณเป็นคนดีจริงๆ เพราะกินเหล้าสูบบุหรี่ นั่นคือพูดประชด หมิ่นประมาทผม ผมรู้สึกว่ามันก้าวล่วงผมจนไปฟ้องคุณ แบบนี้ผมพูดได้ไหมว่าถ้าคุณไม่มาก้าวล่วงผม ผมไม่เอาคุณติดคุกหรอก

เรากำลังพูดเรื่องที่เป็นนามธรรมแบบนั้น เด็กๆ เสนอแค่ว่าปรับมาตรา 112 ดีไหม เพราะมีคนนำมากลั่นแกล้งกันแล้วสถาบันฯ เสียหายด้วย นำข้อมูลงบประมาณมาเปิดเผย นี่ถือเป็นการก้าวล่วงตรงไหน ถ้าเขาตีความแค่พูดคำว่า ‘คิง’ คือการก้าวล่วง แบบนี้ก็มีคนผิดมากมายแล้ว

ถ้าเราปล่อยไปเรื่อยๆ อีกไม่นาน ลูกหลานของคุณ ญาติมิตรของคุณอาจจะถูกฟ้อง 112 เพราะไปก้าวล่วงโดยไม่รู้ตัวก็ได้ แค่เพราะมีคนไม่พอใจเขาก็เลยฟ้อง แล้วคุณอาจจะต้องไปประท้วงหน้าศาล หน้าเรือนจำเหมือนที่คุณเห็นตอนนี้ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำเป็นการก้าวล่วง ต่อไปคุณอาจจะพูดอะไรไม่ออกเลย 


พ่อของไผ่ ดาวดินออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ศาล หรือพูดถึงมาตรา 112 แบบนี้ เคยกลัวไหมว่าอาจจะถูกเพ่งเล็งหรือถูกโยงจนโดนคดี

ไม่กลัวหรอกครับ ผมอาจจะโดนหมาย 112 สักวันก็ได้ ถ้าเขาคิดเอาเรื่อง จะวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืน หรือย้อนหลัง ก็คงทำอยู่แล้ว ถ้าเขาทำเมื่อไหร่ก็ได้แบบนี้เลยไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งหวาดกลัว มันสำคัญที่คุณรู้แล้วยังกล้าไหมที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กล้าไหมที่จะทำให้สังคมได้เห็นความผิดปกติ กล้าไหมที่จะบอกว่าศาลทำไม่ถูก  


กว่าจะเป็นไผ่แบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ คุณมีแนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

เท้าความก่อนว่าผมเคยทำงานกับนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน กับทองใบ ทองเปาด์ ไปบรรยายกฎหมายให้ชาวบ้านฟัง ต่อสู้คดีทั่วอีสาน ตั้งแต่เด็กๆ เวลาไผ่ปิดเทอมหรือหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะไปหาชาวบ้านกับพ่อ ไปเจอลุงทองใบกับทนายคนอื่นๆ กินเหล้าเป่าแคน เล่นดนตรีกัน เขาก็คงได้เห็นอะไร ได้เก็บเกี่ยวอะไรของเขาไปเรื่อย ตอนเข้ามหาวิทยาลัยผมไม่ได้บอกเขาว่าต้องเป็นแบบพ่อ ไม่ใช่ว่าพอพ่อเรียนนิติศาสตร์แล้วจะบังคับลูกให้เรียนตาม ผมไม่ได้สนใจเขาเลยว่าจะเรียนอะไร ตอนเขาเลือกเรียนนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น หรือตอนพิณ (น้องสาวไผ่) ไปเรียนนิติศาสตร์เหมือนกัน ผมยังไม่รู้เรื่องเลย

เรื่องความคิดทางการเมืองผมก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเขา ไม่มีเวลาไปบ่มเพาะนิสัยการเมืองอะไรของไผ่มากนักหรอก ผมปล่อยเขา ให้อิสระเขา เชื่อว่าเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยเฉพาะปัญหาชาวบ้านด้วยตัวเองมาเยอะพอสมควร เขาเลยอิน พอไปเข้า มข. เลยเข้ากลุ่มดาวดิน ออกค่ายช่วยเหลือชาวบ้าน เขาออกไปเรียนรู้อะไรเยอะแยะนอกบ้านโดยที่พ่อไม่ได้สอน และบางทีผมก็ยุ่งเรื่องของไผ่มากไม่ได้ด้วย (หัวเราะ) พูดไปเขาก็เถียง

พอมาถึงช่วงหลังรัฐประหาร เขาคงรู้สึกไม่ไหวเลยไปชูสามนิ้วใส่ประยุทธ์ ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้บอกเราหรอกนะ ผมยังทำคีโมในโรงพยาบาลอยู่เลยตอนเขาถูกพาไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร บ้านเรามีนิสัยประชาธิปไตยจ๋า เลี้ยงลูกโดยไม่ไปละลาบละล้วง บังคับอะไรเขา ใครอยากทำอะไรก็ได้ เขาโตแล้วคิดเองได้ ซึ่งไม่ใช่แปลว่าผมตัดหางปล่อยวัดนะ ถ้าเขาเกิดปัญหา ไม่ว่าเรื่องคดีความหรือเรื่องอะไร อยากปรึกษาก็มาคุยกันได้ เราพร้อมดูแลเขา ให้กำลังใจเขาเสมอ


ในฐานะที่พ่อและแม่เป็นทนายความทั้งคู่ พวกคุณเคยคุยเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องกฎหมายกับลูกๆ ไหม

คุยกันบ่อยครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไผ่เรียนหนังสือแล้วติดขัดเลยมาถามพ่อแม่ เขาจะหยิบยกประเด็นต่างๆ มาถามเรา เราก็จะเปิดเวทีคุยกับเขา ยกตัวอย่างเคสมาเล่าให้ฟัง แต่ละเคสมีฎีกาว่าอย่างไร


ที่ผ่านมาไผ่ถูกฟ้องมาหลายคดีไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง คนเป็นพ่อแม่รู้สึกกังวลใจบ้างหรือเปล่า

ผมเป็นคนรับหมายศาลที่ส่งมาที่บ้านประจำเลย ไผ่โดนคดีนับไม่ถ้วน แต่ผมไม่กังวลนะ ถ้าเราต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมที่มีกรรมการ มีกติกาที่ดี ผมไม่เคยห่วง เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าคดีแบบไหนที่เป็นการกลั่นแกล้งกัน หงุดหงิดอาจจะมีบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นหวั่นไหว กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าโดนคดี เราก็แค่ไปเยี่ยมไผ่ หาทางประกัน เราวนเวียนขึ้นโรงพัก ขึ้นศาล เข้าเรือนจำบ่อยมาก มากเกินกว่าที่คนอื่นเขาโดน อาจจะใช้คำว่าชินก็ได้ ซึ่งเราไม่ได้อยากชินชาหรอก แต่ในเมื่อไผ่ต่อสู้แล้วถูกผลัก ถูกบีบ ให้ต้องสู้หลังชนฝา ครอบครัวเราก็พร้อมสู้ไปกับเขาทุกเรื่อง


ครอบครัวได้รับผลกระทบอะไรจากการต่อสู้ทางการเมืองของไผ่ไหม เช่น ถูกคุกคาม ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

เรื่องคุกคาม ช่วงแรกๆ ที่ไผ่ชูสามนิ้ว ทำกิจกรรมรณรงค์ต้านรัฐประหารปีแรก มีคดี 14 แกนนำนักศึกษาโดนจับ หรือช่วงคดีประชามติ มีคนมาบ้านประจำ ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นกองทัพเลย ถ้าใช้ภาษาเขาก็บอกว่า “มาเยี่ยมยามพ่อแม่” แต่ภาษาเราเรียกว่ายกกันมาข่มขู่ (หัวเราะ) บางคนมาเพื่อว่าเรา ทำไมเลี้ยงลูกแบบนั้นแบบนี้ ผมทนไม่ไหวบางทีก็ว่ากลับไปบ้าง

ทุกวันนี้ถึงไผ่โดนคดีก็ไม่มีใครมาคุกคามแล้วครับ เพราะตำรวจพวกนั้นน่าจะจำหน้าผมได้แล้ว คงไม่อยากมายุ่ง 


สุดท้าย ราคาที่ต้องจ่ายในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ถูกดำเนินคดีมากมาย ผลกระทบถึงครอบครัวต่างๆ มันถือว่าคุ้มค่าไหมกับประเทศไทยที่คุณและไผ่อยากเห็น

ถามแบบนี้มันนามธรรมไปหน่อย เพราะผมยังไม่เห็นว่าประเทศไทยจะกลายไปเป็นแบบไหน ยังไม่เห็นจุดจบ แต่อย่างน้อยตอนนี้เราเห็นว่าประเทศไทยกำลังจะพินาศ ย้อนดูสิว่าวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลทำอะไรบ้าง ประชาชนอดอยาก สิ่งแวดล้อมในไทยถูกทำลาย ชาวบ้านถูกรังแก เรื่องแบบนี้ปล่อยไปจะวุ่นวาย

เราเห็นปัญหาเหล่านี้ มีหลายเรื่องที่ไม่ดี และต้องแก้ไข ครอบครัวเราเห็นพ้องกัน ไผ่จึงไปสู้ ผมจึงไปสู้ ทั้งบ้านไปร่วมชุมนุมกับแกนนำคณะราษฎร ทั้งหมดที่ทำก็แค่อยากเห็นประเทศชาติดีขึ้นกว่าตอนนี้ ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่านั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save