fbpx
Utopia for Realists : ความจริงของนักอุดมคติ

Utopia for Realists : ความจริงของนักอุดมคติ

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ผมไม่แน่ใจว่าการศึกษาไทยเป็นแบบนี้มานานแค่ไหน แต่สิ่งที่พอสังเกตได้จากประสบการณ์การเรียนและสอนหนังสือของตัวเอง คือดูเหมือนเราไม่ค่อยสอนให้นักเรียนคุ้นเคยกับการใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเชียร์ให้พวกเขาฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ชีวิตของใคร นอกจากตัวเอง

นั่นทำให้หลายครั้งในบทสนทนาเกี่ยวกับอุดมคติทางสังคม เช่น ความเสมอภาค ความเท่าเทียม หรือความเป็นธรรม คำถามแรกๆ ของพวกเรามักไม่ใช่ว่าเราจะสร้างสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมขึ้น ‘ได้อย่างไร’ แต่คือ ‘จะเป็นไปได้จริงเหรอ’

แน่นอนครับว่านี่เป็นคำถามที่เราต้องใคร่ครวญและหาคำตอบ แต่ปัญหาคือหลายคนกลับได้คำตอบโดยแทบไม่ต้องคิดเลยว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ และเมื่อเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ต้องพยายาม เมื่อไม่ต้องพยายามก็ไม่ต้องถามต่อว่า ‘จะทำอย่างไร’

ใน Utopia for Realists: And How We Can Get There (2016) รุตเกอร์ เบรกมันน์ นักประวัติศาสตร์หนุ่มชาวดัตช์มองว่านี่เองเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมร่วมสมัย กล่าวคือผู้คนในปัจจุบันมักเชื่อไปว่าสิ่งที่ยากเกินจินตนาการย่อมแปลว่าสิ่งนั้นไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ทั้งที่จริงแล้ว “การไม่สามารถจินตนาการถึงโลกที่ต่างออกไป คือหลักฐานว่าเราขัดสนจินตนาการ ไม่ได้แปลว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้” (199)

Utopia for Realists: And How We Can Get There

เบรกมันน์ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่โลกปัจจุบันก้าวหน้าขึ้นกว่าในอดีตแทบทุกด้าน เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น ประเทศต่างๆ ร่ำรวยขึ้น สงครามและการฆ่าฟันกันลดน้อยลง แต่ ‘ดินแดนอันอุดม’ (Land of Plenty) นี้กลับไม่ได้ก่อประโยชน์โพดผลแก่เราอย่างที่ควรจะเป็น โลกที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดที่เราเคยมีกลับดูห่างไกลจาก ‘ยูโทเปีย’ หรือโลกอุดมคติที่ผู้คนต่างยุคต่างวัฒนธรรมล้วนใฝ่ฝัน โลกที่เราต่างใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อิ่มหนำสำราญ ทำงานแต่พอดี และสามารถปันเวลาในชีวิตให้กับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่าและมีความหมาย

โลกที่ดีที่สุดของเราประดังประเดด้วยปัญหาความยากจนที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหลายประเทศ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายกว้างขึ้น ชั่วโมงการทำงานของเราส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลงอย่างที่บางคนคาดการณ์ไว้ ขณะที่ระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคมสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความตึงเครียดและโรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจของคนในปัจจุบัน

“เด็กวัยรุ่นไปพบจิตแพทย์มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ หมดไฟกันมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และพวกเราใช้ยาต้านอาการซึมเศร้ามากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราโยนภาระให้คนแต่ละคนรับผิดชอบกับปัญหาส่วนรวม เช่น การตกงาน ความไม่พึงพอใจ และอาการซึมเศร้า ด้วยตัวพวกเขาเองมาโดยตลอด ถ้าความสำเร็จคือทางเลือก ความล้มเหลวก็เช่นกัน ตกงานเหรอ? ก็ควรทำงานให้หนักขึ้นสิ เจ็บป่วยเหรอ? ก็ทำไมไม่ใช้ชีวิตให้เฮลท์ตี้เล่า ไม่มีความสุขเหรอ? กินยาเข้าไปสิ” (18)

ในโลกที่ความอุดมสมบูรณ์ก่อประโยชน์ให้เราอย่างจำกัด การขาดจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าและใช้ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ มาตัดสินคุณค่าว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ยิ่งกลายเป็นกับดักที่ล่อลวงเราให้มองข้ามความอยุติธรรมและสิ่งที่ไม่น่าพึงใจเหล่านี้ ทั้งยังตีกรอบให้เรามองไม่เห็นอะไรไกลเกินกว่าตัวเอง

ทางเดียวที่เราจะหลุดจากกับดักนี้ได้จึงต้องอาศัยจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า ถึงโลกในอุดมคติที่ใครต่อใครอาจค่อนแคะว่าเพ้อฝัน แต่ใช่หรือไม่ว่าความใฝ่ฝันของนักอุดมคตินี่เองที่คอยผลักดันให้โลกก้าวหน้าอยู่เสมอ

นักอุดมคติที่ฝันถึงโลกที่ผู้คนมีสิทธิ์มีเสียงเสมอกัน (ประชาธิปไตย) โลกที่เพศหรือชาติกำเนิดไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการมีชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีเท่ากับผู้อื่น (ความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ การเลิกทาส) โลกที่มนุษย์ควรได้รับประกันจากรัฐบาลว่าจะได้รับปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (รัฐสวัสดิการ) และระบบเศรษฐกิจที่ไม่ผูกขาดอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน (เศรษฐกิจแบบตลาด)

“หากปราศจากนักฝันที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจากรุ่นสู่รุ่น พวกเราคงยังมีชีวิตที่แสนสั้น หิวโหย สกปรก น่าหวาดกลัว โง่เขลา ป่วยไข้ และอัปลักษณ์ หากปราศจากโลกในอุดมคติ พวกเราคงหลงทาง” (21)

คำถามสำคัญจริงๆ จึงไม่ใช่ ‘เป็นไปได้ไหม’ แต่ต้องเริ่มจากจะฝันอะไร จะฝันแบบไหน และจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร

สำหรับเบรกมันน์ โลกอุดมคติที่เราต้องการ คือโลกแห่งการกระจายทรัพยากรครั้งใหญ่ (massive redistribution) ทรัพยากรที่ว่าได้แก่ เงิน ด้วยการจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เวลา ด้วยการลดชั่วโมงการทำงานเหลือ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และภาษี ด้วยการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า โดยเน้นเก็บภาษีจากสินทรัพย์และความมั่งคั่ง มากกว่าภาษีจากรายได้และผลผลิต

ใน Utopia for Realists เบรกมันน์ยกกรณีศึกษาและงานวิจัยจำนวนมากเพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวคิดที่ดูสุดโต่งข้างต้นสามารถเป็นจริงได้ หากเราฝันเป็น พิจารณามันอย่างจริงจัง และกล้าลงมือทำ

ยกตัวอย่างเช่นการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานหรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงมาก เพราะให้ผลลัพธ์ที่ท้าทายความเชื่อพื้นฐานหลายอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ แนวคิดนี้วางอยู่บนหลักการที่ว่าประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้รับเงินจำนวนหนึ่งที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข

เบรกมันน์มองว่า การแจกเงินให้คนโดยตรงคือการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ตรงจุดที่สุด เพราะ “รากฐานของปัญหาความยากจนคือการไม่มีเงิน ไม่ใช่เพราะความโง่เขลา” (32)

เขายกตัวอย่างการทดลองแจกเงินให้คนจนในหลายประเทศ เช่น ในเคนยา ยูกันดา มาลาวี สหราชอาณาจักร หรือแคนาดา ซึ่งให้ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับสมมติฐานในใจเรา เช่น เราพบว่าคนยากจนที่ได้รับเงินให้เปล่าตามแนวคิด UBI มีแนวโน้มจะหางานและที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง และไม่ได้ใช้เงินเหล่านั้นไปกับสิ่งไร้ประโยชน์มากมายอย่างที่เราคิด งานวิจัยของ UNICEF ในปี 2015 ชี้ว่า เงินให้เปล่าช่วยให้คนแอฟริกันหลุดพ้นจากกับดักความยากจน และสามารถวางแผนการเงินและบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น

“ในนามีเบีย อัตราการขาดสารอาหารลดลงฮวบฮาบ (จากร้อยละ 42 เหลือร้อยละ 10) เช่นเดียวกับอัตราการขาดเรียน (จากร้อยละ 40 จนเหลือเกือบศูนย์) และอาชญากรรม (ลดลงร้อยละ 42) ในมาลาวี อัตราการเข้าเรียนของเด็กหญิงและผู้หญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ไม่ว่าเงินที่ได้รับจะเป็นเงินให้เปล่าหรือมีเงื่อนไข คนที่ได้ประโยชน์[จากการประกันรายได้พื้นฐาน]มากที่สุดก็คือพวกเด็กๆ พวกเขาเผชิญกับความหิวโหยและโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง ร่างกายเติบโตขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น และมีแนวโน้มจะถูกบังคับให้ขายแรงงานน้อยลง” (30-31)

ในรัฐแมนิโทบา แคนาดา การทดลองแจกเงินให้กับทุกคนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า MINCOME ดูจะประสบความสำเร็จเช่นกัน แม้โครงการจะถูกยกเลิกไปเมื่อรัฐบาลอนุรักษนิยมขึ้นมามีอำนาจ งานวิจัยที่ศึกษาผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวพบว่า “คนหนุ่มสาว[ในแมนิโทบา]แต่งงานช้าลง อัตราการเกิดลดลง … การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงมากถึงร้อยละ 8.5 … ตลอดหลายปีของการทดลอง ความรุนแรงในครอบครัวก็ลดลง เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิต” (37)

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เบรกมันน์ตอบว่า เพราะการแจกเงินให้กับคนยากจนช่วยให้คนจนหลุดจาก ‘ทัศนคติของความขาดแคลน’ (scarcity mentality) กล่าวคือความยากจนข้นแค้นบีบให้คนจนต้องมองโลกวันต่อวัน คิดถึงเป้าหมายระยะสั้น และไม่สามารถวางแผนชีวิตในระยะยาวได้เหมือนคนที่มีกิน การให้เงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจึงเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดและบริหารจัดการชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

เบรกมันน์มองว่าเราควรพิจารณาความเป็นไปได้และทดลองสร้าง UBI อย่างจริงจัง เพราะนอกจากเราจะอาศัยอยู่ในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แล้ว สิ่งนี้ยังเป็น

“สิ่งที่สังคมทุนนิยมควรทำให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด … ท้ายที่สุด ความอยู่ดีกินดีของเราขึ้นอยู่กับน้ำพักน้ำแรงของตัวเราเองเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เราผู้อาศัยอยู่ในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ร่ำรวยได้ก็เพราะสถาบัน ความรู้ และทุนทางสังคมที่สั่งสมไว้โดยบรรพชน ความมั่งคั่งนี้เป็นของเราทั้งหมด และรายได้ขั้นพื้นฐานช่วยแบ่งปันความมั่งคั่งนั้นให้กับพวกเราทุกคน” (47)

เบรกมันน์ยังชวนเราคิดถึงโลกอุดมคติที่สอง ซึ่งควรจะเป็นจริงได้ก่อนอย่างอื่น นั่นคือโลกที่เราทุกคนทำงานน้อยลงและมีเวลาพอจะไปทำอย่างอื่นที่มีความหมายกับชีวิต

อุดมคตินี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1930 จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษเคยทำนายไว้ว่า มาตรฐานการครองชีพในโลกตะวันตกจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของคนอีกร้อยปีข้างหน้า คือต้องคิดว่าจะเอา ‘เวลาว่าง’ ไปทำอะไร (129)

ใช่แล้วครับ เคนส์ รวมถึงนักคิดนักเขียนอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคาร์ล มาร์กซ์, จอห์น สจ๊วต มิลล์ หรือนักธุรกิจอย่างเฮนรี ฟอร์ด ต่างเคยทำนายว่าในโลกอันอุดมของเรานี้ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเครื่องจักรล้ำสมัย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ กอปรกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การที่ผู้หญิงเริ่มเข้ามาสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น น่าจะช่วยให้มนุษย์เราทำงานกันน้อยลง เฉลี่ยอยู่ในหลักสิบกว่าชั่วโมงต่อสัปดาห์

สารภาพว่าตอนผมอ่านถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่หัวเราะแห้งๆ เพราะเราต่างรู้ดีว่าชีวิตของคนทำงานทั่วๆ ไปไม่ได้ใกล้เคียงกับคำทำนายเหล่านั้นเลย ชั่วโมงการทำงานของเรามากขึ้นแม้แต่ในประเทศที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์น้อยที่สุดในโลก (136) เวลางานกับเวลาว่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ สมดุลระหว่างงานกับชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างเอง แม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงานมากเพียงใด ความยืดหยุ่นของงานฟรีแลนซ์เปิดโอกาสให้การทำงานเกิดขึ้นได้ทุกที่ และไม่มีอะไรได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมากเท่ากับ ‘งาน’ ที่ตามติดเราไปทุกหนทุกแห่ง

ปัญหาคือต่อให้เรายอมรับว่าทุกวันนี้เราทำงานมากเกินไป แต่หลายคนยังหวาดกลัวกันอยู่ว่า ถ้าทุกคนทำงานกันน้อยลง คุณภาพชีวิตย่อมแย่ลง รัฐสวัสดิการจะล่มสลาย และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะเดินต่อไปไม่ได้เพราะขาดผลิตภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ

แต่เบรกมันน์เถียงว่า ‘ไม่จริง’ เพราะปริมาณชั่วโมงการทำงานกับผลิตภาพทางเศรษฐกิจเป็นคนละเรื่องกัน ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไปเป็นต้นตอของปัญหา เช่น ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ความเครียด ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมทั้งยังทำลายความคิดสร้างสรรค์และโอกาสในการพัฒนาตัวเองของเราแต่ละคน

นอกจากนั้น ในขณะที่การทำงานหนักกลายเป็นคุณค่าหลักของสังคม แต่กลับไม่ได้การันตีชีวิตที่ดีหากทำงานผิดประเภท ซ้ำร้ายงานที่รายได้ดีและเติบโตเร็วที่สุดไม่ใช่งานที่สร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมให้สังคม แต่เป็นงานในภาคการเงินการธนาคารซึ่งส่งเสริมให้คนร่ำรวยจากการเก็งกำไรและถือครองทรัพย์สิน ไม่ใช่การผลิต

ฉะนั้นเราจึงต้องการชั่วโมงการทำงานที่พอดี ก่อประโยชน์ และได้รับการแบ่งสันปันส่วนที่เป็นธรรม

“เป้าหมายจึงไม่ใช่การเรียกร้องให้เลิกทำงาน แต่กลับกัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิง คนยากจน และคนชรา จะมีโอกาสทำงานที่ดีให้มากขึ้นไม่ใช่น้อยลง งานที่มั่นคงและมีความหมายมีบทบาทสำคัญมากต่อการมีชีวิตที่ดี ทำนองเดียวกัน การถูกบังคับให้ต้องพักผ่อน เช่นจากการตกงาน คือหายนะ นักจิตวิทยาแสดงให้เห็นว่าการตกงานอย่างต่อเนื่องยาวนานกระทบต่อการมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขมากกว่าการหย่าร้างและการสูญเสียคนที่เรารัก” (147)

แล้วการบรรลุอุดมคติดังกล่าวต้องทำอย่างไร? คำตอบอยู่ที่การกระจายทรัพยากรอย่างที่สาม นั่นคือภาษี

เบรกมันน์เห็นว่า การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง แต่ภาษีนั้นต้องเน้นเก็บจากสินทรัพย์มากกว่ารายได้ เพราะภาษีอย่างหลังจะกระทบต่อแรงจูงใจทางเศรษฐกิจโดยตรง เขาอ้างอิงงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่แสดงให้เห็นว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของผลตอบแทนจากทุนเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าผลตอบแทนจากการทำงานและการผลิตหลายเท่า ขณะที่ความมั่งคั่งยังคงกระจุกตัวอยู่ในมือคนส่วนน้อยเท่านั้น

การเก็บภาษีจากสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงิน จึงจะช่วยให้ดอกผลของดินแดนอันอุดมนี้ตกถึงเราทุกคน “ภาษีเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ทุกคนได้รับส่วนแบ่งที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ยังทำให้ส่วนแบ่งนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น” (167)

ภาษีจากสินทรัพย์เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เราทำงานเท่าที่จำเป็น เพราะเงินลงทุนของประชาชนส่วนนี้จะถูกแปรผันไปเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิต ทำให้เราไม่ต้องดิ้นรนมากจนเกินไปกับการหารายได้จากการทำงาน สามารถเลือกทำงานที่ปลอดภัยและมีความหมาย ทั้งยังบริหารจัดการชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ครั้นเมื่อเราทำงานอย่างพอดี ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับระบบเศรษฐกิจก็ย่อมมีผลิตภาพมากยิ่งขึ้น

ยิ่งกว่านั้น หากเราเชื่อตามอุดมคติของสังคมทุนนิยมว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ๆ และการเพิ่มผลิตภาพในการผลิต การเก็บภาษีจากสินทรัพย์ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนในภาคการผลิตทำงานอย่างเต็มที่ตามความรู้ความสามารถ เพราะจะได้รับดอกผลจากความทุ่มเทและความสามารถอย่างสมน้ำสมเนื้อ ขณะที่คนเก่งที่อยู่ในภาคการเงินการธนาคารก็อาจผันตัวมาทำงานในภาคการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิด “ผลกระทบเชิงบวกต่อส่วนรวม” มากขึ้นตามไปด้วย (169)

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงมีข้อสงสัยมากมาย เช่นว่าเอาเข้าจริงแล้ว โลกอุดมคติในหนังสือเล่มนี้จะ ‘เป็นจริง’ ได้มากแค่ไหน เบรกมันน์เองคงตอบว่า ‘ไม่รู้’ แต่ ‘ไม่ลองก็ไม่รู้’

การให้รายได้พื้นฐานแก่พลเมืองและการทำงาน 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมถึงข้อเสนอเรื่องการเปิดพรมแดนซึ่งผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษ) อาจจะยังเป็นสิ่งที่ดีเกินจินตนาการสำหรับหลายคน แต่ในเมื่อโลกของเรากำลังมั่งคั่งขึ้น ผู้คนมีชีวิตที่ปลอดภัยและยืนยาวขึ้น การใฝ่ฝันถึงโลกอุดมคติแบบนี้จึงอาจเป็นมากกว่าแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ

โลกยังดีกว่านี้ได้ และ “ความคิดใหม่ๆ ที่แม้จะดูรุนแรงเกินไปเปลี่ยนไปโลกได้เสมอ” (250) สิ่งสำคัญคือเราต้องจินตนาการให้ออกว่าโลกที่ดีกว่าควรเป็นอย่างไร และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเดินตามเป้าหมายนั้น

เพราะถึงที่สุด โลกอุดมคติเป็นสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง (utopia) เป็นที่ที่เราไม่มีทางไปถึง ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การสร้างโลกที่ทุกคนมีความสุขและเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกหย่อมหญ้า แต่คือการพยายามให้มากที่สุดที่จะสร้างโลกแบบนั้นให้เกิดขึ้นได้

เบรกมันน์บอกว่าตัวเขาเองถูกวิจารณ์มาตลอดว่าข้อเสนอของตน ‘เพ้อฝัน’ แต่สิ่งที่เขาเรียนรู้ต่อมาคือเพ้อฝันไม่ได้แปลว่าตรรกะของเขามีปัญหา แต่หมายความว่าแนวคิดนั้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ และวิธีเดียวที่จะปิดกั้นแนวคิดแบบนี้ได้ คือทำให้มันดูเป็นแนวคิดที่งี่เง่า

แต่ถ้าคนที่เรียกร้องให้เลิกวัดค่าของคนที่ชาติกำเนิด ยกเลิกระบบทาส ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ชาย และให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ต่างเคยถูกมองว่าเสียสติมาก่อนทั้งสิ้น Utopia for Realists ก็อาจไม่ใช่เพียงความฝันของคนที่มองว่าความฝันนั้นเป็นไปได้ แต่ยังเป็นความจริงของคนช่างฝัน

ความจริงที่ว่าโลกอุดมคติไม่ใช่ดินแดนพระศรีอาริย์ที่มีผู้ประทานให้ หากแต่เป็นการเดินทางอย่างมีจุดหมายเพื่อไปให้ถึงดินแดนที่ดีกว่าเดิมซึ่งแท้จริงแล้วยากจะไปถึง เป็นการเดินทางที่ไม่สิ้นสุดด้วยความเชื่อว่าสังคมของเรายังดีกว่านี้ได้

และอย่างน้อยที่สุด คือการเดินทางออกไปไกลจากตัวเราเอง.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save