fbpx
Human of Seafood

Human of Seafood

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

อาหารทะเลสุดเลิศรส สารพัดเมนูได้เนรมิตความสุขให้ผู้กินอย่างเราๆ ท่านๆ มาอย่างไม่รู้จบ แต่ดูเหมือนพื้นที่แห่งความสุขจะถูกจำกัดเขตแดนไว้เพียงบนโต๊ะอาหารเท่านั้น พ้นจากขอบโต๊ะออกไป ยังมีผู้คนที่เกี่ยวข้องและอาจถือว่าเป็นต้นทางของอาหารทะเลที่เรากำลังตักชิมอยู่

แน่นอนว่าแววตาของการรับรสแห่งความอร่อย ย่อมแตกต่างไปจากแววตาของการรับรสแห่งความขมขื่น แล้วรสแห่งความหวังและความฝันของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยเป็นอย่างไร

ตั้งแต่ลูกเรือประมงที่พลัดพรากจากครอบครัว สาวโรงงานปลากระป๋องที่ฝันจะเรียนกฎหมาย ครูของบรรดาเด็กๆ ที่พ่อแม่ต้องใช้เวลาไปกับการใช้แรงงาน ชายหนุ่มโรงงานลูกชิ้นที่หวังจะให้ลูกของเขาเป็นหมอ และเด็กหนุ่มที่หลงใหลในฟุตบอลและสนใจร่ำเรียนด้านประวัติศาสตร์ พวกเขาใช้ชีวิตเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในเมืองมหาชัย จ.สมุทรสาคร พื้นที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด

ถ้าความสุข 4 ประการของอัลแบร์ กามู นักเขียนวรรณกรรมรางวัลโนเบล ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอัลแบเนีย ได้แก่ 1.อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง 2.พ้นจากความทะเยอทะยาน 3.ทำงานสร้างสรรค์ และ 4.รักใครสักคน ทั้งสิ้นทั้งปวงเสียงและหยาดเหงื่อของพวกเขาเข้าใกล้นิยามความสุขบ้างหรือยัง และเป็นไปได้หรือไม่หากพื้นที่ความสุขบนโต๊ะอาหารจะขยายเขตแดนออกไป เพื่อให้ความอร่อยได้สร้างรอยยิ้มอย่างถ้วนทั่ว

ลูกเรือประมงจากทวาย

เหมี่ยน นาย

ลูกเรือประมงจากทวาย วัย 49 เข้ามาแลกค่าแรงด้วยหยาดเหงื่อบนเรือประมงไทยตั้งแต่ปี 2001 ทำทุกหน้าที่บนเรือตั้งแต่ลงอวน ชักอวน ทำความสะอาดเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติของลูกเรือประมงทุกคนที่ต้องทำทุกอย่างให้ได้

เหมี่ยน นาย เล่าว่าเขามีครอบครัวแล้ว มีลูก 4 คน ส่วนเมียเสียชีวิตไปนานแล้ว ลูกๆ ทั้งหมดเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวหมดแล้ว แต่เขาขาดการติดต่อกับลูกๆ นานถึงสี่ปี จึงไม่ทราบเป็นตายร้ายดีอย่างไร ไม่ใช่ว่าลืมเลือนกัน เพียงแต่ไม่มีรูปถ่ายติดตัวเป็นที่ระลึกไว้เท่านั้นเอง

“ถ้าเราได้อยู่ด้วยกัน เราก็จะมีความสุขกันเหมือนครอบครัวอื่นๆ”

17 ปีของเหมี่ยน นาย ในการจากบ้านเกิดมา เขาไม่เคยได้กลับไปอีกเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือนรั้วบ้านของเขาก็อาจเป็นท้องทะเลไกลสุดลูกหูลูกตา มีหลังคาหลบแดดฝนเป็นหลังคาเรือ มีสมาชิกครอบครัวกว่าสามสิบคนเป็นชายฉกรรจ์เพื่อนร่วมชาติผู้ใช้แรงงานเฉกเช่นเดียวกับเขา อยู่กินกันบนเรือประมง 4-5 วันต่อการออกเรือ 1 ครั้ง

หากอยู่บนเรือ เขาบอกว่าไม่มีโอกาสได้เหงา แม้จะคิดถึงครอบครัวเพียงใด แต่นอกจากรีดเม็ดเหงื่อออกไปกับงานประมงแล้ว ครอบครัวลูกเรือประมงก็จะได้นั่งคุยหรือร้องเพลงร่วมกันเพื่อพักผ่อน-ฆ่าเวลา เพื่อรอเวลาใช้แรงต่อไปจนกระทั่งเรือขึ้นฝั่ง “ไม่ใช่ว่าเราคนเดียวที่ห่างเหินครอบครัวมา ทุกคนมันก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ไอ้เหงาก็มีบ้าง แต่ทำงานแล้วก็ไม่มีเวลาเหงา”

เขามีรายได้ตกเดือนละประมาณหนึ่งหมื่นบาท แต่เมื่อขาดการติดต่อกับครอบครัว เขาก็ไม่มีภาระให้ต้องส่งเงินไปดูแลใครเป็นพิเศษ การอาศัยอยู่ตัวคนเดียวนั้นทำให้เขาเสียแค่ค่าห้องพัก ค่าน้ำค่าไฟ และค่าปากท้องของตัวเอง

แม้ไม่มีภาระพิเศษ แต่ใช่ว่ารายได้ของเหมี่ยน นาย จะเป็นปกติเหมือนพนักงานบริษัทที่รับเงินเดือนตรงเวลาทุกสิ้นเดือน หลายครั้งที่เงินเดือนของเขาปรากฏเพียงตัวเลขในบัญชีค่าแรง เขาต้องทำงานต่อไปถึง 5-6 เดือนถึงได้ค่าจ้างเป็นเงินจริงๆ

ชีวิตวัย 49 ของเหมี่ยน นาย ที่ผ่านแดดผ่านฝนมา เขาบอกว่าตัวเองตอนนี้เป็นผู้อาวุโสที่สุดของลูกเรือประมงแล้ว เพราะลูกเรือส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยที่ 30 ปี แต่เขามักบอกกับคนอื่นๆ ว่า แม้เขาที่อาวุโสที่สุดก็ตาม แต่เรี่ยวแรงของเขายังดีเหมือนคนหนุ่ม เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุให้เขาต้องเกษียณตัวเองออกจากเรือไป

“เป็นพี่ใหญ่บนเรือ เหมือนจะต้องดูแลน้องๆ แต่เราไม่ต้องทำอะไร แม้ใจจริงอยากทำให้พวกเขา เช่นทำกับข้าวให้น้องๆ กินกัน แต่คนหนุ่มที่เหลือก็จะบอกเราว่าไม่ต้องทำอะไร ลุงนั่งเฉยๆ เดี๋ยวพวกเขาจัดให้ นี่อาจเป็นข้อดีของความแก่” เหมี่ยน นาย เล่าพลางยิ้มเห็นฟัน

เขาบอกว่าเวลาทำกับข้าวกินกัน นอกจากกับข้าวที่จ่ายตลาดขึ้นเรือไปด้วย บางครั้งปลาทะเลที่จับได้สารพัดปลาก็เอามายำกินกัน “ปลาอะไรก็ได้ แต่ต้องมีพริกใส่เยอะๆ เน้นเผ็ดไว้ก่อน ถ้าไม่เผ็ดไม่อร่อย”

เป็นลูกเรืออยู่กับทะเลมาค่อนชีวิต อะไรคือสิ่งที่เหมี่ยน นาย คิดฝันให้ตัวเอง เขาบอกว่า อยากกลับไปเจอลูก แล้วให้ลูกพาไปไหว้พระ “ที่ไหนก็ได้ที่มีดอกไม้สวยๆ”

 

พระเครื่องและหมวก

“พระนี้เพื่อนให้มา 10 กว่าปีแล้ว ก็เลยห้อยคอไว้ตลอด ผมรู้สึกว่าถ้าเราห้อยพระไปไหนมาไหนจะไม่มีอันตราย เวลาผมทำอะไรก็แล้วแต่ ผมจะมีสติ อย่างเวลาผมกินเหล้าก็จะกินให้เมามากไม่ได้ ส่วนหมวกใส่มา 3 ปีแล้ว รู้สึกว่าถ้าไม่ได้ใส่ จะไม่มั่นใจ บางทีก็ไม่มีแรงทำงาน หรืออาจจะรู้สึกมีอันตราย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ติดตัวก็มีสองอย่างที่ทำให้ผมสบายใจคือพระเครื่องกับหมวก”

สาวพม่าจากเมืองทวาย

แง แง

สาวพม่าจากเมืองทวาย วัย 26 ปี ปัจจุบันทำงานในโรงงานปลาทูน่ากระป๋อง ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร ครอบครัวของเธอมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เธอเป็นลูกคนที่สามที่กำลังแบกภาระค่าเล่าเรียนของน้องอีกสองคนที่กำลังเรียนชั้นประถมอยู่ที่ฝั่งพม่า ขณะที่ตัวเธอได้เรียนสูงสุดถึงชั้น ป.5

จากบ้านมา 4 ปี คงเหมือนกับเหตุผลของคนพม่าส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาใช้แรงงานในไทย เพราะมองไม่เห็นโอกาสและอนาคตในบ้านเกิดตัวเอง แง แง ก็เช่นกัน เธอบอกว่าที่ทวายไม่มีงานให้ทำที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ทั้งหมด

ขณะชีวิตที่เมืองไทย ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้าจึงว่ายวนอยู่ในโรงงาน เวลาที่เหลือคือการนอนพัก ส่วนวันหยุดสัปดาห์ละวัน เธอเลือกเรียนภาษาไทยที่ศูนย์เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานของเธอ

พี่ชายคนโตของเธอไปใช้แรงงานที่มาเลเซีย ส่วนเธอกับพี่สาวทำงานในโรงงานแห่งเดียวกัน แต่พี่ของเธอทั้งสองคนออกเรือนมีครอบครัวของตัวเองไปแล้ว แม้พ่อซึ่งเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แม่ซึ่งไม่ได้ทำงาน พร้อมน้องอีกสองคนในวัยเรียน แง แงก็รับช่วงดูแลค่าใช้จ่ายต่อ

“ตอนที่พี่สาวแยกไปมีสามี เราก็น้อยใจบ้าง เพราะว่าทำงานในไทยก็อยู่ด้วยกันมาตลอด แต่ตอนนี้ไม่เป็นไรแล้ว เพราะคิดถึงครอบครัว อยากส่งเสียให้น้องเรียนจบให้ได้ ถ้าเราจะไปมีครอบครัวอีกคน ก็จะไม่มีใครหาเงินช่วยที่บ้าน” แง แง อธิบายสถานะชีวิตตัวเอง

เธอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับทวาย-บ้านของเธอว่า คนไทยหลายคนอยากไปเที่ยวทวายเพราะคิดว่าเป็นเมืองติดทะเล สวยงาม แต่เธอไม่เคยได้ไปไหนเลย เพราะหมดเวลาไปกับการช่วยเหลือที่บ้านทำงานและเรียนหนังสือ เธอเลยไม่รู้ว่าที่ว่าสวยคือตรงไหนของทวาย ถ้าเธอมีเงินเหลือมากพอ เธอจะกลับไปดูว่าทวายบ้านเธอตรงไหนสวยที่สุด และจะพาแม่กับน้องไปเที่ยวไหว้พระด้วยกัน ตั้งแต่เกิดมาเธอบอกว่ายังไม่เคยได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย

พูดถึงเรื่องเรียน เธอบอกว่า ถ้าไม่ต้องทำงานหาเงินส่งที่บ้าน เธออยากเรียนกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้

“เช่นตอนนี้เราเป็นแรงงาน ก็ควรรู้กฎหมายแรงงาน ถ้าบริษัททำไม่ถูกกฎหมาย เราจะได้ช่วยแก้ไข แต่บริษัทจะยอมรับหรือไม่ก็ค่อยว่ากันอีกเรื่อง”

แต่ถ้าไม่ต้องทำงานในโรงงาน เธอบอกว่าการรู้กฎหมายก็เอาไปช่วยเหลือคนอื่นได้ เช่น อาชีพทนายความ หรือครูสอนหนังสือ เพราะการรู้หนังสือนอกจากจะไม่ถูกใครหลอกได้ง่ายๆ แล้ว ยังสามารถช่วยคนที่ไม่รู้หรือกำลังลำบากได้ แต่ถ้าเราลำบากแล้วเราไม่รู้อะไรเลย นอกจากช่วยใครไม่ได้ ก็อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้เช่นกัน

แง แง สูดหายใจเข้าลึกๆ เต็มปอดราวกับว่าที่มหาชัยมีอากาศปลอดโปร่ง เปล่าหรอก, อาจเป็นความพยายามที่จะฮึดสู้ชีวิตต่อไป แม้จะเลือกอะไรไม่ได้ก็ตาม

เศษผ้านุ่งของพ่อแม่

เศษผ้านุ่งของพ่อแม่

“ตอนออกจากบ้านมาทำงานที่ไทย แม่ตัดผ้าที่พ่อกับแม่ใช้นุ่งให้เอาติดตัวไว้เป็นที่ระลึก เราเก็บไว้ที่หมอน เพื่อให้รู้สึกว่ามีพ่อกับแม่อยู่ด้วยเสมอ หรือไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเราไปเจออันตราย อย่างน้อยก็จะได้รู้สึกว่ามีคนที่เรารักอยู่ด้วยกัน”

ละ ยอง ซู

ละ ยอง ซู

เดินทางหนีความลำบากจากบ้านเกิดในเมืองตะโทง รัฐมอญ ประเทศพม่า เข้ามาหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 ละ ยอง ซู ได้โอกาสทำงานในโรงงานทำขนมหวานใน จ.สมุทรสาคร

แต่ความที่ร่ำเรียนปริญญามาด้านครู เขาทำขนมอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ตัดใจออกมาหางานใหม่ และเหมือนฟ้าฝนจะเป็นใจ ศูนย์การเรียนเด็กแรงงานข้ามชาติ ในวัดเทพนรรัตน์ เมืองมหาชัย เปิดหาครูพม่าเข้ามาสอน เขาตัดสินใจไปสมัครโดยไม่ลังเล

“เราพี่น้องมีตั้ง 5 คน ตอนเป็นครูที่พม่า ได้ค่าจ้างแค่เดือนละ 2,000 บาท ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว เราเรียนมาเป็นครู สอนได้ทุกวิชา เวลาอยู่กับเด็กๆ มีความสุข เพราะเป็นสิ่งที่ใจรัก เราอยากสอนสิ่งที่เรารู้ให้เด็ก การทำงานโรงงานเหมือนหลงทางในความมืด แต่โรงเรียนคือแสงสว่างของเรา”

ครูละ ยอง ซู เล่าเปรียบเทียบการสอนในพม่ากับไทยกับว่า ที่พม่าเด็กๆ เรียนเสร็จพอกลับถึงบ้านจะมีพ่อแม่ช่วยดูแลหรือให้อ่านหนังสือทำการบ้าน แต่ที่ไทย เด็กๆ ลูกแรงงานข้ามชาติพอออกจากโรงเรียน กลับบ้านไปก็ไม่มีใครดูแล เพราะพ่อแม่ยังอยู่ในโรงงานหรือไม่ก็อยู่บนเรือประมง ครูก็ไม่สามารถตามไปดูแลได้ทั้งหมด

“เราเป็นครู ก็อยากให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือให้ต่อเนื่อง แต่ลูกแรงงานข้ามชาติหลายคน บางทีปีนี้อยู่ที่นี่ แต่ปีหน้าจะอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะพ่อแม่เด็กอาจจะไปหางานทำที่ใหม่ เด็กก็ต้องย้ายตามพ่อแม่ไป ทำให้เสียโอกาสทางการเรียน หรือเด็กบางคนเรียนไม่จบก็อาจต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงิน”

ครูละ ยอง ซู ฉายความคิดอันสว่างไสวว่า แรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทยล้วนลำบากทั้งนั้น แต่อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยดูแลอนาคตเด็กด้วย ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือความลำบากขนาดไหน แต่พ่อแม่ต้องช่วยดูแลอนาคตเด็กร่วมกับครู ที่ของเด็กไม่ควรอยู่ในโรงงาน เด็กควรอยู่ในโรงเรียน

ถ้าละ ยอง ซู เป็นผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจได้ เขาบอกว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยการให้สวัสดิการเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลถึงเรียนจบ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ ฟรีทั้งหมด

“ตอนนี้ปัญหาคือทุกคนยากจน ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายค่าต่างๆ ถ้าการศึกษาของลูกฟรี พ่อแม่ก็ไม่ต้องลำบาก”

ภาพถ่ายพ่อแม่

“รูปพ่อกับแม่เราเอาติดตัวไว้ตลอด ตั้งแต่เรายังเด็ก พ่อบอกว่าในอนาคต ถ้าเราเป็นครู ต้องสอนให้คนอื่นรู้มากกว่าเรา คำของพ่อนี้อยู่ในใจเราตลอดเวลา เมื่อเราจากบ้านจากพวกเขามา เราจึงพกรูปเขาไว้เผื่อเวลาคิดถึง”

มิน โก

มิน โก

 

จากเด็กหนุ่มเมืองพะโค วัย 14 ปี เข้ามาหางานรับจ้างก่อสร้างในไทย แบกอิฐแบกปูนอยู่นานถึง 7 ปี จึงเปลี่ยนงานมาเป็นหนุ่มโรงงานลูกชิ้นในเมืองมหาชัย กระทั่งผ่านไปอีก 12 ปี มิน โก จึงได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างให้เป็นหัวหน้าคนงานในโรงงาน ดูแลลูกน้องเพื่อนร่วมชาติพม่ากว่า 40 ชีวิต

ครอบครัวของมิน โก มีด้วยกัน 5 คน หลังจากแม่เสียชีวิตไป พวกเขาพาพ่อย้ายเข้ามาทำงานที่ไทยทุกคน แต่ละคนอาศัยในห้องพักคนงานของโรงงาน

มิน โก เล่าว่า ความไว้วางใจที่เขาได้รับจากนานยจ้างเกิดจาก นายจ้างสอนให้เขาทำงาน และเขาก็ไปสอนคนอื่นๆ ต่อจนทุกคนรู้งาน  เขาถึงค่อยๆขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้

“ผมเป็นหัวหน้าที่ต้องดูแลลูกน้องทุกคน นอกจากสอนงานให้ บางครั้งที่ลูกน้องไม่สบายผมก็ต้องไปดูแล พาไปหาหมอหรือหายาให้กิน ทำไมต้องดูแล เพราะผมคิดว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน เวลามาทำงานหากินที่ไทย ทุกคนมาด้วยความลำบาก ถ้าชีวิตสบายดีแล้วคงไม่มา เพราะฉะนั้นมีอะไรก็ต้องช่วยๆ กัน ผมในฐานะคนมาก่อนก็ต้องสอนคนที่เพิ่งมาใหม่ เวลาทำงานจะได้ไม่เกิดอันตราย ผมจะคิดถึงตัวเองเมื่อก่อนที่เวลามีปัญหาแล้วไม่รู้จะขอให้ใครช่วย ผมสงสารคน ถ้าเราไม่อยากให้มีปัญหา เราต้องรู้จักช่วยคนอื่น”

การได้อยู่ในโรงงานที่มีนายจ้างเข้าใจและให้เกียรติคนงาน ทำให้มิน โก รู้สึกว่าเขาต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และรู้จักแอ่นอกรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาจากความบกพร่องในการดูแลของเขา และที่ผ่านมายังไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่นายจ้างกับลูกจ้างมีปัญหากัน

“ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับการทำงาน เวลาไม่เกิดปัญหา ผมก็ดีใจ ถ้านายจ้างชม ผมก็มีความสุข ผมคิดว่านายจ้างก็เหมือนพี่น้องผมเช่นเดียวกัน ถ้านายจ้างดูแลผมดี ผมก็ต้องดูแลลูกน้องคนอื่นๆ ให้ดีเหมือนกัน เช่น เวลาลูกน้องไม่สบาย ผมทิ้งเขาไว้ไม่ได้ เพราะเขาเพิ่งมาไทยยังไม่รู้ว่าต้องไปหาหมอที่ไหน และภาษาก็ไม่รู้เรื่อง ผมปฏิเสธพวกเขาไม่ได้”

ติดอยู่เรื่องเดียวสำหรับมิน โก คือรายได้กับค่าครองชีพปัจจุบันไม่สอดคล้องกัน เขาบอกว่า ตอนนี้แม้จะได้ค่าแรงวันละเกือบ 400 บาท แต่ก็ไม่พอใช้อยู่ดีถ้าบวกค่าเล่าเรียนของลูกไปด้วย

มิน โก มีลูกชายวัย 8 ขวบที่เกิดในไทย ตอนนี้เขาส่งลูกกลับไปอยู่กับบ้านแม่ยายที่พม่าเพื่อให้เรียนภาษาพม่าจะได้ไม่ลืม เพราะภาษาไทย เขาจะเป็นคนสอนเองอยู่แล้ว

“อนาคตถ้าลูกผมอ่านหนังสือไม่เป็น เขียนไม่เป็น มันจะลำบากมาก ผมคิดว่าเวลานี้ให้ไปเรียนที่พม่าก่อน พอโตขึ้นค่อยกลับมาเรียนที่ไทยก็ได้”

เขาตั้งความหวังกับลูกชายไว้ว่า เมื่อโตขึ้น เขาอยากให้มีอาชีพที่สบาย ไม่อยากให้ลำบากเหมือนพ่อ ถ้าเลือกได้ในอนาคต เขาคิดว่าเมืองไทยน่าอยู่กว่า แม้บ้านพ่อตาแม่ยายอยากให้ลูกไปอยู่ที่พม่าก็ตาม

ลูกชาย

“ผมตั้งชื่อให้ลูกว่า ซาย เมน โบ่ หมายถึงผู้มีอำนาจ เขาเคยบอกผมว่าโตขึ้นเขาอยากเป็นหมอ ผมก็อยากให้เขาได้เป็นหมอจริงๆ เพราะจะได้ไปช่วยคนอื่นที่ลำบากกว่า”

อดุ๊ก เยอ

อดุ๊ก เยอ

เด็กหนุ่มชาวมอญเกิดและเติบโตท่ามกลางแรงงานพม่าที่เข้ามาค้าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยและอาศัยอยู่กันในย่านมหาชัย พ่อของอดุ๊กเคยขับรถรับส่งคนพม่าข้ามมาหางานฝั่งไทย ข้ามไปข้ามมาจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พ่อของอดุ๊กไม่เหลือเงินติดตัวสักบาท จึงตัดสินใจปักหลักอยู่เมืองไทย ไม่กลับไปพม่าอีก แม้ไทยจะเจอพิษต้มยำกุ้งขนาดไหน แต่พวกเขาคิดว่าอย่างน้อยฝั่งไทยก็ยังพอมีงานจ้างพวกเขาทำงาน ดีกว่าฝั่งพม่าที่ไม่มีงานเลย

“พ่อทำงานรับจ้างในไทยจนเจอแม่ที่เป็นคนมอญทำงานในโรงงานเหมือนกัน จนในที่สุดผมก็เกิดฝั่งไทย”

อดุ๊กในวัย 18 เพิ่งได้กลับไปที่บ้านเกิดของพ่อเมื่อไม่นานมานี้ เขาเล่าว่าบ้านเขาอยู่ในเมืองอันเนียง รัฐมอญ เดินทางจากไทยข้ามผ่านแม่สอด จ.ตาก ไปอีกราว 8 ชั่วโมง เปลี่ยนรถประมาณ 3 ต่อก็ถึงบ้าน

“บ้านพ่อผมเดินทางลำบากครับ ถนนยังทุรกันดาร ผมไปประมาณหนึ่งอาทิตย์กับพ่อสองคน ส่วนแม่เฝ้าร้านขายของชำของเถ้าแก่ที่มหาชัย คนที่บ้านพ่อยังทำสวนทำนาเหมือนคนสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะปลูกยางกัน แล้วก็มีเลี้ยงควายบ้าง ผมดูแล้วก็น่าอยู่ดี ผมฟังภาษามอญได้ แต่พูดได้ไม่ชัดเหมือนคนมอญ ให้อยู่ตลอดคงไม่เอา ผมอยากอยู่เมืองไทยมากกว่า เพราะผมเกิดที่ไทย ใช้ชีวิตแบบคนไทย แม้สิทธิจะต่างกัน แต่ผมคิดว่าผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง”

หนุ่มมอญเกิดและเติบโตในไทย มีหัวใจใส่สตั๊ด เขาหลงใหลการเล่นฟุตบอลขนาดว่าตื่นมากลางดึกใส่รองเท้าออกไปซ้อมบอลคนเดียวที่ลานโล่งข้างบ้านเกือบทุกวัน

“ตอนเด็กผมเป็นคนผอมแห้ง ถูกรังแกบ่อย ประมาณ ป.3 เพื่อนเอากระดาษมาขยำทำเป็นก้อนกลมแทนลูกบอลเล่นกัน ผมเป็นประตูให้ รู้สึกชอบ พอขึ้น ม.1 รู้สึกว่าการเป็นประตูเจ็บตัว เลยหันมาเตะบอลบ้าง ผมฝึกทุกวัน ดูจากยูทูบ ฝึกเช้าฝึกเย็น เคยเล่นจนหัวแตกแต่ก็ยังรักการเล่นฟุตบอลอยู่ ผมเคยฝันว่าอยากติดทีมชาติ ไม่ว่าจะทีมไทยหรือพม่าก็ได้ ขอแค่ได้เล่น”

นอกจากเล่นฟุตบอล อดุ๊กยังชอบเรียนประวัติศาสตร์ เขาเล่าว่า ตอน ป.1 ครูพาไปดูหนังเรื่องพระนเรศวร ที่โรงหนังในตลาด เขาดูเสร็จกลับมาแล้วเกิดติดใจ เลยไปหาซื้อหนังสือแนวนี้มาเก็บไว้เต็มบ้าน

“ตอนนั้นดูแต่รูปครับ ยังอ่านไม่ออก แต่ถ้าเห็นตามแผงหนังสือจะซื้อมาเลย ดูรูปอย่างเดียวก็สนุกแล้ว จนมาอ่านออก ผมดูทีไรก็ขนลุกทุกทีครับ มันก็เหมือนศึกษาไปด้วยในตัว ว่าทำไมพม่ากับไทยรบกันตลอด แล้วช่วงหลังก็มาเป็นมิตรกัน ผมอยากเข้าใจที่มาจากที่เคยรบกันมาเป็นมิตรกันได้อย่างไร ผมต้องสืบค้น ผมอยากเป็นคนหนึ่งที่ค้นหาความจริงว่าสมัยก่อนเป็นอย่างไร”

ละแวกบ้านของอดุ๊กเต็มไปด้วยแรงงานพม่า ในขณะที่คนหนุ่มอย่างเขาได้เล่าเรียนหนังสือ เขามองเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่ต้องไปใช้แรงงานแทนการเรียนด้วยความหวัง

“เพื่อนผมที่โตมาด้วยกัน เล่นมาด้วยกันเขาเคยเรียนหนังสือ แต่เพราะครอบครัวเขาลำบาก เขาเลยต้องออกไปทำงานช่วยพ่อแม่หาเงิน ผมสงสารเขานะครับ เพื่อนๆ ผม เขาทำงานมาเหนื่อยๆ ก็มานั่งดื่มเหล้ากัน แล้วก็ไปนอน ตื่นเช้ามาก็ไปทำงาน วัฏจักรเขามีแค่นี้ เขามีวันหยุดแค่วันเดียว ถ้าวันไหนหยุดเต็มวัน เขาก็จะเล่นบอล ตะกร้อ เล่นเสร็จก็ไปดื่มต่อ และตื่นเช้าไปทำงาน ผมอยากให้เขามาเรียนหนังสือมากกว่า เพราะเขาจะได้เข้าใจสิทธิหลายๆ อย่างที่เขามีมากขึ้น และเขาจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป”

รองเท้าสตั๊ด เก่า สีเหลือง

รองเท้าสตั๊ด

“ชีวิตผม มีรองเท้าเล่นฟุตบอลมาทั้งหมด 4 คู่ ผมใส่มันมากกว่าใส่รองเท้าแตะหรือเดินเท้าเปล่าด้วยซ้ำ”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save