fbpx
การเมืองสหรัฐฯ หลัง RBG : ฝันร้ายของลิเบอรัล?

การเมืองสหรัฐฯ หลัง RBG : ฝันร้ายของลิเบอรัล?

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

ภาพจาก The Supreme Court of the United States

 

แล้วเรื่องสยองที่ลิเบอรัลทั่วสหรัฐอเมริกา (และทั่วโลก) หวาดเกรงที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้

รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ‘ขุ่นแม่’ ผู้พิพากษาศาลสูงสุด วัย 87 ปี นางสิงห์ลิเบอรัลแห่งระบบยุติธรรมสหรัฐฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในการขยับเส้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เท่าเทียมเป็นธรรมมากขึ้นตลอดชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะในช่วง 27 ปีบนเก้าอี้ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ได้เสียชีวิตลงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พฤศจิกายน เพียงเดือนครึ่งเท่านั้นเอง

เปิดทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่สาม หลังจากแต่งตั้งนีล กอร์ซุช และเบร็ตต์ คาวานอห์ สองผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมไปแล้วเมื่อปี 2017 และ 2018

 

ศาลสูงสุดสหรัฐประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลสูงสุดจำนวน 9 คน ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต (หรือจนกว่าเจ้าตัวลาออกเอง) ปัจจุบันมีผู้พิพากษาศาลสูงสุดสายอนุรักษนิยม 5 คน และสายเสรีนิยม 4 คน

ประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอชื่อแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด โดยวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง ในขณะนี้พรรครีพับลิกันครองอำนาจทั้งในทำเนียบขาวและวุฒิสภา ทรัมป์จึงกล้าเสนอชื่อผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเต็มที่ เพื่อเอาใจฐานเสียงอนุรักษนิยมของเขา โดยมีมิตช์ แมคคอนเนลล์ หัวหน้าเสียงข้างมากพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา เป็นคนคุมเกมการรับรองในสภา

กระนั้น การเข้ารับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้จบง่ายๆ เพียงแค่ประธานาธิบดีเสนอชื่อใคร แล้วคนนั้นจะได้เป็นชัวร์ๆ นะครับ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบจากตัวแทนประชาชน สาธารณะ และสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกระบวนการชี้แจงและตอบคำถามต่อหน้าคณะกรรมาธิการยุติธรรมของวุฒิสภา

ทุกเรื่องจะโดนขุดค้นขึ้นมาถามจนหมดเปลือก ตั้งแต่ประวัติครอบครัว การศึกษา และการทำงาน, เปเปอร์ที่เคยเขียนสมัยเรียน, บทสัมภาษณ์ในอดีต รวมถึงคำพิพากษาเก่าๆ ของเจ้าตัว อย่างครั้งล่าสุดที่ทรัมป์เสนอชื่อเบร็ตต์ คาวานอห์ ชั้นกรรมาธิการใช้เวลาถึง 4 วันเต็ม รวม 40 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว

ในครั้งก่อน แม้ว่าการเสนอชื่อคาวานอห์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องความใกล้ชิดกับการเมืองสายรีพับลิกัน ความอื้อฉาวเรื่องเพศ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ จนกระบวนการรับรองในวุฒิสภาดำเนินไปอย่างหนักหน่วงดุดันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้าย พรรคเดโมแครตก็ต้านไม่อยู่ วุฒิสภาก็ให้การรับรองจนได้

เหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์สามารถผลักดันคนอื้อฉาวได้สำเร็จ เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 พรรครีพับลิกันใช้เสียงข้างมากในวุฒิสภาปรับเปลี่ยนกฎเรื่องการเสนอปิดอภิปรายในกระบวนการรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดจากเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด 60 เสียง เหลือเพียงเสียงข้างมากธรรมดา 51 เสียง ทำให้พรรคคู่แข่งแทบไม่เหลือเครื่องมือในการขัดขวางกระบวนการรับรองผู้พิพากษาศาลสูง ตอนนี้สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถทำ filibuster หรือใช้ ‘เทคนิคอภิปรายไม่ยอมจบ’ ได้อีกแล้ว

 

การเมืองเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเดินมาถึงจุดขัดแย้งรุนแรงที่สุดในช่วงปลายรัฐบาลบารัค โอบามา

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (ปีเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ฮิลลารี คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ แข่งขันกัน) อันโทนิน สกาเลีย ผู้พิพากษาศาลสูงสายอนุรักษนิยม เสียชีวิตอย่างไม่คาดคิด กลายเป็นว่าโอบามารับส้มหล่นได้เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงคนที่สามก่อนที่จะหมดวาระ คล้ายๆ กับที่ทรัมป์มีโอกาสในตอนนี้

แต่ตอนนั้นพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาออกมาตีกัน ไม่ยอมนำชื่อของเมอร์ริค การ์แลนด์ ผู้พิพากษาที่โอบามาเสนอ เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยอ้างว่าใกล้เลือกตั้งใหม่แล้ว ควรรอให้ประชาชนตัดสินในสนามเลือกตั้งก่อน ฝ่ายเดโมแครตก็โกรธมาก เพราะไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้มาก่อน โจมตีว่ารีพับลิกันแค่หาข้ออ้างหน้าด้านๆ เพราะโอบามาก็มาจากประชาชนอยู่แล้ว และยังอยู่ในตำแหน่งอีกเป็นปี มีความชอบธรรมที่จะเสนอชื่อโดยสมบูรณ์

การต่อสู้รอบนั้นมีความสำคัญเพราะสกาเลียเป็นอนุรักษนิยมตัวพ่อ แต่ผู้พิพากษาที่จะมาแทนเขาจะถูกตั้งโดยประธานาธิบดีเสรีนิยมอย่างโอบามา ถ้าครั้งนั้นทำได้สำเร็จก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ดุลอำนาจของศาลจะเปลี่ยนจากศาลอนุรักษนิยมเป็นศาลเสรีนิยม เพราะหลังจากสกาเลียจากไป เสียงผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมกับสายเสรีนิยมเสมอกันที่ 4:4 คนใหม่ที่โอบามาจะตั้งเข้ามาย่อมเป็นเสียงที่ 5 หรือเสียงตัดสิน

ท้ายที่สุด ฝ่ายรีพับลิกันก็สามารถเตะถ่วงการรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดรอบนั้นได้สำเร็จ เดโมแครตเองก็ไม่ได้สู้จนตัวตาย เพราะคิดว่าคลินตันน่าจะเอาชนะทรัมป์ได้สบายๆ จนสุดท้ายทรัมป์ก็ช็อกโลกยึดทำเนียบขาวได้แบบหักปากกาทุกเซียน ศาลเสรีนิยมจึงไม่เกิด มิหนำซ้ำยังกลับ “หันขวา” หนักหน่วงกว่าเดิม

พอทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งก็เสนอชื่อนีล กอร์ซุช เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ เรียกว่าได้สกาเลียคนใหม่กลับไปแทนคนเก่า เพราะกอร์ซุชเคยได้รับการจัดลำดับจากงานศึกษาให้เป็นเบอร์สองของผู้พิพากษาที่มีความเป็นสกาเลียสูงที่สุด!

เขาเป็นผู้พิพากษาสายตีความตามตัวบทดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด โดยไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาควรตีความนอกเหนือไปไกลกว่าลายลักษณ์อักษรจนกลายเป็นผู้สร้างกฎหมายใหม่เสียเอง ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติของผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม ต่างจากสายเสรีนิยมที่เชื่อว่าการตีความกฎหมายต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการเขียน และเงื่อนไขทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้พิพากษาจึงมีส่วนสำคัญในการขยับเส้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของรัฐ

จากนั้นอีกหนึ่งปี ศาลสูงสุดสหรัฐก็สั่นสะเทือนอีกรอบ เมื่อแอนโทนี เคนเนดี ประกาศเกษียณอายุตัวเอง ครั้งนี้สำคัญกว่าคราวสกาเลีย เพราะเป็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่แทนที่เคนเนดี ซึ่งเป็นผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมที่น่าจะเอนมาทาง ‘กลาง’ ที่สุดแล้วในกลุ่มเสียงข้างมากสายอนุรักษนิยม 5 เสียง

บทบาทสำคัญของเคนเนดีในศาลสูง คือ การเป็น swing voter ในคดีสำคัญหลายคดี เขาย้ายข้างมาโหวตร่วมกลุ่มกับสายเสรีนิยม (โดยเฉพาะเรื่องการทำแท้ง สิทธิคนรักเพศเดียวกัน โทษประหารชีวิต) ช่วยรักษาสมดุลให้การเมืองอเมริกาในจังหวะการเมืองสำคัญๆ หลายครั้ง

บทบาท swing voter เป็นบทบาทที่เขารับไม้ต่อ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) มาจากซานดรา เดย์ โอ’คอนนอร์ ผู้พิพากษาสตรีคนแรกของศาลสูงสุด ที่เกษียณตัวเองไปเมื่อปี 2006

แต่แล้วในที่สุด ทรัมป์ก็ผลักดันตั้งคาวานอห์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้สำเร็จ เรียกว่าเอาสาย “ขวาหนักแน่น” มาแทน “ขวากลาง” ยกระดับความเอียงขวาในศาลสูงไปได้อีกขั้นใหญ่

พ้นจากยุคเคนเนดี เลยกลายเป็นว่า จอห์น โรเบิร์ตส์ ประธานศาลสูงสุด ถูกคาดหวังให้ต้องหันมารับบท swing voter แทน แม้ว่าอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองและสังคมของโรเบิร์ตส์นับว่า ‘ขวา’ กว่าเคนเนดี และ ‘ค่ากลาง’ ของศาลสูงสุดไม่น้อย

ด้วยดุลอำนาจภายในศาลสูงสุดขณะนี้ ฝ่ายเสรีนิยมจึงสวดมนต์ภาวนาทุกคืนไม่ให้ ‘ขุ่นแม่’ กินสเบิร์ก ที่เข้าโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งอยู่เป็นระยะๆ เป็นอะไรไปก่อนที่โจ ไบเดน จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนั้น สตีเฟน เบรเยอร์ ผู้พิพากษาสายเสรีนิยมอีกคนก็อายุแตะหลัก 80 แล้วเช่นกัน

 

และแล้วสิ่งที่เหล่าลิเบอรัลวิตกกังวลก็เป็นจริง ในที่สุดกินสเบิร์กอำลาโลกไปอย่างสง่างาม ท่ามกลางความอาลัยของทุกขั้วความคิด จากผู้พิพากษาที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในวงการยุติธรรมกลายเป็นลิเบอรัลไอคอนของคนรุ่นใหม่ในช่วงท้ายของชีวิต

แต่เชื่อว่าการรำลึกอาลัยจะกินเวลาเพียงแค่อึดใจ แล้วสงครามการเมืองศึกใหม่จะเปิดฉากอย่างทันควัน

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่จะมีความสำคัญทางการเมืองอย่างมหาศาล ถ้าทรัมป์ตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ได้สำเร็จ ดุลอำนาจระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยมในศาลสูงสุดก็จะเปลี่ยนจาก 5:4 เป็น 6:3

ศาลสูงสุดสหรัฐจะกลายเป็น “ศาลขวา” โดยสิ้นเชิงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คราวนี้ swing voter จะไม่มีความหมายอีกต่อไป แตกต่างจากวิถีร่วมสมัยที่คะแนนเสียงในเรื่องสำคัญทางการเมืองมักจะยันกันอยู่ประมาณ 5:4 โดยมี swing voter สักคนหนึ่งคอยย้ายข้าง เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้การเมืองมีผู้แพ้ตลอดกาลและผู้ชนะตลอดกาล

การเมืองเป็นเรื่องตลก บางครั้งขำขัน แต่บางครั้งขำขื่น การเมืองเรื่องผู้พิพากษาศาลสูงสุดรอบนี้ มีโอกาสทำให้แม้ทรัมป์จะเป็นผู้นำ outlier ที่ครองอำนาจป่วนสหรัฐและโลกเพียงแค่ 4 ปี แต่ legacy ของเขาอาจดำรงอยู่ในสังคมการเมืองอเมริกาต่อไปอีกยาวนานหลายทศวรรษ (ดูอย่างผู้พิพากษาศาลสูงสุดสองคนแรกที่ทรัมป์แต่งตั้งมีอายุห้าสิบต้นทั้งสองคน คือ 50 ปี และ 53 ปี อยู่ได้อีกยาวระดับ 30 ปี)

จินตนาการไม่ออกเลยว่า ตุลาการภิวัตน์ภายใต้อุ้งมือทรัมป์จะสยองขวัญขนาดไหน และนี่คือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่เหล่าเสรีนิยมหวาดกลัวยิ่งกว่าโควิด

หลายคนคิดว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้หมดความน่าตื่นเต้นไปแล้ว พร้อมกับอนาคตของทรัมป์ที่จบลงพร้อมโควิดและความอื้อฉาวอื่นๆ แต่การเมืองเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่จะถูกปลุกปั่นเติมความร้อนแรงให้กับการเมืองสหรัฐในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีเพิ่มอีกหลายดีกรี

และรอบนี้จะเป็นความร้อนแรงระดับนรก.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save