fbpx

หล่อ/สวยกว่าได้เปรียบ?: ‘หน้าตา’ กับการสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ ระหว่างกัน

เราอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือกับเพื่อนว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเราอยากเข้าไปทำความรู้จักบุคคลหนึ่ง หน้าตาน่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบลำดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่เลือก

แล้วแค่หน้าตาอย่างเดียวเพียงพอไหมในการปฏิสัมพันธ์ที่จะทำให้คนเกิดความรู้สึกไว้วางใจ (Trust) ระหว่างกัน หรือว่าพวกเขาต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์

ในสังคมไทย เมื่อเด็กต้องห่างจากพ่อแม่เพื่อไปโรงเรียน ไปเข้าสังคม หรือไปที่สาธารณะที่เจอคนอื่นมากขึ้น เด็กมักจะถูกสอนว่า “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” โดยพ่อแม่และปู่ย่าตายายมักจะหยิบยกเรื่องการไม่รับขนม การไม่ไปไหนมาไหนกับคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งเรื่องการลักพาตัวเด็กมาพูดอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เราย่อมเคยผ่านตากับคำสอนทำนองว่า “อย่ามองคนแต่ภายนอก” ซึ่งในสำนวนของฝรั่งก็มีคำพูด “Don’t judge a book by its cover” ที่สอนถึงการไม่ให้ตัดสินกันจากสิ่งที่เห็น

คำสอนข้างต้นของวัฒนธรรมไทยและตะวันตกมีจุดร่วมกันที่น่าสนใจคือ ความไว้วางใจ (Trust) กับรูปลักษณ์ (Apperance) นั้นมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจเรื่องหน้าตาของผู้คนกับความไว้วางใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทางสังคม และภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี หน้าตาเข้าไปมีบทบาทบนโลกออนไลน์และส่งผลต่อความไว้วางใจอย่างไรบ้าง

หน้าตาและความงามในทางสังคมวิทยา

หน้าตาจัดเป็นรูปลักษณ์ภายนอก (Physical Apperances) แบบหนึ่งที่ใช้เป็นจุดสังเกตความแตกต่างกันของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากรูปลักษณ์ภายนอกอื่น เช่น เชื้อชาติ สีผิว สีตา ความสูง หรือรูปร่าง ในทางสังคมวิทยา รูปลักษณ์หน้าตา อาจจะจำแนกมุมมองได้ 4 แบบ คือ

หนึ่ง ความงามที่ปรากฎผ่านรูปลักษณ์หน้าตาปรากฏ จัดเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานะ (Status) อันได้รับมาจากโครงสร้างทางสังคม และในทางกลับกัน รูปลักษณ์หน้าตานี้เองได้ช่วยให้มนุษย์ขยับลำดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในโครงสร้างได้ [1] เช่น ในสังคมไทยและสังคมประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ สีผิวเป็นตัวช่วยสะท้อนภาพของชนชั้น การมีผิวขาวหรือผิวซีด (Pale Skin) แสดงถึงคนที่ไม่ได้อยู่ชนชั้นแรงงาน (Working Class) ต้องตรากตรำทำงานหนักท่ามกลางแดดฝน อยู่กับความยากจน แต่พวกเขาคือคนมีฐานะ ชีวิตสะดวกสบาย อยู่แต่ในร่ม และเป็นคนจากเมืองใหญ่ [2][3]

สอง ตามแนวคิดของ Catherine Hakim นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ความงามจัดเป็นทุนประเภทหนึ่ง คือ ทุนทางกามารมณ์ (Erotic Capital) เป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่แสดงและพัฒนาได้ด้วยทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ผ่านการบริโภค [4] ฉะนั้น คนจึงเพิ่มทุนทางกามารมณ์ด้วยวิธีปรับภาพลักษณ์ของตนเอง เพื่อทำให้ตนเองดูดี โดดเด่นขึ้น และได้รับโอกาสต่างๆ อาทิ การแต่งกาย การแต่งหน้า การสวมใส่เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งเข้าสถาบันเสริมความงาม ซึ่งความงามเหล่านี้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างเงินในการเข้าถึงทั้งสิ้น

สาม ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ใบหน้าช่วยให้มนุษย์สามารถประเมินทางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นความดึงดูด ความน่าไว้วางใจ อันตราย ความฉลาด และความมีอำนาจ อีกทั้งประเมินเพศสภาพ อายุ และอารมณ์ได้ ใบหน้าจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการบรรจุข้อมูลสำหรับการสื่อสารทางสังคม [5][6] ซึ่งบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพในส่วนนี้ชัดเจนขึ้น

สี่ ความแตกต่างกันในรูปลักษณ์นำไปสู่การเหมารวมกลุ่ม (Stereotype) ที่ผู้อื่นใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน ตัดสิน และแบ่งแยกคนออกจากกัน ขณะเดียวกันได้สร้างให้เกิดความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตัวเอง เป็นการสะท้อนตัวตนของเราขึ้นมา อย่างการเป็นคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในสังคมอเมริกัน จะถูกจัดว่าเป็นพวกผิวเหลือง ซึ่งต่างไปจากคนผิวขาวหรือคนผิวดำ ต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ด้วยการดูถูก เลือกปฏิบัติ และทำร้ายร่างกาย แต่อีกด้านหนึ่งก็มีอัตลักษณ์เฉพาะของความเป็นกลุ่มคนเอเชียที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ

หน้าตาและรูปลักษณ์จึงถูกนำมาใช้อธิบายและทำความเข้าใจมนุษย์ในเชิงความสัมพันธ์ การแสดงและการให้ความหมาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม

คนที่สวยหรือคนที่มีเสน่ห์ดึงดูด ได้เปรียบกว่าคนอื่นจริงหรือ?

งานศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่า คนที่สวยหรือคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดมักจะถูกคาดหวังและมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนทั่วไป เช่น ในโรงเรียน เด็กที่มีเสน่ห์ดึงดูดมักถูกคาดหวังจากครูให้ทำคะแนนได้มากกว่า และเมื่อมีความผิดเกิดขึ้น เด็กที่มีเสน่ห์ดึงดูดจะถูกตัดสินได้รับโทษน้อยกว่า หรือในพื้นที่การทำกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกลุ่มยินดีที่จะร่วมมือกับคนที่ดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่า โดยสำหรับผู้ชาย หากพวกเขามองเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ก็จะให้ความร่วมมือในกลุ่มมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงที่มองเห็นว่าตัวเองมีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่า กลับให้ความร่วมมือน้อยกว่า หรือในพื้นที่การทำงาน บุคคลที่ไม่มีความดึงดูดจะถูกจ้างงานและได้รับการเลื่อนขั้นน้อยกว่า อีกทั้งจะถูกพิจารณาว่าเป็นคนที่ใจดีน้อยกว่า ซื่อสัตย์น้อยกว่า ซึ่งส่งผลต่อความกดดัน [7] [8] [9] [10]

หน้าตาไม่ได้ส่งผลต่ออคติในเรื่องเล็กๆ น้อยเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในสารคดี Netflix ที่ชื่อ 100 Humans Life’s Questions. Answered. [11] ได้ฉายความได้เปรียบของหน้าตาและเสน่ห์ดึงดูด (Attractive) เช่นเดียวกัน โดยทดสอบสมมติฐานที่ว่า หน้าตาส่งผลต่อการตัดสินใจให้ต้องรับโทษมากน้อยแค่ไหน โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 100 คน หลากหลายเพศและต่างช่วงวัยทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้พิพากษา กำหนดบทลงโทษให้ผู้กระทำผิดจาก 3 เหตุการณ์อาชญากรรมที่มีความรุนแรงไม่เท่ากัน เช่น การค้ายาเสพติด การลักทรัพย์ตามบ้านเรือน และการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

การทดลองนี้แบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน กลุ่มที่ 1 จะได้ฟังสถานการณ์สมมติพร้อมเห็นหน้าผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าตาดีตามแบบฉบับพิมพ์นิยมของสังคมอเมริกัน เมื่อ 50 คน ฟังเรื่องจบจะต้องกำหนดบทลงโทษ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะได้ฟังสถานการณ์สมมติเดียวกัน แต่จะเห็นใบหน้าผู้กระทำความผิดที่ไม่เหมือนกับกลุ่มแรก คือ ภาพของบุคคลที่มีลักษณะทั่วไป ไม่ได้หน้าตาดีหรือมีเสน่ห์ดึงดูด หลังจากนั้นจะให้กำหนดบทลงโทษเช่นเดียวกัน ผลการทดลองพบว่า ในสถานการณ์เดียวกันแบบนี้ คนที่มีหน้าตาดีถูกกำหนดให้รับโทษน้อยกว่าคนหน้าตาไม่ดี เพราะคนมีอคติและเกิดการเหมารวมขึ้น กลายเป็นคนหน้าตาดีมีเอกสิทธิ์ (Privilege) ซึ่งในสารคดีนี้กล่าวว่ามันเป็นโชคทางศีลธรรม เหมือนกับการโยนเหรียญ ถ้าคุณหน้าตาดีก็จะกลายเป็นคนชั่วร้ายน้อยกว่าทันที

เพียงแค่เห็น ความไว้ใจก็บังเกิด?

การศึกษาด้านพฤติกรรมและการสร้างภาพสมอง (Neuroimaging) ยืนยันว่า รูปลักษณ์บนใบหน้า เช่น ลักษณะหน้าตา (Feature) สีผิว (Color) มีผลอย่างยิ่งต่อการที่คนจะไว้วางใจและร่วมมือกับผู้อื่น คนที่มีเสน่ห์ดึงดูดมักถูกมองว่าเป็นคนที่น่าไว้วางใจมากกว่า และดูเป็นคนซื่อสัตย์ ซึ่งทำให้คนเข้ามาร่วมปฏิสัมพันธ์เกิดการเพิกเฉยต่อความเสี่ยง นักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ว่า ยิ่งคนที่ใบหน้าแสดงอารมณ์ความสุขหรือยิ้มแย้มจะดูมีความน่าเชื่อถือกว่าคนที่ใบหน้าแสดงอารมณ์โกรธหรือเศร้า อีกทั้งคนที่มีใบหน้าเด็กและผู้หญิงจะได้รับความไว้วางใจสูงกว่า [12]

แท้จริงแล้วตั้งแต่เด็ก มนุษย์ก็สามารถตัดสินความน่าไว้วางใจได้จากการพิจารณารูปลักษณ์ของใบหน้า มีการทดลองให้เด็กอายุระหว่าง 5-10 ปี ได้ลงทุนให้เหรียญ (Token) กับผู้เล่น (Partner) คนอื่น ปรากฏว่า เด็กเลือกลงทุนให้เหรียญกับคนที่ดูน่าไว้วางใจมากกว่า ซึ่งทักษะการตัดสินใจระหว่างความสัมพันธ์ของความไว้วางใจกับความดึงดูดนี้มีการพัฒนาเรื่อยมาตลอดวัยเด็ก และจะเกิดในเด็กผู้หญิงสูงกว่าเด็กผู้ชาย [13] สำหรับหน้าตาที่ทำให้คนรู้สึกไว้วางใจหรือเป็นความประทับใจแรกเห็น (First Impression) คือ ใบหน้าที่เล็ก เรียบ ปากแต่งแต้มด้วยรอยยิ้ม และมีสัดส่วนของใบหน้ากว้างต่อสูงที่ต่ำ งานบางชิ้นศึกษาลึกลงไปอีกว่ารอยยิ้มนั้นต้องสัมพันธ์กับแววตาที่แสดงออก (Eye Expression) ถ้าแววตากับรอยยิ้มขัดแย้งกันจะเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้น [14] งานศึกษาหนึ่งได้ถอดลักษณะของใบหน้าที่น่าไว้วางใจออกมา ซึ่งเป็นใบหน้าที่คนมองหามาเป็นคู่ชีวิตเพื่อแต่งงานด้วย พบว่า ลักษณะของใบหน้านั้นจะต้องมีคิ้วที่อยู่สูงกว่าระดับกึ่งกลางของใบหน้า มีโหนกแก้มที่เด่นชัดเจน คางกว้าง และมีจมูกที่เรียว [15]

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใบหน้าว่าน่าไว้วางใจหรือไม่น่าไว้วางใจนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์อนุมานตามความลำเอียงทางวัฒนธรรม ใบหน้าที่เป็นแบบฉบับของวัฒนธรรมหนึ่งจะถูกให้ความไว้วางใจมากกว่าใบหน้าต่างวัฒนธรรม ของในคนวัฒนธรรมนั้นๆ และยังเป็นผลจากประสบการณ์ในอดีต หรือก่อร่างผ่านการเรียนรู้จากสื่อโทรทัศน์ หนังสือ หรือสื่อทางสายตา (Visual Media) ซึ่งงานจำนวนไม่น้อยพบว่าคนเราจะไว้วางใจคนที่มีใบหน้าเหมือนกับตัวเอง นั้นแสดงถึงการเป็นคนที่มีเชื้อชาติเดียวกันและน่าจะมีวัฒนธรรมเดียวกันด้วย งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยโอซาก้า พบว่า ความไว้วางใจของคนจะมีมากกว่า นอกจากมีหน้าตาคล้ายคลึงกันแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีเพศเดียวกันด้วย [16]

หน้าตากับการสร้างความไว้ใจในโลกออนไลน์

ปัจจุบันการทำความรู้จักแบบไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนกลายเป็นเรื่องทั่วไป แต่ก็นับเป็นความท้าทายสำคัญในเรื่องความไว้วางใจบนโลกออนไลน์ รูปภาพโปรไฟล์แทบจะกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนเสมือนจริงเพียงสิ่งเดียวของผู้ใช้แพลตฟอร์ม ผู้ใช้จึงต้องเลือกสรรรูปเพื่อเป็นการนำเสนอตัวเอง (Self-presentation) เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสนใจผ่านสายตา รู้สึกน่าไว้วางใจ และนิยมชมชอบ [17] The power of beauty: Be your ideal self in online reviews-an empirical study based on face detection. Journal of Retailing and Consumer Services, 67, 1-11. doi.org/10.1016/j.jretconser.2022.102975)) ดังนั้น รูปจะทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมความประทับใจและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

กิจกรรมออนไลน์ที่เด่นชัดที่สุดในการนำหน้าตามาใช้ คือ การหาคู่ (Dating) ผ่านแอปพลิเคชัน รูปได้กลายเป็นสื่อกลางด่านแรกก่อนการเริ่มการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พวกเขาอาศัยรูปโปรไฟล์ในการพิจารณากันจากข้อมูลที่จำกัด รูปลักษณ์จากรูปจะทำให้คนได้เริ่มทำความรู้จักกัน โดยคนเราใช้เวลาเพียงแค่ 33-110 มิลลิวินาที ในการตัดสินใจว่า ตนควรจะไว้วางใจใบหน้าที่ไม่คุ้นเคยที่เห็นผ่านตาหรือไม่ เมื่อได้ประเมินรูปโปรไฟล์ไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะบวกหรือลบแล้ว จะส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่อคำอธิบายในประวัติโดยทันที [18]

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งได้ศึกษาการใช้แอปพลิเคชันหาคู่บนโทรศัพท์แล้วพบว่า ถ้าฝ่ายที่เป็นเป้าหมาย (Target) มีรูปที่ดึงดูดใจ จะสามารถทำให้ฝ่ายผู้ล่า (Hunter) รู้สึกอยากที่จะฝากข้อความเอาไว้ แต่ถ้าระยะทางระหว่างตำแหน่งที่อยู่ของทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายเป้าหมายกับฝ่ายผู้ล่า) อยู่ห่างไกลกัน รูปที่ดึงดูดใจจะมีผลน้อยลงทันที นี่อาจจะเป็นที่มาที่ทำให้บางแอปพลิเคชันสามารถระบุพิกัดหรือรัศมีโดยรอบก่อนการค้นหา นอกจากนี้ การใช้รูปที่ดึงดูดใจจะส่งผลในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อผู้ใช้งานผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในฝ่ายผู้ล่าที่ตัวเองมีความดึงดูดใจน้อย จะมองหากลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะดึงดูดใจมาก ส่วนผู้ล่าที่ตัวเองดูดีดึงดูดใจสูงอยู่แล้ว กลับจะตรงกันข้าม บางงานยังพบว่า ข้อผิดพลาดของรูปโปรไฟล์อย่างการใช้รูปที่เบลอ ได้ส่งผลต่อความดึงดูดใจหรือความตั้งใจออกเดทที่น้อยลงด้วย [19] [20]

เมื่อรูปมีอิทธิพลต่อการทำความรู้จักกัน ผู้ใช้งานบางคนจึงสร้างโปรไฟล์ที่ใช้รูปเกินความจริงจนถึงขั้นไม่ใช่ตัวเองเพื่อหลอกลวงคนอื่น แอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์อย่าง Tinder จึงได้พยายามติดตั้งระบบความปลอดภัยขึ้นมา โดยเพิ่มขั้นตอนในการตรวจสอบความแท้จริงด้วยเทคโนโลยีพิสูจน์อัตลักษณ์อย่าง Biometrics ซึ่งใช้วิธีการจดจำใบหน้า โดยให้ผู้ใช้งานใช้ใบหน้าในการยืนยันตัวตน เช่น การให้ผู้ใช้งานแสดงสีหน้าหรือท่าทางอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นกระพริบตา เอียงใบหน้า อ้าปาก พร้อมกับถ่ายเป็นรูปเซลฟี่ (Selfie) ของตัวเอง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเค้าโครงของรูปโปร์ไฟล์ เพื่อให้มั่นใจว่าตรงกันและเป็นคนเดียวกันจริงๆ อันเป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจขึ้นมาบนพื้นที่ของแพลตฟอร์มระหว่างผู้ใช้กับผู้ใช้ และผู้ใช้กับแพลตฟอร์ม

บทส่งท้าย

แม้จะเห็นอิทธิพลของหน้าตาที่ส่งผลต่อความไว้วางใจ จนดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะเกิดขึ้นแบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวจนคล้ายกับจะมีอคติ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีปรากฏการณ์ทางสังคมมากมายพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทบางแห่งปรับเปลี่ยนวิธีการรับสมัครพนักงาน โดยที่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องแนบรูปถ่ายมาด้วย หรือรูปแบบการประกวดร้องเพลงอย่างรายการ The Voice ที่การแข่งขันรอบแรก Blind Audition กรรมการจะตัดสินความสามารถของผู้เข้าประกวดจากเสียงร้องเท่านั้น โดยไม่ต้องเห็นหน้า ในขณะที่โลกออนไลน์เองก็ได้เกิดการพัฒนาอย่างน่าสนใจ เช่น การที่ Facebook อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถใช้รูปอวตาร (Avatar) แทนรูปถ่ายตนเองเป็นรูปโปรไฟล์ได้ หรือการที่บริษัท Apple คิดค้นฟรีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า Memoji ซึ่งนำเทคโนโลยี AR มาใช้ เพื่อให้คนได้สร้างภาพตัวแทนในหลากหลายอารมณ์ ท่าทาง และบุคลิกลักษณะสำหรับการสื่อสารกัน นอกจากนี้แพลตฟอร์มอย่าง Second Life โดยบริษัท Linden Lab ได้พัฒนาพื้นที่โลกเสมือนจริง (Virtual World) ให้ผู้เล่นเข้าไปมีอิสระอย่างที่อยากเป็น โดยไม่ต้องยึดโยงกับรูปลักษณ์หน้าตาหรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเองในโลกจริงกับคนอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นก้าวย่างที่สำคัญของสังคม เมื่อคนเรายังไม่อาจปฏิเสธการให้ความไว้วางใจกันจากหน้าตาที่เห็นได้อยู่


References
1 Webster, M., and Driskell, J. E. (1983). Beauty as status. American Journal of Sociology, 89(1), 140–165. https://doi.org/10.1086/22783
2 อุ่นใจ เจียมบูรณะกุล. (2549). วาทกรรม “ความสวย” และการต่อรองอัตลักษณ์ วัฒนธรรมการบริโภค. วารสารสังคมศาสตร, 2, 133-167.
3 Ana Salvá. (2019). Where Does the Asian Obsession With White Skin Come From?. Retrieved July 30, 2022, From https://thediplomat.com/2019/12/where-does-the-asian-obsession-with-white-skin-come-from/
4 Outi Sarpila. (2014). Attitudes Towards Performing and Developing Erotic Capital in Consumer Culture. European Sociological Review, 30(3), 302-314. DOI:10.1093/esr/jct037
5 Bernadetta Bartosik, Grzegorz M. Wojcik, Aneta Brzezick and Andrzej Kawiak. (2021). Are You Able to Trust Me? Analysis of the Relationships Between Personality Traits and the Assessment of Attractiveness and Trust. Frontiers in Human Neuroscience, 15(685530). 1-11. doi: 10.3389/fnhum.2021.685530
6 Webster, M., and Driskell, J. E. (1983). Beauty as status. American Journal of Sociology, 89(1), 140–165. https://doi.org/10.1086/22783
7 Matthew Mulford, John Orbell, Catherine Shatto and Jean Stockar. (1998). Physical Attractiveness, Opportunity, and Success in Everyday Exchange. American Journal of Sociology, 103(6), 1565-1592
8 Stirrat, M., & Perrett, D. I. (2010). Valid facial cues to cooperation and trust: Male facial width
And trustworthiness. Psychological Science, 21, 349-354. http://doi.org/c3tzf
9 Takahashi, C., Yamagishi, T., Tanida, S., Kiyonari, T., & Kanazawa, S. (2006). Attractiveness
and cooperation in social exchange. Evolutionary Psychology, 4, 315-329.
10 Webster, M., and Driskell, J. E. (1983). Beauty as status. American Journal of Sociology, 89(1), 140–165. https://doi.org/10.1086/22783
11 สารคดี Netflix ชื่อ 100 Humans Life’s Questions. Answered. ตอนที่ 1 What Makes Us
Attractive?
12 Bernadetta Bartosik, Grzegorz M. Wojcik, Aneta Brzezick and Andrzej Kawiak. (2021). Are You Able to Trust Me? Analysis of the Relationships Between Personality Traits and the Assessment of Attractiveness and Trust. Frontiers in Human Neuroscience, 15(685530). 1-11. doi: 10.3389/fnhum.2021.685530
13 Fengling Ma, Fen Xu and Xianming Luo. (2016). Children’s Facial Trustworthiness Judgments:
Agreement and Relationship with Facial Attractiveness. Fronties in Psychology, 7(499), 1-9
14 Andrés Fernández-Martín, Patricia Álvarez-Plaza, Laura Carqué and Manuel G. Calvo. (2017).
Trustworthiness of a smile as a function of changes in the eye expression. Psicothema,
29(4), 462-468. doi: 10.7334/psicothema2016.306
15 David Ludden. (2020). Are “Trustworthy” Faces More Attractive?. Retrieved July 30, 2022, From https://www.psychologytoday.com/us/blog/talking-apes/202008/are-trustworthy-faces-more-attractive
16 ScienceDaily. (2022). Facial similarity influences perceptions of trustworthiness for same sex-
interactions. Retrieved July 30, 2022, From
https://www.sciencedaily.com/releases/2022/07/220711111848.htm
17 Xin Hu, Liuyi He and Junjun Li. 2022). The power of beauty: Be your ideal self in online reviews-an empirical study based on face detection. Journal of Retailing and Consumer Services, 67, 1-11. doi.org/10.1016/j.jretconser.2022.102975
18 Antonio Olivera-La Rosa, Olber Eduardo Arango-Tobón and Gordon P.D. Ingram. (2019).
Swiping right: face perception in the age of Tinder. Heliyeon, 5(e02949), 1-8. https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2019.e02949
19 Ping Gao, Xiaolun Wang, Hong Chen, Weihui Dai and Hong Ling. (2021). What is beautiful is not always good: influence of machine learning-derived photo attractiveness on intention to initiate social interactions in mobile dating applications, Connection Science, 33(2), 321-340. doi: 10.1080/09540091.2020.1814204
20 Van der Zanden T, Schouten AP, Mos MBJ and Krahmer EJ. (2020). Impression formation on
online dating sites: Effects of language errors in profile texts on perceptions of profile
owners’ attractiveness. Journal of Social and Personal Relationships, 37(3), 758-778. doi:10.1177/0265407519878787

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save