fbpx
ทรัมป์กับรัฐธรรมนูญ ใครใหญ่กว่ากัน?

ทรัมป์กับรัฐธรรมนูญ ใครใหญ่กว่ากัน?

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

คำถามในชื่อบทความ ไม่ใช่ของผม แต่รวบรวมจากความคิดเห็นและบทวิจารณ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของผู้คนหลากหลายวงการและสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดหนึ่งปีกว่าในฐานะประธานาธิบดี

หนึ่งปีแรกของทรัมป์เป็นห้วงเวลาของความตื่นตาตื่นใจ ระคนกับความไม่พอใจ เสียดายที่ความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือคงต้องกินเวลาและสติปัญญาอีกนาน

ใช่ มันเป็น “ความเป็นอนิจจังของการเมือง” แต่เราก็ไม่อยากตกเป็นเหยื่อของกฎแห่งอนิจจังตลอดไปหรือในทุกๆ เรื่อง ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ระบบและระบอบการเมืองอเมริกันมีความเป็นวิทยาศาสตร์และทันสมัยกว่าใครๆ ดังนั้นเมื่อระบบเริ่มเดินตุปัดตุเป๋และคืบคลานเข้าหาระบบอำนาจพิเศษและเฉพาะที่ขึ้นกับตัวบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ใจก็เริ่มแป้วและถอนหายใจยาวมากขึ้น

ฤาโลกจะเดินถอยหลังกันหมด

ในระยะแรกทรัมป์สร้างความบันเทิงและรื่นรมย์ระดับหนึ่งแก่คนอเมริกัน ด้วยการใช้ฝีปากผ่านการทวีตราวพายุในการกรีดและเชือดคนและสื่อมวลชนที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเขาอย่างเผ็ดร้อนและตรงเป้า แม้ว่าไม่นานนัก คนก็จับได้ว่าหลายร้อยข้อความนั้นเต็มไปด้วยความเท็จและโกหกคารม แต่ไม่มีใครสามารถหยุดระงับทวีตพจน์ของเขาได้

จากนั้นทรัมป์ก็ลงมือออกกฎหมายพิเศษในนามของคำสั่งฝ่ายบริหาร โดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาคองเกรสด้วย ที่เป็นข่าวใหญ่มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ การต่อต้านการก่อการร้าย ความไม่สงบภายในประเทศ และที่ไม่ค่อยเป็นข่าวได้แก่การปลดล็อกกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม การขุดน้ำมัน เหมืองถ่านหินที่ออกโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ เป็นต้น

การใช้อำนาจบริหารดังกล่าว แม้เป็นกรณีพิเศษและไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่กระเทือนถึงนโยบายของรัฐบาลที่อาจมีผลต่อคนทั้งประเทศ คองเกรสที่พรรคของเขาเป็นเสียงข้างมากก็คงปล่อยให้ทำไปตามอัธยาศัย แต่ถ้าการใช้ประกาศคำสั่งดังกล่าวมีผลกระเทือนไปถึงคนจำนวนมากอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่นกฎหมายระงับการให้ “พวกนักฝัน” (Dreamers) มีฐานะทางกฎหมายต่อไป ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านและประท้วงการใช้อำนาจดังกล่าวขึ้นมา ทั้งในและนอกรัฐสภา

ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดเหล่านั้นได้สร้างแรงสะเทือนไปทั่ววงการรัฐบาลและรัฐสภาจนถึงสื่อมวลชนทั้งหลายว่า นี่คือความกร่าง อหังการ และแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แท้จริงของตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ใช่แค่อำนาจของตำแหน่งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ

กล่าวโดยรวมๆ บรรดาคนอเมริกันที่เป็นเสรีนิยมและก้าวหน้า สตรีและคนกลุ่มน้อย รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างไม่ถูกกฎหมาย ต่างเห็นตรงกันว่า ทรัมป์ใช้อำนาจอย่างไม่เคารพกฎหมายใหญ่คือรัฐธรรมนูญ

ประวัติของทรัมป์ในอดีตตอนที่เขาเป็นนักธุรกิจใหญ่คือการมีเรื่องขึ้นศาลเป็นประจำ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้คนสนใจคดีมหาวิทยาลัยทรัมป์แพ้ในศาล ทรัมป์ออกมาวิจารณ์และป้ายสีผู้พิพากษาคนที่ตัดสินคดีเขาว่าเป็นต่างชาติ (เชื้อสายเม็กซิโก) ลำเอียงและอคติต่อเขา เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นประเทศนี้ คงถูกฟ้องข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้ว

เมื่อทรัมป์ประกาศห้ามคนมุสลิมจากหกประเทศเข้าอเมริกา ศาลสหพันธ์ก็ตัดสินว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงไม่บังคับใช้ ทรัมป์โกรธมากจนออกมาด่าและตำหนิผู้พิพากษาว่าเป็น “ไอ้พวกผู้พิพากษา” และโยนความผิดไปให้ด้วยว่า “หากมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในอเมริกา ก็ให้ไปโทษผู้พิพากษาพวกนั้นเอาเอง” ที่ผ่านมาไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนออกมาบริภาษผู้พิพากษาสหพันธ์ต่อหน้าสาธารณชนขนาดนี้

ทรัมป์มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดไปหนึ่งคนแล้ว เพราะพรรครีพับลิกันตั้งป้อมสมัยประธานาธิบดีโอบามา ไม่ยอมให้แต่งตั้งเพิ่มผู้พิพากษาศาลสูงสุดซึ่งว่างลงหนึ่งตำแหน่ง รอจนคนของพรรคตัวได้เป็นประธานาธิบดี แน่นอนว่าเขาเลือกผู้พิพากษาที่หัวเอียงขวาอนุรักษนิยม ทำให้เสียงข้างมากในศาลสูงขณะนี้เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งไปจนสิ้นชีวิต

ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีสองสภาคือวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกันก็กุมเสียงข้างมากไว้ แปลว่าสถาบันการเมืองอเมริกันขณะนี้ถูกยึดกุมโดยฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายขวาไปหมด อันนี้เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วไปในยุโรปและอเมริกา ดังนั้นถ้าสถาบันการเมืองไทยจะเดินเอียงขวากะเท่เร่กับเขาบ้างก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรไม่ใช่หรือ

อินเทรนด์เสียอีก

ในระบบการเมืองอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าตำรับของทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วน คืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น อำนาจฝ่ายบริหารหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าอำนาจประธานาธิบดีหรือทำเนียบขาวไม่ค่อยเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและอภิปรายกันมากมายเท่ากับอีกสองอำนาจอธิปไตย

ผมเปิดรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งประกาศใช้ในปี 1789 (พ.ศ. 2332) มาถึงปัจจุบันโดยไม่เคยถูกยกเลิกหรือฉีกทิ้ง ปรากฏว่าเนื้อหามาตราที่ว่าด้วยอำนาจบริหารนั้นมีน้อยกว่านิติบัญญัติ คือมี 3 อนุมาตรา (section) เท่ากับอำนาจตุลาการ ไม่มีการระบุถึงอำนาจอะไรที่ผู้เป็นใหญ่สุดในมหาชนรัฐนี้จะทำได้บ้าง หากมีแต่การพูดมากถึงระเบียบและวิธีการในเลือก(ตั้ง)ประธานาธิบดี ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันมากขึ้น นั่นคือ ระบบคณะผู้เลือกตั้ง ไม่ยอมให้เลือกทางตรงโดยประชาชนมาแต่แรก กำหนดวาระให้สี่ปี จากนั้นก็เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเหมาะสมเป็นประธานาธิบดีได้ ซึ่งเอาแค่เบาะๆ ว่าอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีและมีภูมิลำเนาในสหรัฐฯ มาไม่น้อยกว่า 14 ปี (คุณสมบัติต่ำกว่าเทพที่นนทกล้างเท้าให้ก่อนขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์หรือกรรมการองค์กรอิสระในไทยเสียอีก)

วรรคที่ระบุถึงการมีอำนาจสูงสุดของประธานาธิบดี ได้แก่ การเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ (บกและเรือ ยังไม่มีอากาศขณะนั้น) ดังนั้นอำนาจของประธานาธิบดีจึงเป็นอำนาจในตำแหน่ง ไม่ใช่ของส่วนตัว จึงไม่ต้องอภิปรายอะไรให้มากเรื่อง

มีวรรคหนึ่งในมาตรา 2 นี้ที่ระบุว่า “ประธานาธิบดีจักมีอำนาจอันได้รับความเห็นชอบและการให้คำปรึกษา (advice and consent) จากวุฒิสภาในการทำสนธิสัญญา แต่งตั้งเอกอัครรัฐทูต คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาแห่งศาลสูงสุด และข้ารัฐการอื่นๆ แห่งสหรัฐฯ” นั่นคือการใช้อำนาจของประธานาธิบดีโดยเฉพาะในการบริหารปกครองนั้นจักต้องผ่านกระบวนการปรึกษาและเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน อันเป็นที่มาของการปฏิบัติในปัจจุบันที่ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลสูง ฯลฯ ที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อแต่งตั้งนั้นต้องผ่านการตรวจสอบซักถาม (testify) และลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

ดูๆ ไปแล้ว อำนาจประธานาธิบดีไม่ค่อยมากมหาศาลอย่างที่คิดไว้ น่าสนใจมากว่า มาตราที่ระบุถึงอำนาจของรัฐบาลกลางอย่างมากมายนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 2 ว่าด้วยอำนาจบริหาร หากแต่อยู่ใต้มาตรา 1 ว่าด้วยสภาคองเกรส อันประกอบไปด้วยวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร

ภายใต้อนุมาตรา 8 ระบุว่าคองเกรสพึงมีอำนาจในการออกและเก็บภาษี จ่ายหนี้ กู้เงิน ให้สวัสดิการ ดำเนินการค้ากับต่างประเทศ ออกกฎการให้สัญชาติ กฎหมายล้มละลาย ผลิตเหรียญเงิน ควบคุมค่าเงิน  ส่งเสริมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์ ก่อตั้งกองทหาร ฯลฯ ในวรรคสุดท้ายระบุว่า “ในการทำให้กฎหมายต่างๆ เหล่านี้ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการบริหารจัดการอำนาจทั้งหลายเหล่านั้น และในอำนาจอื่นๆ ที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญแก่รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาหรือในกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

เรียกว่าอำนาจที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลกลางนั้นถูกกำกับและตรวจสอบโดยคองเกรสแทบทุกเรื่อง ไม่มีอำนาจของฝ่ายบริหารที่ลอยอยู่เหนือวอชิงตันโดดๆ ได้

ในอนุมาตรา 9 ระบุข้อห้ามแปดเรื่องที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะทำไม่ได้ เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ตำแหน่งขุนนางไม่ได้ คนที่มีตำแหน่งในหน่วยงานที่ให้กำไรหรือต้องมีความน่าเชื่อถือ (trust) จะรับของขวัญ ค่าจ้างค่าตอบแทน ตำแหน่งเครื่องอิสริยาภรณ์ใดๆ ก็ตามจากกษัตริย์ เจ้าหรือรัฐต่างประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อนไม่ได้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากยึดถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อำนาจฝ่ายบริหารนั้นถูกกำกับ ควบคุม ถ่วงดุลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากสภาคองเกรส จนแทบกระดิกไม่ได้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

กลับมาอ่านรัฐธรรมนูญอเมริกาใหม่ในบริบทของทรัมป์และคสช. ทำให้ผมคิดอะไรแตกต่างไปจากแต่ก่อนได้บ้าง เช่น ลองเปรียบเทียบความคิดทางการเมืองของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทั้งของสหรัฐและไทยว่าพวกเขาคิดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประการแรก เห็นได้ชัดถึงบรรยากาศและความคิดเห็นของบรรดาสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่ต้องการให้อำนาจบริหารสามารถอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยอื่นๆ ได้โดยเด็ดขาด

พูดอย่างเข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องอิงทฤษฎีการเมืองการแบ่งแยกอำนาจอะไรให้เหนื่อย บรรดาคนที่เป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ขณะนั้นล้วนมีความรู้สึกร่วมกันที่สำคัญอันหนึ่งนั่นคือ “ความกลัว” พวกเขากลัวอะไร คำตอบคือพวกเขากลัว “รัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจ” (centralized government)

ความกลัวที่ว่านี้ไม่ได้เกิดมาจากความเพ้อฝัน หรือความเชื่อที่เกิดจากความหลงผิดตื้นเขินของพวกเขาเอง หากแต่มันมาจากประสบการณ์ตรงอันเจ็บปวดและรุนแรงที่พวกเขาได้รับมาจากการตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลกษัตริย์อังกฤษ กระทั่งนำไปสู่การประท้วงเรื่องภาษีต่างๆ มากมาย แล้วในที่สุดก็จบลงด้วยการลุกขึ้นกบฏและขยายไปสู่การปฏิวัติอเมริกาในปี 1776 (พ.ศ. 2319)

เมื่อต้องมาร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหลักการและที่มาของอำนาจการปกครองสูงสุดของพวกเขากันเอง ประเด็นที่ตัวแทนส่วนมากไม่ต้องการเห็นคือการสร้างรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจอันใหม่อีก การที่อเมริกันไม่เคยมีระบบกษัตริย์หรือผู้นำที่มีบุญ ซึ่งมีอำนาจของพระเจ้ารองรับให้ความชอบธรรมมาก่อน ทำให้ไม่มีใครสามารถคิดและเชื่อว่าระบบผู้นำที่ทรงคุณธรรมจะเป็นจริงได้ในโลกของสามัญชนที่คนทั่วไปไม่มีความแตกต่างอะไรที่พิเศษมากกว่ากันนัก

โทมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ เขียนในคำประกาศเอกราชจากอังกฤษวรรคหนึ่งว่า “คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน” ดังนั้นสิทธิทางธรรมชาติ ในชีวิตอิสรภาพ และการแสวงหาความสุข (life, liberty, and pursuit of happiness) จึงมีความหมาย เพราะทุกคนอ้างถึงมันได้เหมือนๆ กัน ถ้าอ้างถึงคุณธรรมความดีจากชาติปางก่อน ก็ยากที่ทุกคนจะอ้างสิทธิต่างๆ ได้ เพราะใครจะรู้และตัดสินได้ว่าชาติก่อนใครทำคุณธรรมอะไรไว้มากกว่าใคร ของไทยเลยใช้วิธีว่าใครเกิดมารวยกว่าก็แสดงว่าชาติก่อนทำบุญไว้มากกว่า เช่นนี้แล้วทฤษฎีสิทธิทางธรรมชาติจึงเกิดไม่ได้ในผืนดินนี้นอกจากสิทธิของผู้มีบุญ (และอำนาจ)

แล้วกรรมาธิการรัฐธรรมนูญไทยมีความคิดทางการเมืองอะไรในการร่าง พิจารณาจากเนื้อหาและวิธีการทั้งหลายที่ถูกประดิษฐ์และสร้างขึ้นมาในรัฐธรรมนูญก็กล่าวได้ว่า พวกเขามีความกลัวอะไรอยู่เหมือนกัน พวกเขากลัวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ใช้อำนาจอย่างอิสระเสรีในการปฏิบัตินโยบายต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบรรดานักการเมืองในอำนาจเหล่านั้น ดังนั้นจึงต้องกำกับด้วยอำนาจพิเศษขององค์กรอิสระทั้งหลายที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะผู้มีอำนาจและคุณธรรมเหนือคนธรรมดา

น่าสนใจว่า ด้วยความคิดและความเชื่อทางการเมืองแบบนี้ ทำให้ระบบการเมืองไทยนั้นมีการแบ่งแยกรัฐบาลออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก รัฐบาลเลือกตั้งที่มักมาจากคนไม่ดี กับ ประเภทที่สอง รัฐบาลจากการแต่งตั้งที่มักมาจากคนดี เราไม่ได้กลัวรัฐบาลทั่วไป หากแต่กลัวและไม่ไว้ใจเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ดี (ซึ่งสรุปจากคดีความต่างๆ ว่ามาจากนักเลือกตั้ง) ในขณะที่คนอเมริกันสมัยโน้นถึงสมัยนี้กลัวรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคใดหรือพวกใคร เพราะเขามีวิธีการเข้าสู่อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวคือการเลือกตั้งโดยประชาชน

จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติ รัฐบาลจากการเลือกตั้งแบบอเมริกา ในระบบก็มีการแต่งตั้งมากมาย เห็นได้จากอำนาจของประธานาธิบดี ที่เข้าไปมีอำนาจในเรื่องต่างๆ มากทั้งๆ ที่ไม่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนั้นคนดีคนเก่งๆ มากมายจึงถูกแต่งตั้งเรียกหาปรึกษาหารือไม่ขาดสายในทำเนียบขาวและในสภาคองเกรส ได้เรื่องได้ราวมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งกันเองเสียอีก ซึ่งเล่นพวกกันอย่างมโหฬาร เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบได้

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในเรื่องอำนาจของหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ แล้วอำนาจประธานาธิบดียุติลงเมื่อไร รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่แรกเลยว่าให้วาระสี่ปี ไม่ได้ระบุว่าอยู่ได้กี่เทอม ปล่อยให้ไปตัดสินกันเวลาปฏิบัติจริงๆ

โชคดีที่ประธานาธิบดีคนแรกคือจอร์จ วอชิงตัน เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ใฝ่อำนาจวาสนา และเชื่อมั่นในอุดมการณ์มหาชนรัฐอย่างแท้จริง เขาเป็นคนทำให้ภาคปฏิบัติของรัฐธรรมนูญสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นจริงและเหมาะสมสถานการณ์ ทำให้อำนาจของประธานาธิบดีซึ่งถูกจำกัดค่อนข้างมากในรัฐธรรมนูญสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ทำให้อำนาจบริหารกับนิติบัญญัติแยกออกจากกันในความเป็นจริงมากขึ้น และทำให้อำนาจตุลาการมีบทบาทจริงๆ ขึ้นได้

เมื่อหมดวาระแรก สภาคองเกรสก็เรียกร้องให้วอชิงตันอยู่ต่ออีกสมัยหนึ่ง ซึ่งเขาจำต้องรับด้วยความอึดอัดใจ เพราะเกรงว่าคนจะมองว่าเขาเป็นทรราชไป วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่าอยู่ได้สองสมัย กระทั่งสมัยของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ที่ต่ออายุถึงสี่สมัย จนทำให้ต่อมาต้องออกแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุว่าให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงสองสมัยเท่านั้น

ส่วนการออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ก็มาจากการตาย ลาออก หรือไม่สามารถปฏิบัติและใช้อำนาจหน้าที่ได้อีกต่อไป โดยคองเกรสจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่แทนต่อไปจนกว่าจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่

ในวรรคสุดท้ายพูดถึงการที่สภาคองเกรสสามารถถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่บริหารอื่นๆ ได้ หากถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาเป็นกบฏ (treason) รับสินบน (bribery) และคดีอาญาอุกฉกรรจ์และประพฤติอย่างไม่เหมาะสม (misdemeanors) ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ต้องดำเนินคดีกับประธานาธิบดีก่อน คองเกรสถึงจะเริ่มกระบวนการถอดถอนได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ไม่มีใครดำเนินการเพื่อบีบบังคับให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้

นี่คือที่มาแต่แรกของการถอดถอนประธานาธิบดี แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้ ในการปฏิบัติคองเกรสจึงต้องคิดหากระบวนการและรูปแบบวิธีการอย่างไรที่จะเอาประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ครั้งแรกที่มีการใช้อำนาจสภาคองเกรสถอดถอน ได้แก่ ประธานาธิบดีแอนดรู จอห์นสัน หลังสงครามกลางเมือง (1868) สภาผู้แทนฯ ผ่านมติให้ถอดถอน ส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก แต่มติขาดไปหนึ่งเสียง จึงถอดถอนไม่สำเร็จ

อีกคนที่เหมือนกันคือประธานาธิบดีบิล คลินตัน (1998) กรณีชู้สาวและให้การเท็จ สภาผู้แทนฯ ลงมติแล้วให้ถอดถอน แต่วุฒิสมาชิกกลับยกโทษให้เสียอีก เลยรอดไป และยังมีกรณีที่สภาผู้แทนฯ กำลังดำเนินการให้ถอดถอนแต่ไม่ผ่าน คือประธานาธิบดีจอห์น ไทเลอร์ (1842) และนิกสัน (1974) ในข้อหาวอเตอร์เกต แต่นิกสันชิงลาออกจากตำแหน่งเสียก่อนเมื่อตระหนักว่ากรรมาธิการพิเศษที่คองเกรสตั้งขึ้นมานั้นสามารถกล่าวหาความผิดของเขาต่อศาลได้อย่างไม่มีทางรอดพ้น

โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกในศตวรรษที่ 21 ที่มีโอกาสเห็นการใช้กระบวนการถอดถอน เพราะสมาชิกคองเกรสและกลุ่มประชาชนต่างๆ ในอเมริกาต่างเรียกร้องให้หาทางไต่สวนและตั้งกระบวนการถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ในหลายเรื่องที่เขาและคณะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้กระทำละเมิดกฎหมาย เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่และกรรมาธิการพิเศษของกระทรวงยุติธรรมกำลังไต่สวนอยู่ คือการร่วมมือกับรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2016

แต่ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่าในประวัติศาสตร์อเมริกา การถอดถอนประธานาธิบดีนั้นทำสำเร็จยากมากๆ มีเพียงสองคนที่ถูกสภาผู้แทนฯ ให้ถอดถอนแต่ก็รอดในขั้นวุฒิสภา นอกนั้นก็ไม่อาจผ่านแม้ในสภาผู้แทนราษฎร กรณีทรัมป์ก็เช่นกัน ถ้าพรรคเดโมแครตไม่สามารถเปลี่ยนใจสมาชิกพรรครีพับลิกันทั้งในสภาผู้แทนฯ และในวุฒิสภา ก็ยากที่จะเห็นวันนั้นมาถึงได้.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save