fbpx
เหตุผล 'คนเกรียน' : ทำไมคนถึงโทรลบนโลกอินเทอร์เน็ต

เหตุผล ‘คนเกรียน’ : ทำไมคนถึงโทรลบนโลกอินเทอร์เน็ต

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

John Oliver (นักจัดรายการทอล์กโชว์ Last Week Tonight บน HBO) เคยกล่าวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเอาไว้ว่าเป็น “งานรื่นเริงอันมัวหม่นของแรงกระตุ้นอันต่ำช้าที่สุดของจิตใจ”

เอาละ… มันอาจจะไม่ได้ดาร์กขนาดนั้น เพียงแต่ต้องยอมรับว่าโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้สวยงามจริงๆ เหมือนเป็นพื้นที่อิสระที่มนุษย์สามารถปลดปล่อยบางด้านของตัวเองที่ปกปิดเอาไว้จากคนอื่นๆ จากครอบครัว เพื่อนฝูง ที่ทำงาน หรือสังคมที่ตนเองอยู่ ส่วนตัวเคยเห็นเพื่อนที่ปกติเป็นคนเงียบๆ ไม่มีปากมีเสียงอะไร แต่พอล็อกอินเฟซบุ๊กด้วยชื่อบัญชีที่ปกปิดตัวเองเท่านั้นแหละ กลายเป็นคนเกรี้ยวกราด คอมเม้นต์กวาดยิงไปทั่วแบบไม่สนใจใยดีว่าคำพูดของเขาจะไปกระทบใครรึเปล่า เห็นแล้วก็รู้สึกแปลกชอบกล

เราอาจรู้จักพฤติกรรมแบบนี้ว่าเป็น ‘การเกรียน’ ประหนึ่งนักเลงคีย์บอร์ดคอมเม้นต์หาเรื่อง ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า ‘Trolling’ หรือ ‘Troll’ ที่เป็นการเกรียนป่วนบอร์ด ป่วนกระทู้ หรือตัวคอมเม้นต์สร้างปัญหา โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งข้อมูลจากหลายแห่งบอกว่าการ ‘Troll’ หรือ ‘เกรียน’ มีที่มาจาก Troll เทพปกรณัมนอร์ส รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ขี้กร่าง ตัวใหญ่ แรงเยอะ สติปัญญาค่อนข้างต่ำ แต่ที่จริงแล้วถ้าลองค้นข้อมูลให้ลึกลงไปอีก ดูเหมือนคำว่า ‘Troll’ หรือ ‘Trolling’ มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

คือเป็นคำนามก็ได้ กริยาก็ได้ หมายถึงเทคนิคการจับปลาที่ลากสายเบ็ดไปกับเรือโดยเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เพื่อล่อปลาให้เข้ามาฮุบเหยื่อ  ซึ่งความหมายอันที่สองนั้นน่าจะชัดเจนกว่าและเป็นไปได้มากกว่าว่ามันเป็นต้นกำเนิดของพฤติกรรมการ ‘Troll‘ บนโลกอินเทอร์เน็ต

โทรลจะโยนเหยื่อ (คอมเม้นต์ล่อเป้า) ลงในมหาสมุทรแห่งอินเทอร์เน็ต ปลาที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (ผู้ใช้งานคนอื่นๆ) ก็เห็นเหยื่อและอดใจไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปตอด (คอมเม้นต์ล่อเป้า) ตอนนั้นเองปลาก็ติดเบ็ดและดิ้นไม่หลุดในที่สุด ซึ่งคำถามต่อมาก็คือ การโทรลเพื่อตกปลาจริงๆ นั้นเป็นเทคนิคการหาปลาเพื่อนำไปเป็นอาหาร แต่การโทรลบนโลกอินเทอร์เน็ตมีเป้าหมายอะไรกันแน่ เพื่อความสะใจเหรอ? หรือการระบายบางอย่าง? หรือมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่?

อีกอย่างที่ทำให้การอธิบายพฤติกรรมการโทรลเป็นเรื่องซับซ้อนก็คือมันสามารถเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ สำหรับใครก็ตามที่ใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตมาพอสมควร จะรู้ว่าการก่อกวนทางออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น บางครั้งก็น่ารังเกียจจนทนอ่านไม่ไหวอย่างการเกรียนยุให้ผู้ใช้งานบางคน (ที่อ่อนแอทางจิตใจอยู่แล้ว) ให้จบๆ ชีวิตตัวเองไปซะ (suicide baiting) หรืออย่างการไปหน้าเฟซบุ๊กของบุคคลที่เสียชีวิตแล้วโพสต์ด่าแบบเสียๆ หายๆ จนน่าขยะแขยง (RIP Troll) ซึ่งนั่นอาจจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับกลุ่ม ‘เกรียน​’ ที่โทรลคนนั้นทีคนนี้ที (อย่างการเล่นเกมออนไลน์) จนก่อให้เกิดความน่ารำคาญ อารมณ์ประมาณแมลงหวี่ที่บินตอมตาหรือยุงที่บินหึ่งๆ ข้างๆ หู อยากจะขยี้ให้เละคามือ (ติดเบ็ดแล้ว) แต่ก็จับไม่ได้ซะที

โทรลพวกนี้คือใคร? แล้วทำไมต้องทำแบบนี้?

ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งจากคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Otemon Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น พบว่าโทรลมีลักษณะบุคลิกภาพสามในสี่ของลักษณะบุคลิกภาพที่เรียกว่า ‘The Dark Tetrad’ หรือลักษณะบุคลิกภาพด้านลบทั้งสี่ ประกอบไปด้วย

Sadism — รับความพอใจจากความเจ็บปวดของผู้อื่น

Psychopathy — ไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

Machiavellianism — เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง และไม่มีอารมณ์ความรู้สึก

Narcissism — หลงตัวเองและต้องการได้รับการเชิดชู

ซึ่งโทรลมีลักษณะบุคลิกภาพในสามข้อ (ยกเว้นแค่ Narcissism) เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ไม่สนใจคนอื่น และชอบเห็นผู้อื่นเจ็บปวด โดยจะเห็นในกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยเกี่ยวกับความเหงาเองก็เป็นตัวบ่งบอกสำคัญที่ทำให้คนโทรลมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ machiavellianism และ psychopathy แต่การศึกษาโทรลแบบนี้ยังดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่เพราะเป็นการใช้แบบสอบถามออนไลน์ และยิ่งเมื่อให้โทรลตอบคำถามเหล่านั้น เราก็อาจไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาตอบจริงๆ รึเปล่า

Ginger Gorman นักข่าวที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อหาข้อมูลในการเขียนหนังสือ ‘Troll Hunting‘ เธอพยายามทำความเข้าใจโทรลทั้งหลายที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต สร้างความสัมพันธ์ ทำความรู้จักโทรลที่หลายคนเบือนหน้าหนีเพื่อศึกษาเบื้องหลังของโทรลเหล่านั้น สิ่งที่พบทำให้เธอแปลกใจ โทรลส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไร้การศึกษาที่ไร้เป้าหมายในชีวิต ไม่ใช่พวกเก็บตัวเองในห้องใต้ถุนบ้าน ไม่ใช่พวกรังเกียจสังคมเหมือนที่เราคิดเอาไว้ ที่จริงแล้วโทรลเหล่านี้มีคู่ชีวิต มีลูก มีงานประจำทำ หลายคนมีความเป็นหัวหน้า มีความสามารถในการชี้จุดอ่อนของผู้ใช้งานคนอื่นอย่างแม่นยำ แล้วอะไรล่ะที่ผลักดันหรือทำให้พวกเขาเป็นโทรลบนโลกอินเทอร์เน็ต?

บางคนทำเพราะมันสนุกเป็นงานอดิเรก เป็นเรื่องตลกหรือขำขันสำหรับพวกเขา บางคนเป็นพวกคลั่งศาสนาหรือความเชื่อบางอย่าง (การเมือง, ประเด็นทางสังคม, กลุ่มคน, UFO, เอเลี่ยน, Star Wars ฯลฯ) พร้อมจะโจมตีใครก็ตามที่ยืนขวางทางความเชื่อเหล่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นโทรลกลุ่มไหน สิ่งที่เหมือนกันก็คือพวกเขาพร้อมจะเปิดสงครามโทรลทันทีถ้ารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แตกต่างจากที่พวกเขาเชื่อหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกกดให้ต่ำลง

โทรลบางคนที่เธอเจอนั้นมีลักษณะบุคลิกภาพเหมือนที่กล่าวไว้ด้านบน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 11-16 ปีที่ใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับการควบคุมจากผู้ปกครอง แต่ก็มีโทรลอีกหลายคนที่ไม่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบนั้นเลย เมื่อเธอเข้าไปสอบถามหรือพูดคุย กลุ่มโทรลเหล่านี้จะนิสัยปกติ เหมือนคนทั่วไป แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ จึงเป็นคำถามต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

ธรรมชาติสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้าเห็นตา สมองของมนุษย์ก็เป็นแบบนั้น แม้ว่าตอนนี้เราจะมีอินเทอร์เน็ตมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราได้รับการปรับตัวเต็มร้อยกับการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ การสื่อสารโดยใช้แค่เพียงตัวหนังสือ ไม่ว่าจะพยายามสื่อสารให้ชัดเจนมากแค่ไหน ก็ยังคงตกหล่นและไม่เต็มที่เท่ากับการแสดงออกทางหน้าตา ร่างกาย หรือการใช้เสียง เพราะฉะนั้นการสื่อสารด้วยตัวหนังสือผ่านคอมเม้นต์ (บางทีก็สติกเกอร์, อีโมจิ และ GIFs) ไม่อาจเทียบกันได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราพูดแล้วไปกระทบจิตใจใครสักคนแล้วใครคนนั้นก็นั่งร้องไห้ต่อหน้าเรา มันก็จะรู้สึกแตกต่างออกไปจากการไม่รู้ว่าคอมเม้นต์นั้นไปทำให้ใครร้องไห้ด้านหลังสกรีนของเขา ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้คนที่โทรลไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ กลายเป็นนิสัยที่ทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว สิ่งนี้เรียกว่า ’empathy deficit’ หรือการขาดหายไปของอารมณ์ร่วมเพราะไม่ได้รับฟีดแบคจากอีกฝั่งหนึ่งอย่างเต็มที่ ยิ่งไปรวมกับการไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร ไม่ใช่คนที่รู้จัก ยิ่งทำให้การโทรลเป็นเรื่องง่ายมาก (อารมณ์เหมือนคนเมาที่บาร์เหล้า) เพราะเมื่อการใช้ชีวิตบนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนจึงนำไปสู่บางอย่างที่เรียกว่า ‘deindividuation‘ หรือการหลงลืมว่าตัวเองเป็นใครและทำพฤติกรรมบางอย่างที่ปกติจะไม่ทำ (ซึ่งนี่เป็นคำอธิบายที่ถูกนำมาใช้เมื่อเกิดการจลาจลขึ้นในกลุ่มคนขนาดใหญ่)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการโทรลเป็นส่วนผสมระหว่างการไม่ได้รับรู้ความรู้สึกของอีกฝั่งรวมกับความรู้สึกที่ตัวเองเป็นอีกคนหนึ่งและไม่มีการรับรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั่นแหละ เมื่อไม่มีผลกระทบกับตัวเอง กลายเป็นเปิดโลกที่อิสระเสรีจากข้อบังคับทางสังคมหรือความเชื่อที่กดข่มเอาไว้ จนเกิดเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกด้วยการก่อกวนอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สังคมต้องการให้เราประพฤติแบบหนึ่ง เหมือนสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ไม่ชอบเข้าสังคมก็ถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ตนเองเกลียดไปด้วยในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและคอร์แนล ก็คือทุกคนมีโอกาสเป็นโทรลได้หมด พวกเขาใช้ระบบวิเคราะห์คอมเม้นต์กว่า 16 ล้านคอมเม้นต์ในช่วงเดือนธันวาคม 2012 ถึง สิงหาคม 2013 บนเว็บไซต์ CNN และพบว่า 1 ใน 4 ของคอมเม้นต์นั้นเป็นการโทรลหรือเป็นการคอมเม้นต์ที่รุนแรง มาจากผู้ใช้งานที่ก่อนหน้านั้นไม่มีประวัติการโทรลเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็หมายความว่าการโทรลอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโทรลแบบฟูลไทม์ (ความเป็นไปได้ที่จะเกิดคอมเม้นต์รุนแรงสามารถคาดเดาได้จากคอมเม้นต์ก่อนหน้าด้วย ยิ่งถ้าคอมเม้นต์เกิดขึ้นในด้านลบมาก่อน จะยิ่งดึงโทรลในตัวคนอื่นๆ ออกมาง่ายมากขึ้น)

เป็นเรื่องง่ายที่จะมองว่าโทรลเป็นปลาเน่าที่ส่งกลิ่นเหม็นทำให้สังคมเดือดร้อนมากกว่าที่จะมองว่าเราทุกคนมีโทรลอยู่ในตัว เพียงแค่รอจังหวะเวลาและพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่เมื่อเราคิดว่าโทรลคือกลุ่มคนที่แปลกแยกอันตราย เราก็จะตีกรอบความเข้าใจของเราทันทีว่านั่นคือส่ิงที่พวกเขาเป็น เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ซึ่งอย่างที่บอกในช่วงต้นว่าโทรลเองก็มีหลายแบบ ทั้ง ‘Suicide Baiter’ หรือ ‘RIP Trolls’ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและน่าจะมีลักษณะบุคลิกภาพที่เรียกว่า ‘The Dark Tetrad’ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการปลดปล่อยแรงกระตุ้นอันต่ำช้าที่สุดของจิตใจเหมือนเช่นที่ John Oliver ได้กล่าวเอาไว้ แต่โทรลอื่นๆ แบบพาร์ทไทม์ที่มาเพราะเจอสถานการณ์แย่ เห็นคอมเม้นต์บางอันแล้วอดไม่ได้ ต้องขอจัดสักเม็ดก็อาจจะเป็นใครก็ได้ เราทุกคนมีจังหวะที่หลุดกัน ไม่ว่าจะใครก็ตาม

การควบคุมโทรลเป็นเรื่องยาก การปกปิดตัวเองบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งความเป็นส่วนตัวและข้อมูลมากมายที่ไม่อยากเปิดเผย หลายๆ คนปกปิดข้อมูลเพื่อที่จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ได้ปรึกษาพูดคุยถึงปัญหาที่พบเจอโดยไม่ต้องถูกตัดสินจากสังคม แถมการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจกันทางออนไลน์ก็เป็นเรื่องยาก การกดไลก์ กดแคร์ ไม่ได้ส่งความรู้สึกไปมากกว่าแค่จำนวน notifications ที่เพิ่มขึ้นบนหน้าจอ

สิ่งที่เราควรทำคือการแสดงออกถึงความจริงใจ แม้จะด้วยคำพูดหรืออะไรก็ตามที่เลือกมาแล้วว่าจะมีโอกาสเข้าใจผิดน้อยที่สุดจากผู้อื่น ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียนไป เมื่อเห็นคอมเม้นต์ที่ไม่ถูกใจให้ตั้งสติให้ดี สิ่งที่เขาเขียนอาจจะไม่ได้หมายความอย่างนั้น หรือถ้าหมายความอย่างนั้นอาจจะต้องเข้าใจบริบทของเขาว่าเกิดอะไรขึ้นถึงเป็นแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การโจมตีเรื่องส่วนตัวแต่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในชีวิตของเขารึเปล่า เราเองก็อาจจะมีวันแย่ๆ แบบนี้ในชีวิตและคอมเม้นต์ไปแบบไม่ทันได้คิดก็ได้เช่นเดียวกัน (ไม่ได้หมายความว่าการทำร้ายคนอื่นด้วยคำพูดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในวันที่เรารู้สึกแย่ เพียงแต่อยากสะกิดให้คิดว่าทุกคนเป็นมนุษย์และไม่สมบูรณ์แบบ)

การเข้าใจจะช่วยลดแรงปะทะ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการคิดว่าตัวเราดีกว่า สูงกว่า และโทรลกลับไปเพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ (ต้องเข้าใจว่าการโทรลไม่ใช่การเปิดบทสนทนาที่ใช้เหตุผลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการติดเพื่อก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่ทางออกของปัญหา)

สิ่งที่ John Oliver กล่าวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตนั้นว่ามันเป็น “งานรื่นเริงอันมัวหม่นของแรงกระตุ้นอันต่ำช้าที่สุดของจิตใจ” อาจจะจริง แต่มันก็จริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกของเราเข้าด้วยกัน เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีเรื่องดีๆ มากมายที่เกิดขึ้นเพราะอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่เรื่องดาร์คหรือโทรลที่น่าขยะแขยงเท่านั้น มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ แม้จะอยู่บนโลกออนไลน์หรือออฟไลน์​ เพียงแต่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่เปิดกว้างและแสดงตัวตนได้มากกว่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่เลวร้าย เราต่างหากที่ต้องเข้าใจและใช้มันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้

===================

อ้างอิง

Anyone Can Become a Troll: Causes of Trolling Behavior in Online Discussions

Online disinhibition effect

Should the Dark Triad Become the Dark Tetrad?

ทร็อลล์

Trolls just want to have fun

Troll Hunting

Loneliness moderates the relationship between Dark Tetrad personality traits and internet trolling

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save