fbpx

หลายคำถามต่อ Top Gun: หนัง เงิน อเมริกัน ฮีโร

                                                                           

“ลุ้นทำเงิน ‘ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์’ โดยไม่มีการเข้าฉายใน ‘รัสเซีย’ และ ‘จีน'”

ข้างบนนี้คือคำโฆษณาของหนังเรื่อง Top Gun Maverick ที่เข้าฉายในประเทศไทยช่วงเดือนมิถุนายน 2022 โดยคนที่เป็นคอหนังฮอลลีวูดคงทราบดีว่า หนังเรื่องนี้เป็นภาคต่อของหนังเรื่อง Top Gun ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ไปเมื่อ 36 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1986)

ความพิเศษที่สุดอีกอย่างของ Top Gun: Maverick คือการได้ ‘ทอม ครูซ’ (Tom Cruise) กลับมาแสดงบทนำอีกครั้ง หนังเรื่องนี้ทำรายได้ในรอบฉายเปิดตัวไปถึง 124 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำรายได้รวมทั้งหมดถึง 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 47,950 ล้านบาท[1]

ด้วยรายได้ข้างต้นทำให้ Top Gun Maverick กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดอาชีพการแสดงของทอม ครูซ แต่อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า รายได้ที่ทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้เป็นรายได้ที่ไม่มีการเข้าฉายใน ‘รัสเซีย’ และ ‘จีน’ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตาม เราอย่าไปตื่นเต้นกับตัวเงินที่หนังทำได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรดูหนังในมุมการเมืองวัฒนธรรมบ้าง

ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังกำราบรัสเซียที่เพลี่ยงพล้ำในการรุกรานยูเครน สหรัฐอเมริกาก็ได้รับอานิสงส์จากหนัง Top Gun ที่ช่วยฟื้นภาพลักษณ์ ‘อเมริกันฮีโร’ และขณะที่แพลตฟอร์มดูหนังอย่าง Netflix และอีกหลายค่าย กำลังเจอปัญหารายได้ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ความโด่งดังของ Top Gun: Maverick และตัวของทอม ครูซ ก็ช่วยให้แพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกันเหล่านี้ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ดังนั้นในแง่หนึ่งปรากฏการณ์ของหนัง Top Gun: Maverick นี้จึงสะท้อนให้เห็นภาพของการใช้ ‘ทุนนิยมดิจิทัล’ ในการแผ่ขยายค่านิยมและวัฒนธรรมของสหรัฐฯ รวมทั้งการตอกย้ำภาพลักษณ์ในฐานะการเป็น ‘รัฐตำรวจโลก’ (A Global Police State)

จักรวรรดิวัฒนธรรมกับการสถาปนารัฐตำรวจโลก

แม้ระบบทุนนิยมดิจิทัลจะเป็นระบบทุนนิยมที่มั่งคั่ง ทันสมัย อีกทั้งมีเครื่องมือช่วยหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ทางการเมืองและการผลิตของตน ทว่าชีวิตในระบบทุนนิยมโลกมิได้ดำเนินไปอย่างราบเรียบ หากแต่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์และการชะงักงันทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ในปี 1997 วิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ (subprime crisis) ในปี 2008 ซึ่งเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า ระบบทุนนิยมดิจิทัลจะเผชิญความท้าทายจากวิกฤตอย่างไร?

William I. Robinson เสนอว่า ระบบทุนนิยมโลกกำลังใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (digitalization) สถาปนา ‘รัฐตำรวจโลก’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการชะงักงันทางเศรษฐกิจ และยังช่วยผลักดันให้ระบบทุนนิยมโลกดำเนินต่อไปได้ (William I. Robinson, 2018: 85) โดยการเป็นรัฐตำรวจโลกมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ การสร้างภาวะสงคราม การควบคุมทางสังคม และการปราบปราม 

เมื่อการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเป็นแกนกลางของระบบทุนนิยมโลก รัฐจึงลงทุนในภาคเทคโนโลยีอย่างมหาศาล ต่อจากนั้นก็ไปผลักดัน military-industry-security complex ซึ่ง Robinson ชี้ให้เห็นว่า ในยุคทุนนิยมดิจิทัล รัฐกำลังทำสงครามแบบใช้กำลังทหารไม่มาก (low-intensive warfare) กล่าวคือมีการใช้กำลังและเพิ่มการควบคุม การใช้กำลังตำรวจ การใช้กฎหมายต่อต้านการย้ายถิ่น การขับออกนอกประเทศ การทำสงครามต่อต้านการค้ายาเสพติด การปรามปรามกลุ่มแก๊งเยาวชน และการทำกำแพงกั้นตามชายแดน เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันรัฐตำรวจโลกก็ทำสงครามร้อน (hot war) ซึ่งคือสงครามใช้กำลังอาวุธอย่างจริงจังในต่างประเทศ รวมทั้งการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ในกรณีนี้ ผู้เขียนคิดว่า สงครามร้อนควรต้องหมายรวมถึงสงครามกับรัสเซียผ่านทางยูเครนและนาโต้ (NATO) ด้วย

สำหรับ William I. Robinson แล้ว การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอาวุธหลักในการทำสงครามได้หลอมรวม รัฐ (ความมั่นคง) อนาคตของแหล่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลก (ซิลิคอนวัลเลย์ – Silicon Valley) และชะตากรรมของตลาดหลักทรัพย์ของโลก (วอลล์สตรีต – Wall Street) ให้ผูกกันแน่นเข้าด้วยกัน และเพื่อให้การหลอมรวมทั้ง 3 ระบบนี้เป็นไปอย่างราบรื่น จึงมีความจำเป็นต้องระดมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและเครื่องมืออุดมการณ์ของรัฐ เพื่อสร้างภาพลวงตาให้บรรดาเหยื่อทั้งหลายของระบบทุนนิยมโลกไม่ให้คิดว่านี่เป็นอันตราย (William I. Robison, 2018: 86)

ในแง่นี้ อุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อมวลชน จึงเป็นรูปธรรมของการผสานรัฐตำรวจโลก ซิลิคอนวัลเลย์ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีต และวัฒนธรรมของทุนนิยมโลก โดยอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตัวเลี้ยงดูรัฐตำรวจ ยกย่องระบบทหาร และยังให้ความชอบธรรมต่อระบบอำนาจนิยม (authoritarianism)  (Williams I. Robinson, 2018: 86)

William I. Robinson ยกตัวอย่างการหลอมรวมของรัฐตำรวจ กลุ่มทุนดิจิทัล และอุตสาหกรรมบันเทิง เช่นการที่หน่วยงานทางทหารและหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา มีอิทธิพลเหนือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กว่า 800 เรื่องและรายการโทรทัศน์กว่า 1,000 รายการ ที่ออกฉายระหว่างปี 2005-2016 จนเปลี่ยนฮอลลีวูดเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงพลังในการทำสงครามและการปราบปราม

รายชื่อของภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่หน่วยงานทางทหารและหน่วยงานข่าวกรองมีอิทธิพล ได้แก่

  • ภาพยนตร์ blockbuster ของฮอลลีวูด ได้แก่ Top Gun, Wind Talkers, An Officer and a Gentleman, Strips, Independence Day, Jurassic Park, Black Hawk Down, The Hunt for Red October, Patriot Games, the James Bond series, Huk, Transformers และ Meet the Parents
  • รายการทีวีโชว์ยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ America’s Got Talent, Qrah, NCIS และ Jay Leno รวมถึงบรรดาสารคดีจำนวนมากที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ PBS, BBC และ History Channel (Williams I. Robison, 2018: 87) 

บรรษัทขนาดใหญ่ด้านสื่อและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา การริเริ่มและสนับสนุนของรัฐบาลมีประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมายาวนานและยุทธศาสตร์นี้เน้นความสำคัญของการผลิตข่าวสาร ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลในการทำงานด้านวัฒนธรรม  

รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนฮอลลีวูดอย่างต่อเนื่องผ่าน Motion Picture Association of America และบริษัทผลิตภาพยนตร์รายใหญ่หลายเจ้า (Dal Yong Jin 2013: 165-166) ทั้งยังผลักดันให้ประเทศต่างๆ เปิดตลาดวัฒนธรรมของตน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในประเด็นการค้าขายวัฒนธรรม โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ จับมือร่วมกันในด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้รัฐบาลอเมริกันยังเชิดชูลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยมักเน้นเรียกร้องวาทกรรมไหลเวียนอย่างเสรีข่าวสาร (free flow of information) และเสรีภาพของการพูด ( free of speech) ในต่างประเทศ ซึ่งแสดงว่า ในภาพรวมตลาดต่างประเทศยังคงมีความสำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาลอเมริกันและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอเมริกัน (Dal Yong Jin 2011)

สรุป

Top Gun 2022 ทอม ครุซยังหล่อ สมาร์ตเหมือนเมื่อ 36 ปีก่อน แถมยังทำเงินได้อีกมหาศาล แต่เบื้องหลังความหล่อและรายได้มูลค่ามหาศาลนี้คือ ‘ทุนนิยมดิจิทัล’ ในรูปของฮอลลีวูดและแพลตฟอร์มทั้งหลายอย่าง Netflix ที่เข้ามาเสริมสร้างความเป็นรัฐตำรวจโลกของสหรัฐฯ ฮีโรในแบบอเมริกัน รวมทั้งจักรวรรดินิยมสื่อ ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังขับเคี่ยวกับจีน และต่อสู้กับรัสเซียผ่านสงครามในยูเครนพอดี


อ้างอิง

Dal Yong Jin, “ The Construction of Platform Imperialism in the Globalization Era” triple C 11 (1), 2013.

Williams I. Robison. (2018). “The next economic crisis: digital capitalism and global police state” Race & Class, Vol. 60 (1).

References
1 Deirdre Simonds, “Top Gun : Maverick soars past $ 1B at global office” Dailymail.com 26 June 2022 DEIRDRE SIMONDS FOR DAILYMAIL.COM

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save