fbpx
โตเกียวกำสรวล Tokyo Story

โตเกียวกำสรวล Tokyo Story

‘นรา’ เรื่อง

โตเกียวกำสรวล Tokyo Story

Tokyo Story ผลงานชิ้นเอกของยาสึจิโร โอสุ -ซึ่งได้รับการโหวตจากผู้กำกับหนังทั่วโลกเมื่อปี 2012 ด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง และครองสถานะเป็น ‘หนังยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล’- เพิ่งจะมาเข้าฉายในโปรแกรมหนังคลาสสิกของ House Samyan และขณะที่ข้อเขียนชิ้นนี้ปรากฏสู่สายตาท่านผู้อ่าน ก็ยังคงยืนโรงฉายอยู่

ผมคิดว่า Tokyo Story เป็นได้ทั้งหนังที่สามารถมองข้ามผ่านไปได้เลย และเป็นได้ทั้งหนังที่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องขวนขวายหาโอกาสดูให้ได้สักครั้งในชีวิต

พูดแบบไม่เชิญชวนให้นึกอยากดู Tokyo Story มีความแตกต่างจากหนังเพื่อความบันเทิงตามขนบที่เราท่านคุ้นเคยจนสุดขั้ว เนื้อเรื่องจืดชืด ราบเรียบ เหมือนเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป (ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตประจำวันในบางขณะของเราๆ ท่านๆ ยังสนุกเข้มข้นกว่าเรื่องราวในหนังของโอสุตั้งมากมายก่ายกองนัก)

ถัดมาคือ นอกจากจะนำเสนอพล็อตเรื่องที่มีรสจืดเหมือนน้ำเปล่าแล้ว วิธีการเล่าเรื่องด้วยลีลา ‘น้อย’ และ ‘นิ่ง’ ของโอสุ ยังทำหน้าที่เสมือนเครื่องกรองน้ำชั้นดี ทำให้น้ำเปล่านั้นยิ่งบริสุทธิ์จืดสนิทขึ้นไปอีก

นี่ยังไม่นับรวมว่า ยุคสมัยที่หนังถูกสร้างขึ้นเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ บทพูด การแสดง เสื้อผ้า หน้า ผม ฉากหลัง บรรยากาศ ตลอดจนคุณภาพของการถ่ายทำ ห่อหุ้มด้วยความเก่าเชยโบร่ำโบราณไปโดยปริยาย

เหตุการณ์ที่ผู้ชมนั่งหลับขณะดูหนังของโอสุ จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหลือเกิน ผมเองสมัยเพิ่งรู้จักและดูหนังของบรมครูท่านนี้ ก็หลับอร่อยเหาะมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ข้างต้นนี้ ผมหมายถึงกรณีที่เราต้องการดูหนังเพื่อมุ่งหวังความบันเทิงตามพื้นฐานปกติเท่านั้นนะครับ ในแง่นี้ Tokyo Story เป็นยานอนหลับ น่าเบื่อ และไม่จำเป็นต้องไปทนทุกข์ทรมานให้เสียเวลา

แต่จุดมุ่งหมายของการดูหนังนั้นไม่ได้จำกัดตายตัวอยู่แค่แบบเดียวหรือเป้าหมายเดียว ยังมีคุณค่าด้านอื่นๆ ให้ผู้ชมได้เลือกเก็บเกี่ยวซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระ, การกระตุ้นให้ผู้ชมได้ใช้ความคิด การดื่มด่ำกับลีลาความงามทางศิลปะ หรืออารมณ์ปิติสุขอิ่มเอิบที่ไม่ได้เกิดจากการเร้าอารมณ์โดยผิวเผิน แต่สืบเนื่องจากการที่ผู้ชมนำพาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับหนัง จนเกิดการยกระดับจิตใจในทางบวกหลังจากดูจบ

สำหรับผู้ชมที่ดูหนังด้วยจุดมุ่งหมายอย่างหลัง Tokyo Story คือ สุดยอดหนังดีระดับห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง และการมีโอกาสได้ดูผลงานชิ้นนี้ในโรงหนัง ก็เป็นประสบการณ์พิเศษที่สามารถพูดแบบ ‘เล่นใหญ่’ ได้เต็มภาคภูมิว่า เป็นบุญตาและกำไรชีวิต

โดยธรรมชาติแล้ว หนังของโอสุนั้นน่าเบื่อสุดๆ ในตอนที่ผู้ชมยังไม่คุ้นเคยกับแนวทางของเขา แต่เมื่อมีโอกาสได้ดูซ้ำหลายรอบหรือติดตามดูหลายเรื่อง (หรือกระทั่งว่าคนที่ไม่เคยดูหนังของโอสุมาก่อน แต่ได้ผ่านวัยและประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นตามลำดับ) ก็ยิ่งซาบซึ้ง เข้าถึงคุณงามความดีในหนังของโอสุได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น จับใจเพิ่มขึ้น

พูดอีกแบบคือ ความคุ้นเคยกับหนังของเขา และประสบการณ์ความเข้าใจชีวิตของผู้ชม เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการทำความรู้จักและเข้าถึงคุณงามความดีในหนังของโอสุ

ยาสึจิโร โอสุ กำกับหนังรวมทั้งสิ้น 54 เรื่อง (ตัวเลขนี้ผมยึดถือตามข้อมูลในหนังสือของโดนัลด์ ริทชี ขณะที่ wikipedia ระบุว่า 53 เรื่อง ส่วนใน imdb.com ให้ข้อมูลว่ามี 56 เรื่อง) ครอบคลุมช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่าง ทั้งในวงการหนังและเหตุการณ์ทางสังคม

โอสุทำงานต่อเนื่องยาวนาน นับจากยุคหนังเงียบจนมาเป็นหนังเสียง และเปลี่ยนผ่านจากหนังขาว-ดำมาเป็นหนังสี ส่งผลให้สามารถแบ่งงานของเขาได้หลายยุคหลายช่วง แต่ภาพจำที่ผู้ชมทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คือหลังจากที่เขาทำหนังมาจนกระทั่ง ‘ค้นพบ’ และ ‘เจอทาง’ อันเหมาะเจาะสอดคล้องกับเนื้อหาที่สนใจอยากเล่า

นับจากนั้น โอสุก็ยึดมั่นกับสไตล์ดังกล่าวอย่างเหนียวแน่นเคร่งครัดในหนังทุกเรื่อง กระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันสุดแสนจะโดดเด่น เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทรงอิทธิพล และมีคุณูปการต่อโลกภาพยนตร์อย่างใหญ่หลวงมาจนถึงปัจจุบัน (โดยเฉพาะการสร้างความงามอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความประณีตพิถีพิถัน และการสร้างความสมจริง น่าเชื่อถือให้กับเรื่องเล่า)

โตเกียวกำสรวล Tokyo Story ยาสึจิโร โอสุ

ส่วนเหตุการณ์ทางสังคม โอสุเติบโตมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมทำสงครามหลายต่อหลายครั้ง, ความบอบช้ำสูญเสียจากการเป็นประเทศผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2, การฟื้นฟูและการขยายตัวของอุตสาหกรรม ตลอดจนการหลั่งไหลเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก

ผู้รู้ทางภาพยนตร์หลายท่านวิเคราะห์กันว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวส่งผลอย่างยิ่งต่อประเด็นทางเนื้อหาในหนังของโอสุแทบทุกเรื่อง หนังของเขาสะท้อนให้เห็นถึงภาพของโลกใบเก่า วิถีชีวิตแบบเก่า  ความเชื่อ ค่านิยม จารีตและขนบดั้งเดิมที่เคยยึดมั่นสืบเนื่องมาช้านานโดยเคร่งครัด กำลังสั่นคลอนเพราะกระแสความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา, เพราะความทันสมัยใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตก และเพราะการเติบโตของคนอีกรุ่นหนึ่งในเงื่อนไขทางสังคมที่ห้อมล้อมแตกต่างจากคนรุ่นก่อน

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของยุคสมัยและการสะท้อนภาพสังคมเท่าที่ปรากฎในหนังของโอสุ น่าจะมีน้ำหนักเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้นนะครับ เพราะหัวใจหลักแท้จริงในหนังของเขา เน้นไปที่การพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ซึ่งมีทั้งความผูกพันใกล้ชิด ความเหินห่างกลายเป็นอื่น การอยู่ร่วมและพรากจาก

พูดอีกแบบหนึ่ง หนังของโอสุส่วนใหญ่ เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แปรเปลี่ยนไป และไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีก ด้วยเหตุปัจจัย 2-3 ประการ ทั้งจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การกัดกร่อนกลืนกินของกาลเวลา จนทำให้สรรพสิ่งเป็นอนิจจังไม่จีรังยั่งยืน และสุดท้ายคือ ธรรมชาตินิสัยและความเป็นปุถุชนของมนุษย์ทุกคน

หนังของโอสุทุกเรื่องนั้น มีความคล้ายและใกล้เคียงกันมาก (ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ชื่อเรื่อง, นักแสดง, ชื่อตัวละคร, พล็อตและการดำเนินเรื่อง, ฉาก, มุมกล้อง, การจัดองค์ประกอบภาพ ฯลฯ) จนทำให้บ่อยครั้ง ผมก็เกิดความสับสน ไม่แน่ใจว่า เรื่องไหนเคยดูแล้ว เรื่องไหนยังไม่ได้ดู และเป็นเหตุให้โอสุมักจะโดนคนที่ไม่ใช่แฟนคลับโจมตีว่า ทำหนังซ้ำซากย่ำอยู่กับที่ ทุกเรื่องมี ‘สำเนาถูกต้อง’ เหมือนกันไปหมด

กับข้อตำหนิติเตียนเหล่านี้ โอสุอธิบายชี้แจงว่า เขาเปรียบเสมือนพ่อครัวที่ถนัดทำเต้าหู้ ไม่เคยปรุงเมนูอื่น หรือเป็นจิตรกรที่ชอบวาดเฉพาะดอกกุหลาบ ไม่เคยวาดรูปดอกไม้อื่น แต่ความสันทัดจัดเจน ก็ทำให้เต้าหู้ของเขาสามารถแยกย่อยออกได้หลายชนิดหลายแบบ และดอกกุหลาบในแต่ละภาพที่เขาวาด ก็แตกต่างกันไปทุกดอก ไม่ซ้ำและไม่เหมือนกันเลย

ข้างต้นนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การระบุหรือคัดสรรว่า ผลงานชิ้นใดของโอสุควรนับเป็นงานมาสเตอร์พีซ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก เพราะทุกเรื่องล้วนมีมาตรฐานระดับเดียวกัน มีความดีงามใกล้เคียงกัน กระทั่งสามารถเลือกชอบโปรดปรานเรื่องไหนมากเป็นพิเศษก็ได้ตามอัธยาศัย แล้วแต่จิตศรัทธา

การที่หลายคนยกย่องให้ Tokyo Story เป็นงานมาสเตอร์พีซของโอสุนั้น นอกเหนือจากความสมบูรณ์ลงตัว ทั้งลีลาทางศิลปะ เนื้อหาสาระ และอารมณ์เศร้าบาดลึกที่เรียกกันว่า ‘รันทดและงดงาม’ แล้ว ผมยังแถมเพิ่มให้อีกหนึ่งข้อเป็นการส่วนตัว นั่นคือ Tokyo Story อุดมไปด้วยฉากและเหตุการณ์หลายฉากหลายตอนที่กลายมาเป็น ‘ภาพจำ’ จนทำให้เมื่อเวลาผ่านไป ก็ยังคงสามารถรำลึกนึกถึงงานชิ้นนี้ได้มากกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ

เนื้อเรื่องย่อๆ ของ Tokyo Story เล่าถึงสองตายาย ซูกิจิและโทมิ เดินทางจากโอโนมิจิ (เมืองหนึ่งในจังหวัดฮิโรชิมา) มายังโตเกียว เพื่อเยี่ยมและแวะพักที่บ้านของลูกชายชื่อโคอิจิ ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอเปิดคลินิกเล็กๆ ในละแวกหมู่บ้านชานเมือง แล้วจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนไปเยี่ยมและพักที่บ้านของลูกสาวชื่อชิเงะ ซึ่งดำเนินกิจการร้านเสริมสวย

ก่อนออกเดินทาง สองตายายวาดภาพต่างๆ ล่วงหน้าเอาไว้สวยหรู ทั้งการที่จะได้พบเห็นชื่นชมความสำเร็จในหน้าที่การงานของบรรดาลูกๆ ทุกคน และการหวนคืนมาพบกันของคนในครอบครัวที่ต้องแยกย้ายห่างกันไกลมาเป็นเวลาเนิ่นนาน

โตเกียวกำสรวล Tokyo Story ยาสึจิโร โอสุ

แต่เมื่อเดินทางถึงโตเกียว ความเป็นจริงที่ผู้เฒ่าทั้งสองพบเผชิญกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ทั้งโคอิจิและชิเงะต่างมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวของตนเอง วุ่นวายอยู่กับเรื่องอาชีพการงาน จนกระทั่งไม่มีเวลาต้อนรับขับสู้พ่อแม่ได้ดีพอ ถึงขั้นทำให้การมาเยือนครั้งนี้ กลายเป็นภาระเดือดร้อนวุ่นวายและเป็นเรื่องยากลำบากใจสำหรับฝ่ายลูกๆ

นี่ยังไม่นับรวมความผิดหวังของสองตายายที่พบกับความจริงว่า ลูกๆ ไม่ได้ประสบความสำเร็จโดดเด่นเหนือกว่าใครอื่น อย่างที่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่คาดหวังและเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด ต่างยังต้องต่อสู้ดิ้นรนทำงานหนัก เพื่อประคับประคองตนเองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในเมืองหลวง เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่

แต่ที่หนักหนาสาหัสสุดคือ ความเปลี่ยนแปลงของลูก ซึ่งเหมือนเปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนอื่น แตกต่างจากลูกคนเดิมที่พ่อแม่คุ้นเคยไปไกลลิบลับ

เรื่องราวในหนังยังมีเหตุการณ์ถัดจากนี้ไปอีกพอประมาณ แต่ก็เป็นความลับที่ไม่สมควรนำบอกเล่า

เท่าที่จะพอพูดได้กว้างๆ ก็คือ หนังนำพาไปสู่บทสรุปลงเอยที่หม่นเศร้าบาดลึก บนเนื้อเรื่องเหตุการณ์ที่เอื้อต่อการเร้าอารมณ์ชนิดเอาตายได้สะดวกสบายมาก แต่โอสุก็เล่าออกมาอย่างสงบนิ่ง เรียบง่าย ประณีต งดงาม ไม่บีบคั้นฟูมฟายถึงขั้นต้องร้องห่มร้องไห้เสียน้ำตา แต่ผมพูดได้ด้วยความมั่นใจเลยนะครับว่า ดูจบแล้ว ‘เจ็บหนักสาหัสในใจ’

การเร้าอารมณ์และสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ชม คือ ความยอดเยี่ยมอันดับแรกสุดของ Tokyo Story เป็นอารมณ์หม่นเศร้าร้าวลึกในแบบที่มีรสขมพิเศษไม่เหมือนใคร และยากจะมีใครมาทำได้เหมือนเทียบเท่ากับโอสุอีกแล้ว

โอสุไม่ได้เร้าอารมณ์ด้วยวิธีปกติที่ใช้กันในหนังทั่วไป อาทิเช่น การขับเน้นเหตุการณ์ให้เข้มข้นจัดจ้าน, การตัดต่อลำดับภาพ, การใช้ดนตรีประกอบเร่งเร้า หรือการแสดงของดาราฝีมือดี เพื่อสื่ออารมณ์เบื้องลึกของตัวละครผ่านสีหน้าแววตา การร้องไห้ การระเบิดอารมณ์ (การแสดงในหนังของโอสุ เน้นและให้ความสำคัญกับภาษาร่างกาย มากกว่าอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏบนใบหน้าตัวละคร เพราะโอสุเชื่อว่า คนเราสามารถควบคุมความรู้สึกกันได้ และบ่อยครั้งก็มักจะ ‘เก็บอาการ’ เพื่ออำพรางกลบเกลื่อนอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงไม่ให้ใครๆ ล่วงรู้)

ผมอยากจะเรียกวิธีเร้าอารมณ์ในหนังของโอสุว่า เป็นเรื่องของพลังงานสะสม จากองค์ประกอบทุกอย่างในหนัง และแฝงอยู่ในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ มากมายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นด้วยพฤติกรรมการกระทำของตัวละครคนใดคนหนึ่ง, บางครั้งก็อยู่ในบทสนทนาที่ดูเหมือนคุยสัพเพเหระปราศจากความหมาย แต่ซ่อนงำความนัยระหว่างบรรทัดเอาไว้, บางครั้งก็เกิดจากการทำให้ตัวหนังตลอดทั้งเรื่อง เต็มไปด้วยความสมจริง จนกระทั่งผู้ชมเชื่อถือคล้อยตามต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ฯลฯ

รวมความแล้ว ความสะเทือนใจนั้นเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎในหนัง และจัดวางถ่ายทอดอย่างเป็นระเบียบโดยฝีมือคนทำหนังที่เก่งกาจระดับมหาเทพอย่างโอสุ

แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่าสำคัญสุด คือ โอสุเล่าถึงเรื่องราวและสะท้อนแง่คิดที่ผู้ชมทุกท่านล้วนมีรู้สึกใกล้ชิด มีประสบการณ์ร่วม และเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนอย่างแน่นอน

พูดง่ายๆ คือ หนังของโอสุนั้น สะท้อนให้เห็นถึง ‘เรื่องธรรมดา’ อย่างเช่น ความเติบโต, การแต่งงาน, การพ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่ ไปเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่, การแก่ชรา, ความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสื่อมลงของสังขาร, การพบและพลัดพราก, การล้มหายตายจากไปตามวัยและอายุขัย ฯลฯ

ผมเชื่อของผมเองนะครับว่า ยาสึจิโร โอสุนั้นเป็นคนช่างสังเกตมนุษย์ เป็นผู้ฝักใฝ่พยายามทำความเข้าใจชีวิต และเป็นศิลปินที่ไม่เคยวาดรูปอื่นใดนอกจากภาพดอกกุหลาบ ดังเช่นที่โอสุได้นิยามตัวเองไว้

ภาพดอกกุหลาบในหนังทุกเรื่องของโอสุ ผมเรียกและแปลความว่า หมายถึง ‘การสะท้อนภาพความเป็นไปในชีวิต’ นะครับ

เนื้อหาแง่คิดหลายๆ ย่อหน้าข้างต้น คือความยอดเยี่ยมประการที่สองของหนังเรื่อง Tokyo Story

และความยอดเยี่ยมลำดับสุดท้ายของ Tokyo Story ก็คือ สไตล์ทางศิลปะ

โตเกียวกำสรวล Tokyo Story ยาสึจิโร โอสุ ศิลปะ

สิ่งที่น่าทึ่งคือ ลีลาทางศิลปะที่โอสุคิดค้นขึ้น (โดยการหยิบยืมและได้รับอิทธิพลจากหนังอเมริกัน และนำมาปรับจนแทบไม่เห็นเค้าเดิมของต้นตอที่มาเลยสักนิด) ไม่ว่าจะเป็นการใช้มุมกล้องและระยะภาพเพียงไม่กี่แบบ, ตั้งกล้องแบบแช่นิ่งในระดับสายตาเหมือนคนนั่งบนพื้น  ปราศจากการเคลื่อนกล้อง, ตัดต่อลำดับภาพเท่าที่จำเป็น ด้วยการเรียงภาพต่อกันแบบพื้นฐานง่ายสุด ไม่ใช้ลูกเล่นในการตัดต่อที่หวือหวาโลดโผน ฯลฯ มีเป้าหมายใหญ่ๆ 2 ประการนะครับ คือ เพื่อผลทางด้านความงาม และเพื่อผลในการสร้างความสมจริง

จุดมุ่งหมายอันหลังนี่แหละครับที่ทำให้มันน่าสนใจ พูดโดยสรุปคือ วิธีต่างๆ ที่โอสุใช้ (อย่างเคร่งครัดสุดขีด) ทำให้มันบรรลุผลในการสร้างความสมจริง แต่ในทางตรงข้าม วิธีการตัดทอนและจำกัดให้ทุกสิ่งทุกอย่างเหลือน้อยสุดเฉพาะเท่าที่จำเป็น (ใช่แล้วครับ โอสุนั้นถือได้ว่าเป็น minimalist ระดับ ‘พระอาจารย์ใหญ่’ ในวงการภาพยนตร์โลก) ก็ส่งผลให้หนังที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นความสมจริงระดับสุดๆ ของโอสุ กลายเป็นหนังที่ประดิดประดอยปรุงแต่งอย่างวิจิตรบรรจงสุดๆ ไม่แพ้กัน

ตรงที่ผมบอกว่า ‘น่าทึ่ง’ ก็คือ โอสุทำให้ความสมจริงเป็นธรรมชาติกับการปรุงแต่งนี้ สามารถไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เป็นหนังสมจริงที่มีลีลากลิ่นอายแบบบทกวี มิหนำซ้ำยังบทกวีที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ แบบแผน ข้อบังคับ และฉันทลักษณ์เต็มไปหมด แต่ตรงนี้ก็ขานรับสอดคล้องกับสภาพของตัวละคร (ในสังคมญี่ปุ่น) ที่มีชีวิตผูกติดกับพันธะหน้าที่ต่างๆ รวมทั้งขนบ จารีต ค่านิยม ร้อยรัดผูกพันจนขาดความเป็นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง

ความงามในหนังของโอสุนั้น สรุปให้สั้นที่สุดคือ การจัดองค์ประกอบให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดความสมดุล ตั้งแต่โครงสร้างการเล่าเรื่องที่มีการลำดับเรื่องฉากหนึ่ง ไปสู่อีกฉากหนึ่งอย่างเป็นระเบียบแบบแผนมาก หรือการจัดองค์ประกอบภาพให้ทุกฉากทุกตอนสมดุลกันเสมอ (กล่าวได้ว่า ทุกเฟรมตลอดความยาว 136 นาที หรืออันที่จริงคือ ทุกเฟรมในหนังทุกเรื่อง)

และขนาดชีวิตแกเอง ยังเน้นความสมดุลเลยครับ ยาสึจิโร โอสุมีวันเกิดและวันตายตรงกัน ตอนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save