fbpx

ขวากหนาม-ความฝัน-วันเวลา tick, tick…BOOM!

tick tick BOOM

tick tick BOOM

ความประทับใจแรกสุดของผมในการดูหนังเรื่อง tick,tick…BOOM! คือการมีโอกาสได้รู้จักชีวิตและผลงานของโจนาธาน ลาร์สัน นักเขียนบทละครเพลง นักแต่งเพลง ผู้เป็นศิลปินที่เก่งกาจระดับที่เรียกได้เต็มปากว่า เก่งเข้าขั้นอัจฉริยะ

ตลอดชีวิตอันแสนสั้นของโจนาธาน ลาร์สัน (เสียชีวิตในวัย 35 ปี) เขาฝากผลงานเอาไว้เพียงแค่ 3 เรื่อง ได้แก่ Superbia ละครเพลงว่าด้วยโลกอนาคต ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีการแสดงแบบเต็มเรื่อง ถัดมาคือ tick, tick…BOOM ละครนอกบรอดเวย์ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกัน และเรื่องสุดท้าย Rent ละครเพลงแนว rock musical ดัดแปลงจากโอเปรา La Bohème ของจิอาโคโม ปุชชินี แบบไม่เคร่งครัดต่อตัวเรื่องเดิมมากนัก บอกเล่าเกี่ยวกับกลุ่มศิลปินหนุ่มสาวผู้ยากไร้ในย่านเสื่อมโทรมของแมนฮัตตัน ซึ่งต่อสู้ดิ้นรนชนิดปากกัดตีนถีบ เพื่อยังชีพให้อยู่รอด และสะท้อนถึงวิถีการใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียน

Rent เริ่มต้นจากการเป็นละครเพลงนอกบรอดเวย์ในปี 1996 จากนั้นเพียงแค่ไม่กี่เดือนก็โยกย้ายมาเปิดแสดงในบรอดเวย์ กลายเป็นละครฮิตถล่มทลายทันที เปิดแสดงต่อเนื่องยาวนานถึง 12 ปี ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมอย่างท่วมท้นล้นหลาม คว้ารางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลพูลิตเซอร์และโทนีอวอร์ดละครเพลงยอดเยี่ยม

ในปี 2005 Rent ดัดแปลงเป็นหนัง กำกับโดยคริส โคลัมบัส (ผู้กำกับหนังชุด Harry Potter 2 ภาคแรก)

จนถึงปัจจุบัน Rent กลายเป็นปรากฏการณ์ เป็นการสร้างสรรค์เปิดทางใหม่ๆ ให้ละครเพลงก้าวพ้นจากขนบเดิมๆ และที่สำคัญ มันกลายเป็นตำนานไปเรียบร้อยแล้ว

ราวกับเป็นนิยายแสนเศร้าสะเทือนใจ เมื่อโจนาธาน ลาร์สัน ผู้สร้างสรรค์ละครเพลงอันลือลั่นเรื่องนี้ เสียชีวิตก่อนที่ Rent จะเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์เพียงแค่หนึ่งวัน ไม่มีโอกาสล่วงรู้ ไม่ได้เห็นความสำเร็จและความใฝ่ฝันชั่วชีวิตของตนเองปรากฏเป็นจริง

tick, tick…BOOM! เมื่อครั้งเป็นละครเพลง (ตรงนี้ผมอ่านจากข้อมูลที่พบเจอ บวกกับความเข้าใจจากการดูหนังนะครับ ถ้าผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็ต้องขออภัยไว้ด้วย) ได้รับคำนิยามว่าเป็น rock monologue กล่าวคือ มีลักษณะคล้ายๆ โชว์เดี่ยวไมโครโฟน โจนาธาน ลาร์สันปรากฏตัวบนเวที ซึ่งมีนักร้องอีก 2 คนและนักดนตรี 3-4 คน คล้ายๆ การแสดงคอนเสิร์ต จากนั้นก็เล่าเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของตนเอง สลับกับการร้องเพลง

เรื่องที่บอกเล่าต่อผู้ชม พูดอ้อมๆ คือ ความเป็นมาต่างๆ ที่นำพาให้โจนาธาน ลาร์สัน เขียนบทละครเรื่อง tick, tick…BOOM! ออกมาในท้ายที่สุด เป็นประวัติและเบื้องหลังการถือกำเนิดของชิ้นงานนั้น ในลักษณะเดียวกับนิยายประเภทที่เรียกกันว่า metafiction

tick, tick…BOOM! ฉบับภาพยนตร์ ยังคงเนื้อความทั้งหมดตามละคร แต่วิธีนำเสนอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็น rock monologue ตัวละครโจนาธาน ลาร์สัน (แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมมากโดยแอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ปรากฏตัวบนเวที พูดคุยกับผู้ชมในโรงละคร (และเราๆ ท่านๆ ที่กำลังดูหนังเรื่องนี้)

ส่วนต่อมาเหมือนหนังปกติทั่วไป พูดง่ายๆ คือ เป็นการขยายความตามคำบอกเล่าของโจนาธาน ลาร์สันบนเวที ให้ปรากฏเป็นภาพ เหมือนการจำลองเหตุการณ์

ทั้งสองส่วนสลับไปมาอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งก็มีอีกส่วนหนึ่งเพิ่มเข้ามา นั่นคือภาพในความคิดฝัน หรือจะเรียกว่าเป็น ‘ความในใจ’ ของโจนาธาน ลาร์สันก็ได้เหมือนกัน (ส่วนนี้มักจะมาควบคู่กับบทเพลง)

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นวิธีเล่าเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยากอยู่สักหน่อยนะครับ แต่เอาเข้าจริง เพียงแค่ช่วงเปิดเรื่องไม่ถึง 10 นาที หนังก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ทันทีว่า ดูง่าย เข้าใจง่าย และสามารถเปลี่ยนข้ามแขนงจากละครเวทีมาเป็นหนังได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

นอกจากจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจแล้ว จุดเด่นถัดมาของ tick, tick…BOOM! ก็คือเรื่องที่บอกเล่า

หนังเปิดฉากเริ่มเรื่องในปี 1990 โจนาธาน ลาร์สันในวัย 29 เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะครบ 30 ปีบริบูรณ์ (ช่วงเวลาตั้งแต่ต้นจนจบของหนัง มีระยะเวลาประมาณ 10 วัน) กำลังตกอยู่ในอาการสติแตก เหมือนได้ยินเสียงในหัวอยู่ตลอดเวลา เป็นเสียงเข็มนาฬิกากำลังเดิน ชวนให้เขานึกถึงระเบิดเวลานับถอยหลังใกล้จะระเบิด (ตรงตามชื่อหนัง และแง่มุมนี้ก็ได้รับการขับเน้นตลอดเวลา ด้วยการใส่เสียงเข็มนาฬิกาเดินให้ผู้ชมได้ยินอยู่เนืองๆ)

ความกังวลอย่างแรกคือ โจนาธานรู้สึกว่า ขณะอายุใกล้จะครบ 30 ชีวิตของเขากลับยังมะงุมมะงาหราไปไม่ถึงไหน ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เทียบเคียงกับสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ นักเขียนบทที่เขาชื่นชมยึดถือเป็นแบบอย่าง ซอนด์ไฮม์สร้างสรรค์ผลงานเรื่องแรกเป็นละครเพลงอมตะ West Side Story เมื่ออายุ 27

พอล แม็คคาร์ทนีย์ แต่งเพลงสุดท้ายร่วมกับจอห์น เลนนอน เมื่ออายุ 30

ในวัยเดียวกัน พ่อของโจนาธาน แต่งงาน มีลูก มีอาชีพการงานแน่ชัด มีบ้าน มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน

โจนาธานขณะอายุย่าง 30 ยังชีพด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร ฐานะการเงินขัดสน ค้างค่าเช่าห้องพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ มีใบทวงหนี้เยอะแยะมากมาย

ถัดมา คือ ความฝันอยากเป็นนักเขียนบทละครของชายหนุ่มกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บทละครเรื่อง Superbia ที่ใช้เวลาเขียน 8 ปี ใกล้ถึงวันทำการเวิร์กช็อป (เป็นการอ่านบทและร้องเพลง แสดงให้บรรดาโปรดิวเซอร์รับชม พูดอีกแบบคือ เหมือนการนำเสนอเพื่อขายงาน) และยังอยู่ในสภาพไม่พร้อม ทั้งการหาเงินมาจ้างนักดนตรี การติดต่อเชิญใครต่อใครมาเป็นผู้ชม แต่ที่สำคัญสุดคือ ละครดังกล่าวยังขาดเพลงเอก ซึ่งเป็นเหมือนตัวชี้วัดตัดสินว่าผลงานจะออกมาดีหรือย่ำแย่

นี่ยังไม่นับรวมความหวั่นวิตก ไม่มั่นใจต่อเสียงตอบรับของผู้ชมการเวิร์กช็อป

หนักหนากว่านั้น โจนาธานเริ่มหวั่นไหว ลังเล และสับสน เมื่อเพื่อนรักชื่อไมเคิล ซึ่งผูกพันสนิทสนมกันตั้งแต่วัยเด็ก เดินทางมา ‘ล่าฝัน’ ที่นิวยอร์กด้วยกัน โดยไมเคิลใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง โจนาธานอยากเป็นคนเขียนบท แต่แล้ววันหนึ่ง ไมเคิลก็ถอดใจยอมแพ้ โยนความฝันทิ้งกลางคัน หันไปทำงานเอเจนซีโฆษณา และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา ไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงทางบวกในชีวิตของไมเคิล ส่งผลให้โจนาธานกังขาคลางแคลงใจต่อการเดินตามความใฝ่ฝันของตน ถึงขั้นสั่นคลอนอย่างรุนแรง

แต่นั่นยังไม่ใช่เรื่องร้ายที่สุด โจนาธานคบหาเป็นแฟนกับซูซาน หญิงสาวผู้หลงใหลโมเดิร์นแดนซ์ และใกล้จะบรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จ แต่แล้วซูซานก็ข้อเท้าหักระหว่างการซ้อมใหญ่ ต้องหยุดพักรักษาตัวนาน 6 เดือนจนหาย และพบว่าไม่สามารถกลับมาเต้นได้ดีเหมือนที่เคย ต้องเบนเข็มมาเป็นครูสอนเต้น เธอพบประกาศรับสมัครงานที่เหมาะใจตรงตามต้องการ จึงตัดสินใจสมัครและได้งานนั้น

ปัญหาคือ งานดังกล่าวต้องย้ายไปอยู่ต่างเมือง ซูซานจึงบอกเล่าต่อชายหนุ่มเพื่อปรึกษาขอความเห็นว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าตกลงยอมรับงาน นั่นหมายความว่าโจนาธานต้องย้ายถิ่นฐานไปด้วย และห่างไกลจากบรอดเวย์ ห่างไกลจากนิวยอร์ก ห่างไกลต่อการสานฝันให้เป็นจริง

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างดังกล่าวมา ประเดประดังถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน ท่ามกลางเวลาเร่งกระชั้นใกล้ถึงเส้นตายการเวิร์กช็อปที่เหลืออีกเพียงแค่ไม่กี่วัน

ความยอดเยี่ยมอย่างแรกของ tick, tick…BOOM! คือการเล่ามรสุมชีวิตและวิกฤตต่างๆ นานาที่รุมกระหน่ำตัวละครหลายระลอกได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน สะท้อนถึงชีวิตยากลำบากเต็มไปด้วยอุปสรรคของศิลปินก่อนจะประสบความสำเร็จตามครรลองของเรื่องราวประเภทนี้

แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้นก็คือ ด้วยวิธีเล่าตัดสลับไปมา ระหว่างโชว์บนเวทีของโจนาธาน ลาร์สัน, ภาพจำลองเหตุการณ์จริง และฉากร้องเพลง หนังพาคนดูไปไกลถึงขั้นเข้าใจอารมณ์เบื้องลึกอันสลับซับซ้อน ความคิดที่ปั่นป่วนสับสน ความขัดแย้งภายในใจเยอะแยะมากมาย และความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดของโจนาธาน ลาร์สันได้อย่างกระจ่างแจ้งแจ่มชัด

ควบคู่กันไปกับการนำพาผู้ชมไปทำความเข้าใจทำความรู้จักกับชีวิตของโจนาธาน ลาร์สัน ในแง่มุมที่เป็นมนุษย์ปุถุชน มีความฝัน ความกลัว ความอ่อนแอ ความเปราะบาง ความเห็นแก่ตัว ความผิดพลาด ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ตลอดเส้นทางวิบากที่ตัวละครต้องพบเผชิญ อีกด้านหนึ่งก็ปรากฏให้เห็นควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา นั่นคือความสามารถในทางศิลปะของโจนาธาน ลาร์สัน ความยอดเยี่ยมของผลงานที่เขาสร้างสรรค์ออกมา (เพลงที่เขาแต่งนั้น เขียนเนื้อร้องได้คมคาย ท่วงทำนองไพเราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นมาก กล่าวสั้นๆ คือ มีความสด แปลกใหม่ ผสมผสานกับเพลงตามขนบของ musical แบบเดิมๆ ได้อย่างกลมกลืน) และกรรมวิธีขั้นตอนในการสร้างงานศิลปะแบบกรีดเลือด เฉือนหัวใจ กลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตทุกข์สุขของตนเอง ออกมาเป็นบทละครและบทเพลงได้อย่างน่าทึ่งและเป็นรูปธรรม

โดยพล็อตและเหตุการณ์แล้ว tick, tick…BOOM! ไม่ได้มีเนื้อหาหวือหวาโลดโผน เป็นอีกตัวอย่างที่ดีของคำกล่าวที่ว่า ไม่สำคัญหรอกว่าจะเล่าเรื่องอะไร แต่อยู่ที่จะเล่ามันออกมาอย่างไร ด้วยวิธีการเช่นไร

วิธีเล่าเรื่องซึ่งโดดเด่นมากๆ ของ tick, tick…BOOM! นอกจากจะทำให้เรื่องยากๆ สลับซับซ้อนกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่ายแล้ว ยังส่งผลยิ่งยวดในการทำให้เรื่องหนักๆ ตึงเครียด กลายเป็นความสนุกบันเทิงครบรส ดึงดูดและเร่งเร้าความสนใจชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

ที่สำคัญคือ วิธีการดังกล่าวยังนำไปสู่ฉากน่าประทับใจครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดทั่วทั้งเรื่อง โดยเฉพาะฉากเพลงที่เต็มไปด้วยลูกเล่นการนำเสนออันแพรวพราว ได้ผลลัพธ์เบื้องต้นดังเช่นที่หนังเพลงควรจะต้องมี อย่างเช่นความน่าตื่นตา การพรรณนาอธิบายอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ฯลฯ

ผมคิดว่าการใช้ประโยชน์จากเพลงที่โดดเด่นสุดในหนัง คือ ทำให้จังหวะดรามาที่เกิดขึ้นมีอรรถรสเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ตัวอย่างเช่น เพลง Sunday พูดถึงความวุ่นวายโกลาหลในการทำงานที่ร้านอาหารเช้าวันอาทิตย์ การรับมือกับลูกค้ามากมาย ซึ่งมีทั้งจุกจิกจู้จี้ เอาแต่ใจ ช่างติช่างบ่น และปัญหาสารพัดสารเพ

ฉากดังกล่าวเริ่มขึ้นด้วยการเล่าเหมือนหนังตามปกติ แสดงความอึกทึกอลหม่าน ค่อยๆ ทวีความกดดัน จนถึงจุดหนึ่ง โจนาธาน ลาร์สันก็ระบายความในใจออกมาเป็นบทเพลง มีเนื้อร้องตัดพ้อต่อว่าตำหนิติเตียนบรรดาลูกค้าอย่างไม่บันยะบันยังถ้อยคำ

แต่ท่วงทำนองของเพลง และการนำเสนอออกมาเป็นฉาก musical กลับตรงกันข้าม นุ่มนวล อ่อนโยน หวานซึ้ง ตัวละครทั้งหมดในร้านอาหาร (ซึ่งร่วมร้องประสานเสียง) แลดูสงบนิ่ง ขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จนแฝงพ่วงด้วยการเย้ยหยันเสียดสีติดตามมาด้วย

อีกฉากหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือ เพลง Therapy เป็นการเล่าตัดสลับ ระหว่างโชว์บนเวทีกับภาพเหตุการณ์ในชีวิตจริง

บนเวที โจนาธาน ลาร์สันร้องเพลงคู่กับคาเรสซา (เพื่อนร่วมงานและนักแสดงในละครของเขา) ส่วนเหตุการณ์ในชีวิตจริง เล่าถึงฉากทะเลาะเบาะแว้งครั้งแตกหักของเขากับซูซาน

ทั้งสองส่วนตัดสลับไปมาตลอดเวลา ช่วงที่ทะเลาะกันนั้น เพลงจะหยุดลงชั่วขณะ ได้ยินแต่บทสนทนาโต้ตอบใส่อารมณ์ระหว่างตัวละคร เหมือนฉากดรามาในหนังปกติ

ความพิเศษของฉากนี้คือ เพลงที่ร้องสมมติสถานการณ์ของคู่รักซึ่งมีความสัมพันธ์ระหองระแหง กำลังเข้ารับการบำบัดต่อหน้าของที่ปรึกษาเรื่องชีวิตครอบครัว (ซึ่งหนังทำให้ผู้ชมอยู่ในฐานะนั้น) เนื้อร้องบอกเล่าถึงคำสารภาพของทั้งสองฝ่าย แจกแจงต้นตอสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

ความพิเศษไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์นะครับ แต่มาจากท่วงทำนองสนุกสนานน่ารัก และลีลาการแสดงของนักร้องบนเวที ซึ่งทำให้เพลงนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน คึกคัก รื่นเริง และขัดแย้งตรงข้ามกับฉากการทะเลาะเบาะแว้งจนสุดโต่ง และเมื่อประกอบรวมกัน มันกลายเป็นฉากเพลงฉากดรามาที่เย้ยหยัน ประชดประชันตัวเองอย่างเจ็บปวด รวมทั้งยังแสดงตัวอย่างวิธีทำ ในการที่โจนาธาน ลาร์สัน หยิบฉวยประสบการณ์ชีวิตมาแปรรูปเป็นงานศิลปะได้อย่างไร

มีฉากดี ๆ ทำนองนี้ แต่นำเสนอด้วยรายละเอียดวิธีการที่ผิดแผกกันไป อยู่เยอะแยะเต็มไปหมด

tick, tick…BOOM! ติดกลุ่มหนังยอดเยี่ยมประจำปี 2021 ของผมนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save