วิโรจน์ สุขพิศาล เรื่องและภาพ
อุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน พื้นที่ของอุทยานตั้งอยู่ในมณฑลชิงไห่ แถบตะวันตกของจีน กินอาณาเขตพื้นที่ 3.95 แสนตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 4 เมือง 21 อำเภอ และถือเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำที่สำคัญของจีน 3 สายคือ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำหลานชางหรือแม่น้ำโขง พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘แทงค์น้ำของประเทศจีน’ เนื่องจากเป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนจีนในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำกว่า 700 ล้านคน
จากความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ทำให้รัฐบาลกลางของจีนมีการตั้งกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสายขึ้นมาในปี 2016 เพื่อทำหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลประชาชนที่อาศัยในบริเวณอุทยาน
101 ชวนมาทำความเข้าใจว่าการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในมุมมองของจีนนั้นเป็นอย่างไร อะไรคือหลักในการบริหารบริการอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย
รวมอำนาจการบริหารจัดการ
ซุน ลี่ จวิน (Sun Li Jun) รองอธิบดีกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย เริ่มต้นอธิบายว่า กรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสายเพิ่งก่อตั้งในปี 2016 มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สั่งการมาโดยตรงจากรัฐบาลกลางโดยตรง โดยกรมกำกับดูแลอุทยานฯ เป็นหน่วยงานกลางที่คอยกำกับดูแลหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอนุรักษ์ป่าไม้อีกต่อหนึ่ง
“เมื่อก่อนฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลป่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนการพัฒนาป่าไม้ ส่วนที่ตัดไม้ไปทำประโยชน์ กรมที่ดิน ส่วนงานด้านการเกษตร การปศุสัตว์ จะแยกหน่วยงานกันดูแล การทำงานหลายอย่างประสบปัญหาคือหน่วยงานไม่ได้เห็นภาพเดียวกัน แต่เมื่อมีหน่วยงานของเราเข้ามาดูแลแล้ว ก็กลายเป็นผู้กำกับดูแลอีกทีให้ทุกๆ หน่วยงาน การดำเนินงานต้องมุ่งไปในทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหมด จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีมากต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่” ซุน ลี่ จวิน อธิบาย

นอกจากนั้นกรมกำกับดูแลอุทยานฯ ยังกำกับดูแลทั้งป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และอุทยานแห่งชาติย่อยที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่น้ำสามสาย รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ภายในอุทยาน ทำให้กรมกำกับดูแลอุทยานฯ มีอำนาจการทำงานค่อนข้างเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่ากรมกำกับดูแลอุทยานฯ แห่งนี้จะมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่นโยบายใหญ่ในภาพรวมก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลกลางเป็นหลัก
การปรับโครงสร้างการบริหารการกำกับดูแลอุทยาน ทำให้การประเมินผลงานด้านการอนุรักษ์ของพื้นที่แห่งนี้ได้ผลค่อนข้างดี คือมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและน้ำมีคุณภาพดีขึ้น มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายของพืชพันธุ์และจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น และประการสำคัญคือประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยาน มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น
จากแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลประชาชนของกรมกำกับดูแลอุทยานฯ ทำให้พื้นที่อุทยานได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติของ UNESCO และยังเป็นมรดกด้านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสายมีอำนาจการดูแลจัดกลางเฉพาะส่วนที่เป็นต้นน้ำเป็นหลัก ไม่ได้ดูแลจัดการในระดับกลางน้ำหรือปลายน้ำ ซึ่งทางซุน ลี่ จวิน บอกว่าการบริหารจัดการระดับกลางน้ำกับปลายน้ำจะเป็นส่วนของหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจดูแล แต่เป้าหมายของหน่วยงานดังกล่าวคงไม่ต่างกันคือต้องการอนุรักษ์ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
ดูแลป่าพร้อมดูแลคน
นอกจากการดูแลรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมกำกับดูแลอุทยานฯ แล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ของกรมกำกับดูแลอุทยานฯ คือ การดูแลประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการบริหารจัดการพื้นที่อุทยาน คือมนุษย์กับธรรมชาติต้องอยู่อย่างมีสมดุล
ซุน ลี่ จวิน ขยายความว่า “ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในนี้ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ถ้าดูแลไม่ดี เขาก็จะไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทางกรมกำกับดูแลอุทยานฯ เลยใช้วิธีว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานที่บรรลุนิติภาวะและมีกำลังในการทำงาน ก็แต่งตั้งเป็นผู้อนุรักษ์อุทยานไปเลย และมีเงินอุดหนุนให้แต่ละเดือน เดือนละ 1,800 หยวน โดยมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นจุดนี้เป็นสิ่งที่นอกจากช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนแล้ว ก็ยังเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย’
นอกจากชาวบ้านที่อาศัยบริเวณอุทยานจะได้รับเงินเดือนในฐานะผู้อนุรักษ์อุทยานแล้ว ทางหน่วยงานก็ยังสนับสนุนด้านต่างๆ ด้วย เช่น การจัดตั้งสหกรณ์ การส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยว การเปิดเป็นโรงแรม เป็นโฮมสเตย์ การเปิดร้านอาหาร หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย
ร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน
“เรายังได้ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยชิงไห่ ในการเปิดหลักสูตรการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศจีนในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่” รองอธิบดีกรมกำกับดูแลอุทยานฯ ให้ข้อมูลเพิ่มถึงความร่วมมือระหว่างกรมกำกับดูแลอุทยานฯ กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการอนุรักษ์โดยตรง
นอกจากนี้ กรมกำกับดูแลอุทยานฯ ยังมีความร่วมมือกับสถาบันด้านการวิจัย กลุ่ม NGOs แหล่งทุน รวมถึงอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับสื่อในประเทศจีนในการร่วมกันถ่ายทำสารคดีเพื่อเผยแพร่ความรู้ของอุทยานฯ ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ด้วย
กรมกำกับดูแลอุทยานฯ มีความพยายามในการยกระดับการดูแลพื้นที่อุทยานให้ได้มาตรฐานระดับโลก โดยการอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการอนุรักษ์ นอกจากนั้นทางกรมกำกับดูแลอุทยานฯ ยังเรียนรู้การนำเสนอเนื้อหาโดยเฉพาะในเว็บไซต์จากต้นแบบเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติในระดับโลก โดยหวังว่าเว็บไซต์จะเป็นช่องทางออนไลน์ที่เปรียบเสมือนหน้าต่างที่เปิดสู่ทั่วโลก เว็บไซต์ของกรมกำกับดูแลอุทยานฯ มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย มีภาพประกอบที่น่าสนใจ และมีเนื้อหาที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามในช่วงต้นของการทำเว็บไซต์ยังเผยแพร่เนื้อหาเฉพาะภาษาจีน ยังไม่มีการทำเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ

“การออกแบบเว็บไซต์จะออกแบบมาเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไป เช่น จะบอกเลยว่าปีไหนเกิดกิจกรรมอะไร อีเวนต์ใหญ่ๆ ก็จะให้มีคลิกเข้าไปดูได้ มีกิจกรรมที่เราได้ดำเนินการในการอนุรักษ์ มาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ และยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม รวมถึงการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย” ถง จื้อ เจียว (Tong Zhi Jiao) บรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของเว็บไซต์กรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย อธิบายเพิ่มเติม

ใช้เครื่องมือด้านกฎหมายในการกำกับดูแล
การดำเนินการของกรมกำกับดูแลอุทยานฯ ถือได้ว่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทางกรมกำกับดูแลอุทยานฯ มีบทบาทสำคัญในการร่างกฎหมายฉบับนี้ และได้นำเสนอให้หน่วยงานรัฐระดับชาติเพื่อผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย
“เรายังมีกลไกต่างๆ ในการกำกับดูแล เช่น ออกเป็นคู่มือ เป็นมาตรการ หรือเป็นประกาศต่างๆ เพื่อจะดูแลภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุทยานของเรา อย่างเช่นในภารกิจการทำงานวิจัย ภารกิจการอนุรักษ์ปกป้อง ภารกิจในเรื่องของการดูแลสิทธิต่างๆ รวมถึงการกำกับดูแลประชากรในพื้นที่นี้ด้วย” ซุน ลี่ จวิน อธิบายเพิ่มเติม และกล่าวสรุปว่าการกำกับดูแลดูแลอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ จำเป็นต้องพึ่งพากฎหมายหลายระดับ ไม่ได้ใช้แค่พระราชบัญญัติเพียงฉบับเดียว แต่ต้องมีกฎระเบียบ ประกาศ กฎเกณฑ์ หรือคู่มือ เพื่อใช้ประกอบด้วย และการออกกฎหมายดังกล่าวต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนไทย สนับสนุนโดย กรมกิจการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPG – China International Publishing Group) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และศูนย์จีน-อาเซียน โดยมี China Report Press และ China Report ASEAN – Thailand เป็นผู้ประสานงานหลัก