fbpx
อ่านหาเรื่อง

อ่านหาเรื่อง

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สวัสดีครับ บทความคราวนี้ขอเสนอวิธีอ่านหาเรื่อง การอ่านหาเรื่องของผมไม่ใช่การอ่านเพื่อหาเรื่องกับใครนะครับ แต่คือการอ่านเก็บประเด็นไปคิดต่อ ไม่ให้ตัวหนังสือผ่านตาเราไปเฉยๆ

อ่านหาเรื่องนั้นจะอ่านจากแหล่งไหนตัวบทใดก็ได้เรื่องทั้งนั้น ไม่มีจำกัด แต่คราวนี้เราจะลองอ่านหาเรื่องจากเอกสารชั้นต้นทางการทูตกันนะครับ บทความจะได้เข้ากับธีม 101.world บ้าง เขียนอะไรยืดยาวออกนอกธีมมาหลายครั้งแล้ว วันไหนเจ้าของวิกเขาหาแล้วไม่พบเรื่องที่เขาอยากอ่านขึ้นมา เลยจะอดเขียนต่อกันพอดี

การอ่านเอกสารชั้นต้นทางการทูตนั้นอ่านได้เป็นหลายแบบ การอ่านหาเรื่องอย่างที่ผมจะเสนอก็เป็นแบบหนึ่ง ผมได้วิธีอ่านแบบนี้จากอาจารย์สอนประวัติศาสตร์การทูตของผมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเดวิด ลอยด์ จอร์จ

วันหนึ่งขณะที่เราเรียนการทูตช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักเรียนในชั้นก็ชวนอาจารย์ออกนอกเรื่องนโยบายการทูตของลอยด์ จอร์จ เปลี่ยนมาถามอาจารย์ว่า งานเขียนชีวประวัติลอยด์ จอร์จ ของอาจารย์ ที่ต้องอ่านเอกสารชั้นต้นจำนวนมาก อาจารย์มีวิธีอ่านเอกสารเหล่านี้อย่างไร อาจารย์ผมใจดีกับลูกศิษย์ ยอมเปลี่ยนเรื่องที่กำลังเรียนมาคุยเรื่องนี้กับพวกเราแทน

 

หลัก “อ่านหาเรื่อง”

 

อาจารย์บอกว่างานประวัติศาสตร์จะใช้ข้อมูลที่ได้จากเอกสารชั้นต้นมาประกอบเป็นวัตถุดิบสำหรับเล่าบรรยายเรื่อง เพื่อให้การเล่าประวัติศาสตร์หรือประวัติบุคคลออกมาได้เหมือนกับภาพทัศนมิติ ที่พาให้คนอ่านเห็นเลยจากด้านหน้าเข้าไปสู่ความเข้าใจส่วนที่ลึกลงไป และเห็นเรื่องนั้นได้หลายด้านจากหลายภาพประกอบกัน เหมือนกับคนที่โลดแล่นแสดงบทบาทอยู่ในเวทีประวัติศาสตร์มองเห็น หรือจะทำให้คนอ่านเห็นในมุมมองที่กว้างกว่าคนในเวทีประวัติศาสตร์เหล่านั้นเห็นก็ทำได้ เพราะนักประวัติศาสตร์สามารถบรรจุเหตุการณ์ลงไปซ้อนกันหรือเทียบเคียงกันในห้วงเวลาหนึ่งหรือข้ามช่วงเวลาได้หลายมิติ

แต่กับงานทางสังคมศาสตร์ อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่านักวิชาการ IR จำนวนไม่น้อยหยิบใช้ข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น เพื่อหาทางยืนยันหรือหักล้างข้อเสนอในสมมติฐานหรือใน argument ที่งานวิจัยตั้งไว้ เหมือนกับว่ามีธงบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว และเข้ามาขุดหาว่าเอกสารชั้นต้นชิ้นไหนมีข้อมูลที่จะนำมาใช้สนับสนุนประเด็นที่ตั้งไว้แล้วนั้นได้บ้าง อาจารย์ว่าการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์มาพิสูจน์สมมติฐานก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่เตือนว่าการใช้เอกสารชั้นต้นแบบนี้ให้ระวังปัญหา confirmation bias ไว้ด้วย เพราะข้อมูลมีกองอยู่มหาศาลทั้งที่เราเห็นและยังไม่เห็นหรือไม่อาจเห็นได้ และข้อมูลเดียวกันอาจใช้ยืนยันข้อเสนอที่มีต่างๆ กันไปก็ได้

พวกเราเลยได้โอกาสขอให้อาจารย์ช่วยแนะวิธีใช้เอกสารชั้นต้นแบบอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิชาการ อาจารย์เลยสอนแนวทางการอ่านหาเรื่องนี้ให้ หลักใหญ่ใจความการอ่านหาเรื่องจากเอกสารชั้นต้นของท่าน ผมสรุปออกมาให้เข้าใจเร็วขึ้นได้อย่างนี้ครับ :

reflect on clues => draw implications => connect => probe => tentative findings

 

ขยายความได้ว่า ข้อมูลในเอกสารชั้นต้นโดยตัวของมันเอง ไม่สะท้อนอะไรออกมาชัดเจนได้เท่าไรนัก แต่เราที่เป็นคนอ่านต่างหากที่ควรจะ reflect on clues ที่อ่านพบในเอกสารเหล่านั้น แล้วพิจารณานัยสำคัญ (implications) ที่มันมีต่อเรื่องต่อประเด็นปัญหาที่เราสนใจอยู่ แล้วลองเชื่อมโยง (connect) มันเข้ากับสิ่งที่เรารู้อยู่ก่อน อาจจะเป็นเหตุการณ์/ปรากฏการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ หรือแนวคิดเชิงทฤษฎีที่เราสนใจ แล้วลงมือสืบสาวหรือสืบค้น (probe) สิ่งที่น่าคิดน่ารู้น่าตั้งคำถามต่อ ว่ามันจะพาเราไปทางไหน ไปพบอะไรอีก และสุดท้ายในกระบวนการนี้คือ เราพอจะสรุปและนำเสนอข้อค้นพบ (tentative findings) อะไรออกมาได้บ้าง

อาจารย์บอกด้วยว่า อาจารย์ใช้ clues ในความหมายแต่แรกของคำๆ นี้ ที่หมายถึงเส้นด้ายที่พันม้วนเป็นไจ อาจารย์บอกว่าถ้าเราพบด้ายเส้นที่น่าสนใจในเอกสาร ก็ให้ลองติดตามเบาะแสของด้ายเส้นนั้นไปจนสุดไจของมัน แล้วดูว่าประเด็นที่อ่านได้ เป็นต้นว่า ปัญหาที่ผู้นำมองและวิธีมองปัญหาของผู้นำ พลวัตของสถานการณ์ในพื้นที่ หรือตัวเอกสารนั้นเองที่อาจเป็นผลของเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ มันมีนัยบ่งชี้อะไรไปในทางไหนให้เรานำไปเชื่อมโยงต่อ หรืออย่างน้อยที่สุด ด้ายเส้นนั้นผูกปมอะไรไว้ ที่ทำให้เราสะดุดใจคิดต่อจากนั้นออกไปได้

การเชื่อมโยงที่ว่าทำได้หลายแบบ ยิ่งอ่านมามากหรือรู้ภูมิหลังอะไรมาก่อนก็ยิ่งเห็นประเด็นให้เชื่อมโยงคิดต่อได้มาก เช่น

  • เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่แน่ชัดกับเหตุการณ์ที่ต้องคาดการณ์
  • เชื่อมโยงมุมมองวิธีคิดของตัวบุคคลในการมองปัญหาหนึ่งๆ ที่เราอ่านพบในเอกสารกับการวินิจฉัยลักษณะแนวโน้มทางความคิดหรือสไตล์การทำงานของบุคคลนั้น
  • เชื่อมโยงความหมายของเหตุการณ์ในมุมมองของตัวผู้กระทำการเข้ากับแนวคิดเชิงทฤษฎีที่จะใช้วิเคราะห์
  • เชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาหนึ่งที่เราพบข้อเท็จจริงในเอกสารชั้นต้นเข้ากับพลวัตของเหตุการณ์/สถานการณ์ที่ดำเนินต่อมา หรือที่หักเหไป เพื่อดูการส่งผลของมัน ฯลฯ

ส่วนการสืบสาวนั้นก็ทำได้ทั้งสืบเรื่องราวย้อนกลับไป และสืบสาวต่อไปข้างหน้าว่ามันจะคลี่คลายต่อมาอย่างไร หรือว่าขมวดปมใหม่อะไรขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าการสืบสาวหาเรื่องบนเส้นเวลา สืบสาวหาเรื่องอีกแบบคือสืบสาวในเวลาช่วงเดียวกันแต่แผ่ออกไปจากปมแรกที่ได้จากการอ่าน แล้วตามดูว่า ถ้าปมนี้ผูกไว้ตรงนี้แบบนี้ ตรงจุดอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นจะเป็นอย่างไร หรืออาจอนุมานต่อว่ามันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง

 

ฝึก “อ่านหาเรื่อง”

 

เพื่อฝึกการอ่านหาเรื่องจากเอกสารชั้นต้นให้รู้วิธี draw implications, connect, และ probe อาจารย์ของผมกำหนดให้พวกเราอ่าน NSC-68 กัน เอกสารสำคัญนี้เป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในจุดตั้งต้นสงครามเย็น แต่เราจะมาอ่านเอกสารขนาดยาวแบบ NSC-68 กันตรงนี้ น่าจะไม่ไหว เพื่อเป็นตัวอย่างวิธีอ่านหาเรื่อง ผมขอใช้เอกสารชั้นต้นทางการทูตขนาดกะทัดรัดแทนก็แล้วกันครับ

เอกสารนี้ ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาจีน และ Wilson Center รวบรวมไว้ในฐานข้อมูลเอกสารชั้นต้นสำหรับการวิจัยด้าน International History เป็นบันทึกการพบปะหารือเจรจาความเมืองระหว่างประธานเหมา กับผู้นำของลาวสมัยหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส คือเจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์

เจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้นำของฝ่ายรัฐบาลกลางของลาว เจ้าสุภานุวงศ์เป็นระดับผู้นำคนหนึ่งของฝ่ายขบวนการปะเทดลาว การพบปะทางการทูตระดับสูงระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำลาวครั้งนั้นเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1961/พ.ศ. 2504 นั่นคือในช่วงเวลาที่ผู้นำลาวฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ฝ่ายแนวลาวฮักซาด ขบวนการปะเทดลาวและพรรคประชาชนลาวที่นิยมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ฝ่ายขวาซึ่งมีหลายพวก ฝ่ายเจ้านายในราชวงศ์ของลาว ฝ่ายรัฐบาลกลางของราชอาณาจักรลาว และพวกไม่ทราบฝ่าย กำลังช่วงชิงอำนาจปกครองประเทศจากกันอยู่ แต่เป็นเวลาก่อนที่พรรคประชาชนลาวจะเริ่มเปิดฉากสงครามปฏิวัติ และก่อนที่สงครามอินโดจีนครั้งที่สองจะขยายเข้าไปในลาว

ผมขอยกส่วนที่จะใช้แสดงตัวอย่างวิธีอ่านหาเรื่องตามแนวทางข้างต้น มาวางไว้ให้พิจารณา (ส่วนเอกสารฉบับเต็มที่ยังมีเบาะแสอื่นๆ น่าสนใจให้หาเรื่องคิดต่อไปได้อีกหลายประเด็น เข้าไปอ่านได้ที่นี่ ครับ)

………………………

Premier Zhou [Enlai]: The Prime Minister has previously stated that they want to move the capital to the Plain of Jars [in the Xieng Khouang Plateau] because Vientiane borders Thailand which is a security concern.

[Souvanna] Phouma: If we remain there, the Thais would likely send assassins every evening.

Chairman [Mao Zedong]: This is a very good plan.

[Souvanna] Phouma: Though the Plain of Jars is a good area, it’s still nothing but forest land.

Chairman [Mao Zedong]: Not to worry. It can be developed.

[Souvanna] Phouma: Going forward, everything will have to be developed.

Chairman [Mao Zedong]: It would be to your disadvantage to remain in Vientiane.

[Souvanna] Phouma: There are 1.2 million Laotians living within Thailand’s borders on the opposite side of the Mekong River. That’s 3 times the population of Laos.

Vice Premier Chen [Yi]: Thus, Thailand [sees] you as posing a threat.

[Souvanna] Phouma: It is because [they see us as a threat] that, in 1954, just before the Geneva Conference, Thailand arranged the assassination of our Defense Secretary.

Chairman [Mao Zedong]: You’re bordered on both sides by two unfriendly nations. One is Thailand. One is Vietnam.

[Souvanna] Phouma: I’m now also considering what to do about Vietnam.

Chairman [Mao Zedong]: In the meantime, move the capital to the Plain of Jars. At this stage, it would be advantageous for you to develop that area into a new urban center. You can move it back in the future. When the political climate changes perhaps Laos could grow to a population of 1.5 million. Of course this is a future matter [far down the road] and is not the current situation.

[Souvanna] Phouma: A short amount of time may be all that’s necessary. I’m sure that once the Laotians residing in Thailand see Laos’ development, they’re certain to want to return to Laos. This type of movement does exist in Thailand.

………………………

ผมเลือกบทสนทนาตอนนี้ในเอกสารมาเพราะต้องการโฟกัสที่เจ้าสุวรรณภูมา ผมเห็นว่ามุมมองของท่านที่ปรากฏในบทสนทนาข้างต้นให้เบาะแสที่มีนัยสำคัญน่าสนใจ ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่เห็น คนที่อยู่ในการประชุมหารือวันนั้นด้วยก็เห็นและเอ่ยทักขึ้นมา ซึ่งเป็นการพูดเพียงครั้งเดียวของท่านตลอดการประชุมในวันนั้น ลองย้อนขึ้นไปอ่านดูนะครับว่าจอมพลเฉิน อี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนเวลานั้น ท่านเห็นนัยสำคัญอะไรจากมุมมองของเจ้าสุวรรณภูมาเกี่ยวกับคนที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขง

ทีแรก เมื่อผมอ่านเอกสารมาถึงตอนที่เจ้าสุวรรณภูมาปรารภถึงพี่น้องคนลาวล้านกว่าคนที่อยู่อีกฝั่ง ผมอดนึกถึงเพลงที่ได้ฟังสมัยยังเด็กขี้นมาไม่ได้ เพลงอย่างไทยดำรำพัน กุหลาบปากซัน หรือสองฝั่งของ ที่คนนครพนมบ้านผมสมัยนั้นพากันร้องตามได้ซาบซึ้งขึ้นใจ เพลงพวกนี้คนแต่งคนขับร้องจะเป็นลาวฝ่ายไหน หรือใครเอามาใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาบ้างผมก็ไม่รู้ แต่คำร้องทำนองเพลงเหล่านี้เพรียกหาสายสัมพันธ์ของคนสองฝั่งโขงได้ชะงัดมาก เป็นเพลงที่เจ้าสุวรรณภูมาก็คงได้ฟังเช่นกัน ไม่มากก็น้อยเพลงเหล่านี้ช่วยให้คนสองฝั่งโขงสมัยนั้นคิดถึงความหวังอย่างที่เจ้าสุวรรณภูมาบอกกับประธานเหมาว่า ในเวลาไม่ช้าเมื่อลาวพัฒนาดีแล้ว คนสองฝั่งโขงจะได้กลับมาอยู่รวมกัน[1]

แต่เฉิน อี้คิดอย่างคนที่อ่านสถานการณ์ทะลุ เมื่อเจ้าสุวรรณภูมาพูดถึงชาวลาวนับล้านคนที่อยู่ในฝั่งไทย ท่านตั้งข้อสังเกตขึ้นมาทันทีว่า ‘Thus, Thailand [sees] you as posing a threat.’ มุมมองของเจ้าสุวรรณภูมาเกี่ยวกับคนในภาคอีสานและข้อสังเกตแหลมคมของรองนายกรัฐมนตรีจีน จึงเป็นเบาะแสให้เราได้ประเด็นชวนคิดต่อ ว่าลักษณะของปัญหาที่เป็นภัยคุกคามต่อไทย และที่เป็นภัยคุกคามต่อลาวในบริบทของสงครามเย็น/สงครามเวียดนามนั้นควรเข้าใจอย่างไรแน่ เบาะแสดังกล่าว ผมนำมาอ่านหาความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะปัญหาที่สร้างภัยคุกคามต่อไทย และต่อลาวในช่วงนั้นได้อย่างนี้ครับ

คำอธิบายทั่วไปเกี่ยวกับการต่างประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเสนอความเข้าใจว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศทั้ง 2 และการร่วมมือใช้กำลังเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในอินโดจีนมาจากหลักคิดทางยุทธศาสตร์ตามทฤษฎีโดมิโน และจากการที่ทั้ง 2 ประเทศมองการขยายอิทธิพลของขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนว่าเป็นภัยคุกคามร่วมกัน ซึ่งถ้าไม่ช่วยกันหาทางสกัดกั้นการขยายตัวแล้ว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะล้มเปลี่ยนระบอบเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไปหมด

คำอธิบายที่ละเอียดกว่านั้นชี้ให้เห็นว่า ไทยกับสหรัฐฯ มองภัยคุกคามและวิธีการรับมือกับภัยคุกคามไม่ตรงกันนัก สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อภัยคุกคามจากเวียดนามเหนือ เวียดกงและปฏิบัติการสงครามในเวียดนาม ในขณะที่ไทยให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความไม่มั่นคงในลาว และต้องการให้สหรัฐฯ สนับสนุนไทยในการแทรกแซงลาวด้วยกำลัง มากกว่าที่จะยึดถือข้อตกลงรักษาความเป็นกลางของลาว รวมทั้งเรียกร้องการปรับเงื่อนไขในสนธิสัญญา SEATO ให้มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนไทยรับมือกับภัยคุกคามทางการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในลาว ได้มากขึ้น[2]

การมองภัยคุกคามที่ไทยให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลาวและเฝ้าติดตามเหตุผันผวนเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างใกล้ชิดนั้น เป็นที่รับทราบกันดี แต่ที่ไม่ค่อยชัดเจนนักคือลักษณะของภัยคุกคามช่วงสงครามเย็นที่ไทยเพ่งเล็งว่ามาจากลาวนั้น จริงๆ แล้วเป็นภัยในลักษณะไหนกันแน่ จึงสร้างความกังวลต่อทางการไทยได้มากกว่าที่มาจากแหล่งอื่นๆ เบาะแสที่ได้จากการเจรจาหารือระหว่างผู้นำลาวกับผู้นำจีนในเอกสารข้างต้นเปิดให้เราเห็นทางทำความเข้าใจลักษณะภัยคุกคามด้านนี้ได้ชัดเจนขึ้น

แนวคิดพิจารณาการเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพวก realism ให้ความสำคัญต่อขีดความสามารถโดยรวมของรัฐ อำนาจทางการทหาร และความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยตั้งต้น ถ้ามองในแง่นี้ แม้ว่าเขตแดนระหว่างลาวกับไทยจะประชิดติดต่อกันมีเพียงแม่น้ำโขงกั้น แต่อำนาจทางการทหารและขีดความสามารถด้านต่างๆ ของลาวช่วงหลังจากได้รับเอกราชก็ไม่น่าที่จะสร้างความหวาดหวั่นอะไรแก่ไทยมากนัก

แต่คำปรารภของเจ้าสุวรรณภูมาเปิดให้เราเห็นความเป็นจริงของความใกล้ชิดกันอีกแบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ใต้การมองปัญหาภัยคุกคามระหว่างอำนาจแต่ละฝ่ายที่ครองพื้นที่คนละฝั่งโขง นั่นคือความใกล้ชิดกันระหว่างผู้คนสองฝั่งในทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ที่ติดต่อพัวพันกันมายาวนาน โดยมีแม่น้ำโขงเป็นสายน้ำเชื่อมโยง แต่ในทางอำนาจการปกครองของรัฐสมัยใหม่และผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์ แม่น้ำโขงกลายเป็นเส้นแบ่งเขตอำนาจรัฐ ที่แยกผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำออกจากกันให้ต้องอยู่กันคนละประเทศ คนละเขตอธิปไตย

ก่อนหน้าที่จะเป็นแบบนั้น ผู้คนสองฟากฝั่งประกอบไปด้วยคนนานาชาติพันธุ์หลากหลายชนเผ่า เป็นญ้อก็มี เป็นผู้ไท เป็นข่าหรือบรู เป็นกะโซ่ แสก ส่วย ม้ง ลื้อ ไทดำ ก็มี และที่เป็นลาวก็มาก คนกลุ่มต่างชาติพันธ์ุเหล่านี้สัมพันธ์ติดต่อระหว่างกันมาช้านานโดยไม่ต้องเปลี่ยนตนเองไปเป็นคนชาติไหน เพราะแนวคิดและการสร้างสำนึกความเป็นชาติยังไม่ปรากฏในรัฐโบราณ

แต่ผลจากการเข้ามาของตะวันตกพร้อมกับลัทธิจักรวรรดินิยมและการยึดครองอาณานิคม ทำให้ศูนย์กลางอำนาจที่ต้องดำเนินการเปลี่ยนรูปรัฐโบราณมาเป็นรัฐสมัยใหม่ เริ่มกระบวนการรวมอำนาจจัดการปกครองพื้นที่ส่วนต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง

ในกระบวนการนี้ของสยามในระยะแรก รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เลือกที่จะเรียกเขตการปกครองแบบใหม่ที่จัดขึ้นมาเป็นหัวเมืองในพื้นที่ภาคเหนือและตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขงว่าหัวเมืองลาว ได้แก่ หัวเมืองลาวพุงดำหรือลาวเฉียงในเวลาต่อมา หัวเมืองลาวพุงขาว หัวเมืองลาวพวน หัวเมืองลาวกาว คนในพื้นที่หัวเมืองลาวเหล่านี้จึงถูกจัดว่าเป็นลาวในสายตาของอำนาจการปกครอง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนลาวหรือชนเผ่าชาติพันธุ์ไหนก็ตาม[3]

แต่เมื่อฝรั่งเศสยึดครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หัวเมืองลาวที่เคยอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปขึ้นกับอธิปไตยฝรั่งเศส อีกส่วนหนึ่งอยู่ในอำนาจอธิปไตยของสยาม เพื่อไม่ให้ความเป็นลาวเป็นประเด็นที่เปิดช่องให้ฝรั่งเศสใช้อ้างขยายอาณานิคมจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามเข้ามา รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนการเรียกและจัดหัวเมืองลาวเฉียง ลาวพวน ลาวกาว มาเป็นมณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสานก่อนจะเปลี่ยนเป็นมณฑลอุบลในเวลาต่อมา

เมื่อลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส การมองคนและพื้นที่ตลอดลุ่มน้ำโขงว่าเป็นลาวของผู้นำลาวอย่างเจ้าสุวรรณภูมาจึงเป็นการย้อนกลับไปสู่มุมมองแต่แรก ที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐสยามในตอนเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่การจัดอำนาจการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ มองคนและพื้นที่เหล่านี้ว่าเป็นลาว ถ้าฟังจากที่เจ้าสุวรรณภูมาพูดในวงประชุมวันนั้น ดูเหมือนว่าท่านยังหวังใช้ความเจริญทางเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องชักนำสำนึกร่วมในความเป็นชาติลาวของคนสองฝั่ง แต่สถานการณ์ความไม่สงบในลาวนับจากจุดนั้นเป็นต้นไป จนถึงปีที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ความหวังแบบนั้นไม่อาจเป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้

แต่สำหรับฝ่ายไทยแล้ว การมองด้วยความเข้าใจของผู้นำลาวอย่างนั้นในบริบทใหม่ที่ขบวนการประชาชาติในอินโดจีนเริ่มทำสงครามประชาชนเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมและเพื่อล้มล้างสังคมเก่าเปลี่ยนแปลงระบอบไปเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เท่ากับว่าประชาชาติลาวที่กำลังก่อตัวขึ้นมาจากการระดมของขบวนการ เช่น แนวลาวฮักซาด ขบวนการปะเทดลาว และพรรคประชาชนลาว กำลังขยายกินแดนเข้ามาในพื้นที่และพลเมืองที่เป็นของไทย ตอนนั้นคนที่ข้ามจากฝั่งไทยไปร่วมต่อสู้ในขบวนการประชาชาติลาวก็มีไม่น้อย ดังเช่นท่านหนูฮัก พูมสะหวัน ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานประเทศ สปป.ลาว ต่อจากท่านไกสอน พมวิหาร ก็เกิดที่มุกดาหารนี่เอง

ในสายตาของอำนาจรัฐไทย ขบวนการประชาชาติลาวที่กำลังระดมกันขึ้นมาอย่างเข้มข้นเหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หลังลาวได้รับเอกราช ถ้าสามารถข้ามมาดึงใจคนในพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขงออกจากการนับตัวเองว่าเป็นคนไทยและรักษาบ้านเกิดเมืองนอนของตนให้เป็นของไทย มาเป็นการนับตัวเองว่าเป็นคนลาวและบ้านเกิดเมืองนอนของตนนั้นจริงๆ แล้วคือบ้านเกิดเมืองนอนของคนลาว ย่อมที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงและต่ออำนาจรัฐไทย และเป็นสิ่งที่ทางการไทยจะมองเห็นเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นประชิดใกล้ตัวอย่างแน่นอน

ในทางตรงกันข้ามกับที่เจ้าสุวรรณภูมามองคนสองฝั่งโขงว่าเป็นคนชาติลาว สำนึกร่วมในความเป็นชาติไทยเกิดขึ้นบนฐานการรับรู้และความเข้าใจอดีตเกี่ยวกับการปกป้องรักษาชาติบ้านเมืองมาในความหมายอีกแบบหนึ่ง ที่ทำให้มองเห็นพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในความหมายของการสูญเสีย และมองเห็นลักษณะใกล้ชิดในทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวเชื่อมโยงคนสองฝั่งโขง ในความหมายที่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานถูกจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูงที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ของการขยายตัวและแทรกซึมเข้ามาของขบวนการและอุดมการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสถาบันหลักทั้งสามของความเป็นไทย

ภัยคุกคามต่อพื้นที่ภาคอีสานในสายตาของอำนาจรัฐไทยสมัยนั้นจึงซ้อนกันอยู่หลายด้าน ทั้งที่เป็นการใช้กำลังก่อหวอดอยู่ภายนอก ที่เป็นการแทรกซึมจากภายนอกเข้ามาดำเนินการล้มล้างเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองภายใน ที่เป็นมหาอำนาจที่สนับสนุนขบวนการและกระบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการรักษาอำนาจด้านต่างๆ ของรัฐไทย และที่เป็นความหมายในสำนึกความเป็นชาติที่ต้องช่วงชิงความเข้าใจของคนในพื้นที่ไม่ให้ผันแปรสำนึกไปมีจินตกรรมถึงชุมชนที่ไม่ใช่ชาติไทยหรือย้ายความภักดีไปให้แก่ชุมชนชาติอื่น

การตั้งมั่นที่จะรับมือกับภัยคุกคามทั้งหมดนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นภัยคุกคามต่อลาวไปในเวลาเดียวกัน ดังที่เจ้าสุวรรณภูมาเล่าให้ประธานเหมาทราบ แต่เหตุการณ์ที่เจ้าสุวรรณภูมาเล่านั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลาวตามมาหลังจากนั้น เมื่อไทยยกระดับและขยายวงการรับมือภัยคุกคามด้านนี้และทำทุกทางเพื่อไม่ให้ลาวมีพลังทางความหมายที่จะดึงใจคนในฝั่งไทย

อีกเรื่องหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในการพิจารณาลักษณะของภัยคุกคามที่เราได้เบาะแสจากมุมมองของเจ้าสุวรรณภูมาเกี่ยวกับคนภาคอีสานในฝั่งไทย คือ กระบวนการสร้างสำนึกความเป็นชาติลงไปในสำนึกเกี่ยวกับตัวตนของคนสองฝั่งโขง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากในกระบวนการสร้างรัฐประชาชาติ

ดังที่กล่าวตอนต้น ในวิธีอ่านหาเรื่อง เราอาจคิดอะไรต่อไปได้อีกด้วยการเชื่อมโยงประเด็น เช่น เมื่อนำสำนึกเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติมาเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิด hegemonic discourse เพื่อพิจารณาการกำหนดความหมายให้แก่ชาติและอัตลักษณ์แห่งชาติ[4] ก็ทำให้ผมหาเรื่องคิดต่อไปได้อีกจากเรื่องลักษณะของภัยคุกคามที่เบาะแสในเอกสารชี้เป้าให้

มุมมองของเจ้าสุวรรณภูมาทำให้เราตระหนักว่า ในเวลานั้น คนสองฝั่งโขงอยู่ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างศูนย์กลาง 2 ฝ่าย ที่ใช้กำลังอำนาจของรัฐหรือของพรรคและพลังยึดโยงผูกพันของวัฒนธรรมในกระบวนการสร้างความเป็นชาติ 2 แบบคือ Staatsnation และ Kulturnation เพื่อเข้าช่วงชิงการกำหนดความหมายและหาทางปลูกฝังสำนึกเกี่ยวกับชาติลงไปในการเข้าใจตัวตนของพวกเขา ว่าเขาเป็นลาว หรือว่าเขาเป็นไทย และจะให้เขารับความหมายในความเป็นลาวและในความเป็นไทยชุดไหน

ในพื้นที่สองฝั่งโขง ความเข้าใจความเป็นลาวและความเป็นไทย รวมทั้งความเป็นอีสาน จึงก่อตัวขึ้นมาท่ามกลางการประชันขันแข่งความหมาย โดยมีอำนาจจากหลายฝ่ายพยายามเข้ามากำหนดคุณลักษณะหนึ่งสองสามที่พึงมี ตลอดจนโทษลักษณะหนึ่งสองสามที่ต้องห้ามหรือไม่น่าพึงใจ ให้แก่ชาติลาวและความเป็นลาว กับชาติไทยและความเป็นไทย แล้วหาทางที่จะดำรงความหมายชุดนั้นไว้ พร้อมกับผลักความหมายอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของฝ่ายตรงข้ามออกไปจากสำนึกเกี่ยวกับชาติในความเข้าใจตัวตนของคนสองฝั่งโขง

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นอีสานที่เป็นลาว และการเป็นอีสานที่ไม่เป็นลาว ก็คือผลอีกต่อหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ต่อรองในการบรรจุความหมายในช่วงเวลานั้นให้แก่ความเป็นลาวและความเป็นไทย ว่าความหมายของการเป็นลาว ของการเป็นไทย ชุดไหนจะสามารถยึดครองสถานะที่เหนือกว่าในความคิดความเข้าใจตัวตนของคนในพื้นที่สองฝั่งโขง ที่จะตรึงสำนึกความเป็นชาติของเขา และของสมาชิกที่เขาเห็นว่าอยู่ร่วมอยู่ในชุมชนจินตกรรมเดียวกันตามความหมายการเป็นลาวเป็นไทยชุดนั้นไว้ได้ และจะช่วยกันดำรงรักษาความหมายชุดนั้นไว้ แต่จะดำรงได้นานแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความหมายใดๆ ไม่ได้สถิตย์เสถียรอยู่ได้ถาวร ลาว ไทย และอีสานอาจคงอยู่เป็นจุดก่อความหมายเชิงอัตลักษณ์ให้แก่ความเข้าใจตัวตนคนสองฝั่งโขง แต่ความหมายของการเป็นลาว เป็นไทย เป็นอีสาน มีโอกาสจะเปลี่ยนไปได้เสมอ

เมื่อความหมายความเข้าใจในความเป็นชาติลาวและความเป็นชาติไทยเคยสร้างปัญหาที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐให้แก่กันและกันมา การจะเปลี่ยนวาทกรรมและจินตกรรมความเป็นชาติของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ให้เป็นปัญหากระทบความมั่นคงต่อรัฐทั้ง 2 อีกต่อไป นายไกสอน พมวิหาร ผู้นำสูงสุดของขบวนการประชาชาติลาวและพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่เคยเป็นที่มาของภัยคุกคามต่อชาติไทย ได้เลือกดำเนินนโยบายที่มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ อย่างคนที่เข้าใจนัยสำคัญในความหมายของความเป็นไทยในชาติไทยอย่างถ่องแท้

ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน ท่านไกสอนฯ ได้ริเริ่มดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย และกับองค์พระประมุขผู้เป็นศูนย์กลางความเป็นชาติไทย ด้วยการจัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ วิชาการ และประสบการณ์จากความเป็นจริง ให้แก่ชาวบ้านและนักพัฒนาชนบททั้งหลาย ในลักษณะของโครงการตามพระราชดำริของพระองค์เพื่อจะเป็นสัญลักษณ์แห่งไมตรีจิตมิตรภาพฉันพี่น้อง และความร่วมมืออันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับราชอาณาจักรไทยชั่วกาลนาน[5]

ด้วยการริเริ่มทางการทูตของท่านไกสอน พมวิหาร ความเป็นลาวและความเป็นไทยจากแม่น้ำโขงคนละฝั่งจึงยุติการเป็นปัญหาคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐทั้ง 2 แต่ก็ไม่ใช่ว่าพื้นที่ภาคอีสานและคนอีสานจะพ้นจากความกังวลของอำนาจรัฐฝ่ายไทยได้ตลอดไป ในช่วงปีหน้าหรือปีถัดไป ความเข้าใจตัวตนในทางการเมืองของคนที่นั่นที่เกิดจากการสร้างความหมายขึ้นมาใหม่ในอีกแบบหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านพ้นสงครามเย็นมานานแล้ว คงจะได้โอกาสแสดงผลทางการเมือง ที่จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติออกมาอีกครั้งหนึ่ง

เพราะเป็นแบบนี้กระมัง การเมืองของการต่อสู้ต่อรองเพื่อหาทางครองการกำหนดความหมาย และรักษาความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มไว้ในทางใดทางหนึ่ง จึงไม่เคยจะตรึงความหมายชุดไหนให้นิ่งอยู่กับที่ได้นานตลอดไป.

 

อ้างอิง

[1] ผมยังคิดเลยต่อไปว่าเพลงที่มีเนื้อร้องอิงถิ่นที่เฉพาะ แต่กลายเป็นเพลงดังฟังกันทางวิทยุทั่วประเทศ ซึ่งเพลงอย่างนี้มีแต่งกันออกมามากนับแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา น่าจะมีส่วนในการขยายขอบเขตชุมชนที่อยู่ในความคิดคำนึงของคนในประเทศไทยให้กว้างขวางออกไปจากถิ่นที่เป็นภูมิลำเนา และนับถิ่นที่อื่นๆ ในเพลงเหล่านั้นเข้ามาไว้ในความคำนึงในยามคิดถึงชุมชนคนชาติเดียวกัน ผมอาจจะไม่เคยไปถึงสวนแตง ผักไห่ หรือแม่กลองมาก่อน แต่เมื่อได้ฟังเพลงสาวสวนแตง สาวผักไห่ หรือ ‘พี่ส่งสัญญา ฝากฟ้าครวญมาจากห้วงหัวใจ คือเสียงครวญหวนให้ทหารเรือไทยยังห่วงแม่กลอง’ จากวิทยุอย่างเพลิดเพลินแล้ว พอถึงเวลาวิทยุเปลี่ยนรายการเข้าสู่โหมดราชการประจำวัน ก็จะได้เพลงอย่าง ‘จะเกิดภาคไหน ก็ไทยด้วยกัน เชื้อสายประเพณีไม่มีขีดคั่น เกิดใต้ธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย’ มาช่วยย้ำจินตกรรมชุมชนชาติที่ได้จากการฟังเพลงครวญหารักให้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก

และน่าสังเกตว่า ถิ่นที่ต่างๆ ที่ปรากฏในเพลงครวญถึงความรักลูกทุ่งลูกกรุงของไทยจำนวนมากแทรกไว้ด้วยลักษณะที่เป็นมาตุคาม เช่น เพลงผูกถิ่นที่ไว้กับ ‘สาว’ หรือ ‘น้อง’ อย่าง สาวขอนแก่น สาวบางปะกง ตามน้องกลับสารคาม หรืออาการแสดงออกที่บ่งนัยมาตุคาม เช่น แม่สอดแม่สายแม่อายสะอื้น วังบัวบานที่เป็น ‘สุสานเทวีผู้มีความช้ำ’ สาวเรณูรำพัน ฯลฯ ที่ล้วนเรียกร้องความรักการปกป้องดูแล

ชุมชนจินตกรรมหรือชุมชนในความคิดคำนึงเป็นแนวคิดของศาสตราจารย์แอนเดอร์สัน ท่านเน้นทุนนิยมการพิมพ์ว่ามีอิทธิพลต่อการปลุกความคิดถึงชุมชนชาติในความคิดคำนึงขึ้นมา กรณีของไทยน่าจะต้องผสมการฟังและการชมเข้ามาพิจารณาร่วมกับการอ่านด้วย แนวคิดว่าด้วยชุมชนจินตกรรมของศาสตราจารย์แอนเดอร์สัน อ่านและดาวน์โหลดได้ที่นี่

[2] ดูสังเขปสถานการณ์ในลาวและความหวาดหวั่นเกี่ยวกับภัยคุกคามของทางการไทย รวมทั้งการเรียกร้องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และการผลักดันให้ปรับข้อตกลง SEATO เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในลาว ใน แถมสุข นุ่มนนท์ “แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ ค.ศ. 1962,” วารสารธรรมศาสตร์ 9 (ตุลาคม-ธันวาคม 2522), 69-104. หรือที่นี่

[3] “ประกาศแบ่งเมืองในพระราชอาณาเขต ร.ศ. 110,” ใน ไพฑูรย์ มีกุศล, บรรณาธิการ, เอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๖๕ (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2534), หน้า 65-67. ในประกาศฉบับนี้มีพระราชมติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สะท้อนถึงการพิจารณาสถานะของเมืองในรัฐแบบโบราณว่าจะจัดรวมกันใหม่ในระบบบริหารจัดการปกครองพื้นที่ของรัฐอธิปไตยอย่างไร เช่น ไม่โปรดที่จะให้จัดเมืองเขมรไปปนไว้กับเมืองลาวแล้วให้ไปอยู่ในบังคับของข้าหลวงที่ศูนย์การปกครองหัวเมืองที่จำปาศักดิ์ และการจะ ‘แปลล้อกันเล่นว่าคัมโบเดียนลาวชันสเตต ก็ดูน่ารำคาญ’ อีกทั้งระยะทางจากเมืองเขมรที่จะไปจำปาศักดิ์ไกลกว่าที่จะเข้ามารายงานราชการที่กรุงเทพฯ ในประกาศฉบับนี้จึงให้ถือว่าเมืองเขมรเป็นหัวเมืองชั้นในและจัดไว้ให้อยู่ในบังคับบัญชาทางราชการที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังทรงอธิบายให้เข้าใจด้วยว่าหัวเมืองลาวเฉียงที่ภาคเหนือนั้นเป็นพวกลาวพุงดำทั้งหมด ส่วนพวกลาวพุงขาวคือพวกที่ไม่ได้สักตามตัว ได้แก่หัวเมืองลาวอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด ที่จัดแยกออกไว้เป็นสามหัวเมือง โดยเรียกเมืองต่างๆ ที่จัดไว้กับหลวงพระบางว่าหัวเมืองลาวพุงขาว ส่วนเมืองลาวในอีกสองหัวเมืองที่จัดขึ้นโปรดให้เรียกว่าหัวเมืองลาวพวน และลาวกาว

[4] การเชื่อมโยงเรื่อง national identity เข้ากับแนวคิด hegemonic discourse ผมได้ประโยชน์จากการอ่านงานของ Ruth Wodak ดูตัวอย่างงานด้านนี้ของเธอได้ที่นี่

[5] คำแปลสำเนาสาส์นของนายไกสอน พมวิหาร อดีตประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ใน ภาคผนวก ฉ. ของหนังสือ เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save