fbpx
ดอกไม้ดิจิทัลในถ้วยชา : เมื่อจิตวิญญาณตะวันออก หลอมรวมกับเทคโนโลยี ใน teamLab Borderless

ดอกไม้ดิจิทัลในถ้วยชา : เมื่อจิตวิญญาณตะวันออก หลอมรวมกับเทคโนโลยี ใน teamLab Borderless

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 Eyedropper Fill เรื่อง

หากเอ่ยชื่อ ‘teamLab’ หลายคนอาจร้องอ๋อทันที บางคนอาจแค่เคยได้ยินชื่อ หรือบางคนอาจไม่รู้จักเลย หากจะแนะนำให้รู้จักอย่างสั้นๆ เราขอนิยามว่าพวกเขาคือกลุ่มคนทำงาน ‘ข้ามศาสตร์’ จากประเทศญี่ปุ่น เพราะทีมนี้เขายำรวมทั้งนักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร คนทำภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ โดยมีผลิตผลที่ส่งออกจาก ‘แล็ป’ สุดล้ำ เป็นนิทรรศการดิจิทัลอาร์ตที่โดดเด่นเรื่องความสนุก และเปิดให้คนดู ‘เล่น’ กับชิ้นงานได้

ความโดดเด่นประการนี้ทำให้นิทรรศการของ teamLab ตระเวนไปจัดแสดงมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ไทยเราก็ยังเคยมีนิทรรศการ teamLab IsLands มาให้สนุกกันที่เซ็นทรัลเวิร์ลเมื่อสองปีก่อน คนทำงานมัลติมีเดียและนักออกแบบประสบการณ์ผู้มี teamLab เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจอย่างพวกเรา เมื่อสบโอกาสได้ไปเยือนประเทศต้นน้ำอย่างญี่ปุ่น จึงดั้นด้นไปตามเก็บนิทรรศการที่ ‘ฮอต’ ที่สุดของ teamLab และอาจเรียกได้ว่าฮอตที่สุดในญี่ปุ่น ในช่วงปีที่ผ่านมา –   teamLab Borderless และ teamLab Planets

teamLab, ญี่ปุ่น

‘วัน teamLab’ คือชื่อที่ถูกบัญญัติให้กับวันหนึ่งในแผนการเดินทางของพวกเรา เพราะภารกิจของเราในวันนี้คือต้องตามเก็บสองนิทรรศการของ teamLab ที่ตั้งอยู่คนละฟากของเมืองโตเกียวให้สำเร็จก่อนเวลาย่ำค่ำ

เราเดินทางแต่เช้าตรู่ไปยังเกาะโอไดบะ มุ่งหน้าไปยังชิงช้าสวรรค์อันเป็นแลนมาร์คของอาคาร Mori Building เพื่อพิชิตนิทรรศการแรกของวัน teamLab Borderless – พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลถาวรแห่งแรกของ teamLab – ก่อนคนจะต่อแถวยาวเหยียดในช่วงสาย และอาจต้องรอไปถึงบ่ายแก่กว่าจะได้เข้า

โชคดีที่เมื่อไปถึง มวลมหาคนดูคละเชื้อชาติยังต่อแถวกันไม่ยาว ใช้เวลาไม่เกินห้านาทีก็ถึงคิวเข้าไปยืนรอหน้าประตูทางเข้างานที่ให้บรรยากาศคลับคล้ายสวนสนุก หลังผ่านด่านยื่นบัตรในรูปแบบ QR พนักงานก็เริ่มเกริ่นต้อนรับ และพาชมวิดีโอที่บอกทั้งข้อห้าม และ ‘ข้อให้’ อ้อ ที่นี่ให้ถ่ายรูปกันได้ตามสบาย แถมอนุญาตแกมยุยงให้คนดู ‘สัมผัส’ ชิ้นงานได้เกือบทุกชิ้น !

Enjoy your moment.

ประโยคส่งท้ายวิดีโอ ก่อนคนดูหัวแถวจะเดินนำเราสู่ความมืดไร้พรหมแดนของ teamLab Borderless

teamLab Borderless

ผ่านห้วงความมืดสั้นๆ พบกับส่วนแรกของนิทรรศการ ทุ่งดอกไม้บานสะพรั่งคละสีสัน กว้างไกลสุดสายตา วินาทีนี้เราต่างแยกย้ายไปยืนตะลึงในมุมของตัวเอง พร้อมหามุมถ่ายรูปไปด้วย เราเพ่งสังเกตสักพัก จึงจะรับรู้ว่า ‘ขอบเขต’ จริงของห้องไม่ได้กว้างอย่างที่รู้สึกในคราวแรก หนึ่งในเทคนิคลายเซ็นของ teamLab คือการใช้กระจกสะท้อนภาพบนผนังและพื้นเพื่อสร้างความรู้สึกไม่สิ้นสุด ไร้ขอบเขต ตามคอนเซ็ปต์ ‘Borderless’ นั่นเอง

งานศิลปะแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive art) และงานศิลปะที่โอบล้อมคนดูเป็นส่วนหนึ่งของงาน (Body Immersive) เป็นดั่งนามสกุลที่พ่วงท้ายทีมอเวนเจอร์ทางดีไซน์อย่าง teamLab มาตั้งแต่ต้น สบโอกาสจัดนิทรรศการถาวรครั้งแรกทั้งที ก็คงต้องจัดจ้านในด้านนี้กันเสียหน่อย ฉะนั้นหากคุณมาเยี่ยมนิทรรศการนี้ ก็ขอให้ลองยื่นมือไป ‘สัมผัส’ ภาพที่ฉายด้วย Projector (ที่ทั้งงานสิริรวมแล้วมี 470 ตัว แม่เจ้า) แล้วจะพบว่าภาพทุกตารางนิ้วในพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตรนี้ ทั้งหมดสามารถ ‘โต้ตอบ’ กับเราได้ราวมีชีวิต !

เราลองลูบไปตามผนังนิทรรศการที่บุด้วยสักหลาดพื้นผิวนุ่ม เคลือบด้วยภาพของดอกทานตะวันสีเหลืองอ๋อย ทันใดกลีบดอกค่อยๆ ปลิดร่วงออกจากก้านและเกสร ปลิวตามแรงกวักของมือ ไปรวมกับกลีบอื่น แม้แต่ดอกที่ฉายลงบนพื้น หากเดินเหยียบเข้าก็เป็นอันโรยราเช่นกัน  teamLab บอกไว้ในวิดีโอต้อนรับว่า ขอให้ซึบซับช่วงเวลาในนิทรรศการให้ดีๆ นะจ๊ะ เพราะ Visual ของทุกห้องจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา ห้องแรกนี้ขาเข้ามายังสะพรั่งด้วยสีเหลืองของดอกทานตะวัน เข้ามาไม่นานสีเหลืองก็ค่อยๆ จาง และแทนที่ด้วยดอกไม้สีม่วงไปซะแล้ว

teamLab Borderless, นิทรรศการ

งานศิลปะ Interactive Art และ Body Immersive จึงไม่ได้เสพความงามแค่ทางตา แต่ต้องใช้ ‘ร่างกาย’ ปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับงานด้วย เบื้องหลังงานศิลปะรูปแบบนี้จึงไม่ใช่แค่ตะปูและเส้นสลิงไว้แขนผ้าใบอย่างงาน painting แต่คือคอมพิวเตอร์กว่า 500 เครื่อง เชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวอีกนับไม่ถ้วน เพื่อตรวจจับว่าตรงไหนมีคนแตะ มีคนลูบ มีคนเหยียบ จากนั้นส่งข้อมูลที่ตรวจจับได้ ไปให้คอมฯ ประมวลผลว่าควรตอบโต้แบบไหน และส่งข้อมูลภาพฉายออกมาทางโปรเจกเตอร์ให้เราตะลึงกันนั่นเอง

teamLab Borderless
ภาพจาก teamLab

ไม่รู้ว่าห้องแรกมัน ‘สุด’ ที่ตรงไหน จึงเดินเพลินๆ ตามกลีบดอกไม้ที่ปลิวว่อนไป มาถึงห้องโถงใหญ่ที่เพดานสูงลิบ ตรงหน้าเราคือ ‘น้ำตก’ ที่ประมาณความสูงด้วยสายตาน่าจะสูงเลยตึกสามชั้นไปอีก โขดหินกลางห้องนอกจากรับน้ำที่ไหลลงมาจากเพดาน ยังรับคนดูหลายสิบที่ขึ้นไปปีนป่าย ถ่ายรูปกันสนุกสนานยังกับไปเที่ยวน้ำตกจริงๆ และเหมือนกันกับห้องที่แล้ว สายน้ำที่ไหลลงมาตามโขดหิน หากเราเอามือไปจับหรือตัวไปนั่งขวาง สายน้ำจะเปลี่ยนทิศทางการไหลเหมือนกับน้ำจริง ความมหัศจรรย์ทุกประการที่เล่ามาทำให้ห้องนี้เป็นสปอตถ่ายรูปที่ฮิตเป็นอันดับต้นๆ ของนิทรรศการเลยล่ะ

นอกจากนี้ ‘ห้องน้ำตก’ (ชื่อเล่นของห้องที่เราใช้เรียกกันในไลน์ เวลาใครหลงหรืออยากนัดรวมพล) ยังเป็นจุดศูนย์รวมของส่วนต่างๆ ในนิทรรศการ เพราะเชื่อมต่อทางเดินสู่หลายห้องไว้ด้วยกัน จุดนี้ทำให้เราเห็นว่า ‘เรื่องราว’ ในทุกห้องของ teamLab Borderless เชื่อมโยงกันหมดตามชื่อนิทรรศการ กลีบดอกไม้จากห้องแรกปลิวมาสู่ห้องนี้ สายน้ำจากน้ำตกก็ไหลไปหล่อเลี้ยงทุ่งดอกไม้เช่นกัน

สายน้ำยังไหลไปรวมกันกลายเป็น ‘ห้องคลื่น’ ที่มีบีนแบควางกลางห้อง สำหรับคู่รักไว้นอนซบกันซึ้งๆ กลางเสียงซู่ซ่าและภาพเกลียวคลื่นที่โอบสองเราไว้ แต่สำหรับเรา มันคือจุดพักกล้ามขาที่ล้าเหลือใจ แม้จะเดินไปไม่ถึงครึ่งนิทรรศการ

และหากเดินตามลำน้ำอีกสาย มันพาเราไปสู่ ‘ห้องใบบัว’ ที่ให้เราเดินฝ่ากอบัว ชูก้านสูงต่ำดึ๋งดั๋งเหมือนบัวจริง หน้าใบบัวสีขาวโล้นทำหน้าที่เป็น canvas ให้โปรเจกเตอร์ฉายภาพของฤดูกาลที่เปลี่ยนผัน จากร้อน ฝน หนาว มวลกลีบดอกไม้หลากสีจากห้องแรกยังไม่วายปลิวผ่านมาให้เราคิดถึงเล่น

ความละเอียดเข้าขั้นของ teamLab Borderless อยู่ตรงที่ว่า Element ธรรมชาติในแต่ละห้องไม่เพียงเชื่อมกัน หากแต่ยังมีการ ‘Transform’ เปลี่ยนรูปไปสู่สถานะอื่น หากกลับไปดูที่ห้องน้ำตก เราจะเห็นกลีบดอกไม้หลายสีค่อยๆ รวมกันเป็นไม้ดอกใหม่ เกาะก่ายร่วมกันกลายเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ กลายเป็นขบวนแห่ เดินตามกันจากห้องสู่ห้อง หากเรายื่นมือไปสัมผัสแมลงหรือสัตว์ มันจะตายและแตกกระจายออกเป็นสสาร ลอยล่องไปสู่ห้องอื่น บ้างก็ลอยออกไปยังจักรวาล และกลับมารวมกันกลายใน ‘สถานะ’ ใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนผันเช่นนี้ตลอดนิทรรศการ

ภาพจาก teamLab

ระหว่างเข้าห้องโน้นออกห้องนี้จนเพลินใน teamLab Borderless ในทางเดินมืดๆ เราลองหยุดคิดสักครู่ และพบว่าใต้เสื้อผ้าความสนุกของนิทรรศการนี้ ยังแฝงไว้ซึ่งเนื้อหาที่หนักแน่นไม่น้อย เรื่องที่เห็นเด่นชัดคือวัฒนธรรมของการเคารพธรรมชาติของคนญี่ปุ่น

ชั้นบนของ teamLab Borderless เรียกว่าเป็นชั้นเอาใจเด็กๆ ก็ว่าได้ ชื่อ ‘Athletic Forest’ ก็บอกอยู่ว่าห้องนี้จำลองป่า มาอยู่ในรูปแบบที่เด็กตัวเล็ก หรือเด็กตัวโตหน่อยอย่างเราสามารถปีนป่าย วิ่งเล่น โลดเต้นกันแบบลืมสังขาร

หน้าสุดคือโซนที่ให้กระโดดโลดเต้นแข่งกันบน Tamborine ฉายภาพกาแลคซี่ นักโดดแต่ละคนจะมีดวงดาวอยู่ใต้เท้า หากใครโดดแรงกว่าเพื่อน ดาวก็เปลี่ยนเป็นกลายเป็นหลุมดำ ดูดกลืนดาวทุกดวงหายไปหมด เป็นอันจบเกม

ถัดเข้ามาเป็นก้อนหินสูงต่ำให้วิ่งเล่น รายทางมีสัตว์เล็กหน้าตาประหลาดชวนให้เหยียบ ถ้าเหยียบเข้าก็จะแตกโพละ ข้างกันเป็นสไลเดอร์ ภาพจากโปรเจคเตอร์เปลี่ยนทางลาดสีขาวให้กลายเป็นสวนแตงโม หากลื่นไถลลงมาโดนลูกแตงโมก็จะระเบิดกระจุย สะใจกันไปอีก

แวะปีนป่ายเถาวัลย์ ผ่านสวนลูกบอลยักษ์ที่สามารถเปลี่ยนสีหากเราเอามือไปตี หรือผลักให้เด้งโดนกัน จนเดินไปถึงส่วนในสุด มีโต๊ะเรียงรายเป็นแถว บรรยากาศคล้ายชั่วโมงศิลปะที่มีนักเรียนคละอายุตั้งแต่หกขวบยันหกสิบ ขมักเขม้น บ้างหัวเราะคิกคัก มือละเลงสีลงบนรูปสัตว์น้ำหลากสายพันธุ์ตามแต่ใครจะเลือก ออกแบบสิ่งมีชีวิตของตัวเองจนพอใจก็นำไปให้สตาฟในนิทรรศการสแกน ปรื๊ดเดียวสัตว์ที่เราให้กำเนิดก็เด้งปุ๋งออกไปว่ายในท้องทะเล นักเรียนวิชาศิลปะเช็ดไม้เช็ดมือ พลางยืนดูอควาเรียมที่มีเราและเพื่อนมนุษย์ ในร่างสัตว์ทะเลแหวกว่ายรวมกัน

Atheletic Forest

ลองจินตนาการว่าหากเราเป็นเด็กตัวเล็กๆ สิครับ การเดินอยู่ใน teamLab Borderless นอกจากเขาจะสนุก เขายังได้รู้จัก ‘ธรรมชาติ’ ไปในตัว ‘ธรรมชาติดิจิทัล’ ทำให้เขาเรียนรู้ไปกลายๆ ว่าหากเขาเอามือไปแตะดอกไม้ หรือไปตีแมลง สัตว์จะตายหรือดอกไม้อาจไม่สวยเหมือนเดิม เมื่อเขาไปอยู่ในธรรมชาติจริงๆ เขาควรทำหรือไม่ทำอะไร หรือในกิจกรรมสุดท้าย เมื่อเราได้ลองสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นจากหัวใจของเรา เราก็จะได้เรียนรู้ว่าชีวิตอื่นก็มีหัวใจเช่นกัน Athletic Forest คือพื้นที่ที่จำลองการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนอื่นๆ  เพื่อให้เด็กๆ ได้ตั้งคำถามว่า เขาควรจะอยู่ร่วมกับชีวิตอื่นๆ แบบไหน

เราพบว่าหลายห้องใน teamLab Borderless ยังสามารถมอง และ ‘อ่าน’ ความหมาย ผ่านแว่นของปรัชญาพุทธ อันเป็นรากของวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้ง

ธรรมชาติที่เสื่อมสลาย หมุนเวียน และเปลี่ยนรูป ที่เราได้เห็นในห้องต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิด ‘อนัตตา’ หรือ ‘ความไม่มีตัวตน’ ของพุทธศาสนา

    

ในห้องชื่อ Light Vortex ‘แสง’ เดิมไม่สามารถปรากฏตัวตน แต่เมื่อเดินทางผ่านตัวกลางคือควัน แสงจึงปรากฏรูปเป็นเส้น ทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหว เปลี่ยนกลายเป็นรูปทรงต่างๆ มากมาย เราและผู้ชมร่วมห้องเงยหน้าตะลึงงันใน ‘รูป’ ของแสงที่พาเราเดินทางไปในเรื่องราว จนเมื่อจบลง แสงหายไป จึงพบว่าทั้งหมดตรงหน้าคือความว่างเปล่า

การค้นพบ ‘อะตอม’ หน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของสรรพสิ่ง ดึงดูดกันและประกอบจนเป็นรูป เชื่อมโยงแนวคิดความเป็นอนัตตาเข้ากับวิทยาศาสตร์ เพราะมันยืนยันว่าทุกอย่างบนโลกไม่ได้มี ‘รูป’ ที่แน่นอน เป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ ที่เกาะกันหลวมๆ มีเสื่อมสลาย มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่คือไอเดียที่เกิดตอนที่ยืนนิ่งกลางหมู่ตะเกียงเรืองแสง กระพริบเปลี่ยนสีไม่หยุดนิ่งสักวินาที ในห้องที่ชื่อว่า Forest of Lamps

วัฒนธรรมญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับวิญญาณ วิญญาณอาจไม่ได้หมายถึงภูติผี แต่หมายถึงพลังงานต่างๆ ในธรรมชาติ เอาเข้าจริงไม่ใช่เพียงญี่ปุ่นหรือโลกตะวันออกเท่านั้น ศาสนาแรกของมนุษย์ อันเป็นรากของทุกศาสนาอย่าง Animism ก็มีความเชื่อว่าในต้นไม้ ก้อนหิน สุนัขป่า ลำน้ำ ฯลฯ ต่างมีพลังงานศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ภายใน

Crystal Universe

https://www.youtube.com/watch?v=tPKBDPWOtGk\

ใน Crystal Universe พิเศษกว่าห้องอื่นหน่อย ตรงที่เราต้องดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นในมือถือเพื่อเล่นกับชิ้นงาน ในแอพฯ เราสามารถเลือกส่ง ‘พลังงาน’ ต่างๆ ให้ปรากฏขึ้นในห้อง ภายในห้องที่ยากจะรู้ขอบเขต จากกระจกเงาสะท้อนภาพรอบทิศทาง ติดตั้งด้วยไฟ LED Strip แขวนเป็นเส้นตรงเต็มพื้นที่ เหลือไว้เพียงทางเดินเล็กๆ เม็ดพิกเซลที่เรียงกันทั้งทางกว้าง ยาว และสูง ทำให้พลังงานที่ส่งออกไปเป็นแสงและรูปทรงต่างๆ มองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ ราวกับยืนอยู่ในจักรวาลแห่งพลังงาน หน้าห้องยังมีคำอธิบายและเรื่องราวเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบต่างๆ ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นให้ได้อ่านกันด้วย

ลืมบอกไปว่านิทรรศการนี้ไม่มีลำดับห้องในการเดินชมนะครับ จะเข้าห้องไหนก่อน ไปห้องไหนหลังก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเจอเหมือนกันแน่ๆ คือการ ‘หลง’ – นอกจากหลงไหลในความงาม เรายังหลงทางด้วย !

teamLab Borderless บอกเราตั้งแต่ปากประตูเข้าว่า ที่นี่ไม่มีป้ายบอกหรือแผนที่นำทางนะจ๊ะทุกคน เพราะฉันอยากให้เธอ Wander, Explore and Discover ด้วยตัวเอง ซึ่งมาคิดทีหลังแล้วถือเป็นกระบวนการที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะเวลาเราเดินดุ่มๆ ไปแบบไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร แล้วบังเอิญเจอเข้าให้ ความประทับใจจะล้นปรี่กว่า เสียอย่างเดียวคือบางทีเราจะเดินเจอบางห้องซ้ำๆ อยู่นั่น และเจ็บใจกว่า คือตอนออกมาคุยกับเพื่อนแล้วพบว่ามีบางห้องที่เพื่อนเราได้เข้า แต่เราดันหาไม่เจอซะนี่

ห้องสุดท้ายของเราในวันนั้นก็เป็นอีกห้องที่เจอโดยบังเอิญ แปลกใจมากที่จู่ๆ ก็เจอ ‘ร้านชา’ ในนิทรรศการศิลปะ หน้าห้องมีแถวสั้นๆ ให้เราสั่งชาเขียวที่ชอบ (ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกประมาณ 50 บาท) มีให้เลือกประมาณ 3 แบบ จากนั้นรอคิวอีกพักหนึ่ง ก่อนสตาฟจะเรียกเราเข้าไปในห้องไฟสลัว บรรยากาศสงบ ขรึมขลัง แต่ผ่อนคลาย สตาฟเชิญเรานั่งลงที่โต๊ะ แม้จะมีเพื่อนร่วมโต๊ะที่ไม่รู้จักกันนั่งด้วย แต่โต๊ะก็เว้นสเปซให้แต่ละคนรู้สึกมีพื้นที่ส่วนตัวแบบกำลังดี

แปปเดียวชาที่เราสั่งก็ยกมาเสิร์ฟ ทันทีที่วางลง ดอกไม้ก็ผลิบานในถ้วยชาของเรา และเมื่อเรายกถ้วยขึ้นดื่ม ดอกไม้ที่วางตัวนิ่งบนโต๊ะก็ค่อยๆ ผลัดกลีบ ร่วงโรย และสลายไป เมื่อวางถ้วยลงบนโต๊ะอีกครั้ง ดอกไม้ดอกไม้ สีสันใหม่จึงผลิบานขึ้นต่อ

แม้นี่จะไม่ใช่พิธีชงชาศักดิ์สิทธิ์ตามตำรับญี่ปุ่น แต่ก็ทำให้เรารู้สึกสงบได้เช่นกัน ใจทั้งหมดอยู่ที่ถ้วยชา และดอกไม้ตรงหน้า แม้น้ำชาในถ้วยจะน้อยนิด แต่วันนั้นเรากลับ ‘อยู่กับมัน’ ได้นาน และใช้เวลานี้ทบทวนทุกสิ่งที่ได้เจอใน teamLab Borderless

ที่ที่มนุษย์ สรรพสัตว์ และธรรมชาติ อยู่ร่วมกันอย่างไม่มีพรหมแดน

ที่ที่ทุกสิ่ง มีเสื่อมสลาย มีหมุนเวียนเปลี่ยนผัน มีสายใยเชื่อมโยงกัน ไม่มีเรา ไม่มีเขา

ที่ที่คนกับคน และ คนกับศิลปะ ไร้กำแพงกั้น

ที่ที่ ‘เทคโนโลยี’ กับ ‘วัฒนธรรม’ หลอมรวมเข้าด้วยกัน 

ดอกไม้ดิจิทัล ผลิบานในถ้วยชา

ราวกับเป็นบทสรุปของทุกอย่าง

เสียงไลน์จากทีมของเราดังเตือนว่าพวกเราหมดเวลากับชาถ้วยนี้ กับ teamLab Borderless แล้ว เรานัดเจอกันที่หน้า MORI Building พร้อมจุดหมายต่อไปที่ต้องไปให้ถึงก่อนห้าโมงเย็น กับนิทรรศการที่บังคับให้เราต้องเดินเท้าเปล่า ล้มกลิ้ง และเปียกโชก

ติดตามตอนหน้า กับ teamLab Planets !

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save